ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: TKF Park พิพิธภัณฑ์พระเจ้าตากแห่งใหม่ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองระยองแบบ 4D  (อ่าน 197 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



TKF Park พิพิธภัณฑ์พระเจ้าตากแห่งใหม่ เรียนรู้ประวัติศาสตร์เมืองระยองแบบ 4D

ระยองเกี่ยวอะไรกับพระเจ้าตากและการสถาปนากรุงธนบุรี หาคำตอบได้ที่ TKF Park หรือชื่อทางการ อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งใหม่ใจกลางเมืองระยอง พิกัดติดกับวัดลุ่มมหาชัยชุมพล หรือที่รู้จักกันในนาม วัดลุ่ม (พระอารามหลวง) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 250 ปีการกู้กรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อ พ.ศ.2560

ซึ่งอันที่จริงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดทำการมาแล้วราว 3 ปี แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องปิดชั่วคราวจนกลับมาเปิดทำการอีกครั้งอย่างเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนพ.ศ. 2565 ถือว่าเป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับพระเจ้าตากสินแห่งเดียวในไทยที่ร้อยเรียงเรื่องของพระองค์อย่างละเอียดตั้งแต่อวสานอโยธยามาจนถึงการสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีใหม่ ที่สำคัญตัวพิพิธภัณฑ์จัดแสดงค่อนข้างทันสมัยเล่นได้ ถ่ายรูปได้ ให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในเนื้อหานิทรรศการ ไม่ใช่แค่โบราณวัตถุจัดวางแล้วเดินฟังตามคนบรรยายเท่านั้น



ภายในจัดแสดงนิทรรศการแบบถาวรซึ่งแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ชั้น 6 โซนตามรูปแบบของเนื้อหา ความน่าสนใจคือรูปแบบการจัดแสดงที่มีการใช้สื่อมัลติมีเดียเข้ามาเสริมทั้งภาพ แสง เสียงและไฮไลต์คือห้องจัดแสดงที่ 4 นำเสนอเนื้อหาในรูปแบบ 4D ให้ผู้ชมได้มีประสบการณ์ร่วมแบบเข้าใจง่ายผ่านทุกสัมผัส เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดระยองได้โดยไม่จำเป็นต้องอ่านเพียงอย่างเดียว



เข้าไปภายในชั้นแรกจะเจอกับร้านขายของที่ระลึกประจำพิพิธภัณฑ์ที่หากเดินเข้าไปโซนด้านในจะเจอกับนิทรรศการ “ถิ่นคนดีเมืองระยอง” เนื้อหาเกี่ยวกับความสำเร็จของชาวระยองในแวดวงต่าง ๆ ส่วนห้องแรกที่นำเสนอประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินในถิ่นเมืองระยอง พื้นที่ชัยภูมิที่เข้ามาตั้งฐานทัพอยู่นานกว่า 4 เดือนจะเริ่มต้นที่ชั้น 2 จากโซนที่ชื่อว่า “โหมโรงเจ้าตากสิน” ที่จะมีวิทยากรบรรยายอย่างกระชับเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับสงครามครั้งสำคัญ ก่อนพาเข้าสู่ห้องถัดไป



โซน 2 “อวสานสิ้นอโยธยา” จัดแสดงภาพจำลองของตลาดท่าประดู่ ร่วมกับจอฉายภาพยนตร์แบบเต็มผนัง ฉายเรื่องราวบทสนทนาของวีรชนคนระยองขณะมุ่งมั่นที่จะเข้าร่วมทัพพระยาตากในช่วงเวลาคับขัน ให้บรรยากาศกับผู้ชมเสมือนว่าอยู่ในเหตุการณ์ ต่อมามีการใช้ Graphic Animation Mapping เข้ามาฉายในจอทรงโค้งคล้ายกับกระดาษม้วนที่ถูกคลี่ออก เนื้อหาเป็นเรื่องราวการปะทะระหว่างทหารอังวะกับชุมนุมท้องถิ่น จุดนี้ใช้แอนิเมชันมาช่วยอธิบายกลยุทธ์การนำทัพของพระยาตากได้อย่างน่าสนใจ




เมื่อถึงโซน “ประกาศตนองค์ราชัน” มีการจัดห้องแบบจำลองให้ผู้ชมยืนตามจุดต่าง ๆ เสมือนว่ากำลังร่วมอยู่ในกองทัพ พร้อมการฉายภาพยนตร์บนจอแบบ 180 องศาซึ่งเป็นเหตุการณ์ขณะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเข้ามาปักหลักที่เมืองระยองและรวบรวมไพร่พลพร้อมวางยุทธศาสตร์ในการกู้อธิปไตยคืนจากทัพอังวะ โดยระหว่างการฉายจะมาพร้อมกับเทคนิค 4D พื้นสั่นสะเทือนและลมพายุเหมือนเหตุการณ์ในจอภาพขณะชม

ห้องนิทรรศการสุดท้ายเป็นการจำลองบรรยากาศของท้องพระโรงภายในพระราชวัง สมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้สถาปนากรุงธนบุรีขึ้นเป็นราชธานีแล้ว โดยพระบรมรูปจำลองขึ้นจากช่วงที่พระองค์มีพระชนมายุ 33 พรรษา ซึ่งตรงกับสมัยที่ทรงยกทัพมาเยือนเมืองระยอง ห้องนี้จึงมีชื่อว่า “สร้างเขตทัณฑ์กรุงธนบุรี” ตลอดการเข้าชมทั้ง 6 โซนที่ว่าจะมีวิทยากรนำชมและบรรยายประกอบ เฉลี่ยอยู่ที่รอบละ 45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง โดยเนื้อหาหลักของแต่ละจุดเน้นการนำเสนอผ่านสื่อวิดีโอและการจำลองบรรยากาศภายในซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการนำเสนอที่เรียกความสนใจได้อย่างดี

@@@@@@@@

Fact File

    - อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง ตั้งอยู่ติดกับวัดลุ่มมหาชัยชุมพล (วัดลุ่ม) ตำบลท่าประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง
    - เปิดทำการวันอังคาร-วันอาทิตย์ ปัจจุบันเปิดให้เข้าชมพร้อมวิทยากรวันละ 4 รอบ จำกัดรอบละ 40 คน เวลา 09.30-10.30 น. 11.00-12.00 น. 13.30-14.30 น. และ 15.00-16.00 น. (เข้าชมฟรี)
    - รายละเอียดเพิ่มเติม : www.facebook.com/kingtaksinthegreatrayong

ชมภาพทั้งหมดได้ที่ : https://www.sanook.com/travel/1434497/gallery/2768281/





Thank to : https://www.sanook.com/travel/1434497/
02 ต.ค. 65 (08:00 น.) , Sarakadeelite : สนับสนุนเนื้อหา
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ