ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แม่น้ำ “แม่กลอง” แปลว่า อะไร.? มาจากไหน.?  (อ่าน 266 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ต้นน้ำแม่กลองบริเวณแควน้อยกับแควใหญ่ไหลมาบรรจบกันที่ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี (ภาพจากหนังสือ แม่น้ำแม่กลอง : พัฒนาการทางสังคมและวัฒนธรรม)


แม่น้ำ “แม่กลอง” แปลว่า อะไร.? มาจากไหน.?

ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง เป็นบริเวณที่เก่าแก่มากและอาจเก่าแก่ที่สุด เพราะพบหลักฐานโบราณคดีหลายพันปีมาแล้วอยู่ทางต้นน้ำ คือ แควน้อย-แควใหญ่ หลังจากนั้นก็พบหลักฐานการตั้งหลักแหล่งแห่งหนเป็นบ้านเป็นเมืองแล้วเป็นรัฐ ขยายไปทางลุ่มน้ำท่าจีน

ถ้าไม่ทวนเรื่องลึกลงไปถึงยุค “ทวารวดี” จะพบว่ามีชุมชนมอญเก่าแก่ที่สุดบริเวณที่ราบภาคกลางลุ่มน้ำเจ้าพระยา อยู่ที่ลุ่มน้ำแม่กลองนี้เอง โดยเฉพาะบริเวณวัดนครชุมน์ ที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี
คำว่าแม่กลองเป็นภาษาอะไร? มาจากไหน?

มีนักปราชญ์รุ่นก่อน ๆ อธิบายหลายแนวทาง ดังมีรายละเอียดอยู่ในพระนิพนธ์เรื่องชื่อลำน้ำแม่กลองฯ ของสมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ แต่สมเด็จฯ ก็มิได้ทรงชี้ชัดอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป เพียงทรงรวบรวมความรู้ของผู้รู้ทั้งหลายไว้ให้ผู้สนใจสมัยหลังศึกษาค้นคว้าต่อไป

โดยทั่วไปแล้วมักโน้มคำจากภาษาอื่นให้เป็นคำไทยด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน แล้วผูกนิทานใหม่ให้น่าเชื่อถือและเข้ากันได้ดีกับคำที่ริบมา มักพบทั่วไป เช่น ชื่อบางเชือกหนัง ในคลองบางกอกน้อย เดิมเป็นคำเขมร มอญว่าบางฉนัง มีอยู่ในโคลงกำสรวลสมุทรยุคต้นกรุงศรีอยุธยา หมายถึงบ้านหม้อ หรือบ้านปั้นหม้อ แต่นานเข้าก็ลืมรากเหง้า เลยโอนเข้าเป็นคำไทยว่าบางเชือกหนัง ตราบเท่าทุกวันนี้


แม่น้ำแม่กลอง (ภาพจากหนังสือ พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดกาญจนบุรี)

กลอง ในชื่อลำน้ำแม่กลองตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ก็เช่นเดียวกันที่ถูกโน้มแล้วริบให้เป็นคำไทย หมายถึงเครื่องดนตรีประเภทขึงหนังใช้ตี แล้วรับนับถือเป็นข้อยุติสืบมาจนปัจจุบัน ดังพบว่าทำรูปสัญลักษณ์เป็นกลองทัด หรือกลองเพล

ขอให้พิจารณาใหม่ด้วย ว่า “กลอง” ตรงชื่อแม่น้ำไม่ใช่คำไทย แต่เป็นคำจากภาษามอญ แล้วกลายเสียงกลายรูปไปต่าง ๆ กันในหลายแห่ง เช่นเป็นชื่อแม่น้ำโขง แม่น้ำคง (สาละวิน) เป็นต้น จะขอยกข้อความจากคำนำเสนอในหนังสือมหากาพย์ของอุษาคเนย์ ท้าวฮุ่งท้าวเจือง วีรบุรุษสองฝั่งโขง ผมเขียนเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๘ มาลงไว้ดังนี้

“พจนานุกรมมอญ-ไทย (ฉบับทุนพระยาอนุมานราชธน, ๒๕๑๓) ให้ศัพท์มอญไว้ ๒ คำคือ โคฺลงฺ กังคฺลงฺ อ่านว่า โคฺล้งฺ เหมือนกันแล้วให้ความหมายว่า ทาง

คำมอญว่าโคฺลงฺกับคฺลงฺนี่แหละกลายเป็นคำไทยว่าคลอง แม้คำว่ากลองในชื่อแม่น้ำกลองก็เพี้ยนมาจากคำมอญนี้เอง ทำให้น่าคิดว่า ชื่อแม่น้ำโขงหรือของน่าจะมาจากคำว่าโคฺลงฺกับคฺลงฺ (ท่านหมุพัน บอกว่าชาวขมุ (ข่ามุ) ในลาวเหนือเรียกแม่น้ำนี้ว่าอมครอง) แต่สิ้นตระกูลไทย-ลาวออกเสียงอย่างมอญไม่ได้ จึงเรียกเป็นกาหลงก่อน นานเข้าก็กลายเสียงเป็นโขงหรือของตามถนัดลิ้นแต่ละท้องถิ่น แม้ชื่อแม่น้ำคง (สาละวิน) ในพม่าก็ได้ชื่อจากมอญเช่นกัน”

สรุปแล้วคำว่าคลองในชื่อลำน้ำแม่กลอง มาจากคำในภาษามอญว่าคลอง หมายถึง หนทางคมนาคมทางน้ำ 





อ้างอิงข้อมูล : สุจิตต์ วงษ์เทศ. “คำนำเสนอ” ใน ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ “เครือญาติ'” มอญ ลุ่มน้ำแม่กลอง, (กรุงเทพฯ: ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ, ๒๕๔๗)
ผู้เขียน   : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ.2565
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_19187
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ