ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำอย่างไร ถึงจะ "บำเพ็ญบารมี" ได้สำเร็จอย่างพระพุทธเจ้า.?  (อ่าน 503 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


ทำอย่างไร ถึงจะ "บำเพ็ญบารมี" ได้สำเร็จอย่างพระพุทธเจ้า.?

บำเพ็ญบารมี เป็นกิจของพระโพธิสัตว์ หรือ สัตว์ผู้ปรารถนาพระโพธิญาณ เพื่อที่จะได้มีพระปัญญาเข้าถึงความจริงของโลก เพื่อนำพาสรรพสัตว์ไปสู่ความหลุดพ้น หลายคนผู้ปรารถนาสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าก็หวังปฏิบัติเพื่อให้ได้สะสมบารมี

แม้แต่คุณธรรมที่ประพฤติปฏิบัติกันโดยทั่วไปก็ต้องระลึกไว้ว่า ไม่ใช่ทำนิด ๆ หน่อย ๆ ก็จะเห็นผล บางคนพอปฏิบัติธรรมสักอย่างไปนิดหน่อยก็นึกแต่จะเอาผล ชอบเรียกร้องว่าทำไมจึงยังไม่ให้ผล บางทีก็เกิดความท้อใจ แต่ที่แท้ตัวเองมิได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง

ยกตัวอย่างเช่น คนบางคนตั้งร้านค้าขึ้นมาร้านหนึ่ง ทำการค้าขายโดยสุจริต แต่ไม่ค่อยได้กำไร เกิดความรู้สึกว่าเมื่อค้าขายตรงไปตรงมาไม่ค่อยได้ผล ก็ชักจะท้อใจ

แต่ถ้าเขามีความมั่นคงในที่สุดคนรู้แพร่หลายกระจายกว้างขวางถึงระดับหนึ่ง คนทั่วไปก็เกิดมีความเชื่อถือ พอนึกถึงหรือพูดถึงคนนี้หรือร้านนี้แล้ว เขาก็รู้กันทั่วไปเข้าใจทันทีว่าเจ้านี้ละตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต จนกระทั่งถ้าเข้าร้านนี้แล้วไม่ต้องต่อราคาเลย อย่างนี้ก็เรียกว่าพอจะอยู่ในระดับเป็นบารมีได้ คือทำอย่างจริงจังและเป็นประจำสม่ำเสมอ มีความคงเส้นคงวาจนทำให้เกิดความเชื่อถือ

พูดง่าย ๆ ว่า บุคคลบางคนบำเพ็ญคุณธรรมบางอย่างเป็นประจำจนกระทั่งคุณธรรมนั้นปรากฏออกมาในกิริยาอาการลักษณะทั่วไป คนไหนเห็นแล้วก็รู้จักคนนั้นในลักษณะของคุณธรรมข้อนั้นไปเลย นี่เรียกว่าการบำเพ็ญในระดับที่เรียกว่าบารมี



ฉะนั้นให้เรานึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้ไม่ท้อใจ เพราะถ้าเราไม่มีตัวอย่าง เราก็จะท้อใจว่า ได้บำเพ็ญธรรมะข้อนี้ไปแล้ว ก็ยังไม่เห็นผลอะไร เลยท้อใจคิดว่าจะเลิก อย่าทำดีกว่า คนอื่นเขาไม่เห็นต้องลำบากอย่างนี้ บางคนทำไมไม่ดีกลับได้ผล ก็ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติก้าวหน้าไปได้

แต่นึกถึงพระพุทธเจ้าและมองไปตามพระประวัติของพระองค์จะได้คิดว่า บางครั้งพระองค์ทำความดีแล้วต้องประสบความทุกข์ ถูกคนอื่นข่มเหงรังแกเดือดร้อนมากมาย แต่พระองค์ก็ไม่เคยยอมท้อถอยเลย ประวัติของพระพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์เป็นแบบนี้มาก แต่พระองค์ก็ยืนหยัดในความดีนั้น จนประสบความสำเร็จจากการทำความดีของตนเอง แต่ต้องอาศัยกาลเวลายาวนาน และมีความมั่งคง มีความอดทนเป็นอย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นคุณธรรมที่บำเพ็ญในระดับบารมีจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

การที่เรายืดเอาพระพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง เป็นที่ระลึกก็เพราะจะได้เป็นเครื่องส่งเสริมกำลังใจของตนเองด้วย อย่างเรามีพระพุทธรูปไว้นี้ นอกจากระลึกถึงพระพุทธคุณที่สวดกันว่า

อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา พุทธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ หรือสวดบทยาวเป็นพุทธคุณ 9 ประการว่า อิติปิ โส ภควา อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ…



ซึ่งเรามักจะระลึกถึงพระคุณทั่ว ๆ ไปแบบนึกถึงกว้าง ๆ ราง ๆ แต่บางทีก็ไม่ได้แยกแยะให้ลึกซึ้งในแต่ละด้าน ความจริงนั้นถ้าเราแยกออกไปให้ละเอียด เราจะเห็นพระคุณแต่ละข้อ ๆ ว่าพระองค์ได้ฝึกพระองค์มาอย่างไร พัฒนาตนเองอย่างไร ได้บำเพ็ญคุณธรรมมาลำบากแค่ไหน ถ้าเราได้เห็นปฏิปทาของพระองค์อย่างนั้น แล้วจะได้มาเป็นเครื่องเตือนให้เรามีความเข้มแข็งอดทนในความดี

แม้แต่ในชาติปัจจุบันเราก็ยังเห็นว่าพระพุทธเจ้าทรงมีความเสียสละเป็นอย่างยิ่ง การที่จะได้ตรัสรู้ไม่ใช่ง่าย ๆ ต้องเสียสละชีวิตที่มีความสุขสำราญในรั้วในวัง สละทรัพย์สมบัติทุกสิ่งทุกอย่างออกไปอยู่ป่า และตอนที่ไปอยู่ในป่าพระองค์ต้องลำบากทุกข์ยากขนาดไหน อด ๆ อยาก ๆ ถูกคนเขาล้อเลียน มาทำอะไรต่าง ๆ โดยที่พระองค์ไม่ถือสา ต้องผจญกับความหวาดกลัวต่าง ๆ แล้วก็จาริกไปศึกษาเล่าเรียนในสำนักต่าง ๆ ปฏิบัติทุกอย่างเท่าที่จะทำได้จนในที่สุดประสบความสำเร็จด้วยความเพียรของพระองค์ อย่างพุทธภาษิตที่ว่า

วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ คนล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร หมายความว่าจะประสบความสำเร็จพ้นจากความทุกข์ได้ก็ด้วยความเพียร อันนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของพระพุทธเจ้า

ถ้าเราได้ศึกษาประวัติของพระพุทธเจ้าในด้านต่าง ๆ ได้ เห็นตัวอย่างการทำความดีของพระองค์แล้ว ก็จะมาเป็นเครื่องเตือนใจและเป็นแบบอย่างแก่เราทั้งหลาย ทำให้เรามีความเข้มแข็งอดทน มีกำลังใจในการที่จะทำความดี ไม่ท้อถอย ไม่หวั่นระย่อต่ออุปสรรคและความทุกข์ยากต่าง ๆ



นอกจากนั้น ในเวลาที่บำเพ็ญคุณธรรมความดีเหล่านั้น แม้จะมีความทุกข์ความลำบากภายนอก แต่จิตใจมีความสุข คือมีความสุขในการที่จะทำความดี มีความปลาบปลื้มใจอยู่เสมอ นี่ก็เป็นคติอย่างหนึ่งที่เราควรจะได้จากการบำเพ็ญคุณธรรมนั้น ชั้นยิ่งยวดที่เรียกว่าบารมี

ในแง่หนึ่งก็คือ การมองบารมีจากตัวอย่างการปฏิบัติของพระพุทธเจ้าแล้วโยงมาสู่การที่จะสร้างให้เป็นบารมีของตัวเราเอง เพราะฉะนั้นท่านผู้ใดที่ต้องการจะปฏิบัติธรรมในขั้นที่ว่าให้เป็นพิเศษขึ้นไป โดยมานึกว่าเราจะไม่หยุดอยู่เพียงการปฏิบัติคุณธรรมขั้นพื้นฐานหรือเพียงเป็นบันไดขั้นต่อไป ๆ เท่านั้น แต่เราจะบำเพ็ญคุณธรรมในระดับที่เรียกว่าเป็นบารมี คือการบำเพ็ญอย่างยิ่งยวดเพื่อบรรลุจุดหมายที่สูงส่ง ก็จะเป็นการประพฤติปฏิบัติธรรมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งจะนำผลดีมาให้ในระยะยาว นำไปสู่คุณประโยชน์อย่างกว้างขวางและสูงส่งแก่โลก

ที่ได้กล่าวมาในวันนี้เป็นการพูดถึงการปฏิบัติธรรมอีกแบบหนึ่งในยุคที่เรียกว่าบารมี ซึ่งมีความหมายดังที่ได้กล่าวมา การที่พูดนี้ก็เพื่อเป็นเครื่องประดับสติปัญญาของญาติโยมให้เข้าใจเรื่องการปฏิบัติธรรมที่เรียกว่าบารมี นับว่าเป็นชิ้นแรก คือพูดพอเป็นความรู้ความเข้าใจ และถ้าให้ได้ผลยิ่งขึ้นไป ก็คือท่านผู้ใดเห็นว่าเราน่าจะทำในขั้นนั้นบ้าง ก็นำมาประพฤติปฏิบัติธรรมตามอย่างจริงจัง บารมีก็จะเกิดขึ้นในตัวของเรา




ที่มา : เงินและงานต้องประสานกับความสุข โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)
ภาพ : www.pexels.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/179083.html
By nintara1991 , 15 October 2019
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 16, 2019, 07:00:34 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ