ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "นวหรคุณ" กับแพทย์แผนไทย  (อ่าน 2436 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28415
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
"นวหรคุณ" กับแพทย์แผนไทย
« เมื่อ: ตุลาคม 21, 2020, 11:10:09 am »
0



"นวหรคุณ" ในทรรศนะของ พระพุทธศาสนาและการแพทย์แผนโบราณ

บทคัดย่อ

การวิจัยนี้วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับ "นวหรคุณ" ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาและการแพทย์แผนโบราณ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ผลการวิเคราะห์เนื้อหาพบว่า แนวคิดในเรื่องของนวหรคุณ หรือพระพุทธคุณ 9 ประการ ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาคือ คุณลักษณะเฉพาะของพระอรหันต์ที่เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น ในขณะที่การแพทย์แผนโบราณ นวหรคุณอาจถูกเรียกในชื่ออื่น เช่น บทอิติปิโส 9 ห้อง หรือหัวใจพระคาถาอิติปิโส

แพทย์แผนโบราณจะใช้บทนวหรคุณนี้เป็นคาถาในการเสกยา ใช้คาถาร่วมกับการนวด การทำยันต์ และอาถรรพเวท โดยหัวใจพระคาถาที่ใช้มีทั้งแบบ 10 พระคาถา และ 9 พระคาถา ซึ่งไม่มีความแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ควรจะได้มีการเปลี่ยนการใช้คำจากนวหรคุณ เป็นนวารหาทิคุณ หรือนวารหคุณ หรือนวรหคุณแทน เพื่อความถูกต้องทั้งความหมายและหลักบาลีไวยากรณ์

นอกจากนี้ผลการวิเคราะห์ยังแสดงให้เห็นว่า การใช้นวหรคุณในการแพทย์แผนโบราณด้านต่างๆ มีพื้นฐานที่สำคัญจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยไม่มีความขัดแย้งกันหรือดัดแปลงให้ผิดเพี้ยนไปแต่อย่างใด

 
@@@@@@@

คำนำ

นวหรคุณเป็นคำที่เลือนมาจากคำว่า นวารหาทิคุณ (พระพรหมคุาภรณ์, 2556) หมายถึง พุทธคุณ 9 ประการ เป็นคุณสมบัติของผู้เป็นพระอรหันต์ที่เป็นพระพุทธเจ้า 9 ประการ มี อรหัง เป็นต้น มี ภควา เป็นที่สุด ซึ่งคุณสมบัตินี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่งด้วยกัน แสดงให้เห็นว่า นวหรคุณนี้เป็นคุณสมบัติที่มีความสำคัญมากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระประสงค์ให้พุทธสาวกได้เจริญรอยตาม

เพื่อจะได้บรรลุถึงซึ่งความพ้นทุกข์คือพระนิพพาน ด้วยการเจริญชีวิตตามอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาเถรวาท การเจริญชีวิตตามอริยมรรคมีองค์ 8 นั้นเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มัชฌิมาปฏิปทา สามารถกล่าวสรุปย่อลงได้ในไตรสิกขา ได้แก่ศีล สมาธิ ปัญญา นั่นเอง (สมเด็จพระพุธโฆษาจารย์, 2559)

จากคุณสมบัติที่สำคัญของนวหรคุณดังกล่าว การแพทย์แผนโบราณจึงได้นำนวหรคุณมาประยุกต์ใช้ในการแพทย์แผนโบราณแบบต่างๆ ประกอบด้วยการใช้ทำยาแผนโบราณ การใช้กับการนวดแผนโบราณ และการใช้ในลักษณะของพระคาถา ไสยศาสตร์ รวมทัพระเวท จึงเป็นแรงจูใจให้ผู้วิจัยสนใจค้นคว้าศึกษาถึงคุณลักษณะของนวหรคุ ในทรรศนะของพระพุทธศาสนาและแนวทางการนำไปใช้ในด้านการแพทย์แผนโบราณในลักษณะต่างๆ ว่ามีความสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ เพื่อเป็นการอนุรักษ์ศาสตร์การแพทย์แผนโบราณให้คงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป

@@@@@@@
 
อุปกรณ์และวิธีการ ระเบียบวิธีวิจัย

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุภาพ โดยค้นคว้าเอกสารตามลำดับดังนี้

     1. รวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ได้แก่พระไตรปิฎก ฉบัมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อรรถกถาแปล ฉบัมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฎีกา ปกรณ์วิเสส และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับนวหรคุณ
     2. เก็บรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ หมายถึง คัมภีร์แพทย์แผนไทย โดยเน้นเฉพาะคัมภีร์เวชศาสตร์ฉบับหลวง ส่วนแผนนวดวัดโพธิ์ คัมภีร์ไสยศาสตร์ คัมภีร์พระเวท และการใช้นวหรคุณในพิธีกรรมแผนโบราณ
     3. วิเคราะห์ด้านเนื้อหา  เกี่ยวกับคุณลักษณะของนวหรคุณจากคัมภีร์พระพุธศาสนาเถรวาท และคัมภีร์แพทย์แผนโบราณ โดยนำเสนอเป็นความเรียง

 
@@@@@@@

ผลการศึกษา

1. คุณลักษณะของ"นวหรคุณ" ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

นวหรคุณ หรือพุทธคุณ 9 ประการ เป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระอรหันต์ผู้เป็นพระพุทธเจ้าเท่านั้น พระพุทธรักขิตาจารย์ (2560) กล่าวว่าในบรรดาพระพุทธคุณเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่พีงคิด หมายถึง มีความเป็นอจินไตย (อจินฺติโย) เพราะเหตุที่พระพุทธคุณนั้นละเอียดอ่อนกำหนดประมาณมิได้ แต่มิได้หมายความว่า ไม่ให้ปุถุชนระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า เพียงแต่ไม่ควรคิดเปรียบเทียบกับสิ่งใด เพราะเป็นสิ่งที่ไม่มีคู่เทียบ ไม่มีทั่วไปในบุคคลอื่น เพราะไม่สามารถจะหาพระพุทธคุณใดจากที่ใดหรือจากบุคลใด แม้แต่พระปัจเจกพุทธเจ้าที่จะบริสุทธิ์ยิ่งกว่าพระพุทธคุณของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเลย ทั้งในปัจจุบัน ในอดีตหรือในอนาคต

พระพุทธคุณ 9 ประการนี้โดยมติของโบราณาจารย์ทั่วไปถือว่า ประกอบด้วยพระบาลี 9 บท คือ   
1. อรหํ
2. สมฺมาสมฺพุทฺโธ
3. วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
4. สุคโต
5. โลกวิทู
6. อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ 
7. สตฺถา เทวมนุสฺสานํ
8. พุทฺโธ
9. ภควา
(วิ.มหา. (บาลี) 1/1/1)

ยกเว้นเฉพาะในหนังสือพระคัมภีร์วชิรสารัตถสัคหะ (พระสิริรัตนปัญญาเถระ, 2556)เท่านั้น ที่กล่าวว่า

“ยสฺส ทสกฺขรา อสํ วิสุโล อ ปุส พุภ วจสา ปคุณา ตฺวตฺโถ มนสา โส สุขํ ลภิ”


     จึงทำให้มีอักขระ 10 ตัว คือ อ สํ วิ สุ โล อ ปุ ส พุ ภ
     และได้บัญญัตินามเป็น “ทสอรหาทิคุณ” แปลว่า “พระคุณมี อรหํ เป็นต้น 10 ประการ” ประกอบด้วย

     อ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท อรหํ
     สํ  เป็นอักขระจากพระพุธคุบท สมฺมาสมฺพฺุทโธ
     วิ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน
     สุ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท สุคโต
     โล เป็นอักขระจากพระพุธคุบท โลกวิทู
     อ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท อนุตฺตโร
     ปุ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท ปุริสทมฺมสารถิ 
     ส เป็นอักขระจากพระพุธคุบท สตฺถา เทวมนุสสานํ
     พุ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท พฺุทโธ
     ภ เป็นอักขระจากพระพุธคุบท ภควา

    ทั้งนี้อักขระที่กำหนดเป็นพระพุทธคุณ 9 ประการ จึงประกอบด้วย อ สํ วิ สุ โล ปุ ส พุ ภ
    โดยรวมบทพระพุทธคุณ “อนุตฺตโร” เข้ากับพระพุทธคุณ “ปุริสทมฺมสารถิ” แปลว่า “ทรงเป็นผู้ฝึกบุรุษที่ควรฝึก ไม่มีผู้ฝึกอื่นยิ่งกว่า”

    พระพุธคุณ 9 ประการนี้ั บัญญัตินามไว้ว่า “นวหรคุณ” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "นวารหาทิคุณ" บางทีเลือนมาเป็น นวารหคุณ (พระพรหมคุณาภรณ์, 2556) แปลว่า คุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระอรหันต์ 9 ประการ

อย่างไรก็ตาม ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค พระพุธโฆษาจารย์ก็ได้อธิบายไว้ทั้งสองแบบ คือ อธิบายแยกบทและอธิบายรวมบท โดยกล่าวว่า

     บทว่า “”อนุตฺตโร กับบทว่า “ปุริสทมฺมสารถิ” เป็นบทที่มีความหมายอย่างเดียวกัน (พระพุธโฆสเถระ, 2556) เพราะสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนบุรุษที่ควรฝึกทั้งหลายให้สำนึกได้อย่างยอดเยี่ยม (วิสุทธิ. ฎีกา (ไทย) -/139/297)

    ดังนั้นการกำหนดพระคุณของพระพุทธเจ้า จะเป็น 9 หรือ 10 ก็ได้ ความหมายอย่างเดียวกัน พุทธคุณ 9 ประการ นี้ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกหลายแห่งด้วยกัน นับตั้งแต่พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1 ในเวรัญชกัณฑ์ เป็นต้น และปฐมวิภังคสูตร เป็นที่สุด (วิ.มหา. (ไทย) 1/1/1, ส .ม. (ไทย) 19/479/287)

@@@@@@@

โดยมีความหมายของพระพุทธคุณ 9 ประการ อธิบายจำแนกแต่ละประการโดยย่อ ดังนี้

     1) คำว่า อรหํ  หรือพระอรหันต์ เป็นคำที่ใช้เฉพาะพระพุธเจ้าเท่านั้น ส่วนพระสาวกที่เป็นพระอรหันต์นั้นจะใช้ว่า อรหา (พระธรรมกิตติวงศ์, 2550) อรหํ  จึงเป็นพระเนมิตกนาม หมายถึงนามที่ตั้งขึ้นหรือกำหนดขึ้นตามเหตุปัจจัย คือตั้งตามลักษณะหรือคุณสมบัติพิเศษของผู้นั้น เนมิตกนาม จึงเป็นนามพิเศษเฉพาะตัวของผู้นั้น ของพระพุทธเจ้า ในอรรถกถา สมัตปาสาทิกา (วิ.มหา.อ. (ไทย) 1/1/143-164) ได้อธิบายไว้ว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชื่อว่าเป็นพระอรหันต์เพราะทรงประกอบด้วยเหตุ 5 ประการ ได้แก่ เป็นพระอรหันต์ เป็นผูบริสุทธิ์ ไกลจากกิเลส ทำลายกำแห่งสังสารจักรแล้ว เป็นผู้ควรแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ควรได้รับความเคารพบูชา เป็นต้น   
     2) สมฺมาสมฺพฺุทโธ เป็นผู้ตรัสรู้ชอบเองโดยไม่มีใครเป็นผู้สอน
     3) วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน คือเป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา 3 วิชชา 8 และจรณะ 15 ประการ (วิชชา 3 ดูรายละเอียดในภยเภรวสูร, ม.มู (ไทย) 12/34-86/33-44; วิชชา 8 ดูรายละเอียดในอัมพัฏฐสูตร, ที.สี. (ไทย) 9/279/100; จรณะ 15 ดูรายละเอียดในเสขปฏิปทาสูตร, ม.ม. (ไทย) 13/22-30/24-34)
     4) สุคโต เป็นผู้เสด็จไปดีแล้ว เสด็จไปสู่สถานที่ดีและตรัสไว้โดยชอบ
     5) โลกวิทู เป็นผู้รู้แจ้งโลกทั้ง 3 คือ ทรงรู้แจ้งสภาวะอันเป็นคติธรรมดาแห่งโลก คือสังขารทั้งหลายทรงหยั่งทราบอัธยาศัยสันดานแห่งสัตว์โลกทัปวง ผู้เป็นไปตามอำนาจแห่งคติธรรมดาโดยถ่องแท้ เป็นเหตุให้ทรงดำเนินพระองค์เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจครอบงำแห่งคติธรรมดานั้น และทรงเป็นที่พึ่งแห่งสัตว์ทั้งหลายผู้ยังจมอยู่ในกระแสโลกได้
     6) อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ  คือ ทรงเป็นผูฝึกเวไนยสัตว์ที่สมควรฝึกได้โดยไม่มีผู้อื่นเทียบได้กับพระองค์
     7) สตฺถา เทวมนุสสานํ เป็นพระบรมศาสดาผูให้โอวาทและพร่ำสอนเหล่าเวไนยสัตว์ทั้งที่เป็นเทวดา มาร พรหม และมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งเดรัจฉานทั้งหลายด้วย
     8) พุทฺโธ คือทรงเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น และผู้เบิกบานแล้ว ทรงเป็นผู้รู้อริยสัจ 4 ทรงตื่นเองจากความเชื่อถือและข้อปฏิบัติทั้งหลายที่ถือกันมาแบบไม่ถูกต้องด้วย ทรงปลุกผู้อื่นให้พ้นจากความหลงงมงายด้วย ดังนั้น พระองค์จึงไม่ติด ไม่หลง ไม่กังวลในสิ่งใด จึงมีพระทัยเบิกบาน บำเพ็ญพุทธกิจได้ถูกต้องบริบูรณ์ โดยถือธรรมเป็นประมาณ
     9) ภควา คือทรงเป็นครูชั้นประเสริฐ และทรงเป็นผู้มีโชคคือ ทรงทำลายกิเลสประกอบด้วยภคธรรมทั้ง 6 ประการ คือ ความเป็นใหญ่เหนือจิตของตน โลกุตรธรรม ยศ สิริ ความสำเร็จ ประโยชน์ตามต้องการ และความเพียร (ที.ปา. (ไทย) 11/6/6)

 

2. การนำนวหรคุณมาใช้ในการแพทย์แผนโบราณ

จากคุณลักษณะของนวหรคุณในคัมภีร์พระพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แพทย์แผนโบราณได้นำมาประยุกต์ใช้ในการแพทย์แผนโบราณแบบต่างๆ ประกอบด้วย การใช้ทำยาแผนโบราณ การใช้กับการนวดแผนโบราณ และการใช้ในลักษณะของพระคาถา พระเวท หรือไสยศาสตร์ ดังนี้

    - ในการแพทย์แผนโบราณ มียาแผนโบราณขนานหนึ่งชื่อ ยาแก้วนวหรคุณ ไม่ปรากฏผู้คิดค้นตำรับ ซึ่งใช้คุณสมบัติของพุทธคุณ 9 ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา (เทพย์ สาริกบุตร, 2552ก)
 
       มีสรรพคุณ คือ เป็นยารุคุณ (คุณ หมายถึง การใช้วิธีการทางไสยศาสตร์ทำร้ายผู้ที่เป็นศัตรู เรียกว่า การกระทำคุณไสย ผู้ถูกกระทำเรียกว่า ถูกคุณ) แก้ไข้เรื้อรัง แก้กระทำคุณผี ไล่ผีที่สิงอยู่ในคนได้ แก้ไข้คลั่งเพ้อเป็นบ้า แก้ไข้ตัวร้อน แก้คุณคน คุณชมบ (ผีผู้หญิงที่ตายในป่าและสิงอยู่ในบริเวณที่ตาย มีรูปเห็นเป็นเงาๆ แต่ไม่ทำอันตรายใคร บางพื้ที่เรียก ฉมบ หรือ ทมบ) คุณผีปอบ ตัดรากฝีในท้อง ฝีในกระดูก แก้พรายเลือดพรายลมอักระทำให้เสียดแทงตามตัว แก้ลมเพลมพัด แก้พิษฝีหัวคว่ำหัวหงาย พิษฝีดาษได้

    - นอกจากยาแก้วนวหรคุณแล้ว นวหรคุณยังถูกใช้ในการนวดแผนโบราณ โดยกำหนดจิตและคำภาวนาไปตามนวทวาร (สุวินันท์, 2548)ของผู้เป็นหมอนวดแผนโบราณ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานจิตของหมอนวดแผนโบราณ และใช้ปรุงอารมณ์ส่งเป็นพลังงานเข้าสู่ผู้ป่วยในระหว่างการนวด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนวดรักษาให้ดียิ่งขึ้น

      จุดนวทวารหรือจักรนี้เป็นที่ตั้งของธาตุทั้ง 4 สลับหมุนเวียนกันในลักษณะที่เป็น ไฟ ดิน-น้ำ ลม (อนุโลม) และ น้ำ ลม-ดิน ไฟ (ปฏิโลม) จนเกิดสภาวะของจิตที่เคลื่อนไปตามจักรทั้ง 9 ในลักษณะทั้งคว่ำจักรและหงายจักร ซึ่งเป็นที่มาของ "การเข้าจักรสุกิตติมา" ตามแนวทางของสมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสํ วโร)

     "การเข้าจักรสุกิตติมา" ตามแนวทางของสมเด็จพรอริยวงษญาน สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสํ วโร)นั้น เป็นไปเพื่อให้เกิดสมาธิอันสงบ เกิดปัญญา จำแม่น และที่สุดคือ สลายวงจรปฏิจจสมุบาท ละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ประกอบด้วยพระคาถา 8 บท ได้แก่
     สุกิตติมา สุภาจาโร สุสีลวา สุปากโต ยสสฺสิมา วสิทธิโร เกสโรวา อสัมภิโต
     รายละเอียดของการเข้าจักรสุกิตติมาดูได้ใน พระครูสิทธิสัวร (2557) 

    - ในส่วนของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณนั้น พระคาถานวหรคุณจะใช้บทอิติปิโส 9 ห้อง หรือ หัวใจพระคาถา อะ สัง วิ สุ โล ปุ สะ พุ ภะ เป็นหลัก (อาจารย์ญาณโชติ, 2550) และมีบทอิติปิโสแก้นะวะหอระคุณด้วย คำว่า บทแก้ หมายถึง เพิ่มเติม คล้ายกับคำอธิบายขยายความแบบอรรถกถาทีใช้อธิบายพระไตรปิฎก

      ทั้งนี้การสวดพระคาถานวหรคุณทำให้เกิดสมาธิกับแพทย์ในการเสกยาและทำให้ยามีฤทธิ์แรงขึ้น นอกจากนี้การสวดภาวนาทั้งตัวแพทย์และผู้ป่วยยังเกิดสมาธิ เป็นพลังในการรักษาโรคด้วยการใช้จิต และเมื่อสวดอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สุขภาพแข็งแรง คุณไสยทำอันตรายไม่ได้ และเป็นเมตตามหานิยม

    - พระคาถานวหรคุยังถูกใช้ในด้านการเขียนหรือจารยันต์ สักยันต์ ลงตะกรุด และลงผ้าประเจียด เรียกว่า ยันต์พระเนาวหรคุณ ให้คุณทางด้านคงกระพัน (เทพย์ สาริกบุตร, 2552ข) ยังสามารถใช้ในทางอาถรรพเวท ซึ่งจัดเป็นคัมภีร์พระเวทอีกคัมภีร์หนึ่ง ที่รวบรวมเพิ่มเติมขึ้นภายหลังจากคัมภีร์ไตรเพท (สามเวท ยชุรเวท ฤคเวท) ของศาสนาพราหมณ์ คัมภีร์อาถรรพเวทเป็นพระเวทและเลขยันต์ที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ โดยการใช้งานในทางอาถรรพเวท จะใช้แก้คดีความกรณีที่ถูกกระทำย่ำยีแบบไม่มีมูล หรือต้องการให้คดีความสูญสลายไปได้ (เทพย์ สาริกบุร, 2552ค)
 
@@@@@@@

สรุป

จากการวิเคราะห์เนื้อหาทั้งหมด สรุปได้ว่า พระพุทธคุณ 9 ประการนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “นวารหาทิคุณ” ซึ่งมาจากคำว่า นว+อรห+อาทิ+คุณ = นวารหาทิคุณ ซึ่งเมื่อแยกตามความหมายแล้ว
     นว = จำนวนเก้า(9)หรือใหม่
     อรห = อรหันต์
     อาทิ = ต้นหรือเป็นเบื้องต้น ข้อต้น ทีแรก สิ่งแรก
     คุณ = ความดี
เมื่อแปลย้อนจากท้ายมาหน้า และแปลคำวิเศษณ์ก่อนคำนาม จึงหมายถึง “พระอรหันต์” แต่ในที่นี้มิได้หมายถึงอริยบุคลผู้บรรลุอรหัตผลโดยทั่วไป แต่หมายถึง “พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า” เท่านั้น ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะ 

ส่วน “นวารหคุณ” คือ คำที่กร่อนลงจากคำเต็ม คือ นวารหาทิคุณ โดยตัดคำว่า อาทิ ในคำออกแล้ว แต่ยังไม่เสียความ เมื่อนานเข้า เสียงสนธิที่เกิดจาก นวะ+อรหะ ที่ต้องอ่านว่า นวารหะ และกร่อนลงจนกลายเป็นคำว่ “นวรหคุณ” ขึ้นมาอีกคำหนึ่ง

แต่ด้วยกาลเวลาที่ยาวนาน ประกอบกับบุคคลส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ทางรากศัพท์ภาษาบาลี จึงทำให้คำนี้เลือนไปเป็นนวหรคุณ และใช้กันอย่างติดปาก แต่ไม่มีความหมาย เพราะหากจะอธิบายรูปศัพท์ของ นวหรคุณ จะได้ดังนี้
    นว = จำนวนเก้า หรือใหม่
    หรคุณ = จำนวนวันตั้งแต่แรกตั้งศักราชมา หรือเรียกชาดสีแดงเสนว่า ชาดหรคุณ จึงทำให้แปลไม่ได้ความ

ดังนั้น เพื่อความถูกต้องตามหลักวิชาการแล้ว ผ็วิจัยมีความเห็นว่า ควรจะได้มีการเปลี่ยนการใช้คำนี้ จากนวหรคุณ เป็น นวารหาทิคุณ หรือ นวารหคุณ หรือ นวรหคุณ แทน เพื่อความถูกต้องทั้งความหมายและหลักบาลีไวยากรณ์

@@@@@@@

ส่วนคุณลักษณะของนวหรคุณในคัมภีร์แพทย์แผนโบราณนั้นจะใช้บทอิติปิโส 9 ห้อง หรือหัวใจพระคาถา ในด้านต่างๆ ได้แก่ การทำยาแผนโบราณ ชื่อยาแก้วนวหรคุณ ซึ่งใช้คุณสมบัติของพุทธคุณ 9 และพระคาถาอื่นๆ ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเถรวาท

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ในฝอยท้ายตำรับยาแก้วนวหรคุณนั้น ท่านได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ยานี้ืถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในสมัยพุทธกาล โดยสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงประทานยานี้ให้ชาวเมืองเวสาลี เนื่องจากมีโรคห่าระบาด ทำให้ชาวเมืองล้มตายไปเป็นอันมาก 

แต่เมื่อได้ตรวจสอบในพระไตรปิฎกและอรรถกถาแล้ว กลับไม่พบเรื่องราวนี้(ขุ.ขุ. (ไทย) 25/1-3/9, ขุ.ขุ.อ. (ไทย) -/17/235-239) จึงเป็นไปได้ว่า ในฝอยท้ายตำรายานั้น เป็นเพียงตำนานที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับตัวยา หรืออาจมีความคลาดเคลื่อนจากการคัดลอกมาหลายยุคหลายสมัยก็เป็นได้

นอกจากยาแก้วนวหรคุณแล้ว นวหรคุณยังถูกใช้ในการนวดแผนโบราณ โดยกำหนดจิตและคำภาวนาไปตามนวทวารของผู้เป็นหมอนวดแผนโบราณ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับฐานจิตของหมอนวดแผนโบราณ และใช้ปรุงอารมณ์ส่งเป็นพลังงานเข้าสู่ผู้ป่วยในระหว่างการนวด ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการนวดรักษาให้ดียิ่งขึ้น

@@@@@@@

ในส่วนของพิธีกรรมทางไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณนั้น พระคาถานวหรคุณถูกใช้ในการสวดภาวนา และเมื่อสวดอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สุขภาพแข็งแรง คุณไสยทำอันตรายไม่ได้ และเป็นเมตตามหานิยม

พระคาถานวหรคุณยังถูกใช้ในด้านการเขียนยันต์ จารยันต์ สักยันต์ ลงตะกรุด และลงผ้าประเจียด เรียกว่า ยันต์พระเนาวหรคุณ และใช้แก้คดีความในกรณีที่ไม่มีความผิด ในทางอาถรรพเวท

นอกจากนี้จากการวิเคราะห์เนื้อหาเกี่ยวกัพระคาถานวหรคุณ ยังพบความแตกต่างของพระคาถาแบบเต็ม ที่ปรากฏในตำราที่เทพย์ สาริกบุตร ได้รวบรวมและเรียบเรียงไว้ คือ มีทั้งพระบาลี 9 บท ตามบทนวหรคุณ และพระบาลี 10 บท ตามบททสอรหาทิคุณ

แต่อย่างไรก็ตาม ในวิสุทธิมรรคฎีกา (วิสุทฺธิ.ฎีกา (ไทย) -/139/297) ได้กล่าวไว้แล้วว่า ไม่มีความแตกต่างกัน แสดงให้เห็นว่า การใช้นวหรคุในการแพทย์แผนโบราณด้านต่างๆ มีพื้นฐานที่สำคัญจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยไม่มีความขัดแย้งกันหรือดัดแปลงให้ผิดเพียนไปแต่อย่างใด

 



....................................................

เจ้าของบทความ : บทความนี้เป็นงานวิจัยของ คุณธนิษฐา ทรรพนันทน์ สาขาวิชาพระพุธศาสนา คณะบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยกรุงเทพฯ 10200 

กิตติธรรมประกาศ : ผู้วิจัยขอขอบคุณ คุณวุฒินันท์ ป้องป้อม นิสิตปริญญาโท สาขาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ทีตรวจสอบความถูกต้องของพระคาถาทุกบท สำหรับการวิจัยในครั้งนี้

 
เอกสารอ้างอิง :-
- เทพย์ สาริกบุตร (รวบรวมและเรียบเรียง). 2552ก. พระคัมภีร์พระเวท ฉบับปฐมบรรพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.
- เทพย์ สาริกบุตร (รวบรวมและเรียบเรียง). 2552ข. พระคัมภีร์พระเวท ฉบับจัตตุบรรพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.
- เทพย์ สาริกบุตร (รวบรวมและเรียบเรียง). 2552ค. พระคัมภีร์พระเวท ฉบับปัญจมบรรพ. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : ม.ป.ท.
- พระครูสิทธิสังวร (วีระ ฐานวีโร) 2557 มหัศจรรย์กำหนดจิต เดินธาตุ รักษาโรค นนทบุรี : สำนักพิมพ์สัมปชัญญะ.
- พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเดโช) รวบรวมและแปล. 2550. พจนานุกรมเพื่อการศึกษาพุทธศาสน์ ชุดศัพท์วิเคราะห์. กรุงเทพมหานคร : เลี่ยงเชียง.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยฺุโต). 2556. พจนานุกรมพุทธศาสน์ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 21. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิพุธธรรม.
- พระพุทธโฆสเถระ รจนา, สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) แปลและเรียบเรียง. 2556. คัมภีร์วิสุทธิมรรค. พิมพ์ครั้งที่ 11. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ธนาเพรส จำกัด
- พระพุทธรักขิตาจารย์ รจนา, รังษี สุทนต์ และคณะ แปล. 2560. ชินาลังการฎีกา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- พระสิริรัตนปัญญาเถระ รจนา, นาวาเอก(พิเศษ) แย้ม ประพันธ์ทอง แปล. 2556. พระคัมภีร์วชิรสารัตถสังคหะ. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพมหานคร : เปี่ยมศิลป์ กราฟฟิคอาร์ต.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2539. พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2556. อรรถกถา แปล ชุด 55 เล่ม ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร : มหาจุฬาลงกรณราชวิยาลัย.
- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. 2553. วิสุทธิมรรคฎีกา ฉบัมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร :
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
- สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยฺุตโต). 2559. พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 34. กรุงเทพมหานคร : ธรรมสภา.
- สุวินันท์. เส้นสิบพิสดาร [ออนไลน์ แหล่งที่มา : www.palungjit.org/attachments/เส้นสิบพิสดาร (8 พฤษภาคม 2560)
- อาจารย์ญาณโชติ (ชัยมงคล อุดมทรัพย์). 2550. คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร : ศิลปาบรรณาคาร.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 21, 2020, 11:43:26 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ