ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โบสถ์พราหมณ์ของเรา หัวใจอีกดวงหนึ่งของพระนคร  (อ่าน 201 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

(ซ้าย) เทวรูปพระอิศวร, (ขวา) เทวรูปพระนารายณ์


โบสถ์พราหมณ์ของเรา หัวใจอีกดวงหนึ่งของพระนคร

เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ทรงสร้างพระนครฯ ในบรรดาพระราชกรณียกิจของพระองค์ที่ทรงกระทำตอนต้นของรัชกาล มีการสร้างเทวสถาน หรือ โบสถ์พราหมณ์ และชะลอเทวรูปพระอิศวร พระพิฆเนศวร์ และพระนารายณ์ ลงจากสุโขทัยมาประดิษฐานไว้เป็นสิริมงคลแก่พระนครฯ

มีหลักฐานว่าเทวรูปทั้งสามนี้เป็นของพญาลิไทหล่อไว้ราวๆ พ.ศ. 1900 แล้วประดิษฐานไว้ใน “เทวลัยมหาเกษตร” ที่อยู่ใกล้วัดป่ามะม่วงเบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัย (จารึกวัดป่ามะม่วง)

เทวรูปทั้งสามดูเหมือนจะเป็นชุดเดียวกัน แต่จารึกวัดป่ามะม่วงกล่าวถึงเฉพาะพระอิศวรและพระนารายณ์ ไม่กล่าวถึงพระพิฆเนศวร์ รูปหลังจึงเป็นที่สงสัยอยู่ แต่น่าสันนิษฐานว่ามาจากสุโขทัยเพราะลักษณะทางศิลปะอำนวนให้เข้าใจอย่างนั้น

ถ้าท่านผู้อ่านจะไปไหว้เทวสถานสำหรับพระนครฯ ทุกวันนี้ (ที่เข้าใจว่ามาจากสุโขทัย) เป็นพระประธานในโบสถ์กลาง (โบสถ์พระพิฆเนศวร์) พร้อมทั้งรูปพระพิฆเนศวร์หินสมัยขอมและทวารวดีที่น่าสนใจยิ่ง

แต่ถ้าท่านเข้าโบสถ์ใหญ่ (โบสถ์พระอิศวร) หรือโบสถ์เหนือ (โบสถ์พระนารายณ์) ท่านจะไม่พบเทวรูปที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ให้ชะลอลงมาจากสุโขทัย ซึ่งแต่ก่อนเป็นพระประธานในโบสถ์ทั้งสอง

เทวรูปทั้งสองพระองค์นี้หายไปไหน.?

ชะรอยพระอิศวรคงมิได้กลับเขาไกรลาสหรือผาเผือก และพระนารายณ์คงมิได้กลับไวกุณฑะหรือผาหอมหวาน หากแต่อยู่ใกล้ๆ กันนี้เอง นั่นคือ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกรุงเทพฯ ระหว่างสนามหลวงกับแม่น้ำเจ้าพระยาห่างเทวสถานฯ ไม่ถึงสองกิโลเมตร

เรื่องมีอยู่ว่า ในปี 2484 เกิดน้ำท่วมครั้งยิ่งใหญ่ จะเดินถนนราชดำเนินต้องอาศัยเรือ เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจอมพลแปลก พิบูลสงคราม ได้รุดเข้าโบสถ์พราหมณ์ ขอย้ายเทวรูปที่สำคัญบางรูปไปยังพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครฯ

โดยอ้างว่า ในระยะเกิดมีสงครามและน้ำท่วมหนัก กลัวว่าพราหมณ์จะรักษาเทวรูปไม่ไหว ทั้งๆ ที่เทวรูปพระอิศวรและพระนารายณ์สูงสองเท่าคน น้ำคงท่วมไม่ถึงและคงไม่มีใครใส่กระเป๋าเอาไปได้ เจ้าหน้าที่ท่านขอพระอิศวร พระนารายณ์และพระพิฆเนศวร์ชุดดังกล่าวมาแล้ว ฝ่ายพราหมณ์เจรจาต่อรองนานพอสมควร

ในที่สุด ท่านยอมให้ยกพระอิศวรและพระนารายณ์ไป

แต่พระพิฆเนศวร์ท่านไม่ยอมให้เคลื่อน พระพิฆเนศวร์จึงยังอยู่โบสถ์พราหมณ์จนทุกวันนี้

ในเมื่อท่านขอพระพิฆเนศวร์ไม่ได้ ท่านก็ขอรูปพระนางลักษมีแทน รูปพระแม่เจ้าองค์นี้ดูไม่เข้าชุดพระอิศวร พระนารายณ์สุโขทัยเลย มีลักษณะทางศิลปะออกคล้ายพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเมืองไชยาต่างหาก คืออยู่ในหมวดศิลปะปาละ รูปพระนางเจ้าองค์นี้สาบสูญสิ้น มิได้อยู่ที่พิพิธภัณฑสถานฯ เลย ชะรอยจะตกอยู่ในมือของเศรษฐี หรือว่าเหาะเหิน ใครจะไปรู้.?

ทางเทวสถานยังมีรูปถ่ายให้ดูเป็นหลักฐาน

แน่นอนทีเดียวจะต้องขอบพระคุณรัฐบาลจอมพล ป. ที่ท่านสามารถรักษาพระอิศวรเทวรูปและพระนารายณ์เทวรูปให้รอดจนชาวสยามชมความงามได้ทุกวันนี้ในพิพิธภัณฑสถานฯ และยังต้องขอบคุณคณะพราหมณ์ที่ยังรักษาพระพิฆเนศวร์เทวรูปไว้ในเทวสถาน

ปัญหามีอยู่ว่า ทุกวันนี้น้ำมิได้ท่วมเกาะรัตนโกสินทร์แล้ว และสงครามโลกครั้งที่ 2 เลิกกันมาได้ 40 กว่าปี ยังไม่ถึงเวลาหรือ ที่จะคิดกันคืนเทวรูปพระอิศวร พระนารายณ์ให้เทวสถาน ท่านจะได้อยู่คู่กับพระพิฆเนศวร์ครบชุดเหมือนดังที่พระเจ้าลิไทตั้งพระราชหฤทัยเมื่อทรงสั่งให้หล่อขึ้นมาเมื่อ 650 ปีกว่ามาแล้ว

@@@@@@@

ทำไมจึงควรคืน

นอกเหนือจากเหตุผลง่ายๆ อย่างเช่น เทวรูปสามองค์นี้เป็นชุดกัน จึงควรอยู่ที่สถานที่เดียวกัน และพิพิธภัณฑ์ฯ ได้เพียงขอยืมไปรักษาชั่วคราว ยังมีเหตุผลที่ควรพิจารณาอีกหลายข้อ นั่นคือ :-

พระอิศวรพระนารายณ์คู่นี้ คือโบราณวัตถุเป็นๆ (Living Antiques) จึงสมควรที่จะอยู่ในโบราณสถานเป็นๆ (Living Monument)

ที่ว่าเทวรูปนี้ยัง “เป็น” อยู่ก็เพราะท่านมิได้ปรักหักพังเศียรขาดขาขาดแขนขาด แต่ท่านยังสมบูรณ์เรียบร้อยสวยงามน่าเคารพบูชา และยังมีคนแอบทำความเคารพบูชาจนทุกวันนี้ ทั้งปัญญาชนชั้นสูงและตาสีตาสาชาวบ้านนอก เพราะทั้งสองฝ่ายมีรสนิยมรู้ว่าอะไรดีงามควรเคารพ

ส่วนเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครฯ ที่ตำบลเสาชิงช้านั้นก็คือ โบราณสถาน “เป็นๆ” เช่นเดียวกับวัดพระพุทธชินราช มันมีมาแต่เก่าก่อนโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นผู้ให้ตั้ง ยังทำพระราชกุศลถวายพระราชวงศ์ปัจจุบัน และชาวบ้านชาวตลาดยังเข้ากราบไหว้เนืองๆ

ดังนั้น เทวรูป “เป็นๆ” สมควรจะอยู่ในเทวสถาน “เป็นๆ” เช่นโบสถ์พราหมณ์

หากเทวรูปถูกทอดทิ้งจนปรักหักพังก็สมควรจะรักษาซากไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อป้องกันไม่ให้เสียหายอีกต่อไปและเพื่อประชาชนได้ศึกษารู้เห็น หรือหากเทวสถานดีๆ ไม่มีแล้วในพระนคร ก็จำเป็นจะต้องเก็บเทวรูปไว้ในพิพิธภัณฑ์จะดีกว่า

แต่ที่นี่เทวรูปยังดี โบสถ์พราหมณ์ยังดี ทำไมเทวรูปต้องอยู่พิพิธภัณฑ์ฯ มันเหมือนให้คนสุขภาพดีไปอยู่ในโรงพยาบาล

ยังไม่หมดเหตุผล.!

ปัจจุบันนี้ผู้มีปัญญาไม่ว่าไทยหรือเทศที่เข้าพิพิธภัณฑ์ฯ จะได้ชมโฉมพระอิศวร พระนารายณ์ แต่จะต้องชมท่าน “ผิดที่” และจะต้องอดชมพระพิฆเนศวร์เพราะท่านยังอยู่ทีโบสถ์พราหมณ์

ในขณะเดียวกันผู้มีศรัทธาจะเข้าโบสถ์พราหมณ์ก็ได้บูชาพระพิฆเนศวร์ แต่อดเห็นพระพักตร์พระอิศวร พระนารายณ์องค์ใหญ่องค์งาม เพราะท่านถูก “ยืม” ไปกว่า 40 กว่าปีแล้ว

แต่ถ้าหากว่านำเทวรูปพระอิศวรพระนารายณ์กลับมาอยู่เทวสถานดังเก่า ผู้มีศรัทธาอยากไหว้บูชาจะได้สมหวัง และนักปราชญ์ทั้งไทยและเทศจะได้ชมโฉมเทวดาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พอๆ กับการชมหลวงพ่อพระพุทธชินราช ในสุคนธกุฎีของท่านที่พิษณุโลก

@@@@@@@

ยังมีเหตุผลอีก.!

การจะคืนเทวรูปและตั้งให้เทวสถานเป็นสาขา (Annexe) ของพิพิธภัณฑ์ฯ เป็นการเพิ่มสถานที่เที่ยวชมให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่มีการศึกษาสูงอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมสยามโดยแท้

ผิดกับสถานเริงรมย์และสถานที่แสดงศิลปวัฒนธรรมจอมปลอม ซึ่งมีไว้เกลื่อนกลาดจนคนไทยเอือมระอาไม่อยากชม และฝรั่งดีๆ ไม่อยากกลับมาเห็นอีก

และการจะตั้งเทวสถานเป็นสาขาของพิพิธภัณฑ์ฯ จะเป็นการเพิ่มสถานที่เที่ยวชมที่มีคุณภาพสูงโดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเพียงน้อยนิด คือตั้งให้มีหน่วยงานรักษาความปลอดภัยและหน่วยงานเก็บค่าเข้าชม ต่อไปพิพิธภัณฑ์ฯ เทวาลัยโบสถ์พราหมณ์จะได้เลี้ยงชีพตัวเองในขณะที่ให้กุศล ความรู้และความเพลิดเพลินแก่คนดีๆ ทั้งไทยและเทศ

ประการสุดท้าย

ประการสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ การที่จะนำเทวรูปกลับสู่เทวสถานดังเดิมจะเป็นการสนองพระเดชพระคุณรัชกาลที่ 1 ผู้เป็นผู้อัญเชิญเทวรูปลงจากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานไว้ในเทวสถานโบสถ์พราหมณ์สำหรับพระนครฯ ตำบลเสาชิงช้า

คนเราปัจจุบันมีสองทาง คือทำตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 1 ให้เทวดาอยู่เทวสถาน หรือจะทำตามรัฐบาลจอมพล ป. ให้เทวรูปอยู่ผิดที่.? เทวรูปอยู่พิพิธภัณฑ์ฯ ผมไม่ว่าเพราะอย่างน้อยท่านยังปลอดภัย แต่ถ้าส่งคืนให้เทวสถานฯ แล้ว เทวรูปจะมีความหมายมากขึ้น จะเป็นสิริมงคลแก่ชาวสยามและเป็นที่น่าสนใจยิ่งสำหรับชาวต่างประเทศ

อ่านเพิ่มเติม :-
    - “พระคเณศ” ไม่ใช่ “เทพศิลปะ” รัชกาลที่ 6 ทรงทำให้เป็นเทพศิลปะ
    - ร่องรอย ตำนานเทพนิยายกรีก-โรมัน ในโบราณวัตถุที่ค้นพบในไทย-อินเดีย






ขอขอบคุณ :-
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2531
ผู้เขียน : ไมเคิล ไรท์
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2560
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 23 กรกฎาคม 2560
website : https://www.silpa-mag.com/history/article_10872
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 05, 2023, 05:21:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ