ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ : ญาณทัสสนะ  (อ่าน 2271 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
สัมมาทิฏฐิ ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
เนื่องในงานพิธีเฉลิมพระเกียรติ ๘๕ พรรษา ใต้ร่มพระบารมี
ณ วัดป่าดาราภิรมย์ พระอารามหลวง วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

ปัญญาในธรรม
ปัญญาในธรรมคือสัมมาทิฏฐิ

     ปัญญาในธรรมนั้นเรียกได้ว่าเป็นสัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง สัมมาทิฏฐินี้เป็นข้อสำคัญ พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสไว้เป็นข้อแรกในมรรคมีองค์ ๘ คือเป็นองค์แรกของมรรคมีองค์ ๘ นั้น. เพราะฉะนั้น การทำสมาธิดั่งที่ได้กล่าวว่าทำสมาธิในการฟัง ก็เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้เอง. ถ้าหากว่าไม่ได้ปัญญาในธรรมอันเป็นสัมมาทิฏฐินี้ ก็มิบรรลุถึงข้อที่ปฏิบัติและผลแห่งข้อที่ปฏิบัติ อันเป็นที่มุ่งในทางพุทธศาสนา.
     คำว่า พุทธศาสนา นั้นก็แสดงอยู่แล้วว่า เป็นศาสนาทางปัญญา เพราะพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ก็คือทรงปัญญาตรัสรู้นั้นเอง. ฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นข้อสำคัญและปัญญาที่มุ่งวังก็คือสัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ความเห็นตรงนี้เอง. เมื่อได้ความเห็นชอบ ได้ความเห็นตรง ก็ย่อมจะได้ ปสาทะคือความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม เป็นผู้มาสู่สัทธรรมนี้ ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าการมาสู่สัทธรรมนี้ ก็ต้องอาศัยความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไวในพระธรรมความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมก็ต้องอาศัยสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบความเห็นตรงเป็นหลัก. ทุกคนย่อมมีความรู้ความเห็นซึ่งเป็นตัวปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิดเป็นมนุษย์ซึ่งแปลอย่างหนึ่งว่า ผู้ที่มีใจสูงหรือผู้ที่มีความรู้สูง. ฉะนั้น จึงสามารถที่จะรู้สัจจะคือความจริงของสิ่งทั้งหลายได้ในขั้นธรรมดาสามัญทั่วไป. และเมื่อได้อบรมปัญญาที่ได้มาแต่ชาติกำเนิด อันเรียกว่า สชาติปัญญา ยิ่ง ๆ ขึ้นไปแล้วก็จะได้ความรู้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป ได้ความเห็นตรงที่ยิ่ง ๆ ขึ้นไป.

รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล
     พระพุทธเจ้าได้ตรัสอธิบายสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบไว้ทั่วไป ว่าคือความรู้ในอริยสัจทั้งสี่ รู้จักทุกข์ รู้จักสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ รู้จักนิโรธความดับทุกข์ รู้จักมรรคคือทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์. ท่านพระสารีบุตรเถระก็ได้อธิบายสัมมาทิฏฐิแก่ภิกษุทั้งหลายที่ท่านประมวลไว้ใน สัมมาทิฏฐิสูตร โดยที่ท่านได้อธิบายกว้างขวางออกไปขยายความออกไป จับตั้งแต่เบื้องต้น โดยที่ท่านได้กล่าวตั้งเป็นกระทู้ขึ้นว่า ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบนั้นเป็นอย่างไรท่านก็อธิบายว่าได้แก่ ความรู้จักอกุศล ความรู้จักอกุศลมูล มูลเหตุของอกุศล ความรู้จักกุศล ความรู้จักกุศลมูล มูลเหตุของกุศล. ท่านก็ได้แสดงอธิบายขยายความต่อไปอีกว่าอกุศลนั้นได้แก่อะไร. ท่านก็ยกเอา อกุศลกรรมบถ คือ ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ขึ้นแสดง.
     ทางกายอันเรียกว่ากายกรรมอันเป็นอกุศล ๓ คือ การทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป ๑    การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ ๑    การประพฤติผิดในกามทั้งหลาย ๑   ทั้ง ๓ นี้เป็นทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางกาย.
     ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาคือวจีกรรมมี ๔ ก็ได้แก่ พูดเท็จ ๑    พูดส่อเสียด ๑    พูดคำหยาบ ๑    พูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล ๑.    ก็รวมทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางวาจาเป็น ๔.
     ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓ ก็คือ อภิชฌา โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของของผู้อื่น ๑    พยาบาทปองร้ายเขา ๑    มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม เช่น เห็นว่าไม่มีบาป ไม่มีบุญ จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบาป จะทำอย่างไรก็ไม่เป็นบุญ ไม่มีผลของบาปบุญ และไม่มีบิดามารดา ไม่มีกรรมดีกรรมชั่ว ผลของกรรมดีกรรมชั่ว ไม่มีโลกนี้ไม่มีโลกหน้า ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ประพฤติชอบทั้งหลาย ปฏิเสธว่าไม่มีทั้งหมด. เหล่านี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากคลองธรรม ๑    ก็รวมเป็นทางกรรมที่เป็นอกุศลทางใจ ๓.
     รวมเป็นอกุศลกรรมบถ ๑๐.  ทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศล ๑๐ นี้คือ อกุศล  สัมมาทิฏฐิก็คือ รู้จักทางแห่งกรรมที่เป็นอกุศลทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ว่าเป็นอกุศลจริง
     อกุศลมูล  มูลเหตุของอกุศล ก็ได้แก่ โลภะ คือความโลภอยากได้ อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม  โทสะ ความโกรธแค้นขัดเคือง อันนำให้ประกอบอกุศลกรรม  โมหะ ความหลงอันนำให้ประกอบอกุศลกรรม.  สัมมาทิฏฐิก็คือความรู้จักอกุศลมูลเหล่านี้ว่า  โลภะ  โทสะ  โมหะ  เป็นมูลเหตุของอกุศลกรรมทั้งหลายตามเป็นจริง.

รู้จักกุศล  รู้จักกุศลมูล
     ส่วนกุศลและกุศลมูลนั้นก็ตรงกันข้าม.  กุศลก็ได้แก่ กุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ คือทางแห่งกรรมที่เป็นกุศล เป็นกายกรรม ๓ วจี ๔ มโนกรรม ๓ .
     กายกรรม ๓ ก็คือ เว้นจากการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขามิได้ให้ เว้นจากความประพฤติผิดในกามทั้งหลาย.
     วจีกรรม ๔ ก็คือ เว้นจากการพูดเท็จ เว้นจากพูดส่อเสียด เว้นจากพูดคำหยาบ เว้นจากพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหล.
     มโนกรรม ๓ ก็คือ ไม่โลภเพ่งเล็งทรัพย์สิ่งของ ๆ ผู้อื่น ไม่พยาบาทปองร้ายผู้อื่น และสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบตามคลองธรรม.
     ทั้ง ๑๐ ข้อนี้ ก็ตรงกันข้ามกับอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ . สัมมาทิฏฐิก็คือ รู้จักกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ นี้  ว่าแต่ละข้อเป็นกุศลจริง.
     ส่วน กุศลมูล มูลเหตุของกุศลนั้น ก็ได้แก่ อโลภะ ความไม่โลภ ไม่อยากได้ โดยมีความสันโดษความพอใจอยู่ในทรัพย์สมบัติเฉพาะที่เป็นของตนเท่านั้นเป็นต้น  อโทสะ ความไม่โกรธแค้นขัดเคือง ก็โดยที่มีเมตตากรุณาเป็นต้น อโมหะ ความไม่หลง ก็คือ ความที่มีปัญญารู้ตามความเป็นจริงอันไม่ทำให้หลงใหล ไม่ให้ถือเอาผิด.

สุตะ จินตา ภาวนา
     สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ ก็คือรู้จักกุศลมูลเหล่านี้ว่า ทุก ๆ ข้อเป็นมูลเหตุของกุศลจริง สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดังนี้ เป็น ทิฏฐิ คือความเห็นเป็น ทัสสนะ คือความเห็น เป็น ญาณะ คือความรู้ หรือเป็นปัญญาคือความรู้ทั่วถึงที่จะต้องการเป็นขั้นต้นของทุก ๆ คนในโลก แต่ว่าจะได้สัมมาทิฏฐิคือ ความเห็นชอบดั่งนี้ได้ ก็ต้องอาศัยความที่ใช้ปัญญาที่มีอยู่เป็นพื้นในการประกอบปลูกปัญญาให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป
     ด้วยการฟังการเรียน อันรวมในคำว่า สุตะ
     ด้วยการคิดพินิจพิจารณา อันรวมเรียกว่า จินตา และ
     ด้วยการปฏิบัติอบรมต่าง ๆ ในข้อที่พึ่งปฏิบัติอบรมนั้น ๆ อันเรียกว่า ภาวนา.
     และเมื่อได้ประกอบปฏิบัติปลูกปัญญา อบรมปัญญา เพิ่มพูนปัญญาในทางที่ถูกต้องอยู่เสมอ ก็ย่อมจะได้ ปัญญาที่เป็นปัญญาถูกต้อง อันเรียกว่า สัมมัปปัญญา ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบดังกล่าว.

กัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการ
     และข้อนี้ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ในที่อื่นอีกว่า ก็ต้องอาศัย มิตตสัมปทา คือ ความถึงพร้อมด้วยมิตรอันหมายความว่าได้มิตรที่ดีงามอันเรียกว่ากัลยาณมิตร พระพุทธเจ้าเป็นยอดของกัลยาณมิตร. มารดาบิดาครูอาจารย์ทั้งหลายก็เป็นกัลยาณมิตร เพื่อนมิตรทั้งหลายซึ่งเป็นผู้ทรงปัญญาสามารถที่จะให้คำแนะนำอบรมอันถูกต้องได้เรียกว่า กัลยาณมิตร. ต้องอาศัยกัลยาณมิตรนี้ประการหนึ่ง.
     อีกประการหนึ่ง ก็คือ โยนิโสมนสิการ ที่แปลว่า การทำไว้ในใจ จับให้ถึงต้นเหตุ ดังเช่น เมื่อกำหนดเพื่อรู้จักอกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุว่ามีมูลเหตุมาจาก โลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งเป็นอกุศลมูล และเมื่อกำหนดเพื่อรู้จักกุศล ก็ต้องจับให้ถึงต้นเหตุ ว่ามีต้นเหตุหรือมูลเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ ดังกล่าว. ความใส่ใจคือความกำหนดใจพินิจพิจารณาจับเหตุของผลให้ได้ดังนี้คือ โยนิโสมนสิการก็ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการนี้อีกข้อหนึ่ง ได้มีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตร และโยนิโสมนสิการนี้ย่อมเป็นเบื้องต้นของสัมมาปฏิบัติทุกอย่าง.
     ไม่ว่าจะเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะเป็นปัญญา หรือจะคลุมไปได้จนถึงศีลทั้งหมด ต้องอาศัยกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการมาตั้งแต่เบื้องต้น เหมือนอย่างอรุณเป็นเบื้องต้นของวัน.  กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการก็เปรียบเหมือนว่าเป็นอรุณเป็นเบื้องต้นของความสว่างของสัมมาปฏิบัติ คุณงามความดีทั้งสิ้นอันนับว่าเป็นความสว่างจึงต้องอาศัยกัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการดั่งนี้. และในมวดธรรมบางหมวดก็ได้ตรัสอธิบายขยายความออกไปในทางปฏิบัติว่า ส้องเสพคบหาสัตบุรุษ คือคนดีก็ได้แก่กัลยาณมิตรนี้เอง.
     ฟังธรรมของคนดี มีโยนิโสมนสิการใส่ใจ คือนำเอาธรรมะที่ฟังมาใส่ไว้ในใจตั้งต้นแต่ตั้งใจฟัง ตั้งใจพิจารณาจับเหตุจับผลและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม.
     ข้อใดที่พึงละก็ละ.
     ข้อใดที่พึงปฏิบัติก็ปฏิบัติ.
     ข้อใดที่พึงปฏิบัติก่อนก็ปฏิบัติก่อน.
     ข้อใดที่ปฏิบัติภายหลังก็ปฏิบัติภายหลัง.
     ดั่งนี้เป็นต้นเรียกว่า ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม และเมื่อมีทั้ง ๔ ข้อนี้ก็เป็นอันว่านำให้ได้สัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ ความเห็นตรง นำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรม นำเข้ามาสู่สัทธรรมของสัตบุรุษ หรือธรรมที่ดี คือถูกต้อง คือพระธรรมวินัยนี้ดั่งนี้.

สัมมาทิฏฐินำมาซึ่งความสิ้นทุกข์
   เพราะฉะนั้นการปฏิบัติเพื่อให้ได้สัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ พระสารีบุตรจึงได้นำมาอธิบายไว้เป็นประการแรก. และท่านยังได้กล่าวไว้ด้วยว่า เมื่อได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ รู้จักอกุศล รู้จักอกุศลมูล รู้จักกุศล รู้จักกุศลมูล อันนำให้ได้สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรง ก็ย่อมจะนำให้ได้ความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมนำเข้ามาสู่ธรรมวินัยนี้. ที่ท่านเรียกว่านำเข้ามาสู่สัทธรรมนี้ ก็คือนำเข้ามาสู่พระพุทธศาสนา คำสังสอนของพระพุทธเจ้านี้นั่นเอง. และเมื่อเป็นดังนี้ก็ย่อมจะเป็นเหตุให้ปฏิบัติละกิเลสที่นอนจมหมักหมมดองจิตสันดานอันเรียกว่า อาสวะ หรือเรียกว่า อนุสัย อันยกขึ้นมาก็คือว่าเป็นเหตุให้ละราคานุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมจิตสันดานคือราคะ บรรเทาปฏิฆานุสัย อนุสัยคือปฏิฆะ ความกระทบกระทั่ง อันเป็นเบื้องต้นของกิเลสกองโทสะ ถอนทิฏฐิมานานุสัย อนุสัยคือทิฏฐิมานะ ละอวิชชา ทำวิชชาให้บังเกิดขึ้น จึงเป็นไปเพื่อการกระทำความสิ้นสุดแห่งกองทุกข์ได้ดังนี้.


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 16, 2013, 04:17:29 pm โดย ธรรมะ ปุจฉา »
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม

ธรรมะ ปุจฉา

  • http://www.facebook.com/srikanet?ref=tn_tnmn
  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 713
  • ปัญญสโก ภิกขุ (พระที) ..... คณะ ๓/๓ วัดพลับ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
ญาณทัสสนะ : ตามพระเถราธิบายของท่านพระสารีบุตรเถระ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 16, 2013, 04:16:03 pm »
0
ญาณทัสสนะ
     เพราะฉะนั้น ปัญญาที่ต้องการในทางพุทธศาสนาอันเป็นขั้นต้นที่ต้องการทั่วไป ก็คือปัญญาที่ทำให้เป็นสัมมาทิฏฐิความเห็นชอบดังกล่าว ก็คือให้รู้จักอกุศล ให้รู้จักอกุศลมูล ให้รู้จักกุศล ให้รู้จักกุศลมูล. แต่ว่าพึงทำความเข้าใจด้วยอีกว่า ความรู้จักที่เป็นตัวปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าวนี้ ไม่ใช่สัญญา คือความทรงจำ. ความทรงจำนั้นก็คือความทรงจำตามที่ฟัง ตามที่อ่าน ตามที่เล่าเรียน ก็จำได้ว่าอกุศลกรรมบถ ๑๐ อกุ
ศลมูล ๓ มีอะไรบ้าง กุศลกรรมบถ ๑๐ กุศลมูล ๓ มีอะไรบ้างก็จำได้. ความจำได้ดั่งนี้ยังไม่เป็นปัญญายังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว ต้องอาศัยความคิดพินิจพิจารณาและการปฏิบัติอีกด้วยคือว่าต้องคิดพิจารณาไป และต้องปฏิบัติ  การปฏิบัติไปนั้นก็คือ  ปหานะ ละอย่างหนึ่ง  ภาวนา  ทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้นอย่างหนึ่ง
      ละ  ก็คือว่าต้องฝึกละอกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ละอกุศลมูลทั้ง ๓ นี่เป็นข้อที่ต้องปฏิบัติฝึกหัดละ
      ภาวนา  คือทำให้มัขึ้นให้เป็นขึ้นนั้น  คือต้องปฏิบัติฝึกที่จะประกอบกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ และอบรมกุศลมูล อโลภะ อโทสะ อโมหะ ให้มีขึ้น ให้บังเกิดขึ้นในจิตใจ
      นี้ก็รวมเข้าในคำว่า  สุตะ  จินตา  ภาวนา  ซึ่งเป็นเหตุให้ได้ปัญญา
      ปัญญาที่ได้จากสุตะคือการสดับการอ่านการเรียน ก็เรียกว่า  สุตมัยปัญญา
       ที่ได้จากความคิดพินิจพิจารณาก็เรียกว่า  จินตามัยปัญญา
       ที่ได้จากการปฏิบัติอบรม ก็เรียกว่า  ภาวนามัยปัญญา
       แต่ว่าในข้อ ๓ นี้ก็ต้องประกอบด้วยทั้งละ และทั้งทำให้มีขึ้นดังกล่าวนั้นและเมื่อปฏิบัติไป ๆ อาศัยสุตะ  อาศัยจินตา  อาศัยภาวนา ทั้ง ๓ นี้ ก็ย่อมจะได้ปัญญาที่เป็นตัวความรู้ขึ้นของตัวเอง  ได้ความเห็นขึ้นของตัวเอง  ซึ่งมีคำเรียกอีกว่า  ญาณทัสสนะ ความรู้ ความเห็น รู้เห็นว่าข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นอกุศลมูลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลจริง ข้อนี้ ๆ เป็นกุศลมูลจริง
      ในการที่จะปฏิบัติประกอบปัญญาในทางทั้ง ๓ ดังกล่าวนั้น ก็ต้องอาศัยกัลยาณมิตรและอาศัยโยนิโสมนสิการดังกล่าวมานั้นประกอบกันอยู่ตลอดเวลา  ฉะนั้นผู้มุ่งจะได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ จึงต้องปฏิบัติตามมงคลสูตรคาถาแรกของพระพุทธเจ้าอยู่ให้เป็นประจำ คือ
      ไม่เสวนาคบหาคนพาลทั้งหลาย เสวนาคบหสบัณฑิตทั้งหลายและบูชาผู้ที่ควรบูชาทั้งหลาย
       เมื่อปฏิบัติอยู่ดังนี้แล้ว จึงจะได้กัลยาณมิตร  และเมื่อมีโยนิโสมนสิการประกอบอยู่ตลอด ก็ย่อมจะเจริญปัญญาขึ้นโดยตลอด ทำให้เกิดความรู้ของตัวเองขึ้นรับรองว่านี่เป็นอย่างนี้จริง นี่เป็นอย่างนี้จริงตามความเป็นจริง โดยที่จับเหตุจับผลได้ถูก จับได้ว่า อกุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวอกุศลนั้นเป็นตัวผล  กุศลมูลนั้นเป็นตัวเหตุ ตัวกุศลนั้นเป็นตัวผล ซึ่งการที่จะจับเหตุจับผลได้ถูกต้องดังนี้ก็เกิดจากโยนิโสมนสิการ ใส่ใจ ตั้งแต่ตั้งใจฟังคำสอนของกัลยาณมิตร มาจนถึงพินิจพิจารณาขบเจาะจับเหตุผลให้ได้ หรือว่าจับผลสาวหาเหตุให้ได้ จับเหตุที่จะส่งผลให้ได้  นี่แหละคือโยนิโสมนสิการ ให้ความรู้ของตัวเองบังเกิดขึ้น รับรองว่าข้อนี้เป็นความจริง ข้อนี้เป็นความจริง  และเมื่อได้ปัญญาคือความรู้ของตังเองให้เกิดขึ้นรับรองขึ้นตามเป็นจริงดังนี้ จึงจะชื่อว่า มีความเห็นชอบ ที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ความเห็นตรง ที่เรียกว่า อุชุกทิฏฐิ ทำให้มีความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระธรรมโดยตรงก็คือในคำสั้งสอนของพระพุทธเจ้า ว่า
      สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม ธรรมะอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว คือ ดีจริง ถูกต้องจริง งามในเบื้องต้น งามในท่ามกล่าง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์คือศาสนาคำสั่งสอนที่แสดงความประพฤติอันประเสริฐ พร้อมทั้งอรรถะคือเนื้อความ พร้อมทั้งพยัญชนะคือถ้อยคำ บริบูรณ์คือไม่บกพร่อง บริสุทธิ์คือไม่ผิดพลาดสิ้นเชิง ย่อมจะได้ความเลื่อมใส ที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมอันเป็นสวากขาตธรรมของพระพุทธเจ้าดังนี้
       และเมื่อเป็นดังนี้แหละจึงจะชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้  ได้เข้ามาสู่พระศาสนานี้ได้เข้ามาสู่พระธรรมวินัยนี้ ถ้าหากว่ายังไม่ได้สัมมาทิฏฐิแม้ในขั้นต้นดังกล่าว ยังหาชื่อว่าได้เข้ามาสู่พระสัทธรรมนี้ไม่  หาชื่อว่ามีความเลื่อมใสที่ไม่หวั่นไหวในพระธรรมไม่ เพราะฉะนั้น จึงเป็นข้อที่ควรปฏิบัติ ตั้งใจที่จะสดับตรับฟัง ที่จะพินิจพิจารณา ที่จะปฏิบัติอบรม เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิดังกล่าว
บันทึกการเข้า
ยาดี มิได้ทำให้คนหายไข้   คนหายไข้ เพราะได้กินยาดี
ธรรมะ มิได้ทำให้คนดี       คนดีได้  เพราะปฏิบัติธรรม