ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เป็นภิกษุณี ทำไม.?  (อ่าน 462 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28431
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
เป็นภิกษุณี ทำไม.?
« เมื่อ: สิงหาคม 11, 2019, 06:16:09 am »
0


 :25: :25: :25:

เป็นภิกษุณี ทำไม.?

ปีนี้ครบ 18 ปีที่ท่านธัมมนันทาภิกษุณีในสายเถรวาทรูปแรกออกบวช (พ.ศ.2544) โดยเริ่มจากการบรรพชาเป็นสามเณรี และ 2 ปีต่อมา อุปสมบทเป็นภิกษุณี ปีแรกก็หนักหนาสาหัสพอควรกับเสียงที่โจมตีไม่ยอมรับ เห็นต่าง มีการให้ร้ายในรูปแบบต่างๆ ตามที่อกุศลจิตจะพาไป ท่านรอดมาได้ด้วยธรรมะข้อเดียว คือ “ธัมโมหเว รักขติ ธัมมจาริง” ท่านใช้ชีวิตของท่านพิสูจน์ว่า คำสอนของพระพุทธองค์เป็นจริง หากมีความมั่นคงในการรักษาธรรม ธรรมะนั้นเองจะรักษาผู้ปฏิบัติ

อย่างหนึ่งที่ท่านเล่าให้ฟังในสมัยหลังก็คือ การตั้งมั่นอยู่ในกุศลจิต และทำกุศลกรรม จะส่งผลทวีคูณในทางตรงกันข้าม ผู้ที่โจมตีท่านด้วยวิธีการต่างๆ อกุศลมันเกิดในใจเขา อกุศลมีแต่จะทำลาย และทำร้ายตัวเอง เพราะฉะนั้น กรรมที่เกิดจากอกุศลย่อมไม่ตั้งมั่นอยู่ได้นาน ผู้ที่ทำด้วยอกุศลจิตเป็นฐาน ก็ไม่สามารถอยู่ได้นานเช่นกัน

ปีแรก ผู้ที่เห็นด้วย และคิดมานานแล้วว่าอยากจะออกบวช ไม่มีใครออกมาเลย ท่านผู้อ่านเข้าใจคำว่า “วังเวง” ไหมคะ ประมาณนั้น พอเข้าปีที่สองเมื่อท่านธัมมนันทายังอยู่ที่เดิมในฐานของท่าน ฐานที่สำคัญคือฐานทางใจ เริ่มมีผู้คนที่อยากบวชออกมาปฏิบัติตาม คือเห็นว่าปลอดภัยแล้ว ไม่เห็นมีตำรวจมาจับท่านธัมมนันทาเข้าคุก เส้นทางที่เดินมาคนเดียวก็เริ่มมีผู้โผล่หัวออกมา 1 คน 2 คน 3 คน และทวีคูณ


@@@@@@

มาถึงวันนี้ เกือบสองทศวรรษ มีภิกษุณีกระจายกันในจังหวัดต่างๆ เหนือ ใต้ ออก ตก กว่า 33 จังหวัด ในประเทศไทยที่มี 77 จังหวัด กว่า 270 รูปแล้ว ทื่ทราบจำนวน เพราะภิกษุณีท่านมีการเกาะกลุ่มกันหลวมๆ ผ่านไลน์กลุ่มที่เรียกว่า สื่อกลางภิกษุณีฯ อะไรประมาณนั้น

ปี 2561 มีการสำรวจจำนวนภิกษุณีที่กระจายกันอยู่ในอารามใหญ่น้อยทั่วประเทศ แน่นอนที่สุด ไม่มีการอุปสมบทในประเทศไทยหลังจาก พ.ศ.2557 ที่มหาเถรสมาคมออกมาแตะเบรก ห้ามไม่ให้พระภิกษุในสังกัดมหาเถรสมาคมให้การบวชผู้หญิง แล้วก็ขยายคำสั่งออกไปจากเดิมว่า ห้ามไม่ให้มีการบวชภิกษุณีเถรวาทในประเทศไทย

ต่ออีกนิด ขอร้องไปทางกระทรวงการต่างประเทศด้วยว่า ภิกษุต่างชาติที่จะเข้ามาให้การอุปสมบทในประเทศไทยก็ต้องได้รับการอนุญาตจากมหาเถรสมาคมเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย พูดเช่นนี้ เข้าใจกันโดยนัยยะ ว่าไม่อนุญาต

แต่ภิกษุต่างชาติที่ท่านเคารพในพระธรรมวินัยและรู้ว่า การบวชภิกษุณีเป็นพระประสงค์ของพระพุทธเจ้า เพราะท่านทรงคิดมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีผู้หญิงขอบวชด้วยซ้ำ โดยการที่ท่านเห็นโครงสร้างของผู้ที่จะสืบทอดพระศาสนา คือ พุทธบริษัท 4 ท่านยินดีจะเข้ามาให้การบวช แม้จะต้องติดคุกก็ตาม (ข้อมูลจากการพูดคุยโดยตรง พ.ศ.2560 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ระหว่างการประชุมศากยะธิดา)

@@@@@@

ทีนี้ ที่ว่าไม่มีการบวชในประเทศไทยนั้น ว่าโดยทางการ ในความเป็นจริงก็มีการลักลอบ แอบบวชตามตะเข็บประเทศระหว่างไทยกับเขมร เป็นต้น แต่ก็ไม่เห็นมหาเถรสมาคมจัดการอะไรทั้งที่ขัดต่อคำสั่งของมหาเถรฯ โดยตรง คำสั่งก็เลยดูเหมือนจะถูกเพิกเฉย ไม่ปฏิบัติตามไปโดยปริยาย

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ภิกษุณีที่อุปสมบทแบบนี้ ไม่มีภิกษุณีที่จะเป็นครูบาอาจารย์อบรมสั่งสอน ในพระวินัย ฝ่ายพระภิกษุหลังจากการอุปสมบทแล้ว ต้องถือนิสสัย คืออยู่กับอุปัชฌาย์ หรือผู้ที่อุปัชฌาย์มอบหมายไปอีก 5 ปี บางรูปก็อาจจะต้องอยู่กับอาจารย์ตลอดไป เรียกว่าปล่อยเดี่ยวไม่ได้

ฝ่ายภิกษุณีเมื่ออุปสมบทแล้ว ต้องอยู่กับปวัตตินี คือภิกษุณีที่เป็นอาจารย์อย่างน้อย 2 พรรษา ตามเงื่อนไขในพระวินัย ตรงนี้คือช่วงเวลาการอบรมบ่มเพาะทั้งพระธรรมและพระวินัยให้เป็นภิกษุณีที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะทำงานรับใช้พระศาสนาในการสืบทอดพระศาสนาได้เต็มที่

ภิกษุณีที่แอบอุปสมบทกันเองในประเทศไทย หรือแม้ที่ไปอุปสมบทมาจากศรีลังกา แล้วกลับมาเลยโดยไม่ได้อยู่กับครูบาอาจารย์ ไม่มีการอบรมบ่มเพาะตรงนี้ ก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคในการพัฒนาคุณภาพของภิกษุณีสงฆ์ในระยะยาว



คำถามว่า บวชทำไม.? จึงเป็นคำถามที่ต้องมาทบทวนกันอีกครั้งหนึ่ง บวชเพื่อการบรรลุธรรม การบรรลุธรรมเป็นเป้าหมายสูงสุดของเราชาวพุทธ แต่การบรรลุธรรม ไม่ต้องบวชก็ได้ เราไม่ลืมว่า พระพุทธองค์ทรงมอบหมายหน้าที่ไว้ชัดเจน 6 วินัยปิฎก มหาวรรค ขันธกะ 1 เมื่อทรงส่งพระอรหันต์ 60 รูปออกไปประกาศพระศาสนา ว่า จงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท

ประโยชน์ตน คือการบรรลุธรรม อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธ ประโยชน์ท่าน คือการสืบพระศาสนา โดยเริ่มจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เป็นพระสุปฏิปันโน สร้างศรัทธาให้เกิดในหมู่คนที่ยังไม่ศรัทธา สร้างศรัทธาให้มั่นคงในหมู่ที่มีศรัทธาอยู่แล้ว สองข้อที่ว่ามานี้ ชัดเจนอยู่ในเหตุผล 10 ประการที่พระพุทธองค์ทรงวางเป็นเงื่อนไขในการเริ่มต้นของพระวินัย

การสืบพระศาสนานั้น อาจจะเทศน์ไม่เก่ง แต่เรามีตัวอย่างของพระอิสสชิที่เดินออกบิณฑบาตอย่างสำรวมกาย สำรวมใจ ยังความศรัทธาให้เกิด แม้ในคนที่ยังไม่ได้เป็นชาวพุทธด้วยซ้ำ พระสารีบุตรขณะนั้นกำลังแสวงหาครูบาอาจารย์ เห็นอากัปกิริยาของพระอัสสชิ เกิดความเลื่อมใสศรัทธา เข้าไปหา พระอัสสชิยังไม่ได้เอ่ยวาจาอะไรด้วยซ้ำ ก็สามารถยังความศรัทธาให้เกิดได้

เมื่อเข้าไปขอธรรมะ ท่านก็พูดอย่างถ่อมตัวว่า ท่านเป็นพระบวชใหม่ พระอาจารย์ท่านสอนว่า เหตุเกิดที่ใด ก็ดับที่นั่นแหละ (เป็นที่มาของคาถา เยธัมมาฯ) จริงๆ แล้ว พระอัสสชิตอนนั้นเป็นพระอรหันต์แล้วด้วยซ้ำ แล้วก็พาพระสารีบุตรเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จนในที่สุดได้ออกบวช ได้บรรลุธรรม และเป็นอัครสาวกที่สำคัญที่เราท่านรู้จักกันเป็นอย่างดีนั่นเอง

@@@@@

หากภิกษุณีที่ออกบวชเข้าใจชัดเจนในหน้าที่ความรับผิดชอบของตนที่พึงมีต่อพระศาสนา ก็จะเลือกหนทางเดินได้ดีขึ้น ด้วยความตระหนักถึงภาระหน้าที่เช่นนี้ ท่านธัมมนันทาพร้อมทีมงานของท่านซึ่งเป็นภิกษุณีสงฆ์ และอุบาสิกาที่รู้หน้าที่ของตน จึงจัดหลักสูตรอบรมพระธรรมวินัยก่อนเข้าพรรษา เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ภิกษุณีจากวัตรทรงธรรมกัลยาณีเองและอารามอื่นๆ ที่ยังไม่มีพื้นที่ในการศึกษาอบรมร่วมกัน ให้เกิดความตั้งมั่นร่วมกันในการเตรียมความพร้อมในหน้าที่การรับใช้พระศาสนา

หลักสูตรนี้จัดมาทุกปี ตอนแรกเปิดทั้งพรรษา แต่ภิกษุณีที่มาจากต่างประเทศมีปัญหาเรื่องการขอวีซ่า ก็เลยบีบเข้ามาเป็นเพียง 1 เดือนก่อนพรรษา ตอนนี้มุ่งที่การพัฒนาภิกษุณีสงฆ์ไทย ซึ่งมีความต้องการต่างจากต่างชาติ ก็จัดการอบรมทั้งเนื้อหา และวิธีการได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ ข้อสำคัญ คืออยากเรียนรู้ ที่อยากเรียนรู้ เพราะยอมรับว่าตัวเองยังไม่รู้

ท่านธัมมนันทาเอง ท่านก็ยังเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับชั้นเรียนของภิกษุณี เพราะมีการคิดร่วมกัน เปิดประเด็น มองประเด็น จากมุมใหม่ๆ เสมอ ตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ที่หัวข้อว่า เป็นภิกษุณีเพื่อสืบทอดพระศาสนา โดยการปฏิบัติตน และปฏิบัติเพื่อผู้อื่น ผู้อื่นในวงแคบหมายถึงสังฆะของตัวเองก่อน แล้วขยับออกไปรวมถึงสังฆะจากอารามอื่น ขยับออกไปอีก สำหรับชาวพุทธโดยองค์รวม

ชาวพุทธอยู่เป็นสุขแล้ว แต่เราอยู่ในโลก แม้นโลกขาดความสงบสุข ลำพังภิกษุณีที่สงบสุขจะอยู่ได้อย่างไร เราจึงปฏิบัติเพื่อสรรพสัตว์ด้วย เราเป็นน้ำเพียงหยดเดียวในมหาสมุทร แต่มหาสมุทรก็มาจากการรวมตัวของน้ำหยดเดียวนั่นแหละ เป็นภิกษุณีทำไม จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญที่ภิกษุณีเองพึงถามตนเองก่อน ความคิดชัดเจน นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติที่ชัดเจน



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 กรกฎาคม 2562
คอลัมน์ : ธรรมลีลา
ผู้เขียน : ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_214587
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ