ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สวัสดีปีใหม่ เราก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มปีนักษัตรใหม่ “ปีเถาะ”  (อ่าน 1496 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

มะยม

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +3/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 74
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


สวัสดีปีใหม่ เราก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ก็ถือว่าเป็นการเริ่มปีนักษัตรใหม่ “ปีเถาะ” แม้ว่าปีนักษัตรเราจะนับกันตามปีใหม่ไทย (สงกรานต์) และปีใหม่จีน (ตรุษจีน) แต่ยุคปัจจุบันเพื่อความสะดวก เราก็นับรวมเถลิงศกกันไปพร้อมๆ กับปฏิทินสากล
       
       “เถาะ” ปีนักษัตรลำดับที่ 4 ที่มีกระต่ายเป็นสัญญลักษณ์ ตำราโหราศาสตร์บอกว่า ปีนี้เป็นปีที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดา 12 ปีเลยทีเดียว
       
       ในแง่โหราศาสตร์ดูดวง เสิรมชะตาก็ว่ากันไป แต่เมื่อพูดถึงสัตว์สัญญลักษณ์ประจำปีอย่าง “กระต่าย” แล้ว ทำให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์สนใจศึกษาเรื่องราวของกระต่ายที่จะอยู่กับเรา (ในนาม) ไปถึง 1 ปีเต็มๆ นับจากนี้ …. ดูกันซิว่า เรารู้จักกระต่ายดีแค่ไหน
       
        กระต่ายบ้าน-กระต่ายป่า
       
        “กระต่าย” จัดอยู่ในจำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวขนาดเล็ก ขนปุย หูยาว ข้อมูลจากวิกิพีเดียระบุว่า กระต่ายถือกำเนิดมาในโลกเมื่อ 50 ล้านปีมาแล้ว บริเวณทวีปเอเชีย และอเมริกาเหนือ ทั่วโลกมีอยู่ 58 ชนิด จัดอยู่ใน วงศ์กระต่ายธรรมดา (Leporidae) 44 ชนิด และ วงศ์กระต่ายหูสั้น (Ochotonidae) อีก 14 ชนิด
       
        กระต่ายธรรมดามีขาหลังที่ยาว ทำให้วิ่งได้เร็ว ใบหูยาวหมุนไปมาได้ และมีหางสั้น ส่วนกระต่ายหูสั้นจะมีขาทั้งคู่หน้าและคู่หลังสั้นพอๆ กัน ใบหูจะสั้นเป็นมนกลม และจะไม่เห็นหางจากภายนอก
       
       ในวงศ์กระต่ายธรรมดา ยังแบ่งออกเป็น กระต่ายเลี้ยง (Rabbit) ซึ่งชอบอยู่กันเป็นฝูง และกระต่ายป่า (Hare) ที่ชอบอยู่โดดเดี่ยว
       
       ทั้งนี้ กระต่ายที่พบอาศัยตามป่าทั่วไปในประเทศไทยมีชนิดเดียว คือ กระต่ายป่า (Lepus peguensis) ซึ่งมีขนสีน้ำตาล ใต้หางสีขาว ขุดดินเป็นโพรงอาศัย ส่วนที่นำมาเลี้ยงตามบ้าน มีหลายชนิดและหลายสี แต่ที่พบมากจะเป็นสีอ่อน เช่นสีขาว
       
        กระต่ายเกือบจะเป็นหนู
       
        แม้ว่ากระต่ายจะเป็น “สัตว์ฟันแทะ” ที่มีฟันหน้าขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายหนู แต่กระต่ายเป็นสัตว์ฟันแทะมีฟันหน้า 2 คู่ (lagomorph) ต่างจากพวกหนูหรือกระรอกที่มีฟันแทะคู่เดียว (rodent)
       
       เดิมทีมีการจัดกระต่ายไว้เป็นสัตว์ฟันแทะในอันดับโรเดนเทีย (Rodentia) ร่วมกับพวกหนูและกระรอก แต่เมื่อพบว่ากระต่ายมีลักษณะหลายอย่างเป็นของตนเอง ที่แตกต่างจากพวกหนูและกระรอกมาก โดยเฉพาะกระต่ายที่มีฟันตัด2 คู่ทางด้านหน้าของขากรรไกรบนคู่ที่สองมีลักษณะเป็นปุ่มเล็กซุกอยู่ภายในคู่ หน้า ในขณะที่หนูและกระรอกมีฟันตัดเพียงคู่เดียว
       
        ขยายพันธุ์ว่องไว
       
       ถ้าใครเลี้ยงกระต่ายคงจะทราบกันดีถึงความสามารถในการผลิต ประชากรกระต่าย โดยกระต่ายบ้านสามารถผสมพันธุ์ได้บ่อย และตั้งท้องปีละหลายครั้ง
       
       กระต่ายเลี้ยงในยุโรปตอนเหนือผสมพันธุ์ในช่วง ก.พ.-ก.ย. ออกลูกได้ 3-5 ครอก ครอกละ 5-6 ตัว สำหรับกระต่ายป่าในซีกโลกเหนือ ออกลูก 2-4 ครอก ครอกละ 1-9 ตัว ในฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อน แต่ในเขตร้อนกระต่ายป่าผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตัวเมียตั้งท้องเพียง 1 เดือน ปีหนึ่งจึงสามารถออกลูกได้ 4-8 ครอก ลูกกระต่ายที่มีอายุราว 6-8 สัปดาห์จะแยกจากแม่ได้และมีอายุเฉลี่ย 9-12 ปี
       
       ทั้งนี้ ในมดลูกของกระต่ายเพศเมียจะมี 2 ช่อง นั่นหมายความว่า กระต่ายจะสามารถอุ้มท้องตัวน้อยได้ถึง 2 ครอก ที่มีอายุครรภ์ต่างกันได้ในเวลาเดียวกัน
       
        ถ้าไม่ได้กินสิ่งที่ถ่าย มีตายแน่นอน
       
       กระต่ายอยู่ในสภาพแวดล้อมได้หลายแบบทั้งเขตร้อนและหนาว อาหารส่วนใหญ่เป็น หญ้า พืชล้มลุก รากไม้ เปลือกไม้
       
       เวลาอาหารของกระต่าย พวกมันจะกินหญ้าจำนวนมากอย่างรวดเร็ว และขับถ่ายออกมาเป็นเม็ดแข็ง ส่วนที่เป็นเกล็ดของเสียจะไม่ถูกย่อย และเมื่อผ่านการกินอย่างหักโหมไปประมาณ 8 ชั่วโมงกระต่ายจะถ่ายมูลอ่อนออกมา ซึ่งส่วนใหญ่จะตรงกับช่วงกลางคืน
       
       มูลอ่อนดังกล่าวจะมีวุ้นเคลือบ และเมื่อเช้ามาถึงกระต่ายก็จะกินมูลอ่อนเหล่านี้ ซึ่งเชื้อแบคทีเรียในมูลอ่อน เมื่อสัมผัวกับอากาศจะสร้างวิตามินบางชนิดขึ้น วิตามินเหล่านี้จำเป็นมากต่อสุขภาพของกระต่าย หากไม่ได้กินมูลอ่อนกระต่ายจะตายภายในเวลา 3 วัน
       
        ใช้งานได้ทั้งในครัว-ห้องแล็บ
       
       การบริโภคเนื้อกระต่ายเป็นที่แพร่หลายในหลายพื้นที่ ทั้งในยุโรป อเมริกาทั้งตอนเหนือและใต้ รวมถึงตะวันออกกลาง
       
       แม้ว่าปัจจุบันในอังกฤษจะไม่มีเนื้อกระต่ายวางขายในซุเปอร์มาร์เก็ต แต่ตามร้านขายเนื้อหรือตลาดพื้นเมืองยังมีให้เห็นกันอยู่อย่างแน่นอน โดยร้านจะห้อยกระต่ายตายแล้วที่ยังไม่ได้แล่โชว์กันให้เห็นอันเป็นสไตล์
       
       ที่ซิดนีย์ เคยนิยมกินกระต่ายกันมาก ถึงกับมีชื่อทีมรักบี้ว่า “เซาธ์ ซิดนีย์ แรบบิโทธส์” (South Sydney Rabbithos) แต่ความนิยมบริโภคกระต่ายในซิดนีย์ต้องหมดไป เมื่อเหล่ากระต่ายเลี้ยงโดนโรคระบาดคุกคาม
       
       อย่างไรก็ดี ในแถบภูมิภาคอินโดจีนไม่นิยมกินกระต่าย แต่ก็ใช้กระต่ายเป็นอาหารสำหรับงูใหญ่
       
       กระต่ายทั้งถูกล่าด้วยปืน และส่วนที่เลี้ยงก็จะถูกฆ่าด้วยการทุบด้านหลังหัว เนื้อกระต่ายมีโปรตีนสูง ปรุงอาหารได้หลากหลายชนิดแบบเดียวกับเนื้อไก่ ซึ่งเนื้อกระต่ายที่ได้รับความนิยมที่สุดคือ “กระต่ายขาวนิวซีแลนด์”
       
       และกระต่ายขาวนิวซีแลนด์นี้ ก็ยังได้รับนิยมนำไปศึกษาและวิจัย ทั้งทางด้านพยาธิวิทยาเพราะเป็นแหล่งของสารที่เร่งให้เกิดลิ่มเลือด ด้านสรีรวิทยาการสืบพันธุ์ ต่อมไร้ท่อ รวมทั้งใช้ทดสอบความปลอดภัยของยาชนิดต่างๆ วัคซีน และทดสอบความเป็นพิษ
       
        บอบบางตายง่าย?
       
       กระต่ายขยายพันธุ์ง่าย และก็ตายง่ายไม่แพ้กัน ผู้เลี้ยงกระต่ายทราบดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูร้อน ที่กระต่ายอาจเกิดอาการช็อคตายได้ง่าย เพราะกระต่ายไม่มีต่อมเหงื่อ ระบายความร้อนได้ยาก เมื่ออากาศร้อนกระต่ายจะต้องหายใจถี่ขึ้น ที่จมูกจะสั่นเร็วขึ้น รวมถึงที่เส้นเลือดแดงใหญ่กลางหูจะช่วยทำงานระบายความร้อนมากขึ้น แต่ก็ยังระบายความร้อนไม่ทัน จึงทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงจนช็อคตาย
       
       อย่างไรก็ดี การให้น้ำกระต่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ เพราะกระต่ายต้องการใช้ระบายความร้อน แต่ส่วนใหญ่ที่เราเลี้ยงกระต่ายกันก็ให้ผักหญ้า ซึ่งพืชพวกนี้มีน้ำสะสมอยู่ในระดับหนึ่ง ทำให้บางครั้งกระต่ายก็ไม่ต้องการน้ำเพิ่ม แต่หลายคนอาจมีความเชื่อว่าการให้น้ำกระต่าย อาจเป็นเหตุให้กระต่ายตายได้ นั่นอาจจะเป็นเพราะความสะอาดของน้ำหรือภาชนะบรรจุ
       
       นอกจากนี้ ในการจับกระต่าย ไม่ใช่จับที่หูแล้วดึงขึ้นมา เพราะถ้ากระต่ายตัวใหญ่และมีน้ำหนักมาก อาจทำให้เนื้ออ่อนบริเวณหูฉีกขาดได้ แต่ให้ค่อยๆ ประคองตัวลักษณะเหมือนอุ้มเด็ก และให้ทำด้วยความนุ่มนวล โดยเฉพาะหากกอดรัดที่บริเวณท้องอย่างรุนแรงก็จะทำให้กระต่ายได้รับอันตราย ถึงตายได้
       
       ปัจจุบัน กระต่ายกลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อมนุษย์นำออกจากป่าไปเลี้ยงและกระต่ายขยายพันธุ์เร็วเกินกว่าจะรับภาระ ไหว จึงพากระต่ายกลับไปปล่อยแต่ก็กลับไปไม่ถึงป่า ส่งผลให้กระต่ายสร้างปัญหาต่อเรือกสวนไร่นา โดยเฉพาะแนวคันนาหรือสวนที่นิยมใช้หญ้าทำเป็นแนว กลับกลายเป็นแหล่งอาหารชั้นดีให้เหล่ากระต่าย
       
       อย่างไรก็ดี ปัญหาประชากรกระต่ายก็ยังคงสร้างความยุ่งยากให้แก่เกษตรกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ที่แม้ไม่ใช่แหล่งกำเนิดของกระต่าย กลับมีปัญหากับการรุกล้ำพื้นที่ของกระต่ายไม่น้อย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศนี้ได้จัดให้กระต่ายเป็น “ศัตรูพืช” ชนิดหนึ่ง เจ้าของที่สามารถจัดการและควบคุมได้โดยถูกกฎหมาย
       
       ส่วนพฤติกรรมของกระต่ายดูเหมือนจะตื่นเต้นตกใจง่ายนั้น เป็นไปตามสัญชาติญาณระวังภัย คำว่า “กระต่ายตื่นตูม” เป็นสำนวนที่มาจากนิทานชาดก อ้างถึงสมัยพระพุทธเจ้า ซึ่งสามารถหาอ่านกันได้ ส่วนปีเถาะหนนี้เราจะเป็น “กระต่ายตื่นตัว” ประกอบกิจการงานและใช้ชีวิตอย่างมีสติก็คงจะดีไม่น้อย.

       ************************************
       
        เรื่องน่าสนของ "กระต่าย"
       
       - สถิติโลกบันทึกไว้ว่ากระต่ายกระโดดได้สูงที่สุด 1 เมตร
       
       - บันทึกเล่มเดียวกันก็ยังบอกไว้ว่า กระต่ายกระโดดได้ไกลที่สุด 3 เมตร
       
       - กระต่ายครอกที่ใหญ่ที่สุด คือคลอดออกมา 24 ตัว มีบันทึกไว้ถึง 2 ครั้งในปี 1978 และ 1999
       
       - หูกระต่ายที่ยาวที่สุดในโลกคือ 31.125 นิ้ว เป็นกระต่ายอเมริกัน
       
       - กระต่ายที่อายุยืนที่สุดคืออยู่ได้ถึง 19 ปี
       
       - กระต่ายที่หนักที่สุดในโลกมีน้ำหนัก 12 กิโลกรัม
       
       - กระต่ายป่าที่เล็กที่สุดในโลกคือพันธุ์ปิกมี่ หรือ ลิตเติ้ลไอดาโฮ ในสหรัฐอเมริกา มีน้ำหนักน้อยกว่าครึ่งกิโลกรัม
       
       - กระต่ายจะตื่นตัวอย่างยิ่งในช่วงเช้าตรู่และยามเย็นโพล้เพล้
       
       - กระต่ายมองเห็นด้านหลังได้โดยไม่ต้องหันหัว
       
       - กระต่ายมีสีขนมากถึง 150 สี แต่มีสีตาเพียง 5 สี คือ น้ำตาล, น้ำเงิน-เทา, น้ำเงิน,ชมพู (แดง), และลูกแก้ว
       
       - กระต่ายตัวขาวตาแดง เพราะดวงตาของกระต่ายสีขาวอย่างพันธุ์นิวซีแลนด์ไวท์หรือแคลลิฟอร์เนียน ไม่มีเม็ดสี ทำให้เห็นเส้นเลือดสีแดงในตาซึ่งจะ สะท้อนแสงให้เราเห็นตากระต่ายเป็นสีแดง
บันทึกการเข้า