ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: 7 มหัศจรรย์ เมืองซะเร็น (สุรินทร์)  (อ่าน 249 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
7 มหัศจรรย์ เมืองซะเร็น (สุรินทร์)
« เมื่อ: กันยายน 30, 2022, 06:21:47 am »
0




7 มหัศจรรย์ เมืองซะเร็น (สุรินทร์)

“สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมงาม ประคำสวย ร่ำรวยปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม งามพร้อมวัฒนธรรม”


ยลถิ่นไทยที่มีกลิ่นอายคละคลุ้งไปกับวัฒนธรรมเขมร อารยธรรมโบราณจากเพื่อนบ้านที่สร้างเมืองให้มีเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในไทย กับการเดินทางเพื่อตามหา 7 ที่สุดความงดงามแห่งเมืองสุรินทร์

นวลจะพาทุกคนไปตามหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อในจังหวัดสุรินทร์ เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเขมรถิ่นไทย (สะเร็น) ตั้งอยู่ในดินแดนอีสานใต้ ที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์และภาษา ไม่ว่าจะเป็นเขมร กูย ลาว(ไทอีสาน) ทำให้ที่นี่มีวัฒนธรรมแบบผสมผสานทั้งทางวิถีชีวิต งานศิลปะ หัตถกรรม พร้อมกับเรื่องราวทางประวัติศาสตรที่รับรองว่าต้องร้องว้าวแน่นอนครับ



บนเส้นทางการค้าเส้นทางอันรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมโบราณ งานศิลปะโบราณบนปราสาทที่สร้างพร้อม ๆ กับนครวัด หนึ่งในมรดกโลก ฝีมืองานช่างและงานทอที่สืบทอดความปราณีตจากรุ่นสู่รุ่นนานหลายร้อยปี สัมผัสวิถีชีวิตของคน ธรรมชาติและช้าง ที่อยู่ร่วมกันอย่างแน่นแฟ้น เยือนแหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดในประเทศไทย การันตีด้วยรางวัลมากมาย จบทริปนี้ทำให้เรารู้ว่าสุรินทร์มีความงดงามซ่อนอยู่มากกว่าที่คิดจริง ๆ


มหัศจรรย์ ซะเร็น 1 : ผ้าไหมยกทองโบราณบ้านท่าสว่าง

‘ผ้าไหมยกทองโบราณ’ อีกหนึ่งความงดงามบนผืนผ้า ที่ได้รับการยกย่องว่าวิจิตรงดงามที่สุดในไทย ด้วยลวดลายที่สลับซับซ้อน มีกรรมวิธีการทอที่ละเมียดละไม ตั้งแต่การเลือกเส้นไหม ใช้เทคนิคการย้อมสีแบบพื้นบ้านอีสาน พร้อมลวดลายผสานระหว่างทอแบบราชสำนักและการทอผ้าแบบพื้นบ้าน เป็นเอกลัษณ์เฉพาะจนกลายเป็นสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่ได้รับความสนใจ ส่งขายไปยังศูนย์การค้าชั้นนำ และโด่งดังไปถึงต่างประเทศ



โดยผ้าไหมจันทร์โสมาและเครือข่าย เป็นเหมือนสถานที่ที่รวบรวมภูมิปัญญางานผ้าไหมยกทองที่สมบูรณ์ที่สุดอีกแห่งหนึ่ง โดยมี อ.วีรธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้รวบรวมคนในชุมชน ให้หันมาทำงานผ้าทอเพื่อเพิ่มรายได้ ในช่วงที่เว้นว่างจากการทำเกษตรกรรม


โดยที่บ้านจันทร์โสมาเราจะได้เห็นกรรมวิธีการทอผ้าไหมยกทอง เสมือนพิพิธภัณฑ์มีชีวิต ทั้งนี้ อ.วีรธรรม ก็ยังได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทอผ้าไหมยกทองโบราณ ให้กับชุมชนเช่น การผลิตไหม ย้อมด้วยสีธรรมชาติ การทำเส้นไหมทอง ที่เป็นหัวใจหลักของผ้ายกทอง เป็นการใช้เส้นไหมกะไหล่ทองปั่นควบกับเส้นไหม เพื่อให้เส้นทองไม่เปราะหักง่าย และสามารถสวมใส่ได้จริง เมื่อนำมายกดอกในลายผ้าก็จะเกิดความวิจิตรงดงาม โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ความพิเศษยังไม่หมดเท่านั้นในกระบวนการทอผ้ายกทองของที่นี่ ยังต้องใช้ตะกอมากถึง 1,400 ตะกอ ขึ้นอยู่กับความซับซ้อนของลาย จึงต้องใช้คนทอมากกว่า 4-5 คนต่อผืน (คัดลาย-ส่งลาย-ทอ) และด้วยความละเมียดในรายละเอียดนี้ทำให้ในหนึ่งวันสามารถทอได้เพียง 5-7 ซม.เท่านั้น ฉะนั้นการทอผ้าความยาว 2 เมตรจึงต้องใช้เวลาเกือบ 2 เดือนเลยทีเดียว นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้ราคาผ้าไหมยกทองของจันทร์โสมามีราคาสูง แต่สำหรับผู้ที่หลงเสน่ห์ และผู้ที่สะสมผ้าไทยแล้ว ถือว่าเป็นผ้าอีกผืนที่ควรค่าแก่การมีไว้เชยชม

พิกัด : https://goo.gl/maps/ddCSFZkDdeeJxj2E9

มหัศจรรย์ ซะเร็น 2 : ทับหลังศิวนาฏราช ปราสาทศีขรภูมิ

‘ปราสาทศีขรภูมิ’ อีกหนึ่งปราสาทที่มีความสมบูรณ์และงดงามมากจนทำเราต้องมนต์สะกดในศิลปะแห่งขอม ปราสาทที่ทำขึ้นจากหินทรายสีขาวแสนคุ้นตา 5 หลัง ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงยกพื้นสูงขนาดใหญ่ เป็นเทวสถานของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย รอบ ๆ เป็นสนามหญ้าเขียวขจี ตัดแต่งอย่างเป็นระเบียบทำให้ตัวปราสาทฉายเด่น แม้จะมีความผุพังไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความยิ่งใหญ่ พร้อมไฮไลต์ที่ซ่อนตัวให้เราเข้าไปค้นหาอีกเพียบ!



ขอเริ่มจากตัวปราสาทประธาน ที่อยู่ตรงกลางก่อนเลย เป็นปราสาทขนาดใหญ่ที่สุดความสูงประมาณ 32 เมตร โดดเด่นด้วยงานแกะสลักทับหลังที่ละเอียดและสมบูรณ์มากอีกแห่ง เป็นทับหลังปางศิวนาฏราช ที่วิจิตร และงดงามที่สุดในไทย เป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข, รูปพระคเณศ พระพรหม พระวิษณุ และนางปารพตี มีความงามกว่าทับหลังชิ้นใด ๆ ที่สลักเรื่องราวเดียวกันทั้งที่พบในประเทศไทยและประเทศกัมพูชา และที่พลาดไม่ได้เลยคือตรงบริเวณทับหลังมีรูปนางอัปสราถือดอกบัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายนางอัปสราที่นครวัด ของกัมพูชา เป็นศิลปะที่หาชมไม่ได้อีกแล้วในไทย


ส่วนปราสาทบริวาร ตั้งอยู่ทั้ง 4 มุม เมื่อมองออกมาจากปราสาทเราจะเห็นสระน้ำล้อมรอบอยู่ 3 ด้าน ตรงกับรูปแบบผังจำลองเขาพระสุเมรุ ศูนย์กลางของโลกและจักรวาล จากเรื่องราว สถาปัตยกรรม และศิลปะสันนิษฐานได้ว่าปราสาทแห่งนี้สร้างราวพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นช่วงเดียวกับนครวัด เพียงแต่วัสดุในการสร้างแตกต่างกันตรงที่ที่นี่ใช้อิฐ ส่วนนครวัดใช้หินทรายเท่านั้นเอง

พิกัด : https://goo.gl/maps/P6tApxb9TbgFRytW8

ศาลหลักเมืองสุรินทร์

เพิ่มความเป็นสิริมงคล เสริมวาสนาชีวิตกันอีกหน่อย ด้วยการมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านใจกลางเมืองสุรินทร์ ‘ศาลหลักเมืองจังหวัดสุรินทร์’ ที่สมโภชขึ้นเมื่อปี 2517 ด้วยศิลปะผสมระหว่างเขมรและไทยเข้าด้วยกัน ดูแปลกตากว่าศาลหลักเมืองอื่น ๆ ทำให้พื้นที่นี้กลายเป็นแหล่งรวมศรัทธาของคนทั้งเมือง ตรงตามเป้าหมายของการสร้างหลักเมือง เพื่อเป็นหลักแหล่งความสามัคคี สร้างความเจริญก้าวหน้า มีความร่มเย็นเป็นสุขนั่นเอง




ก่อนจะสร้างเป็นศาลหลักเมือง มีเรื่องเล่ากันว่า ถนนคอนกรีตแถบนี้อยู่ดี ๆ ก็มีรอยแยกและพื้นเริ่มถูกดันขึ้นจนรอยแยกเริ่มใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสำรวจพบใต้พื้นนั้นมีความร้อนขึ้นมา จึงมีการขุดและได้พบกับของขลังวัตถุโบราณ เครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่หลักร้อยปีจนไปถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ หรือราว ๆ 1,500-2,000 ปีเลยทีเดียว ซึ่งส่วนหนึ่งเขาได้ตั้งบูชาไว้ที่ศาลหลักเมืองด้วยเช่นกัน

พิกัด ; https://goo.gl/maps/L37Lr9rtf8WJcJYM6

มหัศจรรย์ ซะเร็น 3 : ตลาดนัดผ้าไหมเมืองสุรินทร์ (แบกะดิน)

ด้วยความที่สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าโฮลสุรินทร์ที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกสู่ตลาดและได้รับความนิยมมาตลอด ไฮไลต์ของทริปนี้นวลก็ไม่พลาดที่จะเปิดลายแทงแหล่งจัดผ้าไหมของนวล นั้นก็คือตลาดนัดผ้าไหมแบกะดิน หน้าศาลากลาง ที่แม่ ๆ จะขนเอาผ้าไหมทอมือจากผู้ผลิต ส่งตรงถึงผู้ซื้อ (ขอแอบบอกเลยว่าราคาถูกเหมือนซื้อจากหน้ากี่เลย) ต้องบอกว่าตลาดเปิดเฉพาะวันเสาร์ เวลา 05:00-13:00 น. อยากได้ของดีต้องไปตั้งแต่ตอนเปิดไฟฉายเหมาผ้ากันเลย



ด้วยความที่สุรินทร์เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ หรือผ้าโฮลสุรินทร์ที่เป็นเอกลักษณ์ จึงทำให้มีผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกสู่ตลาดและได้รับความนิยมมาตลอด ไฮไลต์ของทริปนี้นวลก็ไม่พลาดที่จะเปิดลายแทงแหล่งจัดผ้าไหมของนวล นั้นก็คือตลาดนัดผ้าไหมแบกะดิน หน้าศาลากลาง ที่แม่ ๆ จะขนเอาผ้าไหมทอมือจากผู้ผลิต ส่งตรงถึงผู้ซื้อ (ขอแอบบอกเลยว่าราคาถูกเหมือนซื้อจากหน้ากี่เลย) ต้องบอกว่าตลาดเปิดเฉพาะวันเสาร์ เวลา 05:00-13:00 น. อยากได้ของดีต้องไปตั้งแต่ตอนเปิดไฟฉายเหมาผ้ากันเลย


มหัศจรรย์ ซะเร็น 4 : หมู่บ้านหัตถกรรมเขวาสินรินทร์ ลูกปะเกือม และผ้าโฮลสุรินทร์

จากสายมูสู่งานฝีมือกันบ้างที่บ้านเขวาสินรินทร์ หมู่บ้านหัตถกรรมที่รวมความเป็นไทยและเขมรด้วยกันได้อย่างกลมกล่อม มีประวัติการอยู่ร่วมกันมานานนับร้อยปี จนเกิดเป็นงานฝีมือที่สุดในไทย ทั้ง ‘ผ้าโฮล’ ผ้าทอที่สืบทอดวิถีการทอผ้าเขมรโบราณแห่งเดียวในไทย และ ‘ลูกปะเกือม’ เครื่องเงินอันเป็นเอกลักษณ์ที่งดงามแปลกตา นอกจากชิ้นงานจะสวยสะกดแล้ว ขั้นตอนการทำยังทำเราประหลาดใจไปกับความเฉลียวฉลาด จากภูมิปัญญาชาวบ้านสมัยร้อยปีก่อนอีกด้วย



หลายคนอาจจะยังคิดภาพของ ‘ลูกปะเกือม’ ไม่ออก น้องเป็นภาษาเขมรซึ่งแปลว่าลูกประคำนั่นเอง ลักษณะจะเป็นเม็ดเงินและทองกลม ๆ ขนาดเล็ก มีทั้งรูปทรงและลวดลายที่หลากหลาย นิยมนำมาร้อยต่อกันเป็นเครื่องประดับ ความพิเศษของลูกปะเกือมที่นี่จะเป็นแบบทำมือทุกชิ้น เริ่มจากการนำแผ่นเงินบาง ๆ มาตีเป็นรูปต่าง ๆ และอัดใส่ครั่งที่มีลวดลายล้อมาจากธรรมชาติ อาทิ กลีบบัว ดอกพิกุล ทานตะวัน พระอาทิตย์ ส่วนรูปทรงมีทั้งถุงเงิน หมอนแปดเหลี่ยม มะเฟือง ตะกรุด ฯลฯ


เทคนิกการทำเครื่องเงินนี้เป็นภูมิปัญญาที่สืบสานมายาวนานกว่า 500 ปี จากบรรพบุรุษชาวเขมรผู้อพยพเข้ามานั่นเอง นอกจากลูกปะเกือมแล้วเขาก็มีงานเครื่องเงินรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ความบรรจงในการผลิตทุกชิ้น ตั้งแต่การตี เผา รีด การทำเงินให้เป็นเส้นเล็ก ๆ เพื่อดัดเป็นลวดลาย ทั้งหมดทำขึ้นด้วยมือและเครื่องมือสุดคลาสสิก พอมาดูเองกับตาแล้วรู้สึกว่าเป็นชิ้นงานที่ทรงคุณค่าจริง ๆ


อีกงานหัตถกรรมอันโด่งดังและเป็นหน้าเป็นตาของชาวสุรินทร์คือ ‘ผ้าโฮล’ ที่มาจากภาษาเขมร สำหรับเราจะเรียกว่าผ้าไหมมัดหมี่ โดยชาวบ้านสืบทอดเทคนิกการทอแบบเขรมจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่ง ณ ปัจจุบันคือรุ่นที่ 4 แล้ว แต่ยังคงไว้ซึ่งวิธีการทอผ้าแบบดั้งเดิม เน้นการมัดย้อมเส้นไหมเป็นสีสันด้วยหลักแม่สี ใช้สีจากธรรมชาติทั้งหมด อย่างสีแดงย้อมจากครั่ง สีน้ำเงินจากคราม สีเหลืองจากต้นมะพูดและแก่นเข โดยวิธีการมัด และย้อมแต่ละสีลงไปบนเส้นไหมทีละสีจนเกิดเป็นลวดลาย แล้วนำมาทอเป็นผืนผ้าที่งดงาม


ด้วยความที่เส้นไหมของผ้าโฮลมีขนาดเล็กใช้ความละเอียดในการทอ ทำให้ผ้ามีเนื้อแน่นเนียนเงางามและบางเบา จับแล้วรู้สึกได้ถึงความพริ้วสบาย มีการทอแบบแทรกเส้นพุ่งพิเศษ ด้วยผ้าไหมหางกระรอก สวยจนยกให้เป็นราชินีผ้าไหมของเมืองสุรินทร์ได้เลยทีเดียว ส่วนลวดลายก็ยังคงใช้ลายของรุ่นปู่ย่าที่สืบทอดกันมา ที่นิยมกันมากในเขมรจะเป็นลายกุหลาบพระตะบอง ถือเป็นเสน่ห์ของงานฝีมือที่ทำให้เรื่องราวในอดีตยังคงมีลมหายใจ


พิกัด : https://goo.gl/maps/p6jCH4JPwqjHGrkPA

เดินตลาดเช้าสัมผัสความงดงามของวิถีชีวิต




เวลามาเที่ยวต่างจังหวัดทีไร นวลเลือกที่จะตื่นแต่เช้าเพื่อออกมาเดินตลาดเช้า เหมือนเคยมีคนพูดกันว่า “หากอยากสัมผัสวิถีที่แท้จริง ให้ไปเดินตลาดจะรู้” ที่สำคัญคือเราจะได้ของกินอร่อยติดมือมาทานด้วยเสมอ

มหัศจรรย์ ซะเร็น 5 : คชอาณาจักร โลกของช้าง

ขี่ช้างไปโรงเรียน ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเมื่อเราได้มาอยู่ที่บ้านตากลาง จังหวัดสุรินทร์ เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของชาวเมืองสุรินทร์ ที่ทุกบ้านต้องมีช้างเป็นของตัวเอง จนเรียกได้ว่าเป็น ‘คชอาณาจักร’ หมู่บ้านช้างที่ใหญ่ที่สุดในไทย และที่สุดในโลก หากใครยังนึกภาพไม่ออกเราขอแนะนำให้มาที่ ‘โลกของช้าง จ.สุรินทร์’ (Elephant World)



ขอเกริ่นก่อนว่าการเลี้ยงช้างของชาวสุรินทร์ ไม่ได้มีไว้เพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก แต่ด้วยสายใยที่ผูกพันกันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี จากภูมิปัญญาของชาวกูยที่มีความชำนาญเรื่องการเลี้ยงและฝึกสอน
‘ช้าง’ ของเขาจึงเป็นทั้งสัตว์เลี้ยง เพื่อนเล่น ลูก หลาน และคนช่วยงาน เรียกได้อีกอย่างว่าเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวเลยจริง ๆ



แต่ด้วยความห่างไกลของพื้นที่และความเจริญของเมืองใหญ่ทำให้วัฒนธรรมนี้เริ่มถูกลืมเลือนไปทีละนิด ก่อนที่มันจะหายไปจึงมีการสร้างกลุ่มอาคาร ‘โลกของช้าง’ ขึ้นที่มีทั้งอาคารพิพิธภัณฑ์ หอชมวิวทิวทัศน์ และลานแสดงช้าง ให้เราได้เข้าชม


โดยทั้งพื้นที่จะใช้โทนสีส้มอิฐ ออกแบบคล้ายสถาปัตยกรรมแบบอียิปต์สอดแทรกความโมเดิร์น ใช้วัสดุที่สามารถเล่าความเป็นสุรินทร์ได้อย่างดี เช่น อิฐที่ใช้เป็นดินชุมพวง ลักษณะเป็นดินร่วนปนทราย สีออกน้ำตาลปนแดง ซึ่งเป็นลักษณะดินของจังหวัดนั่นเอง ขอดอกจันทร์แรง ๆ ว่าสาย architect ห้ามพลาดเพราะสวยทุกมุมมอง จนนวลว่าจัดเป็นแลนด์มาร์กประจำจังหวัดได้เลย




พิกัด : https://goo.gl/maps/72tmbaVmgJEjckcK8

มหัศจรรย์ ซะเร็น 6 : ข้าวหอม ผกาอำปึล

ข้าวหอมมะลิ ถือเป็นพันธุ์ข้าวที่อร่อยจนโด่งดังไปทั่วโลก จนมีหลายประเทศพัฒนาพันธุ์เพื่อนำไปปลูก แต่เราก็เชื่อว่าข้าวของจังหวัดสุรินทร์ก็ยังคงเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดอยู่ดี โลเคชั่นนี้เรามาที่ ‘ทุ่งกุลาร้องไห้’ แหล่งปลูกข้าวที่ดีที่สุดของประเทศไทย ด้วยสภาพดินที่ไม่สมบูรณ์เป็นลักษณะร่วนปนทรายเพาะปลูกยาก กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ข้าวสุรินทร์นี้อร่อยไม่เหมือนใคร โดยเราจะมาไขเคล็ดลับการปลูกข้าวกันที่ ‘แซตอม ออร์แกนิค ฟาร์ม’ (Satom Organic farm) ฟาร์มที่ให้ความรู้เรื่องข้าวแก่เราอย่างเต็มอิ่ม ทำให้เราเห็นคุณค่าของข้าวไทยมากยิ่งขึ้น และจะพาไปรู้จักกับข้าวหอมผกาอำปึล ที่เป็นพันธุ์ข้าวหอมที่มีปลูกในสุรินทร์แห่งเดียวในไทย และอร่อยกว่า มีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่าข้าวหอมมะลิขัดสีหลายเท่า



แซตอม มาจากภาษาเขมรแปลว่า ทุ่งนาข้างลำห้วย ซึ่งที่ฟาร์มแห่งนี้เน้นการปลูกข้าวหลากสายพันธุ์แบ่งเป็นระเบียบและเน้นคุณภาพอย่างแท้จริง มีทั้งข้าว105(ข้าวหอมมะลิขาว) ที่เรารู้จักกันดี / มะลิโกเมน(ข้าวหอมมะลิแดง) / มะลินิลสุรินทร์(ข้าวหอมมะลิดำ)ได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทข้าวเจ้าหน้าตาคล้ายข้าวไรซ์เบอร์รี่แต่รสชาติและระยะเวลาการปลูกแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ส่วนข้าวที่อร่อยที่สุดในประเทศไทย ณ เวลานี้คือ ข้าวหอมผกาอำปึล

ข้าวหอมผกาอำปึล เป็นข้าวเฉพาะถิ่นที่มีเปลือกเป็นสีดอกมะขาม รูปทรงคล้ายข้าวหอมมะลิ แต่เมื่อนำมาสีจะมีทรงที่เล็กและเรียวกว่า มีกลิ่นหอมและนุ่มกว่าข้าวชนิดอื่น ๆ มาก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ที่สุรินทร์ที่เดียวเท่านั้น

ข้าวอีกชนิดที่ไร่แซตอมได้รับรางวัลชนะเลิศจากกรมการข้าว คือข้าวเหนียวแดง โดยข้าวของเขาไม่ต้องแช่หรือนึ่งเหมือนข้าวเหนียวทั่วไป แค่หุงเหมือนข้าวปกติก็จะได้เนื้อข้าวที่ไม่ร่วนไม่เหนียวมาก มีความหนุบกำลังดี

อย่างที่บอกว่าเคล็ดลับของการปลูกข้าวในทุ่งกุลาร้องไห้มาจากดินที่ไม่สมบูรณ์ จากจุดด้อยกลายเป็นจุดเด่น ทำให้ข้าวหลั่งสารตัวเดียวกับใบเตยออกมา ข้าวของไร่นี้จึงมีกลิ่นหอมและนุ่มกว่าที่อื่น ส่วนข้อเสียคือปลูกได้ปริมาณน้อยทำให้มีราคาแพง แต่ถ้าเทียบกับคุณภาพแล้วก็ถือว่าคุ้ม



เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพี่แทน เจ้าของฟาร์มเขาบอกว่าความแตกต่างของข้าวเก่าและใหม่อยู่ที่ยาง ข้าวใหม่จะมียางเยอะกว่าทำให้นิ่มและหอมกลิ่นใบเตยมากกว่า และช่วงเวลาการเกี่ยวก็ส่งผลด้วยเช่นกัน อย่างข้าวหอมผกาอำปึลเขาจะเกี่ยวช่วงข้าวเขียวที่เหมาะกับนำมากิน ถ้าเลยจากระยะนั้นจะเหมาะกับการทำพันธุ์ นั่งฟังไปก็ทึ่งกับความเป็นมืออาชีพ ฉะนั้นใครอยากได้ข้าวที่ดีที่สุด เราขอแนะนำให้เลือกซื้อข้าวสุรินทร์เลยครับ

พี่แทนเป็นอีกหนึ่งของไอดอลผมเลย แกกลับมาบ้านเพราะแกบอกว่าเบื่อแล้วชีวิตที่ต้องคอยวิ่งตามคนอื่นเสมอในเมืองใหญ่ ขอกลับมาเป็นตัวเรา และคืนสิ่งดี ๆ สู่บ้านเกิด จึงเกิดเป็นแซตอม ออร์แกนิก ฟาร์ม จนถึงทุกวันนี้

พิกัด : https://goo.gl/maps/pFTwmytbtZiSY2Nf9

ติดต่อ : 061-165-1848 พี่แทน
FB : Satom Organic Farm : Surin

มหัศจรรย์ ซะเร็น 7 : กลุ่มปราสาทตาเมือน

สถานที่ที่บอกเล่าความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรขอม และเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อันสำคัญ ตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช เห็นถึงเส้นการเดินทางโบราณเชื่อมกลางระหว่างเมืองพระนครของกัมพูชา และชุมชนใหญ่ ๆ ในภาคอีสานของไทย อาทิ เขาพนมรุ้ง, เมืองพิมาย โดย ‘กลุ่มปราสาทตาเมือน’ เป็นกลุ่มโบราณสถานแบบขอม 3 หลังในพื้นที่ใกล้ ๆ กัน ประกอบด้วย เทวสถาน อโรคยาศาลา(สถานพยาบาล) และธรรมศาลา(ที่พักนักเดินทาง) ถือเป็นโบราณสถานแบบขอมที่สมบูรณ์ในที่สุดในประเทศไทย ด้านการอำนวยประโยชน์บนเส้นทางการเดินทางในสมัยโบราณ เลยก็ว่าได้ครับ



เรามาดูปราสาทที่เด่นสุดและอยู่ใกล้กับชายแดนไทย-เขมรมากที่สุดก่อน ‘ปราสาทตาเมือนธม’ คำว่า ธม เป็นภาษาเขมรแปลว่าใหญ่ ซึ่งก็ใหญ่ที่สุดในบรรดาทั้งหมดจริง ๆ ปราสาทหลังนี้เป็นเทวสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ภายในมีพระปรางค์อยู่ 3 องค์ สร้างด้วยหินทราย บนฐานศิลาแลง ปรางค์ประธานตรงกลางจะมีขนาดใหญ่สุด มีความแปลกตรงที่ตัวปราสาทหันไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่ตรงไปทางนครวัด ซึ่งส่วนใหญ่ปราสาทขอมโบราณจะหันไปทางทิศตะวันออก ถือเป็นอีกโบราณสถานที่หาดูได้ยากยิ่งในประเทศไทย

รอบ ๆ ปราสาทตาเมือนธมมีการขุดพบหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมาย โดยเฉพาะจารึกอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต ที่พบได้ทั้งฝั่งไทยและเขมร เกี่ยวกับการบูชาเทพเจ้า จึงกล่าวได้ว่าจุดนี้กลายเป็นศูนย์กลางความเชื่อ ความศรัทธาของคนในสมัยนั้น และภายในปรางค์ประธานยังมี ‘สวยัมภูลึงค์’ หินธรรมชาติรูปทรงคล้ายศิวลึงค์ ตั้งเด่นสง่าอยู่กลางโถง เป็นรูปแบบหินที่หาดูได้ยากมากและเชื่อว่ามีที่เดียวในประเทศไทย ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ไม่ควรพลาด



“ปราสาทตาเมือนโต๊ด” สร้างขึ้นเป็นอโรคยศาลา เป็นสถานพยาบาลของชุมชน และนักเดินทาง ลักษณะเป็นปราสาทเล็ก ๆ หนึ่งหลัง ล้อมรอบด้วยกำแพงศิลาแลง พร้อมสระน้ำโบราณขนาดเล็กอยู่ด้านหน้า เป็นสถานพยาบาลหลังสุดท้ายในเขตประเทศไทยที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็น 1 ใน 102 แห่งที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 สร้างเพื่อช่วยเหลือประชาชน

“ปราสาทตาเมือน” ด้วยขนาดที่เล็กที่สุดและมีลักษณะเป็นห้องแนวยาว จึงเชื่อว่าที่นี่เป็นธรรมศาลา ที่พักผ่อนของเหล่านักเดินทาง เป็นอีกหลังที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ผู้คน แสดงให้เห็นว่าพื้นที่เขตนี้เคยเป็นแหล่งชุมชน และเส้นทางการเดินทางของเส้นทางจากดินแดนเขมรโบราณเพื่อไปยังสุโขทัย และลพบุรี



พิกัด : https://goo.gl/maps/AJ1qKAzd1kdhDodq7

มากกว่าทั้ง 7 สิ่งมหัศจรรย์ที่เรานำมาเล่า หากต้องการสัมผัสประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครมากกว่านี้ เราขอแนะนำให้มาร่วมงานประจำปีอีก 2 งานที่เป็นหนึ่งเดียวในไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ ‘งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ จัดระหว่างวันที่ 9-20 พ.ย. 65 และการแสดงช้าง วันที่ 19-20 พ.ย.65’ และ ‘งานสืบสานตำนานพันปี ปราสาทศรีขรภูมิ’ เชื่อว่าในเวลาเพียง 3 วัน 2 คืน ทุกคนจะสามารถดื่มด่ำกับทุกสถานที่และกิจกรรมในจังหวัดสุรินทร์ ได้กลับไปพร้อมความทรงจำดี ๆ อย่างแน่นอน

ชมภาพทั้งหมดได้ที่ : https://www.sanook.com/travel/1434445/gallery/





Thank to : https://www.sanook.com/travel/1434445/
28 ก.ย. 65 (13:48 น.) , By Peeranut P.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ