ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺสฐานนฺติ กมฺมฏฺฐาน | ชื่อว่า กรรมฐาน เพราะทำแล้วได้ผลวิเสส  (อ่าน 463 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺสฐานนฺติ กมฺมฏฺฐาน | ชื่อว่า กรรมฐาน เพราะทำแล้วได้ผลวิเสส

“กรรมฐาน” แปลว่า ที่ตั้งแห่งการงาน มีนัยตรงกับคำว่า “ภาวนา” เป็นคำที่หมายถึง การปฏิบัติธรรมหรือการฝึกอบรมจิตใจและอบรมปัญญาตามหลักพระพุทธศาสนา

กรรมฐานหรือภาวนาในพระพุทธศาสนามี ๒ ประการ คือ

    ประการที่ ๑. สมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา การฝึกอบรมจิตให้เกิดความสงบ หรือการฝึกสมาธิ
    ประการที่ ๒. วิปัสสนากรรมฐานหรือวิปัสสนาภาวนา การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความรู้แจ้งตามเป็นจริง หรือการเจริญปัญญา

ทั้ง ๒ ประการรวมอยู่ในหลักไตรสิกขา คือ

    (๑) สีลสิกขา
    (๒) จิตตสิกขาหรือสมาธิสิกขา ก็คือ สมถกรรมฐาน และ
    (๓) ปัญญาสิกขา ก็คือ วิปัสสนากรรมฐาน

หลักการสำคัญของกรรมฐานก็คือการฝึกฝน คำว่า “สิกขา” ในคำว่า “จิตตสิกขา” ก็ดี ในคำว่า “ปัญญาสิกขา” ที่นิยมนำมาใช้ในภาษาไทยว่า “ศึกษา” หมายถึง การฝึกฝนอบรม ตรงกับกับภาษาอังกฤษว่า “Training” ไม่ใช่ “Study” หลักการของคำว่า “ฝึกฝน” ก็คือ การวางกรอบหรือแนวทางไว้ชัดเจน แล้วกำหนดให้ทำตามนั้น

ถ้ามีการแข็งขืนไม่อยากทำตาม ก็ต้องมีการบังคับให้ทำตามนั้นให้ได้ อาจจะไม่สามารถทำตามกรอบนั้นได้ทันที แต่ต้องมีการบังคับไปทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะทำตามกรอบนั้นได้ทั้งหมด เช่น เรานั่งตัวตรง ๕ นาทีแล้วรู้สึกปวดเมื่อย ตามปกติเราก็มักจะหาวิธีคลายปวดเมื่อย โดยนั่งตัวงอบ้าง นั่งพิงฝาบ้าง นั่งเท้าแขนบ้าง ลุกขึ้นเดินบ้าง หรือแม้เปลี่ยนเป็นอิริยาบถอื่นๆ ถ้าเราฝึกฝนบังคับตัวเองทนฝืนความปวดเมื่อยนั่งให้ได้นานกว่า ๕ นาที ก็จะติดเป็นนิสัย สามารถนั่งนานได้ อยู่นิ่งนานๆได้

ข้อนี้เป็นการฝึกฝนกายให้เข้มแข็ง ธรรมชาติของจิตคือคิดถึงเรื่องต่างๆตลอดเวลา ถ้าเราปล่อยให้จิตคิดหลายเรื่อง ในขณะเดียวกันจนติดเป็นนิสัยกลายเป็นคนฟุ้งซ่าน ก็จะกลายเป็นคนไม่มีสมาธิ ทางานไม่สำเร็จ


@@@@@@@

กรรมฐานก็คือ การฝึกฝนอบรมจิตให้มีสมาธิ โดยใช้วิธีการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออกของตัวเอง มีสติกำหนดลมหายใจ เป็นอุบายให้จิตคิดอยู่ที่ลมหายใจ ไม่ให้คิดเรื่องอื่น ฝึกฝนอย่างนี้อยู่เป็นประจำ ก็จะทำให้ติดเป็นนิสัยคือ จิตคุ้นชินอยู่กับลมหายใจ จิตอยู่กับชีวิตของตัวเอง ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นสมาธิ

เพราะฉะนั้น เป้าหมายของการปฏิบัติกรรมฐาน ก็คือสมาธิ กรรมฐานในพระพุทธศาสนาแม้จะมีวิธีปฏิบัติหลายอย่าง แต่ก็มีเป้าหมายเดียวคือมุ่งสร้างสมาธิ เพื่อเป้าหมายขั้นต่อไป คือ ประสิทธิภาพของบุคคล ก็เพราะเมื่อจิตมีสมาธิย่อมมีอานิสงส์(ผลดี) ๓ ประการ คือ

ประการที่ ๑. มีอิทธิบาทธรรม ๔ อย่างในตัว เป็นคุณธรรมในจิตใจ คือ
    - ฉันทะ พอใจทำสิ่งดีงาม
    - วิริยะ เพียรทำสิ่งดีงาม
    - จิตตะ เอาใจใส่ต่อสิ่งดีงาม และ
    - วิมังสา ไตร่ตรองพิจารณาสิ่งดีงาม

ผู้มีคุณธรรมเหล่านี้ทำงานอะไรก็ประสบความสำเร็จ ดังที่โบราณาจารย์กล่าวว่า องค์ประกอบที่จะทำให้การทำงานประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ก็คือกรรมฐาน ดังคำวิเคราะห์ว่า

“กมฺมเมว วิเสสาธิคมนสฺสฐานนฺติ กมฺมฏฺฐาน แปลว่า การกระทำ ที่เป็นฐานแห่ง การบรรลุผลที่วิเสส ชื่อว่า กรรมฐาน”

จากบทวิเคราะห์นี้ เป็นเครื่องแสดงว่า การทำงานใดๆก็ตามจะประสบความสำเร็จ ต้องอาศัยการปฏิบัติกรรมฐานเป็นประการสำคัญ

ประการที่ ๒. มีปัญญาระดับต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติ ปัญญาที่สำคัญสำหรับการดำรงชีพคือ สัปปุริสธรรม ๗ ประการ เพราะจิตนิ่งมีสมาธิจึงทำให้เป็นคนรู้เหตุผล รู้ตน รู้ประมาณ รู้คนอื่น รู้สังคมรอบข้าง เข้าใจโลกและชีวิต

ประการที่ ๓. จิตมีคุณภาพ สุขภาพ และสมรรถภาพ เป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง มีวุฒิภาวะมีจิตใจที่ทนทานต่อแรงกระทบจากสภาพแวดล้อม ที่เป็นอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์

หมายเหตุ : อิฏฐารมณ์ แปลว่า อารมณ์ที่น่าปรารถนา ตรงข้ามกับ อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : คำนำจากบทความ กรรมฐานในพระพุทธศาสนา : บทเรียนจากมหาสติปัฏฐานสูตรและความนิยมในสังคมไทย โดย พระเทพวัชรบัณฑิต, ศ.ดร. อธิการบดี มจร
URL : https://www.mcu.ac.th/article/detail/35391
Photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ