ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "นางฟ้าพุทโธ" อยู่ที่ไหน.?  (อ่าน 1172 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"นางฟ้าพุทโธ" อยู่ที่ไหน.?
« เมื่อ: ตุลาคม 15, 2020, 01:55:57 pm »
0
ขอบคุณภาพจาก Youtube : พะโล้แดง แดงจัง


นางฟ้าพุทโธ อยู่ที่ไหน.?

จากการได้อ่านประวัติของพุทธอนุชาและพุทธกนิษฐา คือ เจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงนันทา(ชนปทกัลยาณี) ทำให้ได้ความรู้หลายประการ เช่น

    - ปราการแรก ได้รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีน้องชายและน้องสาวร่วมบิดา (มารดาของทั้งสองคือพระน้านางของพระพุทธองค์)
    - ประการที่สอง การแต่งงานกันเองระหว่างพี่น้องร่วมบิดามารดา มีมาตั้งแต่พุทธกาล (อาจมีมาก่อนพุทธกาลก็เป็นได้) คือ เจ้าชายนันทะและเจ้าหญิงนันทา(ชนปทกัลยาณี) แห่งศากยวงศ์แต่งงานกัน
    - ประการที่สาม เอตทัคคะสองรูปเป็นพี่น้องกัน เป็นพี่ชายกับน้องสาวที่คลานตามกันมา มีพ่อแม่เป็นคนเดียวกัน คือ  พี่ชาย(พระนันทเถระ) เป็นเอตทัคคะในทางผู้สำรวมอินทรีย์ และน้องสาว(พระนันทาเถรี) เป็นเอตทัคคะในฝ่ายผู้แพ่งด้วยฌาน
    - ประการสุดท้าย พระพุทธเจ้าใช้กุศโลบายที่แปลกมาก ในการโน้มน้าวให้พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์จนสำเร็จอรหันต์ คือ การประกันว่าจะได้นางอัปสร ๕๐๐ นาง หากพระนันทะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อย่างจริงจัง


@@@@@@@

ผมขอยกเอาประการสุดท้ายมาคุยกัน...

เจ้าชายนันทะถูกพระพุทธเจ้าดึงตัวออกมาจากพิธีแต่งงาน เป็นการแต่งงานระหว่างเจ้าชายนันทะกับน้องสาวแท้ๆ คือเจ้าหญิงนันทา(ชนปทกัลยาณี) แล้วให้บวชที่นิโครธาราม ด้วยความที่ไม่เต็มใจบวชและมีจิตถวิลหาเจ้าสาวของตนเป็นที่สุด จึงไม่มีใจที่จะประพฤติพรหมจรรย์ คิดแต่อยากจะสึกอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธเจ้าได้ทราบความแล้ว นำพระนันทะขึ้นไปที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ให้ได้ชมนางอัปสร ๕๐๐ นาง จนพระนันทะยอมรับว่า เจ้าสาวของตนสวยสู้นางอัปสรเหล่านี้ไม่ได้เลย พระพุทธเจ้ารับรองกับพระนันทะว่า หากตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์แล้ว จะได้นางอัปสรเหล่านี้ พระนันทะรับปากตามนั้น พระนันทะตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์จนสำเร็จอรหันต์ ในที่สุดก็กราบทูลพระพุทธองค์ว่า ไม่มีความต้องการนางอัปสร ๕๐๐ นางเหล่านั้นแล้ว

การประพฤติพรหมจรรย์ของพระนันทะนั้น ไม่ได้เกิดจากความต้องการโลกุตรธรรม แต่เกิดจากตัณหาราคะ ประพฤติพรหมจรรย์เพื่ออามิส เพื่อแลกกับนางอัปสร ๕๐๐ นาง. ลักษณะนี้อาจเรียกว่า ใช้ฉันทะละฉันทะ(ฉันทะหลังนี้หมายถึงความพอใจในนางอัปสร) ใช้ตัณหาละตัณหา(ความทะยานอยากในกามราคะ) ธรรมสองข้อนี้เป็นคำกล่าวโดยการอนุมาน นำมาพราหมณสูตรและภิกขุนีสูตรตามลำดับ ทั้งสองสูตรเป็นคำพูดของพระอานนท์

นางอัปสร ๕๐๐ นางที่พระนันทะปรารถนานั้น มีความงามแค่ไหน.? ไม่มีใครอธิบายไว้ แต่ในอรรถกถาได้พรรณนาความงามของเจ้าหญิงนันทาไว้ดังนี้....

@@@@@@@

“เจ้าหญิงนันทา” มีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “รูปนันทา” บ้าง “อภิรูปนันทา” บ้าง “ชนปทกัลยาณี” บ้าง

“ชนปทกัลยาณี” แปลว่า หญิงผู้มีความงามในชนบท ผู้เลอโฉมโดยรูป เว้นโทษในร่างกาย ๖ อย่าง ประกอบด้วยความงาม ๕ อย่าง. ก็เพราะเหตุที่เธอไม่สูงนัก ไม่เตี้ยนัก ไม่ผอมนัก ไม่อ้วนนัก ไม่ดำนัก ไม่ขาวนัก ล่วงวรรณะของมนุษย์ แต่ไม่ถึงวรรณะของเทพ

ฉะนั้น จึงชื่อว่าเว้นโทษในร่างกาย ๖. ประกอบด้วยความงามเหล่านี้ คือ ผิวงาม เนื้องาม เล็บงาม (บางแห่งว่า ผมงาม) กระดูกงาม และวัยงาม.

     - บรรดาความงามเหล่านั้น ผิวย่อมทำความสว่าง ในที่ประมาณ ๑๐-๑๒ ศอก ด้วยแสงสว่างจากสรีระของตน มีผิวเสมอด้วยดอกประยงค์หรือเสมอด้วยทองคำ นี้ชื่อว่า นางมีผิวงาม.
     - ส่วนมือทั้งสอง เท้าทั้งสองและริมฝีปากของนาง เป็นเช่นกับแก้วประพาฬและผ้ากัมพลแดง ประหนึ่งฉาบทาด้วยน้ำครั่ง นี้ชื่อว่า นางมีเนื้องาม.
     - ส่วนเล็บทั้ง ๒๐ กาบเป็นเหมือนธารน้ำนม ในที่ที่พ้นจากเนื้อ ประหนึ่งขจิตด้วยน้ำครั่งในที่ที่ไม่พ้นจากเนื้อ นี้ชื่อว่า นางมีเล็บงาม.
    - ฟัน ๓๒ ซี่เรียบสนิท เป็นเสมือนแถวของแก้วประพาฬที่ขาวบริสุทธิ์ ย่อมปรากฏเหมือนระเบียบแห่งเพชร นี้ชื่อว่า นางมีกระดูกงาม.
    - นางแม้มีอายุ ๑๒๐ ปี เป็นเหมือนหญิงสาวอายุ ๑๖ ปี ไม่มีผมหงอกเลย นี้ชื่อว่า นางมีวัยงาม.

และนางเป็นผู้มีความดีงามประกอบด้วยคุณสมบัติเห็นปานนี้. ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า “ชนปทกัลยาณี” นางงามในชนบท. (ความในอรรถกถาจบเพียงเท่านี้)


พระสุนทรีวาณี ประดิษฐาน ณ ด้านซ้ายมือของพระศรีศากยมุนี ภายในพระวิหารหลวงของวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เขตพระนคร. ขอบคุณภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ความงามของเจ้าหญิงนันทาเทียบได้กับนางวิสาขา คืองามแบบ ”เบญจกัลยาณี” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้พระนันทะจึงมีความเสน่หาในเธอยิ่งนัก การปฏิบัติธรรมเพื่อแลกกับนางฟ้าของพระนันทะ ทำให้ผมนึกถึง "นางฟ้าสุนทรวาณี" ที่วัดสุทัศน์ฯ กรุงเทพฯ

นางฟ้าสุนทรีวาณี หรือพระสุนทรีวาณี เป็นพระปางพิเศษ เป็นรูปเทพธิดาทรงอาภรณ์อันงดงามวิจิตร หัตถ์ขวาแสดงอาการกวัก คือ การเรียกเข้ามาหา หัตถ์ซ้ายหงายอยู่บนพระเพลา(หน้าตัก) มีดวงแก้ววิเชียร(เพชร) อยู่ในหัตถ์

คาถาบูชาพระสุนทรวาณี มีความว่า...

มุนินทะ วะทะนัมพุชะ คัพภะสัมภะวะ สุนทะรีปาณีนัง สะระณัง วาณี มัยหัง ปิณะยะตัง มะนัง

แปลว่า นางฟ้าคือพระไตรปิฎก อันเกิดจากดอกอุบล คือ พระโอษฐ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งพำนักของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงยังใจของข้าพเจ้าให้เอิบอิ่มปรีดาปราโมทย์ รู้แจ่มแจ้งแทงตลอดจำได้ ปฏิบัติตามได้ ในพระไตรปิฏกทั้งโลกียะและโลกุตตระนั้นเทอญ

@@@@@@@

พระนันทะปฏิบัติธรรมด้วยความพอใจในนางฟ้าบนดาวดึงส์ จนละฉันทะ(ความพอใจ)นั้นได้ สิ่งที่ได้มากลับกลายเป็นนางฟ้าอีกแบบหนึ่ง เป็นนางฟ้าที่อยู่ในคาถาบูชาพระสุนทรวาณี “นางฟ้าคือพระไตรปิฎก”

ด้วยความหมายของคาถาดังกล่าว นางฟ้าที่พระนันทะได้พบ จึงเป็นนางฟ้าที่งดงามในทุกกาล งามในเบื้องต้น(งามด้วยอธิศีลสิกขา) งามในท่ามกลาง(งามด้วยอธิจิตตสิกขา) และงามในที่สุด(งามด้วยอธิปัญญาสิกขา) เป็นนางฟ้าที่นำไปสู่ที่สุดแห่งทุกข์ ทำให้รู้ตื่น รู้เบิกบาน แบบไม่ยึดติด อาจให้ชื่อได้ว่า “นางฟ้าพุทโธ”

ถามว่า นางฟ้าพุทโธ อยู่ที่ไหน.?
ตอบว่า หากเราเริ่มปฏิบัติธรรมตามพระไตรปิฎก นางฟ้าก็จะปรากฏอยู่ตรงหน้านั่นแหละ
ถามว่า นางฟ้าพุทโธ มีกี่นาง สวยต่างกันไหม.?
ตอบว่า มีมากเท่าที่เราคิด แต่ความสวยจะต่างกันตามระดับมรรคผล
ถามว่า นางฟ้าพุทโธสวยที่สุดอยู่ที่ไหน.?
ตอบว่า ที่สุดแห่งทุกข์อยู่ที่ไหน ก็อยู่ที่นั่นแหละ

คุยเป็นเพื่อนเท่านี้ครับ ขอบพระคุณที่ติดตาม.. :25:

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 16, 2020, 07:38:05 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ