ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โปรยทานด้วยรางวัลใหญ่ ตั้งแต่วัว, ควาย, ล็อตเตอรี่ และ ที่นา ฯลฯ  (อ่าน 456 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


การทิ้งทานกัลปพฤกษ์ เจ้าพนักงานจะปลดลูกมะนาวยัดเงินที่สมมุุติเป็นลูกกัลปพฤกษ์หว่านลงมาให้ผู้คนข้างล่างแย่งชิงกันเกรียวกราว (ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดบวรสถานสุทธาวาส กรุงเทพฯ)


โปรยทานด้วยรางวัลใหญ่ ตั้งแต่วัว, ควาย, ล็อตเตอรี่ และ ที่นา ฯลฯ

เมื่อเดือนมกราคม 2558 ข่าวดังหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายฉบับคือ “การโปรยทานไอโฟน 6 พลัส จำนวน 5 เครื่อง” ที่วัดราชบูรณะ จังหวัดพิษณุโลก

ในอดีตการโปรยทานที่ยิ่งใหญ่ด้วยรูปแบบงาน และรางวัล ที่มีมูลค่ามากกว่าไอโฟน 6 พลัสก็เคยมีมาแล้ว ซึ่ง เอนก นาวิกมูล เขียนไว้ในบทความชื่อว่า “ร.5 ทรงโปรยทาน” (ศิลปวัฒนธรรม, กันยายน 2546) ที่ขอยกมาเพียงบางส่วนดังนี้

การโปรยทานสมัยก่อนมีทั้งที่โปรยจากต้นกัลปพฤกษ์ที่ปลูกขึ้นไปสูงๆ และโปรยจากที่ยืนที่ต่ำกว่านั้น

คนโบราณเชื่อว่ากัลปพฤกษ์เป็นต้นไม้บนสวรรค์ ใครต้องการแก้วแหวนเงินทอง เสื้อผ้าแพรพรรณ ตลอดจนข้าวน้ำทั้งหลายก็ไปสอยเอาจากต้นไม้นี้ได้หมด แต่สวรรค์ก็อยู่ส่วนสวรรค์ ทำอย่างไรจะให้สิ่งนี้เกิดขึ้นในโลกมนุษย์เมืองสยามได้ ก็ต้องสมมติกันขึ้นมา

เวลามีงานหลวง พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานปักเสาสูงๆ ลงไป จากนั้นก็ทำคอกเล็กๆ เหมือนรังกาสำหรับคนขึ้นไปยืนข้างบน ที่ปลายเสาทำพุ่มติดผลมะนาวยัดเงิน สมมติว่าเป็นผลกัลปพฤกษ์ เพราะเงินคือแก้วสารพัดนึก อยากจะเอาไปซื้ออะไรก็เชิญ พอได้เวลา เจ้าพนักงานก็ปีนบันไดขึ้นไปปลิดผลมะนาวหว่านลงมา ผู้คนข้างล่างก็แย่งชิงกันเกรียวกราว


ต้นกัลปพฤกษ์ (หน้าป้อมกลางรูป) ในงานพระราชพิธีลงสรงสนาน เฉลิมพระปรมาภิไธย สถาปนาสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร พ.ศ. ๒๔๒๙

ประเพณีแบบนี้ทำกันมานานอย่างน้อยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา หรือเมื่อ ๓๐๐-๔๐๐ ปีก่อน มีหลักฐานปรากฏในเอกสารเก่าๆ และวรรณคดีเก่าพอสมควร

ที่สนุกก็คือบางงาน หากมีการแจกของใหญ่ๆ จะเอาของใหญ่ไปโปรยเหมือนมะนาวไม่ได้ ก็ต้องใช้วิธีโปรยฉลากแทน เมื่อได้ฉลากแล้ว คนรับก็เอาฉลากนั้นไปขึ้นรางวัลจากเจ้าหน้าที่

กรณีโปรยทาน ถามว่า ร.5 ทรงเคยโปรยทานด้วยพระหัตถ์ของพระองค์เองบ้างหรือไม่

ตอบว่า เคย และบางครั้งสิ่งที่ทรงโปรยก็น่าสนใจมากจะไว้กล่าวในตอนท้ายสุด อนึ่ง บางครั้งหากจะพระราชทานให้คนมีระดับ ก็พระราชทานให้เลย โดยไม่ต้องโปรย

ในหนังสือจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ภาคที่ 11 (พิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพหม่อมอ่อน รพีพัฒน์ พ.ศ. 2478 ปกสีเขียวแก่) หน้า 97 บันทึกว่าในงานพระเมรุสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เดือน 4 จ.ศ. 1242 (พ.ศ. 2423) ผู้ใดถวายผ้าขาวแล้วต้องมารับต่อเจ้าพนักงานพระคลังมหาสมบัติ ตั้งแจกที่คดพระเมรุหน้าพระที่นั่งทรงธรรม ผู้ที่ถวายของนั้น พระราชทานสิ่งของตอบแทนตามสมควร


งานออกพระเมรุ พระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พ.ศ. 2423 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทรงโปรยสลากและมะนาว และโปรดให้เทวดาทิ้งทานกัลปพฤกษ์

หน้า 101 บันทึกว่ารุ่งขึ้น วันจันทร์เวลาบ่าย 4 โมงเศษ “เสด็จออกพลับพลามวย ทรงโปรยสลากและมะนาวแล้วพระราชทานครอบและมะนาวแก่กงสุลต่างประเทศและชาวต่างประเทศที่ควรจะพระราชทาน โปรดให้เทวดาทิ้งทานต้นกัลปพฤกษ์ทุกต้น มีรำทวน 2 คู่ เวลาค่ำทรงจุดดอกไม้…”

หลังจากวันนี้แล้ว ก็ยังทรงโปรยฉลากพระราชทานครอบ และผลมะนาวแก่แขกต่างประเทศอีกหลายคราว

คำว่าครอบ กล่าวอย่างละความ ไม่บอกว่าครอบอะไรอาจจะหมายถึงของที่ระลึกใส่ในครอบแก้วอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ต้องค้นคว้าหรือถามผู้รู้กันต่อไป

ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ในรัชกาลที่ 5 ฉบับ พ.ศ. 2432 (พิมพ์แจกงานพระราชทานเพลิงศพนางจงกลณี โสภาคย์ พ.ศ. 2514) กล่าวว่าวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2432 งานพระศพพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวรศักดาพิศาล ที่วัดสระเกศ ร.5 ทรงโปรยผลมะนาว 10 ตำลึง มีต้นกัลปพฤกษ์ 4 ต้นๆ ละ 5 ตำลึง

วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2432 ร.5 เสด็จฯ ไปยังพระราชวังบางปะอิน มีการฉลองเทวรูปพระเจ้าปราสาททอง ครั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไพร่หลวงจาก 4 ตำบลคือ บ้านเลนเหนือ บ้านเลนใต้ บ้านรั้วใหญ่ และบ้านท้ายเกาะ ที่ทำหน้าที่เข้าเดือนรับราชการรักษาพระราชวังบางปะอินทั้งผู้ใหญ่และเด็ก “มารับพระราชทานฉลากแจกคนละ 2 ผล” ฉลากนี้มีรางวัลใหญ่ๆ ให้ไปรับมากมาย มีทั้งวัว ควาย ที่นา เลื่อนเกวียน พร้า พลั่ว และอื่นๆ อีกมากมาย

ข่าว ร.๕ ทรงซื้อตั๋วล็อตเตอรี่โปรยทาน จากดรุโณวาท พ.ศ. ๒๔๑๗

ในหนังสือดรุโณวาท เล่มหนึ่งเข้า เป็นดรุโณวาท ฉบับที่ 17 หน้า 177 ออกเมื่อ พ.ศ. 2417 หรือเมื่อ ร.5 ทรงมีพระชนมายุ 21 พรรษา (127 ปีมาแล้วนับจาก พ.ศ. 2544)

หนังสือบอกว่าวันพุธ เดือน 11 ขึ้น 11 ค่ำ อันเป็นวันสิ้นสุดพระราชพิธีคเชนทรัสวสนาน หรือการออกสนามใหญ่ มีแห่ช้างม้าอาวุธไพร่พลใหญ่โต เวลาบ่าย 4 โมงเศษ ร.5 เสด็จออกที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ (ตรงข้ามสวนสราญรมย์)…

“ทรงบริจากพระราชทรัพย์ทรงซื้อตั๋วลอตเตอรี, มาทรงทิ้งทานเปนเงินตราห้าชั่ง เปนตั๋วร้อยใบ, ทรงโปรยพระราชทานแก่ราษฎร, เพื่อจะมิให้คนจนต้องลงเงินของตนซื้อตั๋วนั้นเลย, เพราะมีพระราชประสงค์จะให้เปนประโยชน์, แก่ผู้ซึ่งมิได้ไปลงเงินในการลอตเตอรี, เผื่อจะเปนลาภแก่คนเหล่านั้นบ้าง, ครั้นเวลาบ่ายสี่โมงเสศ พระบาทสมเดจพระเจ้าอยู่หัวจึ่งเสดจออกโปรยทาน…”

จากข่าวทรงโปรยทานด้วยล็อตเตอรี่นี้ เมื่ออ่านดรุโณวาทต่อไปในหน้า 3073-309 ก็จะพบว่าเมื่องานเฉลิมพระชนมพรรษา เดือน 10 หรือเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้น เพิ่งมีการขายล็อตเตอรี่กันเป็นครั้งแรกในประเทศไทย




ขอบ่คุณ ; https://www.silpa-mag.com/culture/article_17890
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม พ.ศ.2564
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ