ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กฎพระสงฆ์ รัชกาลที่ 1 ตำหนิพระไม่ทำตามพระวินัย ฆราวาศขาดปัญญา  (อ่าน 177 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ภาพประกอบเนื้อหา - พระสงฆ์สยามในอดีต


กฎพระสงฆ์ รัชกาลที่ 1 ตำหนิพระไม่ทำตามพระวินัย ฆราวาศขาดปัญญา

ภายหลังสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงดำเนินการปฏิรูปฟื้นฟูพุทธศาสนา ด้านต่างๆ ในส่วนการปกครองและควบคุมคณะสงฆ์ ทรงประกาศใช้ “กฎพระสงฆ์” อันเป็นกฎหมายที่ใช้เพื่อบังคับพระสงฆ์และบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวของกับพุทธศาสนา ซึ่งมีทั้งหมด 10 ข้อ (10 ฉบับ) ซึ่งเป็นแบบอย่างของกฎหมายปกครองคณะสงฆ์ในสมัยหลังๆ จนปัจจุบัน

ในที่นี้ขอนำ กฎพระสงฆ์ ข้อ 6 (ฉบับ 6) ที่อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์วัดโมลีโลกยาราม (www.watmoli.com) ไว้ดังนี้

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ฉบับ (6)

กฎให้ไว้แก่สังฆการีธรรมการ พระราชาคณะ เจ้าอธิการ อนุจรแลข้าทูลละอองธุลีพระบาทผู้ใหญ่ผู้น้อย ข้างน่า ข้างใน ฝ่ายทหาร พลเรือน ผู้รั้งกรมการ อาณาประชาราษฎรนอกกรุง ในกรุง แขวง จังหวัด หัวเมือง 1-2-3-4 ตวันตก ตวันออก ปากใต้ ฝ่ายเหนือทั้งปวง จงทั่ว

สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณธรรมอนันตาสัมภาราดิเรกพิบูลสุนธรราชศรัทธา เปนอัคมหาสาศนุปภัมถกพระพุทธสาศนา  จำเริญศรีสวัสดิทั้งพระบริญัติแลฏิปติสาศนาให้ถาวรารุ่งเรืองไปเปนที่เลือมไสยนมัศการบูชาแก่เทพยดามนุษยทั้งปวง เสด็จออก ณ พระที่นั่งดุสิดามหาปราสาทโดยบูรพาภิมุข พร้อมด้วยอัคมหามนตรีกระวีชาติราชปะโรหิตาโหราราชบัณฑิตยเฝ้าพระบาทบงกชมาศ

สมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิทราชธรรมอันประเสริฐ ตรัสเหนือเกล้า ฯ สั่งว่า แต่ก่อนฆราวาศผู้จะทำทานแก่ภิกษุสงฆ์ โดยต่ำแต่เข้าทัพพีหนึ่งก็มีผลปรากฎในชั่วนี้ชั่วน่า เพราะพระภิกษุผู้รับทานนั้นทรงศีลบริสุทธิ์ ฝ่ายฆราวาศผู้จะให้ทานนั้น ก็มีปัญญาย่อมตักเตือนมิได้เกียจคร้าน จ่ายทรัพยตกแต่งทานประณีตบันจงเปนจัตุปัจจัยทานตามพระพุทธโอวาทตรัสสอนไว้ แลผู้ให้ผู้รับทั้งสองฝ่ายสุจริตดีจริง จึ่งให้ผลมากประจักในชั่วนี้ชั่วน่าสืบมา

ทุกวันนี้ ภิกษุแลสามเณรผู้รับทานรักษาสิกขาบทนั้น ก็ฟั่นเฟือนมักมาก โลภรับเงินทองของอันมิควรด้วยกิจพระวินัยสั่งสมทรัพยสิ่งของ เที่ยวผสมประสานทำการของฆราวาศ การสพ การเบญจา เปนหมอนวดหมอยาหมอดู ใช้สอยอาษาการคฤหัฐแลให้สิ่งของต่าง ๆ แก่คฤหัฐ เพื่อจะให้เปนประโยชน จะให้เกิดลาภเลี้ยงชีวิตรผิดธรรม มิควรนัก

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

แม้ว่าท่านพระอุประคุตเถรเจ้า อันเปนอรหรรตเหมือนน้ำเต็มกระออมอยู่แล้ว เมื่อรับปัฏิญาณพระมหาเถระทั้งปวงที่จะธรมานพระยามาร เมื่อกระทำการฉลองพระวิหารแปดหมื่นสี่พันนั้น จึ่งกล่าวแก่พระสงฆ์ทั้งปวงว่า ข้าพเจ้าจะพึงได้อาหารที่ชอบธรรมที่ใดมาฉันเปนกำลัง ภิกษุองค์หนึ่งจึ่งรับว่า ข้าพระเจ้าจะรับถวาย พระอุประคุตจึ่งถามว่าอาหารของท่านได้ด้วยเหตุอันใด

ภิกษุจึ่งบอกว่า อาหารนี้ข้าพระเจ้าได้ด้วยผลทาน เมื่อครั้งข้าพระเจ้าเปนภิกษุแต่ชาติก่อนเปนตระกูลพราหมณ์แห่งหนึ่ง ทายกเขานิมนตเข้าไปฉันมธุปายาศ ข้าพระเจ้าฉันอิ่มพ้นประมาณ ล้วงคอรากมธุปายาศออก ให้ทานแก่แม่สุนักจักษุบอด ด้วยผลทานนี้ให้บังเกิดอาหารทิพยแก่ข้าพระเจ้าวันละสองบาตรเหล็ก ข้าพระเจ้าขอถวายแก่พระผู้เปนเจ้า พระอุประคุตห้ามว่า อาหารของท่านหาชอบธรรมไม่ เหตุว่าท่านบริโภคเหลือประมาณจำเปนให้ทาน

แลภิกษุองค์หนึ่งจึ่งว่า อาหารของข้าพระเจ้าบังเกิดด้วยผลทานแต่ชาติก่อน ข้าพระเจ้าภาภิกษุเพื่อนของข้าพระเจ้า เข้าไปในเรือนบิดาข้าพระเจ้าวันละสี่รูปทุกวัน ด้วยผลทานนั้น ก็บังเกิดอาหารทิพยแก่ข้าพระเจ้าในชาตินี้วันละสี่บาตรเหล็ก จะขอถวายพระผู้เปนเจ้า พระอุประคุตเถรเจ้าก็ห้ามเสียว่า อาหารแห่งท่านบังเกิดแต่ตัณหาสัณฐวะ บิดาท่านรักท่านจึ่งพลอยให้ภิกษุสี่รูปฉัน เรามิควรจะบริโภค

อนึ่ง พระษาริบุตรเถรเจ้าป่วยอุทรโรค ๆ นั้น ชอบฉันมธุปายาศหาย  จึ่งบอกแก่พระโมคคัลลานะเถรเจ้า ๆ ก็ว่าจะไปบิณฑบาตรตามบุญ เทพยดาฟังสนทนา ก็ไปสู่โยมอุปฐากพระษาริบุตรเถรเจ้าเข้าบิดคอ จึ่งชนทั้งปวงถามว่าท่านกระทำเบียดเบียนมนุษยดังนี้ จะปรารถนาสิ่งใด เทพยดาบอกว่า เราปรารถนาเข้ามธุปายาศ ให้พวกท่านทำถวายพระษาริบุตรเถรเจ้า ชนทั้งปวงจึ่งว่าเราจะทำถวายท่าน จงออกไปเถิด

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

เทพยดาก็ออกจากกาย ชนทั้งหลายก็กระทำมธุปายาศ เวลาเช้าใส่บาตรพระโมคคัลลานะๆ จึ่งนำมาถวายพระษาริบุตรเถรเจ้า ๆ พิจารณาก็แจ้งว่าอาหารนี้ มิชอบธรรม เกิดแต่เทพยดาไปเบียดเบียนบอกกล่าวขอเอามธุปายาศ  จึ่งกล่าวว่าดูกรอาวุโสโมคคัลลานะ อาหารนี้มิเปนธรรม แม้ใส้เราจะขาดออกมาถึงแก่ความตาย ก็ดูประเสริฐกว่าการบริโภคอาหารอันมิชอบธรรมนี้อีก ท่านจงไปเทเสียทั้งบาตรเถิด พระโมคคัลลานะก็เทเสีย แต่มาทว่าพระโมคคัลลานะคว่ำบาตรเทอาหารตกเหนือดิน ด้วยอำนาจอาชีวะปาริสุทธิศีลอันบริสุทธิ์ พระษาริบุตรเถรเจ้า ก็หายอุทรโรคในขณะนั้น เปนเยี่ยงอย่างพระอาจาริยเจ้าประพฤติมาฉนี้

แลภิกษุทุกวันนี้บวชเข้ามิได้กระทำตามพระวินัย ปติบัติเหนแต่จะเลี้ยงชีวิตรผิดธรรม ให้มีแต่เนื้อหนังบริบูรณ ประดุจโคกระบือมีแต่บริโภคอาหารให้จำเริญเนื้อหนัง จะได้จำเริญสติปัญญานั้นหามิได้ เปนภิกษุสามเณรลามกในพระสาศนา

ฝ่ายฆราวาศก็ปราศจากปัญญา มิได้รู้ว่าทำทานฉนี้ จะเกิดผลมากน้อยแก่ตนหามิได้ มักภอใจทำทานแก่ภิกษุสามเณรอันผสมประสานทำการของตนจึ่งทำทาน บางคนยังมักง่าย ถวายเงินทองของอันเปนอะกัปิยะมิควรแก่สมณะ สมณะก็มีใจโลภสั่งสมทรัพยเลี้ยงชีวิตรผิดพระพุทธบัญญัติฉนี้ ได้ชื่อว่าฆราวาสหมู่นั้น ให้กำลังแก่ภิกษุโจรอันปล้นพระสาศนา ทานนั้นหาผลมิได้ชื่อว่าทำลายพระสาศนา

แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ห้ามมิให้ภิกษุสามเณรสงเคราะหฆราวาศให้ผลไม้ดอกไม้ใบไม้เปนต้น แล้วอย่าให้ผสมประสาน ขอกล่าวป่าวร้องเรี่ยไรสิ่งของอันเปนของฆราวาศอันมิใช่ญาติ แล้วอย่าให้ทำการสพแลทำเบญจาการฆราวาศทั้งปวง แล้วอย่าให้เปนหมอนวด หมอยา หมอดูต่าง ๆ แลอย่าให้แก่คฤหัฐอันมิใช่ญาติ แลห้ามอย่าให้เปนทูตใช้สอยนำข่าวสารการฆราวาศ แลห้ามบันดาการทั้งปวง อันกระทำผิดจากพระปาฏิโมกขสังวรวินัย


๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ภิกษุรูปใดมีอธิกรณข้อใหญ่ สงฆ์พิภากษามิถ่องแท้เปนฉายาเงาปาราชิกควรจะเสีย อยู่ข้างการลามกในพระสาศนา เปนที่สงไสยสงฆ์ทั้งปวงอยู่แล้ว อย่าให้เอาไว้ให้ศึกเสีย เหตุภิกษุเหล่านี้ ครั้นกระทำผิดข้อใหญ่แล้ว ก็มิได้กลัวไภยในนรกกลัวไภยในประจุบัน  มากครั้งเอามาถามหารับตามจริงไม่ มักทนสบถษาบาล ให้การเคลือบแฝงฉะนี้ มีเปนอันมาก

อนึ่ง ห้ามฝ่ายฆราวาศทั้งปวง อย่าให้ถวายเงินทองนากแก้วแหวนแลสิ่งของอันมิควร แก่สมณะเปนต้น แลทองเหลืองทองขาวทองสำฤทธแก่ภิกษุสามเณร แลห้ามอย่าให้ถวายบาตร นอกกว่าบาตรเหล็กบาตรดิน แลนิมนตใช้สอยพระภิกษุสามเณร ให้ทำการสพการเบญจาแลให้นวดแลทำยา ดูลักขณะ ดูเคราะห แลวาดเขียนแกะสลักเปนรูปสัตว แลใช้นำข่าวสารการฆราวาศต่าง ๆ

แลห้ามบันดาการภิกษุสามเณร กระทำผิดจากพระปาฎิโมกขสังวรวินัยที่พรรณนาห้ามแล้วนั้น อย่าให้ฆราวาสทำตามน้ำใจภิกษุสามเณรอันกระทำเปนอันขาดทีเดียว

ถ้าแลพระราชาคณะเจ้าอธิการ ภิกษุสามเณร ฆราวาศแลสังฆการีธรรมการผู้ใดมิได้กระทำตามพระราชกำหนดกฎหมายนี้ แลละเมินเสียมิได้กำชับว่ากล่าวกันกระทำให้ผิด พระสาศนาเศร้าหมองดุจหนึ่งแต่ก่อนนั้น ฝ่ายพระราชาคณะ เจ้าอธิการภิกษุสามเณร จะเอาญาติโยมเปนโทษ ฝ่ายฆราวาศทั้งปวงจะให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีตามโทษานุโทษ

กฎให้ไว้ ณ วันอาทิตย เดือนแปด ขึ้นสิบห้าค่ำ จุลศักราช 1145 ปีเถาะ นักษัตรเบญจศก ฯ  [จัดย่อหน้าใหม่และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]

อ่านเพิ่มเติม :-
    - 40 ท่วงท่าลีลาสตรีเกี้ยวบุรุษ เมื่อหญิงแพศยาเย้ายวนพระสงฆ์สมัยพุทธกาล
    - คำว่า “โยม” มาจากไหน? เหตุใดพระสงฆ์จึงเรียกฆราวาสว่า “โยม”





ขอขอบคุณ :-
ผู้เขียน : เสมียนนารี
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2566
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 6 พฤษภาคม 2565
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_86582
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2023, 05:51:13 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ