ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”  (อ่าน 1249 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28416
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (12) : พระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรก


ถ้าถามว่าพระราชาผู้นับถือพระพุทธศาสนาองค์แรกคือใคร
นักเรียนที่เรียนวิชาพระพุทธศาสนาคงตอบได้ว่าคือพระเจ้าพิมพิสาร
แต่ถ้าใครตอบไม่ได้ก็ไม่ว่ากัน เพราะผู้ใหญ่ที่จบสูงกว่านักเรียนมัธยมก็มีมากมายที่ตอบไม่ได้

พระเจ้าพิมพิสาร เป็นกษัตริย์ครองเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีโอกาสพบพระพุทธเจ้าตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกผนวชใหม่ๆ เสด็จผ่านมายังเมืองราชคฤห์ ประทับอยู่ที่ปัณฑวบรรพต

หลังจากได้ทรงสนทนากับพระพุทธองค์แล้ว ได้ชักชวนให้พระพุทธองค์สละเพศบรรพชิตมาครองราชย์ด้วยกัน โดยจะทรงแบ่งดินแดนให้กึ่งหนึ่ง พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ตรัสว่าสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงแสวงหาคือโมกขธรรม หาใช่ราชสมบัติไม่

กษัตริย์หนุ่มกราบทูลว่า ถ้าทรงได้บรรลุสิ่งที่ทรงประสงค์แล้วขอให้เสด็จมาสอนเป็นคนแรก พระพุทธองค์ทรงรับ ด้วยเหตุนี้ เมื่อโปรดปัญจวัคคีย์ โปรดยสกุมารพร้อมสหาย จนมีพระสาวก 60 รูป ทรงส่งไปประกาศพระศาสดายังแคว้นต่างๆ แล้ว พระองค์จึงเสด็จพุทธดำเนินมุ่งตรงไปยังเมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ จุดมุ่งหมายก็คือ ทรงต้องการจะเปลื้องปฏิญญาที่ประทานไว้แก่พระเจ้าพิมพิสารเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง


@@@@@@

เมื่อทรงพิจารณาว่า บุคคลที่พระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองนับถืออยู่คือชฏิลสามพี่น้อมพร้อมบริวาร พระองค์จึงเสด็จไปโปรดชฏิลสามพี่น้องก่อน เพราะว่า เมื่อชฏิลสามพี่น้องพร้อมบริวารนับถือพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารพร้อมชาวเมืองก็จะนับถือตามโดยง่าย

หลังจากโปรดชฏิลสามพี่น้องแล้ว พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่ลัฏฐิวัน (แปลกันว่าป่าตาลหนุ่ม ตาลหนุ่มก็คือตาลไม่แก่นั่นแล) นอกเมืองราชคฤห์

พระเจ้าพิมพิสารพร้อมประชาชนจำนวนมากได้ไปยังป่าตาลดังกล่าว ทอดพระเนตรเห็นอาจารย์ของพระองค์สละเพศชฏิลหันมานุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ นั่งแวดล้อม “สมณะหนุ่ม” รูปหนึ่งหน้าตาคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเคยรู้จักกันมาก่อน ก็ทรงสงสัยอยู่ครามครันว่าเกิดอะไรขึ้น อาจารย์ของพระองค์จึงได้ “เปี๊ยนไป๋”

@@@@@

พระพุทธองค์ทรงทราบพระราชดำริของกษัตริย์หนุ่ม จึงหันไปตรัสถามพระกุมารกัสสปะหัวหน้าชฏิลทั้งหลายว่า “เธอเห็นอย่างไร จึงสละเพศชฏิลและการบูชาไฟที่ทำมาเป็นเวลานาน หันมานับถือพระพุทธศาสนา”

ปูรณกัสสปะกราบทูลว่า
“ยัญทั้งหลายสรรเสริญรูป เสียง กลิ่น รส และสตรี ล้วนแต่เป็นมลทิน ข้าพระองค์เห็นว่ามิใช่ทางแห่งความระงับกิเลส จึงละการเซ่นสรวงบูชา”

“ถ้าเช่นนั้น เธอยินดีอะไร เทวโลกหรือมนุษยโลก”

“ใจของข้าพระองค์ยินดีในการสิ้นกิเลสทั้งหลาย ไม่เวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป”

@@@@@@

พระเจ้าพิมพิสารและประชาชนได้ยินการโต้ตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและปูรณกัสสปะ และเห็นอาจารย์ของพวกตนคุกเข่าประนมมือต่อพระพักตร์สมณะหนุ่มเช่นนั้นก็หายสงสัย พลอยเลื่อมใสไปตามอาจารย์ของพวกตนด้วย กษัตริย์หนุ่มก็พลอยรำลึกได้ว่า สมณะรูปนี้ก็คือผู้ที่ตนพบที่ปัณฑวบรรพตนั้นเอง บัดนี้ได้เป็น “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า” แล้ว

หลังจากทรงสดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์แล้ว พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล นับถือพระรัตนตรัยตลอดชีวิต อาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่พระราชวังในวันรุ่งขึ้น หลังจากนั้นไม่กี่วันก็ถวายสวนไผ่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาชื่อว่า “วัดเวฬุวัน” ดังที่ทราบกันดีแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารนี้มีพระมเหสีพระนามว่าโกศลเทวี หรือเวเทหิ ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้พระขนิษฐานของพระเจ้าพิมพิสารเป็นมเหสีเช่นกัน แว่นแคว้นทั้งสองนี้จึงมีสัมพันธไมตรีกันอย่างแน่นแฟ้น ทั้งพระเจ้าปเสนทิโกศลและพระเจ้าพิมพิสารต่างก็ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งขันจนตลอดรัชกาล

@@@@@@

มีเรื่องน่าสนใจก็คือ พระเจ้าพิมพิสารทรงนำแนวคิดวิธี “ดึงดูดเงินตราจากต่างประเทศ” จากแคว้นวัชชีของกษัตริย์ลิจฉวีมาใช้ในเมืองราชคฤห์ของพระองค์ โดยทรงสถาปนาตำแหน่งนาง “นครโสเภณี” ขึ้น

นางนครโสเภณีคนแรกชื่อ สาลวดี สาลวดีมีบุตรชายด้วยความประมาทจึงสั่งให้สาวใช้เอาไปทิ้งไว้ข้างประตูวัง บังเอิญเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารทรงเก็บไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม เด็กน้อยคนนี้ต่อมาได้จบการศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ ได้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์ และได้ถวายตนเป็นนายแพทย์ถวายการอุปฐากพระพุทธองค์ในเวลาต่อมา

พระเจ้าพิมพิสารมีพระราชโอรสชื่ออชาตศัตรู ผู้ซึ่งได้ทำ “ปิตุฆาต” เพราะหลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัต แม้อชาตศัตรูเองก็ถูกพระราชโอรสปลงพระชนม์ พระราชโอรสของพระเจ้าอชาตศัตรูก็ถูกพระราชโอรสของตนปลงพระชนม์เช่นกัน ว่ากันว่าฆ่าติดต่อกัน 7 ชั่วโคตรทีเดียว ประชาชนทนเห็นพระราชวงศ์ปิตุฆาตต่อไปไม่ไหว จึงรวมตัวกันปฏิวัติ ล้มรัฐบาลเพื่อไทย เอ๊ย ราชวงศ์โมริยะ สถาปนาราชวงศ์ใหม่สืบต่อมา



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 มิถุนายน - 4 กรกฎาคม 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_207300
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 06, 2019, 08:51:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ