ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “อมนุษย์” ในรตนสูตร (แต่) ...โควิด-19 ไม่ใช่อมนุษย์  (อ่าน 661 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




“อมนุษย์” ในรตนสูตร (แต่) ...โควิด-19 ไม่ใช่อมนุษย์


ในฉบับที่แล้ว ได้เขียนรตนสูตร เป็นภาษาบาลีไว้ 6 พระคาถา ตั้งใจจะเขียนให้จบในฉบับนี้ ซึ่งรตนสูตรทั้งหมดมี 14 พระคาถา แต่ได้ฟังพระสงฆ์ที่วัดแห่งหนึ่ง ท่านกล่าวในวันที่สวดมนต์ทั่วประเทศเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า รตนสูตรที่ท่านสวดมี 11 พระคาถา ก็เลยคิดว่าจะเขียนถึงรตนสูตรทั้ง 14 พระคาถา อีกครั้งหนึ่งตั้งแต่พระคาถาที่ 1 ใหม่ และจะวางพระคาถานั้นใหม่ โดยเรียงพระคาถาให้พิมพ์บาทละบรรทัด ไม่ใช่บรรทัดละ 2 บาทคู่กัน อย่างที่เขียนในฉบับที่แล้ว ซึ่งยากแก่การพิมพ์ให้เข้าใจง่าย

ขออธิบายเพิ่มเติมอีกว่า คำฉันท์ในภาษาบาลีเรียกฉันท์จำนวน 1 บรรทัดเป็น 1 บาท (ถ้าเรียงฉันท์เป็นคู่ ก็เรียกฉันท์ว่า 2 บาท) ไม่มีคำว่า “วรรค” อย่างในบทกลอนของไทยที่เรียกกลอน 2 บาท เป็น 1 วรรค และเรียกกลอน 4 บาท หรือ 2 วรรคเป็น 1 บท

คำฉันท์ในภาษาบาลีเรียกฉันท์ 4 บาท (4 บรรทัด อย่างที่เขียนในวันนี้) เป็น 1 คาถา (ไม่เรียกว่าฉันท์ 1 บท) ถ้าจำนวนคาถาเกินไป 2 บรรทัด เรียกฉันท์ที่เกินไปนั้นว่า “กึ่งคาถา” (ซึ่งมีอยู่บ่อยๆ)

(ส่วนที่เรียกว่า “พระคาถา” หมายถึงคาถาที่ตรัสโดยพระพุทธเจ้า และคำว่า “คาถา” นี้แหละ กลายมาเป็น “คาถาอาคม” ในภาษาไทย ในภาษาไทยเมื่อพูดว่าคาถา มักจะเข้าใจว่าเป็น คาถาอาคม แต่ความจริง คาถาหมายถึงบทร้อยกรองหรือฉันท์ในภาษาบาลี)

@@@@@@

เพื่อให้เห็นชัดว่า รตนสูตร 14 พระคาถา ว่าอย่างไรบ้าง ขอกล่าวรตนสูตร (ในรูปคาถา) ที่เป็นคาถาบาลีทั้ง 14 พระคาถา ให้จบรวดเดียว ส่วนคำแปลก็จะวางรวมกันหลังจากฉันท์ หรือพระคาถาบาลี โดยใส่หมายเลขในวงเล็บ ให้รู้ว่าเป็นคำแปลของพระคาถาที่เท่าใด ดังนี้

พระคาถาที่ 1
ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ,
ภุมฺมานิ วา ยานิ ว อนฺตลิกฺเข
สพฺเพว ภูตา สุมนา ภวนฺตุ,
อโถปิ สกฺกจฺจ สุณนฺตุ ภาสิตํ ฯ

พระคาถาที่ 2
ตสฺมา หิ ภูตา นิสาเมถ สพฺเพ,
เมตฺตํ กโรถ มานุสิยา ปชาย
ทิวา จ รตฺโต จ หรนฺติ เย พลึ,
ตสฺมา หิ เน รกฺขถ อปฺปมตฺตา,

พระคาถาที่ 3
ยงฺ กิญฺจิ วิตฺตํ อิธ วา หุรงฺ วา,
สคฺเคสุ วา ยํ รตนํ ปณีตํ
น โน สมํ อตฺถิ ตถาคเตน
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 4
ขยํ วิราคํ อมตํ ปณีตํ
ยทชฺฌคา สกฺยมุนี สมาหิโต
น เตน ธมฺเมน สมตฺถิ กิญฺจิ
อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 5
ยมฺพุทฺธเสฏฺโฐ ปริวณฺณยี สุจึ
สมาธิมานนฺตริกญฺญมาหุ
สมาธินา เตน สโม น วิชฺชติ
อิทมฺปิ ธมฺเม รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 6
เย ปุคฺคลา อฏฺฐสตํ ปสตฺถา
จตฺตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนฺติ
เต ทกฺขิเณยฺยา สุคตสฺส สาวกา
เอเตสุ ทินฺนานิ มหปฺผลานิ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 7
เย สุปฺปยุตฺตา มนสา ทฬฺเหน
นิกฺกามิโน โคตมสาสนมฺหิ
เต ปตฺติปตฺตา อมตํ วิคยฺห
ลทฺธา มุธา นิพฺพุตึ ภุญฺชมานา
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 8
ยถินฺทขีโล ปฐวึ สิโต สิยา
จตุพฺพิ วาเตภิ อสมฺปิกมฺปิโย
ตถูปมํ สปฺปุริสํ วทามิ
โย อริยสจฺจานิ อเวจฺจ ปสฺสติ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 9
เย อริยสจฺจานิ วิภาวยนฺติ
คมฺภีปรญฺเญน สุเทสิตานิ
กิญฺจาปิ เต โหนฺติ ภุสปฺปมตฺตา
น เต ภวํ อฏฺฐมาทิยนฺติ
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 10
สหาวสฺส ทสฺสนสมฺปทาย
ตยสฺสุ ธมฺมา ชหิตา ภวนฺติ
สกฺกายทิฏฺฐิ วิจิกิจฺฉิตญฺจ
สีลพฺพตํ วาปิ ยทตฺถิกิญฺจิ
จตูหปาเยหิ จ วิปฺปมุตฺโต
ฉ จาภิฐานานิ อภพฺโพ กาตํ,
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 11
กิญฺจาปิ โส กมฺมํ กโรติ ปาปกํ
กาเยน วาจายุท เจตสา วา
อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย
อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 12
วนปฺปคุมฺเพ ยถา ผุสฺสิตคฺเค
คิมฺหานมาเส ปฐมสฺมึ คิมฺเห
ตถูปมํ ธมฺมวรํ อเทสยิ
นิพฺพานคามึ ปรมํ หิตาย
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 13
วโร วรญฺญู วรโท วราหโร
อนุตฺตโร ธมฺมวรํ อเทสยิ
อิทมฺปิ พุทฺเธ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ

พระคาถาที่ 14
ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ
วิรตฺตจิตฺตายติเก ภวสฺมึ
เต ขีณพีชา อวิรุฬฺหิฉนฺทา
นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป
อิทมฺปิ สงฺเฆ รตนํ ปณีตํ
เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ ฯ


@@@@@@

คำแปลรตนสูตร ( 14 พระคาถา) :

(1) ภูตทั้งหลายเหล่าใด เป็นพวกอยู่พื้นดินก็ตาม เป็นพวกอยู่ในอากาศก็ตาม ที่พร้อมเพรียงกันอยู่ในที่นี้ ขอให้ภูตทั้งปวงเหล่านั้นทั้งหมด จงเป็นผู้มีน้ำใจดี กับทั้งขอเชิญฟังคำที่ข้าพเจ้ากล่าว (สวด) โดยเคารพ (คำว่า “ภูต” ในที่นี้ หมายถึงอมนุษย์ ตรงกับคำว่า “ภูตผี” ในภาษาไทย หรือที่มีบางท่านใช้คำว่า “สัมภเวสี” นั่นเอง แต่ในทางพุทธศาสนา ทุกวิญญาณล้วนไปเกิดเป็นภูตทันที ไม่มีการแสวงหาที่เกิดหรือแสวงหาภพแต่อย่างใด)

(2) เพราะเหตุนั้น ภูตทั้งหลายเอย ขอท่านทั้งปวงจงฟัง พวกท่านจงสร้างความเป็นมิตรแก่ชาวมนุษย์ มนุษย์เหล่าใดที่นำเครื่องพลีกรรม (เครื่องไทยธรรม หรือของทำบุญอุทิศ) มาแก่พวกท่าน ทั้งในกลางวันและกลางคืน ด้วยเหตุนั้นแล ขอท่านทั้งหลายจงรักษาคุ้มครองพวกมนุษย์เหล่านั้น อย่าได้ประมาท

(3) ทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรัตนะ (ของมีค่า) อันสูงค่า(ประณีต) ใดๆ ในโลกนี้หรือในโลกอื่น หรือในสวรรค์ทุกชั้น ทรัพย์หรือรัตนะนั้นที่จะเสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันสูงส่ง (ประณีต) เพียงนี้ ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย (สุวัตถิ) จงบังเกิดมี (โปรดสังเกตว่า คำว่า ภูต ในพระคาถานี้ หมายรวมไปถึงเทวดาในสวรรค์ด้วย นอกเหนือจากภูตผีหรืออมนุษย์บนพื้นดินและในอากาศ

ขอยกคำแปลรตนสูตรและข้อสังเกตไปในฉบับหน้านะครับ




ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/144241
คอลัมน์ : คนข้างวัด โดยอุทัย บุญเย็น
สยามรัฐออนไลน์ ,4 เมษายน 2563, 00:10 น. ,ศาสนา-ความเชื่อ
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28437
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
อมนุษย์ใน “รตนสูตร” คือ “ภูต(ผี)” ไม่ใช่ สัมภเวสี”
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 25, 2020, 05:36:07 am »
0



อมนุษย์ใน “รตนสูตร” คือ “ภูต(ผี)” ไม่ใช่ สัมภเวสี”

อยากจะเขียนเรื่อง “สัมภเวสี” ของ “หมอปลา” หรือ หมอผีชื่อ จีระพันธ์ เพชรขาว ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในวงการทีวี และโซเชียล (มือถือ) แต่ก็เขียนยังไม่ได้ เพราะยังแปล “รตนสูตร” ที่พระพุทธเจ้าสอนให้พระอานนท์เรียนเอาเพื่อนำไปสาธยาย(สวด) พวกอมนุษย์ที่รอบเมืองเวสาลีฟัง

ขอทำความเข้าใจกับท่านที่เพิ่งมาอ่าน “คนข้างวัด” ว่า ในฉบับที่แล้วได้แปลรตนสูตรได้ 3 พระคาถา (จากทั้งหมด 14 พระคาถา) ได้ใส่หมายเลขในวงเล็บให้รู้ว่า วงเล็บที่ 1 เป็นคำแปลรตนสูตรในพระคาถาที่ 1 วงเล็บที่ 2 เป็นคำแปลรตนสูตรในพระคาถาที่ 2 เป็นต้น

(4) พระธรรมใด เป็นที่สิ้นกิเลส ปราศจากราคะ เป็นอมตะ (และ) ประณีต (สูงส่ง) ซึ่งพระพุทธเจ้าผู้มีจิตเป็นสมาธิ ได้บรรลุแล้ว พระธรรมนั้น ไม่มีธรรมใดๆเสมอเหมือน พระธรรม(คำสอนของพระพุทธเจ้า) เป็นรัตนะเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(5) สมาธิใด ที่พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐยิ่ง สรรเสริญว่าเป็นธรรมอันสะอาด ซึ่งผู้รู้ทั้งหลายเรียกว่า อานันตริกสมาธิ ไม่มีสมาธิอื่นใดเปรียบได้ สมาธินั้น เป็นรัตนะอันสูงส่งเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(คำว่า “อานันติกสมาธิ” ใช้คำว่า อนันตริกสมาธิ ก็มี ใช้คำว่า อันตริยสมาธิ ก็มี แปลว่า สมาธิที่ไม่มีอะไรแทรกในระหว่างได้ เป็นสมาธิที่ดีเลิศ เป็นสมาธิเพื่อการตรัสรู้หรือเพื่อปัญญา พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญว่า เป็นสมาธิที่สูงส่งกว่าสมาธิชั้นรูปฌาน และอรูปฌานเสียอีก ไม่ว่าในการตรัสรู้หรือเพื่อจะปรินิพพาน พระพุทธเจ้าก็เข้าอานันตริกสมาธินี้ (ทรงเห็นว่าสมาธิหรือฌานที่สอนในสำนักอาฬารดาบสและอุททกดาบส ไม่ใช่สมาธิเพื่อการตรัสรู้ หรือเพื่อดับกิเลสสิ้นทุกข์ได้ จึงหนีจากสำนักทั้งสองนั้น)

กล่าวได้ว่า อานันตริกสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิของพุทธศาสนา สมาธิประเภทอื่นเป็นสมาธิขั้นต่ำทั้งสิ้น เป้าหมายสูงสุดของสมาธิในพุทธศาสนา คือ เพื่อสิ้นกิเลสและเพื่อดับทุกข์ (ชาติ ชราและมรณะ) อย่างสิ้นเชิง

โปรดสังเกตว่า พระคาถาในรตนสูตร ลำดับที่ 3-4-5 เป็นฉันท์ 5 บาท พระคาถาที่ 6-7-8-9-11-12 และ 14 เป็นฉันท์ 6 บาท (เรียกว่า “พระคาถากิ่ง”) พระคาถาที่ 10 เป็นฉันท์ 8 บาท ส่วนพระคาถาที่ 13 เป็นฉันท์ 4 บาท และตั้งแต่พระคาถาที่ 3 จนถึงพระคาถาที่ 14 เป็นฉันท์ที่จบลงด้วย 2 บาทว่า “อิทมฺปิ พุทเธ (ฯลฯ) รตนํ ปณีตํ เอเตน สจฺเจน สุวตฺถิ โหตุ”


@@@@@@

จะเห็นได้ว่า รตนสูตรกล่าวถึงรัตนะ 3 อย่าง คือ
    1. พระพุทธเจ้า
    2. พระธรรม ว่าด้วยสมาธิ นิพพาน และ อริยสัจจ์ 4
    3. เฉพาะพระสงฆ์ น่าสังเกตว่า ทรงแสดงลักษณะของพระโสดาบัน (ในจำนวนพระอริยสงฆ์ 8 ประเภท) เป็นพิเศษ

(6) อริยบุคคล 8 ท่านเหล่าใด ที่สัตบุรุษสรรเสริญ (เทิดทูน) อริยบุคคล 8 ท่านนี้ จัดเป็น 4 คู่ ท่านเหล่านั้นเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้คู่ควรแก่ของทำบุญให้ทาน(ทักษิณา) ทานที่ถวายแก่อริยบุคคลเหล่านี้ เป็นทานมีผล(อานิสงส์) มาก พระสงฆ์เป็นรัตนะอันล้ำค่าสูงส่งเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัยจงบังเกิดมี

(7) บุคคลเหล่าใด ในศาสนาของพระโคตมพุทธเจ้า เป็นผู้มีศีลเป็นอันดี มีจิตตั้งมั่น (ด้วยสมาธิ) ไม่มีกามกิเลส มีนิพพานเป็นอารมณ์ (เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิต) เสพแต่ความดับเย็นอันไม่ต้องซื้อหา บุคคลเหล่านั้น เป็นผู้บรรลุมรรคผลแล้ว เป็นรัตนะอันล้ำค้าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัยจงบังเกิดมี

(8) เสาหลักเมือง (เสาอินทขีล) อันเขาฝังลงดินลึก พายุพัดมาทุกทิศทาง ก็ไม่สะเทือนเขยื้อนขยับได้ พระโสดาบัน ผู้หยั่งเห็นอริยสัจจ์ 4 ตถาคตก็กล่าวว่าเป็นดุจเดียวกัน ท่านเป็นรัตนะอันล้ำค่าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัยจงบังเกิดมี

(9) บุคคลใดเห็นแจ้งในอริยสัจจ์ 4 ที่พระพุทธเจ้าสั่งสอนไว้แล้ว บุคคลนั้น แม้เผลอสติ(ประมาท) ไปบ้าง ท่านก็จะไม่เกิดอีกเป็นชาติที่ 8 พระสงฆ์เป็นรัตนะอันล้ำค่าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(10) พร้อมกับการเป็นพระโสดาบัน ท่านย่อมละสังโยชน์(กิเลส) ได้ 3 อย่าง คือ ความหลง (ยึดมั่นถือมั่น) ในตัวตน (สักกายทิฏฐิ) ความสงสัยลังเล(ในพระรัตนตรัย) (วิจิกิจฉา) และความงมงายในศีล และพรต (สีลัพพตปรามาส) แม้ยังมีกิเลส (สังโยชน์) ที่ยังละไม่ได้ แต่ท่านก็จักไม่เกิดในอบายภูมิ ทั้ง 4 และไม่มีการทำอนันตริยกรรมทั้ง 6 ได้ พระสงฆ์เป็นรัตนะอันล้ำค่าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(11) พระโสดาบันนั้น แม้จะมีการทำชั่วทางกาย ทางวาจา และทางใจ อยู่บ้าง แต่ท่านก็จะไม่ปิดบังกรรมชั่วนั้น การที่บุคคลผู้มุ่งสู่นิพพาน (อย่างพระโสดาบัน) จะปิดบังกรรมชั่วของตน ตถาคตกล่าวว่า ไม่อาจเป็นไปได้ พระสงฆ์เป็นรัตนะอันล้ำค่าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

พระคาถาที่ 6-7-8-9-10-11 แสดงคุณลักษณะของพระโสดาบันโดยเฉพาะ ถ้าอยากจะรู้ว่า โสดาบันเป็นคนเช่นไร ให้อ้างอิงข้อความในรตนสูตรดังกล่าว

@@@@@@

(12) พุ่มไม้ใหญ่ในป่า ผลิยอดและกิ่งก้านสะพรั่งงดงามในเดือน 5 ของฤดูร้อน ฉันใด พระพุทธเจ้าได้แจกแจงคำสอนอันประเสริฐ (ให้แตกยอดงดงาม) เพื่อนำทางสู่นิพพาน เป็นประโยชน์เกื้อกูลอันยิ่งยอด ดังพุ่มไม้ในป่าอันงามสะพรั่ง ก็ดุจเดียวกัน พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันสูงส่งเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(13) พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ทรงรู้แจ้งนิพพานอันประเสริฐทรงให้คำสั่งสอนอันประเสริฐ นำมาซึ่งมรรคอันประเสริฐ ไม่มีบุคคลอื่นใดที่ประเสริฐยิ่งกว่า ทรงแสดงโลกุตรธรรมอันประเสริฐเช่นนี้ พระพุทธเจ้าเป็นรัตนะอันล้ำค่าดังนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(14) พระคาถาที่ 14 นี้ เมื่อพระสงฆ์สวดถึงคำว่า “ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ” (อันเป็นบาทแรกของพระคาถานี้) องค์ประธานสงฆ์จะเตรียมจุ่มเทียนเพื่อดับเทียนในขันหรือในบาตรน้ำมนต์ เมื่อสวดถึงบาทว่า “นิพฺพนฺติ ธีรา ยถา ยมฺปทีโป” องค์ประธานสงฆ์ก็จะจุ่มเทียนทันที จึงขอแปลพระคาถานี้ให้เห็นชัดๆดังนี้

“พระอริยบุคคลเหล่าใดมีกรรมเก่าสิ้นไปแล้ว (และ) กรรมใหม่ที่จะให้เกิดอีกก็ไม่มี เป็นผู้มีจิตปราศจากความกำหนัดที่ยินดีในภพต่อไป พระอริยบุคคลเหล่านั้น สิ้นพืช(ที่จะให้เกิดอีก)แล้ว ไม่มีความพอใจที่จะเป็นเชื้อให้งอกงามได้อีก เป็นผู้มีปัญญา ย่อมดับไปเหมือนเทียนดวงนี้ดับยังไงยังงั้น พระสงฆ์เป็นรัตนะอันสูงค่าเช่นนี้ ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี”

จบพระคาถาในรตนสูตร ที่พระสงฆ์ใช้สวดเป็น “พระปริตต์” (หรือ) “สวดมนต์” หรือ “เจริญพระพุทธมนต์”


@@@@@@

แต่ในรตนสูตร (ในพระไตรปิฎก) กล่าวว่า มีอีก 3 คาถาที่เป็นคำกล่าว(คำสวด) ของท้าวสักกะ (หรือพระอินทร์) คือ

(15) ดูก่อนภูตทั้งหลาย ทั้งที่อยู่บนพื้นดิน ทั้งที่อยู่ในอากาศ (บนท้องฟ้า) บรรดาที่มาพร้อมเพรียงกันอยู่ในที่นี้ ขอให้เราทั้งหลายจงนมัสการพระพุทธเจ้า ผู้ซึ่งเทวดาและมนุษย์บูชาแล้วเกิด ขอความสวัสดีปลอดภัย จงบังเกิดมี

(16) ดูก่อนภูตทั้งหลาย... (ข้อความเหมือนในคาถาที่ (15) ทุกประการ (17) ดูก่อนภูตทั้งหลาย...(ข้อความเหมือนในคาถาที่ (15) และ (16) ทุกประการ)

คำกล่าว (หรือคาถา) ของท้าวสักกะ ซึ่งนำกล่าวพวกเทวดาในที่นั้น เป็นการกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า พระสงฆ์มักไม่นำมาสวด คาถาที่เป็นภาษาบาลีว่าดังนี้

   “ยานีธ ภูตานิ สมาคตานิ, ภุมมานิ วา ยานิว อนฺตลิกฺเข, ตถาคตํ เทวมนุสฺสปูชิตํ พุทฺธํ นมสฺสาม สุวตฺถิ โหตุฯ”
อีก 2 คาถาที่เหลือ มีข้อความ (เป็นภาษาบาลี) เหมือนกัน

คาถาในรตนสูตร ถ้ารวมกับคำกล่าวของท้าวสักกะ จึงมีทั้งสิ้น 17 คาถา แต่พระสงฆ์บางวัดมักจะสวดตั้งแต่พระคาถาที่ 3 ที่ขึ้นต้นว่า

    “ยํ กิญจิ วิตฺตํ วา หุรํวา ฯลฯ” (และมักจะขึ้นเสียงสูงอีกครั้ง เพื่อให้รู้ว่าเป็นรตนสูตร) จนจบพระคาถาที่ 14

@@@@@@

จะเห็นได้ว่า ข้อความในพระคาถา(ในรตนสูตร) ไม่กล่าวถึงเรื่องราว(การเกิดโรคระบาด) ในเมืองเวสาลีเลย มีแต่คำสอนและคำอธิบายธรรมะหรือคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น แม้แต่พระคาถาที่ว่า “เอเตน สจฺจวชฺเชน สุวตฺถิ โหตุ” ก็ไม่ใช่เป็นการขับไล่ภูตผีแต่อย่างใด แต่เป็นการแสดงความเมตตาแก่ทุกคนทุกชีวิตในที่นั้นอันเป็นลักษณะของพุทธวาจาในทุกพระคาถาที่พระสงฆ์ใช้สวด แม้แต่คาถา (ภาษาบาลี) ที่แต่งขึ้นสมัยหลังก็นิยมแต่งตามแนวพุทธวาจาอย่างนั้น (แต่มักจะเป็นการกล่าวถึงคุณ หรืออานุภาพของพระรัตนตรัย เมื่อให้เป็นสิริมงคล)

เรื่องราวในรตนสูตร ตามที่ปรากฏในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา โดยเฉพาะในคัมภีร์ “พระธรรมบท” (หรือ “ธัมมปทัฏฐกถา”) กล่าวถึงพระอานนท์อุ้มบาตร สวดรตนสูตรและ “พรมน้ำ” ไปรอบๆกำแพงเมืองเวสาลี ตั้งแต่พระคาถาที่ 1 (“ยานีธ ภูตานิ”) อันเป็นการทำพระปริตต์ (คงเป็นธรรมเนียมในสมัยนั้น?)

แต่หยาดน้ำ ที่พระอานนท์พรม (ใช้คำว่า “อุทกพินฺทุ”) ตกลงบนศีรษะพวกภูต ตั้งแต่พระคาถา “ยํ กิญจิ ฯลฯ”

ในคัมภีร์ “พระธรรมบท” กล่าวว่า เมื่อหยาดน้ำพรมถูกภูตทั้งหลาย พวกภูตก็พากันหนีไปอยู่ตามกองขยะและตามฝาเรือน ก่อนจะกระจัดกระจายกระเจิดกระเจิงหนีออกทางประตูเมืองเวสาลีเนืองแน่นไปหมด!



ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/146060
สยามรัฐออนไลน์ ,11 เมษายน 2563 00:10 น. ศาสนา-ความเชื่อ ,คนข้างวัด / อุทัย บุญเย็น
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ