ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: น้ำ ดิน ไฟ ลม ดำรงอยู่ไม่ได้ในที่ใด ที่นั่นอาสวะย่อมหยุดไหล ที่นั่นวัฏฏะย่อมหยุด  (อ่าน 531 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




สรสูตร ว่าด้วยการไหลแห่งอาสวะ

”ทั้งธาตุน้ำ ทั้งธาตุดิน ทั้งธาตุไฟ ทั้งธาตุลม ดำรงอยู่ไม่ได้ในที่ใด ที่นั่นอาสวะย่อมหยุดไหล ที่นั่นวัฏฏะย่อมหยุดหมุน ที่นั่นทั้งนามทั้งรูปย่อมดับไม่มีเหลือแล.”



สรสูตรเป็นสูตรในสังกัดสังยุตตนิกาย สคาถวรรค(หมวดที่มีเนื้อหาเป็นคาถา) (วรรคในความหมายว่าหมวด) ซึ่งมี 11 สังยุต คือ
   1. เทวตาสังยุต, 2. เทวปุตตสังยุต, 3. โกสลสังยุต, 4. มารสังยุต, 5. ภิกขุนีสังยุต,
   6. พรหมสังยุต, 7. พราหมณ์สังยุต, 8. วังคีสสังยุต, 9. วนสังยุต, 10. ยักขสังยุต, 11. สักกสังยุต

ซึ่งสรสูตรจัดอยู่ในเทวตาสังยุต(สูตรที่เกี่ยวข้องกับเทวดา) ในกลุ่ม(วรรคในความหมายว่ากลุ่ม) ที่มีอาการไหลเอิบอาบ, ซัดพุ่ง, ถากถาง ที่เป็นอาการเคลื่อนไหวประจำสิ่งนั้น เช่น อาสวะก็ไหลเอิบอาบ, หอกก็ซัดพุ่ง, เป็นต้น จึงจัดเข้าเป็นกลุ่มที่มีอาการเคลื่อนไหวประจำของสิ่งนั้นเหมือนหอก(สัตติวรรค)

ดังนั้นพระสูตรในสคาถวรรค ซึ่งมี 271 สูตร จึงโดดเด่นในฐานะเป็นองค์คาถาที่เป็นองค์หนึ่งในวังคสัตถ่สาสน์(ประเภทคำสอนมีองค์ 9) ที่เนื้อหาสูตรหนาแน่นละเอียดสุขมลึกซึ้งคัมภีรภาพ แต่ก็กระชับรัดกุมไม่ตกหล่นด้วยความเป็นคาถานั่นเอง ตัวอย่างเช่น คาถาในคัมภีร์วิสุทธิมรรคซึ่งเป็นหมวดสคาถวรรคในกลุ่มสัตติวรรค เช่นเดียวกันกับสรสูตร คือ ชฏาสูตร(สูตรว่าด้วยการถากถางความรกชัด) คือ คาถา

     ”สีเล ปติฏฺฐาย นโร สปญฺโญ  จิตฺตํ ปญฺญญฺจ ภาวยํ
      อาตาปี นิปโก ภิกขุ โส อิมํ วิชฏเย ชฏํ.”
      แปลว่า ”นรผู้มีปัญญา ตั้งอยู่ในศีลแล้วเจริญจิต(สมาธิ)และปัญญาอยู่เป็นผู้มีความเพียร มีความฉลาด เป็นภิกษุ(ผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร) เขานั้นจะพึงถางชัฎนี้ได้”


@@@@@@@

ด้วยพระเทศนาเพียงคาถาเดียวนี้ ก็เป็นอันว่าพระผู้มีพระภาคทรงประกาศคุณ 9 ประการดังนี้ คือ

    1. ทรงประกาศ สิกขา 3 คือ อธิศีลสิกขา, อธิจิตสิกขา(สมาธิ), อธิปัญญาสิกขา
    2. ทรงประกาศพระศาสนาอันมีความงาม 3 ประการ คือ งามในเบื้องต้นด้วยศีล, งามในท่ามกลางด้วยสมาธิ, งามในเบื้องปลายด้วยปัญญา
    3. ทรงประกาศอุปนิสัยแห่งความเป็นบุคคลผู้ได้คุณวิเศษ คือ วิชชา 3 มี ปุพเพนิวาสาวิชชา จุตูปปาตวิชชา, อาสวักขยวิชชา ด้วยศีลสมบัติ คือ อภิญญา 6 ด้วยสมาธิสมบัติ คือ ปฏิสัมภิทา 4 ด้วยปัญญาสมบัติ
    4. ทรงประกาศ การละเว้นส่วนสุดทั้ง 2 คือ กามสุขัลลิกานุโยค ด้วยศีล อัตตกิลมถานุโยค ด้วยสมาธิ และการเสพข้อปฏิบัติอันเป็นสายกลาง ด้วยปัญญา
    5. ทรงประกาศอุบายก้าวล่วงภพ คือ อบายภพ ด้วยศีล, กามภพ ด้วยสมธิ, ภพทั้งปวง ด้วยปัญญา
    6. ทรงประกาศ การละกิเลสโดยอาการ 3 คือ เป็นตทังคปหานด้วยศีล, เป็นวิกขัมภนปหานด้วยสมาธิ, เป็นสมุจเฉทปหานด้วยปัญญา
    7. ทรงประกาศ ธรรมอันเป็นปฏิปักษ์(คู่อริ)กับประเภทกิเลส คือ วีติกกมกิเลส(กิเลสประเภทก้าวล่วงทางกายและทางวาจา เป็นคู่อริกับศีล, ปริยุฏฐานกิเลส(กิเลสประเภทกลุ้มรุมจิต) เป็นคู่อริกับสมาธิ, อนุสัยกิเลส(กิเลสประเภทนอนเนื่องในขันธสันดาน) เป็นคู่อริกับปัญญา
    8. ทรงประกาศ การชำระสังกิเลส(ความเปรอะเปี้ยนที่ทำให้คุณธรรมเสียหาย คือทุจริต ด้วยศีล, คือตัณหาด้วยสมาธิ, คือทิฏฐิ ด้วยปัญญา
    9. ทรงประกาศ เหตุแห่งความเป็นพระอริยบุคคล คือ พระโสดาบันบุคคล เป็นผู้กระทำศีลให้บริบูรณ์, พระสกทาคามีบุคคล เป็นผูักระทำกิเลสที่อนาคามีมรรคพึงละให้เบาบาง, พระอนาคามีบุคคลเป็นผู้กระทำสมาธิให้บริบูรณ์, พระอรหันตบุคคล เป็นผู้กระทำปัญญาให้บริบูรณ์

@@@@@@@

ก็ด้วยเนื้อหาในชฏาสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศคุณ 9 ประการของคุณธรรมมี ศีล สมาธิ ปัญญาดังกล่าวนั้นนั่นแหละ ที่พระพุทธโฆษาจารย์นำมาอาศัยเป็นหลักรจนาคัมภีร์วิสุทธิมรรค แม้นเนื้อหาในสรสูตรที่พระผู้มีพระภาคทรงประกาศคุณของพระนิพพานตามที่ทรงจำแนกโดยปริยายเหตุ(เหตุเกิดขึ้นตามลำดับ)(ปริยาย=ลำดับ อภิธาน 429) ดังนี้

    1. สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานธาตุที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ ที่ดับแต่กิเลสเท่านั้น ยังไม่ดับขันธ์ จึงเป็นนิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า กิเลสนิพพาน(นิพพานที่ดับกิเลส)
    2. อนุปาทิเสสนิพพาน เป็นนิพพานธาตุที่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะ ที่ดับขันธ์ได้หมดสิ้น จึงเป็นนิพพานของพระอรหันต์ผู้ถึงคราวกระทำกาลกิริยา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ขันธปรินิพพาน(นิพพานที่ดับขันธ์) นิพพานธาตุทั้งสองนี้นั่นเองที่แสดงปริยายเหตุ ที่ทรงประกาศไว้แล้วในสรสูตร ในเนื้อหาของคาถาว่าดังนี้

    เมื่อเทวดาทูลถามว่า
   ”กุโต สรา นิวตฺตนฺติ    กตฺถ วฏฺฏํ น วตฺตติ
    กตฺถ นามญฺจ รูปญฺจ   เอสํ อุปรุชฺฌตีติ.”
    แปลว่า ”อาสวะที่ไหลอยู่ ย่อมหยุดไหลได้ที่ไหน วัฏฏะย่อมไม่หมุนเวียนวนในที่ไหน ทั้งนามทั้งรูปเหล่านั้น ย่อมดับหมดสิ้นในที่ไหน“


    ทรงตรัสตอบว่า
   ”ยตฺถ อาโป จ ปฐวี   เตโช วาโย น คาธติ
    อโต สรา นิวตฺตนฺติ   เอตฺถ วฏฺฏํ น วตฺตติ
    เอตถ นามญฺจ รูปญฺจ   อเสสํ อุปรุชฺฌตีติ.”
    แปลว่า ”ทั้งธาตุน้ำ ทั้งธาตุดิน ทั้งธาตุไฟ ทั้งธาตุลม ดำรงอยู่ไม่ได้ในที่ใด ที่นั่นอาสวะย่อมหยุดไหล ที่นั่นวัฏฏะย่อมหยุดหมุน ที่นั่นทั้งนามทั้งรูปย่อมดับไม่มีเหลือแล.”


เพราะสรสูตรทรงแสดงเป็นนัยปริยายเหตุ จึงมีลำดับเหตุที่เนื่องกันดังนี้ คำทูลถามปัญหาของเทวดาเป็นเหตุที่พึงละด้วยสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ(กิเลสนิพพาน) ส่วนคำที่ทรงตรัสตอบเทวดา เป็นเหตุที่นำมาสื่งผลที่ควรได้ ด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ(ขันธนิพพาน) เมื่อทราบหลักการของปริยายเหตุแล้ว การหาองค์ธรรมในแต่ละประเด็น ทั้งในคำถาม ทั่้งในคำตอบก็จะสะดวกไม่สับสน เพราะมีสภาวะปริยายเหตุกำกับนั่นเอง






ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : อาจารย์สมเกียรติ  พลเดชอุดมคุณ
URL : dhamma.serichon.us/2022/05/03/สรสูตรสูตรที่ว่าด้วยกา/
Date : 3 พฤษภาคม 2022 ,By admin.
photo : pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ