ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นับถือพุทธ ไม่นับถือพระ  (อ่าน 288 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
นับถือพุทธ ไม่นับถือพระ
« เมื่อ: พฤษภาคม 13, 2022, 05:47:48 am »
0



นับถือพุทธ ไม่นับถือพระ

ความเสื่อมทรามในวัตรปฏิบัติของพระไทยได้ปรากฏให้เห็นอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการกินหมูกระทะนอกเวลา การดื่มสุรายาเมา การมีเพศสัมพันธ์กับหญิงทั้งในและนอกผ้าเหลือง เป็นต้น และข่าวคาวที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้จำกัดแวดวงไว้กับเฉพาะกับ ‘พระชาวบ้าน’ เท่านั้น

ในหมู่พระอีลีตหรือพระเซเลปก็ล้วนถูกตั้งคำถามในการปฏิบัติตนในลักษณะที่แม้จะแตกต่างในรายละเอียด แต่ก็ล้วนเป็นคำถามถึงความถูกต้องและความเหมาะสมเช่นกัน ไม่ว่าการสะสมทรัพย์สินเงินทองเป็นจำนวนมหาศาล การดำรงชีวิตอย่างหรูหราเฉกเช่นชนชั้นนำกลุ่มหนึ่ง หรือการละเว้นไม่ปฏิบัติกิจพื้นฐานของพระดังการบิณฑบาต เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น การปฏิบัติตนในทางลบก็เกิดขึ้นไม่ว่าจะสังกัดอยู่กับมหานิกายหรือธรรมยุติกนิกาย พระในทั้งสองนิกายก็ล้วนสามารถแปรสภาพเป็นสมีได้เฉกเช่นเดียวกันภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน จึงไม่อาจกล่าวได้เลยว่านิกายใดจะมีความเคร่งครัดหรือการยึดมั่นต่อหลักธรรมคำสอนมากกว่ากัน

ปรากฏการณ์เช่นนี้ล้วนแล้วแต่สร้างความสงสัยให้กับคนจำนวนไม่น้อย (อย่างน้อยก็ผู้เขียนคนหนึ่ง) ต่อการดำรงอยู่ของพระสงฆ์ว่ายังมีความสำคัญอยู่ในฐานะของผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธอยู่จริงหรือ

@@@@@@@

คำอธิบายจำนวนหนึ่งของผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็มักชี้แจงว่าการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของ ‘ปัจเจกบุคคล’ ซึ่งย่อมเกิดขึ้นได้ในท่ามกลางพระที่มีอยู่อย่างมากมาย เฉพาะอย่างยิ่งกับกรณีของพระชาวบ้าน โดยเหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้กระทบถึงความดีงามของพุทธศาสนาแต่อย่างใด หากใครที่กระทำผิดก็จะถูกลงโทษจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง หรือในกรณีที่ล่าช้าจนเกินไปก็อาจจะได้ ‘หมอปลา’ มาทำหน้าที่เป็นหน่วยปราบปรามฉุกเฉิน

บรรดาปรสิตของศาสนาก็จะถูกขจัดออกไป ส่วนหลักธรรมคำสอนก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยืนหยัดคงทนข้ามกาลเวลามาได้

คำแก้ตัวเช่นนี้อาจช่วยให้บรรดาชาวพุทธรู้สึกสบายใจขึ้นมาได้บ้าง แต่สิ่งที่ควรต้องเป็นคำถามอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงก็คือ ทำไมจึงเกิดการกระทำผิดเกิดขึ้นอย่างบ่อยครั้งและซ้ำซากอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ปรากฏการณ์เช่นนี้ไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างของสงฆ์เลยใช่หรือไม่ เฉพาะอย่างยิ่งในความสัมพันธ์กับรัฐไทย ความชั่วที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่สัมพันธ์กับรูปแบบขององค์กรสงฆ์เลยใช่หรือไม่

เป็นที่รับรู้กันในหมู่ผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับองค์กรของพระในรัฐไทยว่านับตั้งแต่การเกิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ขึ้น ชนชั้นนำของไทยได้ผนวกให้คณะสงฆ์ต้องตกมาอยู่ภายใต้อำนาจของผู้ปกครอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การสถาปนาโลกของผู้ปกครองฆราวาสอยู่เหนือกว่าองค์กรของพระมาอย่างต่อเนื่อง แม้อาจมีการต่อต้านหรือการต่อสู้เกิดขึ้นอยู่บ้างในบางครั้งหรือในบางแห่ง แต่แทบทั้งหมดก็จบลงด้วยการทำให้องค์กรของพระต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การครอบงำของอำนาจรัฐ

@@@@@@@

มหาเถรสมาคมอันประกอบด้วยพระในระดับสูงได้กลายเป็นเสมือนผู้ผูกขาดการใช้อำนาจเหนือบรรดาเหล่าสงฆ์ หัวใจสำคัญคือการมีอำนาจในการตัดสินว่าการกระทำในแบบใดเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามไตรปิฎก อำนาจเช่นนี้จึงทำให้การตีความของสงฆ์กลุ่มอื่นๆ อาจกลายเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า ข้อกำหนดที่ ‘เคร่งครัด’ ของสงฆ์บางกลุ่มกลับกลายเป็นสิ่งที่นอกรีต กระทั่งต้องหันไปนุ่งห่มด้วยผ้าในสีอื่นเพื่อไม่ให้กลายเป็นการ ‘แต่งกายเลียนแบบสงฆ์’

ขณะที่โครงสร้างองค์กรของสงฆ์ก็มีสถานะที่ใกล้เคียงกับข้าราชการหรือหน่วยงานของรัฐประเภทหนึ่ง มีการจัดลำดับชั้นยศโดยมีสังฆราชดำรงตำแหน่งสูงสุด, มีรถประจำตำแหน่ง, การให้ค่าตอบแทน (ที่เรียกว่า ‘นิตยภัต’ แต่แท้จริงก็คือเงินเดือน) มากน้อยตามตำแหน่งสูงต่ำ, การกำหนดการใช้ภาษาสำหรับพระ ‘ผู้ใหญ่’, การเลื่อนชั้นยศด้วยผลงานอันเป็นรูปธรรมด้วยการก่อสร้างถาวรวัตถุ เป็นต้น

ในด้านของการเผยแพร่ความรู้ทางศาสนา การอธิบายถึงหลักคำสอนตามศาสนาพุทธก็ได้แอบอิงอยู่กับสถาบันจารีตซึ่งถูกอธิบายว่าเป็นเสาหลักของสังคมไทย กล่าวคือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสอนจำนวนมากกลับกลายเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับสถาบันที่อยู่ข้างหน้าและข้างหลังสถาบันศาสนาเป็นสำคัญ

ดังเช่นการให้คำอธิบายว่าการปฏิบัติตามหน้าที่ซึ่งกระทำไปด้วยใจที่ว่างและเป็นกลางก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรมแบบหนึ่งที่อาจทำให้นิพพานได้ คำอธิบายเช่นนี้ย่อมทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยิงหัวประชาชนอันเนื่องมาจากคำสั่งของเจ้านายที่กระทำด้วยความเป็นกลาง มิได้เกลียดชังผู้ถูกยิง เกิดความสบายใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตนเป็นอย่างมาก เพราะไม่เพียงกฎหมายรัฐจะเอาผิดไม่ได้เท่านั้น หากยังไม่ใช่เวรกรรมที่ตนเองจะต้องรับผิดชอบในโลกหลังความตาย


@@@@@@@

ลองนึกถึงวลี “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจน 

มีคำสอนอีกเป็นจำนวนมากซึ่งชวนให้สงสัยหรือโต้แย้งได้ว่า เป็นหลักธรรมตามความเห็นของพระพุทธเจ้าจริงหรือ ในเมื่อท่านก็ไม่ได้เกิดขึ้นมาอยู่ภายใต้รัฐสมัยใหม่ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้อำนาจได้อย่างเลือดเย็น เฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย

การทำหน้าที่ของคณะสงฆ์ไทยได้ให้ความสำคัญกับรัฐเป็นอย่างมาก กลายเป็นสิ่งที่ชนชั้นนำของไทยให้การสนับสนุน ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ระบอบเผด็จการ ระบอบเสมือนสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดูเหมือนว่าแนวคำสอนของพระไทยจะไม่สามารถผนวกเอาอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคำสอนได้ 

ด้วยเงื่อนไขดังกล่าวจึงทำให้คณะสงฆ์ไทยได้กลายไปเป็นเหมือนข้าราชการประเภทหนึ่งที่ทำหน้าที่ทางด้านบ่มเพาะความเชื่อความศรัทธา หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘กระทรวงความมั่นคงทางจิตวิญญาณ’

ภายในกระทรวงนี้ก็จะมีรัฐมนตรีและข้าราชการในระดับต่ำไล่เรียงลงมา โดยหน้าที่หลักก็คือ การให้คำอธิบายต่อหลักคำสอนของศาสนาพุทธ ทั้งนี้ คำสอนต้องถูกตีความ/ให้ความหมาย/ตีความ เพื่อให้สอดคล้องกับความมั่นคงปลอดภัยของสถาบันหลักของชาติ

บทบาทหน้าที่ของคณะสงฆ์ภายใต้กระทรวงความมั่นคงทางจิตวิญญาณ ย่อมทำให้ต้องขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาและผู้มีอำนาจเหนือ ซึ่งอาจปรากฏอย่างชัดเจนในทางกฎหมายหรืออาจคลุมเครือแต่เป็นที่รับรู้กัน ด้วยสถานะดังกล่าวย่อมทำให้ไม่อาจคาดหวังว่าคำอธิบายของคณะสงฆ์ของไทยจะสามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นอิสระมากนัก คำอธิบายนอกกรอบสถาบันหลักของชาติอาจเป็นปัญหาต่อตัวพระผู้ให้การตีความได้

@@@@@@@

ภายใต้บริบทเช่นนี้จึงทำให้พระแบบไทยๆ ถอยห่างไปจากสังคมและผู้คนมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องแปลกใจเลยว่าหากคนจำนวนมากจะไม่รู้สึกว่าคำสวดของพระไม่ได้ให้คำตอบอะไรกับความยุ่งยากที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่

ท่ามกลางความเสื่อมทรามที่เกิดขึ้นกับวงการพระ แต่ก็ไม่เห็นความพยายามในการปรับเปลี่ยนต่อการจัดองค์กรของพระให้สอดคล้องกับโลกและคุณค่าแห่งยุคสมัยแต่อย่างใด ทั้งคงเป็นเรื่องที่ยากที่จะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ สำหรับผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาและต้องการให้พุทธศาสนาสามารถดำรงอยู่ต่อไป หนทางหนึ่งที่อาจช่วยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนในแวดวงของผู้เผยแพร่พุทธศาสนาก็คือ การปฏิเสธอำนาจผูกขาดและสูงสุดในการตีความคำสอนของกระทรวงความมั่นคงทางจิตวิญญาณ เมื่อเห็นได้ชัดว่าการตีความของกระทรวงนี้อยู่ภายใต้อคติและการสนับสนุนอุดมการณ์บางประเภท

ประชาชนควรมีอำนาจในการวินิจฉัยและตีความแนวคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เช่นกัน ในเมื่อเราก็ล้วนสามารถเข้าถึงไตรปิฎก ตำราและคำสอนของพุทธศาสนา ไม่ได้แตกต่างไปจากที่ข้าราชการฝ่ายจิตวิญญาณสามารถเข้าถึง

ในความเห็นของผู้เขียนแล้ว ประชาชนสามารถนับถือพุทธศาสนาได้ โดยไม่จำเป็นต้องนับถือพระ หากจะเคารพนับถือพระรูปใดก็ต่อเมื่อได้มีการแสดงให้เห็นอย่างประจักษ์แล้วว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้อันลึกซึ้ง รวมทั้งการปฏิบัติอันควรค่าแก่การให้ความเคารพ

ลำพังเพียงการห่มเหลือง หัวโล้น โกนคิ้ว ไม่ควรจะทำให้ได้สถานะพิเศษเหนือกว่าคนทั่วไปในการตีความพุทธศาสนาแต่อย่างใด





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : สมชาย ปรีชาศิลปกุล ,11 May 2022
ภาพประกอบ: ณัฐพล อุปฮาด
URL : https://www.the101.world/crisis-of-faith-in-thai-buddhist-monks/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ