ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ว่าด้วยมาตุคาม : “พวกข้าพระองค์ จะปฏิบัติต่อมาตุคาม(สตรี) อย่างไร.?”  (อ่าน 857 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ว่าด้วยมาตุคาม : “พวกข้าพระองค์ จะปฏิบัติต่อมาตุคาม(สตรี) อย่างไร.?”

เรื่องคำถามพระอานนท์

[๒๐๓] ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า “พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติต่อสตรีอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
         พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่าดู”
        “เมื่อจำต้องดู จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
        “อย่าพูดด้วย”
        “เมื่อจำต้องพูด จะปฏิบัติอย่างไร พระพุทธเจ้าข้า”
        “ต้องตั้งสติ (๒-) ไว้”


เชิงอรรถ :-
(๒-) ตั้งสติ ในที่นี้หมายถึง การควบคุมจิตให้คิดต่อสตรีในทางที่ดีงาม เช่น รู้สึกว่าเป็นแม่ในสตรีที่อยู่ในวัยแม่
รู้สึกว่าเป็นพี่สาวน้องสาวในสตรีที่อยู่ในวัยพี่สาวน้องสาว รู้สึกว่าเป็นลูกสาวในสตรีที่อยู่ในวัยสาว (ที.ม.อ. ๒๐๓/๑๘๙-๑๙๐)



ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๐ หน้า : ๑๕๑ , พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๐ ,พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ทีฆนิกาย มหาวรรค ,๓. มหาปรินิพพานสูตร ว่าด้วยมหาปรินิพพาน
URL : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=10&siri=3
ขอบคุณภาพจาก : pinterest



อรรถกถา : มาตุคาเม ปฏิปตฺติวณฺณนา
             
ด้วยบทว่า อทสฺสนํ อานนฺท ทรงแสดงว่า การไม่เห็นมาตุคามเสียได้เลย เป็นข้อปฏิบัติธรรมอันสมควรในข้อนี้.
จริงอยู่ ภิกษุเปิดประตูนั่งบนเสนาสนะ ตราบใดที่ไม่เห็นมาตุคามที่มายืนอยู่ที่ประตู ตราบนั้น ภิกษุนั้นย่อมไม่เกิดโลภ จิตไม่หวั่นไหวโดยส่วนเดียวเท่านั้น. แต่เมื่อยังเห็นอยู่ แม้ทั้ง ๒ อย่างนั้นก็พึงมี.

ด้วยเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อทสฺสนํ อานนฺท
ด้วยบทว่า ทสฺสเน ปน ภควา สติ กถํ พระอานนท์ทูลถามว่า เมื่อการเห็นในที่ๆ ภิกษุเข้าไปรับภิกษาเป็นต้น ภิกษุจะพึงปฏิบัติอย่างไร.

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า บุรุษผู้ยืนถือมีดด้วยกล่าวว่า ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะตัดศีรษะท่านเสียในที่นี้แหละ หรือนางยักษิณียืนพูดว่า ถ้าท่านพูดกับเราๆ จะแล่เนื้อท่านเคี้ยวกินเสียในที่นี้ นี่แหละยังจะดีกว่า เพราะความพินาศเหตุมีข้อนั้นเป็นปัจจัย ย่อมมีได้อัตตภาพเดียวเท่านั้น ไม่ต้องเสวยทุกข์ที่กำหนดไม่ได้ในอบายทั้งหลาย

ส่วนเมื่อมีการเจรจาปราศรัยกับมาตุคามอยู่ ความคุ้นก็มี เมื่อมีความคุ้น ช่องทางก็มี ภิกษุผู้มีจิตถูกราคะครอบงำก็ถึงความพินาศแห่งศีล ต้องไปเต็มอยู่ในอบาย เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า อนาลาโป ดังนี้.

สมจริงดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
     "บุคคลพึงพูดกับบุคคลผู้มีดาบในมือกับปีศาจ นั่งชิดกับอสรพิษ ผู้ที่ถูกคนมีดาบ ปีศาจ อสรพิษกัด แล้วย่อมไม่มีชีวิต ภิกษุพูดกับมาตุคามสองต่อสอง ก็ไม่มีชีวิตเหมือนกัน." (๑-)

________________________
(๑-) องฺ. ปญฺจก. เล่ม ๒๒/ข้อ ๕๕

บทว่า อาลปนฺเน ปน ความว่า ถ้ามาตุคามถามวันขอศีล ใคร่ฟังธรรม ถามปัญหา ก็หรือมีกิจกรรมที่บรรพชิตจะพึงทำแก่มาตุคามนั้น มาตุคามนั้นก็จะพูดกะภิกษุผู้ไม่พูดในเวลาเห็นปานนี้ว่า ภิกษุองค์นี้เป็นใบ้หูหนวก ฉันแล้วก็นั่งปากแข็ง เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงพูดโดยแท้.

ท่านพระอานนท์ทูลถามว่า พระเจ้าข้า ภิกษุเมื่อพูดอย่างนี้ จะพึงปฏิบัติอย่างไร.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหมายเอาพระโอวาทที่ว่า มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงตั้งจิตคิดว่า มารดาในสตรีปูนมารดา ตั้งจิตคิดว่า พี่สาวในสตรีปูนพี่สาว ตั้งจิตคิดว่า ลูกสาวในสตรีปูนลูกสาว (๒-) จึงตรัสว่า อานนท์ พึงตั้งสติไว้.

_____________________
(๒-) สํ. ส. เล่ม ๑๘/ข้อ ๑๙๕



ที่มา : อรรถกถา ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=10&i=67&p=4#มาตุคาเม_ปฏิปตฺติวณฺณนา
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


๕. มาตาปุตตสูตร ว่าด้วยมารดากับบุตร

[๕๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้นแล คนทั้งสอง คือ ภิกษุและภิกษุณีผู้เป็นมารดาเป็นบุตรกัน เข้าจำพรรษาในกรุงสาวัตถี คนทั้งสองนั้นใคร่จะเห็นกันเนืองๆ แม้มารดาก็ใคร่จะเห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็ใคร่จะเห็นมารดาเนืองๆ เพราะการเห็นกันเนืองๆ ของคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน

จึงมีความคุ้นเคยกัน เมื่อมีความคุ้นเคยกันจึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้(๑-) เสพเมถุนธรรม(๒-) แล้ว

ครั้งนั้น ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

   “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนทั้งสองคือภิกษุและภิกษุณีผู้เป็นมารดาเป็นบุตรกัน เข้าจำพรรษาในกรุงสาวัตถีนี้ คนทั้งสองนั้นใคร่จะเห็นกันเนืองๆ แม้มารดาก็ใคร่จะเห็นบุตรเนืองๆ แม้บุตรก็ใคร่จะเห็นมารดาเนืองๆ
    เพราะการเห็นกันเนืองๆ ของคนทั้งสองนั้น จึงมีความคลุกคลีกัน เมื่อมีความคลุกคลีกัน จึงมีความคุ้นเคยกัน เมื่อมีความคุ้นเคยกันจึงมีช่อง คนทั้งสองนั้นมีจิตได้ช่อง ไม่บอกคืนสิกขา ไม่เปิดเผยความท้อแท้ เสพเมถุนธรรมแล้ว”


@@@@@@

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย โมฆบุรุษนั้นย่อมสำคัญหรือหนอว่า ‘มารดาย่อมไม่กำหนัดในบุตร หรือบุตรย่อมไม่กำหนัดในมารดา’

    ๑. เราไม่เห็นรูปอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกิดความกำหนัด เกิดความใคร่ เกิดความมัวเมา เกิดความผูกพัน เกิดความหมกมุ่น ทำอันตราย แก่การบรรลุธรรมที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนรูปสตรีนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น พัวพันอยู่ในรูปสตรี ตกอยู่ใต้อำนาจรูปสตรี จึงเศร้าโศกตลอดกาลนาน
    ๒. เราไม่เห็นเสียงอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
    ๓. เราไม่เห็นกลิ่นอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
    ๔. เราไม่เห็นรสอื่นแม้อย่างหนึ่ง ...
    ๕. เราไม่เห็นโผฏฐัพพะอื่นแม้อย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นที่เกิดความกำหนัดเกิดความใคร่ เกิดความมัวเมา เกิดความผูกพัน เกิดความหมกมุ่น ทำอันตรายแก่การบรรลุธรรมที่เป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม เหมือนโผฏฐัพพะสตรีนี้เลย สัตว์ทั้งหลายกำหนัด ยินดี ติดใจ หมกมุ่น พัวพันอยู่ในโผฏฐัพพะสตรี ตกอยู่ในโผฏฐัพพะสตรี จึงเศร้าโศกตลอดกาลนาน

_______________________
(๑-) ไม่เปิดเผยความท้อแท้ (ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา) หมายถึง ไม่ประกาศความท้อแท้เบื่อหน่ายในการประพฤติ
พรหมจรรย์ ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๔๕-๕๔/๓๓-๔๒
(๒-) เมถุนธรรม หมายถึง การร่วมประเวณี การร่วมสังวาส กล่าวคือการเสพอสัทธรรมอันเป็นประเวณีของชาว
@บ้าน มีน้ำเป็นที่สุด เป็นกิจที่ทำในที่ลับ ต้องทำกันสองต่อสอง ดู วิ.มหา. (แปล) ๑/๕๕/๔๒


สตรีแม้เดินอยู่ก็ครอบงำจิตของบุรุษได้ แม้ยืนอยู่ ... แม้นั่งอยู่ แม้นอนอยู่ ...แม้หลับอยู่ ... แม้หัวเราะอยู่ ... แม้พูดอยู่ ... แม้ขับร้องอยู่ ... แม้ร้องไห้อยู่ ...แม้พองขึ้น ... แม้ตายแล้วก็ครอบงำจิตของบุรุษได้

ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดว่า ‘เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร’ เมื่อจะกล่าวให้ถูกก็พึงกล่าวถึงมาตุคาม(๑-) นั่นแลว่า ‘เป็นบ่วงรวบรัดแห่งมาร’

    "บุคคลสนทนากับเพชฌฆาตก็ดี สนทนากับปีศาจก็ดี ถูกต้องอสรพิษที่กัดแล้วตายก็ดี ก็ยังไม่ร้ายแรงเท่าการสนทนาสองต่อสองกับมาตุคามเลย"

______________________
(๑-) มาตุคาม หมายถึง หญิงมนุษย์ ไม่ใช่นางยักษ์ ไม่ใช่นางเปรต ไม่ใช่สัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย (วิ.มหา. (แปล) ๑/๒๗๑/๒๙๓)

     สตรีทั้งหลายย่อมผูกพันบุรุษผู้ลุ่มหลง ด้วยการมองดู การหัวเราะ การนุ่งห่มไม่เรียบร้อย และการพูดอ่อนหวาน มาตุคามนี้มิใช่จะผูกพันเพียงแค่นี้ แม้ตายไปแล้วพองขึ้น ก็ยังผูกพันได้ กามคุณ ๕ นี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ซึ่งน่ารื่นรมย์ใจ ย่อมปรากฏในรูปสตรี

     เหล่าชนผู้ถูกกาโมฆะ(ห้วงน้ำคือกาม) พัด ไม่กำหนดรู้กาม ย่อมมีกาล (แห่งวัฏฏะ) คติและภพน้อยภพใหญ่ในวัฏฏสงสารเป็นเบื้องหน้า
     ส่วนชนเหล่าใด กำหนดรู้กาม(๑-)เป็นผู้ไม่มีภัยแต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป ชนเหล่านั้นผู้บรรลุความสิ้นไปแห่งอาสวะเป็นผู้ถึงฝั่ง(๒-) ในโลก

__________________
(๑-) กำหนดรู้กาม ในที่นี้หมายถึงกำหนดรู้กามทั้งสอง คือ วัตถุกาม และกิเลสกาม ด้วยปริญญา ๓ คือ
        ๑) ญาตปริญญา กำหนดรู้ด้วยให้เป็นสิ่งอันรู้แล้ว,
        ๒) ตีรณปริญญา กำหนดรู้ด้วยการพิจารณา,
        ๓) ปหานปริญญา กำหนดรู้ด้วยการละ (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๕/๓๐)
(๒-) เป็นผู้ถึงฝั่ง ในที่นี้หมายถึงเป็นผู้บรรลุพระนิพพาน (องฺ.ปญฺจก.อ. ๓/๕๕/๓๐)



ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๒๒ หน้า : ๙๔-๙๗
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๒ ,พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๔ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=22&siri=55


 :25: :25:

อรรถกถามาตุปุตติกสูตรที่ ๕     
         
พึงทราบวินิจฉัยในมาตุปุตติกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
     บทว่า ปริยาทาย ติฏฺฐติ ความว่า ย่อมครอบงำคือยึดเอา ได้แก่ให้ส่ายไปตั้งอยู่.
     บทว่า อุคฺฆานิตา ได้แก่ พองขึ้น.
     บทว่า อสิหตฺเถน ความว่า แม้กับผู้ถือเอาดาบมา หมายตัดศีรษะ.
     บทว่า ปิสาเจน ความว่าแม้กับยักษ์ที่มาหมายจะกิน.
     บทว่า อาสทฺเท แปลว่า พึงแตะต้อง.
     บทว่า มญฺชุนา แปลว่า อันอ่อนโยน.
     บทว่า กาโมฆวุฬิหานํ คือ อันโอฆะคือกามพัดพาไปคร่าไป.
     บทว่า กาลํ คตึ ภวาภวํ คือ ซึ่งคติและการมีบ่อยๆ ตลอดกาลแห่งวัฏฏะ.
     บทว่า ปุรกฺขตา คือ ให้เที่ยวไปข้างหน้า ได้แก่กระทำไว้เบื้องหน้า.

     บทว่า เย จ กาเม ปริญฺญาย ความว่า ชนเหล่าใดเป็นบัณฑิตกำหนดรู้กามแม้ทั้งสองอย่าง ด้วยปริญญา ๓.
     บทว่า จรนฺติ อกุโตภยา ความว่า ขึ้นชื่อว่าความมีภัยแต่ที่ไหนๆ ไม่มีแก่พระขีณาสพทั้งหลาย เพราะฉะนั้น พระขีณาสพเหล่านั้นจึงหาภัยมิได้แต่ที่ไหนๆ เที่ยวไป.
     บทว่า ปารคตา ความว่า นิพพานท่านเรียกว่าฝั่ง. อธิบายว่า เข้าถึงนิพพานนั้น คือการทำให้แจ้งแล้วดำรงอยู่.
     บทว่า อาสวกฺขยํ ได้แก่ พระอรหัต. ในสูตรนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสวัฏฏะเท่านั้น ในคาถาทั้งหลายตรัสทั้งวัฏฏะและวิวัฏฏะ.


               จบอรรถกถามาตุปุตติกสูตรที่ ๕   




ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=55     
ขอบคุณภาพจาก : pinterest   
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 20, 2022, 09:49:27 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


๔. ภารทวาชสูตร ว่าด้วยพระปิณโฑลภารทวาชะ

[๑๒๗] สมัยหนึ่ง ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะอยู่ ณ โฆสิตาราม เขตกรุงโกสัมพี ครั้งนั้น พระเจ้าอุเทนเสด็จเข้าไปหาท่านพระปิณโฑลภารทวาชะถึงที่อยู่ได้ทรงสนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว ประทับนั่ง ณที่สมควร ได้ตรัสถามท่านพระปิณโฑลภารทวาชะดังนี้ว่า

    “ท่านภารทวาชะ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่นมีผมดำสนิท หนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน”

ท่านพระปิณโฑลภารทวาชะถวายพระพรว่า
    “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า
     ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงตั้งจิตไว้ในสตรีทั้งหลายคราวมารดาว่าเป็นมารดา ตั้งจิตไว้ในสตรีทั้งหลายคราวพี่สาวน้องสาวว่าเป็นพี่สาวน้องสาว ตั้งจิตไว้ในสตรีทั้งหลายคราวธิดาว่าเป็นธิดา’

นี้แลเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท หนุ่มแน่นอยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน”

    “ท่านภารทวาชะ จิตเป็นธรรมชาติโลเลนัก บางครั้งเกิดความโลภในสตรีทั้งหลายคราวมารดาบ้าง บางครั้งเกิดความโลภในสตรีทั้งหลายคราวพี่สาวน้องสาวบ้าง บางครั้งเกิดความโลภในสตรีทั้งหลายคราวธิดาบ้าง มีอยู่หรือ ท่านภารทวาชะ อย่างอื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน”
    “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า
         ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณากายนี้ขึ้นเบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป พิจารณาลงเบื้องล่างแต่ปลายผมลงมา มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการต่างๆ ว่า
        ‘ในร่างกายนี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ไต(๑-) หัวใจ ตับ พังผืด ม้าม(๒-) ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร(๓-)’
     แม้นี้แลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน”

______________________
(๑-) ไต แปลจากคำบาลีว่า วกฺก (โบราณแปลว่า ม้าม) ได้แก่ก้อนเนื้อ ๒ ก้อนมีขั้วเดียวกัน มีสีแดงอ่อน
เหมือนเมล็ดทองหลาง รูปร่างคล้ายลูกสะบ้าของเด็กๆ หรือคล้ายผลมะม่วง ๒ ผล ที่ติดอยู่ที่ขั้วเดียวกัน
มีเอ็นใหญ่รึงรัดจากลำคอลงไปถึงหัวใจแล้วแยกออกมาห้อยอยู่ทั้ง ๒ ข้าง (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๓),
     - พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๓๖๒ ให้บทนิยามของคำว่า “ไต” ว่า “อวัยวะคู่หนึ่งของคนและสัตว์ อยู่ในช่องท้องใกล้กระดูกสันหลัง ทำหน้าที่ขับของเสียออกมากับน้ำปัสสาวะ” ,
     - Buddhadatta,A.P. A Concise Pali-English Dictionary, 1985, (P. 224); และ Rhys David, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (P.591) ให้ความหมายของคำว่า วกฺก ตรงกัน หมายถึงไต (kidney)
(๒-) ม้าม แปลจากคำบาลีว่า ปิหก (โบราณแปลว่า ไต) มีสีเขียวเหมือนดอกคนทิสอแห้ง รูปร่างคล้ายลิ้นลูกโคดำ ยาวประมาณ ๗ นิ้ว อยู่ด้านบนติดกับหัวใจข้างซ้ายชิดพื้นท้องด้านบน (ขุ.ขุ.อ. ๓/๔๕),
     - พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ หน้า ๖๔๗ ให้บทนิยามของคำว่า “ม้าม” ไว้ว่า “อวัยวะภายในร่างกาย ริมกระเพาะอาหารข้างซ้าย มีหน้าที่ทำลายเม็ดเลือดแดง สร้างเม็ดน้ำเหลือง และสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย”
     - Buddhadatta, A.P. A Concise Pali-English Dictionary, 1985,(P.186); และ Rhys David, T.W. Pali-English Dictionary, 1921-1925, (P. 461) ให้ความหมายของคำว่า ปิหก ตรงกัน หมายถึงม้าม (spleen)
(๓-) มูตร หมายถึงน้ำปัสสาวะที่มีอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ (ขุ.ขุ.อ. ๓/๕๗)
             
     “ท่านภารทวาชะ ภิกษุเหล่าใดได้อบรมกาย อบรมศีล อบรมจิต อบรมปัญญาแล้ว การอบรมกายเป็นต้นนั้นไม่ใช่กิจที่ภิกษุเหล่านั้นจะทำได้ยาก
      ส่วนภิกษุเหล่าใดยังไม่ได้อบรมกาย ไม่ได้อบรมศีล ไม่ได้อบรมจิต ไม่ได้อบรมปัญญา การเจริญอสุภกัมมัฏฐานนั้นเป็นกิจที่ภิกษุเหล่านั้นทำได้ยาก บางครั้งเมื่อบุคคลตั้งใจว่า ‘เราจักใส่ใจโดยความเป็นของไม่งาม’ (แต่อารมณ์) กลับปรากฏโดยความเป็นของงามก็มี
      มีอยู่หรือ ท่านภารทวาชะ อย่างอื่นที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิท ฯลฯ และปฏิบัติอยู่ได้นาน”

     “ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสไว้ดังนี้ว่า
         ‘มาเถิด ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่เถิด เธอทั้งหลายเห็นรูปทางตาแล้วอย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌา และโทมนัสครอบงำได้ จงรักษาจักขุนทรีย์ ถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ ฟังเสียงทางหู ฯลฯ ดมกลิ่นทางจมูก ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ ถูกต้องโผฏฐัพพะทางกาย ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจแล้วอย่ารวบถือ อย่าแยกถือ จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ซึ่งเมื่อไม่สำรวมแล้วจะเป็นเหตุให้ถูกธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสครอบงำได้ จงรักษามนินทรีย์ ถึงความสำรวมในมนินทรีย์’
      แม้นี้แลก็เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุหนุ่มเหล่านี้ผู้แรกรุ่น มีผมดำสนิทหนุ่มแน่น อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน”

    “ท่านภารทวาชะ น่าอัศจรรย์จริง ไม่เคยปรากฏ พระผู้มีพระภาคผู้ทรงรู้ทรงเห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นตรัสเรื่องนี้ไว้ดียิ่งนัก อยู่ในปฐมวัย ยังไม่หมดความร่าเริงในกามทั้งหลาย ประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
     สมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง ไม่ได้รักษากาย วาจา ใจ ไม่ตั้งสติไว้มั่น ไม่สำรวมอินทรีย์ เข้าไปภายในวัง สมัยนั้น ความโลภก็ครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก แต่สมัยใดข้าพเจ้าได้รักษากาย วาจา ใจ ตั้งสติไว้มั่น สำรวมอินทรีย์เข้าไปภายในวัง สมัยนั้น ความโลภก็ไม่ครอบงำข้าพเจ้า

     ท่านภารทวาชะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านภารทวาชะ ภาษิตของท่านชัดเจนไพเราะยิ่งนัก ท่านภารทวาชะประกาศธรรมแจ่มแจ้งโดยประการต่างๆ เปรียบเหมือนบุคคลหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่ผู้หลงทาง หรือตามประทีปในที่มืดด้วยตั้งใจว่า ‘คนมีตาดีจักเห็นรูปได้’
     ท่านภารทวาชะ ข้าพเจ้านี้ขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ขอท่านภารทวาชะจงจำข้าพเจ้าว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนตลอดชีวิต”


             ภารทวาชสูตรที่ ๔ จบ




ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : ๑๘ หน้า : ๑๕๒-๑๕๔
พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๘ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๐ [ฉบับมหาจุฬาฯ] สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค
https://84000.org/tipitaka/pitaka_item/sutta_item.php?book=18&item=195
ขอบคุณภาพจาก pinterest



อรรถกถาภารทวาชสูตรที่ ๔    
           
ในภารทวาชสูตรที่ ๔ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

     ภิกษุนั้นชื่อว่า ปิณโฑละ เพราะบวชเสาะแสวงหาก้อนข้าว.
     ได้ยินว่า ท่านเป็นพราหมณ์ผู้สิ้นเนื้อประดาตัว. ทีนั้น เขาเห็นลาภและสักการะของภิกษุสงฆ์ จึงออกบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว. ท่านถือเอาบาตรภาชนะขนาดใหญ่เที่ยวขอเขาไป. เพราะเหตุนั้น ท่านดื่มข้าวยาคูเต็มภาชนะ เคี้ยวกินขนมเต็มภาชนะ บริโภคข้าวเต็มภาชนะ.

     ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลความที่ท่านฉันจุ แด่พระศาสดา.
     พระศาสดาไม่ทรงอนุญาตถุงบาตรแก่ท่าน คว่ำบาตรวางไว้ใต้เตียง. ท่านแม้เมื่อจะวางก็ครูดวางส่งๆ ไป แม้เมื่อจะถือเอาก็ครูดลากมาถือไว้. บาตรนั้นเมื่อกาลล่วงไปๆ กร่อนไปด้วยการถูกครูด รับของได้เพียงข้าวสุกทะนานเดียวเท่านั้น.

      ลำดับนั้น ภิกษุทั้งหลายกราบทูลแด่พระศาสดา. ต่อมา พระศาสดาทรงอนุญาตถุงบาตรแก่ท่าน. สมัยต่อมา พระเถระเจริญอินทรีย์ภาวนา ดำรงอยู่ในพระอรหัตอันเป็นผลเลิศ. ดังนั้น ท่านจึงชื่อ ปิณโฑละ เพราะบวชเพื่อต้องการก้อนข้าว แต่โดยโคตร ชื่อว่า ภารทวาชะ เหตุนั้น รวมชื่อทั้งสองเข้าด้วยกันจึงเรียกว่าปิณโฑลภารทวาชะ ดังนี้.

      บทว่า อุปสงฺกมิ ความว่า อันมหาอำมาตย์ผู้มีชื่อเสียงกำจรกำจาย แวดล้อมเข้าไปหา.
      ได้ยินว่า วันหนึ่ง พระเถระเที่ยวบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เสร็จภัตกิจแล้ว คิดว่าในฤดูร้อน จักนั่งพักกลางวันในที่เย็นๆ จึงเหาะเที่ยวไปในพระราชอุทยาน ชื่อว่า อุทกัฏฐาน ของพระเจ้าอุเทน ณ ริมฝั่งแม่น้ำคงคา นั่งพักกลางวันที่โคนต้นไม้แห่งหนึ่ง ถูกลมผสมน้ำที่เย็นโชยมา.

      @@@@@@@

      ฝ่ายพระเจ้าอุเทนทรงดื่มมหาปานะ (สุรา?) ตลอด ๗ วัน ในวันที่ ๗ ทรงรับสั่งให้ตกแต่งพระราชอุทยาน มีชนกลุ่มใหญ่แวดล้อม เสด็จไปพระราชอุทยาน ทรงบรรทมบนพระแท่นบรรทมที่ลาดไว้ไต้ต้นไม้แห่งหนึ่ง บนหลังแผ่นหินอันเป็นมงคล. บาทปริจาริกานางบำเรอคนหนึ่งของพระองค์ นั่งนวดฟั้นพระบาทอยู่. พระราชาเสด็จสู่นิทรารมณ์ด้วยการนวดฟั้น.
      เมื่อบรรทมหลับ เหล่าหญิงร้องรำทั้งหลายคิดว่า เราบรรเลงเพลงขับกล่อมเป็นต้น เพื่อประโยชน์แก่พระราชาพระองค์ใด พระราชาพระองค์ก็บรรทมหลับแล้ว ในเวลาพระองค์บรรทมหลับ ควรเราจะทำความหรรษากัน. จึงวางเครื่องดนตรีของตนๆ เข้าไปยังอุทยาน.

      หญิงเหล่านั้นเที่ยวกินผลไม้น้อยใหญ่ ประดับดอกไม้อยู่ เห็นพระเถระ ต่างห้ามกันและกันว่า อย่าทำเสียงเอ็ดไปแล้วนั่งลงไหว้. พระเถระแสดงธรรมกถาแก่หญิงเหล่านั้น โดยนัยว่า พวกเธอพึงละความริษยา พึงบรรเทาความตระหนี่เป็นต้น
      หญิงบาทปริจาริกาผู้นั่งนวดฟั้นพระบาทของพระราชานั้นอยู่ ก็เขย่าพระบาทปลุกพระราชา.
      พระราชาตรัสถามว่า หญิงเหล่านั้นไปไหน.
      หญิงนั้นทูลว่า พระองค์จะมีพระราชประสงค์อะไรด้วยหญิงเหล่านั้น หญิงร้องรำเหล่านั้นนั่งล้อมพระสมณะองค์หนึ่ง.
      พระราชาทรงพระพิโรธ เหมือนเกลือใส่เตาไฟ กระทืบพระบาท ทรงพระดำริว่า เราจะให้มดแดงกัดสมณะนั้น จึงเสด็จไป เห็นรังมดแดงบนต้นอโสก ทรงเอาพระหัตถ์กระชากลงมา แต่ไม่อาจจับกิ่งไม้ได้ รังมดแดงขาดตกลงบนพระเศียรพระราชา. ทั้งพระวรกายได้เป็นเสมือนเกลื่อนไปด้วยแกลบข้าวสาลี และเป็นเสมือนถูกประทีปด้ามเผาเอา.

      @@@@@@@

      พระเถระทราบว่า พระราชากริ้ว จึงเหาะไปด้วยฤทธิ์.
      หญิงแม้เหล่านั้นลุกขึ้นไปใกล้ๆ พระราชา ทำทีเช็ดพระวรกาย จับมดแดงที่ตกลงๆ ที่ภาคพื้น โยนไปบนที่พระวรกาย และเอาหอกคือปากแทงมดดำมดแดงเหล่านั้นว่า นี้อะไรกัน พระราชาเหล่าอื่นเห็นบรรพชิตทั้งหลายแล้วไหว้ แต่พระราชาพระองค์นี้ทรงประสงค์จะทำลาย มดแดงบนศีรษะ.
               
      พระราชาทรงเห็นความผิด จึงรับสั่งให้เรียกคนเฝ้าสวนมาตรัสถามว่า บรรพชิตนี้ แม้ในวันอื่นๆ มาในที่หรือ. คนเฝ้าพระราชอุทยานกราบทูลว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
      พระราชาตรัสว่า ในวันที่ท่านมาในที่นี้ เจ้าพึงบอกเรา.
      ๒-๓ วันเท่านั้น แม้พระเถระก็มานั่งที่โคนไม้. คนเฝ้าพระราชอุทยานเห็นเข้า คิดว่านี้เป็นบรรณาการใหญของเรา จึงรีบไปกราบทูลพระราชา.
      พระราชาเสด็จลุกขึ้น ทรงห้ามเสียงสังข์และบัณเฑาะว์เป็นต้น ได้เสด็จไปยังพระราชอุทยาน พร้อมด้วยอำมาตย์ผู้มีชื่อเสียงกำจรกำจาย. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อุปสงฺกมิตฺวา.

      บทว่า อนิกีฬิตาวิโน กาเมสุ ความว่า ความเล่นสำเริงใดในกามทั้งหลาย ผู้มีระดูมิได้สำเริงนั้น. อธิบายว่า ไม่ประสงค์บริโภคกาม.
      บทว่า อทฺธานญฺจ อาปาเทนฺติ ความว่า ถือประเพณีประพฤติตามประเพณีมานาน.
      บทว่า มาตุมตฺตีสุ แปลว่า ปูนมารดา.
      จริงอยู่ คำทั้งหลายนี้ คือมารดา พี่สาว ลูกสาว เป็นอารมณ์หนักในโลก.
      พระเถระ เมื่อแสดงว่าบุคคลชำระจิตที่ผูกพันด้วยอารมณ์อันหนักไม่ได้ จึงกล่าวอย่างนั้นด้วยประการฉะนี้. ลำดับนั้น พระเถระเห็นจิตของท้าวเธอไม่ทรงหยั่งลงโดยสัญญานั้น จึงกล่าวกัมมัฏฐานคืออาการ ๓๒ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเพื่อผูกจิตไว้ด้วยอำนาจมนสิการปฏิกูลสัญญา (ใส่ใจด้วยสำคัญว่าเป็นของปฏิกูล)

      @@@@@@@

      บทว่า อภาวิตกายา ได้แก่ ผู้มีกายอันเป็นไปในทวาร ๕ ยังมิได้อบรม.
      บทว่า เตสํ ตํ ทุกฺกรํ โหติ ความว่า อสุภกรรมฐานของผู้ที่ไม่ได้อบรมกายเหล่านั้น เป็นของทำได้ยาก.
      พระเถระ เมื่อเห็นจิตของท้าวเธอที่ไม่หยั่งลงด้วยกรรมฐานแล้วนี้ จึงแสดงอินทรียสังวรศีลแก่ท้าวเธอด้วยประการฉะนี้. จริงอยู่ พระเจ้าอุเทนย่อมยังชำระจิตที่เข้าไปผูกไว้ในอินทรีย์สังวรไม่ได้. พระเจ้าอุเทนทรงสดับข้อนั้น เป็นผู้มีจิตหยั่งลงในกรรมฐานนั้น จึงตรัสคำมีอาทิว่า อจฺฉริยํ โภ ภารทฺวาช ท่านภารทวาชะ อัศจรรย์จริง.
               
      พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า อรกฺขิเตเนว กาเยน เป็นต้นดังต่อไปนี้ :-
      เมื่อคะนองมือคะนองเท้า เอี้ยวคอไปมาชื่อว่าไม่รักษากาย. เมื่อกล่าวคำชั่วหยาบมีประการต่างๆ ชื่อว่าไม่รักษาอาจาระ. เมื่อตรึกถึงกามวิตกเป็นต้น ชื่อว่าไม่รักษาจิต. พึงทราบความโดยปริยายดังกล่าวแล้ว ในคำว่า รกฺขิเตเนว กาเยน เป็นต้น.

      บทว่า อติวิย มํ ตสฺมึ สมเย โลภธมฺมา ปริสหนฺติ ความว่า ในสมัยนั้น ความโลภย่อมละเมิดครอบงำข้าพเจ้า.
      บทว่า อุปฏฺฐิตาย สติยา ได้แก่ มีกายคตาสติ สติอันไปแล้วในกายตั้งมั่นแล้ว.
      บทว่า น มํ ตถา ตสฺมึ สมเย ความว่า ความโลภย่อมละเมิดเรา เกิดขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน.
      บทว่า ปริสหนฺติ ความว่า ย่อมเกิดนั่นแล.

      ดังนั้น พระเถระจึงกล่าวกาย ๓ ไว้ในพระสูตรนี้.
      จริงอยู่ ในคำว่า อิมเมว กายํ นี้ ท่านกล่าวถึ งกรัชกาย.
      ในคำว่า ภาวิตกาโย นี้ กล่าวถึงกายที่เป็นไปในทวาร ๕.
      ในคำว่า รกฺขิเตเนว กาเยน นี้ ได้แก่ โจปนกาย กายไหวกาย. อธิบายว่า กายวิญญัติทำให้เขารู้ด้วยกาย.


               จบอรรถกถาภารทวาชสูตรที่ ๔




ที่มา : https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=195
ขอบคุณภาพจาก pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 16, 2022, 10:58:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ