ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน
หน้า: [1] 2 3 ... 10
 1 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 10:44:11 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 2 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 10:13:04 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 3 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:58:47 am 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 4 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 07:30:39 am 
เริ่มโดย aventure1 - กระทู้ล่าสุด โดย aventure1
ดันกระทู้ 

 5 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 06:11:49 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.



มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (3) เงื่อนงำ ‘กำแพงเพชร’ ผ่าน ‘พระซุ้มกอ’

สําหรับตอนที่ 3 นี้ เส้นทางของพระแก้วมรกตได้เคลื่อนมาสู่เมืองสำคัญยิ่ง เป็นเมืองที่เชื่อมคั่นตั้งอยู่กึ่งกลางด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับล้านนา นั่นคือ “กำแพงเพชร”

ดังนั้น วิทยากรผู้ที่จะมาร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนข้อมูลในส่วนนี้จะเป็นใครอื่นใดไปมิได้ นอกเสียจาก “อาจารย์สันติ อภัยราช” ครูภูมิปัญญาด้านภาษาและวรรณกรรม ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้เป็นประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกำแพงเพชรหลายสมัย



อาจารย์สันติ อภัยราช ปราชญ์ใหญ่เมืองกำแพงเพชร ผู้ร่วมเปิดประเด็นเสวนาให้ข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่างในบทความชิ้นนี้


วัดพระแก้ว VS วัดอาวาสใหญ่ : วัดใดประดิษฐานพระแก้วมรกต.?

อาจารย์สันติ อภัยราช เปิดประเด็นว่า ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรมีความเชื่อเป็นกระแสหลักไปเรียบร้อยแล้วว่า “วัดพระแก้ว” ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกนั้น คือสถานที่ที่เคยประดิษฐานพระแก้วมรกต องค์ที่เรากำลังเสวนาหาความจริงกันอยู่นี้มาก่อน

การสืบเสาะค้นหาว่าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานอยู่ที่ไหนในกำแพงเพชรเริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2446 โดย “พระวิเชียรปราการ” ขุนนางที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ส่งไปปกครองเมืองกำแพงเพชรนั้น ได้ทำการศึกษาสำรวจวัดร้างซากโบราณสถานโบราณวัตถุต่างๆ ในเขตเมืองเก่า แล้วพยายามตั้งชื่อสถานที่นั้นๆ ให้ใกล้เคียงกับตำนาน เท่าที่ความรู้ความสามารถของปราชญ์ยุคเมื่อ 130 ปีจักทำได้ คำว่า “วัดพระแก้ว” จึงปรากฏขึ้นครั้งแรกในบันทึกของพระวิเชียรปราการ

อย่างไรก็ดี 2 ปีถัดมาคือ พ.ศ.2448 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 สมัยที่ยังดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือที่เรานิยมเรียกย่อๆ ว่า “พระยุพราช” ได้เสด็จพระดำเนินเลียบเมืองกำแพงเพชร (ในอดีตสังกัดมณฑลนครสวรรค์)

ครั้งนั้นเองทรงวินิจฉัยว่า “พระแก้วมรกต หากเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดอาวาสใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอรัญญิก”

พระวินิจฉัยนี้หนุนเนื่องมาจากช่วงที่พระยุพราชเสด็จกำแพงเพชรเป็นแค่ระยะเวลาสั้นๆ พระองค์ท่านยังมิทันได้เห็นจุดที่เรียกว่าวัดพระแก้ว ด้วยเหตุที่อาณาบริเวณของวัดอาวาสใหญ่นั้นกว้างขวางใหญ่โตกว่าวัดอื่นๆ



วัดอาวาสใหญ่ จุดที่รัชกาลที่ 6 สมัยเป็นพระยุพราช ได้เสด็จมากำแพงเพชร แล้วทรงเห็นว่าเป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด จึงสันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นวัดพระแก้ว


ครั้นอีกเพียง 1 ปีให้หลัง ในเดือนสิงหาคม พ.ศ.2449 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จประพาสต้นมายังเมืองกำแพงเพชรด้วยพระองค์เองอีกครั้ง คราวนี้พระวิเชียรปราการได้ทูลเชิญล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 เสด็จไปทอดพระเนตรสถานที่ที่ปัจจุบันเรียกกันว่าวัดพระแก้ว

รัชกาลที่ 5 ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุประพาสต้นครั้งที่ 2 ว่า “ถ้าพระแก้วมรกตเคยประดิษฐานที่กำแพงเพชรจริง ก็น่าจะเป็นวัดแห่งนี้แน่ๆ”

การที่ทรงมีพระราชวินิจฉัยเช่นนี้ก็เนื่องมาจากทรงทอดพระเนตรเห็นพระเจดีย์ทรงลังกาองค์ใหญ่ตั้งอยู่บนฐานเดียวกันกับพระวิหาร ทรงตรัสชมว่า เป็นเจดีย์ที่งดงามมาก เมื่อก้มลงมองฐานเจดีย์ พบปูนปั้นรูปสิงห์แบก (จมอยู่ใต้ชั้นดิน ครั้นเมื่อทำการขุดค้นทางโบราณคดีจึงพบพระพิมพ์รูปสิงห์แบกที่ฐานพระพุทธรูปอีกเป็นจำนวนมาก)



วัดพระแก้ว ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จุดที่พระวิเชียรปราการทูลเสนอต่อรัชกาลที่ 5 ว่าน่าจะเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตมากกว่าวัดอาวาสใหญ่


การพบรูปสิงห์ที่ล้อมฐานเจดีย์นี้เองยิ่งทำให้ปราชญ์ในสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ว่าสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และสมเด็จพระน้องยาเธอ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต่างเห็นคล้อยว่า วัดแห่งนี้น่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระแก้ว-พระสิงห์” หรือ พระแก้วมรกตกับพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระคู่กัน มีตำนานใกล้เคียงกัน เป็นแน่แท้ ควรเชื่อได้ว่าที่นี่น่าจะเป็น “วัดพระแก้ว” มากกว่าบริเวณวัดอาวาสใหญ่

เหนือสิ่งอื่นใด ในส่วนท้ายที่ต่อเชื่อมกับเจดีย์ยังมี “มณฑป” ขนาดใหญ่ตั้งอยู่อีกด้วย สะท้อนว่าครั้งหนึ่งต้องเคยมีการประดิษฐานพระพุทธรูปองค์สำคัญยิ่งอย่างแน่นอน ทำให้ทุกวันนี้ชาวกำแพงเพชรเรียกที่นี่ว่า “มณฑปพระแก้วมรกต”

ในความเป็นจริง พระแก้วมรกตจักเคยประทับในกำแพงเพชรหรือไม่ และหากเคยประทับจริง สถานที่แห่งนั้นควรอยู่ที่ไหน ยังไม่มีใครทราบข้อเท็จจริงได้ เพราะที่กล่าวมาทั้งหมดนี้คือข้อสันนิษฐานจากรุ่นสู่รุ่น



เจดีย์ทรงระฆังแบบลังกาขนาดใหญ่ ณ วัดพระแก้ว กำแพงเพชร


เชื่อตำนานเล่มไหนดี จะให้กำแพงเพชรเป็น “ฮีโร่” หรือ “ผู้ร้าย”.?

ในส่วนความเกี่ยวข้องระหว่างเมือง “กำแพงเพชร” กับ “พระแก้วมรกต” ที่ปรากฏในตำนานล้านนาสองฉบับนั้น อาจารย์สันติ อภัยราช กล่าวว่า น่าแปลกทีเดียว แม้นตำนานทั้งสองเล่มจักเขียนขึ้นในเมืองเหนือเหมือนกัน และแต่งโดยพระภิกษุในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ไฉนเลยตำนานทั้งสองฉบับกลับให้ข้อมูลต่างกันราวฟ้ากับเหว

รัตนพิมพวงศ์ กล่าวว่า ขณะที่พระแก้วมรกตประทับอยู่ที่กรุงอโยธยา/อโยฌปุระนั้น (หมายเหตุ อาจารย์สันติก็ตั้งข้อสังเกตเหมือนกับ รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง ว่าดูจากศักราชและปูมแวดล้อมแล้ว ย่อมไม่ใช่กรุงศรีอยุธยาอย่างแน่นอน เพราะช่วงนั้นน่าจะอยู่ในรอบพุทธศตวรรษที่ 16-17 กรุงศรีอยุธยายังไม่ได้สร้าง และกำแพงเพชรก็ยังไม่เกิด) น่าสนใจว่าตำนานเรียกเมืองแห่งนี้ว่า “วชิรปราการ” แล้ววงเล็บสำทับว่า “กำแพงเพชร”

รัตนพิมพวงศ์ระบุว่าวชิรปราการเป็นเมืองใหญ่ สามารถกรีธาทัพไปยังอโยธยาในทำนองประกาศแสนยานุภาพถึงความเกรียงไกร จนเจ้าเมืองอโยธยายอมยกพระแก้วมรกตให้โดยดี

ความที่เจ้าเมืองวชิรปราการมีพระโอรสองค์หนึ่งปกครองเมืองละโว้อยู่ (น่าคิดไม่น้อย หากเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริง สะท้อนว่ากำแพงเพชรค่อยๆ เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขนาดส่งโอรสไปนั่งเมืองใหญ่อย่างละโว้ได้) พระโอรสได้ทูลขอยืมพระแก้วมรกตไปเป็นขวัญแก่พระนครชั่วคราวด้วย

สรุปว่า พระแก้วมรกตประทับ ณ กรุงละโว้ประมาณ 1 ปีเศษๆ เจ้าเมืองวชิรปราการได้ขอคืนกลับมา จากนั้นพระแก้วมรกตประดิษฐานอยู่เมืองกำแพงเพชรนานนับร้อยปี

จนกระทั่ง “ท้าวมหาพรหม” จากเชียงรายได้ยกกองทัพถึง 80,000 นายมาข่มขู่กดดันให้เจ้าเมืองกำแพงเพชรต้องยกพระแก้วมรกตให้ (ซ้ำรอยเดิมกับตอนที่กำแพงเพชรยกทัพไปประกาศศักดานุภาพที่อโยธยา โดยเหตุการณ์ทั้งสองครั้งนี้ไม่มีการเสียเลือดเสียเนื้อ) กำแพงเพชรจำต้องยอมยกพระแก้วมรกตให้เชียงรายไป



ฐานเจดีย์วัดพระแก้ว เคยมีรูปสิงห์แบกโดยรอบ (ปัจจุบันมีแต่ช้างแบก) ทำให้ปราชญ์ยุค 130 ปีก่อนเชื่อว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับ “พระสิงห์” หรือพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งคู่กับพระแก้วมรกต


ทฤษฎีของรัตนพิมพวงศ์นี้ อาจารย์สันติ อภัยราช มองว่าเป็นการเขียนแบบให้เกียรติเมืองกำแพงเพชร คือตอนที่เราได้พระแก้วมรกตมา ก็ไปเอามาอย่างผู้มีอำนาจเหนือกว่าแว่นแคว้นที่เริ่มอ่อนแอ และเมื่อพระแก้วมรกตจะต้องจากไป ก็เป็นเหตุการณ์ซ้ำรอยเดิมคือผู้มีอำนาจเหนือกว่าเราก็ใช้วิธีเดียวกัน คือดูแล้วค่อนข้างสมน้ำสมเนื้อ

เมื่อหันมามองชินกาลมาลีปกรณ์ กลับให้ข้อมูลแปลกๆ พิลึกพิลั่น คือกล่าวถึงคนที่ชื่อ “ติปัญญามหาเถร” (บ้างเรียกติยะอำมาตย์) ถูกส่งจากอโยธยามาครองกำแพงเพชร (เข้าใจว่า “อโยธยา” ในที่นี้ หมายถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว) ในช่วง พ.ศ.1900 กว่าๆ

ติปัญญามีแม่เป็นสนมคนโปรดของกษัตริย์อโยธยานาม “ขุนหลวงพ่องั่ว” (พะงั่ว) ติปัญญาอยากได้พระแก้วมรกตมาครอง ขอให้แม่ใช้กลอุบายลวงขอพระแก้วมรกตจากขุนหลวงพะงั่วในฐานะที่หลงใหลในเสน่ห์ของนางอย่างเนียนๆ ชนิดที่ว่าอย่าให้พระองค์รู้ตัวเป็นอันขาด

แม่ของติปัญญายอมเสี่ยง ทำทีทำท่าว่าอยากได้พระปฏิมาสักองค์ไว้บูชา ขุนหลวงพะงั่วยินดีแบ่งให้ โดยบอกว่าให้นางไปเลือกเอาเองว่าต้องการองค์ไหน นางจึงไปติดสินบนพนักงานหอพระว่าช่วยเอาดอกไม้ไปวางหน้าพระแก้วมรกตให้หน่อย ตอนนางเลือกจะได้รู้ว่าองค์ไหน ในที่สุดก็พาพระแก้วมรกตองค์จริงหนีไปให้โอรสที่กำแพงเพชร

ตำนานหน้านี้อาจารย์สันติบอกว่า เหมือนกันมากราว “แพะกับแกะ” เมื่อเทียบกับตำนานพระพุทธสิหิงค์ ซึ่งหากยึดตามทฤษฎีต้องถือว่ากำแพงเพชรเสียเครดิตพอสมควร ที่ใช้เล่ห์เพทุบายอันไม่ค่อยสุจริตนัก เพื่อให้ได้มาซึ่งพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์)

อย่างไรก็ดี หากดูไทม์ไลน์ตามท้องเรื่องของชินกาลมาลีปกรณ์แล้ว พบว่าเป็นเหตุการณ์ที่เริ่มใกล้ตัว ติปัญญาเป็นบุคคลร่วมสมัยกับขุนหลวงพะงั่วและท้าวมหาพรหม ซึ่งช่วงนี้มีการสร้างเมืองกำแพงเพชรแล้ว (ในขณะที่เนื้อหาของรัตนพิมพวงศ์ กำหนดท้องเรื่องเก่าเกินไป คือยุคอโยฌปุระ ยุคละโว้ยังเรืองอำนาจ ซึ่งกำแพงเพชรยังไม่ได้เกรียงไกรขนาดนั้น)

ด้วยเหตุที่ตำนานสองฉบับซึ่งเขียนขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน บนแผ่นดินเดียวกันยังตีกันให้สับสนถึงขนาดนี้ น่าจะเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ทรงไม่เชื่อเหตุการณ์อันโกลาหลช่วงนี้เลย ทรงข้ามไปมองว่า พระแก้วมรกตควรจะเริ่มต้นที่เชียงรายมากกว่ากระมัง



พระกำแพงเพชรซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ ภาพจากไฟล์เพาเวอร์พอยต์บรรยายของคุณ “น้อย ไอยรา” (อาจารย์นิพนธ์ สุขสมมโนกุล)


พิมพ์ทรงพระซุ้มกอกับพระแก้วมรกต

กรณีพิมพ์ทรงด้านพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตที่นักวิชาการมองว่าเหมือนกับพระพุทธรูปเชียงแสน-พะเยานั้น อาจารย์สันติ อภัยราช เสนออีกแนวทางว่า “โปรดอย่าได้มองข้ามรูปแบบพระซุ้มกอกำแพงเพชรโดยเด็ดขาด” ซึ่งพระซุ้มกอนี้ขุดพบครั้งแรกในกรุพระธาตุนครชุม ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง กำหนดอายุราวสมัยพระญาลิไท?

พระพักตร์กลม พระวรกายอวบอ้วน พระเศียรเกลี้ยงไม่แสดงเม็ดพระศก พระเมาลีต่ำเป็นกรวยสามเหลี่ยมคล้ายกลีบบัว ชายสังฆาฏิยาวจรดพระนาภี พระศอเป็นปล้อง นั่งขัดสมาธิราบแบบลังกา เอาพระหัตถ์ทั้งสองประสานที่หน้าตักในปางสมาธิ

ทั้งหมดนี้คือพุทธลักณะของพระพิมพ์กำแพงเพชรซุ้มกอ และพระแก้วมรกต! เหมือนกันโดยบังเอิญหรือเช่นไร?



เปรียบเทียบพุทธศิลป์ของพระแก้วมรกตกับพระซุ้มกอกำแพงเพชร พบว่าคล้ายคลึงกันมาก


เราควรตั้งคำถามว่า หากกำแพงเพชรไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ทั้งสิ้นกับพระแก้วมรกต (รวมทั้งพระพุทธสิหิงค์) แล้วไซร้ ไฉนตำนานต้องลากให้ท้าวมหาพรหมจากเชียงราย ลงมาพันพัวเอาพระแก้วมรกตจากที่นี่ไปอวดอ้างต่อชาวเชียงใหม่ด้วยเล่า ซ้ำเมื่อเอาไปแล้ว กลับกลายเป็นว่า “เสียของ” เข้าไปอีก

คือแทนที่จะให้ประชาชนเชียงใหม่-เชียงรายได้กราบไหว้ อย่างออกหน้าออกตา กลับกลัวหาย ต้องเอาไปหลบซ่อนไปพอกปูนจนตัวเองก็สิ้นพระชนม์ไปก่อนที่พระแก้วมรกตจักหวนกลับมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอีกครั้ง

เงื่อนงำของตำนานหน้านี้ต้องช่วยกันถอดรหัสขบคิดวิเคราะห์กันอีกให้มาก อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าเหตุการณ์จริงที่เกี่ยวกับพระแก้วมรกตทั้งหมดจักต้องเริ่มต้นที่เชียงรายเท่านั้น •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม - 4 เมษายน 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_757564

 6 
 เมื่อ: วันนี้ เวลา 05:48:17 am 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
มหากาพย์ ‘พระแก้วมรกต’ (2) รอยต่อระหว่างตำนานกับประวัติศาสตร์






ในตำนานมีประวัติศาสตร์ ในประวัติศาสตร์มีตำนาน

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ได้อธิบายถึงเรื่องเส้นทางของ “พระแก้วอมรโกฏ” (พระแก้วมรกต) จากปาฏลีบุตรสู่สยาม ต่อไปว่า

มีทั้งการนำ “เรื่องจริง” เหตุการณ์จริงทางประวัติศาสตร์ มาผสมปนเปกับ “เรื่องเล่า” หรือตำนาน ที่กระโดดไปมา ต่างยุคต่างสมัยกัน ตลอดทั้งเรื่อง

จากตอนที่ 1 เราค้างถึงเหตุการณ์ที่ “พระนาคเสน” ได้บูชาพระแก้วมรกต จนกระทั่งเข้านิพพานไปแล้ว

ต่อมาพระแก้วมรกตได้รับการอัญเชิญให้ไปประดิษฐาน ณ เกาะลังกาประมาณ พ.ศ.800 ตำนานระบุชื่อพญามหากษัตริย์ของอินเดีย 3 องค์สุดท้ายในช่วงกลียุคและมหากลียุค ผู้ไม่สามารถรักษาพระแก้วมรกตไว้ได้

อันนามเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่จริง (ชินกาลมาลีปกรณ์ใช้ชื่อว่า พระเจ้าพันธุ พระเจ้ากลันธรรม และพระเจ้าสิริธรรมกิตติ ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อ บัณฑุราช ตักกลาธรรม และศิริธรรมกิตติราช) หรือหากมีชื่อที่พอจะเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์จริงได้อยู่บ้าง ก็ถือว่าไม่ได้เรียงลำดับรัชกาลตามนี้ ทั้งศักราชก็คลาดเคลื่อน

ในที่สุดได้มีผู้นำเอาพระรัตนปฏิมาหนีไปอยู่เกาะลังกา หรือลังกาทวีป ดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญขึ้นแทนชมพูทวีปตามคำนาย



นัตของชาวพม่า ในรูปแบบที่เชื่อว่าเป็นดวงวิญญาณของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช


เพิ่มอิทธิฤทธิ์ด้วยยี่ห้อ “อนิรุทธ” บลั๊ฟฟ์ “สูริยวรมันที่ 2” ไม่ทศพิธราชธรรม

พระแก้วมรกตอยู่ที่เกาะลังกาได้สักระยะ มีกษัตริย์ชื่อ อนิรุทธ หรือ อนุรุทธราช เสวยราชย์ในเมือง “มลานปุระ” แต่ชินกาลมาลีปกรณ์เรียก “อริมัททนะ” (ทั้งสองชื่อหมายถึงพุกาม) โดยระบุว่าตรงกับปี พ.ศ.1200 ในขณะที่รัตนพิมพวงศ์ให้ศักราชเก่ากว่านั้นอีก ตรงกับปี พ.ศ.1000

พระเจ้าอนิรุทธตั้งใจนั่งเรือสำเภามาขอ “พระไตรปิฎก” จากลังกา ลังกาเห็นว่ากองทัพของอนิรุทธนั้นเกรียงไกรนัก จึงยอมให้พระไตรปิฎกไป แถมอนิรุทธเมื่อทราบว่าลังกามีพระแก้วมรกตจึงรวบอัญเชิญพระรัตนปฏิมาไปอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า พระเจ้าอนิรุทธมหาราช เป็นบุคคลทางประวัติศาสตร์ที่มีตัวตนอยู่จริงในสมัยพุกาม แต่ตรงกับ พ.ศ.1500-1600 และในความเป็นจริงนั้น พระองค์จะยกทัพไปลังกาจริงหรือไม่ ก็ยังไม่มีความแน่ชัด ยุคของพระองค์กำลังก่อสร้างอาณาจักรพุกาม ตามหลักฐานมีการยกทัพไปขอพระไตรปิฎกจากเมืองสะเทิม (สิริธรรมนคร) จากชาวมอญนี่แน่นอน

ทำให้เข้าใจได้ว่า ชินกาลมาลปกรณ์และรัตนพิมพวงศ์ ได้นำชื่อของพระเจ้าอนิรุทธมหาราช เข้ามาเกี่ยวข้องก็เพื่อช่วยเสริมบารมีของพระแก้วมรกตให้ทรงอิทธิฤทธิ์ยิ่งขึ้นไปอีก เพียงแต่ว่าผู้เขียนอาจไม่มีความแม่นยำทางประวัติศาสตร์ของเพื่อนบ้าน จึงระบุให้อนิรุทธเป็นโอรสของพระเจ้าสิริธรรมราช ทั้งๆ ที่พระเจ้าสิริธรรมราชนั้นเป็นชาวมอญ ปกครองเมืองสิริธรรมนคร (สะเทิม) เมืองที่อนิรุทธยกทัพมาตีเพื่อขอพระไตรปิฎก

ตำนานกล่าวต่อไปว่า เมื่ออนิรุทธได้พระรัตนปฏิมาจากลังกาไปแล้ว แต่เรือสำเภากลับแตก ทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกพลัดหลงขึ้นไปยังฝั่งชายหาดแห่งหนึ่งของเมืองที่ชื่อ “มหานคร” แห่ง “กัมโพชทวีป” บ้างเรียก “นครอินทปัตถ์”

เมื่อเราเห็นชื่อเมืองเหล่านี้ ไม่ว่าจะใช้คำใด คงพอจะเดาออกว่า ตำนานต้องการสื่อถึงเมืองสำคัญยิ่งคือ เมืองพระนคร Angkor Thom ในกัมพูชา เพิ่มความเข้มข้นของตำนานให้ขลังยิ่งขึ้นไปอีก

แต่น่าแปลก หลังจากที่พระเจ้าอนิรุทธยกพลขึ้นบกที่เมืองมหานครได้แล้ว แทนที่จะเอาทั้งพระแก้วมรกตและพระไตรปิฎกซึ่งอุตส่าห์บากบั่นไปแย่งมาชิงมาจากลังกาได้ เอากลับคืนกรุงอริมัททนา (พุกาม) ไว้ทั้งหมด

กลับกลายเป็นว่า พระเจ้าอนิรุทธพอใจที่จะขนเอาแค่พระไตรปิฎกลงสำเภาอย่างเดียวเท่านั้น ทิ้งพระแก้วมรกตไว้ที่กัมโพชนคร

น่าสนใจทีเดียวที่บทบาทของพระเจ้าอนิรุทธช่วงนี้ตั้งใจ “ลืมพระแก้วมรกต” ให้ตกค้างอยู่ที่กัมโพช

ซ้ำร้ายฉากนี้ยังวาดให้ “พระเจ้าปทุมสุริยวงศ์” กษัตริย์แห่งกัมโพช ไม่มีทศพิธราชธรรมเข้าไปอีก เหตุที่ไปสั่งประหารเด็กเล็กๆ ลูกของปุโรหิต ด้วยเหตุผลเพียงแค่เด็กสองคนทะเลาะกันเรื่องเอาสัตว์เลี้ยง (พวกแมลงวันหัวเขียว แมลงวันหัวเสือ) มาชนแข่งกัน แล้วแมลงวันของลูกพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์แพ้แก่แมลงวันของลูกปุโรหิต

ตำนานเล่าเหตุการณ์ว่าเกิดอาเพศ น้ำท่วมทะเลสาบเมืองกัมโพชมหานคร แต่โชคดีที่มีพระภิกษุรูปหนึ่งทันเห็นเหตุการณ์ไม่ชอบมาพากลตั้งแต่กษัตริย์สั่งประหารเด็กเล็กๆ ด้วยเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้ง เกิดไหวตัวทัน รีบเอาพระแก้วไปลอยน้ำ ทำให้พระรัตนปฏิมาไม่จมหายไปในทะเลสาบ

เรื่องราวช่วงแรกนี้พระแก้วมรกตยังไม่เข้ามาสู่สยามประเทศ เห็นได้ว่าผู้รจนาตำนานตั้งใจหยิบยกเอาเหตุการณ์บ้านเมืองในรัฐจารีต 4 รัฐอันยิ่งใหญ่ หรือในตำนานใช้คำว่า “ทวีป” คือชมพูทวีป ลังกาทวีป อริมัททนะทวีป กัมโพชทวีป มารองรับความสำคัญของพระแก้วมรกตว่าเป็นของสูงของสำคัญ จนเกิดการช่วงชิงกันไปมาระหว่างรัฐต่อรัฐ

หรือมาตรแม้นว่ารัฐไหนหรือทวีปใดได้ครอบครองไปแล้ว หากผู้ปกครองบ้านเมืองไม่อยู่ในศีลในธรรม พระแก้วมรกตก็จักอันตรธานหายไปจากทวีปนั้นๆ ไม่ด้วยวิธีใดก็วิธีหนึ่ง เช่น ไม่สำเภาแตกก็น้ำท่วมเมือง



รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง แห่งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลป์ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยากรท่านแรกที่เปิดประเด็นเรื่องพระแก้วมรกต ในรายการคลับเฮาส์


ปริศนาอาทิตยราช VS กรุงอโยฌปุระ

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เหตุการณ์หลังจากนี้ จะเริ่มเข้าสู่โหมดการเดินทางของพระแก้วมรกตในดินแดนสยามแบบเต็มๆ แล้ว (หมายเหตุ สยามคำนี้ควบรวมรัฐโยนกตอนเหนือด้วย) อีกทั้งตัวละครต่างๆ ก็เป็นบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์ แต่ผู้เขียนตำนานอาจผูกเรื่องแบบผิดฝาผิดตัวไปบ้าง

หลังจากนครอินทปัตถ์ล่มจมใต้ทะเลสาบเพราะพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์ (ตั้งใจจะสื่อถึง สูริยวรมันที่ 2) ลงโทษผู้บริสุทธิ์ไปแล้ว ในช่วงเวลานั้น มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งชื่อ “พระญาอาทิตยราช” ครองราชย์ ณ กรุงอโยฌยา (อโยฌปุระ) ได้เดินทางมายังมหานคร เป็นผู้มีบุญญาธิการสามารถครอบครองพระแก้วมรกตได้ และนำไปไว้ในกรุงอโยฌปุระ

คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ทันทีที่ทุกคนได้ยินชื่อนี้ปั๊บ มักปิดตานึกถึง กรุงศรีอยุธยาช่วงต้นๆ ในยุครอยต่อตอนปลายของรัฐรัฐละโว้ รัฐสุพรรณภูมิที่กำลังล่มสลายแล้วกำลังจะเริ่มก่อเกิดกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่วงนั้นเรียกกันว่า อโยธยา

ทว่า คำว่า “อโยฌปุระ” หรือ “อโยธยา” ในตำนานกลับมีนัยยะซับซ้อนมากกว่านั้น มิได้หมายถึงแค่ช่วงต้นของกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใดเลย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ฝากให้พินิจพิเคราะห์ว่า ชื่อกษัตริย์ “อาทิตยราช” นั้น เป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงของนครรัฐหริภุญไชย มีอายุร่วมสมัยไล่เลี่ยกับพระเจ้าอนิรุทธแห่งพุกาม และพระเจ้าสูริยวรมันที่ 2 แห่ง Angkor Thom

ดังนั้น ตำนานน่าจะมีความคลาดเคลื่อนในการประพันธ์ ไปเอาชื่ออโยธยาเข้ามาใส่ให้แก่กษัตริย์ผู้มีอำนาจเกรียงไกรอย่างสูงสุดในแว่นแคว้นเมืองเหนือ ซึ่งพระญาอาทิตยราชนี้ก็เคยกรีธาทัพลงมาสู้รบกับรัฐละโว้ (ลพบุรี) หลายครั้งอีกด้วย

การเขียนตำนานแบบผิดฝาผิดตัวในช่วงนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ อธิบายว่า อย่าว่าแต่ยุคสมัยของเราเลยที่อ่านแล้วสับสน แม้แต่ผู้ปริวรรตตำนานรัตนพิมพวงศ์ในสมัยรัชกาลที่ 1 คือ พระธรรมปรีชา (แก้ว) เอง ก็ไม่ทราบว่าจะหาคำอธิบายให้คนอ่านเข้าใจอย่างไรดีต่อข้อความในตำนานช่วงนี้

ได้แต่ทำคำขยายเพิ่มว่า “พระเจ้าอาทิตยราช คือผู้ครองแว่นแคว้นแดนสยามประเทศฝ่ายเหนือ ซึ่งเมืองโบราณนั้นเรียกว่า กรุงอโยธยา แต่จักตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งใดนั้น ยังมิอาจทราบชัดถนัดแน่”

เห็นได้ว่าปราชญ์รัตนโกสินทร์ ช่วงที่ต้องจัดทำคำอรรถาธิบายเกี่ยวกับความย้อนแย้งของกษัตริย์ที่ชื่อ “อาทิตยราช” (อายุราวพุทธศตวรรษที่ 16-ต้น 17) กับการที่พระองค์ครองเมืองอโยธยา (เป็นที่รับรู้กันว่า เมืองนี้หมายถึงกรุงศรีอยุธยาตอนต้น มีขึ้นไม่เกินพุทธศตวรรษที่ 19) ปราชญ์ยุคต้นรัตนโกสินทร์ก็ทำได้เพียงแค่

“ปฏิเสธเช่นกัน ว่าอโยธยาในตำนานพระแก้วมรกตมิใช่กรุงศรีอยุธยาตามที่เรารู้จัก แต่ต้องเป็นเมืองที่อยู่หนไหนสักแห่งในภาคเหนือ”



ชินกาลมาลีปกรณ์ เขียนขึ้นก่อน รัตนพิมพวงศ์


พระแก้วมรกต-พระพุทธสิหิงค์ เริ่มมาบรรจบกันที่กำแพงเพชร

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากที่พระแก้วมรกตได้ประดิษฐาน ณ กรุงอโยฌยาช่วงเวลาหนึ่งแล้ว ชินกาลมาลีปกรณ์ระบุว่า “พระเจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชร (ในรัตนพิมพวงศ์ใช้ชื่อว่า “ภูบดี” เสวยราชย์ในวชิรปราการปุระ)

เมื่อทราบถึงเดชานุภาพของพระรัตนปฏิมา ได้เดินทางมาเอาพระแก้วอมรโกฏนั้นไปจากอโยฌยา โดยไม่ได้บอกเหตุผลว่าทำไมจึงสามารถเอาไปได้โดยง่าย?

หลังจากกำแพงเพชร (ซึ่งเป็นรอยต่อของรัฐสุโขทัยแห่งลุ่มน้ำปิง) แล้ว พระแก้วมรกตได้ถูกอัญเชิญขึ้นไปยังนครเชียงราย โดย “ท้าวมหาพรหม” พระอนุชาของกษัตริย์กือนา ทั้งสองพี่น้องเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงทางประวัติศาสตร์

และท้าวมหาพรหมท่านนี้เอง เป็นคนเดียวกันกับที่อัญเชิญ “พระพุทธสิหิงค์” จากกำแพงเพชรขึ้นสู่ดินแดนโยนกล้านนาเป็นครั้งแรกอีกด้วย

รองศาสตราจารย์ ดร.รุ่งโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า ชื่อของ “เจ้าติปัญญา” แห่งกำแพงเพชรคนเดียวกันนี้ ยังได้ไปปรากฏซ้ำ แบบสอดคล้องกันกับตำนานพระพุทธสิหิงค์

อาจารย์รุ่งโรจน์จึงสรุปว่า นับแต่เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเชียงรายเป็นต้นไปนับต่อจากนี้ เริ่มน่าจะมีเค้าโครงจริงทางประวัติศาสตร์มากขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เพราะพระแก้วมรกตสร้างขึ้นในล้านนานี่เอง

ทว่า เรื่องเล่าก่อนหน้านั้นทั้งหมด เป็นการรวบรวมเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของบุคคลผู้มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ของรัฐเพื่อนบ้าน มาเชื่อมโยงให้มีสีสันจนดูเสมือนจริง เพื่อให้พระแก้วมรกตมีความศักดิ์สิทธิ์มากยิ่งขึ้นนั่นเอง •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 มีนาคม 2567
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2567
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_755984

 7 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 09:31:53 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 8 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 07:20:57 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 9 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 02:56:06 pm 
เริ่มโดย todaytimepost11 - กระทู้ล่าสุด โดย todaytimepost11
ขออนุญาต อัพเดทกระทู้

 10 
 เมื่อ: เมษายน 15, 2024, 02:09:23 pm 
เริ่มโดย raponsan - กระทู้ล่าสุด โดย raponsan
.
 :25: :25: :25:

รูปวิเคราะห์ชื่อแห่งนิพพานที่เขียนพรรณนามาทั้งหมดมีปรากฏในอนาสาวาทิสูตรและคัมภีร์อภิธานทั้งสอง ชื่อแห่งนิพพานดังต่อนี้ไปมีปรากฏเฉพาะในคัมภีร์อภิธานเท่านั้น ซึ่งพระโมคคัลลานะเถระกล่าวไว้ในคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกาว่า มี 46 บท โดยเพิ่มหรือมากกว่าในอนาสาวาทิสูตร 12 บท ( 2536 : 4) ดังต่อไปนี้

    (1) โมกฺโข แปลว่า ธรรมเป็นที่หลีกเร้น ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากกิเลสมีราคะ เป็นต้น
    (2) นิโรโธ แปลว่า ความดับ พระบาลีว่า นิโรโธ มีใช้จำนวนมากในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ที่สำคัญที่สุดพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้เป็นจุดสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาว่า นิโรธ สจฺจํ ซึ่งหมายถึงนิพพานนั่นเอง พระบาลีว่า นิโรธ ซึ่งหมายถึงสิ้นจากกิเลส ราคะ
    (3) อรูปํ(น + รูป) แปลว่า ธรรมที่ไม่มีรูปลักษณ์, อรูปธรรม
    (4) อมตํ (น + มร ธาตุ ปราศจากชีวิต + ต ปัจจัย = อมตะ) แปลว่า สภาพที่พ้นจากความตาย พระบาลีว่า อมตํ เป็นภาวะแห่งนิพพาน ที่ปฏิเสธความตาย เหตุคือการปฏิเสธการเกิดนั่นเอง

    (5) อกตํ แปลว่า อกตธรรม พระพุทธองค์ตรัสว่า อชาตํ อภูตํ อกตํ อสงฺขต (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 25 ข้อ 73 : 213) แปลว่า นิพพานเป็นธรรมชาติไม่เกิด ไม่เป็น ไม่ถูกปัจจัยกระทำ ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 73 : 323) พระบาลีว่า อกตํ เป็นภาวะที่ปฏิเสธการสร้างขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ในโลกนี้ จึงเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน
    (6) เกวลํ (เกว ธาตุ เป็นไปในความไม่ประกอบ หมายถึงนิพพาน, นอกจากนี้ยังมีความหมายว่า โดยมาก มั่นคง พอประมาณ ทั้งหมดทั้งสิ้น) ธรรมที่ไม่มีสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า เกวลํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ปัจจัยอะไรปรุงแต่งไม่ได้

    (7) อปวคฺโค ธรรมเว้นจากสังขารปรุงแต่ง พระบาลีว่า อปวคฺโค เป็นสภาพแห่งสังขารโลกทั้งปวง
    (8) อจฺจุตํ ธรรมที่ไม่มีจุติของพระอรหันต์ ดังมีพระบาลีว่า อจฺจุตํ อมตํ ปทํ ตํ ญาณํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 12 : 225) แปลว่า พระองค์ทรงบรรลุอมตบทที่ไม่จุติด้วยพระญาณ พระบาลีว่า อจฺจุตํ เป็นสภาพแห่งนิพพานที่ไม่มีการจุติคือตายอีก ก็คือ อนุปาทิเสสนิพพานเท่านั้น เพราะไม่เกิดและตายอีกต่อไป
    (9) ปทํ แปลว่า ธรรมที่พระอริยะเข้าถึง ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า สนฺตํ ปทํ อชฺฌคมา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 15 ข้อ 732 : 275)แปลว่า บรรลุนิพพานอันสงบ พระพุทธองค์อธิบายไวพจน์แห่งนิพพานว่า สนฺตํ ปทํ นิพฺพานํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 11 ข้อ 210 : 257) แปลว่า พระบาลีว่า ปทํ นิพพานที่พระอริยเข้าถึงได้

   (10) โยคกฺเขโม แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องสิ้นโยคะทั้ง 4 คำว่า โยคกฺเขโม มีปรากฏใพระไตรปิฎกว่า อนุตฺตโร โยคกฺเขโม (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 19 ข้อ 528 : 205) แปลว่า ธรรมเป็นแดนเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม พระบาลีว่า โยคกฺเขโม
   (11) สนฺติ (สมุ ธาตุ ในความสงบ + ติ ปัจจัย) แปลว่า ธรรมที่สงบจากกิเลส พระพุทธองค์ตรัสว่า ผุฏฐสฺส ปรมา สนฺตินิพฺพานํ อกุโตภยํ (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 21 ข้อ 23 : 31) แปลว่า สัมผัสความสงบอย่างยิ่ง คือ นิพพานอันไม่มีภัยจากที่ไหน ๆ
   (12) นิพฺพุติ (อิตฺถี) แปลว่า ธรรมที่ออกจากตัณหา หรือธรรมที่ปราศจากตัณหาเครื่องกั้นให้ติดอยู่ในสงสาร ดังพุทธวจนะว่า ตถาคเตน สา นิพฺพุติ อธิคตา (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 29 ข้อ 709 : 423) นิพพานนั้นพระตถาคตทรงบรรลุแล้ว

ไวพจน์หรือชื่อแห่งนิพพานตามรูปศัพท์แห่งนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท มีจำนวนมาก นอกจากอนาสวาทิสูตร และคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา ก็มีอีกจำนวนมาก เช่น คำว่า อจลํ เป็นต้น (พระไตรปิฎกภาษาบาลี เล่ม 32 ข้อ 293 : 40) ซึ่งก็เป็น ศัพท์ไวพจน์ของนิพพานเช่นเดียวกัน ซึ่งผู้วิจัยเชื่อว่า น่าจะมีประมาณเกือบ 100 บท แต่ที่มีใช้มากรองจากนิพพาน ได้แก่ อสังขตะ และนิโรธ





2.2 การตีความนิพพานโดยสภาวะ

การตีความโดยสภาวะนั้นยึดพยัญชนะทั้งหมดนั่นแหละ แล้วนำมาตีความโดยความเป็นจริง ที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือ โดยสภาวะธรรม มีอยู่ 2 ระดับ คือ ระดับที่ยังมีชีวิตอยู่หรือพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพาน และระดับชีวิตดับสิ้นหรือพระอรหันต์ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน ดังนี้

    2.2.1. สอุปาทิเสสนิพพาน
พระนววิมลเถระ กล่าวว่า “กิเลสปรินิพฺพานเหตุโต สห อุปาทิสงฺขาเตน เสเสน ขนฺเธนาติ สอุปาทิเสสา นิพพานธาตุ” (2542: 120) แปลว่า เพราะกิเลสปรินิพพาน แต่ยังเหลือขันธ์ 5 ที่เป็นเศษกรรมแห่งอุปาทานยึดไว้ จึงชื่อว่า สอุปาทิเสสนิพพาน

การที่พระพุทธองค์จะอธิบายภาวะทางจิตแห่งการสัมผัสนิพพาน อันเป็นโลกุตตระ มาบอกแก่ชาวโลก ซึ่งเป็นฝ่ายตรงกันข้ามกันอย่างไร จึงตรัสอุบายวิธีว่าบรมสุข ดังมีพุทธภาษิตบทหนึ่งว่า “นิพฺพานํ  ปรมํ สุขํ” แปลความว่า นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 203-204 : 95)

คำว่า นิพพานเป็นบรมสุข คือสุขที่เกิดจากการพ้นจากกิเลส ไม่มีกิเลสเกิด อันเป็นนิโรธสัจ ได้แก่ ความสุขที่เป็นความพ้นทุกข์ นิพพานไม่ใช่ความสุขที่เกิดจากการเสวยปัญจารมณ์ หรือไม่ใช่สุขที่เกิดจากการดื่มด่ำในปัญจารมณ์แต่เป็นสุขที่พ้นจากกิเลส พ้นจากความเป็นขันธ์ (ขันธวิมุตติ) เรียกว่าสันติสุข สันติสุของค์ธรรมคือนิพพาน และเป็นอสังขตธรรม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง

ดังนั้น จากคัมภีร์พระพุทธศาสนาดังกล่าวมาจึงตีความได้ว่า สอุปาทิเสสนิพพาน คือ สภาวะทางจิตใจภายในของบุคคลที่กำจัดกิเลส ความชั่ว อกุศลธรรมได้ทั้งหมดที่เรียกว่า กิเลสตาย หรือ กิเลสปรินิพพาน แต่ยังมีชีวิตดำรงอยู่เหมือนคนทั่วไปตามปกติ บุคคลนั้นเรียกว่า อรหันต์ แปลว่า ผู้กำจัดวงล้อแห่งกิเลสได้ สภาพแห่งจิตที่หมดจากกิเลสขณะมีชีวิตอยู่นี้พระพุทธองค์สื่อให้คนทั่วไปรู้ว่า บรมสุข (ปรมํ สุขํ)

     2.2.2. อนุปาทิเสสนิพพาน
นิพพานที่เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ชื่อว่าเป็นคติสุดท้ายแห่งพระอรหันต์พระนววิมลเถระ กล่าวถึงอนุปาทิเสสนิพพานว่า “ขนฺธปรินิพฺพานเหตุตาย ขนฺธสงฺขาต อุปาทิ เสเสน วิรหิตตฺตา อนุปาทิเสสา, ทฺวิธา นิพฺพานธาตุภาวโต” (2542, น.120) แปลว่า ชื่อว่า อนุปาทิเสส นิพพาน เพราะไม่มีเศษแห่งอุปาทานยึดได้ กล่าวคือ ขันธ์ 5 เพราะเหตุแห่งขันธ์ 5 ปรินิพพาน โดยที่นิพพานโดย 2 ส่วน คือ กิเลสและขันธ์ 5 หมายถึง กิเลสดับและขันธ์ 5 ดับ

การตีความนิพพานที่สุญสิ้น ดับสิ้นจากสังขารโลกทั้งปวง ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การที่บุคคลทำลายกิเลสทั้งหมดให้สิ้นไปจากจิตสันดานจนจิตบริสุทธิ์ (สุทฺธิ) ที่เรียกว่า อรหันต์ และพระอรหันต์นั้นนั่นเอง ขันธ์ 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณดับพร้อมกัน แล้วไม่เกิดอีกต่อไป เป็นการนิพพาน 2 ประการ คือ กิเลสปรินิพพานและขันธปรินิพพาน พร้อมกันทีเดียว เป็นคติสุดท้ายของพระอรหันต์หลังสิ้นชีวิตแล้ว





2.3 การตีความนิพพานโดยอุปมา

นิพพานเป็นโลกุตตระ แปลว่า พ้นจากโลก นิพพานจึงไม่สามารถอธิบายด้วยสิ่งใดๆ ในโลกนี้ได้ พระบรมศาสดาจึงพยายามสื่อให้มนุษย์ได้ทราบด้วยวิธีการต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือการอุปมานิพพาน การอุปมาที่ชัดเจนที่สุดมี 3 เรื่อง คือ
    (1) จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบ ดังหยาดน้ำบนใบบัว
    (2) เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
    (3) เปลวประทีปดับ หมดทั้งเปลวประทีป ไข และไส้

    2.3.1. จิตผู้สัมผัสนิพพานเปรียบดังหยาดน้ำบนใบบัว
บุคคลผู้เป็นพระอรหันต์นั้นไม่ติด คือ ไม่ติดแน่น ไม่ติดพันได้แก่ เป็นผู้ไม่ติดแล้ว ไม่ติดแน่นแล้ว ไม่ติดพันแล้ว ออกแล้ว สลัดออกแล้ว หลุดพ้นแล้วไม่เกี่ยวข้องแล้วกับกิเลสเหล่านั้น มีใจเป็นอิสระอยู่ เหมือนหยาดนไม่ติดอยู่บนใบบัว ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่ามุนีไม่ติดพันในรูปที่เห็น เสียงที่ได้ยินและอารมณ์ที่รับรู้เหมือนหยาดน้ำไม่ติดบนใบบัว ฉะนั้น (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 46-47 : 164)

    2.3.2. เมล็ดพันธุ์ผักกาดไม่ติดปลายเหล็กแหลม
ขันธ์ทั้งหลายถึงการทรงตัวอยู่ไม่ได้แตกไปแล้วกองขันธ์ในอนาคตก็ไม่มีส่วนขันธ์ที่เกิดแล้วในปัจจุบันก็ดำรงอยู่เหมือนเมล็ดผักกาดบนปลายเหล็กแหลม ฉะนั้น(พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 29 ข้อ 10 : 52) จิตของพระอรหันต์เปรียบดังเหล็กแหลม ส่วนอารมณ์ต่าง ๆ ที่มากระทบ ประดุจดังเมล็ดผักกาด เมื่อเอาเมล็ดผักกาดวางบนปลายเหล็กแหลม เมล็ดผักกาดได้โอกาสเพียงสัมผัสปลายยอดเหล็กแหลมเท่านั้น ย่อมกลิ้งตกทันที ฉันใด จิตอรหันต์ก็ฉันนั้น

    2.3.3. เปลวประทีปดับ
พระพุทธองค์ตรัสอุปมาอนุปาทิเสสนิพพาน ประดุจดังเปลวประทีปดับลงว่า พระขีณาสพเหล่าใดสิ้นภพเก่าแล้ว ไม่มีการเกิดใหม่ทั้งมีจิตเบื่อหน่ายในภพที่จะเกิดต่อไป ท่านเหล่านั้นชื่อว่า มีพืชสิ้นแล้ว ไม่มีฉันทะงอกขึ้น เป็นปราชญ์ย่อมดับสนิทเหมือนประทีปดวงนี้ดับไป นี้เป็นรัตนะอันประณีตในพระสงฆ์ (พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม 25 ข้อ 13 : 15)หมายความว่า เมื่อเปลวประทีปดับลง ย่อมหมดทั้งไขและไส้เทียน เมื่อพระอรหันต์เสียชีวิต จิตและรูปกายย่อมดับลง ไม่มีเกิดในภพภูมิ อีกต่อไป

การอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ เป็นการตีความสภาวะแห่งนิพพานได้ด้วยเช่นกัน การอุปมาน้ำบนใบบัวและเมล็ดพันธุ์ผักกาดปลายเหล็กแหลม คือ สอุปาทิเสสนิพพาน ส่วนเปลว แห่งประทีบที่ดับ คือ อนุปาทิเสสนิพพาน จากการอุปมาทั้ง 3 ประการนี้ ทำให้มนุษย์ปุถุชนตีความสภาพแห่งนิพพานได้ใกล้เคียงที่สุดแม้ภาวะจิตไม่สามารถถึงหรือสัมผัสนิพพานได้

@@@@@@@

อภิปรายผล

สภาพแห่งนิพพานอันเป็นโลกุตตระนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่สามารถอธิบายด้วยสภาวะใดๆ ทั้งสิ้นที่มีอยู่ในโลกนี้ พระองค์จึงตรัสหลังจากตรัสรู้ครั้งสมัยก่อนจะโปรดสอนสรรพสัตว์ว่า ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสลัดอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา วิราคะ นิโรธ คือ การดับไปแห่งกิเลส ตัณหาอย่างยั่งยืน ไม่เกิดอีกต่อไป ขณะตรัสรู้พระองค์เรียกว่า นิโรธ ต่อมาเรียกว่า นิพพาน อสังขตะ และคำอื่นๆอีกจำนวนมาก ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่า ต้องการสื่อสารกับผู้ฟังในท้องถิ่นนั้นๆ ให้เข้าใจและปฏิบัติตามเพื่อให้เข้าถึงภาวะพ้นทุกข์อย่างยั่งยืน คือ สอุปาทิเสสนิพพานและอนุปาทิเสสนิพพาน

กระบวนการที่เข้าถึงนิพพาน เรียกว่า สันติบท เป็นไปเพื่อบรรลุความสงบระงับกิเลส ความแจ่มแจ้งของจิต สันติบทนั้นได้แก่ สติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 ซึ่งพระพุทธองค์ตรัสหมวดธรรมเหล่านี้ว่า โพธิปักขิยธรรม ธรรมที่เป็นฝ่ายแห่งการตรัสรู้พระนิพพาน หมวดใดหมวดหนึ่ง ที่จะเหมาะสมแก่จริตของผู้ปฏิบัติ

เมื่อบรรลุถึงสันติบทแล้ว มรรค ผล นิพพานก็เป็นเรื่องเดียวกัน ภาษาบาลีว่า อาโลโก ญาณํ จกฺขุํ นิพพานํ อังกฤษว่า Enlightenment นิพพานพอมีสภาพให้ปุถุชนรู้ได้ด้วยบทพยัญนะ อักขระ ชื่อ ไวพจน์ต่าง ๆ อันประกอบด้วยกาล เวลา สถานที่ บุคคล อุปมา มาเกี่ยวข้องเพื่อให้ปุถุชนหาแนวทางที่เหมาะสมกับจริตอันจะนำไปสู่ความเข้าใจหลักแห่งบรมธรรม คือ การไม่เกิดแห่งทุกข์อีกต่อไป

แต่พอถึงกาลเวลาผ่านไป 2,500 กว่าปี นิพพานอันเป็นอุดมธรรมอาจผิดเพี้ยนไปจากพุทธประสงค์ จึงต้องอาศัยการตีความจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิมาช่วยในการไขรหัสเข้าไปสู่ความจริงที่พระพุทธเจ้าประสงค์จะให้ถึงเป้าหมายนั้นอย่างถูกต้องที่สุด

@@@@@@@

สรุป

ชื่อหรือไวพจน์ของนิพพานที่ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถาและคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรววาทนั้นมีจำนวนมาก บท แต่ที่ใช้ในพระไตรปิฎกจำนวนมากได้แก่ นิโรธ แปลว่า ดับทุกข์ , นิพพาน แปลว่า ไม่มีเครื่องผูกมัด อสังขตะ มีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเมื่อว่าโดยสภาวะ 2 ประเภท คือ สอุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายแต่ชีวิตยังไม่ตาย และ อนุปาทิเสสนิพพาน กิเลสตายและชีวิตตาย

สมัยปัจจุบันการจะเข้าถึงนิพพานตามพุทธประสงค์ต้องอาศัยศาสตร์แห่งการตีความมาช่วย การตีความนิพพานในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สรุปโดยย่อแล้วมี 3 ประการ คือ
    (1) โดยพยัญชนะ
    (2) โดยสภาวะ
    (3) โดยอุปมา กล่าวเปรียบเทียบสภาพแห่งนิพพาน

แท้จริง นิพพานเป็นโลกุตตระไม่สามารถอธิบายด้วยภาษาโลกได้ พระพุทธเจ้าจึงพยายามอธิบายได้ด้วยภาษาแห่งโลกิยะ อันเป็นกุศโลบายให้สรรพสัตว์เข้าไปสู่โลกุตตระ คือ นิพพาน







ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความจาก : วารสารพุทธศาสตร์ศึกษา ปีที่ 10 ฉบับที่ 1 | มกราคม - มิถุนายน 2562

บรรณานุกรม :-
กัจจายนเถระ. (2536). คัมภีร์ปทรูปสิทธิแปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : อุษาการพิมพ์.
คันถรจนาจาริยเถระ. (2552). สัมภารวิบาก. กรุงเทพมหานคร: ส.ธรรมภักดี.
นววิมลเถโร. (2542). อภิธมฺมตฺถสงฺคหฎีกา. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2538). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. กรุงเทพมหานคร: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
________. (2541). พุทธธรรม. กรุงเทพมหานคร: มูลนิธิพุทธธรรม.
________. 2542. กรณีธรรมกาย. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสารจำกัด.
________.(2554). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. กรุงเทพมหานคร: ธรรมสภา.
________. (2555). พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร. กรุงเทพมหานคร : คิงออฟแอนด์เวอร์ไทซิ่ง.
พระมหากัจจายนเถระ. (2550). เนตติปกรณ์. พระคันธสาราภิวงศ์ แปลและอธิบาย. กรุงเทพมหานคร : ไทยรายวันการพิมพ์.
พุทธโฆสมหาเถระ. (2539). วิสุทฺธิมคฺคปกรณํ (ปฐโม ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
พุทธทาส อินทปญฺโญ. (2553). เทศนาชุดสุดท้ายของพุทธทาส : หัวใจนิพพาน กรุงเทพมหานคร : ฐานการพิมพ์.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2545), พระไตรปิฎกภาษาบาลีฉบับมหาจุฬาเตปิฎกํ 2500 กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
โมคคัลลานเถระ.(2550). คัมภีร์อภิธานวรรณนา. พระมหาสมปอง มุทิโต แปลและเรียบเรียง. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา
โมคคัลลานเถระ.(2536). พระคัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา. กรุงเทพมหานคร: มหามกุฏราชวิทยาลัย.
หลวงเทพดรุณานุศิษย์. (2550). ธาตุปฺปทีปกา. กรุงเทพมหานคร : มหามกุฏราชวิทยาลัย.
อัคควังสเถระ. (2546). ธาตุมาลา. กรุงเทพมหานสิริมงฺคลาจาริโย (2535). มงฺคลตฺถทีปนี(ทุติโย ภาโค). กรุงเทพมหานคร : มหามกุฎราชวิทยาลัย.
สุมาลี มหณรงค์ชัย. (2546). ฮินดู-พุทธ จุดยืนที่แตกต่าง. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิพม์ศยาม

หน้า: [1] 2 3 ... 10