ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธรรมัสสวนะสามัคคี ธรรมะ ถวายพระราชา ประเพณีหนึ่งเดียวเมืองดอกบัว  (อ่าน 1593 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

บรรยากาศบนวิหารประดิษฐานพระบทม์ ที่วัดกลาง จังหวัดอุบลราชธานี คลาคล่ำไปด้วยอุบาสกอุบาสิกา


ธรรมัสสวนะสามัคคี ธรรมะ ถวายพระราชา ประเพณีหนึ่งเดียวเมืองดอกบัว

…มากมายหนาแน่นกว่าวันพระปกติ แม้จะเป็นวันแรม 5 ค่ำ (เดือน 10) ก็ตาม เพราะวันนี้คิวของวัดกลางเป็นเจ้าภาพ “เทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี” ประเพณีที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานถึง 62 ปีแล้ว และมีเพียงที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ที่ จังหวัดอุบลราชธานี

นอกเหนือจากการเทศน์ในทุกวันพระแล้ว ทุกปีในช่วงเข้าพรรษา วัดในจังหวัดอุบลราชธานีทั้ง 23 วัด ไม่ว่าจะเป็นมหานิกาย หรือธรรมยุต จะเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศน์สามัคคีตลอด 3 เดือน โดยเจ้าอาวาสของวัดนั้นๆ จะเป็นผู้ขึ้นแสดงธรรม เริ่มต้นที่วัดมณีวนาราม ซึ่งเป็นวัดฝ่ายมหานิกาย และปิดท้ายการเทศน์วัดสุดท้ายที่วัดฝ่ายธรรมยุต คือสุปัฏนาราม

ที่น่าสนใจคือ อุบาสกอุบาสิกาลูกวัด จะเวียนกันตามไปฟังเทศน์ฟังธรรมกระทั่งครบวัดสุดท้าย เป็นการแสดงถึงพลังความสามัคคี พลังแห่งศรัทธาในธรรมะของพระพุทธองค์โดยแท้


อุบาสิการุ่นใหญ่จัดดอกไม้ถวาย


หนึ่งเดียวในไทย หนึ่งเดียวในโลก

ที่มาของประเพณีดังกล่าว พระเทพวราจารย์ (ศรีพร วรวิญญู) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าอาวาสวัดมณีวนาราม ในฐานะที่ปรึกษาของคณะกรรมการจัดงานธรรมัสสวนะสามัคคี เล่าว่า ยุคนั้นพระเถระผู้ใหญ่มีความคิดร่วมกับญาติโยม ทายกตามคุ้มวัดต่างๆ เป็นหลัก ปรึกษาหารือกันว่า ในหลวงท่านโปรดเกล้าฯ เสด็จมาเมืองอุบล น่าจะคิดอ่านหาสิ่งที่เป็นสัญลักษณ์ของเมืองอุบล

“พูดกันมาแต่ก่อนแล้วว่าคนเมืองอุบลเป็นเมืองปราชญ์ เป็นนักปราชญ์เพราะอะไร ก็เกิดจากการฟังธรรม ฟังเทศน์ จากพระพุทธศาสนา ท่านเหล่านั้นก็คิดรวบรวมกัน ได้ 4 วัดเป็นเริ่มต้น แล้วก็มีการขยายมาเรื่อยๆ นี่ก็คือจุดเริ่มต้นที่ได้รู้จัก”

ประจวบกับในห้วงเวลานั้น พื้นที่แถบอีสานมีปัญหาภัยคอมมิวนิสต์ “ธรรมะ” จึงเป็นอุบายที่จะน้อมนำจิตใจชาวบ้านกลับคืนมา และเป็นหลักใจให้กับประชาชนในพื้นที่


ชาวบ้านที่มาร่วมจัดดอกไม้ถวายพระ ที่งานเทศน์สามัคคี วัดกลาง จ.อุบลราชธานี


ในหนังสือ “ประวัติธรรมัสสวนะสามัคคี จังหวัดอุบลราชธานี” จัดพิมพ์โดยคณะกรรมการจัดงานธรรมัสสวนะสามัคคี เมื่อปี 2540 บันทึกว่า…

ปี 2498 ทางจังหวัดอุบลราชธานี รับนโยบายมาจากส่วนกลาง หาวิธีการที่จะป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ โดยมอบหมายให้วัดในเมืองอุบลฯ เทศน์สั่งสอนประชาชน จึงเชิญมัคทายกจากวัดต่างๆ ไปประชุมร่วมกันที่วัดมณีวนาราม ซึ่งมีพระเมธีรัตโนบล (กิ่ง มหปฺผลเถระ-สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ พระธรรมเสนานี) เจ้าอาวาสในขณะนั้นเป็นประธาน แล้วที่ประชุมมีมติว่า ให้มีการเทศน์ระหว่างเข้าพรรษา รวมทั้งพระเทพบัณฑิต (ญาณชาโล ญาณคาโรจน์-สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายคือ พระธรรมบัณฑิต) เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหารสมัยนั้น ก็เห็นชอบกับการจัดเทศน์ด้วย

ในปีแรกที่จัดเทศน์ เมื่อปี 2498 นั้น มีเพียง 4 วัดในตัวเมืองอุบลราชธานี ที่เข้าร่วม คือ 1.วัดมณีวนาราม 2.วัดสุปัฏนารามวรวิหาร 3.วัดทุ่งศรีเมือง 4.วัดสุทัศนาราม ซึ่งในปีแรกๆ ที่จัดนั้น นอกจากคณะสงฆ์แล้ว ยังมีพ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี มัคทายกวัดทุ่งศรีเมือง และเทศบาลในขณะนั้นเข้ามาร่วมจัดการด้วย

จนปี 2499 มีวัดต่างๆ ขอเข้าร่วมโครงการดังกล่าว จากเดิม 4 วัด เป็น 18 วัด จนถึงปี 2500 เป็นปีที่ฉลองครบรอบ 25 พุทธศตวรรษ ทางคณะธรรมสวนะสามัคคี จึงเสนอแนวทางในการจัดงานนี้อย่างเป็นระบบมากขึ้นโดยเพิ่มเป็น 21 วัด และปัจจุบันเพิ่มเป็นทั้งสิ้น 23 วัด

พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี


สามัคคี 2 นิกาย

ดังที่ได้กล่าวไว้ในเบื้องต้นว่า เทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี เมื่อแรกเริ่มเกิดขึ้นโดยความร่วมมือของ 4 วัด โดย 2 วัดเป็นวัดมหานิกาย และอีก 2 วัดเป็นวัดธรรมยุต ที่มาของประเด็นนี้เกิดจากความคิดของ พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี มัคทายกวัดทุ่งศรีเมือง ที่เห็นการไม่ลงรอยกันระหว่างสองนิกายในช่วงนั้น จึงวิ่งเต้นประสานงานพระผู้ใหญ่ทั้งสองนิกาย แล้วมาร่วมจัดโครงการนี้ขึ้น

พระเทพวราจารย์ เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี ย้อนความหลังว่า…
“แต่ยุคเดิมที่เกี่ยวกับเรื่องการพระศาสนาก็เป็นเรื่องเก่า ไม่อยากจะกล่าวถึงว่าความขัดแย้งมันก็เคยเกิด เคยมี ความขัดแย้งระหว่างนิกายก็ได้มีการบันทึกไว้ เช่น เรื่องการเดินสวนกันระหว่างทางบิณฑบาตรของ 2 นิกาย วัดแต่ละคุ้มไม่พอใจกันก็โยนบาตรใส่กันก็มี

จากนั้นตั้งแต่มีสิ่งเหล่านี้ได้มาเชื่อม สิ่งต่างๆ เหล่านั้นก็ขาดหายไป กลับกลายเป็นความสมานสามัคคีเกิดขึ้นมาแทน แต่ลึกๆ จะยังมีอยู่หรือไม่เราไม่รู้ สิ่งที่แสดงออกมาภายนอกนั้นมันงดงาม แต่ว่ากิเลสในจิตใจของใครก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง น้ำขุ่นเอาไว้ข้างใน น้ำใสเอาออกมาข้างนอก ไม่นำมาแสดงออก นี่คือเรื่องที่สามารถเชื่อมโยงกันเป็นเรื่องเทศน์ธรรมัสสวนะสามัคคี”

ขณะที่ ผศ.สุระ อุณวงศ์ อดีตอาจารย์วิทยาลัยครูอุบลราชธานี ได้บันทึกไว้ในหนังสือ ประวัติธรรมัสสวนะสามัคคีอุบลราชธานี พิมพ์เมื่อปี 2554 ไว้ว่า

“อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้น คือ พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี ท่านได้เห็นความแตกแยกระหว่าง 2 พระนิกาย ถึงขั้นรุนแรงท่านจึงได้วิ่งเต้นประสานระหว่างพระผู้ใหญ่ 2 นิกาย ให้เข้าใจกันแล้วมาร่วมกันจัดโครงการนี้ขึ้น จึงเห็นว่า พ่อใหญ่โพธิ์ ส่งศรี ได้ทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่ไว้ด้วย ถือว่าเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้อีกท่านหนึ่ง”

 st11 st11 st11

สัมพันธ์แนบแน่น วัด-บ้าน

แน่นอน สิ่งแรกที่เห็นๆ คือ ได้ฟังธรรมะ ที่ช่วยกล่อมเกลาจิตใจ ที่ร้อนรุ่มก็เย็นลง มีสติ และสามารถเห็นปัญหาแก้สิ่งที่คั่งค้างในใจได้เป็นเปลาะๆ

เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า การที่เจ้าอาวาสของแต่ละวัดได้ขึ้นเทศน์นั้น การเทศน์ดีหรือไม่ดีไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ต้องขึ้นเทศน์ เพราะนี่เป็นโอกาสที่อุบาสกอุบาสิกาจะได้ใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่ ผ่านการฟังเทศน์ฟังธรรม

“สิ่งที่เราจะทำในเทศน์ธรรมัสวนะสามัคคีนี้ได้คืออะไร มันเป็นการเผยแผ่ ปลุกกระแส แถมยังได้เป็นการดำเนินรอยตามมันสมองของพระบูรพาจารย์ทั้งหลายของเรา” และว่า

ที่สำคัญ “เป็นโอกาสในการบอกถึงทิศทางของการพัฒนาวัดแต่ละวัด ตัวอย่าง ท่านเจ้าอาวาสวัดเลียบ ท่านเจ้าคุณพระครูอุบลคุณาภรณ์ ท่านจะทำอะไร จะเล่าให้โยมฟังก่อน นี่ล่ะคือสิ่งที่เป็นจุดมุ่งหมายในการเชื่อมโยงระหว่าง วัด กับชาวบ้าน

“เป็นการเสริมสร้างสายสัมพันธ์ต่อกันและกัน ซึ่งตามปกติเรามีฮีตกันอยู่แล้ว ฮีต 12 ทุกทีเราจะมีประเพณีวัฒนธรรมเกี่ยวกับเรื่องงานบุญ แต่ว่าท่านเสริมตรงนี้ ให้โยมคุ้มวัดนี้ได้ไปคุ้มวัดนั้นให้วัดนั้นได้มาวัดนี้ จะได้เป็นการสานสัมพันธ์สานสามัคคีกัน”


พระครูอุบลคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ จ.อุบลราชธานี


คือวัคซีนการครองชีวิต

ทางด้าน พระครูอุบลคุณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเลียบ บอกว่า หลังจากที่ชาวบ้านมาฟังเทศน์ ได้นำเรื่องราวที่ได้รับฟังไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

“คนที่เข้ามาฟังเทศน์ มีหลายรูปแบบ บางคนเข้ามาฟังเพื่อนำไปปฏิบัติก็มี บางคนเข้ามาฟังเพื่อให้รู้ว่ามาครบทั้ง 23 วัด ก็มีอีกจำพวกนึง มาเพื่อรับรู้ยอดเงินบริจาคของแต่ละวัดก็มี แม้กระทั่งการเข้ามาเพื่อรับอาหารจากโรงทานเพียงอย่างเดียวก็มี แต่ในปัจจุบันเริ่มมีคนที่อายุน้อยๆ เข้ามาฟังมากขึ้น เช่น วัยรุ่นหลายๆ คน ที่มีปัญหาก็เข้ามาฟังเทศน์เพื่อหาปัญญาไปแก้ปัญหา มาปรับใจจากร้อนให้เป็นเย็น

ในการเทศน์แต่ละครั้ง ก็มีการปรับเนื้อหาให้เข้ากับยุคสมัย คนสมัยนี้หาที่พึ่งทางใจไม่ค่อยได้ ในการเทศน์โครงการนี้ช่วยคนเหล่านี้ได้เยอะขึ้น บางคนคิดว่าการเข้าวัด ไหว้พระ สวดมนต์ ก็ได้บุญแล้ว”

และว่า ปัจจุบันชาวบ้านให้ความสนใจกันมากขึ้น ทุกวันพระวัดต่างๆ ก็มีกิจทำบุญเป็นปกติอยู่แล้ว ตามพิธีต่างๆ ใครอยู่คุ้มวัดไหนก็จะไปคุ้มวัดนั้น แต่การเทศน์สามัคคีชาวบ้านก็ไม่เลือกวัด จะไปฟังให้ครบทุกวัด รวมตัวกันได้เป็นปึกแผ่นพอสมควร ซึ่งทุกวันนี้ตามหัวเมืองรอบนอกของจังหวัดอุบลก็เริ่มมีการจัดเทศน์เช่นกัน แต่จะพยายามไม่ให้วันและเวลาตรงกันกับรอบใน หากครั้งใดเกิดเหตุหรือภัยธรรมชาติจนชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมฟังเทศน์และร่วมทำบุญได้ จะไม่มีการยกเลิกการเทศน์ใดๆ ทั้งสิ้น

“อยากให้วัดต่างๆ จังหวัดอื่นๆ ได้นำไปปฏิบัติ เพราะเป็นเรื่องที่ดี เรื่องที่น่าส่งเสริม หากไม่สามารถทำได้ตลอดพรรษา ก็ทำเพียง 7 วัน ก็ได้ ทุกครั้งที่ชาวบ้านมาวัดเลียบ อาตมาจะสอนให้รู้จักในเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ให้มีสติครองตน จะไม่สอนให้ไปนิพพาน อยู่กับปัจจุบันให้ดีที่สุด

ดังนั้น การเทศน์สามัคคี ก็ถือได้ว่าเป็นอุบายอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันหน้าเข้าวัดฟังธรรม นุ่งขาว ห่มขาว เมื่อเทศน์จบ คนแยกย้ายกันกลับบ้าน ก็มีความรู้สึกสบายกลับไป”




ขอบคุณภาพและข่าวจาก https://www.matichon.co.th/news/702127
ที่มา : หน้าประชาชื่น มติชนรายวัน
ผู้เขียน : พนิดา สงวนเสรีวานิช-เรื่อง, พงศธร โชติมานนนท์-ภาพ
เผยแพร่ : วันที่ 20 ตุลาคม 2560
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ