ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อไฟไหม้หัวตัวเอง คุณจะทำอะไรก่อน  (อ่าน 3504 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

เมื่อไฟไหม้หัวตัวเอง คุณจะทำอะไรก่อน


พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๑
สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
เจลสูตร


           ให้รีบเพียรเพื่อตรัสรู้ เหมือนรีบดับไฟบนศีรษะ

[๑๗๑๗] พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว จะควรกระทำอย่างไร?


ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อผ้าหรือศีรษะถูกไฟไหม้แล้ว
ควรจะกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อดับผ้าหรือศีรษะนั้น.

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลพึงวางเฉย ไม่ใส่ใจถึงผ้า หรือศีรษะที่ถูกไฟไหม้แล้ว
พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความไม่ย่นย่อ ความไม่ท้อถอย
สติและสัมปชัญญะอย่างแรงกล้า เพื่อตรัสรู้อริยสัจ ๔ ที่ยังไม่ตรัสรู้ตามความเป็นจริง


อริยสัจ ๔ เป็นไฉน?  คือ ทุกขอริยสัจ ฯลฯ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียร
เพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.
                 จบ สูตรที่ ๔

อ้างอิง
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๙  บรรทัดที่ ๑๐๔๑๙ - ๑๐๔๓๑.  หน้าที่  ๔๓๕ - ๔๓๖.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=19&A=10419&Z=10431&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=19&i=1717




อริยสัจ ๔ (ความจริงอันประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นอริยะ)

๑. ทุกข์ (ความทุกข์, สภาพที่ทนได้ยาก, สภาวะที่บีบคั้น ขัดแย้ง บกพร่อง ขาดแก่นสารและความเที่ยงแท้ ไม่ให้ความพึงพอใจแท้จริง, ได้แก่ ชาติ ชรา มรณะ การประจวบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง โดยย่อว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์)

๒. ทุกขสมุทัย (เหตุเกิดแห่งทุกข์, สาเหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ ตัณหา ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา)
 
๓. ทุกขนิโรธ (ความดับทุกข์ ได้แก่ ภาวะที่ตัณหาดับสิ้นไป, ภาวะที่เข้าถึงเมื่อกำจัดอวิชชา สำรอกตัณหาสิ้นแล้ว ไม่ถูกต้อง ไม่ติดข้อง หลุดพ้น สงบ ปลอดโปร่ง เป็นอิสระ คือนิพพาน)
 
๔. ทุกขนิโรธคามีนิปฏิปทา (ปฏิปทาที่นำไปสู่ความดับแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ อริยอัฏฐังคิกมรรค หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า ทางสายกลาง มรรคมีองค์ ๘ นี้ สรุปลงในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา)

อริยสัจ ๔ นี้ เรียกกันสั้นๆ ว่า ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
การแสดงอริยสัจ ๔ นี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สามุกกังสิกา ธรรมเทศนา (เช่น องฺ.อฏฺก.๒๓/๑๐๒/๑๙๐)
แปลตามอรรถกถาว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบยกขึ้นถือเอาไว้ด้วยพระองค์เอง คือ ทรงเห็นด้วยพระสยัมภูญาณ (= ตรัสรู้เอง) ไม่สาธารณะแก่ผู้อื่น


(แต่ตามที่อธิบายกันมา มักแปลว่า พระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงยกขึ้นแสดงเอง โดยไม่ต้องปรารภคำถามหรือการทูลขอร้องของผู้ฟัง อย่างการแสดงธรรมเรื่องอื่นๆ; ความจริง จะแปลว่า พระธรรมเทศนาขั้นสุดยอดก็ได้ ซึ่งสมกับเป็นเรื่องที่ทรงแสดงท้ายสุดต่อจาก อนุปุพพิกถา ๕ คำแปลอย่างหลังนี้ พึงเทียบ องฺ.ทสก.๒๔/๙๕/๒๐๘)
 
อ้างอิง วินย.๔/๑๔/๑๘; สํ.ม.๑๙/๑๖๖๕/๕๒๘; อภิ.วิ.๓๕/๑๔๕/๑๒๗
ที่มา พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)




กิจในอริยสัจ ๔ (หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง, ข้อที่จะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและเสร็จสิ้นในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง จึงจะชื่อว่ารู้อริยสัจหรือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว)

๑. ปริญญา (การกำหนดรู้ เป็นกิจในทุกข์ ตามหลักว่า ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ ทุกข์ควรกำหนดรู้ คือ ควรศึกษาให้รู้จักให้เข้าใจชัดตามสภาพที่เป็นจริง ได้แก่ การทำความเข้าใจและกำหนดขอบเขตของปัญหา)

๒. ปหานะ (การละ เป็นกิจในสมุทัย ตามหลักว่า ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ สมุทัยควรละ คือ กำจัด ทำให้หมดสิ้นไป ได้แก่การแก้ไขกำจัดต้นตอของปัญหา)

๓. สัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้ง เป็นกิจในนิโรธ ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ นิโรธควรทำให้แจ้ง คือ เข้าถึง หรือบรรลุ ได้แก่การเข้าถึงสภาวะที่ปราศจากปัญหา บรรลุจุดหมายที่ต้องการ)

๔. ภาวนา (การเจริญ เป็นกิจในมรรค ตามหลักว่า ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ มรรคควรเจริญ คือ ควรฝึกอบรม ลงมือปฏิบัติ กระทำตามวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย ได้แก่การลงมือแก้ไขปัญห
า)

ในการแสดงอริยสัจ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจก็ดี จะต้องให้อริยสัจแต่ละข้อ สัมพันธ์ตรงกันกับกิจแต่ละอย่าง จึงจะเป็นการแสดงและเป็นการปฏิบัติโดยชอบ ทั้งนี้ วางเป็นหัวข้อได้ดังนี้

๑. ทุกข์ เป็นขั้นแถลงปัญหาที่จะต้องทำความเข้าใจและรู้ขอบเขต (ปริญญา)
 
๒. สมุทัย (เป็นขั้นวิเคราะห์และวินิจฉัยมูลเหตุของปัญหา ซึ่งจะต้องแก้ไขกำจัดให้หมดสิ้นไป (ปหานะ)

๓. นิโรธ เป็นขั้นชี้บอกภาวะปราศจากปัญหา อันเป็นจุดหมายที่ต้องการ ให้เห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นไปได้ และจุดหมายนั้นควรเข้าถึง ซึ่งจะต้องทำให้สำเร็จ (สัจฉิกิริยา)

๔. มรรค เป็นขั้นกำหนดวิธีการ ขั้นตอน และรายละเอียดที่จะต้องปฏิบัติในการลงมือแก้ปัญหา (ภาวนา)


ความสำเร็จในการปฏิบัติทั้งหมด พึงตรวจสอบด้วยหลัก ญาณ ๓

อ้างอิง วินย.๔/๑๕/๒๐; สํ.ม.๑๙/๑๖๖๖/๕๒๙
ที่มา พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)




ญาณ ๓ (ความหยั่งรู้, ปรีชาหยั่งรู้)


๑. สัจจญาณ (หยั่งรู้สัจจะ คือ ความหยั่งรู้อริยสัจ ๔ แต่ละอย่างตามที่เป็นๆ ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)
 
๒. กิจจญาณ (หยั่งรู้กิจ คือ ความหยั่งรู้กิจอันจะต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ ทุกขสมุทัยควรละเสีย ทุกขนิโรธควรทำให้แจัง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาควรเจริญ)

๓. กตญาณ (หยั่งรู้การอันทำแล้ว คือ ความหยั่งรู้ว่ากิจอันจะต้องทำในอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างนั้นได้ทำสำเร็จแล้ว)


อ้างอิง วินย.๔/๑๖/๒๑; สํ.ม.๑๙/๑๖๗๐/๕๓๐; สํ.อ.๓/๔๐๙
ที่มา พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)



อนุปุพพิกถา ๕ (เรื่องที่กล่าวถึงตามลำดับ, ธรรมเทศนาที่แสดงเนื้อความลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ เพื่อขัดเกลาอัธยาศัยของผู้ฟังให้ประณีตขึ้นไปเป็นชั้นๆ จนพร้อมที่จะทำความเข้าใจในธรรมส่วน)

๑. ทานกถา (เรื่องทาน, กล่าวถึงการให้ การเสียสละเผื่อแผ่แบ่งปัน ช่วยเหลือกัน)

๒. สีลกถา (เรื่องศีล, กล่าวถึงความประพฤติที่ถูกต้องดีงาม)


๓. สัคคกถา (เรื่องสวรรค์, กล่าวถึงความสุขความเจริญ และผลที่น่าปรารถนาอันเป็นส่วนดีของกาม ที่จะพึงเข้าถึง เมื่อได้ประพฤติดีงามตามหลักธรรมสองข้อต้น)

๔. กามาทีนวกถา (เรื่องโทษแห่งกาม, กล่าวถึงส่วนเสีย ข้อบกพร่องของกาม พร้อมทั้งผลร้ายที่สืบเนื่องมาแต่กาม อันไม่ควรหลงใหลหมกมุ่นมัวเมา จนถึงรู้จักที่จะหน่ายถอนตนออกได้)

๕. เนกขัมมานิสังสกถา (เรื่องอานิสงส์แห่งความออกจากกาม, กล่าวถึงผลดีของการไม่หมกมุ่นเพลิดเพลินติดอยู่ในกาม และให้มีฉันทะที่จะแสวงความดีงามและความสุขอันสงบที่ประณีตยิ่งขึ้นไปกว่า
)

ตามปกติ พระพุทธเจ้าเมื่อจะทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่คฤหัสถ์ ผู้มีอุปนิสัยสามารถที่จะบรรลุธรรมพิเศษ ทรงแสดงอนุปุพพิกถานี้ก่อน แล้วจึงตรัสแสดงอริยสัจ ๔ เป็นการทำจิตให้พร้อมที่จะรับ ดุจผ้าที่ซักฟอกสะอาดแล้ว ควรรับน้ำย้อมต่างๆ ได้ด้วยดี

อ้างอิง วินย. ๔/๒๗/๓๒; ที.สี.๙/๒๓๗/๑๘๙.
ที่มา พจนานุกรม พุทธศาสน์ ฉบับประมวลธรรม(ป.อ.ปยุตโต)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ