ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การศึกษา "ปุพเพกตปุญญตา" ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา | เอตัมมังคะละมุดตะมัง  (อ่าน 689 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การศึกษา "ปุพเพกตปุญญตา" ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
A Study of the Pubbekatapunnata in Buddhism

โดย นางสาวปุณภัท ธนาเดชกุลโชติ(-๑)


บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องการศึกษาปุพเพกตปุญญตาในคัมภีร์พระพุทธศาสนานี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ
    ๑) เพื่อศึกษาปุพเพกตปุญญตาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
    ๒) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับปุพเพกตปุญญตา
    ๓) เพื่อวิเคราะห์ปุพเพกตปุญญตาในทัศนะของนักวิชาการพระพุทธศาสนาในสังคมไทย

ผลการศึกษาวิจัยพบว่า ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้มีบุญที่ได้กระทำไว้ในปางก่อน เป็นมงคลข้อที่ ๕ ในจำนวนมงคล ๓๘ ข้อ ซึ่งมีอิทธิพลต่อสังคมไทย พระสิริมังคลาจารย์ชาวล้านนาไทยรวบรวมคำอธิบายมงคลแต่งคัมภีร์มังคลัตถทีปนีเผยแผ่ผ่านมา ๗๐๐ กว่าปี เป็นที่ยอมรับในสังคมพุทธไทยใช้เป็นตำราเรียนภาษาบาลีของพระภิกษุสามเณร พระพุทธเจ้ากับพระสาวกทั้งหลายเป็นบุคคลที่ได้กระทำบุญไว้ในปางก่อน บุญที่กระทำไว้นั้น ส่งผลให้พระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ส่งผลให้พระสาวกได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล มีประวัติบันทึกอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา

หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับปุพเพกตปุญญตา คือ จักร ๔ เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง เป็นปัจจัยของกันและกัน
    (๑) ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในประเทศอันสมควร
    (๒) สัปปุริสูปัสสยะ คบสัตบุรุษ
    (๓) อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ
    .... ทำให้เกิดปุพเพกตปุญญตา

หลักธรรมโดยอ้อม คือ กุศลกรรมบถ ๑๐ เป็นปากทางแห่งการสร้างบุญกุศล บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นวิธีการสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้น ซึ่งจะเกื้อหนุนการทำบุญในอดีตที่ส่งผลมาให้ในปัจจุบัน และการทำบุญในปัจจุบันอันจะส่งผลไปในอนาคต ทัศนะของนักวิชาการพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ท่านได้ให้ทัศนะว่า ปุพเพกตปุญญตามีความสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ เพราะบุญที่ทำไว้ก่อนส่งผลให้เกิดเป็นมนุษย์ หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ จักร ๔ ต้องอยู่ในประเทศที่เหมาะสม จึงจะได้คบสัตบุรุษ แล้วตั้งตนไว้ชอบ ปุพเพกตปุญญตามีอิทธิพลต่อสังคมไทยทั้งด้านวัฒนธรรม ด้านสังคม ด้านจริยธรรม เพราะสังคมไทยส่วนมากเป็นสังคมชาวพุทธที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา

คำสำคัญ : ปุพเพกตปุญญต, การทำบุญกุศล

Abstract

This thesis entitled ‘A Study of the Pubbekatapuññatã in Buddhism’ has two objectives :-
    ๑ ) to study Pubbekatapuññatã in Buddhist scriptures,
    ๒ ) to study Buddhist principles concerning Pubbekatapuññatã, and
    ๓ ) to analyze Pubbekatapuññatã in Buddhist scholars’ viewpoint in Thai society. This is a documentary research.

 
(-๑) นิสิตปริญญาโท บัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย


วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๒


     In the study, it was found that etymologically Pubbekatapuññatã meaning gaining certain merit from past meritorious actions becomes the fifth blessing out of 38 blessings greatly influencing upon Thai society. Historically, it was compiled by Sirimagalacãraya in Magalatthadîpanî. In the story, the Buddha and His followers were endowed with Pubbekatapuññatã and thereby bringing Him Buddhahood and enlightenment to followers  respectively.

     As far as Pubbekatapuññatã is concerned, the Buddhist principles, four virtues wheeling one to prosperity, are conditionally directed to one another. They are as follows :-
     1) Paµîrũpadesavã ; one should live in the right country,
     2) Sappurisũpassaya ; one should associate with good man, and
     3) Attasammãpanidhi ; one should put oneself in the proper way.

Once one follows these virtues then Pubbekatapuññatã is gradually caused. In this matter, the indirect Buddhist principles are 10 wholesome courses of action ; they are
regarded as ways leading to merit action. Apart from this, 10 bases of meritorious action are also the ways supporting the past merit to produce the present result and the present merit action will be conducive to the future merit as well.

     Viewed from Buddhist scholars’ viewpoints in Thai society, it showed that Pubbekatapuññatã is extremely essential to human beings’ life because being reborn as human being is conditionally determined by it. Therefore, first, in order to gain this four virtues wheeling one to prosperity should be in the proper country and then one can associate with wise man and thereby putting oneself in proper place. It can be claimed that Pubbekatapuññatã plays a crucial roles in Thai society, be it culture, society, and morality, because most of Thais are Buddhists.

Key word : Pubbekatapunnata, Make merit

บทนำ

พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนเรื่องกรรม คือ การกระทำ และกรรมวิบาก คือ ผลของการกระทำ ดังที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่า
    “เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น” (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)

     แล้วพระองค์ทรงขยายความว่า
    “สตรี บุรุษ คฤหัสถ์ หรือบรรพชิตควรพิจารณาเนืองๆ ว่า ‘เรามีกรรมเป็นของตน เป็นผู้รับผลของกรรม มีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เราทำกรรมใดไว้ จะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ตาม ย่อมเป็นผู้รับผลของกรรมนั้น เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์อะไร เพราะอาศัยอำนาจประโยชน์นี้แลว่า ‘สัตว์ทั้งหลายมีกายทุจริตวจี ทุจริต มโนทุจริต เมื่อเขาพิจารณาฐานะนั้นอยู่เนืองๆ ย่อมละทุจริตได้โดยสิ้นเชิง หรือทำให้เบาบางลงได้” (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)



วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๓


จากข้อความนี้ หมายความว่า เมื่อบุคคลที่เกิดมาได้ศึกษาหาความรู้ มีวิชาติดตัวแล้วได้ประกอบสัมมาอาชีพ แล้วดำชีวิตอยู่ได้ ด้วยผลของความรู้และการประกอบอาชีพ เขาชื่อว่า ได้กระทำกรรมและได้รับวิบากกรรม เรื่องนี้เป็นหลักคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงสอนตามวิถีชีวิตของชาวโลก คือ ชาวโลกทุกชาติ ก็ขวนขวายกระทำ คือ ขวนขวายศึกษา ขวนขวายประกอบสัมมาอาชีพ และก็ได้ผลของการศึกษา เช่น มีหน้าการงานที่ดี ได้ทรัพย์มาเลี้ยงชีวิตตนและครอบครัว

หลักคำสอนเรื่อง ปุพเพกตปุญญตา การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน เป็นหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ในมงคลสูตรว่า “การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อน” (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐) หมายถึง เป็นผู้ที่กระท าบุญกุศลไว้ปรารภพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ในชาติที่ล่วงมาแล้ว บุคคลที่ทำบุญไว้ในชาติก่อนอย่างนี้ เมื่อสิ้นชีพในชาตินั้นมาเกิดในชาติต่อมา ได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า หรือพระสาวกของพระพุทธเจ้า ย่อมบรรลุธรรมด้วยบุญกุศลที่สั่งสมมา ดังเช่น พระเจ้ามหากัปปินะกับบริวารที่ทำบุญไว้ในอดีตชาติ แล้วมาสมัยพระพุทธเจ้าโคดม ได้พบพระพุทธเจ้าฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)

บุคคลเหล่านี้ คือ ตัวอย่างของบุคคลผู้ทำบุญไว้ในปางก่อน คือ ทำบุญกับพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติที่เกิดเป็นช่างทอหู กและทำบุญในศาสนาของพระพุทธเจ้ากัสสปะเมื่อ ๑ แสนอสงไขย แล้วมาเกิดในศาสนาของพุทธเจ้าโคดมได้ฟังธรรมแล้วบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วบวชเป็นพระสาวกของพระพุทธเจ้า ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นเลิศทางด้านผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย ดังข้อความว่า “ภิกษุทั้งหลาย มหากัปปินะเลิศกว่าภิกษุสาวกทั้งหลายของเรา ผู้กล่าวสอนภิกษุ” (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐) ถือว่าได้รับผลบุญที่ทำไว้

นอกจากนี้ยังมีคฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ทั้งสตรีและบุรุษที่กระทำบุญไว้ในชาติก่อน แล้วมาเกิดในสมัยพระพุทธเจ้าโคดม แล้วได้รับผลบุญทั้งระดับโลกิยะ คือ ผลระดับประชาชนทั่วไป และระดับโลกุตตระ คือ มรรคผลอันสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ปุพเพกตปุญญตา คือ การได้สร้างบุญไว้ในปางก่อนนี้ มีหลักธรรมที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้การสร้างบุญสมบูรณ์และสำเร็จผลในกาลต่อมา และในชาติต่อๆ มา เช่น หมวดธรรม จักร ๔ คือ ธรรมที่เป็นหลักปฏิบัติอันจะนำไปสู่ความดีงาม ความเจริญก้าวหน้า หรือ ธรรมที่เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างความดีอื่นๆได้ทุกอย่าง และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิตอย่างมั่นคง

หลักธรรมอีก ๓ ข้อในหมวดนี้ ถือว่าเป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับปุพเพกตปุญญตา ซึ่งพระสารีบุตรแสดงไว้ว่าเป็นธรรมมีอุปการะมาก ซึ่งมีปุพเพกตปุญญตาอยู่ด้วย ได้แก่
   (๑) ปฏิรูปเทสวาสะ การอยู่ในถิ่นที่ดี
   (๒) สัปปุริสสังเสวะ การคบหาสัตบุรุษ
   (๓) อัตตสัมมาปณิธิ การตั้งตนไว้ชอบ
   (๔) ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ในก่อนแล้ว (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)

จักร ๔ นี้เป็นเหตุให้บุคคลประพฤติปฏิบัติ ดำเนินชีวิตไปได้ มีหน้าที่การงาน มีโภคสมบัติ (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)
    จักร คือ สมบัติ ๔ ย่อมหมุนสืบต่อกันไป
    บุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติไป ดำเนินชีวิตในถิ่นไหน ถิ่นที่อยู่นั้นจัดเป็น ปฏิรูปเทสวาสะ
    การอยู่ในถิ่นที่ดี ย่อมได้พบปะคบหาสัตบุรุษ นี้คือ สัปปุริสูปัสสยะ
    การสมาคมกับสัตบุรุษ ความพึ่งพิงสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ ประกอบสุจริตธรรม เป็น อัตตสัมมาปณิธิ
    การตั้งตนไว้ชอบ ความตั้งคนไว้ชอบ ความเป็นผู้มีกุศลอันสั่งสมไว้ในกาลก่อน ชื่อว่า ปุพเพกตปุญญตา
    ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว ความเป็นผู้ทำบุญมาก่อน เป็นกุศลจิตที่นำบุคคลเข้าไปอยู่ในถิ่นที่เหมาะ ให้คบหาสัตบุรุษ ก็บุคคลนั้น ชื่อว่าตั้ง คนไว้ชอบ (พระไตรปิฎกภาษาไทยเล่ม ๒๒ ข้อ ๕๗ : ๑๐๐)

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้อธิบายจักร ๔ ไว้ในหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมว่า จักร ๔ ธรรมนำชีวิตไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองดุจล้อนำรถไปสู่ที่หมาย
    (๑) ปฏิรูปเทสวาสะ อยู่ในถิ่นที่ดีมีสิ่งแวดล้อมเหมาะสม
    (๒) สัปปุริสูปัสสยะ สมาคมกับสัตบุรุษ
    (๓) อัตตสัมมาปณิธิ ตั้งตนไว้ชอบ, ตั้งจิตคิดมุ่งหมายนำตนไปถูกทาง



วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๔


    (๔) ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำความดีไว้ก่อนแล้ว, มีพื้นเดิมดี, ได้สร้างสมคุณความดีเตรียมพร้อมไว้ตั้งแต่ต้น

ธรรม ๔ ข้อนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พหุการธรรม คือ ธรรมมีอุปการะมาก เป็นเครื่องช่วยให้สามารถสร้างสมความดีอื่นๆ และช่วยให้ประสบความเจริญก้าวหน้าในชีวิต บรรลุความงอกงามไพบูลย์ (พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), ๒๕๕๑ : ๑๒๒-๑๒๓)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 26, 2023, 09:40:27 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: การศึกษา "ปุพเพกตปุญญตา" ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 26, 2023, 10:24:15 am »
0


ปุพเพกตปุญญตานั้น เมื่อประยุกต์เข้ากับการดำเนินชีวิตของบุคคลในปัจจุบัน โดยกำหนดปุพเพกาลก่อนในระยะสั้น คือ กาลก่อน หมายถึง อดีต ตามหลักการในภาษาบาลี คือ อดีตในชาติก่อน อดีตในปีก่อน อดีตในเดือนก่อน อดีตในสัปดาห์ก่อน อดีตในวันก่อน อดีตในวันนี้ คือ ในช่วงเช้า ในช่วงสาย ในช่วงบ่าย เมื่อล่วงมาถึงช่วงค่่ำก่อนนอน บุคคลสามารถคิดทบทวนถึงสิ่งที่ตนได้กระทำมาแล้ว ดังนั้น การดำเนินชีวิตของบุคคลในปัจจุบัน จึงมีปุพเพกตปุญญตา การทำบุญไว้ก่อนอยู่ตลอด ซึ่งเป็นบุญ คือ คุณความดี หรือความสุจริตทางกาย วาจา และใจ ที่กระทำไว้ในกาลก่อน

ช่วงระยะสั้น คือ กระทำบุญในช่วงปฐมวัยแล้วผลแห่งบุญที่ตนกระทำไว้ในช่วงต้นแห่งการดำเนินชีวิตนั้น ย่อมให้ผลในช่วงมัชฌิมวัย เช่น บุคคลที่หมั่นขยันศึกษาเรียนรู้วิชาชีพด้วยความสุจริต แล้วได้ทำการงานที่เหมาะสมกับวิชาความรู้ ก็ได้ค่าตอบแทนเป็นเงินใช้ในการครองชีพเป็นหลักฐาน มีหลักฐานมั่นคงสุขสบายในกาลต่อมา อย่างนี้ถือว่า บุคคลนั้นได้กระทำบุญไว้ในกาลก่อน ในช่วงชีวิตปัจจุบันชาติ

ซึ่งในสังคมไทยปัจจุบัน ก็มีตัวอย่างปรากฏอยู่ เหมือนตัวอย่างที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เช่น พระมหากัปปินะกับบริวารเมื่อศึกษาทำความเข้าใจปุพเพกตปุญญตา ตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แล้วประยุกต์หรือบูรณาการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับการดำเนินชีวิตด้วยการกระทำความดีในช่วงชีวิตปัจจุบัน จะพบว่า บุคคลทุกคนได้กระทำกรรมไว้ในช่วงต้น แล้วได้รับผลกรรมในช่วงต่อมา ซึ่งก็คือ ปุพเพกตปุญญตา ในชีวิตปัจจุบัน เมื่อได้ศึกษาทำความเข้าแล้ว นำเสนอเป็นงานวิจัย ก็จะทำให้ผู้ที่ได้ศึกษาได้เข้าใจหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นอกาลิกะ คือ ให้ผลไม่จำกัดกาล

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจะมีมุมมองอย่างไรในเชิงคัมภีร์ หรือในเชิงวิทยาศาสตร์ เพื่อให้งานชิ้นนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับสืบไปด้วยเหตุผล ที่ผู้วิจัยได้กล่าวมา ทั้งปุพเพกตปุญญตาในอดีตชาติที่ส่งผลมาให้ในปัจจุบันชาติ และปุพเพกตปุญญตาในปัจจุบันชาติในช่วงชีวิตตอนต้นส่งผลให้ในปัจจุบันชาติในช่วงชีวิตต่อมา ผู้วิจัยจึงสนใจในการทำวิจัยเรื่องนี้ โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย
     ๑. เพื่อศึกษาปุพเพกตปุญญตาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา
     ๒. เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับปุพเพกตปุญญตา
     ๓. เพื่อวิเคราะห์ปุพเพกตปุญญตาในทัศนะของนักวิชาการพระพุทธศาสนาในสังคมไทย

กรอบแนวคิดในการวิจัย




วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๕


ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพประกอบด้วยการศึกษาค้นคว้าข้อมูลทางเอกสาร (Documentary Research) และสัมภาษณ์นักวิชาการพระพุทธศาสนาเชิงลึกซึ่งมีลำดับขั้นตอนดังนี้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงเรื่องปุพเพกตปุญญตาจากเอกสาร ได้แก่ คัมภีร์พระไตรปิฎก คัมภีร์อรรถกถา คัมภีร์มังคลถุทีปนี งานวิชาการ วิทยานิพนธ์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องและสื่ออิเล็คทรอนิค สัมภาษณ์เรื่องปุพเพกตปุญญตาในเชิงลึกจากนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาจำนวน ๘ รูป/คน ดังนี้

     ๑. พระศรีคัมภีร์ญาณ ,รศ.ดร.ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ พระราชปริยัติกวี,ศ.ดรตำแหน่งรองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
     ๒. พระมหาสุทิตย์ อาภากโร(อบอุ่น),ดร. ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์พระสุธีรัตนบัณฑิต,ผู้อ านวยการ
สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์., มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
     ๓. พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร, ดร. ตำแหน่ง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ
ราชวิทยาลัย
     ๔. พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร (สาราภิวงศ์), ดร. ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง
จังหวัดลำปาง
     ๕. ดร.เสนาะ ผดุงฉัตร,ตำแหน่งอาจารย์คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
     ๖. ผศ.รังษี สุทนต์, ตำแหน่งอาจารย์ สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย
     ๗. ผศ.ดร. สุเทพพรมเลิศ ตำแหน่ง หัวหน้าภาควิชาพระพุทธศาสนาคณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,
     ๘. ผศ.ดร.ณัทธีร์ ศรีดี ตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในการวิจัยครั้งนี้ ทำการวิจัยและเก็บข้อมูลในช่วงระหว่าง พฤษภาคม พ.ศ ๒๕๕๘ – กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๐ เมื่อได้ศึกษาจากพระไตรปิฏก หลักธรรมเกี่ยวข้องกับปุพเพกตปุญญตา และข้อมูลจากการแสดงทัศนะของนักวิชาการแล้ว นำมาวิเคราะห์พร้อมนำเสนอองค์ความรู้ใหม่ แล้วจึงสรุปผลการวิจัยที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้และข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป

ผลการศึกษาวิจัย

ความสำคัญที่ปรากฏในคัมภีร์คำว่า ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญที่เคยทำไว้ในกาลก่อน

    คำว่า ปุพเพแปลว่ากาลก่อนมี ๒ ความหมาย คือ
    ๑. กาลก่อน คือ ชาติก่อนหรืออดีตชาติที่ล่วงมาแล้วและ
    ๒. กาลก่อน คือ ชีวิตในชาติปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดเป็นปฐมกลละ(เซลชีวิตก้อนแรก) ในท้องมารดา
    ดังนั้น การทำบุญไว้ในกาลก่อน จึงหมายถึง การทำบุญไว้ตั้งแต่อดีตชาติ และการทำบุญไว้ในตอนต้นของชีวิตปัจจุบัน

ปุพเพกตปุญญตานี้มีความสำคัญตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา คือ ท่านจัดไว้ในหลักมงคลชีวิตในมงคลสูตร มีความเชื่อว่า ความเป็นผู้มีบุญในกาลก่อนจะช่วยเพิ่มความสำเร็จแก่ชีวิต เรียกว่า เป็นมงคลของชีวิต ดังข้อความที่ตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า
     “ปฏิรูปเทโสจ ปุพฺเพกตปุญฺญตา อตฺตสมฺมปณิธิจ เอตมฺมงฺคลมุตฺตม”


วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๖


ในคัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า การสั่งสมบุญไว้ในชาติก่อน คือ การได้ทำบุญในชาติก่อน กับ พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพ สาเหตุสำคัญที่จัดไว้เป็นมงคลของชีวิต คือ การทำบุญไว้ในกาลก่อนจะทำให้ได้พบพระพุทธเจ้า เป็นต้น และทำให้ได้สดับธรรมของท่าน บางคนฟังธรรมเพียง ๔ บาทคาถา ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ได้(เช่นพระพาหิยะ) ผู้ที่สร้างบารมีไว้สั่งสมกุศลมูลไว้มากมาก่อน จะสามารถเจริญวิปัสสนาให้เกิด แล้วบรรลุธรรมสิ้นอาสวะด้วยกุศลมูลนั้น ตัวอย่างของผู้มีบุญมาก เช่น พระเจ้ามหากัปปินะและพระอัครมเหสี

นอกจากนี้คำสอนเรื่องปุพเพกตปุญญตา ปรากฏอยู่ในคำสอนเรื่อง จักร(ธรรมที่นำไปสู่ความเจริญ)ด้วย ซึ่งมี ๔
ประการ คือ การอยู่ในปฏิรูปเทศ การคบสัตบุรุษ การตั้งตนไว้ชอบ และการทำบุญไว้ในกาลก่อน คัมภีร์อรรถกถาอธิบายว่า การทำบุญไว้ในกาลก่อนเป็นเหตุให้ได้ไปเกิดในปฏิรูปเทศและจะได้พบสัตบุรุษ ดังนั้นในคัมภีร์ของ
พระพุทธศาสนาจึงมีความเชื่อว่า ปุพเพกตปุญญตาเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต

การส่งผลของปุพเพกตปุญญตา

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีความเชื่อว่า ปุพเพกตปุญญตามีผลต่อการดำเนินชีวิต และทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ทั้งด้านหน้าที่การงานและการบรรลุธรรม ปรากฏอยู่ในคัมภีร์วิมานวัตถุ(เรื่องเกี่ยวกับวิมาน) เปตวัตถุ(เรื่องเกี่ยวกับเปรต) เถรคาถา(คำกล่าวของพระเถระ) เถรีคาถา(คำกล่าวของพระเถรี) คัมภีร์ชาดก(ว่าด้วยเรื่องในอดีตชาติของพระพุทธเจ้า) คัมภีร์อปทาน (ว่าด้วยประวัติพระพุทธเจ้าประวัติพระปัจเจกพุทธเจ้าประวัติพระเถระประวัติพระเถรี) และคัมภีร์พุทธวงศ์(วงศ์ของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์) เป็นต้น

เรื่องการอธิบายถึงการทำบุญไว้ในชาติปางก่อนนั้น ปรากฏในพระไตรปิฎกมีจำนวนมากกว่าหนึ่งพันเรื่อง ล้วนอธิบายถึงการทำบุญไว้ในชาติก่อนว่า สามารถส่งผลให้ได้มาเกิดในชาตินี้และได้บรรลุธรรมในยุคของพระโค
ตมพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อที่ว่า การทำบุญไว้ในปางก่อนจะช่วยให้ได้รับผลบุญในปัจจุบัน ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรือง เป็นความเชื่อส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการได้รับสุขทุกข์หรือมิใช่สุขทุกข์(อุเบกขา) ในพระพุทธศาสนามิใช่ความเชื่อทั้งหมดของพระพุทธศาสนา เพราะปรากฏความตอนหนึ่งที่โมฬิยสิวกปริพาชก เข้าไปทูลถามพระพุทธเจ้าว่า

    สมณพราหมณ์ที่สอนว่า คนเราจะได้รับสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เพราะเหตุในปางก่อนเป็นคำสอนที่ถูกต้องหรือไม่
    พระองค์ตรัสตอบว่า ไม่ถูกต้อง เพราะมีหลายสาเหตุที่ทำให้คนได้รับสุขทุกข์หรือไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เวทนาที่เกิดจากดี(ปิตตะ)เป็นสมุฏฐานก็มีมีเสมหะ(เสลด) เป็นสมุฏฐานก็มีมีลม(วาต) เป็นสมุฏฐานก็มีมีสันนิบาต(การรวมกันขอ ง๓ อย่างนั้น) เป็นสมุฏฐานก็มีมีฤดู(อุตุ) เป็นสมุฏฐานก็มี มีการบริหารร่างกายไม่ถูกสุขลักษณะ(เช่นโรค Office Syndrome ในปัจจุบัน)เป็นเหตุก็มี มีกรรมวิบากเป็นเหตุก็มี ซึ่งพุทธทัศนะในเรื่องเหล่านี้เป็นความรู้ที่ทันสมัยมาก

พระองค์ทรงแสดงเพื่อให้เห็นว่า เรื่องปุพเพกตปุญญตาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจัดเข้าในกรรมวิบาก เป็นเหตุคำสอนในลักษณะนี้พบได้อีก เช่น ในมหาโพธิชาดกและกัมมโตติกถา(เรื่องเกิดจากกรรม) ในคัมภีร์กถาวัตถุ ปุพเพกตปุญญตา ความเป็นผู้ได้ทำบุญกุศล คือ คุณความดีไว้ในกาลก่อน เป็นมงคลข้อที่ ๕ ในมงคล ๓๘ ข้อ เรียกว่า มงคลสูตร พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่เทวดาที่มาทูลถามเรื่องมงคล คือเหตุแห่งความเจริญความสวัสดีมีโชคของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย การทำบุญกุศล เป็นการทำความดีงาม

ในพระไตรปิฎก มีเรื่องการทำบุญคือ ความดีไว้ในชาติก่อนของพระพุทธเจ้ากับพระสาวกทั้งหลาย เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา ในอดีตชาติ พระพุทธเจ้าเสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีสั่งสมบุญ บุญบารมีนั้นส่งผลมาให้พระองค์เสด็จออกผนวชบำเพ็ญเพียรได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า บุญที่พระสาวกทั้งหลายทำไว้ในอดีตชาติส่งผลมาให้พระสาวกทั้งหลายบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลในชาติสุดท้ายที่เกิดเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าโคดม

ปุพเพกตปุญญตา เป็นหลักธรรมสำคัญ ปรากฏในคัมภีร์พระไตรปิฎกหลายแห่ง ปรากฏร่วมกับหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง คือ เป็นข้อหนึ่งในจักร ๔ การทำบุญนั้น จัดเป็นการฝังขุมทรัพย์ เป็นอนุคามิกทรัพย์ คือ ทรัพย์ที่ติดตามตัวไปทุกภพชาติ บุญเป็นบ่อเกิดของศิริ คือ โภคทรัพย์ คนมีบุญจึงรักษาครอบครองศิริความดีงามไว้ได้
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๗


ทัศนะของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา ให้ทัศนะเกี่ยวกับความสำคัญ หลักธรรมที่เกี่ยวข้อง และอิทธิพลของปุพเพกตปุญญา การเกิดมาเป็นมนุษย์นั้น ก็ต้องอาศัยผลของปุพเพกตปุญญตา ความดีที่เก็บสั่งสมอบรมมาดีด้วยกันทั้งนั้น โดยมีหลักธรรมใช้ในการดำเนินชีวิตซึ่งผู้วิจัย ได้ศึกษาค้นคว้าและนำมาประกอบการวิจัย เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปุพเพกตปุตตา

และจากทัศนะของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาทำให้มีมุมที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นว่า ปุพเพกตปุญญตานั้นไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งรอบุญเก่า หรือรอวาสนา หากแต่เป็นการสร้างสมบุญของตนเองจากเหตุปัจจุบัน จากความตั้งใจที่แน่วแน่ การมีเจตน์จำนงภายในที่ชัดเจน มีเป้าหมาย แล้วตั้งใจทำ จึงจะทำให้บุคคลนั้นประสบความสำเร็จ

จากคำสอนต่างๆเหล่านี้ คนในสังคมจึงมีหลักในการสร้างความดีในจิตใจ มีอัธยาศัย มีความอ่อนโยน มีศีลธรรม เมื่อมีทุกอย่างถึงพร้อมก็จะนำพา ตนเอง ครอบครัว ชุมชนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวให้มีความสุข เพราะมีธรรมปุพเพกตปุญญตาเป็นหลักใจ ส่งผลให้มีอิทธิพลต่อสังคมไทยทั้งด้านจริยธรรม วัฒนธรรมที่ดีงามสืบต่อไป

บทสรุป

การศึกษาปุพเพกตปุญญตาในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า วาสนาบารมีนั้น เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ ทำให้เกิดแก่ตัวได้ วิธีสร้างวาสนาบารมีก็คือ ปฏิบัติตนให้มีคุณธรรม ๓ ประการครบถ้วน คุณธรรม ๓ ประการนี้จะหลอมตัวกันกลายเป็นวาสนาบารมีและทำให้ผู้นั้นกลายเป็นคนมีวาสนาบารมีที่สมบูรณ์พูนสุข และอยู่ในฐานะที่เหนือกว่าผู้ด้อยวาสนาบารมีในทุกๆด้าน

คุณธรรม ๓ ประการนั้นเรียกเป็นภาษาของพระพุทธเจ้า คือ
    ปุพเพกตปุญญตา ๑
    ปฏิรูปเทสวาสะ ๑
    อัตตสัมมาปณิธิ ๑

ปุพเพกตปุญญตา ได้แก่ ความเป็นผู้สร้างความดีไว้แต่ก่อน ข้อนี้จัดเป็นวาสนาเก่าเบื้องต้น ที่มีที่เป็นมาแต่แรก คำว่า “ก่อน” ในที่นี้แยกออกเป็น ๒ ระยะ คือ ในชาติก่อนๆ กับในวันก่อนๆ ของชาตินี้ ความดีที่สร้างไว้แต่ชาติก่อนๆ เช่น เคยให้ทานมามาก เคยรักษาศีลมามาก เคยอบรมจิตมามาก ย่อมสนองผลให้ผู้ทำตั้งแต่เกิดใหม่ๆ เลยทีเดียว เช่น ทำให้เกิดในตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่ง ทำให้มีรูปร่างดีสมประกอบ มีสติปัญญาดีสมองดี คนประเภทนี้ย่อมได้เปรียบผู้อื่น คือ เกิดมาก็ดีเลย ประเภทที่เรียกว่า “เกิดมามีบุญ” ปุพฺเพกตปุญฺญตา การได้บำเพ็ญบุญมาก่อน

บางคนแม้อยู่ในสถานที่เหมาะสม แต่หากไม่เคยทำบุญมาก่อน ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จได้ เพราะขาดวาสนาบารมีเก่าที่จะทำให้เจริญก้าวหน้าได้ จะเห็นได้ว่า คนจำนวนมากอยู่ในชั้นเรียน วัด หรือ สถานที่ทำงานเดียวกัน หรือมีโอกาสเรียนหนังสือร่วมกัน แต่ความสำเร็จของแต่ละคนแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากมงคลประการนี้ คือ ปุพฺเพกตปุญฺญตา การได้บำเพ็ญบุญมาก่อน

เราแต่ละคนอาจสั่งสม ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาแตกต่างกัน กล่าวตามวิถีของชาวโลก ผู้ที่เรียนรู้ศิลปะวิทยาต่างๆนั้น มีสิ่งที่ตนรักเช่นเคยสั่งสมไ ว้เปรียบได้กับต้นไม้ที่เราปลูกไว้ก่อนแล้ว เมื่อมาถึงภพนี้เราก็รดน้ำพรวนดินดูแลรักษาต้นไม้แห่งบารมีให้ผลิดอกออกผล เนื่องด้วยบุญกุศลที่เราทำในภพนี้ทำหน้าที่อุปถัมภ์บุญเก่าให้ส่งผลเป็นหลัก แต่ถ้าเราไม่เคยปลูกต้นไม้แห่งบารมีมาก่อน แม้จะมาเริ่มทำในภพนี้ก็ยากจะประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นได้ บุญเก่าของเราเกิดจากศรัทธาเป็นหลัก ผู้ที่มีศรัทธาก็อาจบำเพ็ญคุณความดีได้ฉันนั้น

หลักธรรมที่เกี่ยวข้องในทางพระพุทธศาสนาจักร ๕ กุศลกรรมบถ ๑๐ และบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ เป็นหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับบุญกุศลทั้งสิ้น ขั้นตอนและวิธีการการปฏิบัติในการสะสมบุญกุศล โดยจุดประสงค์หลักไม่ได้คำนึงผลผลที่จะเกิดในขึ้นในสัมปรายภพข้างหน้า แต่คำนึงถึงบุญกุศลที่ได้กระทำหรือความสบายอก สบายใจ ในภพปัจจุบันมากกว่า เพราะผู้ที่ทำบุญทำกุศลหรือผู้บำเพ็ญบุญย่อมเข้าใจ ในหลักธรรมในการทำบุญเกี่ยวกับเรื่องเจตนาในการทำบุญ ซึ่งโดยทั่วไปจะนึกถึงผลในปัจจุบันเป็นหลัก

นอกจากนั้นก็จะเป็นอานิสงส์ในภพต่อไป ถือว่าเป็นการสะสมซึ่งบุญ หรือเรียกว่าบุคคลผู้มีบุญอันได้กระทำไว้ในภพก่อนๆ คือ ปุพฺเพกตปุญฺญตา นั่นเอง


วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๘


วิเคราะห์ปุพเพกตปุญญตาในทัศนะของนักวิชาการพระพุทธศาสนาในสังคมไทยพระพุทธศาสนาเถรวาท สอนให้เชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เพราะเป็นกฎธรรมชาติ ที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงไม่ใช่พระพุทธเจ้าสร้างขึ้น แต่เป็นกฎที่มีอยู่แล้ว กรรมก็คือ “เจตนา” อันได้แก่เจตจำนง ความจงใจ การเลือกคัดตัดสิน ความตั้งใจ มุ่งหมายที่จะกระทำ หรือพลังนำที่เป็นตัวกระทำนั่นเอง เจตนาหรือเจตจำนงนี้ เป็นตัวนำบ่งชี้ความมุ่งหมาย และกำหนดทิศทางการกระทำทั้งหมดของมนุษย์ เป็นตัวการหรือแกนนำในการริเริ่ม ปรุงแต่ง สร้างสรรค์ทุกอย่าง จึงเป็นตัวแท้ของกรรม

     ดังพระพุทธพจน์ที่ว่า
    “ภิกฺขเว กมฺม วทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เจตนานั่นเอง เราเรียกว่ากรรม บุคคลจงใจแล้ว จึงกระทำด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”

เมื่อว่ากันตามหลักพระพุทธศาสนาแล้ว ชีวิตของคนเราไม่ว่าจะเสื่อม จะเจริญ จะสุข จะทุกข์ จะก้าวหน้า จะถอยหลัง จะอายุสั้น หรืออายุยืน ก็ขึ้นอยู่กับกรรม คือการกระทำของตนเองทั้งสิ้น ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับอำนาจของดวงดาว ไม่ใช่อำนาจของพระเจ้า ไม่ใช่อำนาจหรือศักดิ์สิทธิ์เหนืออื่นใดมาดลบันดาลให้เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ แม้แต่การที่เราเกิดเป็นมนุษย์ก็เพราะกฎแห่งกรรม หลักธรรมที่สำคัญของบุคคล เช่น การคบมิตรแท้ ละเว้นมิตรเทียมนั้นก็คือ กัลยาณมิตตตา ความมีกัลยาณมิตร บัณฑิตย่อมชี้ทางเจริญ ตักเตือนให้เว้นจากทางเสื่อม

ซึ่งค่านิยมในสมัยพุทธกาล ค่านิยมจะเน้นทางด้านจิตใจ จุดประสงค์เพื่อแสวงหาโมกธรรม ส่วนในสมัยปัจจุบันค่านิยมจะเน้นทางด้านวัตถุ บริโภคด้วยกิเลสตัณหา พบปัญหาจึงเข้าหาวัด ซึ่งก็ยังวนเวียนอยู่กับโลกธรรม ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และแสวงหาวิธีที่จะทำให้ปราศจากความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ การนินทาและ ทุกข์

สำหรับทางออกโดยสรุปพบว่า อยู่ที่การศึกษา โดยวัตถุประสงค์และคุณค่าของการศึกษา เพื่อที่จะรู้จักความจริง ธรรมชาติของความจริง เพื่อที่จะให้คนไทยที่นับถือในพระพุทธศาสนาได้พัฒนาตนเองและผู้อื่นในทางที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตในด้านจิตใจที่ดีขึ้น เป็นแรงผลักดันกรรมดีในอนาคตที่ดีในภพหน้าที่ดีสืบไป

ข้อเสนอแนะ

การศึกษาครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้การศึกษาเชิงเอกสาร ต้องมีความเข้าใจ สำหรับเอกสารชั้นต้น หรือ คัมภีร์พระพุทธศาสนา ต้องรู้จักถึงโครงสร้างในพระไตรปิฎก และอรรถกถาเป็นคัมภีร์ที่อธิบายพระไตรปิฎก ส่วนเอกสารชั้นรองที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น หนังสือธรรมะ หนังสือที่เกี่ยวข้อง งานวิทยานิพนธ์ จะช่วยเสริมการศึกษาทำความเข้าใจได้ยิ่งขึ้น สำหรับการสัมภาษณ์ ต้องเตรียมสรุปประเด็นหัวข้อคำถาม และสาระที่ต้องการทราบให้ชัดเจน เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วนเรื่องในเรื่องปุพเพกตปุญญตา

ข้อเสนอแนะเพื่อการวิจัยครั้งต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจควรศึกษาวิจัยเพิ่มเติม ได้แก่
    ๑. ศึกษาแนวทางการอธิบายเรื่องปุพเพกตปุญญตาที่เกิดในขึ้นในปัจจุบัน โดยอ้างอิงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในครั้งพุทธกาล เพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบในเรื่องที่เป็นไปได้ในโลกปัจจุบัน
    ๒. ศึกษาวิธีการนำหลักธรรมการดำเนินชีวิตและการเป็นอยู่ของผู้ที่ได้กระทำบุญในภพชาติปัจจุบัน และได้รับอานิสงส์แห่งบุญนั้นมานำเสนอ เพื่อให้เห็นภาพของการกระทำบุญ จะได้รับอานิสงส์ในภพชาติปัจจุบัน โดยไม่ต้องรอถึงชาติหน้า เป็นการแสดงให้เห็นถึงการทำดีได้ดี อย่างเป็นรูปธรรม สังคมจะได้เข้าใจว่า ทำดีได้ดีมีอยู่จริง



วารสารวิจัยพุทธศาสตร์ ปีที่ ๓ ฉบับที่ ๑ มกราคม-มิถุนายน ๒๕๖๐ | ๙


บรรณานุกรม

๑. ภาษาไทย
    - มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (๒๕๓๙). พระไตรปิฏกฉบับภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
    - พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม,พิมพ์ครั้งที่ ๑๖,
กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จ ากัด, ๒๕๕๑.

๒. สัมภาษณ์บุคคล
    ๒.๑ พระศรีคัมภีร์ญาณ ,รศ.ดร. ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์ พระราชปริยัติกวี,ศ.ดร. ตำแหน่งรองอธิการบดี
ฝ่ายวิชาการมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๑๒ มกราคม ๒๕๕๙
    ๒.๒ พระมหาสุทิตย์ อาภากโร (อบอุ่น), ดร. ปัจจุบันดำรงสมณศักดิ์พระสุธีรัตนบัณฑิต,ดร. ตำแหน่งรอง
คณบดีคณะพุทธศาสตร์ ภาควิชาพระพุทธศาสนา ,ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์, มหาวิทยาลัย
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๙ ธันวาคม ๒๕๕๙
    ๒.๓ พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร,ดร. ตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย, ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
    ๒.๔ พระมหาสมลักษณ์ คนฺธสาโร (สาราภิวงศ์), ดร. ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่ามะโอ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง, ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
    ๒.๕ ดร.เสนาะ ผดุงฉัตร, ต าแหน่งอาจารย์คณะพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย, ๑๕ มกราคม ๒๕๕๙
    ๒.๖ ผศ.รังษี สุทนต์, (๒๕๕๙) ตำแหน่งอาจารย์สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕ มกราคม ๒๕๕๙
    ๒.๗ ผศ.ดร. สุเทพพรมเลิศ, ๒๕๕๘ ตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาพระพุทธศาสนาคณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย , ๑ ธันวาคม ๒๕๕๘
    ๒.๘ ผศ.ดร.ณัทธีร์ ศรีดี, ตำแหน่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะพุทธศาสตร์มหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราช
วิทยาลัย, ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 26, 2023, 11:00:45 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ