ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระศาสนกิจตาม "เถรธรรม 10 ประการ" (พระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราช)  (อ่าน 2428 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระศาสนกิจตามเถรธรรม 10 ประการ
โดย...ส.สต

เนื่องในงานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกวันที่ 16 ธ.ค. 2558 โดยวัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นเจ้าอาวาส จัดพิมพ์หนังสือ บวรธรรมบพิตร จำนวน 1 แสนเล่ม เพื่อมอบแก่สาธุชนที่มาร่วมงาน และสถาบันการศึกษารวมทั้งห้องสมุดทั่วประเทศ เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราช ที่ทรงงานและปฏิบัติศาสนกิจในที่ต่างๆ สอดรับกับเถรธรรม 10 ประการ ของพระภิกษุ เป็นหนังสือหนา 432 หน้า

บวรธรรมบพิตร เป็นหนึ่งในจำนวนหนังสือที่ระลึก 20 เล่ม ที่คณะสงฆ์ รัฐบาล องค์กร และภาคเอกชน จัดพิมพ์เพื่อถวายเป็นพระกุศลในงานออกพระเมรุครั้งนี้

ส่วนเถรธรรมทั้ง 10 ที่เป็นแกนเล่าพระประวัติของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น ได้แก่



เถรธรรมที่ 1 คือรัตตัญญู เมื่อเป็นผู้บวชนาน ยังแสดงบทบาทในฐานะผู้นำที่ทรงมีประสบการณ์
โดยเสด็จไปเป็นประธานในการประชุมนานาชาติ The First World Buddhist Propagation ระหว่าง 5-10 เม.ย. 2541

1. รัตตัญญู เป็นภาพที่เสด็จไปทรงเป็นประธานในการประชุมนานาชาติในต่างประเทศ นับเป็นประวัติศาสตร์ที่สมเด็จพระสังฆราชไทยทรงแสดงบทบาทในระดับนานาชาติ The First World Buddhist Propagation Conference 5-10 เม.ย. 2541


เถรธรรมที่ 2 ทรงเป็นผู้ทรงศีลสมบูรณ์ด้วยสีลสิกขา ในภาพทรงพินทุผ้าที่ได้มาใหม่ก่อนทรงใช้สอยเพื่อให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ

2. สีลวา แสดงภาพที่เอาใจใส่ในพระวินัย แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ทรงพินทุ ผ้าจีวร ซึ่งตามพระวินัยเมื่อพระได้ผ้ามาใหม่และประสงค์จะใช้สอย ต้องพินทุ คือการทำจุด หรือเครื่องหมายลงบนผ้า เพื่อไม่ให้ยึดติดว่าเป็นของใหม่

3. พหุสสุตา เป็นพหูสูต ทรงความรู้ แสดงภาพความที่เป็นผู้ใคร่ศึกษา เป็นผู้ใฝ่เรียนมาตั้งแต่เป็นพระเปรียญ โดยเฉพาะด้านภาษา ที่ทรงศึกษาภาษาต่างๆ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน และสันสกฤต จนสามารถใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี



เถรธรรมที่ 4 สวาคตปาฏิโมกโข ทรงพระปาฏิโมกข์ ในภาพสมเด็จพระสังฆราชทรงแสดงอาบัติกับพระภิกษุรูปหนึ่ง
ก่อนจะร่วมสังฆกรรมฟังสวดพระปาฏิโมกข์ ที่วัดวังพุไทร 8 มิ.ย. 2537

4. สวาคตปาฏิโมกโข ทรงปาฏิโมกข์ รู้หลักพระวินัยแห่งวินัย ชำนิชำนาญ และสามารถวินิจฉัยได้ดีจะเห็นภาพสมเด็จพระสังฆราชทรงปลงอาบัติเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ก่อนลงปาฏิโมกข์ ภาพนี้ฉายที่วัดวังพุไทร 8 มิ.ย. 2537


เถรธรรมที่ 5 อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสโล เมื่อเกิดวิกฤตทางการเมือง14 ต.ค. 2516 ทรงคลี่คลายเหตุการณ์
โดยทรงออกแถลงการณ์ให้ทุกคนมีสัมมาสติ นอกจากนั้นยังทรงร่วมเป็นกรรมการตรวจบาลี ป.ธ.9กับพระเถระอื่นๆ ด้วย

5. อธิกรณสมุปปาทวูปสมกุสโล ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ ซึ่งในฐานพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ย่อมมีภาระหลักในการศึกษา ปฏิบัติ เผยแผ่ศาสนธรรม และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาภาพที่เสนอมีหลายภาพ แต่ที่ผู้เขียนพอใจยิ่ง เพราะเป็นภาพหายาก คือภาพที่ทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวงกองที่ 1 (ป.ธ.9) ที่วัดสามพระยา 10-15 มี.ค. 2517

พระเถระที่ร่วมเป็นกรรมการตรวจและชี้ขาดผู้ที่สอบผ่านหรือไม่ผ่าน ป.ธ.9 ประกอบด้วย สมเด็จพระธีรญาณมุนี (ธีร์ ป.ธ.9) วัดจักรวรรดิราชาวาส สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (วิน ป.ธ.9) วัดราชผาติการาม สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ป.ธ.9) แม่กองบาลีสนามหลวง วัดสามพระยา พระธรรมวโรดม (บุญมา ป.ธ.9) วัดเบญจมบพิตร สมเด็จพระวันรัต (จับ ป.ธ.9) วัดโสมนัสวิหาร และสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ ป.ธ.9) วัดบวรนิเวศวิหาร



เถรธรรมที่ 6 ธัมมกาโม เป็นผู้ใคร่ในธรรม สมเด็จพระสังฆราชทรงแสดงมุทิตาจิต พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต)
ที่องค์การยูเนสโก ถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ 21 ธ.ค. 2537

6. ธัมมกาโม เป็นผู้ใคร่ในธรรม รักการฟังธรรม มีความปราโมทย์ยิ่งในพระธรรมวินัย เป็นภาพที่สมเด็จพระสังฆราชทรงเคารพนอบน้อมพระเถระที่อาวุโส และเมตตาพระที่พรรษาน้อย เช่น ทรงแสดงมุทิตาจิตพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ในโอกาสที่องค์การยูเนสโกถวายรางวัลการศึกษาเพื่อสันติภาพ ณ หอประชุมพุทธมณฑล 21 ธ.ค. 2537

7. สันตุษโฐ เป็นผู้สันโดษด้วยปัจจัย 4 ตามมีตามได้ แสดงภาพบริขารที่พระองค์ทรงใช้ เช่น บาตร อังสะ อันตรวาสก หรือผ้าสบง ที่น่าสนใจคือ อาสนะ หรือที่รองนั่ง อาสนะนี้พระชนนีเย็บถวายแต่ครั้งเป็นพระมหาเปรียญ ทรงใช้เรื่อยมา แม้จะเก่าและชำรุดก็ทรงเก็บไว้ใต้อาสนะผืนใหม่ที่เป็นที่ประทับทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน สุดท้ายทรงนำมาวางไว้ใต้ผ้ารองกราบหน้าโต๊ะบูชา ที่ทรงทำวัตรสวดมนต์ประจำวัน



เถรธรรมที่ 8 ปาสาทิโก ผู้ที่เห็นภาพศิษย์ที่มีศักดิ์สูงอ่อนน้อมต่ออาจารย์ที่มีศักดิ์ต่ำย่อมสรรเสริญ
ภาพดังกล่าวนี้ พระสาสนโสภณ(เจริญ) รองสมเด็จ อ่อนน้อมต่อพระเทพมงคลรังษี พระราชาคณะชั้นเทพ ซึ่งเป็นพระอาจารย์

8. ปาสาทิโก เป็นผู้ประกอบด้วยกิริยาอันน่าเลื่อมใส ไม่ว่าอยู่ในอิริยาบถใดๆ ก็สำรวมด้วยดี เป็นภาพเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระสาสนโสภณ ทรงแสดงกิริยาความเคารพอ่อนน้อมต่อพระเทพมงคลรังษี (หลวงพ่อดี วัดเทวสังฆราม) พระอุปัชฌาย์


เถรธรรมที่ 9 ฌานลาภี เป็นพระอิริยาบถในการบำเพ็ญภาวนาซึ่งเป็นกิจวัตรของสมเด็จพระสังฆราช พระองค์นี้

9. ฌานลาภี เป็นผู้สามารถเข้าฌานอันเป็นธรรมที่ทำให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้ตามปรารถนาโดยไม่ยาก ภาพที่สอดคล้องกับข้อนี้



เถรธรรมที่ 10 ว่าด้วยวิมุตโต คือสิ้นอาสวะ หรือนิพพาน วันที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์
จึงมีคณะศิษย์ทั้งหลายกราบพระศพด้วยความอาลัย

10. วิมุตโต บรรลุเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ สิ้นอาสวะ ดังพระสัมโมทนียกถา ณ วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ 3 มิ.ย. 2516 ว่า พระภิกษุสามเณร เมื่อเข้ามาบวชเรียนก็ควรอธิษฐานใจมุ่งต่อพระนิพพานและปฏิบัติให้บ่ายหน้าไปสู่นิพพาน แม้ว่าจะอยู่ไกลสุด แต่ปฏิบัติบ่ายหน้าไปสู่พระนิพพานแล้ว แม้เดินเข้าสู่พระนิพพานทีละก้าวๆ ก็ย่อมถึงพระนิพพานได้ในที่สุด แต่ถ้าไม่ปฏิบัติบ่ายหน้าไปสู่พระนิพพาน แต่ปฏิบัติหันหลังให้พระนิพพาน ก็ยิ่งจะเดินห่างพระนิพพานออกไป...

เถรธรรม ที่ 10 จึงเป็นภาพที่คณะศิษย์ เช่น พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (ท่านอนิล) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร กราบพระศพด้วยความอาลัยเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อ 24 ต.ค. 2556 วันที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สิ้นพระชนม์ หรือบรรลุเจโตวิมุตติ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์


ขอบคุณภาพและบทความจาก
http://www.posttoday.com/dhamma/404729
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ