.
พระพุทธรูปศิลาสามองค์ เชิงฐานปทุมวดีเจดีย์ คือ พระอมิตาภะพุทธเจ้า.?เคยสังเกตกันบ้างหรือไม่คะ เมื่อท่านได้ไปชม “สุวรรณเจดีย์” หรืออีกชื่อคือ “ปทุมวดีเจดีย์” ทรงปราสาทสี่เหลี่ยมซ้อนชั้นแบบพีระมิด ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดพระธาตุหริภุญชัย
เจดีย์ก่ออิฐที่เคยมีพระพุทธรูปประทับยืนในซุ้มจระนำ 60 องค์ แต่ปัจจุบันสูญหายไปเกือบหมดแล้ว เจดีย์ที่มีหน้าตาคล้ายกับเจดีย์กู่กุฏิ (สุวรรณจังโกฏ) วัดจามเทวี แต่ขนาดย่อมกว่า
แล้วท่านเคยสงสัยไหม ว่าใครเอาพระพุทธรูปสามองค์มานั่งตากแดดตากลมที่ฐานเขียงชั้นล่างสุดด้านทิศใต้ของเจดีย์องค์นี้
พระพุทธรูปทั้งสาม มองเผินๆ แล้ว มักไม่มีใครให้ความสำคัญ ดูไม่น่าสนใจเอาเสียเลย เนื่องจากถูกพอกทับใหม่ด้วยปูนซีเมนต์ มีร่องรอยของความพยายามที่จะแปลงโฉม “พระหินสมัยหริภุญไชย” ที่ครั้งหนึ่งเคยไว้หนวดถมึงทึง หน้าตาทรงพลัง ถูกจับเขียนคิ้วเขียนตา เขียนขอบปาก เสริมดั้ง แต่งคางใหม่
ผลลัพธ์คือความขัดหูขัดตา เนื่องจากโครงสร้างเดิมดูบึกบึน เป็นหินแกรนิตเนื้อแกร่งสีแดงคล้ายผสมศิลาแลงซ่อนอยู่ด้านใน แต่มาถูกแปลงให้เป็นศิลปะยอง ดูอมยิ้มพริ้มเพราอ่อนหวาน
เราสามารถรับรู้ว่าพระพุทธรูปทั้งหมดได้รับการซ่อมแซม เนื่องจากมีการเขียนจารึกใหม่ที่ฐานพระทั้งสามองค์เป็นอักษรธัมม์ล้านนา ด้วยภาษายองกำกับไว้
@@@@@@@
พระหินองค์ใหญ่สององค์ขนาดใกล้เคียงกัน จัดวางไว้ที่มุมฐานเขียงของเจดีย์ปทุมวดีทั้งสองมุม เขียนข้อความเหมือนกันว่า
“เจ้าคุณพระราชสุธี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร และเจ้าน้อยประพันธ์ กาญจนกามล เป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 50 รูปมาบำเพ็ญปริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์เสร็จเมื่อ 31 ธันวาคม 2478”
ส่วนองค์กลาง ขนาดย่อมสุดเขียนคำจารึกที่ฐานว่าซ่อมหลังจากสององค์แรก 5 ปี
“เจ้าคุณพระวิมลญาณมุนี อดีตเจ้าคณะจังหวัดลำพูนเป็นผู้ปฏิสังขรณ์ โดยอาราธนาพระครูญาณมงคล วัดเหมืองง่า และภิกษุอีก 25 รูป บำเพ็ญบริวาสกรรม ณ วัดดอนแก้ว ปฏิสังขรณ์สำเร็จและฉลองเมื่อ 29 ธันวาคม 2483”
กล่าวโดยสรุปได้ว่า พระพุทธรูปสมัยหริภุญไชยทั้งสามองค์นี้ ถูกบูรณะฉาบปูนใหม่ที่ผิวด้านนอกในช่วงไม่เกิน 80-90 ปีที่ผ่านมานี้เอง จากจารึกทำให้เรารู้ว่าเดิมพระทั้งสามองค์เคยประดิษฐาน ณ วัดดอนแก้ว
น่าหดหู่ใจทีเดียว ที่ปัจจุบันวัดดอนแก้วกลายสภาพเป็นโรงเรียนบ้านเวียงยอง ไม่เหลือเค้าแห่งความเป็นวัดที่ยิ่งใหญ่เก่าแก่มากตั้งแต่สมัยหริภุญไชยอีกเลย
ส่วนในแวดวงนักวิชาการด้านโบราณคดีก็มักจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้สะท้อนถึงการรับอิทธิพลพุทธศิลปะอินเดียแบบคุปตะของช่างชาวหริภุญไชย (เพิ่มขึ้นมาอีกสกุลช่างหนึ่ง ว่างั้น)
บ้างว่าท่านั่งของพระหินสามองค์ คือท่านั่งขัดสมาธิเพชร หรือวัชรอาสนะ กับการครองจีวรห่มคลุมเรียบไม่มีชายสังฆาฏิบนบ่าทั้งสองข้าง สองคุณลักษณะนี้ คือต้นแบบของการทำพระพิมพ์รุ่น “พระคง” (ซึ่งต่างจากพระรอด ที่เห็นรอยจีวรพาดห่มเฉียง) ทำให้บางท่านเรียกพระสามองค์ว่า “แม่พระคง”
บทความชิ้นนี้ ดิฉันจะชี้ชวนให้ท่านพิจารณาประเด็น “ท่านั่งขัดสมาธิเพชร” กับการทำปาง “สมาธิ” ว่าสองสิ่งนี้สะท้อนถึงอะไร และเราเคยพบสองสิ่งนี้อยู่ด้วยกันในศิลปะสกุลช่างไหนมาก่อนแล้วบ้างไหม?
นั่งขัดสมาธิเพชรทำไมไม่ “มารวิชัย”.?
พระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ หากเรามองแบบแยกส่วน ว่าการครองจีวรเรียบเหมือนรับอิทธิพลมาจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ นั่นก็คือเรื่องหนึ่ง กับท่านั่งขัดสมาธิเพชรแลเห็นฝ่าพระบาทสองข้าง มีชายผ้าทิพย์ ก็รับอิทธิพลจากศิลปะปาละของอินเดียซึ่งมีคุปตะเป็นแม่แบบ นั่นก็แยกเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
หากเรามองแค่ จุดนี้รับอิทธิพลจากสกุลช่างโน้น จุดนั้นคล้ายกับพุทธศิลป์สกุลช่างนี้ วิชาประวัติศาสตร์ศิลปะก็แทบไม่มีความหมายอันใดเลย ตราบที่เราไม่สามารถอธิบายถึงปูมหลังแห่ง “การรับอิทธิพล” เอางานพุทธศิลป์สกุลช่างใดสกุลช่างหนึ่งมาใช้ ว่าผู้รับรับมาด้วยเหตุผลใด คงไม่ใช่แค่สวย แค่พึงใจ
หากเราไม่พิจารณาให้รอบด้าน องค์ความรู้ก็จะหยุดอยู่แค่ อ้อ! พระทั้งสามองค์นี้คือภาพสะท้อนของอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบคุปตะในนครหริภุญไชย อันเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาเท่านั้นเอง นอกเหนือไปจากการที่หริภุญไชยมีการรับรูปแบบพุทธศิลป์มาจากทวารวดีภาคกลาง ทวารวดีภาคอีสาน จามปา ขอม พุกาม ลังกา ที่แท้แล้วก็ยังมีอิทธิพลจากคุปตะด้วยอีกสายสกุลหนึ่ง
ดิฉันอยากให้ทุกท่านช่วยพิเคราะห์ให้ลึกลงไปอีกชั้นว่า แม้คุปตะจะนิยมการครองจีวรเรียบเน้นรอยขีดพระศอเป็นปล้องๆ ล้อกับขอบจีวรห่มคลุม รวมทั้งการที่คุปตะนิยมท่านั่งขัดสมาธิเพชรแลเห็นชายผ้าทิพย์ อันเป็นรูปแบบเดียวกันกับพระหินสามองค์ของหริภุญไชยนี้
ทว่า อัตลักษณ์ของพระพุทธรูปคุปตะกว่า 99.99 เปอร์เซ็นต์ เขาเน้นการทำปางแสดงธรรมมิใช่หรือ?
@@@@@@@
ส่วนพุทธศิลป์ที่นิยมทำปางสมาธิ ก็คือสกุลช่างอินเดียใต้สมัยอมราวดี กับสกุลช่างลังกา ครั้นมาดูท่านั่งของสายเถรวาทสองกลุ่มนี้ กลับพบว่านิยมนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ไม่ใช่ขัดสมาธิเพชร เป็นงั้นไปเสียอีก
ครั้นหันไปมองพุทธศิลป์อินเดียยุคปาละ ต่อเนื่องมายังสมัยพุกามในพม่า ก็หนักไปทางนั่งสมาธิเพชรมชายผ้าทิพย์ แต่เน้นปางมาวิชัยเข้าอีก เหลียวไปแลกลุ่มทวารวดีภาคกลาง ภาคตะวันออกแถบปราจีน สระมรกต ทำปางสมาธิก็จริง แต่กลับนั่งขัดสมาธิราบแบบหลวมๆ ตามอิทธิพลสายเถรวาทจากอมราวดีเข้าจนได้
มองไปทางไหนก็พบแต่ทางตัน แล้วพระสามองค์นี้ไปรับเอารูปแบบพิเศษมาจากไหนกันหนอ ประมาณว่าท่อนบนทำปางสมาธิ แบบที่นิยมในกลุ่มเถรวาท ในขณะที่ท่อนล่างกลับนั่งขัดสมาธิเพชร ตามความนิยมในกลุ่มอินเดียเหนือสายมหายาน
เหลียวไปมองเพื่อนบ้านไม่ใกล้ไม่ไกล แล้วจะพบคำตอบในศิลปะที่เรียกว่าสกุลช่างศรีวิชัย หรือชวา ณ ศาสนสถานบุโรพุทธโธ ในประเทศอินโดนีเซีย เราได้พบพระพุทธรูปกลุ่มหนึ่ง “นั่งขัดสมาธิเพชร ทำปางสมาธิ” รูปแบบเดียวกันเปี๊ยบเลยกับพระหินสามองค์ที่เราว้าวุ่นอยู่กับการหาหมวดหมู่ให้ไม่ลงตัวสักที
@@@@@@@
พระพุทธรูปที่บุโรพุทโธ มีชื่อเรียกโดยรวมว่า “พระธยานิพุทธเจ้า” ตามความเชื่อของชาวพุทธมหายานสายวัชรยาน ว่ามีพระพุทธเจ้าอยู่ 5 พระองค์ เป็นบุคลาธิษฐานของขันธ์ทั้ง 5 และพระตถาคตก็สถิตประจำทิศทั้ง 5 ดังนี้
ทิศตะวันออก เรียก พระอักโษภยะ แสดงออกด้วยการทำปางมารวิชัย (ภูมิสปรศมุทรา)
ทิศใต้ เรียกพระรัตนสัมภวะ ทำปางประทานพร (วรมุทรา)
ทิศตะวันตก เรียกพระอมิตาภะ ทำปางสมาธิ (ธยานมุทรา)
ทิศเหนือ เรียกพระอโมฆสิทธะ (สิทธิ) ทำปางประทานอภัย (อภัยมุทรา)
ทิศเบื้องบนสุด เหนือทิศทั้งสี่ ที่เป็นองค์ประธานของพระธยานิพุทธทั้งหมด มีชื่อว่า “พระไวโรจนะ” ทำปางแสดงธรรม (ธรรมจักรมุทรา) อันเป็นปางยอดฮิตของสมัยคุปตะ แต่ในอินเดียไม่ได้มากำหนดเรียกชื่อให้เป็น 1 ในพระธยานิพุทธเจ้าแต่อย่างใด
พระธยานิพุทธเจ้าทุกองค์ ทุกทิศ ทุกปางนั่งขัดสมาธิเพชรเหมือนกันหมด อันเป็นรูปแบบที่ศิลปะชวาได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเหนือสมัยคุปตะ แต่แนวคิดเรื่องพระธยานิพุทธเจ้านั้น ไม่ปรากฏว่ามีแพร่หลายในสมัยคุปตะแต่อย่างใด เริ่มมีในสมัยปาละ และกระจายไปยังทิเบต เนปาล จีน ตลอดจนชวาอย่างเข้มข้น
ถ้าเช่นนั้นก็แสดงว่า พระหินสามองค์ที่ฐานปทุมวดีเจดีย์ ซึ่งนั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิเช่นเดียวกับพระทางทิศตะวันตกของบุโรพุทโธ ก็คือ “พระอมิตาภะพุทธเจ้า” หนึ่งใน 5 ของ “พระธยานิพุทธเจ้า” ตามความเชื่อของพุทธมหายานด้วยหรือไม่ เช่นไร?
พระอมิตาภะกับนิกายสุขาวดี
นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่กล่าวเน้นย้ำถึงแนวคิดที่ว่า พระพุทธศาสนาในดินแดนสยามช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-15 นั้นมีหลายนิกาย หนึ่งในนั้นมี “นิกายสุขาวดี” ด้วย ก็คือท่านศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์
นิกายสุขาวดีคืออะไร เป็นนิกายย่อยในสายพุทธมหายาน ที่แยกออกไปจากวัชรยานที่นับถือ “พระธยานิพุทธทั้ง 5” ด้วยการเน้นความเคารพศรัทธาที่มีต่อ “พระอมิตาภะ” อย่างสูงสุดเพียงองค์เดียว
นิกายนี้มีความเชื่อว่า พระอมิตาภะเป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง สถิต ณ พุทธเกษตร (ดินแดน) ที่เรียกว่า สุขาวดี อยู่ทางทิศตะวันตกจากโลกของเราไปไกลโพ้น
โดยทางประติมานวิทยา ชาวพุทธที่นับถือนิกายนี้ในยุคทวารวดี นิยมทำพระพุทธรูปปางหลักๆ ที่เห็นได้ชัดคือ “พระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดี” แสดงออกด้วยการหักนิ้วพระหัตถ์สองข้าง คล้ายเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือล่องลอยลงจากห้วงนภากาศ คือดินแดนสุขาวดี เพื่อมาโปรดสัตว์โลก
นั่นคือ ปางยอดฮิตที่พบมากในพุทธศิลป์สมัยทวารวดีซึ่งกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ทำให้เชื่อได้ว่าสมัยเมื่อพันกว่าปีก่อน นิกายสุขาวดีเป็นที่นิยมอย่างสูงของผู้คนในแถบลุ่มเจ้าพระยา ท่าจีน โดยได้รับอิทธิพลจากจีนสมัยราชวงศ์ถัง
@@@@@@@
ทว่า การศึกษาเรื่องรูปแบบ “พระอมิตาภะในท่านั่งขัดสมาธิเพชร ปางสมาธิ” อันเป็นอีกมิติหนึ่งของการช่วยตอกย้ำเรื่องนิกาย “สุขาวดี” ที่คู่ขนานไปกับ รูปเคารพพระพุทธเจ้าประทับเหนือพนัสบดี นั้น เข้าใจว่ายังไม่มีผู้ศึกษากันมากนัก
โชคดีแท้เทียว ที่เรามาพบพระพุทธรูปหินสามองค์ขนาดใหญ่พอสมควรในงานพุทธศิลป์หริภุญไชย ที่ดูเผินๆ จากภายนอกแล้ว ละม้ายว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กับสายอินเดียคุปตะเท่านั้น แต่เอาเข้าจริงแล้ว ท่านั่งกับการทำปาง กลับไปสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง “พระอมิตาภะ” ที่บุโรพุทโธของชวา อย่างน่าขบคิด
ฉบับหน้ามาชวนครุ่นคำนึงกันต่อ ว่าลำพังแค่ท่านั่งขัดสมาธิเพชรกับการทำปางสมาธิ จำเป็นต้องหมายถึงพระอมิตาภะเสมอไปด้วยล่ะหรือ
ถ้าเช่นนั้นแล้ว เราจะใช้ตรรกะเดียวกันนี้ได้หรือไม่ว่า พระสิงห์ 1 ที่นั่งขัดสมาธิเพชร ทำปางมารวิชัย ทั่วล้านนาก็ต้องเป็น “พระอักโษภยะ” (พระธยานิพุทธเจ้าประจำทิศตะวันออก ตามอย่างแนวคิดของบุโรพุทโธ) หมดทุกองค์ด้วยหรือเปล่า? สัปดาห์หน้ามาว่ากันต่อ • ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2566
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2566
website :
https://www.matichonweekly.com/column/article_712709