ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บทสวด “ไล่ผี” ของหมอปลา ส่วนพระพุทธเจ้าไม่มีการขับไล่ผี  (อ่าน 930 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

บทสวด “ไล่ผี” ของหมอปลา ส่วนพระพุทธเจ้าไม่มีการขับไล่ผี

บทสวดของ “หมอปลา” ใน “มือปราบสัมภเวสี” ได้สังเกตว่า ไม่มีบทสวดมนต์ที่เป็นพระคาถาของพระพุทธเจ้าเลย มีแต่บทสวด “ชุมนุมเทวดา” ที่หมอปลาขึ้นต้นว่า

“สรชฺชํ สเสนํ” ฯลฯ ไปจบลงที่ “ธมฺมสวนกาโล อยมฺภทนฺตา” ฯลฯ (3 จบ)

บทสวดนี้ ในหนังสือสวดมนต์ “เจ็ดตำนาน- สิบสองตำนาน” เรียกว่า “บทชุมนุมเทวดา” บทสวดเต็มๆในบทชุมนุมเทวดา มีว่า
     “สรชฺชํ สเสนํ สพนฺธุํ นรินฺทํ ปริตฺตานุภาโว สทา รกฺขตูติ ผริตฺวาน เมตฺตํ สเมตฺตา ภทนฺตา อวิกฺขิตฺตจิตฺตา ปริตฺตํ ภณนฺตุ ฯ”
     แปลว่า
     “ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย จงมีเมตตาแผ่เมตตาจิตว่า ขออานุภาพพระปริตต์จงคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ผู้เป็นใหญ่ในหมู่นรชน พร้อมทั้งสิริราชสมบัติ กับทั้งเสนามาตย์และพระราชวงศ์ทุกเมื่อ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่าน สวดพระปริตต์กันเถิด”

พิจารณาจากคำแปล จะเห็นว่า บทสวดชุมนุมเทวดานี้ พระสงฆ์บอกแก่กันเอง ก่อนจะสวดพระปริตต์หรือเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นพระคาถา (คำฉันท์บาลี) ล้วนๆตามลำดับ

ในคำแปล จะเห็นว่า พระสงฆ์ที่จะสวดมนต์บอกกันว่า 1.ให้มีเมตตาจิต 2.ให้มีสมาธิ (จิตไม่ฟุ้งซ่าน) ในการสวดในพิธีสวดทั่วไป ซึ่งเป็นงานมงคลของชาวบ้าน พระสงฆ์มักจะเริ่มที่คำสวดต่อไปว่า
    “ผริตฺวาน เมตฺตํ สเมตฺตา ภทนฺตา อวิกฺขิตฺตจิตฺตา ปริตฺตํ ภณนฺตุ ฯ”
     ซึ่งแปลว่า
    “ขอนิมนต์ท่านทั้งหลาย จงมีเมตตา แผ่เมตตาจิตว่า ขออานุภาพพระปริตต์จงคุ้มครองทุกเมื่อ แล้วอย่ามีจิตฟุ้งซ่านกันเถิด”

@@@@@@

ต่อจากนั้น พระสงฆ์(ผู้กล่าวบอกกัน) ก็จะสวดต่อไปว่า
    “สมนฺตา จกฺกวาเฬสุ อตุราคจฺฉนฺตุ เทวตา สทฺธมฺมํ มุนิราชสฺส สุณนฺตุ สคฺคโมกฺขทํฯ”
     แปลว่า
    “ขอเชิญเทวดาทั้งหลายในจักรวาลทั้งหลายโดยรอบ จงมาประชุมกัน ณ ที่นี้ แล้วเชิญฟังพระสัทธรรม อันชี้ทางสู่สวรรค์และนิพพาน ของพระจอมมุนีเจ้า กันเถิด”

แล้วสวด “สคฺเคฯ” ต่อไปว่า
“สคฺเค กาเม จ รูเป คิริสิขรตเฏ จนฺตลิกฺเข วิมาเน, ทีเป รฏฺเฐ จ คาเม ตรุวนคหเน เคหวตฺถุมฺหิ เขตฺเต, ภุมฺมา จายนฺตุ เทวา ชลถลวิสเม ยกฺขคนฺธพฺพนาคา, ติฏฺฐนฺตา สนฺติเก ยํ มุนิวรวจนํ สาธโว เม สุณนฺตุฯ

    แปลว่า
   “ขอเชิญเทวดาทั้งหลาย ผู้สิงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นกามภพด้วย ในชั้นรูปภพด้วย ผู้สิงสถิตอยู่บนยอดเขาและที่หุบผาด้วย ทั้งที่สิงสถิตอยู่ในวิมานบนอากาศด้วย และภุมมเทวดาทั้งหลาย ซึ่งสิงสถิตอยู่ในทวีป ในรัฐ(แว่นแคว้น) ในหมู่บ้าน บนต้นไม้ ในพงไพร (ป่าชัฏ) ในเหย้าเรือนและเรือกสวนไร่นา รวมทั้งยักษ์ คนธรรม์ และนาคทั้งหลาย ผู้เป็นสาธุชน ซึ่งสิงสถิตอยู่ในน้ำ บนบก ที่ลุ่มที่ดอน ที่ใกล้เคียง ขอจงมาชุมนุมกัน ฟังคำสอนของพระจอมมุนีเจ้าผู้ประเสริฐ (ซึ่งข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้กล่าว(สวด) ณ บัดนี้) เถิด

แล้วจบลงด้วยคำสวดที่ว่า
    “ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา,ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตา,ธมฺมสฺสวนกาโล อยมฺภทนฺตาฯ,
     ซึ่งแปลว่า
    “ดูก่อนท่าน (เทวดาและภูตผี) ทั้งหลาย เวลานี้เป็นเวลาฟังธรรม” (3 จบ)

ได้สังเกตว่า “หมอปลา” ใช้บทสวด “ชุมนุมเทวดา” นี้เป็นหลัก หลังจากกล่าว “นโม” 3 จบ แล้ว บางคำในบทสวด หมอปลาก็สวดผิด หรือสวดไม่ชัดนัก (เช่นเดียวกับ การสวด “มโน ตสฺส” ไม่จบ 3 จบก็มี (แสดงว่า บทสวดจะเป็นอย่างไร ไม่สำคัญ สำคัญที่ความตั้งใจของหมอปลานั่นแหละ)


@@@@@@

ต่อจากสวดชุมนุมเทวดาดังกล่าวแล้ว หมอปลาก็จะสวดเชื้อเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตลอดถึง “หลวงพ่อ” และพุทธรูปต่างๆ (สวดเป็นภาษาไทย แต่ฟังไม่ชัด) มาเป็นพลังศักดิ์สิทธิ์ให้

เท่าที่ฟัง ไม่มีบทสวดอื่นๆ ในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนานเลย แสดงว่า การสวดของหมอปลาขึ้นอยู่กับพลังจิตของหมอปลาเอง ไม่ขึ้นอยู่กับ “บทสวด” ใดๆทั้งสิ้น แต่น่าสังเกตว่า ทุกครั้ง หมอปลาจะนำด้วย “นโม” 3 จบ เสมอ (คือกล่าวนอบน้อมต่อพระพุทธเจ้าแบบชาวพุทธ)

น่าสังเกตอย่างหนึ่งว่า ทันทีที่รู้ว่า หมอปลามาทำพิธีคนป่วย (คนถูกผีสิง) จะมีอาการตื่นกลัวอย่างเห็นได้ชัด บางรายมีอาการตั้งแต่หมอปลามาถึงประตูหน้าบ้านหรือบริเวณบ้าน (แม้จะยังไม่เห็นตัวก็ตาม) และบางราย มีอาการผีเข้า (ตัวสั่นเทิ้ม) เมื่อหมอปลาออกปากสวด “นโม” ด้วยซ้ำ

แม้ทีมงานจะบอกว่า หมอปลาไม่ได้มาขับไล่ผี แต่การแสดงออกหลายอย่างของหมอปลา เช่น คำพูดและการทุบทำลายศาลพระภูมิ ก็เป็นการขับไล่ผี นั่นเอง

ในบทสวดชุมนุมเทวดา ที่หมอปลาใช้สวดนี้ ให้ความรู้เรื่องชีวิตที่หมอปลาใช้คำเรียกว่า “สัมภเวสี” ที่น่าพิจารณา คือ “เทวดา” ในอีกโลกหนึ่งนั้น มีหลายประเภทด้วยกัน คือ เทวดาในสวรรค์ชั้นกามภพ เทวดาในสวรรค์ชั้นรูปภพ (ไม่กล่าวถึงเทวดาชั้นอรูปภพ?)

หมอปลาเห็นว่า เทวดาในสวรรค์เหล่านั้น ไม่น่าจะมีเวลามา “หากิน” ในโลกมนุษย์ (คือมาสิงสถิตในร่างคน หรือมาเข้าร่างทรง) แต่ยังมี “ภูต” อีกพวกหนึ่ง สิงสถิตอยู่บนยอดเขาก็มี อยู่ที่หุบผาก็มี อยู่ในวิมานบนอากาศก็มี ที่ภาคพื้นดิน ก็ยังมี “ภูต” อีกหลายเหล่า คือ พวกภุมมเทวดา (หรือเจ้าที่ทั้งหลาย) พวกอาศัยอยู่ตามเกาะ อยู่ตามบ้านเมือง อยู่บนต้นไม้ อยู่ในพงไพร หรืออยู่ตามบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นาก็มี อีกพวกหนึ่ง คือพวกยักษ์ พากคนธรรม์ และพวกนาค ซึ่งอยู่ในน้ำ (แม่น้ำ) ก็มี อยู่บนบกก็มี อยู่ตามที่ลุ่มดอนก็มี

@@@@@@

สรุปว่า “สัมภเวสี” ของหมอปลาหรือตามที่กล่าวถึงในบทสวดนี้ มีหลายจำพวกเหลือเกิน แต่เราตีรวมว่าเป็นเทวดา หรือที่หมอปลาเห็นว่าเป็น “สัมภเวสี” นั่นแหละ ชีวิตเหล่านั้น พระพุทธเจ้าจัดว่าเป็น “สัตว์โลก” ทั้งสิ้น และล้วนแต่เกิดแล้ว (เป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่งๆ) ทั้งสิ้น แต่ละสัตว์โลกเหล่านั้น ล้วนเป็น “ภูต” คือมีภพของใครของมันทั้งนั้น

เมื่อภูตเหล่านั้น ล้วนแต่เป็นสัตว์โลก มีการเกิด(ชาติ) แก่ (ชรา) และตาย (มรณะ) ด้วยกัน พระพุทธเจ้าจึงมีแต่เมตตากรุณาในการปฏิบัติต่อพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นพระปริตต์ใดๆ ที่พระพุทธเจ้าประทานให้ภิกษุใช้สวดและเรียน ล้วนแต่เป็นคำสอนและแสดงเมตตาจิตทั้งสิ้น

ยิ่งได้ฟัง(หรือได้อ่านจากคัมภีร์ต่างๆ)ว่า รุกขเทวดาและพวกภูตทั้งหลายมีครอบครัว มีลูกน้อยต้องเลี้ยงดูด้วยก็ยิ่งเห็นว่า สัตว์โลกในโลกอื่นก็ไม่ต่างอะไรกับสัตว์โลกอย่างมนุษย์เราแต่อย่างใด

จึงไม่ว่าจะเป็นรตนสูตร เมตตสูตร หรือ ขันธปริตต์ ที่เป็นพระคาถาบาลีของพระพุทธเจ้า ซึ่งประทานแก่ภิกษุเพื่อร่ำเรียนและนำไปสวด ล้วนแต่เป็นคำสอน หรือธรรมะที่มีแต่ความเมตตาเป็นที่ตั้งทั้งสิ้น ไม่มีพระคาถาใดๆเลยที่มีความหมายไปในทาง “ขับไล่” ภูตผีต่างๆให้ได้รับความเดือดร้อน

น้ำพระปริตต์ที่เราเรียกว่า “น้ำมนต์” ซึ่งใช้พรมให้แก่ผู้คนในพิธีต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นน้ำแห่งเมตตาให้ความฉ่ำเย็นและปลอดภัยแก่ทุกชีวิต สมแล้วที่พระพุทธเจ้าเรียกพระองค์เองว่า “ตถาคต” ซึ่งมีความหมายว่า “สัตว์โลกคนหนึ่ง” เพราะพระองค์เห็นสัตว์โลกในทุกจักรวาลอย่างที่กล่าว(สวด) ในบทชุมนุมเทวดานั้น เป็นเพื่อนร่วมโลกเหมือนกันหมด


     
ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/151856
สยามรัฐออนไลน์ ,2 พฤษภาคม 2563 00:10 น. ,ศาสนา-ความเชื่อ ,คนข้างวัด/อุทัย บุญเย็น
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ