ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ราชทินนามที่ 'สมเด็จพระญาณสังวร'  (อ่าน 2780 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด
ราชทินนามที่ 'สมเด็จพระญาณสังวร'
« เมื่อ: ธันวาคม 11, 2018, 09:38:06 am »


ราชทินนามที่ 'สมเด็จพระญาณสังวร'

"สมเด็จพระญาณสังวร" เป็นราชทินนามที่มีขึ้นครั้งแรกในสมัยพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โดยได้พระราชทานสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นรูปแรก

สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) หรือสมเด็จพระสังฆราช (สุก) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นี้ ปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า เดิมคือพระอธิการสุก อยู่วัดท่าหอย ริมคลองตะเคียน กรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก และทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช 

ครั้นพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1. เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว โปรดให้นิมนต์พระอธิการสุกมาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสี และทรงตั้งเป็นพระราชาคณะที่ "พระญาณสังวรเถร"  และเพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าแผ่นดิน จึงโปรดฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั้น เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว โปรดฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่ แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม ต่อมาในรัชกาลที่ 4 จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า "วัดราชสิทธาราม" ดังปรากฏสืบมาจนถึงปัจจุบันนี้


พระรูปปั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ณ วัดราชสิทธาราม


พระญาณสังวรเถร (สุก) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบรมราชวงศ์เป็นอันมาก ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์แต่คราวทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย, สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลในรัชกาลที่ 2, กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จพระอนุชาธิราชในรัชกาลที่ 1, และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1  นอกจากนี้ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้สถาปนาพระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร"  และต่อมา ในปี พ.ศ. 2363 ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราช

@@@@@@

เดิมพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 2 ทรงมีพระราชดำริที่่จะตั้งสมเด็จพระพนรัตน(อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช แต่มีโจทก์ฟ้องกล่าวอธิกรณ์สมเด็จพระพนรัตน(อาจ) ว่าชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาไม่สมควรแก่สมณะ ชำระได้ความเป็นสัตย์ อธิกรณ์ไม่ถึงเป็นปาราชิก จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระราชาคณะ และเนรเทศจากพระอารามหลวงไปอยู่วัดไทรทอง คือ วัดเบญจมบพิตรในปัจจุบัน 

ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่ เป็นพระอาจารย์และเป็นที่เคารพของพระบรมราชวงศ์ จึงโปรดให้แห่สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 12 ขึ้น 4 ค่ำ ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือน 1 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จ.ศ. 1182 พ.ศ. 2363 จึงทรงแต่งตั้งสมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช


พระรูปปั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดให้ปั้นขึ้น ประดิษฐาน ณ วัดราชสิทธาราม


ด้วยพระองค์ท่านมีคุณวิเศษในทางวิปัสสนา สามารถแผ่พรหมวิหารจนทำให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้ ชาวบ้านทั่วไปจึงรู้จักพระองค์์ท่านในนามว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน  กล่าวกันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี) วัดระฆัง ก็ได้เคยศึกษาเล่าเรียนวิปัสนาธุระและการสร้างวัตถุมงคลมาจากสมเด็จพระสังฆราช(สุก) รูปแบบของพระพิมพ์ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า "พระสมเด็จ" ซึ่งย่อมาจาก "พระสมเด็จพุฒาจารย์ (โต)" นั้น ได้แบบอย่างมาจากพระพิมพ์ที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงสร้างขึ้น

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆังโฆสิตาราม


เมื่อทรงได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชนั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เจริญพระชนมายุได้ 88 ปีแล้ว ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปีกับ 10 เดือน ก็สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. 2365 พระชนมายุได้ 90 พรรษา ต่อแต่นั้น ราชทินนามที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" ก็มิได้พระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดขึ้นอีกเลย

กระทั่งถึงปี พ.ศ. 2515 ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาพระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) หรือสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในกาลปัจจุบัน เป็นที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ 2 ในราชทินนามนี้


สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระัสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อครั้งทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระสาสนโสภณ


ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ "สมเด็จพระญาณสังวร" เป็นตำแหน่งพิเศษที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ  นับแต่ปี พ.ศ. 2365 ที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) สิ้นพระชนม์ ในรัชกาลที่ 2  จนถึงปี พ.ศ. 2515 ที่สถาปนาพระสาสนโสภณ (เจริญ สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร ในรัชกาลปัจจุบัน นับเป็นเวลา 150 ปี พอดี ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง 6 รัชกาลที่ว่างเว้นมิได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงถวายน้ำพระมหาสังข์ทักษิณาวัฏ แด่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก(สุวฑฺฒนมหาเถร) ในการพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระราชาคณะขึ้นดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร  21 เมษายน 2532


ต่อมาในปี พ.ศ. 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2532 นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช เสด็จสถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง ทรงเจริญพระชนมายุ วรรณ สุข พล ปฏิภาณ คุณสารสิริสวัสดิ์ จิรัฏฐิติ วิรุฬหิไพบูลย์ ในพระพุทธศาสนาเทอญ


พระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร ป.ธ.9)


สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงมีพระจริยวัตรงดงาม ทรงเป็น 'สังฆบิดร' ผู้ทรงมีพระเมตตาธรรมอันประเสริฐ สมดังพระนามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ อันมีความหมายดังต่อไปนี้

'สมเด็จพระญาณสังวร' - สมเด็จพระผู้มีสังวรธรรม มีธรรมเป็นเครื่องระวัง อันประกอบด้วยพระปรีชาญาณ
'บรมนริศรธรรมนีติภิบาล' - ทรงเป็นพระอภิบาลในการถวายแนะนำพระธรรม แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นใหญ่อย่างยิ่งในหมู่นรชน
'อริยวงศาคตญาณวิมล' - ผู้บริสุทธิ์ปราศมลทินด้วยพระญาณอันสืบมาแต่วงศ์ของพระอริยเจ้า

'สกลมหาสังฆปริณายก' - ทรงเป็นผู้นำพระสงฆ์หมู่ใหญ่ทั้งปวง
'ตรีปิฎกปริยัตติธาดา' - เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งพระปริยัติธรรม คือพระไตรปิฎก
'วิสุทธจริยาธิสมบัติ' - ทรงถึงพร้อมอย่างยิ่งด้วยพระจริยา ความประพฤติอันบริสุทธิ์วิเศษ

'สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต' - ปรากฏพระนามฉายาในทางพระสงฆ์ว่า 'สุวัฑฒนะ'
'ปาวจนุตตมพิสาร' - ทรงพระปรีชากว้างขวางในพระอุดมปาพจน์ คำอันเป็นประธานคือพระธรรมวินัยอันสูงสุด
'สุขุมธรรมวิธานธำรง' - เป็นผู้ทรงไว้ซึ่งธรรมวิธีอันละเอียดอ่อน

'วชิรญาณวงศวิวัฒ' - ทรงเจริญรอยตามสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
'พุทธบริษัทคารวสถาน' - ทรงเป็นที่ตั้งแห่งความเคารพของพุทธบริษัท
'วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ' - ทรงมีพระคุณอันเจริญด้วยพระปฏิภาณอันวิจิตร

'วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร' - ทรงงดงามด้วยพระศีลาจารวัตรอันไพบูลย์
'บวรธรรมบพิตร' - ทรงเป็นบพิตรทางพระธรรมอันประเสริฐ
'สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี' - ทรงเป็นประธานและอธิบดีผู้เป็นใหญ่เป็นอิสระของคณะสงฆ์ทั้งคามวาสี และอรัณยวาสี



อ้างอิง :-
- พระประวัติและพระนิพนธ์ สมเด็จพระอริยวงษญาณฯ พระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
- หนังสือชุดพระเกียรติคุณ สมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
- ตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร
ขอบคุณเว็บไซต์ : http://thaprajan.blogspot.com/2012/04/blog-post.html
เขียนโดย ท่าพระจันทร์ ที่ 16:10
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 11, 2018, 09:40:48 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ