ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: จากบุตรถึงบิดาทางธรรม พระจริยวัตรพระสังฆราช ปราชญ์วิถีพุทธ  (อ่าน 2074 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

จากบุตรถึงบิดาทางธรรม พระจริยวัตรพระสังฆราช ปราชญ์วิถีพุทธ

ในวันนี้ (16 ธ.ค.58) ถือเป็นวันพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ปกครองคณะสงฆ์ไทย ที่ทรงมีคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่พุทธศาสนา และในโอกาสนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สัมภาษณ์พระผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช โดยได้สนองงานใกล้ชิด อันได้แก่ พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย หรือ ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร พระภิกษุชาวเนปาลผู้สืบเชื้อสายมาจาก พระอานนท์ และเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ได้เล่าถึงพระจริยวัตรอันน่าเลื่อมใสของสมเด็จพระสังฆราช

พระ ดร.อนิลมาน ได้เล่าถึงการเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ว่า เนื่องจากเป็นวิสัยทัศน์ของสมเด็จพระสังฆราช ที่มีเป้าหมายในการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่ประเทศเนปาล ในปี 2513 สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จไปที่เนปาล ซึ่งทรงเห็นว่า ประเทศเนปาลถือเป็นชาติภูมิของพระพุทธเจ้า แต่พุทธศาสนานิกายเถรวาทกลับไม่เจริญ มีพระสงฆ์นิกายเถรวาทเพียงไม่กี่รูป พระพุทธศาสนาสายมหายาน มีมากกว่า พระองค์จึงถาม พระสงฆ์ที่เนปาลว่า “ประเทศไทยสามารถช่วยเหลือฟื้นฟูประเทศที่เป็นพุทธภูมิได้หรือไม่ เพราะประเทศไทยเป็นหนี้บุญคุณพระพุทธเจ้า เป็นหนี้บุญคุณพระพุทธศาสนา”

พระองค์ต้องการตอบแทนให้กับพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีโครงการต่างๆ เกิดขึ้น เช่น โครงการบวชสามเณรของพระสงฆ์เนปาล โดยการดูแลของสมเด็จพระสังฆราช หรือแม้กระทั่งในยุคหลัง ที่สมเด็จพระสังฆราชได้เสด็จไปอุปัชฌาย์ “ศากยะกุลบุตร” หรือ สายเลือดที่เชื่อกันว่าเป็นญาติพี่น้องของพระพุทธเจ้า แต่กลับไม่รู้จักหลักธรรมคำสอน พระองค์จึงต้องการที่จะฟื้นฟู โดยในปี 2528 สมเด็จพระสังฆราชเสด็จไปบรรพชาแก่ “ศากยะกุลบุตร” รวม 73 รูป รวมถึงอาตมาเอง ก็ได้บวชในครั้งนั้น และได้โอกาสมาสนองงานรับใช้เจ้าคุณสมเด็จพระสังฆราช


พระสังฆราช องค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พุทธศาสนาในเนปาลเสื่อมถอย เกิดจากหลายปัจจัย

ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ เล่าย้อนถึงสาเหตุที่พุทธศาสนาเสื่อมถอยลงมากที่ประเทศเนปาลว่า ยุคหนึ่งเป็นยุคทองของศาสนา แต่มาวันหนึ่งได้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเมืองกับศาสนา ทำให้ศาสนาพราหมณ์ ฮินดู มีอิทธิพลมากกว่า แต่พุทธศาสนาก็ไม่ได้หายไปเสียทีเดียว ถึงแม้ประวัติศาสตร์เนปาล ยังมีบันทึกว่า พระ ยังถูกขับไล่ออกนอกประเทศก็มี หรือพุทธศาสนาก็มีการบังคับให้สึก ซึ่งส่งผลต่อพุทธศาสนาแบบเถรวาทดั้งเดิมไม่สามารถรักษารูปแบบไว้ได้ แต่คนเนปาลเองก็พยายามรักษาไว้ในเชิงพิธีกรรม ที่เรียกว่า Newar Buddhism หรือ พุทธศาสนาเนวาร์ โดยเฉพาะที่ กาฐมาณฑุ ซึ่งเขาจะถนัดเรื่องพิธีกรรมตั้งแต่เกิดจนตาย แต่เขากลับไม่รู้จักผ้าเหลือง เพราะถูกปิดประเทศ ทำให้ไม่ทราบว่าพุทธศาสนาเถรวาท ยังมีอยู่ในประเทศไทย หรือศรีลังกา ดำริพระสังฆราชจึงอยากไปช่วยฟื้นฟู


จากบ้านเกิด ไม่รู้ภาษาไทย เปรียบสมเด็จพระสังฆราชคือ "บิดา"

พระ ดร.อนิลมาน เปิดเผยต่อว่า หลังจากอาตมาบวชในโครงการดังกล่าว ในฐานะเณรน้อย ก็เข้ามาศึกษาพระธรรมที่วัดบวรนิเวศฯ โดยมีพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ ช่วยดูแล ทางคณะสงฆ์ของเนปาล ได้ฝากฝังมาเหมือนกับ "บุตร" อาตมาก็มาสนองรับใช้ พระสังฆราชก็ทรงพระเมตตาช่วยดูแล ทั้งนี้ ท่านทรงมีพระเมตตากับพระทุกรูป แต่ด้วยอาตมาไม่รู้เรื่องภาษา ทำให้พระสังฆราชทรงพระเมตตามากหน่อย ด้วยการสั่งสอนในเรื่องระเบียบวินัย พระธรรมคำสอนต่างๆ ทำให้อยู่กับพระองค์มาก

“พระองค์เปรียบเสมือนครูบาอาจารย์ ที่สำคัญยังเป็นพระอุปัชฌาย์ให้ ซึ่งการอุปัชฌาย์ในพระพุทธศาสนานั้น ก็เปรียบเสมือน “บิดา” แต่สำหรับอาตมา คำว่า “บิดา” นั้น มิได้หมายถึงพ่อแม่ แต่หมายถึงผู้ปกครอง ที่ได้ปกครองคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นเจ้าอาวาส บริหารวัด และยังทรงดูแลลูกศิษย์โดยตรง ซึ่งการบริหารนับว่ามีหลายระดับ แต่พระเมตตาของท่านนั้นไม่มีประมาณ ซึ่งท่านได้มีพระเมตตาแผ่ไพศาลไปยังทุกคน หรือแม้แต่พระที่อยู่ห่างไกล พระองค์ก็ประทานความช่วยเหลือเท่าที่ประทานความช่วยเหลือได้"

ส่วนในวัดบวรนิเวศ พระสงฆ์ ภายใต้การปกครองของพระองค์ก็จะได้รับความเมตตา ถามว่าท่านทรงดุหรือไม่ คำว่าดุ อาจจะไม่เหมือนกับที่เราคิด พระองค์เป็นคนรับสั่งน้อย แต่รับสั่งอะไรแล้ว จะรับสั่งจริง จะรับสั่งทำให้เราสำนึก บาดลึกไปถึงจิตใจ ทำให้เราไม่กล้าที่จะทำผิดอีก ดังนั้น พระสงฆ์ในวัดจึงรู้สึกเกรงพระบารมี ถ้าพระองค์ไหนทำผิดร้ายแรงจริงๆ ก็จะต่อว่าตรงๆ แต่ถ้าความผิดนั้นที่จะเป็นบทเรียนให้กับส่วนรวม ก็จะมีการตักเตือนในคณะสงฆ์ ทุกวันพระ จะมีการให้โอวาทปาติโมกข์


ท่านทรงเปิดงานในพิธีการต่างๆ

ผู้ลึกซึ้งในพระธรรมคำสอน เคร่งครัดวินัย มีพระเมตตาสูงล้น

“พระจริยวัตรของพระองค์ทุกเรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นผู้นำสงฆ์นั้นเป็นอย่างไร คำสอนของพระองค์มีความชัดเจน โดยกลั่นออกมาจากพระทัยของพระองค์ เช่น การสอนของอาตมา อาจจะสอนแบบลักจำ คือ ไปอ่าน ไปฟัง แล้วก็มาบอกต่ออีกทีหนึ่ง แต่สมเด็จพระสังฆราช สอนมาจากความเข้าใจและกลั่นออกมาจากพระทัย เพราะท่านเห็นหลักธรรมที่ชัดเจน กลั่นออกมาอย่างครบถ้วน โดยที่ไม่ต้องใช้ความจำ แต่ใช้ความเข้าใจหลักธรรมอันถ่องแท้ และสามารถถ่ายทอดให้กับพุทธศาสนิกชนได้อย่างเข้าใจ พระองค์เคร่งครัดในพระวินัย แม้แต่ข้อเล็กน้อย พระองค์ก็ไม่เว้น ทรงมีพระจริยวัตรเมตตา ใครมาพึ่งพระองค์แม้แต่พระมหากษัตริย์ หรือยาจก ท่านก็ไม่ทรงเลือก ซึ่งเราจะเห็นได้ในพระประวัติของพระองค์ ก็จะทราบว่าพระเมตตาของท่านสูงเหลือเกิน"


สมเด็จพระสังฆราช เสวยมื้อเดียว ทรงสวดมนต์ ท่องพระวินัยสงฆ์ 227 ข้อ ทุกวัน

สำหรับกิจวัตรประจำวัน ของสมเด็จพระสังฆราช นั้น พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย เล่าว่า พระองค์จะทรงตื่นบรรทม ในเวลา ตี 3 ครึ่ง ทุกวัน จากนั้นก็จะทรงสวดมนต์ โดยในแต่ละวัน จะทรงเตรียมบทสวดที่แตกต่างกัน ไม่ซ้ำกัน แต่ที่จะต้องทรงสวดเป็นประจำทุกวัน ก็คือ บทสวดทวนปาติโมกข์ หรือพระวินัยของสงฆ์ 227 ข้อ เสร็จจากนั้น ก็จะทรงนั่งสมาธิต่อ

เมื่อถึงเวลาเช้า หากเป็นช่วงที่ยังทรงไม่ประชวร ก็จะทรงออกบิณฑบาต ในละแวกใกล้เคียง โดยระหว่างทาง หากพบบรรดาสามเณรที่ออกบิณฑบาต ก็จะทรงรับสั่งเรียก และประทานอาหารในบาตร แบ่งปันให้ ด้วยความเมตตาเสียทุกครั้งไป นอกจากนี้ หากทรงทราบว่า มีพระรูปใดอาพาธ ก็จะรับสั่งให้ลูกศิษย์นำอาหารไปถวายด้วย





ไทม์ไลน์ประวัติโดยสังเขป ของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อได้เวลาสักประมาณ​ 07.00 น. พระองค์ก็จะเริ่มรับแขกที่มารอเฝ้า จำนวนมากมายมหาศาล จนเวลาประมาณ 09.00 น. จึงจะได้เสวย ซึ่งของเสวยนั้น ปกติจะมีสองสำรับ โดยสำรับแรก จะเป็นอาหารพระราชทาน สำรับที่สอง จะเป็นของ รพ.จุฬาฯ แผนกโภชนาการ โดยเวลาเสวย พระองค์จะตักอาหารจากทั้งสองสำรับ ลงไปในบาตรรวมกันแล้วจึงเสวย โดยในขณะเสวย บางครั้งจะทรงให้สามเณรอ่านหนังสือถวายด้วย จากนั้นอาจจะบรรทมสักประมาณครึ่งชั่วโมง โดยจะไม่ทรงเสวยเพล แม้บางวัน อาจจะทรงมีงานไปตามสถานที่ต่างๆ ก็ตาม

จากนั้น หากเป็นช่วงเข้าพรรษา เวลา 13.00 น. พระองค์ก็จะไปสอนพระใหม่ จนกระทั่งถึงเวลา 14.00 น. เมื่อเสร็จสิ้น ก็จะทรงอ่านหนังสือ เพื่อค้นคว้าหาความรู้ถึงเวลาประมาณ 16.00 น. เมื่อถึงเวลานี้ พระองค์ก็จะทรงรับแขก ที่ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการต่างๆ ที่ขอเข้าเฝ้าเกี่ยวกับกิจการงานต่างๆ รวมถึงพระสงฆ์จากทั่วประเทศ จนถึงเวลา 18.00 น. อาจเลยไปถึง 19.00 น. จากนั้นก็จะทรงอ่านหนังสือ จนกระทั่งถึงประมาณ 20.00 น.

โดยก่อนบรรทม จะทรงสวดมนต์และปฏิบัติสมาธิ เช่นเดียวกับช่วงเช้าทุกครั้ง โดยการสวดมนต์และปฏิบัติสมาธิ ช่วงเช้าจะประมาณ 2 ชั่วโมง ช่วงค่ำอีก 2 ชั่วโมง รวมเป็น 4 ชั่วโมง ทุกวัน แม้ว่าวันใดจะทรงมีงานมาก ก็จะทรงปฏิบัติเป็นปกติ แม้ว่าอาจจะต้องบรรทมดึกสักหน่อยก็ตาม


ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์

ตั้งตัวไม่ทัน วินาทีพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ สิ่งที่ฝากฝังเสมอ อยากให้ชาวพุทธนำหลักธรรมคำสอนไปใช้ดำเนินชีวิต

พระภิกษุชาวเนปาลที่เปรียบเสมือนบุตรทางธรรม กล่าวถึงวันที่ สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ ว่า เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราช ประชวรมานานนับสิบปี หมอก็บอกว่า ท่านจะละสังขารวันนั้นวันนี้ ทำให้พระในวัดทุกคนล้วนทำใจไว้แล้ว เพราะรู้ว่าสักวันก็ต้องดับสิ้นสังขาร แต่วันนั้น อาตมายืนอยู่ข้างๆ วินาทีที่พระองค์ดับสิ้นนั้น ก็ไม่มีอะไร คือหายใจเข้าออก จากนั้นก็ค่อยสงบลง อาตมาก็ยืนอยู่ตรงนั้น รู้สึกตั้งตัวไม่ทัน หันไปดูเครื่องชีพจร ก็เป็นศูนย์ แต่ก็มีความหวังว่าจะขึ้นมา แต่ก็ไม่ขึ้นมา จากนั้นก็ทำหน้าที่ได้แจ้งข่าว กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ แจ้งให้กับทุกหน่วยงานทราบ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ ก็ได้พระราชทานให้ตั้งพระศพที่ตำหนักเพ็ชร โดยพระราชทานโกศที่สูงกว่าพระสังฆราชทั่วไป คือ พระโกศกุดั่นใหญ่

พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย สนองงานรับใช้สมเด็จพระสังฆราช

ทรงเคร่งครัดในการสวดมนต์

เรื่องใดที่สมเด็จพระสังฆราชทรงฝากฝังไว้ "สิ่งที่พระองค์ต้องการเห็นคือ พระพุทธศาสนา และหลักคำสอนนั้นมีผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้คน พระองค์รับสั่งอยู่ตลอดว่า หลักคำสอนของพระพุทธศาสนานั้น ทำให้ประเทศชาติสงบสุข เจริญรุ่งเรือง ดังนั้น คำสอนเหล่านั้นจึงนำเสนอในหลายรูปแบบ มีบทละคร มีกาพย์ โคลง ฉันท์ หรือแม้กระทั่งเรื่องราวในแง่ของการบริหารจิต เป็นธรรมมะ ที่กรรมฐาน หรือการสอนประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านี้พระองค์ก็สอนมาไว้เยอะ บางอันก็เป็นการวิเคราะห์แบบเจาะลึก บางอันก็เป็นวิธีการคิดในแบบฉบับของพุทธศาสนา เช่น 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า เป็นการปฏิรูปวิธีการศึกษาของพระไตรปิฎก พระองค์ต้องการที่จะเรียงพระไตรปิฎก ตามกาลเวลา ตั้งแต่พรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ วันแรกพระองค์สอนอะไรบ้าง วันที่สอง สอนอะไรแบบนี้"

ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช จะทรงหาวิธีวิเคราะห์ และเรียบเรียง ซึ่งหากโครงการนี้สำเร็จ คงจะเป็นงานชิ้นเอกของโลกเลยก็ว่าได้ แต่บังเอิญ ทรงทำตามที่ตั้งพระทัยไว้ได้เพียงถึงที่พระพุทธเจ้าทรงออกผนวช ถึงพรรษาที่ 12 จากทั้งหมด 45 พรรษา เท่านั้น จากนั้นท่านก็ทรงเริ่มประชวร จนทำให้โครงการนี้ต้องหยุดชะงักลงไป อย่างไรก็ดี ก็ยังมีโครงการอื่นๆ อีกมากมาย ที่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้ ได้สร้างไว้ให้กับสังคมไทย อย่างเช่น โครงการหนังสือสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นหนังสือที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดมาก และพระองค์ท่าน ทรงอาสาขอพิสูจน์อักษรด้วยพระองค์เอง ทุกตัวอักษร


ภาพสมัยยังเป็นพระหนุ่ม

เด็กน้อยให้ความเคารพบูชา

หนังสือพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระสังฆราช สร้างคุณอเนกอนันต์ให้สังคมไทย

พระผู้ใกล้ชิดสมเด็จพระสังฆราช กล่าวต่อว่า หนังสือสัมมาทิฏฐิ ซึ่งว่าด้วย วิธีการสะท้อนวิถีการดำเนินชีวิต วิถีการคิด วิถีการดำเนินพฤติกรรม จริยธรรมของคนเรา รวมไปจนกระทั่งถึงวิธีการในการบริหารจิต เพื่อค้นหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร ซึ่งเท่าที่ได้สัมผัสมา หนังสือพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระสังฆราช จะมีความแตกต่างกว่าหนังสือเล่มอื่นๆ เพราะโดยทั่วไปเมื่อเราอ่านหนังสือเล่มใด เราก็มักจะสามารถสัมผัสได้ถึงอัตลักษณ์ของผู้เขียนนั้นๆ โดยผ่านสำนวน และวิธีการเขียนอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่กับพระนิพนธ์ ของสมเด็จพระสังฆราช นั้น เราจะไม่เห็นพระองค์ท่าน แต่เราจะเห็นธรรมะที่พระองค์ท่านทรงนำเสนอ เราจะเห็นพระพุทธเจ้า เห็นข้อธรรมะในพระไตรปิฎก

โดยทุกๆ พระนิพนธ์ ที่ทรงทิ้งไว้ให้ชาวไทยจำนวนมากมายนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการถอดมาจาก เวลาพระองค์ท่านไปเทศนาสั่งสอนตามสถานที่ต่างๆ นั้น พระองค์ท่านจะรับสั่งเสมอๆ ว่า อยากฝากให้คนไทยได้ร่วมกันคิดว่า "ทำอย่างไร คำสอนดีๆ เหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับคนในชาติ ทำอย่างไรคำสอนดีๆ เหล่านี้ จึงจะสามารถเอามาปรับใช้ เป็นหนึ่งในตัวตนของคนไทยได้"

ซึ่งเรื่องนี้ แม้แต่ช่วงที่พระองค์ท่านประชวร ก็ยังรับสั่งถึงเสมอว่า อยากให้คนไทยได้เข้าถึงธรรมะผ่านพระนิพนธ์ต่างๆ เพราะที่ผ่านมา เวลามีผู้มาเข้าเฝ้า ก็มักจะทูลขอพระเครื่องไปบูชา ซึ่งพระองค์ท่าน ก็มักจะตรัสกลับไปเป็นการสอนสั่งเนืองๆ ว่า "หากจะเอาพระพุทธเจ้าไป ก็ควรจะเอาธรรมะไปด้วย" เสียทุกครั้ง เพราะฉะนั้น ทุกคนที่มาเข้าเฝ้าก็จะได้หนังสือธรรมะไปกล่อมเกลาจิตใจทุกคน


พระองค์ทรงเป็นนักอ่าน ใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ

เสียดาย คาดว่าไม่มีผู้สานต่อผลงานที่คงค้าง เหตุยากจะหาผู้สานต่องานได้

สำหรับในช่วงท้ายของพระชนมชีพ พระองค์ท่าน ทรงมีรับสั่งอะไรเป็นพิเศษถึงคนไทยหรือไม่นั้น พระ ดร.พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ กล่าวว่า ในช่วงที่ประชวรมากขึ้น กล้ามเนื้อต่างๆ ของพระองค์ก็ทรงเริ่มมีปัญหา การจะมีรับสั่งใดๆ ก็คงจะลำบาก ก็เลยไม่ทราบว่า พระองค์รับสั่งไม่ได้ หรือไม่มีรับสั่ง และโดยปกติ พระองค์ท่านก็รับสั่งน้อยอยู่แล้ว แต่เมื่อใด ที่มีการทูลถาม พระองค์ก็จะมีรับสั่งตอบ เช่น เวลาที่มีคณะแพทย์ มาเจาะเลือดเพื่อนำไปตรวจ ซึ่งในช่วงที่ประชวร จะมีการเจาะหลายครั้ง ทั้ง เช้า กลางวัน และเย็น คณะแพทย์ก็มักจะทูลถามว่า "เจ็บไหมกระหม่อม" พระองค์ก็จะรับสั่งกลับไปว่า "คุณก็ลองไปเจาะเองดูสิ" เท่านั้น

หรืออย่างในช่วงที่ทรงพอจะรับสั่งได้อยู่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง ทรงต้องใช้หน้ากากออกซิเจนในตอนกลางคืน เพื่อให้ออกซิเจน เข้าสู่สมองได้มากที่สุด จนทำให้พระพักตร์เป็นรอยช้ำจากการกดทับ พระองค์ท่าน ทรงแลเห็นอาตมา ที่มาเฝ้ายังไม่พักผ่อน ทั้งๆ ที่เวลาในขณะนั้น ก็ประมาณตีสองแล้ว จึงได้ถอดหน้ากากออกซิเจนออก แล้วมีรับสั่งกับอาตมา ว่า "มีอะไรหรือ มาทำอะไร ไปนอนได้แล้ว"

สำหรับงานต่างๆ ที่พระองค์ท่านได้ริเริ่มไว้ หลายๆ โครงการนั้น เชื่อว่า ก็คงได้รับการสานต่อ เว้นแต่โครงการปฏิรูปวิธีการศึกษาของพระไตรปิฎก 45 พรรษา พระพุทธเจ้าที่ยังค้างอยู่นั้น น่าจะเป็นเรื่องยากที่จะหาผู้ใดมาสานต่อ เพราะต้องใช้วิธีการคิดวิเคราะห์ในเชิงลึก และต้องใช้ทักษะขั้นสูง.


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.thairath.co.th/content/549411
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 19, 2015, 09:13:05 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ