ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?  (อ่าน 11115 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

saithong

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +13/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
« เมื่อ: มีนาคม 21, 2010, 06:49:39 am »
0
อภัยทาน นั้น คือการยกโทษ หรือ การไม่เอาเรื่อง ( ใช่หรือป่าวตามความคิดของดิฉัน )

=======================================================
หลาย ๆ ครั้ง ที่ดิฉัน พบปัญหา ไม่ว่าจะเกิด จากเจตนา หรือไม่เจตนา ของคนรอบข้าง หรือมีแม้ของตัวเอง
ทุกครั้ง ดิฉัีน ก็จะคุมอารมณ์ ได้บ้าง หรือ ไม่ได้บ้าง แต่สุดท้ายก็จะมานั่งนึกได้ ว่าควรจะอภัย หรือ ยกโทษ

ที่นี้การให้ อภัย หรือ ยกโทษ ให้นั้น มีวิธีขั้นตอนปฏิบัติจริง ๆ ในพระพุทธศาสนาอย่างไร ดิฉันไม่ค่อยทราบ
บางครั้งก็ นึกการแผ่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา บ้าง หรือ กล่าวคำอโหสิกรรมบ้าง

แต่บางอย่าง เมื่อเราได้ทำลงไปอย่างนั้น ใจไม่ก็ยังไม่ยอมให้อภัย เพราะบางเรื่องเป็นเรื่องที่พิจารณาแล้วให้อภัยไม่ได้ หรือให้ อภัยไปแล้ว เราก็ยังถูกเบียดเบียน เหมือนเดิม

ดังนั้นเวลาพระท่านสอน การให้อภัย เป็นทาน นั้นทำอย่างไร ถึงจะเป็นขั้นตอนที่ถูกต้อง

เนื่องด้วย เป็นเรื่องของใจ จะใ่ส่ให้เป็นทาน ทำอย่างไร ?
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 24, 2010, 03:46:14 pm »
0

 ทานกุศลแบ่งออกเป็น 2 วิธีใหญ่ๆ คือ
1. อามิสทาน
2.ธรรมทานและอภัยทาน
ดังจะได้อธิบายโดยลำดับดังต่อไปนี้

อามิสทาน คืออะไร
การบริจาคหรือการเสียสละ ทรัพย์สินเงินทองข้าวของ
ตลอดทั้งกำลังกายและสติปัญญาความรู้ความ สามารถของตนเอง
เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น ด้วยคุณธรรมคือ เมตตา กรุณา มุทิตา พรหมวิหาร
การเสียสละวัตถุสิ่งของหรือสิ่งที่ เนื่องกันเช่นกำลังกาย
สติปัญญา ความรู้ ความสามารถ เป็นต้น เหล่านี้เรียกว่า อามิสทาน
เมื่อเราบริจาคหรือเสียสละไปแล้ว เป็นกุศลคุณความดี มีอานิสงส์หรือมีผลอย่างไร ?
มีผลเกิดขึ้นทั้งใน ทางจิตใจของเราและมีผลที่เรียกว่าเป็นวิบาก
คือจะมีผลของกรรมนี้ให้ บังเกิดผลแก่ตน ถ้าจะว่าถึงคุณความดีคือทานหรือจาคะ
คือการเสียสละ เช่นนี้ เมื่อมีการเสียสละไปเพื่อประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น
ประการแรก ที่เห็นชัดเจนคือ ผู้นั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกว้างขวาง
เปี่ยมด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา แก่สรรพสัตว์โลกอื่น
คุณธรรมนี้เกิดขึ้นแล้วในใจและมี ปกติเป็นผู้มีจิตใจที่ถูกชำระความตระหนี่ เหนียวแน่น
ความเห็นแก่ตัว จำเพาะตัว จำเพาะตน จำเพาะหมู่เหล่าให้หมดสิ้นไป
การ ให้ธรรมและการให้อภัยเป็นทาน ชื่อว่า ธรรมทานและอภัยทาน
ในพระธรรมบท พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ สพพทานํ ธมมทานํ ชินาติ ธรรมทานชนะการให้ทานอื่นทั้งปวง


อย่าง ไรจึงเรียกว่า ธรรมทาน ?

ปฏิบัติธรรมเองเพื่อชำระกิเลส ออกจากกาย วาจา ใจของตนเอง
ตั้งตนอยู่ในคุณความดี เป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น เรียกว่าแจกธรรมะ
ซึ่ง ตรงกันข้ามกับผู้ที่ดำเนินชีวิตประจำวันพูดแต่คำพูดไม่ดี ทำแต่กรรมที่ไม่ดี
คิดแต่ความคิดที่ไม่ดีมาตลอด ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างที่เลวแก่ผู้อื่น
ชื่อว่าแจกอธรรม ธรรมทานต้องปฏิบัติเองเพื่อละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส
เพื่อชำระกิเลส หยาบ กลาง และละเอียดๆ ยิ่งขึ้นไปถึงวิสุทธิ
คือ ความบริสุทธิ์แห่งใจ แล้วจึงจะพบสันติสงบ
และจะถึงนิพพานคือความดับ กิเลสไม่มีเหลือ
จะถึงนิพพานต้องเป็นลำดับจนถึงที่สุดอย่างถาวรนี่ เรียกว่าธรรมทาน
เบื้องต้นเป็นปฐมคือทำความดี ละชั่ว ทำใจให้ใสเองทั้งหมด และเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ผู้อื่น
แล้วยังให้การแนะนำสั่งสอนอบรมผู้อื่น'
ให้ประพฤติปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบตามพระธรรม พระวินัย
และสนับสนุนอุปการะแก่ความประพฤติปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่น นั้นของบุคคล
หรือคณะบุคคล ผู้ที่กำลังเพียรประพฤติปฏิบัติธรรม
เพื่อ ชำระกิเลสแห่งทุกข์นั้นให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
ตรงนี้ก็ยิ่งด้วยธรรม ทานไปอีก


อย่างไรเรียก อภัยทาน ?
ก็เมื่อบุคคลเจริญธรรมขึ้นด้วยทานกุศล ศีลกุศล และภาวนากุศล
เพื่อ ละชั่ว ทำดี ฝึกอบรมจิตใจให้ผ่องใสและอบรมปัญญาให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นเพียงใด
ความเข้าใจ ความซึ้งใจในบาปบุญคุณโทษก็เจริญมากขึ้น
และ พรหมวิหารธรรมอันมีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ก็เจริญขึ้นเป็นบุญบารมี
เป็นเมตตาบารมี และ อุเบกขา บารมี อุปบารมี และ ปรมัตถบารมียิ่ง ขึ้นเพียงนั้น
ความเห็นอกเห็นใจเข้าใจในความ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ของสัตว์โลก
ผู้ยัง มีจักษุอันมืดบอดด้วยความหลงผิด จึงคิดผิด พูดผิด ทำผิดๆ
ในเราก็มีมากขึ้น ความรักปรารถนาให้สัตว์โลกเป็นสุข
ด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม และความเวทนาสงสาร
ปรารถนาให้สัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์ด้วยกรุณา พรหมวิหารธรรม
แม้จะถูกกร้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน และถูกก่อกรรมทำเข็ญแก่ตนมาแล้วมาก
จากทั้งในอดีต ปัจจุบันและอนาคตเพียงใด ย่อมไม่ติดใจโกรธพยาบาทยิ่งขึ้น
และ สามารถอดทน อดกลั้นต่อความก้าวร้าว ปรามาส ล่วงเกิน ความเบียดเบียน
จากสัตว์โลกทั้งหลายผู้ล่วงเกิน และผู้เบียดเบียนโดยรอบทั้งหลายเหล่านั้น
ได้มากขึ้นเพียงนั้น จนถึงวางใจเป็นอุเบกขาไม่ยินดี ยินร้ายได้มั่นคง
นี้ชื่อว่า อภัยทาน จัดเป็นทานอันเยี่ยมยอดไปอีก


ขอขอบคุณ http://www.dhammakaya.org
http://lovesuck.exteen.com/20051207/entry

----------------------------------------------------- 

อภัยทานคือคำสอนของ พระพุทธเจ้า


 ท่านสาธุชนทั้งหลายเมื่อเอ่ยถึง เรื่องทานคนส่วนมากมักจะเข้าใจในทำนองเดียวกันว่าก็คือการให้เงินให้ทองให้ ข้าวของสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคเท่านั้น แต่อันที่จริงทานมิได้หมายเอาเพียงเท่านี้ การให้แบบนี้ในพระพุทธศาสนาเรียกว่าอามิสทาน


       ยังมีการ ให้อย่างที่สองคือการให้ความรู้ความเข้าใจ การให้คำปรึกษา การแนะนำแนะแนวในเรื่องต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตเพราะว่าโดยปกติแล้วคนปกติเราที่จะเก่งไปเสียทุกเรื่องทำ ได้ทุกอย่างโดยไม่ต้องอาศัยการชี้แนะให้คำปรึกษาจากคนอื่นนั้นคงจะมีน้อย เพราะโดยที่จริงแล้วคนเราจะถนัดบางอย่างหรือเก่งบางอย่างแต่บางอย่างก็ไม่ ได้เก่งไม่ถนัดเลยต้องอาศัยคนอื่นจะทำงานหรือเรื่องนั้น ๆ ให้เสร็จลงได้ การให้ความรู้นี้ ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่าธรรมทาน


      อามิสทานช่วยแก้ปัญหาเรื่องความขัดสนยากจนในด้านของกิน ของใช้ได้ ธรรมทานช่วยแก้ปัญหาได้หลายด้านยิ่งใหญ่ที่สุด ก็คือแก้ปัญหาเรื่องภพชาติการเวียนว่ายตายเกิดได้ 


       แต่ ปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีอยู่ในสังคมมนุษย์ปัจจุบันก็คือปัญหา การทะเลาะแก่งแย่งแบ่งพรรคแบ่งพวกขาดความสามัคคีจะเอาแพ้เอาชนะกันจนอีกฝ่าย หนึ่งสูญพันธุ์ไปจากโลกจึงจะยอมเลิกราปัญหาแบบนี้ต้องใช้อภัยทานจึงจะแก้ไขได้

จะขอยกตัวอย่างเรื่องราวใน พระพุทธศาสนาที่มีการทะเลาะแก่ง แย่งกันจนด่าทอกันและเตรียมพร้อมที่จะรบราฆ่าฟันกันในหมู่พระประยูร ญาติของพระพุทธองค์ในเรื่องการแย่งน้ำในแม่น้ำโรหิณีเพื่อทำการเกษตร


พระพุทธเจ้าเสด็จมาตรัสห้ามโดยสรุปก็คือทั้งสองฝ่ายคิดถึงเหตุผลแล้วรู้ว่าถ้า การเกิดฆ่ากันก็จะทำให้เกิดความเสียหายมากในที่สุดแล้วก็ยอมอภัยให้กันได้ เหตุการณ์ก็จบลงด้วยดีไม่มีใครต้องเดือดร้อนล้มหายตายจาก มีทานอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ทานทั้งสองข้างต้น นั้นก็คืออภัยทาน หมาย ถึงการให้อภัยไม่ถือโทษโกรธเคืองไม่จองเวรจองกรรมต่อใครๆบางครั้งบาง เหตุการณ์อภัยทานนี้อาจจะมีความยิ่งใหญ่และสำคัญมากกว่าทานทั้งสองเสียด้วย ซ้ำ เพราะเป็นที่มาแห่งทานทั้งสองนั้นได้ 


ถ้าไม่ให้ อภัยแล้วไหนเลยจะให้ข้าวของเงินทองช่วยเหลือพวกศัตรูหรือผู้ที่ตนเกลียดได้ ถ้าไม่ให้อภัยแล้วไหนเลยจะให้ความรู้ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์แก่พวกคนที่ เป็นฝ่ายตรงกันข้ามกับตนเองได้


      แต่ที่กล่าว อย่างนี้มิใช่จะต้องการไปขัดแย้งกับคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่าสพฺพทา นํ ธมฺมทานํ ชินาติ แปลว่าการให้ธรรมคือความรู้ย่อมชนะการให้สิ่งทั้งปวง  และมิใช่ว่าทานทั้งสองนั้นจะไม่มีประโยชน์

       ที่จริงแล้ว การให้อภัยเป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินไปสำหรับกัลยาณชนคนดีงามทั้งหลาย แต่การให้อภัยนั้นต้องมี เหมือนกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือถ้าฝ่ายหนึ่งให้อภัยแล้วอีกฝ่ายหนึ่งยังจ้องที่จะทำลายล้างผลาญกันอยู่ การให้อภัยมันก็เกิดไม่ได้

 
มีเรื่องแปลกอยู่สำหรับ มนุษย์ปุถุชนทั่วไปที่ต้องการให้คนอื่นให้อภัยแก่ตนเองไม่ต้องมาโกรธไม่ต้อง เกลียดไม่ต้องคิดทำร้ายไม่ต้องมาเบียดเบียนตนถึงแม้ตนจะไปฆ่าเขาก่อนทำร้าย ทำลายไปด่าไปว่าเขาก่อนก็ตามหรือแม้เรื่องที่ตนทำผิดต่าง ๆ ก็ตามจะมากน้อยอย่างไรก็ต้องการให้คนอื่นอภัยให้ แต่ถึงคราวที่ตนจะต้องให้อภัยคนอื่น บ้างกลับทำไม่ได้ คือจะคิดว่าตนเองถูกหมดคนอื่นผิดหมดแล้วอภัยทานจะเกิดได้อย่างไร

แต่อีกเรื่องคือเรื่องที่พระ เจ้าวิทูฑภะฆ่าล้างเผ่าเจ้าศากยะสาเหตุมาจากการถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม จากเจ้าศากยะในเรื่องชาติกำเนิดเรื่องนี้พระพุทธเจ้าเสด็จมาทรงห้ามกองทัพ พระเจ้าวิทูฑภะถึงสองครั้งสองครา แต่เมื่อถึงครั้งที่สามทรงเห็นว่า มันเป็นเรื่องของกรรมเก่าของพวกเจ้าศากยะไม่อาจจะทรงห้ามได้ จำเป็นต้องที่จะให้เป็นไปตามกรรม สุดท้ายแล้วเพราะไม่มีอภัยทานจึง เกิดการนองเลือดต้องล้มหายตายจากกันจำนวนมาก


       ผู้ที่เป็น ตัวอย่างในเรื่องอภัยทานคงไม่มีใครเกินพระพุทธเจ้า แม้อดีตชาติที่ผ่านมาจะกี่ร้อยกี่พันชาติก็ตามถึงจะถูกพระเทวทัตจองเวรทำ ร้ายขนาดไหนก็ตาม แม้ในปัจจุบันที่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วพระเทวทัตก็คงตามทำร้ายทำลายพระ พุทธเจ้าเหมือนเดิมจนวาระสุดท้ายพระเทวทัตก็ถูกแผ่นดินสูบ ก็ไม่ปรากฏแม้แต่นิดเดียวว่า พระพุทธเจ้าทรงผูกเวรจองเวรกับพระเทวทัต ทรงให้อภัยได้เสมอ
ถ้าจะคิดง่าย ๆ ในเรื่องอภัยทาน เราในฐานะเป็นชาวพุทธนับถือพระพุทธเจ้าศึกษาเรียนรู้ธรรมมามาก


การ อภัยทานเป็นความประพฤติที่คนประเสริฐที่สุดในโลกคือพระพุทธเจ้าทรงประพฤติ เป็นแบบอย่างมาแล้ว

พวกเราจะให้อภัยเพราะถือว่าได้ทำตามคำสอนของ พระพุทธเจ้าเราก็จะเป็นคนประเสริฐเหมือนอย่างพระองค์ท่านได้


      หรือเราจะมาคิดถึงส่วนรวมที่จะต้องมาเสียหายเพราะการทะเลาะวิวาท กันของพวกเราก็พอจะให้อภัยหยุดทะเลาะกันได้ 

      หรือไม่ก็มาคิดถึงเรื่องเวร กรรม เมื่อเราทำกรรมกับเขาสักวันหนึ่งเขาก็ต้องทำกับเราคืนบ้างซึ่งมันอาจจะ แรงกว่าที่เราทำกับเขาก็ได้ หรือต้องไปตามใช้เวรกรรมกันอย่างไมมีที่สิ้นสุด

      หรือมาคิดถึงมรณะคือความตาย ซึ่งต่างคนก็ต่างจะตายอยู่แล้วทำไมต้องมาทะเลาะกันชิงกันทำเรื่องไม่ดี  ไม่ใช่การแข่งกันทำความดี ก็พอที่จะให้อภัยกันได้



       ท่าน สาธุชนอภัยทานเป็น เรื่องดีเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นสิ่งที่กำจัดเวรภัยได้จริง ถ้าท่านไม่อยากมีเวรมีภัยต่อไปทั้งในชาตินี้และชาติต่อ ๆ ไป ท่านต้องรู้จักการให้อภัย ด้วยความคิดว่า บุญบาปมีจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ทำกรรมได้กรรมทำเวรได้เวร


ขอกราบขอบพระคุณ  พระศรีรัชมงคลบัณฑิต  ผู้เขียนบทความ
อาจารย์ประจำสังกัดคณะศาสนา และปรัชญา มมร.
http://gotoknow.org/blog/dhammakaya-16/216031

----------------------------------------------------

อภัยทานเป็นการทำทานอัน ประเสริฐ

อะวัชเช วัชชะมะติโน วัชเช จะ อะวัชชะทัสสิโน
มิจฉาทิฏฐิสะมาทานา สัตตา คัจฉันติ ทุคคะติง

เมื่อหมู่ชนพวกใดใจคิดผิด
วิปริตจากธรรมคำสั่งสอน
ไม่รู้โทษรู้คุณบุญบาปจร
จึงสับสนสำส่อนเสียสัมมา
เขาจึงถึงทุกข์มหันต์ในบั้นปลาย
จะโชคร้ายแดดิ้นสิ้นยศฐา
ต้องลำบากยากเข็ญเห็นทันตา
ในโลกหน้ามีนรกไว้หมกตน


กวีโดย..พระราชกวี วัดราชาธิวาส

การอภัยทาน

      อภัยในที่นี้ก็หมายถึงทานอย่างที่สอง เรียกว่า อภัยทาน แม้สิ่งที่เรียกว่า“ อภัยทาน ”นี้ ก็ต้องมีปฏิคาหก มีผู้รับเหมือนกัน อภัยทาน หมายถึง ให้อภัย คำว่า อภัย นี้แปลว่า ไม่ต้องกลัว ให้อภัย คือเราให้ความไม่ต้องกลัวแก่บุคคลนั้น แปลว่า บุคคลนั้นไม่ต้องกลัวเรา นี่คือให้อภัย ทีนี้บางคนอาจจะคิดว่า นี้มันไม่ใช่ให้ทาน.... นี่มันไม่รู้ เขาพูดไปทั้งที่ไม่รู้การให้อย่างนี้ เรียกว่า ให้ทาน แต่เขาเรียกว่า “ อภัยทาน ”เป็นสิ่งที่ให้กันได้ ให้ได้ทั้งทางกาย ให้ได้ทั้งทางวาจา ให้ได้ทั้งทางจิตใจ ทางร่างกาย เขามาขอขมาขออภัยเราก็รับ ทางวาจา บอกอโหสิกรรม ทางจิตใจ เราก็สลัดความโกรธ ความอาฆาตจองเวรอย่างนี้ก็เรียกว่า“ อภัยทาน ” ทั้งนั้นมีได้ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ


     ทีนี้แยกประเภทให้เห็นชัดว่าอภัยทานนี้ อย่างน้อยก็มีอยู่สัก ๓ อย่าง อภัยทานอย่างแรกคือ การให้อภัยโทษ ให้ขมาโทษ คือยอมรับการขมาโทษ เรียกว่า ให้อภัยโทษ รับการขอขมานี่ เข้าใจกันดีแล้วไม่ต้องอธิบายก็ได้ อย่างที่สอง เราไม่เบียดเบียน ไม่ประทุษร้ายใครนั่นแหละ คือให้อภัยทานเหมือนกัน เราจงเป็นอยู่อย่างไม่เบียดเบียน อย่างไม่ประทุษร้ายใคร ที่เขาเรียกกันว่า “ศีล” ศีล นั่นแหละคือ อภัยทาน เราไม่ประทุษร้าย ไม่เบียดเบียนแก่ชีวิตแก่ร่างกาย หรือแก่น้ำใจ ไม่เบียดเบียนเนื้อตัวของเขา ไม่เบียดเบียนจิตใจของเขา ไม่ทำลายชีวิตของเขาทุกระดับ นับตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานขึ้นมา จนถึงมนุษย์ จนกระทั่งเทวดา หรือพรหมอะไร

ถ้ามันจะมี แปลว่าสิ่งที่มีชีวิต มีความรู้สึกนึกคิดแล้ว เราไม่เบียดเบียนให้เขารู้สึกกระทบกระทั่งเป็นทุกข์นี้เรียกว่า ให้ความไม่เบียดเบียน ความไม่ประทุษร้าย อย่างที่สาม แผ่เมตตาจิตอยู่เป็นปกติ ทุกวัน ทุกคืน ทุกลมหายใจเข้าออก นี้ก็คือ อภัยทาน นึกดูแล้วก็น่ารวย ในข้อที่ว่าอภัยทานนี้ไม่ต้องลงทุนสักสตางค์หนึ่งก็ได้ ต้องเสียหลายแสนนะ แต่ว่าทำอภัยทานนี้ ไม่ต้องให้สตางค์สักสตางค์หนึ่งก็ทำได้ แล้วยังจะมีผลสูงกว่าเสียด้วย

     อนึ่ง ขอให้รู้ไว้ว่า อภัยทานนี่มันทำยากกว่าที่จะให้วัตถุ เพราะมันเป็นเรื่องจิตใจมากขึ้นไปอีก คนถือตัว ใครมาขอขมาก็ไม่ยอมให้ แถมทำผู้อื่นเดือดร้อนอยู่เรื่อย ไม่รักผู้อื่น ไม่เห็นใจผู้อื่น นี่เรียกว่า ไม่มีอภัยทาน ขอให้ตัดสินใจแน่ลงไปว่า เรานี้ตั้งแต่วันนี้ไป จะสะสางเรื่องอภัยทานนี้ให้เป็นชิ้นเป็นอัน สำหรับวัตถุทานก็ทำมามากแล้ว แต่เรื่องอภัยทานนี้ดูยังโหรงเหรง นี่ขอให้ไปชำระสะสาง คือทำให้มันมีขึ้น ให้มันครบถ้วน ให้มันถูกต้องว่า

๑. ให้อภัยโทษ ยอมรับขมา
๒. ไม่เบียดเบียน ไม่กระทบกระทั่ง ไม่ประทุษร้ายใครหมด
๓. อยู่ด้วยจิตที่แผ่เมตตา ทั้งกลางวัน กลางคืน
     ทั้งหมดนี้ ก็เป็นอภัยทาน


     เจริญในธรรมครับ /***
ที่มา http://piggyoui.multiply.com/journal/item/6
http://www.kroobannok.com/blog/16403

-----------------------------------------------

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 24, 2010, 03:59:35 pm »
0
อภัยทาน  รักบริสุทธิ์

ชีวิตคือการลงทุน
 ชีวิตคือการลงทุน  ตัวชีวิตคือต้นทุน   สิ่งที่ได้มาหลังจากชีวิตคือกำไรทั้งหมด  การเกิดมาในโลกนี้  เหมือนการมาเที่ยว  หรือไปเที่ยวต่างประเทศ  เราชื่นชมได้ทุกอย่างที่เห็น  แต่เมื่อจะเดินทางกลับจะต้องวางทุกอย่างไว้ที่เดิม  เพราะนั่นเป็นสมบัติของแผ่นดินนั้นเก็บเอาเพียงความสุข  ความเบิกบานใจ  ไปติดตัวกลับบ้านก็พอ  ชีวิตในโลกนี้มีทั้งกำไรที่เป็นสินทรัพย์และกำไรที่เป็นอริยทรัพย์  สินทรัพย์เราทิ้งไว้ให้เป็นสมบัติของโลกต่อไป  ให้คนอื่นชื่นชมด้วย  หากเรามีโอกาสกลับมาเที่ยว (เกิดใหม่) อีก  เราก็มีโอกาสได้ชื่นชมอีก  อริยทรัพย์  คือ บุญ  ความสุข  ความเบิกบานใจ  อิ่มใจ  พอใจ  เป็นสมบัติแท้ของเราตามเราไปได้ทุกแห่งหน

 การลงทุนให้ได้กำไร  คือหัดทำความพอใจในสิ่งที่เรามีความโชคร้ายของมนุษย์  คือการไม่รู้ว่าตนเองโชคดีทุกชีวิตล้วนมีภัย  ภัยของชีวิตอาจเกิดขึ้นได้ทุกเสี้ยววินาที  ภัยที่เกิดจากภายนอก  ไม่ร้ายแรงเท่ากับภัยภายในภัยที่ผู้อื่นสร้างขึ้น  กระทบเราน้อยกว่าภัยที่เราสร้างขึ้นเอง  บางคนทำผิดแล้ว  กลับมานั่งเสียใจในภายหลังก็บ่อย  ภัยทั้งหลายล้วนเป็นยาพิษ  ที่ปลิดชีวิตจิตใจเราได้ทั้งสิ้น

 มนุษย์อื่นทำลายเรา  ก็ทำได้เพียงขณะหนึ่ง  แต่จิตที่ตั้งไว้ผิดจะทำลายเราข้ามภพชาติ  ด้วยเหตุนี้  ท่านจึงสอนเรื่อง “อภัยทาน” คือการยกโทษ  แสดงอโหสิกรรมต่อกันไทยเรามีประเพณีอย่างหนึ่งคือ  เมื่อจุดธูปขอขมาศพ  ก็จะขออโหสิกรรมต่อกัน  คืออย่าได้มีเวรต่อกันในภพหน้า  ให้ทุกอย่างจบลงที่ภพชาตินี้  แม้ศัตรูคู่อาฆาตก็ต้องอโหสิกรรมต่อกัน

 บางครั้ง  พิธีสำคัญในชีวิต  เรามักจะไปขอพรผู้ใหญ่  และกล่าวว่ากรรมใดที่เราได้ล่วงเกิน  ขอให้ท่านยกโทษให้  คือให้สิ่งที่เราทำเป็นอโหสิกรรม  ทำให้ใจเราว่างเพียงพอเพื่อรองรับความดี  ที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่  เช่น  พิธีบวช  เป็นต้น

 การแสดงอภัยทานเป็นการชำระใจ แม้จะดูพูดง่าย  แต่ก็ทำได้ยาก  หากไม่ฝึกทำจนเป็นปกติ  เพื่อให้เข้าใจง่ายและอยากทำให้ได้  ขอให้เรามาพิจารณาเหตุผล  ถึงความต่อเนื่องของผลกรรมที่มีผลข้ามภพข้ามชาติว่า  ให้ผลเผ็ดร้อนเพียงใด  และยังเป็นผลที่เราหนีไม่ได้อีกด้วย

 เราต้องถามตนเองก่อนว่า  เราต้องการยุติการเผล็ดผลของกรรมกับคนๆ นั้นเพียงภพนี้  หรือต้องการจะพบเขา  จะเจอเขาอีกต่อไป  เราต้องการจะยุติปัญหาเหล่านี้เพียงภพชาตินี้  หรือต้องการลากยาวไปถึงภพชาติข้างหน้า  เรามีสิทธิเสรีในตัวเรา

บางคนรักมาก  หลงมาก  เพราะเขาดีมาก  ก็ปรารถนาให้พบกันทุกภพทุกชาติ  บางคนก็อธิษฐานไม่ขอร่วมเดินทาง  แต่ก็ไม่ยกโทษ  ในที่สุดผลของการไม่ยกโทษ  คือไม่ยอมให้อภัย  ก็เหมือนการผูกสิ่งที่เราไม่ชอบไว้ที่เอวตนเองตลอดเวลา

 การให้อภัย  จะทำใหเราสามารถยุติปัญหาต่างๆ  ได้   เหมือนคนล้างแก้วน้ำสะอาด  ทำให้เหมาะสมที่จะรองรับน้ำบริสุทธิ์ที่เทลงไปใหม่  เหมือนการโยนของที่เราไม่ชอบทิ้งเสีย  โดยไม่ต้องเสียดาย
 การให้อภัย  คือการแสดงกำลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่สุด   อภัยทาน  เวลาจะให้  ไม่ต้องไปขอใคร  ไม่เหมือนใครมาของเนเรา  เราต้องควักกระเป๋าให้  แต่ให้อภัย  เราไม่ต้องหาจากไหน  และไม่รู้สึกว่าเป็นการศูญเสีย

 ขอให้เราภูมิใจ  เมื่อมีใครมาขอโทษ  เมื่อมีใครให้อภัยเรา  หรือเมื่อสำนึกได้ว่า  เราได้ทำอะไรผิดพลาดไป  ก็ขอโทษกัน  การขอโทษหรือการให้อภัย  มิใช่การเสียหน้า  หรือเสียรู้  มิใช่การได้เปรียบเสียเปรียบแต่อย่างใด  หากแต่เป็นการชำระใจให้สะอาด  เหมือนภาชนะสกปรก  ก็ชำระล้างให้สะอาด
 ใครจะคิดอย่างไรมิใช่ประเด็น  แต่สำหรับเราผู้แสดงออกว่า  เราให้อภัยในเรื่องนี้ต่อบุคคลผู้นี้แล้ว  นั่นเป็นสิ่งสำคัญ  เพราะสิ่งนั้นจะถูกบรรจุลงไปในเครื่องคอมพิวเตอร์คือจิตของเราทันที

 การผูกอาฆาต  ความพยาบาท  ความอิจฉา  โกรธ  เกลียด  ความคิดแก้แค้น  ทิฐิมานะ   เป็นต้น  เป็นเสมือนเชื้อไวรัส  อภัยทาน  คือ เครื่องมือแอนตี้ไวรัส  ส่วนจิตของเรา  เหมือนคอมพิวเตอร์
 ในชีวิตที่เหลืออยู่นี้  อาจจะดูเหมือนยาว  แต่มีใครบอกได้ว่าเราจะอยู่ได้ปลอดภัยถึงวันไหน  เราต้องการความทรงจำที่เลวร้ายหรือต้องการความทรงจำที่ดีในชีวิต

 เราต้องการนั่งนอนอย่างมีความสุข  มีชีวิตอยู่ด้วยความอิ่มเอิบ  หรือต้องการมีชีวิตอยู่ด้วยการถอนหายใจ  ด้วยความทุกข์และกังวลใจ  สิ่งเหล่านี้  กำหนดได้ที่ตัวเราเอง  กำหนดวิธีคิดให้ถูกต้อง
 ความคิดเป็นสิ่งที่ทรงพลังมาก  สุขหรือทุกข์ของมนุษย์อยู่ที่วิธีคิด  คิดเป็นก็พ้นทุกข์  คิดไม่เป็น  แม้แต่เรื่องมิใช่เรื่อง  ก็อาจเกิดเรื่องได้

 ขอให้เรามาคิดดูว่า  ในชีวิตของเราคนหนึ่ง  อย่างเก่งก็อยู่ได้ ๙๐ ปี  เกินนี้ไปถือเป็นกำไรชีวิต  ทำไมเราจะเสียเวลามาครุ่นคิดเรื่องไร้สาระ  ทำไมเราจะต้องเสียเวลามาทำเรื่องที่ทำให้เกิดทุกข์

 การยอมกันเสียบ้าง  ก็เป็นความสุขได้ไม่ยาก  บางครั้ง  การยอมแพ้  อาจเป็นชัยชนะยิ่งใหญ่ข้ามภพชาติ  การยกโทษ  อาจดูเหมือนเรายอม  เราไม่ติดใจ  ไม่เอาเรื่อง  แล้วเขาจะได้กำเริบ  ส่วนเราเสียเปรียบความจริงไม่ใช่  เรากำลังบำเพ็ญบารมีขั้นสูง  คือ “อภัยทาน”  อันเป็น “ทานบารมี”  ที่สูงส่ง
 เราอาจคิดว่า  การให้อภัยบ่อยๆ  แก่คนบางคน  เขาอาจจะไม่ปรับตัว  ยังก่อเหตุอยู่เสมอๆ  งานก็ไม่สำเร็จ  ยังเหลวไหลอยู่เหมือนเดิม  นั่นอาจเป็นเหตุผลในการทำงาน  แต่สำหรับเหตุผลของใจนั่น  เมื่อให้อภัย  ในเราก็เบา  เพราะหมดห่วง  หมดทุกข์  หมดสนิมที่จะมากัดใจให้ผุกร่อน

 วิธีคิด มีความสำคัญมากสำหรับชีวิตของคน  เรามักได้ยินเสมอๆ ว่า  แพ้หรือชนะ  อยู่ที่กำลังใจ  แท้จริงแล้ว คำว่า  “กำลังใจ”  ก็คือวิธีคิดนั่นเอง  พลังที่ยิ่งใหญ่ของมนุษย์คือ การที่ใจมีกำลัง

 มนุษย์เราจึงต้องสร้างกำลังใจให้แก่กันและกัน  กำลังใจเป็นสิ่งที่ให้ไม่รู้จักหมด  ยิ่งเราให้คนอื่นได้มากเท่าไร  กำลังใจก็จะยิ่งเกิดขึ้นแต่เรามากเท่านั้น  เหมือนวิชาความรู้  ยิ่งให้ยิ่งพอกพูน  ยิ่งหวงไว้เฉพาะตัว  ก็ยิ่งหดหาย

 การให้อภัย  อาจพูดง่าย  แต่ทำยาก  แม้จะเป็นเรื่องยาก  เพราะในไม่อยากทำ  แต่ก็สามารถทำได้เมื่อเราฝืนใจทำ  และจะเป็นความสุขใจในภายหลังเมื่อครวญคำนึง

 มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ข้าพเจ้าฟัง  เป็นเรื่องที่มีอุทาหรณ์และคติน่าคิดมาก  เกี่ยวกับเรื่องของคนที่ไม่ยอมให้อภัยใคร  และเป็นคนผูกโกรธ  ผูกเกลียด  ผูกอาฆาต  พยาบาท  มองเห็นคนอื่นเป็นศัตรูคู่ต่อสู้ตลอดเวลา  กระทั่งวันหนึ่งตายไปพร้อมกับจิตใจที่ขุ่นมัวและผูกอาฆาต

 ท่านเล่าว่า  เขาอธิษฐานไปเกิดเป็นลูกของศัตรู  เพื่อจะได้ทำร้ายจิตใจอย่างใกล้ชิด  แนบเนียนที่สุด  จะได้เผาผลาญคนนั้นให้ถึงที่สุดให้ทุกข์ที่สุด  ให้สาละวนอยู่กับเรื่องทุกข์ตลอดเวลา  เขาเป็นลูกเกเร  ผลาญทรัพย์  ทำลายวงศ์สกุล  นำความทุกข์เดือดร้อนเข้าบ้านทุกวัน

 พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า   ตรัสเป็นหลักใจว่า  คนที่ตายขณะจิตเศร้าหมอง  ย่อมไปสู่อบาย  แม้คนพวกนี้  จะไม่เชื่อเรื่องอยาย  เรื่องนรกที่เป็นภพภูมิ  แต่เขาก็ปฏิเสธไม่ได้ถึงนรกคือความเร่าร้อนรุนแรงที่คุกรุ่นภายในใจ  ในขณะยังมีชีวิตอยู่  ส่วนคนที่ตายขณะจิตผ่องใส  จะไปสู่สวรรค์  คือสภาพที่ใจปลอดโปร่งโล่งเบา  ก็จะมีแก่ผู้นั้น

 สิ่งที่น่าคิดก็คือ  ข้าพเจ้าทราบจากนักปราชญ์บัณฑิตโบราณ  ท่านพูดเอาไว้ว่า  การที่เราโกรธใคร  เราไม่ให้อภัยเขา  หรือเราไม่ไปขออโหสิกรรม  ความโกรธนั้นจะเป็นกรรมหนักติดตัว  คืดติดใจเราไปยาวนานข้ามภพข้ามชาติ  แปลว่า  ไม่ว่าเราจะไปเกิดภพใดชาติใดกรรมนั้นก็จะตามไปไม่สิ้นสุด
 ยิ่งไปกว่านั้น  การที่กรรมส่งผลข้ามภพข้ามชาตินั้น  เป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัวยิ่งนัก  เพราะเราไม่สามารถจะรู้ได้ว่า  เราได้ทำอะไรกับใครไว้บ้างในครั้งอดีต

คนบางคนเกิดมามักถูกใส่ร้ายตลอดเวลา  ไม่ว่าจะหันไปทำอะไร  จะมีแต่คนคอยจ้องจับผิด  คิดร้าย  นินทาลับหลังให้ต้องเสียใจอยู่เสมอ  บางคน  คิดทำอะไรขึ้นมา  พอจะสมหวังก็กลับมีอันต้องเป็นไปให้ผิดหวัง  พลาดหวังอยู่บ่อยๆ  เราก็คิดว่าเป็นเรื่องของโชควาสนาไป  แต่ความจริงคือเรื่องอดีตกรรมที่เราไม่ยอมแก้ไข  ทั้งๆ  ที่แก้ไขได้

 ยิ่งไปกว่านั้น  บางคนต้องทุกข์เพราะคนใกล้ตัว  ทุกข์เพราะคนที่เรารัก  ที่เป็นตัวชีวิตของเราเอง  เช่น  มีลูกเกเร  ทำให้พ่อแม่เสียใจ  มีลูกผลาญทรัพย์  มีลูกไม่อยู่ในโอวาท  มีลูกอกตัญญู  มีลูกทำลายชื่อเสียงวงศ์ตระกูล  พ่อแม่คิดถึงลูกทีไร  ก็มีแต่เรื่องร้อนใจตลอดเวลา

 เราจะเห็นว่า  บางครอบครัว  ญาติพี่น้องต้องทะเลาะกันเหมือนเป็นข้าศึกศัตรูกันมาหลายภพหลายชาติ  บางทีต้องฆ่ากันเป็นทอดๆ  ถามว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร  ปัญญาธรรมดาของมนุษย์อย่างพวกเราพอจะทำความเข้าใจได้หรือไม่  กฎหมายที่มีอยู่สามารถคลี่คลายปมปัญหาได้ไหม  คำตอยคือยาก  เพราะนี่เป็นเรื่องของเศษกรรมที่ยังมิได้รับ “อโหสิ” ระหว่างเราและเขา

 ฉะนั้น  ถ้าไม่ต้องการเสวยวิบากกรรมอันเลวร้ายข้ามภพ  ข้ามชาติ  ท่านต้องหัดให้อภัยแก่คนทุกคน  แก่สัตว์ทุกชนิด  ให้อภัยแม้ศัตรูที่คิดจะทำร้ายหมายปองชีวิตเรา  อภัยต่อทุกอย่างที่เขาทำไม่ดีกับเรา  ให้ทุกอย่างเป็นอโหสิกรรมทั้งหมด  เพื่อเราจะได้ไม่ต้องมีปัญหาในอนาคต

 บางครั้ง  เราเห็นเรื่องจริงในชีวิตจริง  หรืแม้แต่ที่ปรากฏเป็นข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์  หากเรามองย้อนคิดให้ดีสักนิด  นิ่งคิดให้ละเอียดลึกซึ้งสักหน่อย  เราก็จะเข้าใจได้ว่า  การไม่ให้อภัยกันนั้น  มีผลร้ายข้ามภพข้ามชาติได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

 บางคนเราไม่รู้จักกันมาก่อน  แต่พอเห็นหน้าก็รู้สึกไม่ชอบทันทีเลย  จะพูด  จะคุย  จะทำอะไร  ดูจะเกะกะลูกตาของเราไปหมด  แม้แต่ความรู้สึกที่เขามีต่อเราก็เช่นกัน  นั่นเป็นเพราะอดีต  เราไม่ยอมให้อภัยกัน

 สิ่งที่มนุษย์เรารักกันมากที่สุด  คือ  สามี  ภรรยา  ลูก  แต่ทำไมบางที  เมื่อแต่งงานกันแล้ว  สามีสามารถฆ่าภรรยาได้  หรือภรรยาก็สามารถฆ่าสามีทิ้งได้อย่างง่ายดาย  นั่นเป็นเพราะอะไร  ไม่มีสิ่งใดที่จะอธิบายได้ดีเท่ากับบอกว่า  นั่นคือผลกรรมที่เกิดจากการไม่ยอมให้อภัยกันในอดีตชาติ  และส่งผลมาถึงภพนี้  จึงต้องมาแก้แค้นชำระโทษกัน

 การที่เราไม่ยอมให้อภัย  เหมือนเราไม่ยอมล้างสิ่งสกปรกออกจากร่างกายเรา  แม้ว่าเราจะไปที่ไหน  สวมใส่เสื้อผ้าชิ้นใด  งามเพียงไรร่างกายของเราก็ยังคงสกปรก  และตามไปทุกหนทุกแห่ง    ความงามของเรือนร่างที่ประดับด้วยเครื่องเพชร  ด้วยเสื้อผ้า  ก็ไม่อาจทำให้ร่างกายสะอาดได้  การให้อภัย  เปรียบเหมือนการอายน้ำชำระร่างกาย

 ข้อนี้  เปรียบเสมือนเมื่อเราไม่ให้อภัยใคร  ใจเราย่อมดิ่งอยู่กับคนนั้น  และตัวเขาก็จะถูกผูกไว้กับความรู้สึกของเรา  เหมือนความสกปรกของร่างกายที่ตามเราไปตลอดเวลา  เพราะไม่ยอมชำระล้างให้สะอาด
 ท่านทั้งหลายอาจลืมคิดไปว่า  ลูกหลานที่เกิดมาแล้วผลาญทรัพย์  ทำลายชื่อเสียง  ทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อนนอนทุกข์นั้น  แท้จริงก็คือศัตรูในชาติที่แล้วที่เรามิได้อโหสิกรรมให้เขา  เราไม่ได้ยกโทษให้เขา  คือเราไม่ได้แก้ปมที่เคยผูกไว้ให้หลุดออกไป  กรรมระหว่างเรากับเขาจึงติดตามกันมาเผล็ดผลถึงวันนี้

 บางที  คนที่เขาโกรธเรา  หากเราโกรธตอบ  ก็จะเป็นการตอบรับกระแสกัน  เหมือนเราโทรศัพท์ถึงกัน  ถ้าอีกฝ่ายไม่เปิดโทรศัพท์รับ  ฝ่ายที่โทรถึงก็หมดสิทธิ์จะคุยกับเราเพราะกระแสไม่ถึงกัน
 การตอบรับซึ่งกันและกัน  ถ้าเป็นความดี  เป็นความรัก  ความอบอุ่นก็ดีไป  แต่ถ้าเป็นความเกลียด  ความโกรธ  สิ่งที่จะตามมาคือการรับรู้และเก็บอารมณ์ทั้งโกรธและเกลียดนั้นไว้ด้วยกัน ทั้ง ๒ ฝ่าย
 เมื่อรู้แล้วก็ควรสละอารมณ์นั้นด้วยตัวเราเองก่อน  เพื่อป้องกันจิตเรามิให้เป็นทุกข์เพราะคนนั้นเป็นเหตุ  เราอาจคิดเสมือนหนึ่งเขาไม่ได้มีอยู่ในโลกนี้เลยก็ได้  การให้อภัยเขา  คือคิดถึงเขาในฐานะเพื่อนร่วมเกิดแก่เจ็บตาย  ไม่สมควรจะไปยึดเป็นรักเป็นชัง

 ก็เมื่อแม้แต่รัก  ท่านยังสอนให้เราละทิ้ง  เพื่อมิให้ยึดติด  แล้วทำไมเราจะยังมองเห็นโกรธ  เป็นสิ่งที่จะต้องยึดมั่นอยู่ได้

 การที่เราเห็นสิ่งผิดปกติในชีวิตเราบางครั้ง  เช่น  มีแต่เรื่องให้เกิดทุกข์  มีแต่คนทำให้ใจขุ่นมัว  มีลูกไม่ดี  มีหลานไม่สมประสงค์  ทำให้เราต้องเก็บมาคิดเสมอ  ขอให้เราถือว่า  นี่คือเศษเสี้ยวแห่งผลกรรมที่ติดอยู่ในความคิดตั้งแต่อดีตชาติ  ซึ่งบัดนี้เผล็ดผล  งอกงามออกมาอยู่ใกล้ตัวเราที่สุด

 วิธีแก้คือ  ต้องอภัยให้แก่ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่วินาทีนี้ทันที  เพื่อภพชาติต่อไปเราจะได้ไม่ต้องรับรู้ความทุกข์ของใครต่อใครอีก  พึงทราบว่า  คนที่ทำให้เราทุกข์ใจที่สุด  คือคนที่เรารักที่สุด  คือผู้อยู่ใกล้เราที่สุด

 บางครั้ง  ศัตรูยอมอธิษฐานจิตแห่งความพยาบาท  ให้มาเกิดเป็นลูกของเรา  เป็นหลานของเรา  เป็นญาติของเรา  เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาเราก็มี  เพื่อเขาจะได้ทำลายน้ำใจ  ชื่อเสียง  วงศ์สกุลของเราให้ถึงที่สุด  นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้อโหสิกรรมต่อเขา  หรือไม่ได้แสดงอภัยทานต่อเขาจากชาติที่แล้วนั่นเอง


 ฉะนั้น  ทุกครั้งที่เราเห็นเหตุการณ์แปลกประหลาดเกิดขึ้นกับชีวิตใครหรือแม้แต่เกิด กับเราเอง  และเราเองไม่สามารถจะวิเคราะห์ได้ด้วยปัญญาธรรมดา  ขอให้ลองมองผ่านกฎเกณฑ์แห่งกรรมดูบ้าง  ก็จะช่วยให้จิตใจของเราโปร่งเบาขึ้นมาได้

 การคิดถึงกฎแห่งกรรม หาใช่การคิดแบบทอดธุระ หรือโยนบาป  โดยไม่คิดจะแก้ปัญหาไม่  การคิดเรื่องกฎแห่งกรรม  เป็นหลักการสัญข้อหนึ่งในการแก้ปัญหาทางใจตามหลักพระพุทธศาสนา  หลักธรรม เป็นกฎเกณฑ์ที่ให้ผลได้แยบยลทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ปัญหาบางอย่างที่แก้ไม่ตก  ที่สลัดไม่ออก  ที่ไม่มีทางจะหลบลี้หนีได้  เป็นสิ่งที่เราต้องแบกรับด้วยชีวิต  เราต้องพิจารณาความจริงย้อนหลัง  และยอมรับเหตุการณ์นั้นให้ได้

 สิ่งหนึ่งที่ควรคิดคือ  เรื่องผลกรรมที่เกิดขึ้นจากกรรมในอดีตที่เราไม่ได้ทำให้เป็น  “อโหสิกรรม”  คือไม่ยอมให้อภัยในภพชาติที่แล้ว  และวันนี้สิ่งที่เกิดกับเรา  จึงเป็นสิ่งสมควร  สมเหตุสมผล
 วิธีแก้คือ  เราต้องยอมรับความจริงของสิ่งที่เกิดกับตัวเรานั้นให้ได้  หากคิดได้เช่นี้  ก็จะทำให้จิตใจเราเยือกเย็นและอ่อนโยนลงได้

 ความทุกข์ส่วนใหญ่  มักเกิดจากการไม่ยอมรับความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้  ความทุกข์ของมนุษย์ส่วนมาก  มักเกิดจากต้องการเปลี่ยนแปลง  แต่เปลี่ยนไม่ได้  หรือไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง  แต่กลับเปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

 ถามว่าการให้อภัยในความผิดพลาดของคนๆ หนึ่ง  เป็นสิ่งที่ทำยากหรือง่าย  คำตอบคือ ทำง่าย  หากเราฝึกหัดทำเป็นประจำ

 ขอให้เราฝึกเสมอๆ ว่า  ไม่ว่าจะเกิดปัญหาอะไรกับเรา  ขอให้เราฝึกให้อภัยทุกวัน  ทำเหมือนที่เราแผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์  ขอให้เราทำทุกครั้ง  ทำทุกวินาที  ทำเหมือนกรวดน้ำหลังทำบุญ  เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้สรรพสัตว์น้อยใหญ่

 เมื่อเราสร้าง  “อภัยทาน”  ให้เป็นลักษณะนิสัยตลอดเวลาได้แล้ว  เราจะรู้สึกว่า  การให้อภัยแก่ใครนั้น  เป็นเรื่องง่ายดาย  เป็นเรื่องธรรมดาๆ  คือทำได้โดยไม่ต้องฝืนใจทำ

 ขอให้เราทราบไว้ว่า  เมื่อเราหัดสร้าง  “อภัยทาน”  เป็นปกติแล้ว  เศษกรรมต่างๆ  แทนที่จะติดตามเราไปข้ามภพข้ามชาติ  ก็จะถูกสลัดออก  คือตามไปไม่ได้  เพราะมิได้เป็นกรรมอีกต่อไป  หากแต่เป็นแต่เพียงกิริยาที่แสดงออก  เพราะเราให้อภัยเสียแล้ว

 เมื่อเราให้อภัยเสียแล้ว  ใครๆ ที่ผูกอาฆาตพยาบาทเราไว้  แรงพยาบาทของเขา  ก็จะหมดโอกาสติดตามเรา  เพราะกรรมนั้นหมดแรงส่ง  เนื่องจากเราได้ “อโหสิ”  เสียแล้ว

 จึงขอเชิญชวนท่านทั้งหลาย  มาฝึกปฏิบัติ  “อภัยทาน”  และ  “อโหสิกรรม”  ตั้งแต่บัดนี้กันเถิด  เพื่อยุติสนิมในใจ  คือความอาฆาตพยาบาท  เพื่อยุติแรงส่งของกรรมที่ตามไปเผล็ดผลอันเผ็ดร้อนข้ามภพข้ามชาติ

 พึง หลับตาให้ใจสงบครู่หนึ่งก่อน  แล้วตั้งใจกล่าวคำแผ่เมตตาเบาๆ  ดังนี้
  สัพเพ  สัตตา    สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
  อเวรา  โหนตุ    จงเป็นสุขๆ เถิด  อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย
  อัพยาปัชฌา  โหรตุ   จงเป็นสุขๆ เถิด  อย่าได้พยาบาทเบียดเบียน
ซึ่งกันและกันเลย
  อนี ฆา  โหนตุ    จงเป็นสุขๆ เถิด  อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
  สุขี  อัตตานัง  ปริหรันตุ   จงเป็นผู้มีสุข  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้น
เทอญ

ตายไม่มี
 “สัตว์ทุกชนิดกลัวตาย  เพราะคิดว่าความตายเป็นภัยร้ายแรงของชีวิต  ผวาว่าความตายใครๆ หลีกเลี่ยงไม่ได้  เกิดความสิ้นหวังท้อแท้ว่าความตายไม่อาจรักษาด้วยการเยียวยาใดๆ  แต่ความจริงแล้วความตายนี้แลคือทิพยโอสถชนิดเลิศ  ที่ธรรมชาติใช้รักษาโรคร้ายทุกชนิดของธาตุขันธ์  ความตายจึงมิใช่สิ่งที่น่ากลัวเพราะความตายเป็นทิพยโอสถของชีวิต”

 สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนให้พิจารณามรณสติเพื่อบรรเทาความมัว เมาในชีวิต  ในเวลา  ในความประมาท  ก็เพราะต้องการให้คนมีสติตื่นตัว  ให้รู้ว่า ความตายอยู่แค่ปลายจมูกเท่านั้น  เรารู้วันเวลาเกิดได้  แต่เวลาตายเราไม่รู้  และไม่มีทางจะรู้ด้วยหากไม่เจริญมรณสติเป็นประจำ

 การเจริญมรณสติ  คือนึกถึงความตายบ่อยๆ  อย่างนี้  จะสอนใจให้กล้าเผชิญความจริงได้ไม่ยาก
 เมื่อพิจารณาความจริงอีกขั้นหนึ่ง  เหนือจากสมมติสัจจะคือ  พิจารณาให้เห็นความจริงตามหลักธรรมชาติ  มองทุกอย่างให้เห็นเป็น อนัตตา  ปราศจากตัวตนที่ควรเข้าไปยึดมั่น  อย่างที่ตรัสแสดงใน  อนัตตลักขณสูตร  เราก็จะเข้าใจได้ว่า  ความตายไม่มี  และไม่มีอะไรตาย  สิ่งที่เราเรียกว่าตายเป็นแต่เพียงการปรับตัว  และเปลี่ยนสภาพของธาตุ  ๔ คือ  ดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  กับวิญญาณของธาตุเท่านั้น
 
ตามธรรมดาของร่างกายเป็นทุกข์และอยู่ได้ยาก  ต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา  เราเห็นกันทุกคน  แต่มีน้อยที่ใส่ใจ

 ขอให้พิจารณาง่ายๆ  ดังนี้  จากเล็กสุดในท้องแม่  เลือดก้อนหนึ่งค่อยเจริญเติบโตมาเป็นตัวคน  เมื่อโตมากก็จำต้องออกมาอยู่นอกท้องแม่  มิฉะนั้นจะเกิดปัญหา  เราสมมติเรียกว่า “เกิด”  แท้จริงการเกิดก็คือวิธีเปลี่ยนแปลงสภาวะที่ทนได้ยากอย่างหนึ่งของธรรมชาติ นั่นเอง  จากนั้นก็เป็นก้อนเลือดมีชีวิต  นอนแบเบาะ  หัดกิน  หัดพูด  หัดคลาน  หัดรับสัมผัสจากโลกใบใหญ่นอกครรภ์แม่  การพึ่งตัวเองมีมากขึ้นตามลำดับ

 เขาต้องกินเอง  ดื่มเอง  หัดเดินเอง  และการที่ได้คิดเอง  ทำเองนี่แล  เป็นความปรารถนาสุดยอดของชีวิต

 ความยิ่งใหญ่ของชีวิตอยู่ที่ได้รับอิสรภาพตามลำดับ  เป็นอิสระทั้งกายและใจตามที่พระพุทธองค์ตรัสสอนเรื่องวิมุติ  ความหลุดพ้น  แท้จริงแล้วก็คืออิสรภาพนั่นเอง  เพราะหลุดพ้นจากบ่วงจึงเป็นอิสระแล้ว  อะไรคือบ่วงคล้องชีวิต

 ต่อมาเมื่อโตขึ้นอีกหน่อย  เขาก็หัดเดินเอง  วิ่งเอง  วินาทีแรกที่เขาเกินเองได้โดยที่ไม่มีคุณแม่คอยประคอง  เป็นวินาทีแห่งความสุข  เมื่อเขายืนด้วยลำแข้งของตนเองได้เป็นอิสระไม่เป็นภาระของใคร  เป็นตัวของตัวเองแล้ว  ความภูมิใจจะเกิดขึ้นทันที

 เขาจะรู้สึกมั่นใจในชีวิต  แต่ก็มั่นใจเพราะมีคุณพ่อคุณแม่ยืนเคียงข้าง  เพราะภายในจิตลึกๆ  ก็ยังต้องการที่พึ่งอยู่  ใจยังต้องมีที่พักพิงที่มั่นคง  นั่นคือที่พึ่งอันอบอุ่นจากคุณพ่อคุณแม่

 วัยเด็กนี้เอง  เป็นวันที่หนูน้อยต้องได้รับการอบรมบ่มเพาะปลูกฝังจริต  นิสัย  ใจคอ  เรียนรู้ดีชั่ว  ควรมิควร  เรียนรู้ ถูกกับผิด  จากคุณพ่อคุณแม่  ก่อนที่จะออกไปสู่โลกกว้าง  ทางไกล

 การเรียนรู้ถูกกับผิดนั้น  เรียนได้จากทุกสถานที่  เพราะเป็นขาวกับดำชัดเจน  และมีกฎเกณฑ์ตายตัว  ส่วนการจะรู้ว่าอะไร ควรไม่ควร นั้นยาก  ต้องใช้ใจต่อใจ  ใช้จิตสำนึกแทนตัวอักษร  ซึ่งคุณพ่อคุณแม่เท่านั้นจะให้เราได้ดีกว่าใครๆ  ในข้อนี้

 บางครั้งสิ่งที่ว่าถูกต้องนั่นเองกลับเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ  ไม่ควรพูด  ไม่ควรคิด  เรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้  คนที่จะกล้าบอกเรา  ก็มีแต่คนที่รักเราจริงๆ  เท่านั้น  แล้วใครเล่าจะรักเราบริสุทธิ์  มีความเมตตาอาทร  และอ่อนโยนเท่ากับพ่อแม่

 โตมาหน่อย  เราก็ต้องเรียนรู้โลกกว้าง  มีการศึกษา  มีงานทำ  มีครอบครัว  แล้วชีวิตใหม่ต้วน้อยก็ถือกำเนิดมาดูโลกกับเราอีก  เจ้าหนูน้อยก็เป็นอย่างที่เราเคยเป็น  เขาเริ่มต้นชีวิตอย่างที่เราเคยเริ่มต้นมา  วันผ่านไป  วัยก็ตามมา  แต่สิ่งที่ผ่านมามิใช่เพียงกาลเวลาที่ผ่านไป  ทุกอย่างได้จารึกปรัชญาชีวิตเอาไว้ให้เราได้รำลึกถึงทุกเหตุการณ์ณ์เสมอ  แม้ความจำจะลืมบางอย่างไปแต่ใจยังจดจำ

 ขณะที่ลูกเจริญไปข้างหน้า  ความชราตามหาเรา  วัยเราเจริญลง  วัยลูกเจริญขึ้น  ก็มาถึงช่วงวัยแก่เฒ่า  เราอาจคิดว่าตัวเองแก่  เพราะเห็นหน้าตาเหี่ยวย่น  ผมหงอก  ฟันหลุด  เจ็บปวด  ป่วยไข้ไม่สบาย  เรี่ยวแรงหมด  นั่งโอย  แม้นอนก็ยังโอย  เราคิดว่านี่คือวัยชรา

 ความเป็นจริงเราชรามาตั้งแต่เกิด  ชรามาเยือนเราตั้งแต่อยู่ในท้องแม่  แต่เราไม่คิดกันเท่านั้นเอง
 คำว่า “วัย” ที่เราพูดว่าเจริญวัย  แท้จริงก็คือเจริญความเสื่อมเพราะคำว่า  “วัย”  แปลว่า “เสื่อมสินไป”  เราแก่ตั้งแต่เกิด  เรามิได้แก่เฉพาะวันนี้เท่านั้น

 และแล้วก็มาถึงบั้นปลายของชีวิต  เราเรียกว่า “ตาย”  ความจริงตายไม่มี  ตายเป็นเพียงคำสมมติเรียกชื่อ  “ทิพยโอสถ”  ที่สามารถรักษาโรคร้ายทุกชนิด

 ที่เราสมมติเรียกว่าตายนั้น  เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ขันธ์ ๕  ปรับความสมดุลเท่านั้นเอง
 ความสมดุลของธาตุ ๔   ขันธ์ ๕  คือการดำรงอยู่อย่างเป็นสุขของชีวิต  ถ้าธาตุ ๔  ขันธ์ ๕  ขาดความสมดุล  ชีวิตก็เป็นทุกข์เพราะความเจ็บ  ก็คือความไม่สมดุลของธาตุทั้ง ๔  ขันธ์ ๕

เมื่อเจ็บมาก  ก็แสดงว่า  ธาตุตัวใดตัวหนึ่งทำงานบกพร่อง  เช่น  อาหารไม่ย่อยเราก็เป็นทุกข์  แสดงว่าธาตุไฟไม่ทำงาน  ธาตุดินมีปัญหา  ระบบเลือดแย่  แสดงว่าธาตุน้ำเดินไม่สะดวก  เป็นต้น
 เมื่อธาตุทั้ง ๔  ทำงานไม่ได้  หรือทำงานไม่คล่องตัว  ตัวชีวิตก็รวนเร  ทรงตัวอยู่ไม่ได้  ก็จำเป็นต้องปรับสภาพเพื่อให้อยู่ได้  วิธีปรับสภาพอาจจะด้วยวิธีใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย  มีเยียวยา  หรือผ่าตัด  สุดแท้แต่ความเหมาะสม

 ในโลกแห่งเทคโนโลยี  มนุษย์เราช่างอาจหาญพากเพียรต่อสู้เอาชนะความตายด้วยวิธีการต่างๆ  แต่สุดท้ายก็พ่ายแพ้  เพราะเป็นการพยายามที่ฝืนระบบธรรมชาติ  หากไม่ฝืนธรรมชาติ  วินาทีธาตุขันธ์แยกจากกัน  ก็จะเป็นความสงบสุขมากกว่านี้  เพราะไม่ได้ถูกบีบบังคับ

 ความจริง  คนเราเมื่อถึงจุดหนึ่งก็ควรจะปล่อยให้ธรรมชาติเยียวยาดีกว่า  มิใช่ยอมให้เทคโนโลยีมาก้าวก่ายจนเกินไป  ชีวิตมาจากธรรมชาติ  ก็จำเป็นต้องใช้ธรรมชาติเยียวยา  มิใช่เทคโนโลยีจนนาทีสุดท้าย

 ธรรมชาติคือหมอที่ดีที่สุดของชีวิต  เมื่อธาตุ ๔  จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเองขั้นสุดท้าย  ขอยืนยันว่า  มิใช่เทคโนโลยี  มิใช่เครื่องมือทางวัตถุ  ต้องเป็นธรรมชาติ  มนุษย์เราควรปล่อยให้ตัวชีวิตเป็นอิสระก่อนสิ้นลมจะดีกว่า  เพื่อให้ธาตุ ๔  ขันธ์ ๕  ปรับสภาพเข้าหากันให้ลงตัว  ให้จบลงอย่างเป็นสุข
 ธรรมชาติไม่เคยทำลายใคร  ไม่เคนก่อทุกข์ให้ใคร  การฝึกต่างหากที่เป็นการก่อทุกข์  ขอให้มั่นใจในระบบการทำงานของธรรมชาติเพราะตัวตนของเรามาจากธรรมชาติ

 เพราะฉะนั้น  ความตายไม่มี  มีแต่เพียงการปรับเปลี่ยนสภาวะของธาตุขันธ์เท่านั้น  เหมือนกับตะวันออกตะวันตกไม่มี  มีเพียงการเคลื่อนไหว  หมุนตัว (วัฏฏะ)  ของลูกโลก  เมื่อมองจากจุดที่อยู่เหนือโลก  (โลกุตระ)  หรือนอกโลกเรา  คือมองจากความเป็นจริงมิใช่มองจากสิ่งที่เราเห็นด้วยตา  เช่น  มุมมองจากยานอวกาศ  เราก็จะเห็นเพียงลูกโลกดวงกลมๆ  ไม่มีที่ใดบอกว่าตะวันออกด้านนี้ตะวันตกด้านโน้น  ทุกอย่างเป็นวงโคจรการทำงานตามธรรมชาติในระบบสุริยจักรวาล

 เมื่อมองจากสภาวะที่เป็นจริงของชีวิตในมุมที่เป็นจริง  เกิดแก่เจ็บตายก็เป็นการทำงานตามระบบธรรมชาติเท่านั้น  เกิด  แก่  เจ็บ  ตาย  จึงเป็นเพียงวงจรการเดินทาง (สังสารวัฏ)  ของชีวิต  เหมือนเราเห็นพระอาทิตย์ขึ้น  แล้วก็เดินทางไปสู่การอัสดง  นั่นเป็นการมองตามที่ตาเห็นเท่านั้น

 เมื่อเราไม่เห็นดวงอาทิตย์  เราคิดว่าอาทิตย์ตกดิน  แต่ความจริงมิใช่ดวงอาทิตย์ตกดิน  และก็มิใช่ว่าไม่มีดวงอาทิตย์  วินาทีที่หายไปจากสายตาเรานั่นเอง  ดวงอาทิตย์ก็ไปปรากฏแก่สายตาของคนอีกผากหนึ่งของมุมโลก

 อีกมิติหนึ่งของชีวิตก็เช่นกัน  เมื่อธาตุ ๔  ขันธ์ ๕  แยกกันตามธรรมชาติเราร้องไห้เสียใจ  เพราะมองว่าเป็นการตาย  มองเห็นเหมือนอาทิตย์อัสดง  แต่อาจจะมีมิติหนึ่งที่กำลังหัวเราะดีใจรับชีวิตใหม่เหมือนกับคนอีกฟากหนึ่ง กำลังรอให้พระอาทิตย์อุทัยแสงในมุมของตน

 นี่คือสิ่งที่พิจารณาตามความจริง  ทั้งระบบสุริยจักรวาลและระบบของชีวิต  ซึ่งชีวิตเองเป็นเพียงเศษธุลีของ สุริยจักรวาลเท่านั้น

 มนุษย์เกิดมาสู่โลก  นึกว่าโลกนี้เป็นของเรา  เราเป็นเจ้าของจึงยึดยื้อฉุดแย่งแบ่งปันกันเป็นเจ้าของ  ความยึดมั่นครอบครองจึงเกิดขึ้น  เพราะมนุษย์ยึดติด  กำโลกไว้แน่นนี่เอง  เขาจึงเป็นทุกข์  เป็นทุกข์เนื่องจากไม่เคยสมหวังในสิ่งใดจริงๆ  พอกำสิ่งนี้ไว้ได้  อย่างอื่นก็หลุดมือ  ต้องคว้าหาใหม่ตลอดเวลา  เมื่อได้มาก็ดูเหมือนดีใจ  แต่พอเสียไปก็เป็นทุกข์

 ความจริงแล้ว  ไม่มีอะไรเลยจริงๆ  ที่เข้าไปยึดถือแล้วไม่ทำให้เราเจ็บตัว  แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ  น้อยๆ ก็ตามท่านจึงสอนให้อยู่ในโลกนี้อย่างบางเบา  สัมผัสสมบัติของโลกแต่เพียงแผ่วเบา  อย่าหอบหิ้ว  แบกหาม  กอดกำ  เหนี่ยวรั้ง  คือ  เมื่อทำชีวิตบนโลกให้บางเบา  แล้วเราจะพอหาความสุขในชีวิตได้บ้าง  แต่ถ้าพิจารณาความจริงของชีวิตและของโลก  ต้องให้หนักแน่น  ทำแผ่วเบาไม่ได้

 แปลว่า  ถึงจุดหนึ่ง  ต้องไม่คิดแบกหามยึดมั่นมาก  เพราะไม่มีอะไรเป็นของเราจริงๆ  แม้สิ่งที่เรามีกรรมสิทธิ์วันนี้  สุดท้ายก็มิใช่ของเรา  สิ่งที่เรารักที่สุดก็ไม่อาจอยู่กับเราได้  เพราะสุดท้ายปลายทางเราต้องจากสิ่งนั้นไป  ทิ้งทุกอย่างไว้ให้คนข้างหลังดูแล ชีวิตเป็นของน้อยอย่างนี้

 
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 24, 2010, 04:02:52 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 24, 2010, 04:05:24 pm »
0

มีเรื่องเล่าว่า  เหล่าเทพบุตรเทพธิดากำลังเก็บดอกไม้บนสรวงสวรรค์  เทพธิดาตนหนึ่งลงมาเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลดี  มีสามี  มีลูก  มีทรัพย์สมบัติมาก  ทำบุญทำทาน  รักษาศีล  เจริญสมาธิปัญญาในพระพุทธศาสนา  ทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดินมาก  เมื่ออายุได้ ๙๐ กว่า  ก็สิ้นอายุ  เธอไปเกิดเป็นเทพธิดาอีกครั้ง  หัวหน้าเทพเมื่อเห็นเธอจึงถามว่า  เมื่อเช้านี้เธอหายไปไหน

 เธอก็เล่าให้ฟังว่า  เธอไปเกิดในมนุษย์โลก  มีครอบครัวแสวงหาสมบัติ  เกลือกกลั้ว  เกลื่อนกล่นอยู่กับการมี  การเป็น  มีสามี  มีลูก  มีเกียรติ  มียศ  มีเพื่อนฝูง  มีบริวาร  เลี้ยงลูกจนเติบโต  มีหลาน  มีเหลนไม่น้อย  และเธอก็มีอายุยืนถึง  ๙๐ ปี  ด้วยอานิสงส์บุญเมื่อตายลงจึงมาเกิดที่นี่อีก


 เทพบุตรฟังแล้วถึงกับตะลึงว่า  ชีวิต ๙๐ ปีในโลกมนุษย์นั้นเป็นเพียงชั่วเวลาเช้าถึงเที่ยงของเทวโลกเท่านั้นหรือ

 บาง ท่านอาจไม่เข้าใจ  แต่เมื่อมองดูภพภูมิต่างมิติระหว่างมนุษย์เรากับสัตว์เดรัจฉานก็น่าจะเห็น ได้ชัด  สัตว์บางตัวมีอายุเพียง ๗ วัน  ๑๕ วัน  ๑ เดือน  เขาก็เต็มที่แล้ว  ขณะที่เรามีอายุขัย ๘๐ หรื ๙๐ ปี  หรือสัตว์เดรัจฉานบางชนิดก็มีอายุมากกว่าเราหลายเท่า  เช่น  เต่า  ช้าง  เป็นต้น

 การเรียนรู้ชีวิต  ต้องมองให้เห็นความจริงทั้งในภพกว้างและมุมแคบ  เพื่อคลายความติดยึดอันรุนแรง  ที่ท่านเรียกว่า  "อุปทาน”  ตัวติดยึดนี่เอง  คือจุดกำเนิดแห่งทุกข์ทั้งปวง

 เราอยู่ในโลกยุคเทคโนโลยี  โลกทั้งโลกอยู่ในกำมือเราก็จริงแต่ไม่อาจกำทุกสิ่งไว้ในอำนาจ  ทุกอย่างผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

 การมองชีวิตตามหลักสัจธรรม  ตามธรรมชาติ  แก้ทุกข์ได้ยิ่งคราที่ใจได้ทุกข์ถึงที่สุดเราต้องกล้าหาญ  มองให้เห็นความจริง  กล้าเผชิญรากแก้วความจริงอันประเสริฐ (อริยสัจ)  นี้ให้ได้  เพราะความจริงทำให้คนฉุกคิดได้  ความจริงตามธรรมชาติไม่เคยทำร้ายใคร  หรือทำลายใคร  ท่านจึงบอกว่าประเสริฐ  สิ่งที่ทำให้คนลุ่มหลงต่างหากที่ประทุษร้ายคน

 ความตายไม่มี  มีเพียงการปรับสภาพของธาตุขันธ์
 เมื่อปรับเปลี่ยนได้ที่  ซ่อมแซมจุดบกพร่องได้แล้ว  ก็มารวมตัวกันใหม่  เราก็สมมติว่า “เกิด”  เมื่อเกิดแล้วโต  แก่เฒ่า  และทำงานหนัก  เมื่อชำรุดทรุดโทรมก็จำเป็นต้องซ่อม  หากซ่อมไม่ไหวก็แยกส่วน  ซึ่งเราสมมติเรียกว่า  “ตาย"” และก็วนเวียนกันอยู่เช่นนี้  เกิด-ตาย  เกิด-ตาย  เป็นวังวนแห่งสังสารวัฏ  ชีวิตมีเท่านี้จริงๆ

“ความตายไม่มี  มีแต่การปรับเปลี่ยนเพื่อความสมดุลของธรรมชาติเท่านั้น”
 คำนี้สำคัญ  ที่เราควรใคร่ครวญพิจารณาทุกเช้า  หลังตื่นนอน  ก่อนออกจากบ้าน  แม้ในที่ทำงาน
 ขณะที่ย่ำเท้าเปล่าลงบนยอดหญ้า  ก่อนจะลงมือทำอะไรทั้งหมดในวันนั้น  ให้พิจารณาความจริงตรงนี้ก่อน  ให้รุ่งอรุณของแต่ละวันเป็นรุ่งอรุณที่สดใส  เป็นรุ่งอรุณที่งดงามกับชิต


 ขณะที่พระอาทิตย์ทอแสงส่องโลก  ปัญญาต้องทอแสงส่องใจ
 การปรับเปลี่ยนชีวิตต้องการวิถีธรรมชาติ  มิใช่เทคโนโลยี  หมอที่ดีที่สุดที่จะปรับความสมดุลของธาตุ ๔  ขันธ์ ๕ คือธรรมชาติ

การเข้าใจระบบการทำงานของธรรมชาติ  ต้องเท้าเปล่าสัมผัสดิน  ต้องทำใจให้อยู่เหนืออารมณ์  มองโลกตามความเป็นจริง  เมื่อเข้าใจธรรมชาติ  ก็จะเข้าใจสัจธรรม  และการกล้าเผชิญความจริงของชีวิตเท่านั้น  ที่จะช่วยรักษาเยียวยาคราวที่ทุกข์สัมผัสใจ

 โอกาสตรงนี้  ทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน  ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะหรือฐานะใด  เพียงแต่ใครจะเริ่มต้นเรียนรู้ก่อนใครเท่านั้นเอง

...
ขอขอบคุณที่มาบทความ : หนังสือ  อภัยทาน  รักบริสุทธิ์  โดย ปิยโสภณ  วัดพระราม ๙  กาญจนาภิเษก
http://www.dhammasavana.or.th/article.php?a=131


บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

saithong

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +13/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 108
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: อภัยทาน มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร ?
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 24, 2010, 07:41:29 pm »
0
 :25:

ไม่ผิดหวังจาก คุณปุ้ม เลย สาระดี ๆ และนำไปแบบภาวนาได้

====================================

ขอให้ผู้โพสต์ และ ผู้อ่านทุกท่าน มีแต่ความสุข ๆ ทั้งกาย และ ใจ ทุกคน :13:
บันทึกการเข้า