ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "ศีล 5" ข้อห้ามที่ ขัดแย้งกับชีวิตจริง ของคนไทย  (อ่าน 194 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
ภาพจากปกหนังสือ “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย” (สนพ.มติชน)


"ศีล 5" ข้อห้ามที่ ขัดแย้งกับชีวิตจริง ของคนไทย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐอเมริกาทำความเข้าใจโลกในระหว่างและหลังสงคราม ด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ของสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักมานุษยวิทยาในระหว่างสงครามเพื่อเข้าใจมิตรและศัตรูของสหรัฐอเมริกา ทำให้แนวคิดทางวิชาการนี้เริ่มได้รับความนิยมในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐและผู้กำหนดนโยบาย หนึ่งในนักมานุษยวิทยาที่มีชื่อและผลงานทรงอิทธิพลก็คือ รูธ เบเนดิกต์

ผลงานชิ้นหนึ่งของ รูธ เบเนดิกต์ คือ “Thai Culture and Behavior” ฉบับแปลภาษาใช้ชื่อว่า “วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย” (สนพ.มติชน) ถือเป็นงานทางมานุษยวิทยาที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับประเทศไทย และเป็นแรงบันดาลใจให้นักมานุษยวิทยารุ่นต่อมานำไปเป็นรูปแบบการศึกษาสังคมไทย

@@@@@@@

ตอนหนึ่งในผลงานดังกล่าวของ รูธ เบเนเดิกต์ กล่าวถึง “ศีล 5” กับคนไทยไว้ว่า

1. ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนไทยถือปฏิบัติตามกฎข้อนี้อย่างคิดเข้าข้างตนเอง เช่น การรับประทานเนื้อสัตว์ ไม่ว่าใครที่สั่งให้คนจากตลาด หรือสั่งให้คนรับใช้ของตนไปตลาดเพื่อซื้อสัตว์ชนิดหนึ่งๆ หรือซื้อเนื้อสัตว์บางชนิดที่ผ่านการฆ่ามาแล้วล้วนแต่เป็นบาป แต่หากซื้อสัตว์หรือสัตว์ปีกที่ตายมาก่อนแล้วก็นับว่าไม่เป็นบาป (Alabaster: 60)

2. ไม่ลักทรัพย์ของผู้อื่น ในประเทศไทยมีการลักขโมยกันมาก “จำนวนขโมยขโจรนั้นมีมากจนน่ากลัว ในปี ค.ศ. 1903-1904 (พ.ศ. 2446-2447) มีรายงานว่า เพียงกรุงเทพฯ แห่งเดียวซึ่งมีจำนวนประชากรราว 750,000 คน มีคดีลักขโมยถึง 5,570 คดี ซึ่งนับเป็นจำนวนที่มากกว่าคดีลักขโมยของพม่าตอนใต้ทั้งหมดที่มีประชากรถึง 5 ล้านคน…” (P.A. Thompson: 69-70) ไม่มีผู้ให้ข้อมูลคนไหนอธิบายเหตุผลใด แต่มักกล่าวว่าเป็นเพราะความจน

3. ไม่ประพฤติผิดในกาม อลาบาสเตอร์ (P: 62) ได้สรุปคำพูดของนักวิจารณ์ไทยที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเกี่ยวกับศีลข้อนี้ไว้ว่า “สตรีผู้ซึ่งเป็นที่หวงแหนของผู้อื่น ได้แก่ ภรรยาและสตรีโสด ซึ่งมีสามีหรือญาติพี่น้องเป็นผู้ดูแลคุ้มครอง และสตรีที่มีคู่หมั้นหมาย ล้วนแล้วแต่เป็นสตรีที่ไม่เหมาะจะพึงปรารถนา แต่ในเมื่อ ‘ข้อคิดเห็นเหล่านี้เป็นเพียงความคิดเห็นที่ไม่มีใครมาถกเถียง’ จึงมีพวกชายโฉด ที่คิดว่าการผิดประเวณีไม่เป็นพิษภัยหากไม่มีผู้จับได้”

ประเด็นที่ควรพิจารณาก็คือ ทำไมศีลข้อนี้จึงวางฐานะบุรุษและสตรีไว้ต่างกัน และนี่คือเหตุผลว่าทำไม “การมีคู่ครองหลายคนในบุรุษจึงเป็นที่ยอมรับได้”

4. ไม่กล่าวเท็จ สุภาษิตและคำสอนต่างๆ ล้วนให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสัจธรรมของคนไทย สุภาษิตบางบทก็เป็นสำนวนที่ใช้ทั่วไป เช่น
    “สิ่งที่คนพูดกันนั้น ต้องเอา 5 หาร”
    “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น” (หมายถึง แม้คน 10 คนอาจพูดเท็จหรือพูดเกินความจริง ทางที่ดีต้องเห็นด้วยตาตนเอง)
นอกจากนี้ก็ยังมีสุภาษิตอื่นๆ ซึ่งอ้างถึงการพูดเกินความจริง เช่น “ลิ้นยาวจนตวัดถึงใบหู”

ซึ่งตามคำกล่าวของเลอ เมย์ หมายความว่า คน “สามารถบิดเบือนคำพูดและจับต้นชนปลายจนสามารถทำให้กลายเป็นเรื่องราวตามที่เขาต้องการได้ รัฐบุรุษอาวุโสผู้ปราดเปรื่องคนหนึ่งของไทยเคยกล่าวว่า การเป็นนักการทูตที่ดีนั้นต้องไม่เพียงแต่ต้องตวัดลิ้นถึงใบหูได้เท่านั้น แต่ยังต้องสามารถตวัดรอบให้ได้ถึง 7 รอบ” (Le May A: 164)

5. ไม่ดื่มของมึนเมา “คนส่วนมากไม่ค่อยถือศีลข้อนี้มากนัก ในงานรื่นเริง งานมงคลสมรส งานนักขัตฤกษ์ หากไม่มีเบียร์ เหล้า และเครื่องดองของเมาทั้งหลายก็จะถือว่าไม่ได้ฉลองกันอย่างเต็มที่ ร้านขายเหล้าถือเป็นส่วนหนึ่งประจำเมืองใหญ่ๆ ทีเดียว” (Landon: 151) ที่กล่าวนี้มิได้หมายความว่า การมึนเมาเป็นปัญหาสังคมในเมืองไทย การเมาเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย และโดยทั่วไปแล้วสังเกตได้ว่าไม่มีการห้ามดื่มของมึนเมาต่างๆ

@@@@@@@

ทว่า “หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจสังคมไทยได้ดีขึ้น หากจะมีประโยชน์อยู่บ้างก็ตรงที่ทำให้รู้ว่า ปัญญาชนชาวตะวันตกมีทัศนะต่อชนชาติที่ด้อยพัฒนาเช่นชาวไทยอย่างไร มีข้อน่าสังเกตว่าทัศนะเช่นนี้ช่างคล้ายกับทัศนะของอภิสิทธิ์ชนไทยที่มีต่อชาวนาชาวไร่เหลือเกิน” อานันท์ กาญจนพันธุ์ กล่าวไว้ใน “บทกล่าวนำ” ของหนังสือ วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูล : รูธ เบเนดิกต์-เขียน, พรรณี ฉัตรพลรักษ์-แปล. วัฒนธรรมและพฤติกรรมของไทย, สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่ 2 ธันวาคม 2564 (ฉบับปรับปรุงใหม่)
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 27 กันยายน พ.ศ.2565
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2565
website : https://www.silpa-mag.com/culture/article_82802
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 28, 2022, 06:20:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ