ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ร้อยเอ็ด” เมืองศักดิ์สิทธิ์ตามรอยธรรม 5 วัดดัง เส้นทางบุญสาเกตนคร  (อ่าน 1830 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


“ร้อยเอ็ด” เมืองศักดิ์สิทธิ์ตามรอยธรรม 5 วัดดัง เส้นทางบุญสาเกตนคร

เสาหินโบราณ

       “ร้อยเอ็ด” เป็นจังหวัดหนึ่งในภาคอีสาน ที่มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ดังที่ปรากฏชื่ออยู่ในตำนานพระอุรังคธาตุ (ตำนานการก่อสร้างพระธาตุในแถบภาคอีสานตอนบน) ที่ปรากฏเมืองร้อยเอ็ดอยู่ในนาม “สาเกตนคร” ที่ถูกบรรยายไว้ว่ามีเมืองขึ้น 11 เมือง มีประตูทางเข้าเมือง 11 ประตู ถือว่าเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก
       
       จวบจนถึงปัจจุบัน ก็ยังเห็นร่องรอยความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในพื้นที่เมืองร้อยเอ็ด ด้วยยังมีวัดวาอารามมากมาย และประชาชนก็ยังคงเลื่อมใสและศรัทธาในพระพุทธศาสนา จนทำให้ร้อยเอ็ดกลายเป็นอีกหนึ่งเส้นทางบุญในแถบภาคอีสานที่นิยมมาทำบุญกัน


พระธาตุยาคู ภายในวัดเหนือ

       สำหรับวัดชื่อดังในเมืองร้อยเอ็ดที่พุทธศาสนิกชนนิยมมาไหว้พระทำบุญกันก็มีอยู่หลายวัด ซึ่งทางผู้บริหารจังหวัดร้อยเอ็ดได้คัดสรรวัดเด่นดังจำนวน 5 วัด มาเป็นทางเลือกหลักในเส้นทางทัวร์บุญสาเกตนคร
       
       เริ่มจากวัดแรก “วัดเหนือ” ที่ถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดของจังหวัดร้อยเอ็ด ตามคำกล่าวที่ว่า “วัดเหนือพร้อมบ้าน วัดกลางพร้อมเมือง” อันแสดงให้เห็นว่า วัดเหนือเป็นศูนย์รวมศรัทธาของชาวบ้านมาตั้งแต่โบราณแล้ว
       
       นอกจากนี้ยังมีหลักฐานการสร้างวัดที่เก่าแก่ นั่นก็คือ “เสาหินโบราณ” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัด เสาหินต้นนี้สร้างขึ้นจากหินศิลาแลง รูปทรงแปดเหลี่ยม บริเวณยอดเสามีลักษณะกลม มีการจารึกอักษรปัลละวะของอินเดียตอนใต้ ในสมัยทวารวดี โดยนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเสาหินต้นนี้อาจเป็นหลักเขตเมืองหรือเขตพุทธสถานมาก่อน


พระอุโบสถ วัดกลางมิ่งเมือง

       ส่วนภายในวัดเหนือ ก็ยังมี “สิม” หรือโบสถ์อีสาน ที่ได้รับอิทธิพลจากล้านช้าง เป็นสิมมหาอุต ลักษณะเตี้ย กว้าง หน้าต่างปิดตาย สิมแห่งนี้ยังมีข้อห้ามไม่ให้เพศหญิงเข้าไปภายในตามคติความเชื่อเดิม โดยรอบสิมขุดพบใบเสมาหินทรายสมัยทวารวดี อายุประมาณ 1,200 ปี กรมศิลปากรทำการขุดขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อทำการบูรณะ จากนั้นก็ยกตั้งไว้บนผิวดินในบริเวณเดิม
       
       ด้านหลังสิมมีเจดีย์โบราณ หรืออาจเรียกว่าสถูปทรงบัวเหลี่ยม อายุราว 1,300 ปี สถูปนี้เป็นที่บรรจุอัฐิของเจ้าอาวาสในสมัยนั้น จึงเรียกกันว่า “พระธาตุยาคู” (ยาคู ในภาษาอีสาน เทียบได้กับตำแหน่งเจ้าอาวาส) จากการสำรวจพบว่าสถูปนี้ชั้นในก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ในสมัยทวารวดี ชั้นนอกเคยบูรณะด้วยอิฐสมัยอยุธยา


พระพุทธมิ่งเมืองมงคล พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด

       จากวัดเหนือพร้อมบ้าน มาสู่วัดกลางพร้อมเมือง หรือ “วัดกลางมิ่งเมือง” ซึ่งถือว่าเป็นวัดเก่าแก่ในเมืองร้อยเอ็ดเช่นกัน ตัววัดคาดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา สำหรับพระอุโบสถนั้นเป็นศิลปะแบบล้านช้าง ด้านหน้ามีรังผึ้งขนาดใหญ่ สลักลายเครือเถาและดอกพุดตานอย่างงดงาม ส่วนฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถมีการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังแบบอีสาน (ฮูปแต้ม) เล่าเรื่องราวพุทธประวัติและทศชาดก
       
       ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน “พระพุทธมิ่งเมืองมงคล” พระพุทธรูปประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เนื้อสัมฤทธิ์ สร้างขึ้นโดยพระขัติยะวงษา (สีลัง) เจ้าเมืองร้อยเอ็ดคนที่ 2


พระเจ้าใหญ่ หรือ พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี

       หลังจากสักการะพระพุทธรูปประจำจังหวัดแล้ว ก็มาสักการะพระพุทธรูปยืนองค์ที่สูงที่สุดในประเทศไทยที่ “วัดบูรพาภิราม” ที่ตั้งอยู่ในเมืองร้อยเอ็ดเช่นเดียวกัน วัดแห่งนี้เดิมชื่อ วัดหัวรอ เนื่องจากในสมัยก่อนนั้นเป็นที่นัดพบและพักแรมของพ่อค้าที่จะออกเดินทางไปค้าขายยังต่างเมือง ต่อมาในภายหลัง จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวัดบูรพาภิราม เนื่องจากตัววัดตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัด

พระเจดีย์หิน วัดป่ากุง

       สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดก็คือ “พระพุทธรัตนมงคลมหามุนี” หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “พระเจ้าใหญ่” ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ถือเป็นพระพุทธรูปปาง... ที่สูงที่สุดในประเทศไทย โดยองค์พระมีความสูง 118 ศอก (59.20 เมตร) และมีความสูงทั้งหมด (รวมฐาน) 135 ศอก (67.85 เมตร) ซึ่งเดิมเมื่อแรกสร้างนั้น ตั้งใจจะให้องค์พระมีความสูง 101 ศอก แต่ด้วยฝีมือของช่างพื้นบ้าน ทำให้ไม่สามารถกำหนดความสูงขององค์พระได้แน่นอน จึงสร้างองค์พระได้สูงเกินกว่าที่กำหนด
       
       ชาวร้อยเอ็ดเชื่อว่า พระเจ้าใหญ่เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่คอยปกป้องคุ้มครอง ให้มีชีวิตอยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข และด้วยความสูงของพระองค์ทำให้มีความเชื่อว่า หากได้มากราบไหว้ จะได้อานิสงส์สูงเทียมเมฆเทียมฟ้า จะทำการสิ่งใดก็สำเร็จด้วยประการทั้งปวง


แต่ละชั้นเป็นภาพแกะสลักหินทรายเหลืองนูนต่ำ

       หลังจากไหว้พระในเมืองกันเสร็จแล้ว ก็เดินทางออกมานอกเมืองเล็กน้อย มาที่ อ.ศรีสมเด็จ มาชม “พระเจดีย์หิน” หรือ “บุโรพุทโธจำลอง” (Borobudur-โบโรบูดูร์ หรือ บรมพุทโธ) ที่ “วัดป่ากุง” โดยเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นจากคำปรารภของหลวงปู่ศรี มหาวีโร (พระเทพวิสุทธิมงคล) พระเกจิชื่อดังของจังหวัดร้อยเอ็ด
       
       หลวงปู่ต้องการให้ก่อสร้างเจดีย์ด้วยหินทรายธรรมชาติ แต่นำมาประยุกต์ให้มีความเหมาะสมกับสถานที่ ผสมผสานกับความเป็นไทยและลักษณะภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยให้มีรูปทรงคล้ายกับเจดีย์บุโรพุทโธ แต่ภายในมีพื้นที่สำหรับประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย เพื่อให้พุทธศาสนิชนได้สักการะ
       
       ด้านนอกขององค์เจดีย์แบ่งออกเป็น 7 ชั้น แต่ละชั้นมีภาพแกะสลักหินทรายนูนต่ำที่สวยงาม โดยแบ่งออกได้ดังนี้ ชั้นที่ 1 เล่าเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก ชั้นที่ 2 และ 3 เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ชั้นที่ 4 ภาพพระพุทธชัยมงคล ประกอบด้วย พระคาถา คำแปลภาพ และตำนาน ชั้นที่ 5 ภาพสังเวชนียสถาน 4 ตำบล ชั้นที่ 6 เป็นเจดีย์องค์ประธานและเจดีย์ราย 8 องค์ และชั้นที่ 7 ยอดเจดีย์ทองคำ น้ำหนัก 101 บาท
       
       ที่วัดป่ากุงแห่งนี้ นอกจากจะมาชมพระเจดีย์หิน หรือบุโรพุทโธจำลองแล้ว ก็ยังสามารถมานั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรมในบริเวณวัดที่มีพื้นที่กว้างขวาง ร่มรื่น และเงียบสงบ


พระมหาเจดีย์ชัยมงคล

       จาก อ.ศรีสมเด็จ เดินทางต่อมายัง ต.ผาน้ำย้อย อ.หนองพอก มาชมความสวยงามและยิ่งใหญ่อลังการของ “พระมหาเจดีย์ชัยมงคล” ที่สร้างขึ้นจากศรัทธาของพุทธศาสนิกชน วัตถุประสงค์ในการสร้างก็เพื่อเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า รวมทั้งอัฐิธาตุของเกจิอาจารย์ชื่อดังสายอีสาน และยังเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนาในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
       
       พระมหาเจดีย์ชัยมงคลเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ มีความกว้าง 101 เมตร ยาว 101 เมตร สูง 109 เมตร ซึ่งขนาดนั้นมีความสอดคล้องกับชื่อจังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนความสูง 109 เมตร เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยส่วนยอดของเจดีย์ 9 ชั้นเป็นยอดเศวตฉัตรทองคำแท้หนัก 60 กิโลกรัม
       
       ศิลปะการสร้างองค์เจดีย์ เป็นศิลปะร่วมสมัยระหว่างภาคกลางและภาคอีสาน (พระปฐมเจดีย์และพระธาตุพนม) โดยเน้นแนววิจิตรศิลปอีสานเป็นหลัก ลักษณะเป็นรูปทรง 8 เหลี่ยม รายล้อมด้วยเจดีย์องค์เล็ก 8 องค์ ด้านในแบ่งออกเป็น 6 ชั้น ชั้นที่ 1 เป็นชั้นอเนกประสงค์ มีรูปหล่อขนาดใหญ่ของหลวงปู่ศรี มหาวีโร เป็นพระประธาน


รูปหล่อหลวงปู่ศรี มหาวีโร

       ชั้นที่ 2 เป็นชั้นสำหรับประชุมสงฆ์ (อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ชั้นที่ 3 เป็นชั้นพระอุโบสถ ชั้นที่ 4 เป็นจุดชมวิว ชั้นที่ 5 เป็นพิพิธภัณฑ์ และชั้นที่ 6 เป็นชั้นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่อัญเชิญมาจากประเทศศรีลังกา
       
       สำหรับด้านนอกองค์เจดีย์ยังมีวิหารคดล้อมรอบ ภายในประดิษฐานพระสาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 500 องค์ มีกุฏิหลวงปู่ศรี มหาวีโร ที่เคยใช้เมื่อท่านยังมีชีวิตอยู่ แล้วก็ยังมีเจดีย์บุโรพุทธจำลองที่สร้างจากหินภูเขาไฟ
       
       เส้นทางทำบุญใน จ.ร้อยเอ็ด นั้นยังมีอีกหลายวัดที่น่าสนใจ ซึ่งนอกจากจะเป็นเส้นทางทำบุญแล้ว ร้อยเอ็ดก็ยังเป็นเมืองประวัติศาสตร์ และเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้ ทำให้เมืองร้อยเอ็ดกลายเป็นเส้นทางท่องเที่ยวยอดนิยมอีกหนึ่งแห่งในภาคอีสาน



ที่มา http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9570000097138
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ