ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ใครคือ "ธรรมิกราชา" ที่แท้จริง.?  (อ่าน 2062 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ใครคือ "ธรรมิกราชา" ที่แท้จริง.?
« เมื่อ: กันยายน 17, 2020, 09:13:37 am »
0


ขอบคุณภาพจาก https://www.thaiticketmajor.com/


อธัมมิกสูตร ว่าด้วย พระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม

[๗๐] ภิกษุทั้งหลาย ในเวลาที่พระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม(๑-) แม้พวกข้าราชการก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อพวกข้าราชการไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดีก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อพราหมณ์และคหบดีไม่ตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ไม่ตั้งอยู่ในธรรม

เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทไม่ตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็โคจร(หมุน)ไปไม่สม่ำเสมอ
เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปไม่สม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปไม่สม่ำเสมอ
เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปไม่สม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ

เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและครึ่งเดือนหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ
เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปไม่สม่ำเสมอ ลมก็พัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ

เมื่อลมพัดไปไม่สม่ำเสมอ พัดไปผิดทางไม่สม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ขัดเคืองใจ
เมื่อพวกเทวดาขัดเคืองใจ ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกไม่พร้อมกัน

ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าที่สุกไม่พร้อมกันย่อม
    มีอายุน้อย ๑
    มีผิวพรรณไม่ดี ๑
    มีกำลังไม่ดี ๑
    มีความเจ็บป่วยมาก ๑

@@@@@@@

ในเวลาที่พระราชาตั้งอยู่ในธรรม แม้พวกข้าราชการก็ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อพวกข้าราชการตั้งอยู่ในธรรม แม้พราหมณ์และคหบดีก็ตั้งอยู่ในธรรม
เมื่อพราหมณ์และคหบดีตั้งอยู่ในธรรม แม้ชาวนิคมและชาวชนบทก็ตั้งอยู่ในธรรม

เมื่อชาวนิคมและชาวชนบทตั้งอยู่ในธรรม ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ก็โคจรไปสม่ำเสมอ
เมื่อดวงจันทร์และดวงอาทิตย์โคจรไปสม่ำเสมอ หมู่ดาวนักษัตรก็โคจรไปสม่ำเสมอ
เมื่อหมู่ดาวนักษัตรโคจรไปสม่ำเสมอ คืนและวันก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ

เมื่อคืนและวันหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ เดือนหนึ่งและครึ่งเดือนก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อเดือนหนึ่งและครึ่งเดือนหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ฤดูและปีก็หมุนเวียนไปสม่ำเสมอ
เมื่อฤดูและปีหมุนเวียนไปสม่ำเสมอ ลมก็พัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ

เมื่อลมพัดไปสม่ำเสมอ พัดไปถูกทางสม่ำเสมอ พวกเทวดาก็ไม่ขัดเคืองใจ
เมื่อพวกเทวดาไม่ขัดเคืองใจ ฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล
เมื่อฝนตกต้องตามฤดูกาลข้าวกล้าทั้งหลายก็ออกรวงสุกพร้อมกัน

ภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ทั้งหลายบริโภคข้าวกล้าสุกพร้อมกันย่อม
     มีอายุยืน ๑
     มีผิวพรรณผ่องใส ๑
     มีกำลัง ๑
     มีความเจ็บป่วยน้อย ๑


@@@@@@@

เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว โคทั้งฝูงก็ไปคดเคี้ยวตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปคดเคี้ยว ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติไม่เป็นธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติไม่เป็นธรรมตามไปด้วย หากพระราชาไม่ตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นทุกข์

เมื่อฝูงโคข้ามน้ำไป ถ้าโคจ่าฝูงไปตรง โคทั้งฝูงก็ไปตรงตามกัน ในเมื่อโคจ่าฝูงไปตรง ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้เป็นใหญ่ ถ้าผู้นั้นประพฤติชอบธรรม ประชาชนชาวเมืองนั้นก็จะประพฤติชอบธรรมตามไปด้วย หากพระราชาตั้งอยู่ในธรรม ชาวเมืองนั้นก็อยู่เป็นสุข(๒-)

                    อธัมมิกสูตรที่ ๑๐ จบ




@ เชิงอรรถ :-
@ (๑-) ไม่ตั้งอยู่ในธรรม หมายถึงไม่เก็บพลี (ภาษี) ๑๐ ส่วนที่พระราชาในกาลก่อนตั้งไว้ และอาชญาอันสมควร
@แก่ความผิด เก็บพลีเกินและลงอาชญาเกินความผิด (องฺ.จตุกฺก.อ. ๒/๗๐/๓๕๗)
@(๒-) ขุ.ชา. ๒๗/๑๓๓-๑๓๖/๑๑๓-๑๑๔

ที่มา : อธัมมิกสูตร ว่าด้วยพระราชาผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรมและผู้ตั้งอยู่ในธรรม (ฉบับหลวงใช้ชื่อว่า ธรรมิกสูตร) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๑ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๓ [ฉบับมหาจุฬาฯ] อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
เนื้อความพระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาฯ เล่มที่ ๒๑ หน้าที่ ๑๑๔-๑๑๖.
http://84000.org/tipitaka/attha/m_siri.php?B=21&siri=70
อ่านเทียบพระไตรปิฎกฉบับหลวง :-
http://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=21&A=2013&Z=2061
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=70
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครคือ "ธรรมิกราชา" ที่แท้จริง.?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กันยายน 17, 2020, 09:29:27 am »
0
ขอบคุณภาพจาก https://www.thaiticketmajor.com/


ธรรมิกราช อ่านว่า ทำ-มิ-กะ-ราด

ธรรมิกราช อ่านว่า ทำ-มิ-กะ-ราด ประกอบด้วย ธรรมิก + ราช

(๑) “ธรรมิก” บาลีเป็น “ธมฺมิก” (ทำ-มิ-กะ) ประกอบด้วย ธมฺม + อิก ปัจจัย

ก. “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ธ) และ ร ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม) : ธรฺ > ธ + รมฺม > มฺม : ธ + มฺม = ธมฺม แปลตามศัพท์ว่า “สภาพที่ทรงไว้”

“ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ในภาษาไทยไว้ดังนี้
(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม
(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า
(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม
(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม
(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม
(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ
(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ
(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ข. ธมฺม + อิก = ธมฺมิก แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยธรรม”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิก” ไว้ดังนี้
(1) lawful, according to the Dhamma or the rule (ชอบด้วยกฎหมาย, ถูกตามธรรมหรือกฎเกณฑ์)
(2) proper, fit, right (สมควร, เหมาะสม, ถูกต้อง)
(3) permitted, legitimate, justified (ได้รับอนุญาต, ถูกกฎหมาย, มีเหตุผลถูกต้อง)
(4) righteous, honourable, of good character, just (ชอบธรรม, มีเกียรติ, มีอุปนิสัยดี, ยุติธรรม)

“ธมฺมิก” เขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรมิก”

พจน.54 บอกไว้ว่า
“ธรรมิก, ธรรมิก- : (คำวิเศษณ์) ประกอบในธรรม, ประพฤติเป็นธรรม, ทรงธรรม, เช่น ธรรมิกราช สหธรรมิก. (ส.; ป. ธมฺมิก).”

@@@@@@@

(๒) “ราช” บาลีอ่านว่า รา-ชะ แปลตามรากศัพท์ว่า

(1) “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ ปัจจัย = ราช หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย

(2) “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” ความหมายนี้ประกอบขึ้นจาก รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา = ราช หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ) “ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง

ในภาษาไทย พจน.54 บอกไว้ว่า
“ราช ๑, ราช- : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”


@@@@@@@

ธมฺมิก + ราช = ธมฺมิกราช > ธรรมิกราช แปลว่า “พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรม”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธมฺมิกราช” ว่า a righteous King (ราชาผู้เที่ยงธรรม)

ในคัมภีร์บาลี เมื่อกล่าวถึงพระราชาผู้เป็น “ธรรมิกราช” จะมีคำแสดงลักษณะอันเป็นคุณสมบัติประจำพระองค์ว่า
"อยํ โข ปนาปิ อโหสิ ราชา ธมฺมิโก ธมฺมราชา หิโต พฺราหฺมณคหปติกานํ เนคมานญฺเจว ชานปทานญฺจ"

"พระราชาพระองค์นี้ทรงเป็นธรรมิกราช (ดำรงอยู่ในธรรม) ทรงเป็นธรรมราชา (ปกครองโดยธรรม) ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สมณะชีพราหมณ์ ราษฎร ทั้งชาวเมืองและชาวชนบททั้งหลาย"

   "ไม่ยากที่จะหาวิธีขึ้นมาเป็นผู้นำ แต่จะเป็นผู้ปกครองที่ทรงธรรม ยากมากๆ"



ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2016/11/16/ธรรมิกราช-อ่านว่า-ทำ-มิ-ก/
ธรรมิกราช อ่านว่า ทำ-มิ-กะ-ราด
16 พฤศจิกายน 2016 ,admin ,2016-10-22_233614
บาลีวันละคำ โดยทองย้อย แสงสินชัย
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 17, 2020, 09:35:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครคือ "ธรรมิกราชา" ที่แท้จริง.?
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กันยายน 17, 2020, 01:00:18 pm »
0


“พระนามเต็มพระมหากษัตริย์ไทย” รัชกาลที่ 1-10 แห่งราชวงศ์จักรี

การถือกำเนิดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 นับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ปวงชนชาวไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามของประเทศชาติมากมาย ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึง พระปรมาภิไธย (พระนาม) ของพระมหากษัตริย์ ที่ล้วนมีความไพเราะ และมีความหมายอันเป็นมงคล โดยนับเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 เป็นต้นมา พระมหากษัตริย์ไทยแต่ละพระองค์มีพระนามเต็มอย่างไรบ้าง ไปศึกษาพร้อมกัน

@@@@@@@

รัชกาลที่ 1. พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรวรนารถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัยสมุทัยดโรมนต์ สกลจักรวาฬาธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทรปรมาธิเบศร โลกเชฎวิสุทธิ์ รัตนมงกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 1. ใช้อักษรย่อว่า “จปร” ย่อมาจาก “มหาจักรีบรมนาถ ปรมราชาธิราช”  | ครองราชย์ 27 ปี (พระชนมายุ 73 พรรษา) รัชกาลที่ 1 พระราชสมภพ 20 มีนาคม พ.ศ.2279 – สวรรคต 7 กันยายน พ.ศ.2352

รัชกาลที่ 2. พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

พระบาทสมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร์ ธรณินทราธิราช รัตนากาศภาสกรวงศ์ องค์ปรมาธิเบศ ตรีภูวเนตรวรนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวศรัย สมุทัยดโรมนต์ สากลจักรวาฬาธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีวิบูลยคุณอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันตอกนิษฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร์ ภูมิทรปรมาธิเบศโลกเชษฐวิสุทธิ รัตนมกุฎประกาศ คตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 2. ใช้อักษรย่อว่า “อปร” ย่อมาจาก “มหาอิศรสุนทร ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 15 ปี (พระชนมายุ 57 พรรษา)

@@@@@@@

รัชกาลที่ 3. พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐ มหาเจษฎาบดินทร์ สยามินทรวิโรดม บรมธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตร พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 3. ใช้อักษรย่อว่า “จปร” ย่อมาจาก “มหาเจษฎาบดินทร ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 27 ปี (พระชนมายุ 64 พรรษา)

รัชกาลที่ 4. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎสุทธิ สมมุติเทพยพงศวงศาดิศรกษัตริย์ วรขัตติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาติสังสุทธิเคราะหณี จักรีบรมนาถ อดิศวราชรามวรังกูร สุจริตมูลสุสาธิตอุกฤษฐวิบูลย บุรพาดูลยกฤษฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษณ วิจิตรโสภาคสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคคล ประสิทธิสรรพสุภผลอุดม บรมสุขุมาลยมหาบุรุษยรัตน ศึกษาพิพัฒนสรรพโกศล สุวิสุทธิวิมลศุภศีลสมาจารย์ เพ็ชรญาณประภาไพโรจน์ อเนกโกฎิสาธุ คุณวิบุลยสันดาน ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์เอกอัครมหาบุรุษสุตพุทธมหากระวี ตรีปิฎกาทิโกศล วิมลปรีชามหาอุดมบัณฑิต สุนทรวิจิตรปฏิภาณ บริบูรณ์คุณสาร สัสยามาทิโลกยดิลกสาร สัสยามาทิโลกยดิลก มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดชอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพพิเศษ สิรินธรมหาชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเศกาภิษิต สรรพทศทิศวิชิตวิไชย สกลมไหศวรินมหาสยามินทร มเหศวรมหินทร มหาราชาวโรดมบรมนารถชาติอาชาวศรัย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อุกฤษฐศักดิอัครนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิเบนทร ปรเมนทรธรรมมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบรมบพิตร พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 4. ใช้อักษรย่อว่า “มปร” ย่อมาจาก “มหามงกุฎ ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 17 ปี (พระชนมายุ 63 พรรษา)

@@@@@@@

รัชกาลที่ 5. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฎ บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุฒมพงษ์บรพัตร วรขัติยราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ อดิศวรราชรามวรังกูร สุภาธิการรังสฤษฏ์ ธัญลักษณวิจิตโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภ ผลอุดมบรมสุขุมมาลย์ ทิพยเทพาวตารไพศาลเกียรติคุณอดุลยวิเศษ สรพรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิษฐศักดิ์สมญาพินิตประชานาถเปรมกระมลขัติยราชประยูร มูลมุขราชดิลก มหาปริวารนายกอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรวิเศษสิรินทร อเนกชนนิกรสโมสรสมมติ ประสิทธิ์วรยศ มโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกกาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหสวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรามหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติ อาชาวศรัย พุทธาธิไตยรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิ์อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรมินทรธรรมิกหาราชาธิราช บรมนาถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5. ใช้อักษรย่อว่า “จปร” ย่อมาจาก “มหาจุฬาลงกรณ ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 42 ปี (พระชนมายุ 57 พรรษา)

รัชกาลที่ 6. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิรวุธ เอกอรรคมหาบุรุษบรมนราธิราช พินิตประชานาถมหาสมมตวงศ์ อดิศัยพงศ์วิมลรัตน์วรขัตติราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณีจักรีบรมนาถ จุฬาลงกรณราชวรางกูร บรมมกุฏนเรนทร์สูรสันตติวงศ์วิสิฐ สุสาธิตบุรพาธิการ อดุลยกฤษฎาภินิหาร อดิเรกบุญฤทธิ ธัญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพวงค์ มหาชโนตมางตประณตบาทบงกชยุคล ประสิทธิสรรพศุภผลอุดม บรมสุขุมาลย์ทิพยเทพาวตาร ไพศาลเกียรติคุณ อดุลยวิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ บริมศักดิสมญาเทพวาราวดี ศรีมหาบุรุษสุดสมบัติ เสนางคนิกรรัตนอัศวโกศลประพนธปรีชา มัทวสมาจาร บริบูรณคุณสารสยามาทินค รวรุตเมกราชดิลก มหาปริวารนายอนันต์มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธรบรมชนกาดิศรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สิริรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษฏาภิสิต สรรพทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร์ มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวศรัยพุทธาธิไตรรัตนสรณารักษ์อดุลยศักดิ์ อรรคนเรศราธิบดี เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนมัยบุญการสกลไพศาล มหารัษฎาธิบดินทร์ ปรเมนทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 6. ใช้อักษรย่อว่า “วปร” ย่อมาจาก “มหาวชิราวุธ ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 15 ปี (พระชนมายุ 45 พรรษา)

@@@@@@@

รัชกาลที่ 7. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก มหันตเดชนดิลกรามาธิบดี เทพยปรียามหาราชรวิวงศ์ อสัมภินพงศพีระกษัตรบุรุษรัตนราชนิกโรดม จาตุรันตบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศ อุภโตสุชาตสังสุทธเคราะหณี จักรีบรมนาถจุฬาลงกรณราชวรางกูร มหมกุฏวงศวีรสูรชิษฐ ราชธรรมทศพิธ อุต์กฤษฎานิบุณย์อดุลยฤษฎาภินิหาร บูรพาธิการสุสาธิต ธันยลักษณ์วิจิตรเสาวภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคมานทสนธิมตสมันตสมาคม บรมราชสมภาร ทิพยเทพวตารไพศาลเกียรติคุณ อดุลยศักดิเดช สรรพเทเวศปริยานุรักษ์ มงคลลคนเนมาหวัยสุโขทัยธรรมราชา อภิเนาวศิลปศึกษาเดชาวุธ วิชัยยุทธศาสตร์โกศล วิมลนรรยพินิต สุจริตสมาจาร ภัทรภิชญาณประดิภานสุนทรประวรศาสโนปสุดมภก มูลมุขมาตยวรนายกมหาเสนานี สราชนาวีพยูหโยธโพยมจร บรมเชษฏโสทรสมมต เอกราชยยศสธิคมบรมราชสมบัติ นพปฏลเศวตฉัตราดิฉัตร ศรีรัตโนปลักษณมหาบรมราชาภิเษกาภิศิกต์ สรรพทศทิศวิชิตเดโชไชย สกลมไหศวรยมหาสยามินทรมเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาตอาชาวศรัย พุทธาธิไตรรัตนวิศิษฎศักดิ์อัครนเรศวราธิบดี เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการสกลไพศาล มหารัษฏราธิบดินทร์ ประมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนาถบพิตร พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 7. ใช้อักษรย่อว่า “ปปร” ย่อมาจาก “มหาประชาธิปก ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 9 ปี  (พระชนมายุ 47 พรรษา)

รัชกาลที่ 8. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลสกลไพศาลมหารัษฎาธิบดี พระอัฐมรามาธิบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร (ต่อมาเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๓๙ ทรงได้รับการสถาปนาพระบรมอัฐิ เฉลิมพระนามเป็น พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลอดุลยเดช วิมลรามาธิบดี จุฬาลงกรณราชปรียวรนัดดา มหิตลานเรศวรางกูร ไอศูรยสันตติวงศวิสุทธ์ วรุตมขัตติยศักตอรรคอุดมจักรีบรมราชวงศนิวิฐ ทศพิธราชธรรมอุกฤษฎนิบุณ อดุลยกฤษฎาภินิการรังสฤษฎ์ สุสาธิตบูรพาธิการ ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์อดุลยพิเศษ สรรพเทเวศรานุรักษ์ ธัญอรรคลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมงคประณตบาทบงกชยุคล อเนกนิกรชนสโมสรสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ นพปฎลเศวตฉัตราดิฉัตร สรรพรัฐทศทิศวิชิตไชย สกลมไหศวริยมหาสวามินทร มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนาถชาติอาชาวไศรย พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ วิศิษฎศักตอัครนเรศรามาธิบดี พระอัฐมราะบดินทร สยามินทราธิราชบรมนาถบพิตร

รัชกาลที่ 8. ใช้อักษรย่อว่า “อปร” ย่อมาจาก “มหาอานันทมหิดล ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 12 ปี (พระชนมายุ 20 พรรษา)

@@@@@@@

รัชกาลที่ 9. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

รัชกาลที่ 9. ใช้อักษรย่อว่า “ภปร” ย่อมาจาก “มหาภูมิพลอดุลยเดช ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ 70 ปี (พระชนมายุ 88 พรรษา)

รัชกาลที่ 10. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว

(อ่านออกเสียงว่า พฺระ-บาด-สม-เด็ด-พฺระ-ปะ-ระ-เมน-ทฺะ-รา-มา-ทิบ-บอ-ดี-สี-สิน-มะ-หา-วะ-ชิ-รา-ลง-กอน-มะ-หิ-สอน-พู-มิ-พน-ราด-ชะ-วะ-ราง-กูน กิ-ติ-สิ-ริ-สม-บูน-อะ-ดุน-ยะ-เดด สะ-หยาม-มิน-ทรา-ทิ-เบด-ราด-วะ-โร-ดม บอ-รม-มะ-นาด-ถะ-บอ-พิด พฺระ-วะ-ชิ-ระ-เกฺล้า-เจ้า-อยู่-หัว)

รัชกาลที่ 10. ใช้อักษรย่อว่า “วปร” ย่อมาจาก “มหาวชิราลงกรณ ปรมราชาธิราช” | ครองราชย์ – ปัจจุบัน




ขอบคุณ : https://www.newtv.co.th/news/34557
1 ปีที่แล้ว
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 17, 2020, 01:13:07 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ใครคือ "ธรรมิกราชา" ที่แท้จริง.?
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กันยายน 17, 2020, 02:34:28 pm »
0


ธรรมิกราชา หมายถึง “พระราชาผู้ประกอบด้วยธรรม”

ผมสะดุดกับพระนามของพระเจ้าตากฯ โดยเฉพาะกับคำว่า "ธรรมิกราชา" เกี่ยวกับพระนามของพระองค์นั้นมีหลายพระนาม เช่น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระนามนี้เกิดขึ้นในสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีคนท้วงติงว่าการนำชื่อสมัยเป็นขุนนางมาตั้งเป็นพระนาม ดูไม่สมประเกียรติ์ ด้วยเหตุนี้ผมเลยไปค้นในวิกิพีเดีย ได้พระนามอย่างเป็นทางการที่ยาวที่สุด(ท่านมีหลายพระนาม) ดังนี้ครับ

"พระศรีสรรเพชร สมเด็จบรมธรรมิกราชาธิราช รามาธิบดี บรมจักรพรรดิศร บวรราชาบดินทร์ หริหรินทร์ธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์ คุณรุจิตร ฤทธิราเมศวร บรมธรรมิกราชเดโชชัย พรหมเทพาดิเทพ ตรีภูวนาธิเบศร์ โลกเชษฏวิสุทธิ์ มกุฏประเทศคตา มหาพุทธังกูร บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระนามของท่านลงท้ายด้วย...
"ณ กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดีศรีอยุธยา มหาดิลกนพรัฐ ราชธานีบุรีรมย์อุดมพระราชนิเวศมหาสถาน"

ประโยคนี้ เริ่มตั้งแต่คำว่า "กรุงเทพมหานคร" จนถึง คำว่า "มหาสถาน" เป็นส่วนหนึ่งของชื่อเมืองหลวงแบบเต็มๆของกรุงรัตนโกสินทร์ คือ กรุงเทพฯ นั่นเอง ที่แปลกอีกอย่างก็คือ มีชื่อเมืองหลวงเก่าอยู่ด้วย.."อยุธยา"

@@@@@@@

ผมไปค้นพระนามเต็มของราชวงศ์จักรี เพื่อหาคำว่า "ธรรมิกราชา" ได้ข้อสังเกตมาดังนี้ครับ

1. คำว่า "ธรรมิกราชา" ปรากฏอยู่ในพระนามจำนวน ๖ พระองค์ ยกเว้นรัชกาลที่ ๑ ๘ ๙ และ ๑๐
2. คำว่า "ทศพิธราชธรรม" อันเป็นธรรมโดยตรงของพระราชา ปรากฏอยู่ในพระนามของ รัชกาลที่ ๗ และ ๘ เท่านั้น
3. คำว่า "เมตตากรุณาศีตลหฤทัย อโนปไมยบุณยการสกลไพศาล" ปรากฏอยู่ในพระนามถึง ๔ พระองค์ คือ  รัชกาลที่ ๔ ๕ ๖ และ ๗


ถึงตรงนี้ ผมนึกถึงคำว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
ประโยคนี้เป็น พระปฐมบรมราชโองการพระราชทานอารักขาแก่พสกนิกรชาวไทย ของรัชกาลที่ ๙.

คำว่า "กษัตริย์" นั้น มีความหมายหนึ่งว่า "นักรบ" การปกครองระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น คำสั่งของกษัตริย์ก็คือกฏหมาย คำสั่งประหารของกษัตริย์ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพุทธธรรม การรักษาธรรมของกษัตริย์จึงเป็นที่เรื่องยากมาก ทำให้นึกถึงพระชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า เมื่อครั้งเสวยพระชาติเป็น "พระเตมีย์" ที่แกล้งเป็นใบ้ หูหนวก เป็นง่อย เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการเป็นกษัตริย์ ...เป็นกษัตริย์ใช่ว่าจะสุขเสมอไป

คุยเป็นเพื่อนเท่านี้ครับ ขอบพระคุณที่ติดตาม...


 :25:
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 17, 2020, 02:38:20 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ