ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เวลาคนสบายใจแล้ว ไม่จำเป็นต้องฟังธรรมมาก  (อ่าน 967 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




สูตรสำเร็จในชีวิต (31) : การฟังธรรมตามกาล (1)

หัวข้อนี้เห็นจะต้องให้คำจำกัดความ หรืออธิบายสักเล็กน้อย เดี๋ยวคนสมัยใหม่จะไม่เข้าใจ คนสมัยเก่าที่คุ้นกับคำพระคำเจ้าแล้ว ก็ถือเสียว่ามาทบทวนความรู้เดิมก็แล้วกัน

ธรรม ในที่นี้มีหลายความหมาย สรุปเอาง่ายๆ ว่าได้แก่ “สิ่งที่ถูกต้อง ดีงาม” สิ่งที่ถูกต้องดีงามโดยรวบยอดก็คือ หลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา

ตามกาล หมายถึง เวลาที่เหมาะสม เวลาที่ควรฟัง ในอรรถกถาท่านกล่าวว่า เวลาจิตฟุ้งซ่าน หรือจิตถูกกามวิตก เป็นต้น ครอบงำ ควรจะฟังธรรมเพื่อบรรเทาเบาบางความฟุ้งซ่าน หรือกามวิตกเป็นต้นนั้น

@@@@@@@

พูดมาถึงตรงนี้นึกถึงสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) ขึ้นมาได้ เรื่องของท่านถูกนำมาเล่าขานจนเกือบๆ จะเป็นนิยายไปแล้ว เพราะ “ใส่ไข่” เข้าไปมาก

ว่ากันว่า คราวหนึ่งท่านเข้าวังไปเทศน์ถวายในหลวงรัชกาลที่สี่ พอดีเจ้าจอม (พระนามอะไรไม่ได้บอกไว้) จะมีพระประสูติกาล (คลอดลูกนั่นแหละ) ในหลวงรับสั่งว่า “วันนี้เทศน์น้อยๆ หน่อยนะ ขรัวโต เจ้าจอมกำลังจะคลอดลูก”

สมเด็จฯ โต ท่านเทศน์เสียยืดยาว นัยว่าเพื่อบรรเทาพระวิตกกังวลของในหลวง

วันหลังมาในหลวงทรงพระทัยเบิกบาน รับสั่งว่า “วันนี้เทศน์ยาวๆ ก็ได้” สมเด็จฯ โตตั้งนโมสามจบ ขึ้นบาลีอุทเทศ (ยกบาลีขึ้นประหน้าธรรมาสน์ตามขนบธรรมเนียมการแสดงธรรม) แล้วว่า “ธรรมะข้อใดๆ สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าก็ทรงทราบดีอยู่แล้ว เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

ถ้าเรื่องนี้เป็นจริง แสดงว่าสมเด็จฯ โตท่านเห็นว่า เวลาคนสบายใจแล้วไม่จำเป็นต้องฟังธรรมมาก แต่เวลาวิตกกังวลหรือมีทุกข์ใจสิควรฟังธรรมมากๆ เพื่อให้จิตใจสบายขึ้น


@@@@@@@

แต่ก่อนนั้นเรามีเวลาฟังธรรมเฉพาะในวันธรรมสวนะ (วันพระ) 8 ค่ำ 15 ค่ำ หรือในเวลาทำบุญต่างๆ ปัจจุบันนี้มีโอกาสดีกว่าแต่ก่อนมาก มีธรรมะให้ฟังกันหลายที่หลายเวลา ไม่จำเป็นต้องไปวัด

อยู่บ้านก็มีรายการธรรมะทางวิทยุ โทรทัศน์มีการอภิปรายธรรม ปาฐกถาธรรม หลายแบบหลายสไตล์ให้ฟังกัน ขอแต่ให้มีฉันทะอยากฟังเพื่อศึกษาหาความรู้ และแนวทางปฏิบัติฝึกฝนตนเท่านั้นเป็นพอ และฟังอย่างเคารพสูงสุดในพระธรรม มิใช่ฟังเพื่อจับผิดคนพูดคนแสดง หรือฟังด้วย “อติมานะ” อยู่ในใจว่า เรื่องนี้ข้ารู้แล้ว

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงตั้งพระทัยฟังธรรมะจากปากสาวกของพระองค์ ธรรมะที่พระองค์สอนเธอนั่นแหละครับ ทรงฟังด้วยความเคารพเป็นอย่างยิ่ง แถมยังประนมพระหัตถ์เปล่งสาธุการ เมื่อเธอเทศน์จบอีกด้วย

ดำเนินตามรอยบาทพระพุทธองค์เป็นดีที่สุด ฟังแต่สิ่งที่ดีงามด้วยความเคารพ จิตใจจะสะอาดดีงาม ไม่ใช่ใจดำอำมหิตโกรธแค้นใครก็จ้างมือปืนไปฆ่าเขา คนอย่างนี้ห่างวัดห่างวา ห่างคุณงามความดี ใกล้อยู่อย่างเดียวคือนรก




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 ตุลาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน :เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 8 ตุลาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_354411
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ