ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ‘อัธยาศัยดี ไม่ได้แปลว่า มีใจ’ | เส้นแบ่ง ความเป็นมิตร กับ ทอดสะพาน  (อ่าน 321 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



‘อัธยาศัยดี ไม่ได้แปลว่า มีใจ’ | เส้นแบ่ง ความเป็นมิตร กับ ทอดสะพาน ที่สังคมต้องอย่าคิดไปเอง


‘หากมีคนทำดีด้วย ให้ตีความตามตรงว่าเขาแค่ทำดี อย่าเพิ่งคิดไปก่อนว่าอีกฝ่ายชอบพอหรือมีใจให้’

ข่าวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย บุกข่มขืนลูกบ้านในคอนโดมิเนียม ถือเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในช่วงต้นปี 2565 เมื่อผู้ก่อเหตุเล่าว่าตนมีความรู้สึกชอบพอเหยื่ออยู่ก่อนแล้ว เนื่องจากเหยื่อมักซื้อของมาฝากตัวเองและเพื่อน รปภ. อยู่เสมอ จึงคิดว่าเธอมีใจให้ เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของ รปภ. ที่เคยทำงานกับผู้ก่อเหตุ ระบุว่าเหยื่อเป็นคนใจดี ชอบทักทายและซื้อขนมมาฝากเป็นประจำ แต่เธอกลับถูกอดีตเพื่อนร่วมงานบุกเข้าห้องและข่มขืน ซึ่งผู้ก่อเหตุกล้าทำอุกอาจขนาดนี้เพราะคิดว่าเหยื่อมีใจจึงซื้อขนมมาให้

ทันทีที่ความคิดเห็นของคนร้ายถูกเผยแพร่ ผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากต่างไม่พอใจกับคำให้การ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเองว่าหลายครั้งที่แสดงความเป็นมิตร ยิ้ม ทักทาย หรือให้สิ่งของคนที่ไม่ได้ใกล้ชิดโดยไม่คิดอะไร กลายเป็นผู้ได้รับสิ่งเหล่านั้นดันคิดไปไกลกว่าที่คาดเอาไว้

ตรรกะดังกล่าวสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดแบบนี้ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย จนชาวโซเชียลมีเดียเริ่มสานต่อประเด็นข่าวข่มขืนเป็นการรณรงค์ว่า “หากมีคนทำดีด้วย ให้ตีความตามตรงว่าเขาแค่ทำดี” สร้างความตระหนักรู้ว่าควรคิดเพียงแค่นั้น อย่าพยายามคิดเข้าข้างตัวเองเกินไปไกลกว่านี้

From The Desk สัปดาห์นี้ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดีย ที่เคยพบกับเหตุการณ์คุกคามแบบแปลกๆ ผสมกับความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่อข่าวการคุกคามทางเพศ และการคิดไปเองหรือคิดไปไกลนี้ ส่งผลเสียอะไรกับตัวเองและผู้อื่นบ้าง


@@@@@@@

อัธยาศัยดีไม่ได้แปลว่ามีใจเสมอไป

ตั้งแต่สมัยก่อนมาจนถึงตอนนี้ หลายครอบครัวอาจจะเคยได้ยินพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ บอกให้เราเอาของไปฝากคนนั้นคนนี้ เช่น พ่อแม่นักศึกษาฝากของมาสวัสดีปีใหม่เจ้าของหอ การให้ของเล็กๆ น้อยๆ แก่คนข้างบ้าน การยื่นมือช่วยเหลือเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่บังเอิญพบเห็น หรือการซื้อขนมให้ รปภ. คอนโดฯ ทั้งหมดคือการผูกมิตรที่ควรจะเป็นเรื่องปกติ แต่ในสังคมปัจจุบัน ความเป็นมิตรที่ว่ากลับกลายเป็นดาบสองคมมากขึ้น ทำให้ผู้คนต้องระมัดระวังตัว ไม่เผลอหยิบยื่นน้ำใจให้ใครง่ายๆ เนื่องจากเราไม่มีทางรู้เลยว่าใครจะตอบรับน้ำใจที่ให้แบบไหนบ้าง

หลายคนเวลาได้รับสิ่งดีๆ จากผู้อื่น จะรู้สึกขอบคุณ รู้สึกเป็นมิตร และสบายใจที่ได้รับสิ่งนั้น บางคนก็มีแนวคิดแบบระแวดระวังตัว กลัวเรื่องการหวังผลประโยชน์บางอย่าง แต่ก็มีคนอีกไม่น้อยที่มักคิดว่าการที่คนเข้ามาทำดีด้วย นั่นหมายความว่าจะต้องเข้ามาแบบเสน่หา ซึ่งแนวคิดแบบหลังอาจเรียกได้ว่าเกิดจากความรู้สึกมั่นใจในตัวเองจนเกินไป รวมถึงการถูกหล่อหลอมมาจากค่านิยมบางอย่าง และการเสพสื่อบางประเภท

ข่าวการก่อเหตุบุกข่มขืนลูกบ้านในคอนโดมิเนียม เปิดประเด็นใหม่ให้สังคมร่วมแบ่งปันประสบการณ์แปลกๆ จากคนแปลกหน้า เช่น ผู้ใช้งานทวิตเตอร์คนหนึ่งเล่าว่า หลังจากยิ้มขอบคุณชายคนหนึ่งบนรถเมล์เพราะเขาลุกให้นั่ง พอลงจากรถ ชายคนนั้นกลับตามลงมาด้วย ส่วนอีกคนหนึ่งเล่าว่า เธอไปซื้อของร้านประจำแล้วรับเงินทอน แต่ระหว่างรับมือเผลอไปโดนคนขาย หลังจากนั้นจึงถูกคนขายตามตื๊อเพราะคิดว่าเธอไปชอบเขาก่อน

หรือกับกรณีผู้หญิงได้รับการปฏิบัติที่ดีจากผู้ชายที่ยังไม่สนิทกันมาก เช่น เลื่อนเก้าอี้ให้ เปิดประตูให้ พูดจาสุภาพ หรือการกระทำอื่นใดที่แสดงถึงความให้เกียรติตามมารยาททางสังคมที่ควรจะมี บางคนคิดไปไกลว่าการได้รับสิ่งดีๆ เหล่านี้เป็นเพราะอีกฝ่ายมีใจ ซึ่งเหตุผลอาจตีได้สองแง่ ทั้งชอบจริงๆ กับเหตุผลที่ผู้ชายปฏิบัติตัวดีกับทุกคน เพราะถูกสั่งสอนมาให้เคารพคนอื่นหรือใส่ใจคนอื่นตั้งแต่แรก แต่ฝ่ายที่ได้รับกลับเข้าใจผิดคิดว่าเขาชอบ จึงระรานไปยังแฟนของชายคนนั้น จนเกิดการทำร้ายร่างกายหรือคุกคามบุคคลที่สาม เรื่องแบบนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง

เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงปัญหา ยังมีคนอีกจำนวนมากไม่สามารถแยกได้ขาดว่า การกระทำใดเป็นการกระทำเพียงเพราะคนคนนั้นเป็นคนดี หรือถูกทำดีด้วยเพราะอีกฝ่ายมีใจ ซึ่งแนวโน้มคิดว่าการทำดีคือมีใจมากกว่าการคิดว่าคนทำดีเพียงเพราะเขาเป็นคนดี จนเกิดเหตุการณ์บานปลายได้ง่ายๆ

@@@@@@@

เมื่อความเข้าใจผิด และความมั่นใจเกินไป กลายเป็นภัยสังคม.?

ความเข้าใจผิดหรือการคิดไปเอง นับเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน บางคนเข้าใจผิดได้ง่ายมาก บางคนไม่ค่อยเข้าใจผิดไม่คิดอะไรเท่าไรนัก ซึ่งความคิดเหล่านี้มีที่มาจากไหนได้บ้าง?

เว็บไซต์ Psychology Today ลงบทความชื่อว่า Why Men Tend to Overestimate Women’s Romantic Interest อ้างอิงจากงานวิจัยหลายชิ้นที่ระบุข้อมูลตรงกันว่า เพศชายส่วนใหญ่ (ย้ำว่าส่วนใหญ่) มีความสนใจทางเพศมากกว่าเพศหญิง และส่งผลให้เกิดความรับรู้ข้อมูลผิดๆ จนนำไปสู่ความเสี่ยงที่จะล่วงละเมิดทางเพศ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยเมอร์ด็อก ในเมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย ได้ทำงานวิจัยความคิดของชาย-หญิง ด้วยการให้อาสาสมัคร 400 คน ให้คะแนนความน่าดึงดูดใจของคนเพศตรงข้าม โดยที่ภาพเหล่านั้นเป็นภาพเบลอที่เห็นใบหน้าไม่ชัดเจน

ผลลัพธ์ที่ได้คือเพศชายประเมินความน่าดึงดูดใจของผู้หญิงไว้สูงมาก ในทางกลับกัน ผู้หญิงจะประเมินความน่าดึงดูดใจของผู้ชายในระดับต่ำกว่า ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทั้งสองเพศมีความคิดที่ต่างกันสิ้นเชิง มาจากเหตุผลชีววิทยามนุษย์ ทั้งเรื่องความคิด ความเข้าใจ ความต้องการสืบพันธุ์ ประกอบกับค่านิยมที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งมีส่วนทำให้คนบางกลุ่มมั่นใจในการตัดสินใจของตัวเองมากกว่าคนอีกกลุ่ม ขณะเดียวกันก็เกิดการละเลยความคิด ความเข้าใจ หรือความรู้สึกของอีกฝ่ายได้ง่ายกว่าเดิม

งานวิจัยเหล่านี้ยังเอ่ยถึงการแต่งตัวของเพศหญิงด้วย โดยระบุว่าความเข้าใจจำพวก ‘นัดเจอกันแล้วแต่งตัวแบบนี้ คิดอะไรกับเราอยู่หรือเปล่า’ นั้นใช้ไม่ได้จริง เสื้อผ้าและการแต่งตัวไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ถึงความสนใจของเพศหญิงที่มีต่อเพศชาย (หรือถ้ามีก็เพียงแค่ส่วนหนึ่ง เช่น รู้อยู่แล้วว่าจะต้องไปพบกับคนที่ชอบพอ จึงเลือกแต่งตัวให้สวยกว่าวันปกติ ซึ่งกรณีนี้ก็ใกล้เคียงกับการแต่งตัวเพื่อสร้างความมั่นใจในตัวเอง หรือแต่งตัวเพราะความรับผิดชอบบางอย่างในหน้าที่การงาน) แต่กลุ่มตัวอย่างเพศชายมักประเมินภาพรวมตรงหน้าผิดไปเอง และเสี่ยงทำให้เกิดการคุกคามทางเพศ

ขยับมายังสังคมใกล้ตัวมากขึ้น มีหลายครั้งหลายหนที่ได้ยินเรื่องราวชวนให้คิดไปไกลได้ไม่น้อย โดยเฉพาะการสร้างความหวังจากการเล่นโซเชียลมีเดีย เช่น คนที่เราสนใจหรือแอบชอบเข้ามาดูสตอรีในอินสตาแกรม จนเผลอคิดว่าเขาตามดูเพราะให้ความสนใจ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์สูงมากที่เขากดไล่ดูของทุกคน ไล่ดูไปเรื่อยจนกว่าจะหมด โดยไม่ได้สนใจสตอรีของเราเป็นพิเศษแต่อย่างใด เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างง่ายๆ ของการเผลอคิดไปก่อนเช่นกัน

อีกหนึ่งเหตุผลนอกจากชีววิทยามนุษย์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ สภาพแวดล้อมทางสังคมและการเสพสื่อ ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนจำนวนมากที่อ่านนวนิยายโรแมนติก อ่านแฟนฟิกชัน ดูละครน้ำเน่าที่เต็มไปด้วยค่านิยมเก่าหรือสอดแทรกค่านิยมที่ใช้ไม่ได้จริงในปัจจุบัน และรับแนวคิดที่อยู่ในนิยายหรือละครมาใช้ในชีวิตจริง ประกอบกับค่านิยมในแต่ละสังคมที่แตกต่างได้กลายเป็นส่วนผสมสำคัญทางความคิดความเข้าใจ

บางสังคมทำให้เรื่องการคุกคามและความรุนแรงเป็นมุกตลกร้าย ส่งต่อค่านิยมผิดเพี้ยนกันมารุ่นสู่รุ่น คนแต่ละกลุ่มก้อนเมื่อมาอยู่ร่วมกันในสังคมจึงได้ผลลัพธ์หลากหลาย โดยงานวิจัยที่นำมาแบ่งปันครั้งนี้ยังระบุอีกว่า ความโรแมนติกสุดฮิตในยุคก่อนอย่างภาพยนตร์และซีรีส์โรแมนติกที่พระเอกตกหลุมรักนางเอกเพียงแค่เหลือบมอง หรือเรื่องราวของเพศใดเพศหนึ่งที่จะต้องดูแลปกป้องคนรักจนชีพวาย การตบตีแย่งผู้ชายหรือแย่งผู้หญิงโดยที่ไม่ถามความสมัครใจของอีกฝ่าย กลายเป็นเรื่องที่ค่อนข้างล้าสมัยในศตวรรษที่ 21 ไปเสียแล้ว

กรณีตัวอย่างความคิดความมั่นใจแบบแปลกๆ ที่เห็นได้ชัด คือ ข่าวการให้สัมภาษณ์แม่ของ รปภ. ที่ข่มขืนลูกบ้าน บอกกับผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ตำรวจว่า “ถ้าผู้เสียหายไม่มีลูก ไม่มีผัว ยายก็จะไปคุยให้ ไปพูดเรื่องสินสอด ผูกแขน แต่นี่เขามีลูก มีผัวแล้ว คงไปคุยไม่ได้” ตามความเข้าใจว่าหากมีการผิดผีก็ให้ฝ่ายชายไปสู่ขอ หรือสังคมหล่อหลอมให้มีความคิดความเข้าใจแบบนี้ ทั้งที่สิ่งที่ลูกชายของเธอทำคือการข่มขืนผู้อื่น สร้างบาดแผลที่ไม่มีวันหายให้กับเหยื่อ


     @@@@@@@

     หรือควรคิดไว้ก่อนว่า ปฏิเสธ = ปฏิเสธ

    “ปากอย่างใจอย่าง ไม่ต้องเขินหรอก”
    “ตอบแชตเร็วแบบนี้ ชอบเราใช่ไหม?”
    “มาทำดีด้วยแบบนี้อ่อยเราอยู่หรือเปล่า”
    “ใจดีเรี่ยราดแบบนี้หว่านเสน่ห์แน่นอน”

หลายคนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การพยายามแก้ความเข้าใจผิดจากการคิดไปเองของอีกฝ่าย และยังไม่ได้เกิดการคุกคามหรือล่วงละเมิด มีหลายความคิดเห็นน่าสนใจแลกเปลี่ยนเรื่องราว เช่น เมื่อถูกคิดไปว่ามีความรู้สึกดีๆ ให้อีกฝ่าย และยืนยันปฏิเสธไปแล้ว กลับได้รับคำตอบแนวหยอกล้อว่า “ปากไม่ตรงกับใจ” หรือ “ไม่รักแปลว่ารัก” คล้ายกับเป็นการปลอบใจว่าฝ่ายที่ปฏิเสธอาจพูดแค่พอเป็นพิธี แต่ก็ไม่ได้ปิดโอกาสขนาดนั้น (แนวคิดแบบนี้ส่งผลให้เกิดวลี ‘ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลก’ ซึ่งปัจจุบันการตามติดโดยไม่ยินยอมนี้ สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็นสิ่ง Creepy และคุกคามคนอื่น) แม้ฝ่ายที่ปฏิเสธจะบอกด้วยความสุภาพเพื่อรักษามารยาท รักษาน้ำใจ แต่เสียงที่สื่อสารไปตรงๆ กลับถูกมองข้ามและโดนตีความอ้อมโลกอีกครั้ง

ขณะเดียวกัน คำตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ไม่ได้ปฏิเสธแบบตรงไปตรงมาก็มีอยู่มาก เช่น กระทู้สนทนาหนึ่งในสหรัฐฯ มีการตั้งคำถามว่า “ทำไมผู้หญิงถึงไม่ยอมปฏิเสธแบบตรงๆ ไม่ชอบก็บอกว่าไม่ชอบ หรือไม่ได้คิดอะไรด้วยก็ควรบอกตั้งแต่แรก”

กระทู้ดังกล่าวมีคนเข้ามาตอบในทำนองเดียวกันว่า “ปฏิเสธไปแล้วแต่อีกฝ่ายไม่เชื่อ” รวมถึงความคิดเห็นที่บอกว่าเคยปฏิเสธตรงๆ และถูกทำร้ายทำร้าย บางคอมเมนต์บอกว่าตนเคยปฏิเสธและโดนพูดจาดูถูกเพราะอีกฝ่ายเสียหน้า จึงต้องแก้เก้อด้วยคำพูดหยาบคาย การดักข่มขู่ ดักทำร้าย หรือถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ ตามที่เห็นในการทำแผนรับสารภาพหลายคดีที่จะมีคำตอบทั้ง “คิดว่าเขามีใจ” หรือ “เพราะหยิ่งเลยอยากสั่งสอนให้หลาบจำ” ปรากฏให้เห็น ซึ่งไม่ว่าจะเหตุผลแบบไหน ก็เป็นข้ออ้างที่พยายามสร้างความชอบธรรมในการกระทำของตัวเองเท่านั้น

ไม่ใช่แค่เพศชายจะเป็นฝ่ายละเมิดเพศหญิงได้อย่างเดียว หรือว่าจะมีเพียงแค่เพศใดเพศหนึ่งเท่านั้นที่ถูกละเมิด ไม่ว่าใคร มีเพศสภาพแบบไหน ก็สามารถเป็นทั้งผู้ล่วงละเมิดหรือถูกล่วงละเมิดได้ทั้งนั้น การพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องไม่คิดไปไกลเกินจำเป็น หรือเคารพเสียงของผู้อื่น เช่น หากถูกใครปฏิเสธมา ก็ขอให้คิดว่าก่อนว่าปฏิเสธจริงๆ เรื่องที่ไม่ได้ทำยากเหล่านี้อาจช่วยทำให้การอยู่ร่วมกันในสังคมไม่ลำบากยากเย็นจนเกินไป

นอกจากนี้ สิ่งที่สังคมหล่อหลอมยังทำให้เห็นว่า บ่อยครั้งที่เกิดคดีทางเพศ มักมีบางคนกล่าวโทษเหยื่อว่าอัธยาศัยดีเกินไป ไหนจะการสอนสั่งในโซเชียลมีเดียว่า “โลกนี้อันตราย ต้องระวังตัว ต้องรักนวลสงวนตัว” หรือนำเอาโศกนาฏกรรมของคนอื่นมาพูดใช้เป็นบทเรียนสอนใจในโลกออนไลน์ ให้คำแนะนำเรื่องการล็อกบ้าน การแต่งตัว ท่าทางการกระทำต่างๆ ของเหยื่อ

ขณะเดียวกัน เมื่อเกิดคดีทางเพศแล้วเหยื่อเป็นเพศชาย การแสดงความคิดเห็นตามโซเชียลฯ มักมีท่าทีขำขัน ดูถูก หรือเล่นมุกตลกร้ายเสียดสีความล้มเหลวของเหยื่อ โดยไม่มีการสอนสั่งให้ระวังตัวเท่ากับเหยื่อเพศหญิง หรือไม่ได้รับความเห็นใจมากเท่ากับเพศอื่นๆ โดยสถิติจากมหาวิทยาลัย King’s College ประเทศอังกฤษ ระบุว่า เหยื่อคดีทางเพศ คดีทำร้ายร่างกาย และการค้ามนุษย์ที่เป็นเพศชาย ได้รับการเยียวยาและความเห็นใจน้อยกว่าเพศหญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นผลจากค่านิยมทางสังคม

สิ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือ การตระหนักย้ำเตือนว่าทุกการกระทำของคนอื่น ทั้งความอัธยาศัยดี การแบ่งปันน้ำใจ หรือมิตรภาพที่มอบให้ ไม่มีทางเป็นอย่างที่เราคิดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีใครที่สามารถล่วงรู้ความต้องการของคนอื่นได้หมดจด แม้บางคนอาจเข้ามาทำดีด้วยเพราะชอบพอจริงๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่หยิบยื่นน้ำใจให้ จะต้องรู้สึกชอบพอเราไปเสียหมด เพราะมนุษย์เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย การเหมารวมว่าการกระทำหนึ่งจะต้องมีผลลัพธ์เหมือนกัน จึงเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดและไม่น่าใช้ได้จริง


 


อ้างอิง :-
- https://www.psychologytoday.com/us/blog/dating-and-mating/201804/why-men-tend-overestimate-womens-romantic-interest
- https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-10371301/Men-catch-glimpse-woman-overestimate-attractiveness-study-finds.html
- https://www.voathai.com/a/human-trafficking-tk/1204347.html

ผู้เขียน :  ตรีนุช อิงคุทานนท์ รองบรรณาธิการบริหาร The Momentum ที่เชื่อว่า 'คนเท่ากัน' สนใจในเฟมินิสต์ และการเรียกร้องสิทธิของชาว LGBTQ+
ขอบคุณ : https://themomentum.co/fromthedesk-2-2022-trinuch/
6 MIN. READ, From The Desk ,Jan 15, 2022
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 17, 2022, 08:46:14 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ