ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รักษ์วัดรักษ์ไทย : ชมจิตรกรรมฝาผนังแปลกตา ณ วัดมหาพฤฒาราม  (อ่าน 1721 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระพุทธโฆษาจารย์

รักษ์วัดรักษ์ไทย : ชมจิตรกรรมฝาผนังแปลกตา ณ วัดมหาพฤฒาราม

วัดมหาพฤฒาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่บนถนนพฤฒารามจดคลองผดุงกรุงเกษม ฝั่งตะวันออก แขวงมหาพฤฒาราม เขตบางรัก กรุงเทพฯ
       
       เดิมเป็นวัดราษฎร์โบราณ ไม่ปรากฏนามผู้สร้าง ชื่อ “วัดท่าเกวียน” เนื่องจากเคยเป็นที่พักแรมของกองเกวียน ที่เดินทางเข้ามาค้าขายในกรุงเทพฯ
       
       สมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ยังทรงผนวชเป็นพระภิกษุ พระองค์ได้เสด็จมาพระราชทานผ้าป่าที่วัดแห่งนี้ ในคราวนั้น พระอธิการแก้ว ผู้เป็นเจ้าอาวาส อายุ 107 ปี ผู้มีวิปัสสนาญาณชั้นสูง ได้ทูลถวายพยากรณ์ว่า "จะได้เป็นเจ้าชีวิตในเร็วๆนี้" พระองค์จึงทรงมีรับสั่งว่า "ถ้าได้ครองแผ่นดินจริง จะมาสร้างวัดให้อยู่ใหม่"

       
ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ

       ต่อมาเมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงหวนระลึกถึงพระดำรัสที่ทรงรับสั่งกับพระอธิการแก้ว จึงได้พระราชทานแต่งตั้งให้ดำรงสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระมหาพฤฒาจารย์ แปลว่า อาจารย์ผู้เฒ่าที่สูงอายุ(มีอายุมาก)
       
       แล้วโปรดเกล้าฯให้สถาปนาวัดขึ้นใหม่ทั้งหมด เมื่อ พ.ศ. 2397 โดยโปรดเกล้าฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ(ทัต บุนนาค) เป็นแม่กอง แล้วพระราชทานนามว่า “วัดตะเคียน” สันนิษฐานว่า เนื่องจากบริเวณวัดมีต้นตะเคียนใหญ่หลายต้น ซึ่งพวกกองเกวียนได้มาอาศัยร่มเงาพักแรม

       
จิตรกรรมฝาผนัง ธุดงค์ที่ 1 ปังสุกูลิกังคะ

       การก่อสร้างศาสนสถานต่างๆภายในวัด ได้แก่ พระอุโบสถ พระวิหารด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระอุโบสถ พระปรางค์ 4 องค์ และหมู่กุฏิไม้ทรงไทย 2 หมู่ ได้ดำเนินการเรื่อยมา โดยต่อมาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูมินทรภักดี ทรงรับภารธุระในการจัดสร้าง
       
       การก่อสร้างผ่านไป 12 ปีเศษ ก็แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวง แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า “วัดมหาพฤฒาราม” สันนิษฐานว่า เพื่อเป็นอนุสรณ์เทิดเกียรติคุณถวายพระมหาพฤฒาจารย์(แก้ว)


พระอุโบสถ

       ปูชนียสถานและปูชนียวัตถุสำคัญของพระอารามแห่งนี้ ได้แก่
       
       • พระอุโบสถ ก่ออิฐถือปูน หลังคาลด 2 ชั้น ประดับช่อฟ้า ใบระกา หน้าบันเป็นรูปพระมหามงกุฎ (พระราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 4 ซึ่งทรงมีพระนามเดิมว่า เจ้าฟ้ามงกุฎ) ตั้งอยู่บนพานทองสองชั้นในบุษบก มีฉัตร 7 ชั้นขนาบสองข้าง และตั้งอยู่บนช้างสามเศียร อันมีความหมายว่า ทรงเป็นผู้สร้างพระอุโบสถหลังนี้
       
       ส่วนบานประตูและหน้าต่างของพระอุโบสถ เป็นรูปลายปูนปั้นลงรักปิดทอง ด้านล่างเป็นรูปเกวียนมีประทุนเทียมโคสองตัว สูงขึ้นไปเป็นรูปช้าง จากนั้นเป็นรูปเทวดาถือพานทอง 2 ชั้น รับพระมหามงกุฎ ซึ่งมีพระมหาเศวตฉัตร 9 ชั้นอยู่บนสุด
       
       เมื่อถอดความหมายของรูปทั้งหมดนี้ออกมา รูปเกวียน หมายถึง ชื่อเดิมของวัด คือท่าเกวียน รูปช้าง หมายถึง พระอธิการแก้ว รูปเทวดาทูนพานสองชั้น ซึ่งมีพระมงกุฎวางอยู่ข้างบน หมายถึง รัชกาลที่ 4

       
พระประธานในพระอุโบสถ

       • พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 1.75 เมตร สูง 2.37 เมตร ไม่ปรากฏนามที่เรียกขาน
       
       • จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ฝีมือจิตรกรสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นจิตรกรรมไทยที่ได้รับอิทธิพลศิลปะตะวันตกผสมผสาน ซึ่งเป็นแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 4 ภาพเขียนมีความลึกใกล้ไกลเหมือนจริงตามธรรมชาติ ภาพสถาปัตยกรรมเป็นภาพอาคารแบบฝรั่งปะปน
       
       โดยแบ่งออกเป็น 2 เรื่องราว ได้แก่ ชั้นล่างนับแต่แนวระดับช่วงบนของบานประตูและบานหน้าต่างลงมา เป็นภาพธุดงค์ 13 ส่วนชั้นบนเป็นภาพชีวประวัติพระพุทธโฆษาจารย์ พระภิกษุชาวอินเดีย ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นนักปราชญ์ฝ่ายเถรวาท โดยได้แต่งคัมภีร์ อรรถกถาอธิบายข้อความในพระไตรปิฎก เช่น วิสุทธิมรรค ซึ่งปราชญ์ทั่วโลกรับรองว่าดีที่สุด
       
       นับเป็นจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและแปลกไปจากวัดอื่นๆที่นิยมเขียนภาพพุทธประวัติ หรือทศชาติชาดก
       
       • พระวิหารด้านทิศเหนือ ก่ออิฐถือปูน มีช่อฟ้าใบระกา ภายในประดิษฐานพระประธานองค์ใหญ่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยสุโขทัยยุคต้น
       

พระพุทธไสยาสน์

       • พระวิหารด้านทิศใต้ หรือวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ มีมาแต่ครั้งยังเป็นวัดท่าเกวียน เดิมไม่ได้มีขนาดใหญ่ยาวดังในปัจจุบัน แต่รัชกาลที่ 4 ทรงปฏิสังขรณ์ให้ใหญ่ขึ้น มีขนาดความยาวจากพระบาทถึงพระเกตุมาลา 19.25 เมตร พระอุระกว้าง 3.25 เมตร และพระนาภีกว้าง 2 เมตร เรียกว่ามีขนาดใหญ่เป็นองค์ที่สองรองจากพระพุทธไสยาสน์ที่วัดพระเชตุพนฯ
       
พระปรางค์ 4 องค์

       • พระปรางค์ 4 องค์ ตั้งเรียงกันอยู่ระหว่างพระอุโบสถกับพระวิหารเหนือ สูง 17 เมตร 16 เมตร 15 เมตร และ 14 เมตร เรียงกันตามลำดับ พระปรางค์ทั้ง 4 องค์นี้อยู่ที่วัดนี้มาแต่เดิมแล้ว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้ก่ออิฐครอบพระปรางค์เดิม 4 องค์ ให้สูงใหญ่กว่าเก่า ลดหลั่นกันลงมา เพื่ออุทิศถวายเป็นพุทธบูชาแด่พระพุทธเจ้าทั้ง 4 พระองค์ในอดีต
       
       • พระเจดีย์ 3 องค์ ตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้วด้านทิศตะวันออก สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4
       
       ตลอดระยะเวลา 160 ปีเศษนับแต่การสถาปนาวัดมหาพฤฒาราม มีเจ้าอาวาส 9 รูป ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณร และบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานและเสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรม ให้งามสง่ามาอย่างต่อเนื่องเป็นลำดับ โดยล่าสุด พระราชวชิราภรณ์ เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน ได้ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการบูรณปฏิสังขรณ์ศาสนสถานภายในพระอาราม เช่น พระอุโบสถ พระวิหาร เป็นต้น
       
       สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เล็งเห็นว่า วัดมหาพฤฒารามมีความสำคัญประการหนึ่ง คือ เป็นพระอารามที่พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้น ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องบูรณปฏิสังขรณ์ โดยในพ.ศ. 2558 จะเริ่มดำเนินการซ่อมแซมหลังคาพระอุโบสถที่ชำรุดก่อนเป็นเบื้องต้น จากนั้นจะบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระวิหาร และศาสนสถานอื่นๆ ให้กลับมางดงาม เพื่อรักษาพระอารามหลวงแห่งนี้ให้ยืนยงคงคุณค่าคู่สถาบันพระมหากษัตริย์สืบต่อไป

       
จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 175 กรกฎาคม 2558 โดย สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
http://manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9580000074787
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ