ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญญูกตเวทิตา - "กตัญญูกตเวที เป็นคนดีของชาติ"  (อ่าน 1641 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



นิมิตตํ สาธุรูปานํ กตญญูกตเวทิตา - "กตัญญูกตเวที เป็นคนดีของชาติ"
สูตรสำเร็จในชีวิต (29) : ความกตัญญู (1)

ท่านผู้รู้กล่าวว่า คนที่จะประสบความเจริญก้าวหน้าและมีความสุขในชีวิตนั้น จะต้องเป็นคนเก่งด้วย เป็นคนดีด้วย

ลำพังความเก่งอย่างเดียวเป็นได้ไม่ยาก ยิ่งการศึกษาเล่าเรียนด้วยแล้ว มิใช่เรื่องยาก เพราะ “อยากรู้อาจเรียนทันกันหมด” ใครขยันเรียน หรือโอกาสอำนวย ก็สามารถเรียนจบปริญญาสูงๆ ได้สบาย ที่พูดนี้กำลังจะบอกว่า ความเป็นคนเรียนเก่งนั้นทำได้ไม่ยาก แต่ความเป็นคนดีเป็นได้ยาก เพราะท่องเอาไม่ได้เหมือนเรียนหนังสือ ความดีที่เป็นพื้นฐานสำคัญของความเป็นคนคือ ความกตัญญูกตเวที

ดังพระพุทธสุภาษิตตรัสไว้ว่า ภูมิ เว สปฺปุริสานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความกตัญญูกตเวทีเป็นพื้นฐานของคนดี หรือมหาสมณภาษิตว่า นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตญฺญูกตเวทิตา = ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี

เวลาเขาสร้างตึกรามสูงๆ ก่อนอื่นเขาจะต้องตอกเสาเข็มวางรากฐานให้มั่นคงแข็งแรงเสียก่อน ยิ่งจะสร้างตึกหลายชั้นเท่าใด ฐานตึกยิ่งจะต้องให้มั่นคงยิ่งขึ้นเท่านั้น หาไม่แล้วตึกอาจพังครืนลงมาเมื่อใดก็ได้

คนเราก็เช่นกัน จะดูว่าใครจะไปได้ไกลแค่ไหนก็ดูกันที่ “พื้น” หรือรากฐานเบื้องต้นของชีวิตนี่แหละครับ ถ้าพื้นไม่ดี ถึงจะเก่งกาจสามารถปานขงเบ้ง (เขาว่าขงเบ้งแกฉลาด) ก็ไปไม่รอด พื้นที่ว่านี้ก็คือความกตัญญูกตเวที


@@@@@@@

กตัญญู คือความรู้หรือตระหนักในคุณความดีที่คนอื่น (หรือสิ่งอื่น) มีต่อตน เป็นความรู้สึกภายในจิตใจ กตเวที คือการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าคนอื่นสิ่งอื่นมีบุญคุณต่อตนซึ่งเราแปลกันทั่วไปว่า “การตอบแทนคุณ”

ความจริงศัพท์เดิมเขาใช้ครอบคลุมดี เพราะการ “ตอบแทน” นั้น มิได้อยู่เพียงแค่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบหรือให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งตอบ หากรวมถึงการประกาศให้คนอื่นรู้ว่าคนคนนั้น สิ่งนั้นๆ มีบุญคุณต่อตนอย่างไรด้วย

สมมุติเช่น นาย ก. ได้ช่วยเหลือนาย ข. มีโอกาสเมื่อใดก็กล่าวสรรเสริญให้คนอื่นฟังว่านาย ก. ดีต่อตนอย่างใด อย่างนี้ก็คือว่าเป็นการตอบแทนเหมือนกัน

ขอบเขตของความกตัญญูกตเวทีมิใช่อยู่แค่ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์เท่านั้น แต่รวมถึงสัตว์สิ่งของด้วย คนที่เลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานตีเสียว่าเลี้ยงอ้ายทุยคาราบาวก็แล้วกัน ถ้าตระหนักในบุญคุณของมัน ที่มันช่วยไถนาให้มีข้าวกิน ไม่ใช้แรงงานมันเกินขอบเขต ให้มันอยู่มันกินตามฐานะอันสมควร เวลามันแก่เหลาเหย่ใช้งานไม่ได้แล้วก็ไม่ฆ่าเอาเนื้อทำเนื้อทุบแกล้มเหล้า อย่างนี้ก็ถือว่ามีความกตัญญูกตเวทีต่อไอ้ทุยนะครับ

@@@@@@@

ความกตัญญูกตเวทีต่อธรรมชาติแวดล้อมต่างๆ ก็พึงทราบโดยนัยเดียวกัน (พูดไปมากกระดาษไม่พอเขียน) คนที่โค่นป่าทำลายทรัพยากรของชาติกันโครมๆ นั้น เป็นคนอกตัญญูและคนเนรคุณ ถึงจะเก่งกาจสามารถมากมาย บางคนเป็นใหญ่ถึงระดับรัฐมนตรี รัฐมนโท พระท่านว่าเป็นคนเลวครับ

ผู้ที่สำนึกว่าสัตว์และธรรมชาติแวดล้อมมีคุณต่อตนเอง แล้วไม่เบียดเบียนหรือทำลายสัตว์และธรรมชาติแวดล้อม นับเป็นคนกตัญญูกตเวทีโดยนัยหนึ่ง

ความกตัญญูกตเวที โดยเฉพาะกตัญญูกตเวทีต่อผู้บังเกิดเกล้า ผู้รู้ทั้งหลายสรรเสริญ สมัยพุทธกาล ภิกษุรูปหนึ่งบิณฑบาตได้อาหารมา เอามาให้ผู้บังเกิดเกล้ากินก่อน ตนเองได้ฉันบ้างไม่ได้ฉันบ้าง พระอื่นทราบเรื่องพากันติเตียนว่า เธอทำไม่เหมาะสมที่นำอาหารบิณฑบาตไปให้คฤหัสถ์กินก่อน

พระพุทธเจ้าทรงทราบกลับสรรเสริญภิกษุรูปนั้นว่า ทำถูกแล้ว แม้จะบวชเป็นพระแล้วก็สามารถเลี้ยงบิดา-มารดาได้ และอาหารที่บิณฑบาตได้มา ตถาคตอนุญาตให้เอาให้บิดา-มารดากินก่อนได้


@@@@@@@

ผู้รู้คุณคนและตอบแทนคุณคน อยู่ไหนก็ได้รับการสรรเสริญและประสบความเจริญ ตรงข้ามกับคนอกตัญญูและคนเนรคุณย่อมจะมีแต่หายนะ ดังเรื่องดังต่อไปนี้

บุรุษคนหนึ่งเรียนมนต์เสกมะม่วงจากคนจัณฑาลคนหนึ่ง มนต์นี้สามารถเสกให้ต้นมะม่วงที่เพาะลงดินใหม่ๆ เติบโต และมีดอกผลสุกงอมกินได้ในชั่วไม่กี่นาที อาจารย์ที่เป็นคนจัณฑาลบอกเขาว่า ถ้ามีใครถามว่าเรียนมนต์มาจากใคร จงบอกตามความเป็นจริง หาไม่มนต์จะคลายความขลัง เขาก็รับปากรับคำอาจารย์เป็นอย่างดี

วันหนึ่งกิตติศัพท์ความเก่งกาจของเขาล่วงรู้ไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระองค์รับสั่งให้ตามเขาเข้าเฝ้า แต่งตั้งให้เขาดูแลสวนมะม่วง เวลาใดพระราชามีพระประสงค์จะเสวยมะม่วง ก็รับสั่งให้เขาเสกถวาย เขาไปยืนใกล้ต้นมะม่วงร่ายมนต์ พักเดียวก็ได้มะม่วงสุกอร่ามหอมหวนน่ากิน เป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก

วันหนึ่งพระเจ้าแผ่นดินตรัสถามว่า เขาไปเรียนมนต์นี้มาจากไหน ครั้นจะกราบทูลว่าเรียนมาจากคนจัณฑาล ก็รู้สึกละอายจึงกราบทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเรียนจากอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา พ่ะย่ะค่ะ”

โกหกทังเพ! ,ทันใดนั้นมนต์ที่เขาจำได้คล่องปากขึ้นใจ ก็มีอันตรธานไปสิ้น นึกเท่าใดก็นึกไม่ออก วันต่อมาเมื่อพระราชาให้เขาเสกมะม่วงให้เสวยอีก เขาก็ทำไม่ได้

พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบความจริงภายหลัง จึงรับสั่งให้ราชบุรุษลงอาญาแก่เขาอย่างหนัก และให้เนรเทศออกจากพระนคร พร้อมรับสั่งว่า “คนอกตัญญูเลี้ยงไว้ไม่ได้”

ครับ เลี้ยงอสรพิษไว้ในบ้าน ยังไม่อันตรายเท่าเลี้ยงคนไม่รู้จักคุณคน โบราณท่านว่าไว้อย่างนั้น




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 กันยายน 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_350572
ขอบคุรภาพจาก : https://www.sila5.com/blog/blog/detail/var/34v284w2v2
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ