ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระพุทธรูปใหญ่ ยืน เดิน นั่ง นอน...อนุสรณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)  (อ่าน 10755 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28418
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การก่อสร้างพระพุทธรูปสมเด็จ
อนุสรณ์การสร้างพระพุทธรูปของสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)

      สถานที่ที่มีความสำคัญและเกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี) มีด้วยกันมากมาย หลายแห่งซึ่งสถานที่เหล่านั้นมีความ ผูกผันกับ ชีวิตของสมเด็จโตฯตั้งแต่เกิดจนกระทั่งมรณภาพ ท่านก็มักจะสร้างอะไร ๆ ที่ใหญ่ ๆ โต ๆ สมกับชื่อของท่าน ส่วนใหญ่แล้วท่านก็จะสร้างเป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถต่างๆ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน เป็นต้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ตัวท่านเอง จึงได้สร้างปรากฏไว้เป็นหลักฐาน

      สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)  ราชสกุลวงษ์ของเจ้าประคุณสมเด็จ   พระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) มารดาชื่อ เกตุ (ธิดานายไชย) เดิมเป็นชาวบ้าน ต.ท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ (ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จ.อุตรดิตถ์) ส่วนบิดาจะมีนามใดไม่ปรากฏแน่ชัด ทราบเพียงแต่ว่ารับราชการเป็นชาวเมืองอื่น แต่ก็เชื่อได้ว่าเป็น “ราชสกุลวงษ์”

     ต่อมาการทำนาไม่ได้ผลเพราะฝนแล้งมาหลายปี โยมมารดาท่านจึงคิดย้ายภูมิลำเนาโดยการออกทำมาค้าขายโดยทางเรือและตามหาโยมพ่อด้วย จนกระทั่งเดินทางมาถึง บ้านไก่โจน (ต่อมาแผลงเป็น “ไก้จ้น”) ตำบลไก่จ้น อำเภอนครน้อย (อ.ท่าเรือ) แขวงเมืองกรุงเก่า (จ.พระนครศรีอยุธยา) จึงได้จอดเรือในคลองป่าสัก ใต้ต้นสะตือ ที่ริมตลิ่งหน้าวัดท่างาม (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดสะตือ)

     โยมเกตุได้คลอดบุตรเป็นชาย ณ ที่แห่งนั้น ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 12 ค่ำ เดือน 5 ปีวอก สัมฤทธิ์ศก จ.ศ. 1150 ตรงกับวันที่  17 เมษายน พ.ศ. 2331 เวลาบิณฑบาต ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 (หลังสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ได้ 7 ปี) และตั้งชื่อว่า “โต” เมื่อท่านเกิดแล้ว (ยังเป็นทารกแบเบาะ) มารดาก็พาท่านไปอยู่ที่ตำบลไชโย  จ.อ่างทอง จนกระทั่งท่านนั่งได้ มารดาก็พามาอยู่ ณ บ้านตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร จนกระทั่งยืนเดินได้ (ภายหลังท่านได้สร้างพระพุทธรูปใหญ่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ ณ ที่ตำบลทั้ง 3) ดังจะกล่าวไปข้างหน้า

 
สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พฺรหฺมรํสี)

จ.ศ.1162 หรือ พ.ศ.2343 บวชเณรที่วัดบางขุนพรมนอก(วัดอินทรวิหาร) เมื่ออายุ 12 ปี ได้ 8 พรรษา โดยมีพระบวรวิริยะเถระ(อยู่) วัดบางลำพูบน (วัดสังเวชวิศยาราม) เป็นพระอุปัชฌาย์
จ.ศ.1166 หรือ พ.ศ.2347 ท่านแก้วพามาเรียนพระปริยัติธรรม  ทีวัดระฆังโฆสิตามราม กับสมเด็จพระโฆษาจารย์ (นาค)
จ.ศ.1169 หรือ พ.ศ.2350 อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม(วัดพระแก้ว) โดยมีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระอุปัชฌาย์
จ.ศ.1177 หรือ พ.ศ.2358 ธุดงค์ไปที่วัดพิตเพียน จ.อยุธยา พบหลวงตาคง(เจ้าอาวาส) ซึ่งเก่งเวทย์มนต์ทางคาถา ได้ทำพระสมเด็จเนื้อตะกั่วถ้ำชาเป็นครั้งแรก


จ.ศ.1188 หรือ พ.ศ.2369 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสามัญ อายุ 39 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ข้างละ 5 ใบ
จ.ศ.1197 หรือ พ.ศ. 2378 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครู ปริยัติธรรม อายุ 48 ปี ทำพระพพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 5 ใบ และ 6 ใบ
จ.ศ.1205 หรือ พ.ศ.2386 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชปัญญาภรณ์ อายุ 56 ปี ทำพระพพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ 7 ใบ
จ.ศ.1209 หรือ พ.ศ.2390 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวีศรีสุทธินายก อายุ 65 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์  ข้างละ 8 ใบ
จ.ศ.1216 หรือ พ.ศ.2397 ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระธรรมกิติโสภณ อายุ 68 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ  8 ใบ และ 9 ใบ
จ.ศ.1226 หรือ พ.ศ.2407 ได้รับสมณศักดิ์เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์อายุ 76 ปี ทำพระพิมพ์ปรกโพธิ์ ข้างละ  9 ใบ

               
พระอาจารย์ผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชา มีสมเด็จพระสังฆราช(สุก) กรุงเทพฯ พระอาจารย์คง อยุธยา พระอาจารย์แสง ลพบุรี และพระอาจารย์ขอม  นครสวรรค์
 
มรณภาพ วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จ.ศ.1234 ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 อายุ 85 ปี   
บวชพระ 65 พรรษา 
บวชเณร 8 พรรษา
พระราชทาเพลิงพระศพ  แรม 8 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา จ.ศ.1235 ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2416 เวลา 4 โมงเย็น หรือ 16.00 น. 

*******พระอัฐิป่นกลายเป็นผงขี้เถ้าหมด******



ภาพปัจจุบันของ พระพุทธไสยาสน์ (แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียนว่า “หลวงพ่อโต”) วัดสะตือ

การสร้างพระพุทธรูปใหญ่เป็นอนุสรณ์

     สร้างพระพุทธรูปปางไสยาสน์ อนุสรณ์แห่งเจ้าประคุณ “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรฺหมฺรํสี) ท่านได้ทรงสร้างพระพุทธรูปองค์ใหญ่ปางไสยาสน์ มีพระนามว่า “พระพุทธไสยาสน์” (แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปมักเรียนว่า “หลวงพ่อโต”) ณ วัดสะตือ ต.ท่าหลวง อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อไว้เป็นอนุสรณ์ว่าท่านเกิด ณ ที่แห่งนี้ เมื่อปี พ.ศ 2413 ในสมัยรัชกาลที่ 5 นามว่า “พระพุทธไสยาสน์”

     การก่อสร้างพระพุทธไสยาสน์ ในปีพุทธศักราช 2413 ก่อนที่เจ้าประคุณสมเด็จพุฒาจารย์โตจะมรณภาพ  3 ปี  สมเด็จฯโตมรณภาพเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน ๒๔๑๕(ที่กรุงเทพฯ) ได้มาทำการก่อสร้างพระพุทธรูปก่ออิฐถือปูนปางพุทธไสยาสน์ ณ หมู่บ้านที่ถือกำเนิดที่วัดท่างาม ปัจจุบันคือ วัดสะตือ ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

    ซึ่งพระนอนใหญ่มีขนาด ยาว 1 เส้น 6 วา สูง(ตั้งแต่พื้นถึงรัศมี) 8 วา ฐาน ยาว 1 เส้น 10 วา กว้าง 4 วา 2 ศอก หรือยาว 52 เมตร กว้าง 9 เมตร สูง 16  เมตร องค์พระโปร่ง  เบื้องพระปฤษฎางค์ ทำเป็นช่องกว้าง 2  ศอก  สูง 1 วา  สถานที่ก่อสร้างองค์พระประดิษฐานอยู่กลางแจ้ง ณ ที่ริมคูวัด ด้านตะวันออก ซึ่งอยู่ริมแม่น้ำป่าสัก
 



พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือในอดีต


การบูรณซ่อมแซมครั้งที่ 1 พระอุปัชฌาย์บัตร จนฺทโชติ อดีตเจ้าอาวาส กล่าวว่า พระนอนวัดสะตือ สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปีมะเมีย (เวลานั้นท่านอายุๆได้ ๕ ขวบ) ว่าเจ้าประคุณสมเด็จโต ให้พวกทาสในตำบลไก่จ้น และตำบลอื่นช่วยกันสร้าง ก่อเตาเผาอิฐกันเองที่บริเวณหน้าพระนอน ใช้ระยะเวลาสร้างอยู่ประมาณ 2 ปีจึงเสร็จ เมื่อสร้างพระเสร็จแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้ช่วยพวกทาสเหล่านั้นให้พ้นจากความเป็นทาสทุกๆคน

      และว่าตั้งแต่สร้างพระมาเป็นเวลา 50 กว่า ปีแล้ว ยังไม่ปรากฏการบูรณปฏิสังขรณ์ องค์พระและสิ่งก่อสร้างปรักหักพัง ทรุดโทรมมาก ถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๖๕  ท่านได้เริ่มทำการปฏิสังขรณ์โดยว่าจ้างนายเรือง  นางบาง  ไวยฉาย อยู่บ้าน ท่าแดง  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้รับจ้าง และได้นายเปล่ง  แหวนเพชร์  เป็นลูกมือก่ออิฐถือปูน เป็นผู้ช่วย ใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่านทั้งสิ้น ท่านไม่ได้บอกบุญเรี่ยไร เป็นแต่ชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ได้จัดหาซื้อปูนมาช่วยท่าน ถือว่าเป็นการบูรณะครั้งแรก
      ทำการบูรณปฏิสังขรณ์อยู่ 4 ปี จึงแล้วเสร็จ เมื่อปีฉลู พ.ศ.2468 ว่าสิ้นปูนขาวถึง 65 เกวียน
      เฉพาะพระเศียรใช้ปูนขาวทั้งสิ้น 10 เกวียน แต่ไม่ทราบว่าใช้เงินไปเท่าไหร่ เพราะได้เงินมาได้ทำไปเรื่อยๆ

การบูรณะครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม กับคณะ เดินทางมาปิดทองพระนอนวัดสะตือ เมื่อวันเสาร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีวอก พ.ศ. 2499 ตรงกับวันที่ 17 พฤศจิกายน 2499 เวลานั้นพระนอนอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก ท่านนายกรัฐมนตรี มีจิตใจประกอบด้วยความศรัทธาอันแรงกล้า ได้จัดการปฏิสังขรณ์พระนอนใหม่ทั้งองค์
     โดยบัญชาการให้กรมโยธาเทศบาลอำนวยการปฏิสังขรณ์ในครั้งนี้ ปฏิสังขรณ์อยู่ 3 เดือนจึงแล้วเสร็จ
     การปฏิสังขรณ์ครั้งนี้ขนาดขององค์พระได้ลดไปจากขนาดเดิมไปมาก พระเกศของเก่าชำรุดและปัจจุบันนำมาเก็บรักษาไว้ในวิหารหน้าองค์หลวงพ่อโต

     




การบูรณะครั้งที่ 3 เมื่อ ปี พ.ศ. 2531 โดยพระครูพุทธไสยาภิบาล(หมึก อินฺทสโร) น.ธ.เอก เจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านบูรณะ ในระยะเวลาประมาณ 3 เดือน 25 วัน จึงแล้วเสร็จ จากคำบอกเล่าของพระครูพุทธไสยาภิบาลเมื่อเดิมเคยเห็นเสาศาลาครอบองค์พระนอนที่หลวงพ่อโตสร้างไว้ ยังปรากฏให้เห็นอยู่ 2-3 ต้น 
   เมื่อคราวบูรณะปฏิสังขรณ์เมื่อปี พ.ศ. 2499 โดยท่านจอมพล ป.พิพูลสงคราม 
   พวกช่างกรมโยธาเทศบาลเห็นเสาตั้งอยู่ไม่ใช้ประโยชน์อะไร  จึงพากันรื้อถอนทุบทิ้งเสีย 
   ส่วนเตาเผาอิฐของหลวงพ่อโต อยู่ใต้ต้นมะขามใหญ่ท่านได้สั่งให้รื้อทิ้ง เมื่อปีพ.ศ.2503-2504

 
การบูรณะครั้งที่ 4 เมื่อ ปี พ.ศ. 2540 โดยพระอธิการทองคำ คัมภีร์ปัญโญ (ทองคำ อินทโชติ) น.ธ. เอก อดีตเจ้าอาวาส ไดร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณและทาสีน้ำองค์พระ

การบูรณะครั้งที่ 5  มื่อปี  พ.ศ.2546 โดยพระมหาจำรัส คุตตสีโล อดีตเจ้าอาวาส ร่วมกับชาวบ้านทำการบูรณะและพ่นองค์หลวงต่อโตเป็นสีทอง และได้เปลี่ยนเม็ดพระสกจากแก้วใส เป็นนิลอัดก้อน  ช้งบในการบูรณะ 2,845,000 บาทโดย หจก.ประเสริฐอรชร

การบูรณะครั้งที่ 6 ปี  พ.ศ. 2553  พระครูปริยัตยาธิคุณเจ้าอาวาสวัดสะตือองค์ปัจจุบัน ร่วมกับนายณรงค์ อ่อนสอาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และผู้อำนวยการศิลปากรที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังดำเนินการวางแผนแนวทางการบูรณะเพื่อซ่อมแซมรอยร้าวครั้งใหญ่ โดยลอกสี และจะทำการกระเทาะปูนเก่าที่หมดคุณภาพออกโดยฉาบปูนหมักและขัดปูนตำแบบโบราณ

 

ภาพบรรยากาศพระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ


ขอบคุณภาพและบทความจาก             
http://www.watsatue.com/view_article.php?token=2c3b4a8bdc6a1016db75bc7d3d923372
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28418
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระมหาพุทธพิมพ์  วัดไชโยวรวิหาร 


สร้างพระพุทธรูปปางสมาธิ  นามว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” เป็นพระนั่งก่ออิฐถือปูน  ปัจจุบันลงรักปิดทอง หน้าตักยาว 8 วา 7 นิ้ว สูง 11 วา 1 ศอก 7 นิ้ว ณ วัดไชโยวรวิหาร ต.ไชโย  อ.ไชโย  จ.อ่างทอง (ที่ระลึกนั่งได้ที่นี่)


      ในสมัยรัชกาลที่ 4 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ได้มาสร้างพระพุทธรูป เป็นพระพุทธรูปนั่งขนาดใหญ่ ใช้วิธีก่ออิฐก่อดิน  แต่แล้วก็หักพังทลายลงในไม่ช้า ครั้งที่สองก็ก่อเช่นนั้นแต่ลดขนาดให้เล็กลงทำด้วยปูนขาวไม่ได้ปิดทอง (ได้เล่ากันมาว่า วัดไชโยเจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นผู้สร้างที่ดินของตา อุทิศให้กับมารดาและตา มารดาชื่อเกตุ ตาชื่อไชย จึงตั้งนามวัดว่า วัดเกตุไชโย แต่มักเรียกตามความเคยชินว่า “วัดไชโย”)

      เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสมณฑลอยุธยาในปีขาล  พ.ศ. 2421  เสด็จ
วัดไชโย ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ว่า “...พระใหญ่ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ดูหน้าตารูปร่างไม่งามเลย  แลดูที่หน้าวัดปากเหมือนขรัวโตไม่ผิด  ถือปูนขาวไม่ได้ปิดทอง  ทำนองท่านไม่คิดจะปิดทอง  จึงได้เจาะท่อน้ำไว้ที่พระหัตถ์  แต่เดี๋ยวนี้มีผู้ไปก่อวิหารขึ้นค้างอยู่ใครจะทำต่อไปไม่ทราบ...”
 
      ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร) ที่สมุหนายก สำเร็จราชการมหาดไทยปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอาราม เมื่อปี กุน พ.ศ.2430 แต่ทำให้พระพุทธรูปใหญ่กระเทือนพังลงมา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระโตใหม่เป็นของหลวง  ให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐ์วรการ ทรงเป็นนายช่างปั้นปูนพระพุทธรูปฝีพระหัตถ์ยอดเยี่ยมในสมัยนั้นช่วยออกแบบก่อสร้าง
      โดยรื้อออกใหม่ใช้โครงเหล็กยึดอิฐปูนไว้ภายใน แล้วลดขนาดลงสร้างเป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิซ้อนพระหัตถ์ตามลักษณะเดิม แต่ตรงจีวรและพาดสังฆาฎิตามแบบใหม่
     ขนาดหน้าตัก กว้าง 8 วา 6 นิ้ว สูงสุดยอดพระรัศมี 11 วา ศอก 7 นิ้ว
     เจ้าพระยารัตนบดินทร(รอด กัลยาณมิตร)ได้ดำเนินการปฏิสังขรณ์วัดทั่วทั้งพระอารามเสร็จบริบูรณ์
     เมื่อ พ.ศ.2437 รวมเวลาบูรณะนานถึง 8 ปี
 
    ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ชื่อ วัดไชโยวรวิหาร ตั้งแต่ปีต้นของการปฏิสังขรณ์ แล้วพระราชทานพระนามพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นนี้ว่า “พระมหาพุทธพิมพ์” และทรงโปรดเกล้าฯให้มีมหกรรม ทำการฉลองพระอารามวัดไชโยเป็นงานใหญ่ 3 วัน 3 คืน เมื่อเดือนตุลาคม ร.ศ.114 ตรงกับวันที่ 25-27  ตุลาคม พ.ศ.2438 จวบจนปัจจุบันได้ยึดถือเป็นงานเทศกาลนมัสการพระพุทธรูปประจำปี ในช่วงเดือน 11 มาโดยตลอดจนถึงทุกวันนี้



พระพุทธศรีอริยเมตไตรย์ วัดอินทรวิหาร
   

               
สร้างพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร พระนามว่า พระพุทธศรีอริยเมตไตรย์  พระพุทธรูปปางประทับยืนบนปทุมชาติ อุ้มบาตรโปรดสัตว์ ที่สูงที่สุดในโลกก่ออิฐถือปูน ปัจจุบันประดับด้วยโมเสคทองคำ 24เค ทั้งองค์  สูง 16 วา กว้าง 5 วา 2 ศอก ณ วัดอินทรวิหาร ต.บางขุนพรม เขตพระนคร กรุงเทพฯ สร้างสมัยรัชกาลที่ 4 เสร็จสมัยรัชกาลที่ 7 (ที่ระลึกยืนเดินได้ที่นี่)

     พระโตยืนวัดอินทรวิหารเป็นพระปั้นด้วยอิฐปูน ปางอุ้มบาตร 16 วาเศษ สร้างในรัชการที่ 4  ราวพ.ศ. 2410 โดยสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต)พรหมรังสี ก่อสร้างด้วยการอิฐถือปูนดำเนินก่อสร้างเพียงครึ่งองค์ถึงพระนาภี(สะดือ) สมเด็จฯก็มรณภาพ ณ ศาลาใหญ่วัดบางขุนพรหมใน (วัดอินทรวิหาร) วันเสาร์ แรม 2 ค่ำ  เดือน 8 ปีวอก จ.ศ.1234  ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2415 อายุ 85 ปี บวชพระ 65 พรรษา 

      การสร้างค้างอยู่นาน จะมีการก่อสร้างเพิ่มเป็นปีใดไม่ปรากฎ       
      ต่อมา พ.ศ.2435 พระครูธรรมนุกูล (ภู จันฺเกศโร) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ สองท่านชราภาพอายุ  91 พรรษา70 ซึ่งต้องยกเป็นกิตติมศักดิ์อยู่ในวัดอินทรวิหาร ได้ดำเนินการก่อสร้างเพิ่มเติมแต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์               
      ในปีวอก พ.ศ.2463 พระครูสังฆบริบาล(แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหารได้มาช่วยปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม แต่ก็สร้างสำเร็จเพียงบางส่วน เช่น พระเศียร พระกร เป็นต้น


การปฏิสังขรณ์ เดิมองค์พระรกมีต้นโพธิ์และตนไทรขึ้นปกคลุม  จึงได้จัดทำให้แข็งแรง ส่วนข้างในองค์พระผูกเหล็กเป็นโครง ภายนอกหล่อคอนกรีตด้วยปูนซิเมนต์  เบื้องหลังทำเป็นวิหารหล่อคอนกรีตเป็นที่พระยืนพิง พระวิหารสูงเป็นชั้นๆได้ 5 ชั้น ถึงพระเกศขาดยอดพระเมาลี 
             
      ในปีชวด พ.ศ. 2467 พระครูอินทรสมาจาร(เงิน อินฺทสโร)เมื่อยังเป็นพระครูสังฆรักษ์ ย้ายมาจากวัดปรินายกมาเป็นเจ้าอาวาสวัดอินทรวิหาร เป็นเจ้าอาวาสรูปที่สาม ได้ดำเนินการสร้างพระโตต่อมา โดยเป็นประธานบอกบุญเรี่ยไรจากประชาชนทั่วไป
      พระครูอินทรสมาจารทำการก่อสร้างอยู่ 4 ปี จึงสำเร็จสมบรูณ์ สิ้นเงินประมาณ 10,000 บาท 
      การก่อสร้างองค์หลวงพ่อโตจนกระทั่งเสร็จบริบูรณ์ ปี พ.ศ.2470 รวมระยะเวลาการก่อสร้างรวม 60 ปี
      ได้จัดงานสมโภชน์เมื่อวันที่ 4–6 มีนาคม พ.ศ.2471 ถึง ปีมะเส็ง พ.ศ.2472


      ภายหลังจากที่ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสถิต ณ ยอดเกศองค์พระศรีอริยเมตไตรย
      มีการจัดงานประเพณีปิดทองจึงจัดร่วมกับงานสมโภชพระบรมสารีริกธาตุ เรียกงาน
      “งานนมัสการพระบรมสารีริกธาตุและปิดทององค์หลวงพ่อโต”
      และได้ถือตามกำหนดในเดือนมีนาคมของทุกปีจัดงานนมัสการปิดทองจนกระทั่งปัจจุบัน

 
   
พระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร  วัดกลางคลองข่อย
   
 

สร้างพระพุทธรูปปางประทับยืนทรงบาตร (ปางอุ้มบาตร) ณ วัดกลาง ต.คลองข่อย(ใต้โพธาราม) อ.โพธิ์ธาราม จ.ราชบุรี ก่ออิฐถือปูนความสูง 6 วาเศษ ปัจจุบันทาสี
               
      วัดกลางคลองข่อย ก่อสร้างขึ้นเมื่อในสมัยรัชกาลใดไม่มีใครทราบ สันนิษฐานว่าอาจคงสร้างมาสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะ จากคำบอกเล่าของผู้อาวุโส วัดนี้เดิมหันหน้าสู่แม่น้ำเพราะการเดินทางจะใช้แม่น้ำเป็นหลักจนถึงรัตนโกสินทร์ มีการบันทึกประวัติไว้พอสังเขปในช่วงปี พ.ศ.2375 ในรัชกาลที่ 4 ตอนปลาย สมเด็จฯ ได้เสด็จโดยเรือมาทางน้ำถึงบริเวณตำบลบางแขยง อันเป็นที่ตั้งของวัดกลาง

      ซึ่งสมัยนั้น มีพระอธิการอวนดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส สมเด็จฯท่านได้เสด็จจำพรรษาอยู่ ณ วัดแห่งนี้และได้สร้างพระพุทธรูปขึ้น โดยหันหน้าสู่แม่น้ำให้เหล่าเทพเทวาและมนุษย์สักการะประจำทางด้านทิศตะวันตก
      การก่อสร้างพระพุทธรูปครั้งนี้ ท่านได้อธิษฐานจิต
      นั่งทำสมาธิพิจารณาสถานที่ก่อสร้างพระประจำทิศ ณ ใต้ต้นโพธิ์ใหญ่
      (ปัจจุบันต้นโพธิ์ยังอยู่และเล่าลือกันว่าศักดิ์สิทธ์มาก)
      เล่ากันว่าที่ที่เจ้าประคุณสมเด็จฯสร้างพระยืนนั้นเดิมเป็นป่ารก
      ท่านเอาเงินเหรียญชนิดกลมมาแต่ไหนไม่ทราบโปรยเข้าไปในบริเวณป่านั้น ไม่ช้าป่านั้นก็เตียนโล่งไปหมด 
      ท่านก็ทำการได้สะดวกว่าเงินนั้นเป็นเงินตราเก่าๆด้วย
      และว่าในตอนที่จะสร้างพระองค์นี้ ท่านต้องการไม้ไผ่ เผอิญมีผู้ล่องแพมาทางนั้น
      ท่านไม่มีเงิน จึงไปที่ต้นโพธิ์บริเวณนั้นก็ได้เงินมาซื้อไม้ไผ่ได้ตามประสงค์


     ในขั้นต้นการสร้างพระพุทธรูปสันนิษฐานว่า ท่านคงสร้างเป็นปางไสยาสน์(พระนอน)มากกว่า
     เพราะในวิหารหลังพระพุทธรูปยืนซึ่งปัจจุบันได้รื้อทิ้งไปหมดแล้ว และกำลังบูรณะก่อสร้างใหม่ ภายในวิหารมีภาพวาดพระพุทธรูปนอนเป็นหลัก แต่เนื่องจากบริเวณเนื้อที่ก่อสร้างไม่เพียงพอจึงเปลี่ยนมาเป็นการสร้างพระยืนแทน เพราะยังมีแนวการเรียงอิฐอยู่
     ประกอบกับสมัยนั้นวัดเป็นป่ารกชัฏไม่มีคนช่วยถากถางท่านจึงได้เอาเงินโปรยหว่านบริเวณป่า พอชาวบ้านรู้ว่ามีพระเอาเงินมาหว่านในป่าก็เลยพากันมาถากถางป่าเพื่อหาเงิน จึงทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นที่โล่งเตียนจนได้สร้างพระพุทธรูปยืนสำเร็จ
 

     ในกาลต่อมาพระโตนี้ชำรุดหักพัง พระเศียรแตกร้าว พระกรทั้งสองหัก พระอาจรย์อวน พรหมสโร  วดมหาธาคุฯ  กรุงเทพฯ ซึ่งมีภูมิลำเนาในถิ่นนั้น ย้ายมาอยู่วัดกลางได้เป็นประธานจัดการบูรณปฏิสังขรณ์ เมื่อปี มะแม  พ.ศ.2474
     ปัจจุบันทางวัดมีงานเทศกาลตรงกับวันตรุษจีนของทุกปี
   

 
พระพุทธรูปปางมารวิชัย ณ วัดพิตเพียน (วัดกุฎีทอง)


สร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระนั่ง ณ วัดพิตเพียน(วัดกุฎีทอง) อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยก่ออิฐถือปูน  ปัจจุบันทาสีทอง หน้าตัก 4 วา 3 ศอก ความสูง 4 วา 3 ศอก มีความสง่าสวยงามมาก

     พระพุทธปฏิมาประทับนั่งสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) พรหมรังสีสร้างไว้เมื่อใดสืบทราบประวัติไม่ได้ แต่มีการปฏิสังขรณ์ 4 ครั้ง คือ
     ครั้งที่ 1 เมื่อปีระกา พ.ศ.2440 (เข้าใจว่าเดิมสร้างค้างอยู่)
     ครั้งที่ 2 เมื่อปีจอ พ.ศ.2477 พระพักตร์แบะ พระนาภีเป็นรูทะลุ เนื่องจากอสุนีบาตตกลงในที่ใกล้เคียง สิ้นเงิน 500 บาท
     ครั้งที่ 3 เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2483 พระพาหาเบื้องขวาหลุด เนื่องจากฝนตกหนัก สิ้นเงิน 300 บาท
     ครั้งที่ 4 เมื่อปีมะโรง พ.ศ.2495 พระศกและพระกรรณหักพังเริ่มปฏิสังขรณ์เมื่อวันที่ 29 เมษายน สิ้นเงิน 3,814.90 บาท (เงินที่ใช้จ่ายในการปฏิสังขรณ์ทุกครั้งเป็นเงินส่วนเรี่ยไร) นายพลอย นางแตงไทย และนางอู่ร่วมกันปฏิสังขรณ์ สิ้นเงินเท่าไรไม่ทราบ

 

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก             
http://www.watsatue.com/view_article.php?token=2c3b4a8bdc6a1016db75bc7d3d923372
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 11, 2013, 01:02:12 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ