ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พุทธวังสะ ๓+๒๕ = ๒๘ พระพุทธเจ้า | ก่อนพุทธวงศ์ ๓ ในพุทธวงศ์ ๒๕ รวม ๒๘ พระองค์  (อ่าน 949 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระพุทธรูปปางประทับยืน พบที่ประเทศปากีสถาน ศิลปะคันธาระสมัยพุทธศตวรรษที่ 5-6


พุทธวังสะ ๓+๒๕ = ๒๘ พระพุทธเจ้า | ก่อนพุทธวงศ์ ๓ ในพุทธวงศ์ ๒๕ รวม ๒๘ พระองค์

คำปรารภ

เมื่อก่อนผู้โพสต์เข้าใจว่า ในพระไตรปิกฏกมีพระพุทธเจ้าเพียง ๒๕ พระองค์ อีก ๓ พระองค์ที่เหลืออยู่ในอรรถกถา รวมเป็น ๒๘ พระองค์ ต่อมาจึงทราบว่า รายพระนามของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น มีครบทั้ง ๒๘ พระองค์ แต่ประวัติของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏใน "พระสูตรที่ว่าด้วยพุทธวงศ์" มีเพียง ๒๕ พระองค์เท่านั้น ส่วนอีกสามพระนามปรากฏอยู่ใน "พุทธปกิณณกกัณฑ์" แต่ไม่มีประวัติ




 :25: :25: :25:

เพื่อความกระจ่างในเรื่องพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ จึงขอนำเอาย่อความ ในเรื่อง พุทธวังสะ(วงค์แห่งพระพุทธเจ้า) ในพระไตรปิฎก ฉบับประชาชน ของ อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ มาแสดงดังนี้

พุทธวังสะ (วงค์แห่งพระพุทธเจ้า)
จาก พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก

ในเรื่องพุทธวงค์นี้ แบ่งออกเป็น ๒๘ หัวข้อใหญ่ คือ

    • หัวข้อแรก ว่าด้วยรตนจงกรม คือที่จงกรมแก้ว อันเป็นที่เสด็จจงกรม(เดินกลับไปมามีสติสัมปชัญญะ)
    • ส่วนหัวข้อที่ ๒ ถึงที่ ๒๖ ว่าด้วยพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกร จนถึงพระโคดมเป็นที่สุด.
    • หัวข้อที่ ๒๗ ว่าด้วยปกิณณกะ เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า.
    • หัวข้อที่ ๒๘ ว่าด้วยการแจกพระสาริกธาตุ ซึ่งจะกล่าวตามลำดับหัวข้อต่อไปนี้โดยสังเขป.

    @@@@@@@

    ๑. รตนจังกมนกัณฑ์ หมวดว่าด้วยที่จงกรมแก้ว เป็นคำฉันท์พรรณนาเหตุการณ์ เมื่อเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ตรัสแสดงธรรมเรื่องเวสสันดรชาดก เสร็จแล้วจึงทรงนิรมิตเรือนแก้วเสด็จจงกรม แสดงปาฏิหาริย์ให้เห็นว่าทรงบำเพ็ญบารมีต่างๆ มาในอดีตกาลอย่างไร.
       (เรื่องนี้อาจถอดความได้ว่า ทรงแสดงธรรมได้ชัดเจนอย่างปาฏิหาริย์ เห็นจริงเห็นจังว่า ได้ทรงบรรลุผลดีมิใช่อย่างลอย ๆ แต่ต้องบำเพ็ญบารมีมาอย่างมากมาย อันแสดงหลักการที่สำคัญแห่งพระพุทธศาสนา ที่ว่ามิได้มีการได้ดีใด ๆ เกิดขึ้นโดยบังเอิญ).

    ๒. ทีปังกรพุทธวงศ์ (ที่ ๑.) วงศ์แห่งพระทีปังกรณ์พุทธเจ้า เล่าเรื่องเมื่อครั้งพระโคดมพุทธเจ้าเป็นสุเมธดาบส ช่วยชาวบ้านทำทางให้พระทีปังกรพุทธเจ้าเสด็จผ่าน มีที่เหลืออยู่อีกหน่อยยังทำทางไม่เสร็จด้วยศรัทธา สุเมธดาบสจึงลงนอนทับโคลนให้พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกเสด็จและเดินเหยียบข้ามไปแล้วได้รับพยากรณ์ว่า จะได้เป็นพระพุทธเจ้าพระนามว่า โคดม. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเฉพาะพระทีปังกรพุทธเจ้า.

    ๓. โกณฑัญญพุทธวงศ์ (ที่ ๒.) วงศ์แห่งพระโกณฑัญญพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้าได้เคยเป็นกษัตริย์พระนามว่า วิชิตาวี ได้ถวายทานแด่พระโกณฑัญญพุทธเจ้า และได้รับพยากรณ์.ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระโกณฑัญญพุทธเจ้า.

    ๔. มังคลพุทธวงศ์ (ที่ ๓.) วงค์แห่งพระมังคลพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้าเป็นพราหมณ์ มีนามว่า สุรุจิ ได้บูชาพระมังคลพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และถวายน้ำนมโคให้ดื่ม ก็ได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระมังคลพุทธเจ้า.

    ๕. สุมนพุทธวงศ์ (ที่ ๔.) วงศ์แห่งพระสุมนพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นอตุลนาคราช ได้ถวายข้าวน้ำและผ้าคู่แด่พระสุมนพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระสุมนพุทธเจ้า.

    ๖. เรวตพุทธวงศ์ (ที่ ๕.) วงศ์แห่งพระเรวตพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์นามว่า อติเทวะ ได้ถึงพระเรวตพุทธเจ้าเป็นสรณะ ได้ชมเชยพระคุณ คือ ศีล สมาธิ ปัญญาของพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น และได้ถวายทานอันยอดเยี่ยม ได้รับพยากรณ์. ต่อจากนั้นแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระเรวตพุทธเจ้า.

    ๗. โสภิตพุทธวงศ์ (ที่ ๖.) วงศ์แห่งพระโสภิตพุทธเจ้า, สมัยนั้นพระโคดมพุทธเจ้า เป็นพราหมณ์นามว่า สุชาตะ ได้ถวายข้าวน้ำแด่พระโสภิตพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวก และได้รับพยากรณ์.
        (ข้อความเกี่ยวกับรายละเอียด เฉพาะพระองค์ของพระพุทธเจ้า ที่กล่าวพระนามนั้น มีกล่าวไว้ทุกแห่ง ต่อไปจะไม่กล่าวถึง เป็นอันทราบกันว่า มีรายละเอียดกล่าวไว้ทุกพระองค์ และพระโคดมพุทธเจ้าได้ทรงบำเพ็ญความดี พร้อมทั้งได้รับพยากรณ์ทุกครั้ง).


    @@@@@@@

    ๘. อโนมทัสสิพุทธวงศ์ (ที่ ๗.) วงศ์แห่งพระอโนมทัสสี พุทธเจ้า.
    ๙. ปทุมพุทธวงศ์ (ที่ ๘.) วงศ์แห่งพระปทุมพุทธเจ้า.
  ๑๐. นารทพุทธวงศ์ (ที่ ๙. ) วงศ์แห่งพระนารทพุทธเจ้า.
  ๑๑. ปทุมุตตรพุทธวงศ์ (ที่ ๑๐.) วงศ์แห่งพระปทุมุตตรพุทธเจ้า.

  ๑๒. สุเมธพุทธวงศ์ (ที่ ๑๑.) วงศ์แห่งพระสุเมธพุทธเจ้า.
  ๑๓. สุชาตพุทธวงศ์ (ที่ ๑๒.) วงศ์แห่งพระสุชาตพุทธเจ้า.
  ๑๔. ปิยทัสสิพุทธวงศ์ (ที่ ๑๓.)  วงศ์แห่งพระปิยทัสสีพุทธเจ้า.
  ๑๕. อัตถทัสสิพุทธวงศ์ (ที่ ๑๔.) วงศ์แห่งพระอัตถทัสสีพุทธเจ้า.
  ๑๖. ธัมมทัสสิพุทธวงศ์ (ที่ ๑๕.) วงศ์แห่งพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า.

  ๑๗. สิทธัตถพุทธวงศ์ (ที่ ๑๖.) วงศ์แห่งพระสิทธัตถพุทธเจ้า. ๖
  ๑๘. ติสสพุทธวงศ์ (ที่ ๑๗.) วงศ์แห่งพระติสสพุทธเจ้า.
  ๑๙. ปุสสพุทธวงศ์ (ที่ ๑๘.) วงศ์แห่งพระปุสสพุทธเจ้า.
  ๒๐. วิปัสสิพุทธวงศ์ (ที่ ๑๙.) วงศ์แห่งพระวิปัสสีพุทธเจ้า.
  ๒๑. สิขิพุทธวงศ์ (ที่ ๒๐.) วงศ์แห่งพระสิขีพุทธเจ้า.

  ๒๒. เวสสภูพุทธวงศ์ (ที่ ๒๑.) วงศ์แห่งพระเวสสภูพุทธเจ้า.
  ๒๓. กุกกุสันธพุทธวงศ์ (ที่ ๒๒.) วงศ์แห่งพระกุกกุสันธพุทธเจ้า(พระนามนี้ในที่อื่นใช้คำว่ากกุสันธะ).
  ๒๔. โกนาคมนพุทธวงศ์ (ที่ ๒๓.) วงศ์แห่งพระโกนาคมนพุทธเจ้า.
  ๒๕. กัสสปพุทธวงศ์ (ที่ ๒๔.) วงศ์แห่งพระกัสสปพุทธเจ้า.
  ๒๖. โคตมพุทธวงศ์ (ที่ ๒๕.) วงศ์แห่งพระโคดมพุทธเจ้า. มีข้อความแสดงธรรมการประชุมพระสาวก พระนามพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา และพระนามพระสาวกที่สำคัญ.

  @@@@@@@

  ๒๗. พุทธปกิณณกกัณฑ์ หมวดเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแสดงว่าในกัปป์ไหน พระพุทธเจ้าพระองค์ไหน ทรงอุบัติบ้าง ในตอนต้นได้แสดงว่า
       ในกัปป์เดียวกับ "พระทีปังกรพุทธเจ้า"(พระองค์ที่ ๑ ในพุทธวงศ์)นั้น ยังมีพระพุทธเจ้าอีก ๓ พระองค์(รวมเป็น ๔) คือ พระตัณหังกร, พระเมธังกร, พระสรณังกร ต่อจากนั้น จึงถึงพระทีปังกรพุทธเจ้า.
       (อันแสดงว่า ทั้งสามพระองค์นั้น มีมาก่อนพระองค์แรกในพุทธวงศ์ ๒๕ พระองค์ ซึ่งความจริงตามหลักพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าในอดีตมีมากนับจำนวนไม่ได้ ในเล่มนี้แสดงพระนามไว้ ๒๘ พระองค์).

  ๒๘. ธาตุภาชนียกถา แสดงว่าเมื่อพระผู้มีพระภาคปรินิพพานแล้วได้มีการแจกพระธาตุไปไว้ในที่ต่าง ๆ คือ
        ๑. ในนครของพระเจ้าอชาตศัตรุ (ราชคฤห์)
        ๒. ในกรุงเวสาลี
        ๓. ในกรุงกบิลพัสดุ์
        ๔. ในแคว้นอัลลกัปปะ
        ๕. ในรามคาม
        ๖. ในแคว้นเวฏฐทีปกะ
        ๗. ในกรุงปาวาแห่งกษัตริย์มัลละ
        ๘. ในกรุงกุสินารา. (รวมเป็นพระเจดีย์บรรจุพระอัฏฐิ ๘ แห่ง).

โทณพราหมณ์ได้นำทะนานสำหรับตักแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปบรรจุในสตูป เรียกว่า ตุมพเจดีย์(พระเจดีย์ทะนาน). โมริยกษัตริย์ได้ขอรับพระอังคาร(เถ้าถ่าน) ไปบรรจุเป็นอังคารสตูป. นอกจากนั้นยังแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับพระเขี้ยวแก้ว พระทนต์ พระเกศ พระโลมา และพระพุทธบริขารต่างๆ .


                           จบพระพุทธวงศ์



ขอบคุณที่มา : http://www.larnbuddhism.com/tripitaka/prasuttanta/k25.html
ขอบคุณภาพจาก : https://upload.wikimedia.org/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 12, 2023, 11:10:16 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25:

พระพุทธเจ้า
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันคือ "พระโคตมพุทธเจ้า" ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์ [1] ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาหลังจากตำนานของเถรวาท

ผู้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เมื่อบารมีเต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีลักษณะพิเศษตรงกัน คือ [2] เป็นมนุษย์เพศชายเกิดในวรรณะกษัตริย์หรือพราหมณ์ พระวรกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักขณะ ก่อนออกผนวชจะอภิเษกสมรสมีพระโอรสพระองค์หนึ่ง หลังจากนั้นทรงพบเทวทูตทำให้ตัดสินใจออกผนวช วันออกผนวชจะตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ

คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าประสูติ 623 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล


@@@@@@@

ความหมายและคุณลักษณะ

ในพระพุทธศาสนา พุทธะ (บาลี : พุทฺธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน") หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้

ธชัคคสูตร กล่าวว่าพระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ 9 ประการ [3] เรียกว่า พุทธคุณ 9 ได้แก่

    • อรหํ หมายถึง ผู้ปราศจากกิเลส
    • สมฺมาสมฺพุทฺโธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์
    • วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หมายถึง ผู้มีความรู้และความประพฤติถึงพร้อม
    • สุคโต หมายถึง ผู้เสด็จไปด้วยดี
    • โลกวิทู หมายถึง ผุ้รู้แจ้งโลก
    • อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ หมายถึง ผู้ฝึกคนได้ดี ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
    • สตฺถา เทวมนุสฺสานํ หมายถึง ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
    • พุทฺโธ หมายถึง ผู้ตื่น
    • ภควา หมายถึง ผู้มีภคธรรม

พระสมัญญา

มีหลายคำดังจะกล่าวต่อไปนี้

    • พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่กำลังบำเพ็ญ บารมี 10 (โดยยิ่งยวด 30 ทัศ) คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
    • อังคีรส หมายถึง ท่านผู้มีรัศมีแผ่ออกมาจากพระกาย
    • มหาบุรุษ เป็นคำที่ใช้เรียก พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อีกความหมายหนึ่งคือ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่
    • ตถาคต ผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองมี
    • ธรรมราชา หมายถึง ท่านผู้เป็นราชาแห่งธรรม
    • ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร หมายถึง ท่านผู้เป็นใหญ่โดยเป็นเจ้าของธรรม
    • ธรรมสามี หมายถึง ท่านผู้เป็นเจ้าของธรรม
    • ธรรมิศราธิบดี หมายถึง ท่านผู้เป็นอธิปดีในธรรม เป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
    • ภควา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
    • พระศาสดา พระบรมศาสดา พระบรมครู หมายถึง ท่านผู้ทรงสอนชนทั้งปวง
    • พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
    • มหาสมณะ
    • พระโลกนาถ หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลก
    • สยมภู หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้ได้โดยตนเอง ไม่มีใครมาสั่งสอน
    • สัพพัญญู หมายถึง ท่านผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
    • พระสุคต หมายถึง ท่านผู้เสด็จไปดีแล้ว


ในคติเถรวาท

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวว่า ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว 4 พระองค์ พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 4 และพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดไปคือพระศรีอริยเมตไตรย ในทัศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแผ่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใด ๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่าพระโพธิสัตว์)

@@@@@@@

การประสูติของพระพุทธเจ้า

พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะจุติจะทรงพิจารณา 5 อย่าง เรียกว่า มหาวิโลกนะ 5 [4] คือ

1. กาล (อายุขัยของมนุษย์)

อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง 10 ปีถึง 1 อสงไขยปี (1 × 10140 ปี) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง 100-100,000 ปี ถ้าหากน้อยกว่า 100 ปีมนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกินกว่าจะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน 100,000 ปีมนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตายเพราะอายุยืนความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ 4 หรือธรรมใดๆ

2. ทวีป (ทวีปที่จะลงมาประสูติ)

พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ

สาเหตุอีกอย่างที่เลือกลงมามนุษยภูมิเพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ 4 มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์

3. ประเทศ (ประเทศที่จะประสูติ)

พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมากมาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้

4. ตระกูล(ตระกูลที่จะประสูติ)

พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง วรรณะกษัตริย์ กับ วรรณะพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน 4 อสงไขยแสนมหากัปล่าสุดนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระเมตไตรยะ) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์

พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา 7 รุ่นแล้ว ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้วลงมาจุติแล้วเป็นพระพุทธเจ้าก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูลกษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์

5. มารดา(มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)

พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกผู้หญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรมได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และทรงกำหนดอายุของพระมารดาว่ามีประมาณเท่าใด เพราะพระครรภ์ที่ประทับแห่งพระโพธิสัตว์ผู้จะได้เสด็จอุบัติตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบประดุจพระคันธกุฎีแห่งพระบรมศาสดา ไม่สมควรแก่ผู้อื่น

พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานเป็นพระพุทธมารดามาแต่อดีตกาล เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ 7 วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า


พระพุทธรูปปางประทับยืน พบที่ประเทศปากีสถาน ศิลปะคันธาระสมัยพุทธศตวรรษที่ 5-6

ประเภทของพระพุทธเจ้า

ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 2 ประเภท [5] คือ

    • พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศพระศาสนา
    • พระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ได้ประกาศพระศาสนา

ต่อมาในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาของอังคุตตรนิกาย พระพุทธโฆสะได้กล่าวถึงพุทธะทั้งหมด 4 ประเภท อีกประเภท 2 ประเภทที่เพิ่มเข้ามา [6] คือ

    • จตุสัจจพุทธเจ้า คือพระอรหันตสาวก
    • สุตพุทธเจ้า คือผู้เป็นพหูสูต ได้ศึกษาพระพุทธพจน์มามาก

ประเภทของพระพุทธเจ้า โดยการบำเพ็ญบุญบารมี

นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ามีอยู่ 3 ประเภทตามกำลังบุญบารมีที่ได้สร้างสั่งสมมาคือ

    • พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ปัญญา” อย่างแก่กล้าแต่มีพระศรัทธาน้อย จึงใช้เวลาสั่งสมบารมีน้อยกว่าพระพุทธเจ้าอีกสองประเภท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 20 อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระโคตมพุทธเจ้า

    • พระสัทธาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ศรัทธา” อย่างแก่กล้ายิ่งนัก แต่มีพระปัญญาปานกลาง จึงใช้เวลาสั่งสมพระบารมีอย่างปานกลาง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 40 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระกัสสปพุทธเจ้า

    • พระวิริยาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ความเพียร” อย่างแก่กล้า ทรงมีพระวิริยะยิ่งนัก แต่ทรงมีพระปัญญาน้อยกว่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมียาวนานมากกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นเป็นเวลา 80 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระศรีอริยเมตไตรย

พระพุทธเจ้าในอดีต

ดูบทความหลักที่ : รายพระนามพระพุทธเจ้าในอดีต

พระพุทธเจ้าในอนาคต

ในคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคต 10 พระองค์ที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้ [7]

    ๑. พระเมตไตรยพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระอชิตภิกษุ (เป็นคนละองค์กับพระอชิตเถระที่ปรากฏในพระไตรปิฎก) ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก

    ๒. พระรามสัมพุทธเจ้า ในอดีตคือพระราม ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์ พระชนมายุ 9 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก

    ๓. พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 5 หมื่นพรรษา พระกายสูง 16 ศอก

    ๔. พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือท้าววสวัตตี ตรัสรู้ที่ไม้สาละใหญ่ พระชนมายุ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 80 ศอก

    ๕. พระนารทสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระราหู ตรัสรู้ที่ไม้จันทน์ พระชนมายุ 1 หมื่นพรรษา พระกายสูง 20 ศอก

    ๖. พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือโสณพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้ดีปลีใหญ่หรือไม้เลียบ พระชนมายุ 5 พันพรรษา พระกายสูง 60 ศอก

    ๗. พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือสุภพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้จำปา พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก

    ๘. พระนรสีหสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือโตเทยยพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้แคฝอย พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 60 ศอก

    ๙. พระติสสสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างนาฬาคีรี ตรัสรู้ที่ไม้ไทร พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก

   ๑๐. พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างปาลิไลยกะ ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 60 ศอก

@@@@@@@

พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน

นิกายมหายานยอมรับพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาททั้งหมดและยังสร้างพระพุทธเจ้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และมีสถานะเหมือนเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นิกายมหายานเชื่อว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ พุทธเกษตรซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าตามคติมหายานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

    1. อาทิพุทธะ ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติมาพร้อมกับโลกและประทับอยู่กับโลกเป็นนิรันดร์ มีบทบาทคล้ายพระพรหมในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล

    2. พระมานุสสพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อวตารมาจากอาทิพุทธะมาเกิดในโลกมนุษย์และบำเพ็ญเพียรในฐานะพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อปรินิพพานแล้วจะไปอยู่กับอาทิพุทธะ คล้ายกับคติของศาสนาฮินดูที่เมื่อทำความดีถึงขั้นสูงสุดจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาพรหม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจจุบัน ทางมหายานเรียกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระมานุสสพุทธะด้วยเช่นกัน

    3. พระธยานิพุทธะ เป็นพุทธะที่อวตารมาจากอาทิพุทธะเช่นกันแต่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌาน (ธยาน) ของอาทิพุทธะไม่ได้ผ่านการบำเพ็ญเพียรในโลกมนุษย์ พุทธะเหล่านี้ประทับบนสวรรค์ ในสภาวะกายทิพย์ มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่มองเห็นได้

    4. พระพุทธเจ้าอื่นๆ เช่น พระสัทธรรมวิทยาตถาคต พระไภษัชยคุรุทั้ง 7 พระสหัสประภาราชาศานติสถิตยตตถาคต พระประภูตรัตนะ


จำนวนของพระพุทธเจ้า

ในคัมภีร์ของทางมหายานนั้นได้ระบุนามของพระพุทธเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธเจ้า 35 พระองค์ พระพุทธเจ้า 53 พระองค์ และที่มากที่สุดคือพระพุทธเจ้า 3,000 พระองค์ โดยแบ่งเป็น [8]

    • พระพุทธเจ้าในกัปอดีต ซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อดีตสมัยอลังการกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระปุณฑริกประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรก จนถึงพระเวศภูพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย

    • พระพุทธเจ้าในกัปปัจจุบัน ซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์ปัจจุบันสมัยภัทรกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นองค์แรก จนถึงพระรุจิพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย ซึ่งพระรุจิพุทธเจ้านี้ปัจจุบันคือพระเวทโพธิสัตว์

    • พระพุทธเจ้าในกัปอนาคต ซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อนาคตสมัยนักษัตรกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระสูรยประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรก จนถึงพระสุเมรุลักษณ์พุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย





อ้างอิง :-
[1] พุทธปกิรณกกัณฑ์, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๑ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๕ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
[2] ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรมศัพท์ศาสนาสากล อังกฤษ-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน, พิมพ์ครั้งที่ 3, ราชบัณฑิตยสถาน, 2552, หน้า 111
[3] ธชัคคสูตรที่ 3, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
[4] พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต), มหาวิโลกนะ, พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์
[5] มหาปรินิพพานสูตร, พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค
[6] มโนรถปูรณี, อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอกบุคคลบาลี อรรถกถาสูตรที่ ๕
[7] ประชุมพงศาวดารฉบับราษฏร์ ภาค 3 อนาคตวงศ์. กทม. อมรินทร์วิชาการ. 2542 และ ดู : Linkเก็บถาวร 2008-06-13 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
[8] ภิกษุจีนวิศวภัทร. พระพุทธเจ้าและพระธรรมสูตรฝ่ายมหายาน. กทม. หมื่นคุณธรรมสถาน.2549
• ประสงค์ แสนบุราณ. พระพุทธศาสนามหายาน. กทม. โอเดียนสโตร์. 2548
• พระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต). "พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์".

Thank to : https://th.wikipedia.org/wiki/พระพุทธเจ้า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 13, 2023, 06:00:29 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

รายพระนาม "พระพุทธเจ้า"
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

พระพุทธเจ้าที่ล่วงมาแล้วหลายพระองค์ มีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน อุปมาว่าจำนวนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ได้ล่วงไปแล้วมีจำนวนมากกว่าเม็ดทรายในมหาสมุทรทั้งสี่ พระพุทธเจ้าตรัสว่าเรื่องพุทธวิสัยเป็นอจินไตย คือเป็นสิ่งที่ไม่อาจเข้าใจได้ด้วยตรรกะสามัญของปุถุชน

ในพุทธวงศ์ หมวดพุทธปกิณณกกัณฑ์ซึ่งว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า [1] กล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 28 พระองค์ โดยเป็นพระพุทธเจ้าก่อนพุทธวงศ์ 3 พระองค์ และในพุทธวงศ์ 25 พระองค์ รวมเป็น 28 พระองค์ดังนี้

    1. พระตัณหังกรพุทธเจ้า
    2. พระเมธังกรพุทธเจ้า
    3. พระสรณังกรพุทธเจ้า
    4. พระทีปังกรพุทธเจ้า
    5. พระโกณฑัญญพุทธเจ้า

    6. พระมังคลพุทธเจ้า
    7. พระสุมนพุทธเจ้า
    8. พระเรวตพุทธเจ้า
    9. พระโสภิตพุทธเจ้า
  10. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า

  11. พระปทุมพุทธเจ้า
  12. พระนารทพุทธเจ้า
  13. พระปทุมุตตรพุทธเจ้า
  14. พระสุเมธพุทธเจ้า
  15. พระสุชาตพุทธเจ้า

  16. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า
  17. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
  18. พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า
  19. พระสิทธัตถพุทธเจ้า
  20. พระติสสพุทธเจ้า

  21. พระปุสสพุทธเจ้า
  22. พระวิปัสสีพุทธเจ้า
  23. พระสิขีพุทธเจ้า
  24. พระเวสสภูพุทธเจ้า
  25. พระกกุสันธพุทธเจ้า

  26. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
  27. พระกัสสปพุทธเจ้า
  28. พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน)


@@@@@@@

ซึ่ง 28 พระองค์นี้ 3 พระองค์แรก คือ พระตัณหังกรพุทธเจ้า พระเมธังกรพุทธเจ้า และ พระสรณังกรพุทธเจ้า ไม่ได้พยากรณ์แก่พระโคตมพุทธเจ้าสมัยยังเป็นพระโพธิสัตว์ แต่เพิ่งจะได้รับการพยากรณ์ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรกจากพระทีปังกรพุทธเจ้า จึงนับพระทีปังกรเป็นพระองค์ที่ 1 ในพุทธวงศ์

หมายเหตุ :-

พระโคดมพุทธเจ้าในอดีตได้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกเมื่อ 20 อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนกัปที่แล้วโดยในครั้งนั้นพระองค์เห็นพระธุดงค์อยู่ในป่าแล้วศรัทธาถวายผ้าเก่า

ดังที่พระองค์ตรัสเล่าไว้เองใน พุทธาปทานชื่อ ปุพพกรรมปิโลติ (พระไตรปิฎกเล่มที่ 32) [2] ไม่ใช่ปรารถนาครั้งแรกตอนแบกมารดาว่ายข้ามแม่น้ำอย่างที่เข้าใจกันตามข้อมูลในหนังสือมุนีนาถทีปนี [3]

และหลังจากที่ได้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกแล้วก็บำเพ็ญบารมีอย่างต่อเนื่องจนได้มาพบกับพระทีปังกรพุทธเจ้าแล้วได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างแน่นอน

@@@@@@@

หากแบ่งตามกัป โดยการนับอสงไขยกัปในที่นี้ จะนับอสงไขยกัปแรกโดยเริ่มนับจากช่วงเวลาที่ อดีตชาติของพระโคตมสัมมาสัมพุทธเจ้า เริ่มสร้างบารมี โดยการอธิษฐานในใจว่าปรารถนาจะเป็นพระสัมมาพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก จะมีพระพุทธเจ้าในอดีตตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกดังต่อไปนี้

• กัปหนึ่งในอสงไขยกัปที่ 1-16
      1. พระสัพพาภิภูพุทธเจ้า (สพฺพาภิภุสฺส พุทฺธสฺส) [4]

• สี่อสงไขยแสนกัปที่แล้วเป็นสารมณฑกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ ได้แก่ [5][6]
      1. พระตัณหังกรพุทธเจ้า
      2. พระเมธังกรพุทธเจ้า
      3. พระสรณังกรพุทธเจ้า
      4. พระทีปังกรพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์แรกที่พยากรณ์ว่า พระโคดมพุทธเจ้าครั้งเป็นพระโพธิสัตว์จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า)

• ต่อมาอีก 1 อสงไขย (คือสามอสงไขยแสนกัปที่แล้ว) เป็นสารกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์ คือ
      1. พระโกณฑัญญพุทธเจ้า

• ต่อมาอีก 1 อสงไขย (คือสองอสงไขยแสนกัปที่แล้ว) เป็นสารมณฑกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 4 พระองค์
      1. พระมังคลพุทธเจ้า
      2. พระสุมนพุทธเจ้า
      3. พระเรวตพุทธเจ้า
      4. พระโสภิตพุทธเจ้า

• ต่อมาอีก 1 อสงไขย (คือหนึ่งอสงไขยแสนกัปที่แล้ว) เป็นวรกัป คือ กัปที่มีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์
      1. พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า
      2. พระปทุมพุทธเจ้า
      3. พระนารทพุทธเจ้า


@@@@@@@

• เมื่อแสนกัปที่แล้ว [7][8]

  ๑. กัปหนึ่งมีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์. บางตำราว่าเป็นมัณฑกัป บางตำราก็ว่าเป็นสารกัป.
      1. พระปทุมุตรพุทธเจ้า

  ๒. สูญกัป (กัปที่ไม่มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น) 30,000 กัป

  ๓. ต่อมาอีก 7 หมื่นกัป (30,000 กัปที่แล้ว) จึงเป็นมัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
      1. พระสุเมธพุทธเจ้า
      2. พระสุชาตพุทธเจ้า

  ๔. ต่อมาอีก 1 กัป (1,800 กัปที่แล้ว) เป็นวรกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 3 พระองค์
      1. พระปิยทัสสีพุทธเจ้า
      2. พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า
      3. พระธรรมทัสสีพุทธเจ้า

  ๕. ต่อมาอีก 1,706 กัป (94 กัปที่แล้ว) เป็นสารกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์
      1. พระสิทธัตถพุทธเจ้า

  ๖. ต่อมาอีก 1 กัป (92 กัปที่แล้ว) เป็นมัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
      1. พระติสสพุทธเจ้า
      2. พระปุสสพุทธเจ้า

  ๗. ต่อมาอีก 1 กัป (91 กัปที่แล้ว) เป็นสารกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 1 พระองค์
      1. พระวิปัสสีพุทธเจ้า

  ๘. ต่อมาอีก 59 กัป (31 กัปที่แล้ว) เป็นมัณฑกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 2 พระองค์
      1. พระสิขีพุทธเจ้า
      2. พระเวสสภูพุทธเจ้า

  ๙. ต่อมาอีก 29 กัป เป็นกัปปัจจุบัน เป็น ภัทรกัป คือ มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์
      1. พระกกุสันธพุทธเจ้า
      2. พระโกนาคมนพุทธเจ้า
      3. พระกัสสปพุทธเจ้า
      4. พระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน 80 ปีก่อนพุทธกาล)
      5. พระเมตไตยพุทธเจ้า (อนาคตอีกหลายล้านปีนับจากที่พระศรีศากยมุนีโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้าปรินิพพาน)





อ้างอิง :-
[1] http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=33&A=8563&Z=8606
[2] http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=7849&Z=7924
[3] "มุนีนาถทีปนี: ศาสตร์ว่าด้วยการเป็นพระพุทธเจ้า". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-04-18. สืบค้นเมื่อ 2012-04-15.
[4] พระไตรปิฎกบาลีฉบับสยามรัฐ เล่มที่ 32 สืบค้นจาก http://www.thammapedia.com/dhamma/tripitaka/tri_verpali/32.pdf
[5] พระไตรปิฎกฉบับประชาชน อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ
[6] http://reocities.com/ss12345_th/poti/P204.html[ลิงก์เสีย]
[7] พระไตรปิฎกฉบับประชาชน อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ
[8] http://reocities.com/ss12345_th/poti/P205.html[ลิงก์เสีย]

Thank to : https://th.wikipedia.org/wiki/รายพระนามพระพุทธเจ้า
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 13, 2023, 06:04:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




๒๖. พุทธปกิณณกกัณฑ์ ว่าด้วยเรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า

[๑] ในกัปอันประมาณมิได้นับจากภัทรกัปนี้ไป ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำวิเศษ ๔ พระองค์ คือ
          พระตัณหังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
          พระเมธังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
          พระสรณังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
          และพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
      พระชินเจ้าเหล่านั้น เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน

[๒] สมัยต่อจากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระะนามว่า โกณฑัญญะ ทรงเป็นผู้นำพระองค์เดียวเสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก

[๓] อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคทีปังกร กับ พระศาสดาพระนามว่าโกณฑัญญะ จะคำนวณนับมิได้

[๔] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่า โกณฑัญญะ ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า มังคละ ทรงเป็นผู้นำ แม้อันตรกัปของพระโกณฑัญญะ กับ พระมังคลพุทธเจ้านั้น จะคำนวณนับมิได้

[๕] พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ
         พระนามว่า มังคละ ๑
         พระนามว่า สุมนะ ๑
         พระนามว่า เรวตะ ๑
         พระนามว่า โสภิตะ ๑
     ผู้เป็นมุนี ผู้มีพระจักษุ มีพระรัศมีสว่างไสว ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน

@@@@@@@

[๖] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่า โสภิตะ ได้มีพระมหามุนีพระนามว่า อโนมทัสสี แม้อันตรกัปของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโสภิตะ กับ พระพุทธเจ้าพระนามว่าอโนมทัสสี จะคำนวณนับมิได้

[๗] พระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ
         พระนามว่า อโนมทัสสี ๑
         พระนามว่า ปทุมะ ๑
         พระนามว่า นารทะ ๑
     ผู้ทรงเป็นผู้นำผู้เป็นมุนี ทำที่สุดความมืดได้แม้เหล่านั้น ก็เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน

[๘] สมัยต่อจากพระนารทสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้มีพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ทรงเป็นผู้นำ เสด็จอุบัติขึ้นในกัปหนึ่ง ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก

[๙] แม้อันตรกัปของพระผู้มีพระภาคพระนามว่านารทะ กับ พระศาสดาพระนามว่าปทุมุตตระ จะคำนวณนับมิได้
             
[๑๐] ในกัปที่ ๑๐๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) มีพระมหามุนีพระองค์เดียว คือ พระปทุมุตตระ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ผู้สมควรรับเครื่องบูชา




[๑๑] ในกัปที่ ๓๐,๐๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือ
            พระสุเมธะ ๑
            พระสุชาตะ ๑

[๑๒] ในกัปที่ ๑,๘๐๐ (นับจากกัปนี้ไป) ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์ คือ
            พระปิยทัสสี ๑
            พระอัตถทัสสี ๑
            พระธัมมทัสสี ๑
        ล้วนเป็นผู้นำ

[๑๓] ต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่าสุชาตะ ได้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นผู้ไม่มีบุคคลเปรียบได้ในโลก เสด็จอุบัติขึ้นในกัปเดียวกัน

[๑๔] ในกัปที่ ๙๔ นับจากกัปนี้ไป ได้มีพระมหามุนีพระองค์เดียว คือ พระสิทธัตถะ ผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงเป็นดังศัลยแพทย์ผู้ยอดเยี่ยม

[๑๕] ในกัปที่ ๙๒ นับจากกัปนี้ไป มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือ
            พระติสสะ ๑
            พระปุสสะ ๑
       ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ

@@@@@@@

[๑๖] ในกัปที่ ๙๑ นับจากกัปนี้ไป มีพระพุทธเจ้าทรงนามว่าวิปัสสี ทรงเป็นผู้นำสัตว์โลก พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงมีพระกรุณา ทรงเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากเครื่องพันธนาการ

[๑๗] ในกัปที่ ๓๑ นับจากกัปนี้ไป ได้มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้นำ ๒ พระองค์ คือ
            พระสิขี ๑
            พระเวสสภู ๑
       ผู้ไม่มีบุคคลเสมอ ไม่มีบุคคลเปรียบ

[๑๘] ในภัทรกัปนี้ ได้มีพระพุทธเจ้าผู้ทรงเป็นผู้นำ ๓ พระองค์ คือ
            พระกกุสันธะ ๑
            พระโกนาคมนะ ๑
            พระกัสสปะ ๑
        ผู้ทรงเป็นผู้นำ

[๑๙] บัดนี้ เราเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า เมตไตรย จักมี(ในอนาคต) แม้พระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ ก็ทรงเป็นนักปราชญ์อนุเคราะห์สัตว์โลก

[๒๐] บรรดาพระพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระธรรมราชาเหล่านั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหล่านั้นพร้อมด้วยสาวก จักตรัสบอกมรรคนั้นแก่ผู้อื่นหลายโกฏิ แล้วจักเสด็จดับขันธปรินิพพาน ฉะนี้แล


                         พุทธปกิณณกกัณฑ์ที่ ๒๖ จบ




ที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๓ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๕ [ฉบับมหาจุฬาฯ] ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๒ -พุทธวังสะ-จริยาปิฎก
Thank to : https://84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=33&siri=218
ขอบคุณภาพจาก pinterest
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



เรื่องเบ็ดเตล็ดของพุทธวงศ์
             
คาถา ๑๘ คาถามีว่า อปริเมยฺยิโต กปฺเป จตุโร อาสุ ํ วินายกา เป็นอาทิ พึงทราบว่าเป็นนิคมคาถาที่พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายวางไว้. ในคาถาที่เหลือทุกแห่ง คำชัดแล้วทั้งนั้นแล.

เวมัตตกถา      
         
พระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์ที่ชี้แจงไว้ในพุทธวงศ์ทั้งสิ้นนี้ พึงทราบว่า มีเวมัตตะ คือ ความแตกต่างกัน ๘ อย่าง คือ อายุเวมัตตะ ปมาณเวมัตตะ กุลเวมัตตะ ปธานเวมัตตะ รัศมีเวมัตตะ ยานเวมัตตะ โพธิเวมัตตะ บัลลังกเวมัตตะ.


@@@@@@@

๑. อายุเวมัตตะ          
     
บรรดาเวมัตตะเหล่านั้น ชื่อว่าอายุเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระชนมายุ ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์มีพระชนมายุยืน บางพระองค์มีพระชนมายุสั้น.

     - จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้า ๙ พระองค์เหล่านี้ คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระ พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระสิทธัตถะ พระติสสะ มีพระชนมายุแสนปี.
     - พระพุทธเจ้า ๘ พระองค์เหล่านี้คือ พระมังคละ พระสุมนะ พระโสภิตะ พระนารทะ พระสุเมธะ พระสุชาตะ พระปิยทัสสี พระปุสสะ มีพระชนมายุเก้าหมื่นปี.
     - พระพุทธเจ้า ๒ พระองค์คือ พระเรวตะ พระเวสสภู มีพระชนมายุหกหมื่นปี.           
     - พระผู้มีพระภาคเจ้าวิปัสสี มีพระชนมายุแปดหมื่นปี.
     - พระพุทธเจ้า ๔ พระองค์เหล่านี้ คือ พระสิขี พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะ พระกัสสปะ มีพระชนมายุเจ็ดหมื่นปี, สี่หมื่นปี, สามหมื่นปี, สองหมื่นปี ตามลำดับ.
     - ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา มีพระชนมายุร้อยปี.

ประมาณอายุ ไม่มีประมาณ โดยยุคของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ผู้ประกอบด้วยกรรมที่ทำให้อายุยืน นี้ชื่อว่า อายุเวมัตตะ ของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์.

๒. ปมาณเวมัตตะ
             
ที่ชื่อว่าปมาณเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งประมาณ ได้แก่พระพุทธเจ้าบางพระองค์สูง บางพระองค์ต่ำ.           
     • จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าคือพระทีปังกร พระเรวตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสี พระวิปัสสี มีพระสรีระสูง ๘๐ ศอก.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระนารทะ พระสุเมธะ มีพระวรกายสูง ๘๘ ศอก.
     • พระสุมนพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง ๙๐ ศอก.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระ พระปุสสะ มีพระสรีระสูง ๕๘ ศอก
     • พระสุชาตพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง ๕๐ ศอก.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระสิทธัตถะ พระติสสะและพระเวสสภู มีพระวรกายสูง ๖๐ ศอก.
     • พระสิขีพุทธเจ้ามีพระสรีระสูง ๗๐ ศอก.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะและพระกัสสปะ พระวรกายสูง ๔๐ ศอก ๓๐ ศอก ๒๐ ศอกตามลำดับ.
     • ส่วนพระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา สูง ๑๘ ศอก.
นี้ชื่อว่าปมาณเวมัตตะ ของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์.

๓. กุลเวมัตตะ
             
ที่ชื่อว่ากุลเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งตระกูล ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์เกิดในตระกูลกษัตริย์ บางพระองค์เกิดในตระกูลพราหมณ์.

     - จริงอย่างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมนะและพระกัสสปะ เกิดในตระกูลพราหมณ์.
     - พระพุทธเจ้า ๒๒ พระองค์ที่เหลือ มีพระทีปังกรพุทธเจ้าเป็นต้น มีพระโคตมพุทธเจ้าเป็นที่สุด เกิดในตระกูลกษัตริย์ทั้งนั้น.

นี้ชื่อว่ากุลเวมัตตะ ของพระพุทธเจ้า ๒๕ พระองค์.

๔. ปธานเวมัตตะ
               
ที่ชื่อว่าปธานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งการตั้งความเพียร ได้แก่
     • พระพุทธเจ้า คือ พระทีปังกร พระโกณฑัญญะ พระสุมนะ พระอโนมทัสสี พระสุชาตะ พระสิทธัตถะและพระกกุสันธะ ทรงบำเพ็ญเพียร ๑๐ เดือน.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระมังคละ พระสุเมธะ พระติสสะและพระสิขี ทรงบำเพ็ญเพียร ๘ เดือน.
     • พระเรวตพุทธเจ้า ๗ เดือน.
     • พระโสภิตพุทธเจ้า ๔ เดือน.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระปทุมะ พระอัตถทัสสีและพระวิปัสสี ครึ่งเดือน.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระนารทะ พระปทุมุตตระ พระธัมมทัสสีและพระกัสสปะ ๗ วัน.
     • พระพุทธเจ้า คือ พระปิยทัสสี พระปุสสะ พระเวสสภูและพระโกนาคมนะ ๖ เดือน.
     • พระพุทธเจ้าของเราทรงบำเพ็ญเพียร ๖ ปี.
นี้ชื่อว่าปธานเวมัตตะ.

๕. รัศมีเวมัตตะ     
         
ที่ชื่อว่ารัศมีเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระรัศมี. ได้ยินว่า
     - พระมังคลสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระรัศมีแห่งพระสรีระ แผ่ไปในหมื่นโลกธาตุ.
     - พระปทุมุตตรพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๒ โยชน์.
     - พระวิปัสสีพุทธเจ้า แผ่ไป ๗ โยชน์.
     - พระสิขีพุทธเจ้า แผ่ไป ๓ โยชน์.
     - พระกกุสันธพุทธเจ้า แผ่ไป ๑๐ โยชน์.
     - พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ประมาณหนึ่งวาโดยรอบ.
     - พระพุทธเจ้านอกนั้น ไม่แน่นอน.
นี้ชื่อว่ารัศมีเวมัตตะ.

๖. ยานเวมัตตะ 
           
ที่ชื่อว่า ยานเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งพระยาน ได้แก่ พระพุทธเจ้าบางพระองค์ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง บางพระองค์ด้วยยานคือม้า บางพระองค์ด้วยยานคือรถ ดำเนินด้วยพระบาท ปราสาทและวอ เป็นต้น อย่างใดอย่างหนึ่ง.

     • จริงอย่างนั้น พระพุทธเจ้าคือพระทีปังกร พระสุมนะ พระสุเมธะ พระปุสสะ พระสิขีและพระโกนาคมนะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยยานคือช้าง
     • พระโกณฑัญญะ พระเรวตะ พระปทุมะ พระปิยทัสสี พระวิปัสสีและพระกกุสันธะ ด้วยยานคือรถ.
     • พระมังคละ พระสุชาตะ พระอัตถทัสสี พระติสสะและพระโคตมะ ด้วยยานคือม้า.
     • พระอโนมทัสสี พระสิทธัตถะ พระเวสสภู ด้วยยานคือวอ.
     • พระนารทะเสด็จออกอภิเนษกรมณ์ด้วยพระบาท.
     • พระโสภิตะ พระปทุมุตตระ พระธัมมทัสสีและพระกัสสปะ ออกอภิเนษกรมณ์ด้วยปราสาท.
นี้ชื่อว่ายานเวมัตตะ.

๗. โพธิรุกขเวมัตตะ   
           
ที่ชื่อว่าโพธิรุกขเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งโพธิพฤกษ์ ได้แก่
     - พระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นกปิตนะ มะขวิด.
     - พระผู้มีพระภาคเจ้าโกณฑัญญะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาลกัลยาณี ขานาง
     - พระมังคละ พระสุมนะ พระเรวตะ พระโสภิตะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นนาคะ กากะทิง.
     - พระอโนมทัสสี มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัชชุนะ กุ่ม.
     - พระปทุมะและพระนารทะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นมหาโสณะ อ้อยช้างใหญ่.
     - พระปทุมุตตระ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นสลละ หรือสาละ.
     - พระสุเมธะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นนีปะ กะทุ่ม.
     - พระสุชาตะ มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นเวฬุ ไผ่.
     - พระปิยทัสสี มีโพธิพฤกษ์ชื่อต้นกกุธะ กุ่ม.
     - พระอัตถทัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อต้นจัมปกะ จำปา.
     - พระธัมมทัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อต้นรัตตกุรวกะ ซ้องแมวแดง.๑-
     - พระสิทธัตถะ โพธิพฤกษ์ชื่อ ต้นกณิการะ กรรณิการ์.
     - พระติสสะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอสนะ ประดู่.
     - พระปุสสะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอาลมกะ มะขามป้อม.
     - พระวิปัสสี โพธิพฤกษ์ชื่อต้นปาฏลี แคฝอย.
     - พระสิขี โพธิพฤกษ์ชื่อต้นปุณฑรีกะ กุ่มบก.
     - พระเวสสภู โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสาละ.
     - พระกกุสันธะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นสรีสะ ซึก.
     - พระโกนาคมนะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอุทุมพระ มะเดื่อ.
     - พระกัสสปะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นนิโครธ ไทร.
     - พระโคตมะ โพธิพฤกษ์ชื่อต้นอัสสัตถะ โพธิใบ.
นี้ชื่อว่าโพธิเวมัตตะ.
____________________________
๑- บาลีในธัมมทัสสีพุทธวงศ์ข้อ ๑๖ เป็นต้นพิมพิชาละ มะพลับ.

๘. บัลลังกเวมัตตะ
             
ที่ชื่อว่าบัลลังกเวมัตตะ ความแตกต่างกันแห่งบัลลังก์ ได้แก่ พระพุทธเจ้า คือ
     • พระทีปังกร พระเรวตะ พระปิยทัสสี พระอัตถทัสสี พระธัมมทัสสีและพระวิปัสสี มีบัลลังก์ ๕๓ ศอก.
     • พระโกณฑัญญะ พระมังคละ พระนารทะและพระสุเมธะ มีบัลลังก์ ๕๗ ศอก.
     • พระสุมนะ มีบัลลังก์ ๖๐ ศอก.
     • พระโสภิตะ พระอโนมทัสสี พระปทุมะ พระปทุมุตตระและพระปุสสะ มีบัลลังก์ ๓๘ ศอก.
     • พระสุชาตะ มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก.
     • พระสิทธัตถะ พระติสสะและพระเวสสภู มีบัลลังก์ ๔๐ ศอก.
     • พระสิขี มีบัลลังก์ ๓๒ ศอก.
     • พระกกุสันธะ มีบัลลังก์ ๒๖ ศอก.
     • พระโกนาคมนะ มีบัลลังก์ ๒๐ ศอก.
     • พระกัสสปะ มีบัลลังก์ ๑๕ ศอก.
     • พระโคตมะ มีบัลลังก์ ๑๔ ศอก.
นี้ชื่อว่าบัลลังกเวมัตตะ

เหล่านี้ชื่อว่า เวมัตตะ ๘.




เรื่องสถานที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงละ 
         
ก็พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละสถานที่ ๔ แห่ง.
     - จริงอยู่ โพธิบัลลังก์ พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ไม่ทรงละ เป็นสถานที่แห่งเดียวกันนั่นเอง.
     - ไม่ทรงละการประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะมิคทายวัน,
     - ไม่ทรงละสถานที่เหยียบพระบาทครั้งแรก ใกล้ประตูสังกัสสนคร ครั้งเสด็จลงจากเทวโลก,
     - ไม่ทรงละสถานที่วางเท้าเตียง ๔ เท้าแห่งพระคันธกุฎีในพระวิหารเชตวัน, พระวิหารเล็กก็มี ใหญ่ก็มี ทั้งพระวิหารก็ไม่ละ ทั้งพระนครก็ไม่ละ.


@@@@@@@

เรื่องการกำหนดสหชาตและกำหนดนักษัตร์    
           
ยังมีอีกข้อหนึ่ง ท่านพระสังคีติกาจารย์ทั้งหลาย แสดงกำหนดสหชาตและกำหนดนักษัตร ของพระผู้มีพระภาคเจ้าของเราเท่านั้น.

สิ่งที่เกิดร่วมกันกับพระสัพพัญญูโพธิสัตว์ของเรามี ๗ เหล่านี้ คือ
     พระมารดาพระราหุล ๑
     พระอานันทเถระ ๑
     พระฉันนะ ๑
     พระยาม้ากัณฐกะ ๑
     หม้อขุมทรัพย์ ๑
     พระมหาโพธิ ๑
     พระกาฬุทายี ๑
นี้ชื่อว่า กำหนดสหชาต.

     • โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์ในเดือนอุตตราสาธ พระมหาบุรุษลงสู่พระครรภ์พระชนนี เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ ทรงประกาศพระธรรมจักร ทรงแสดงยมกปาฏิหาริย์.
     • โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์ในเดือนวิสาขะ ประสูติตรัสรู้และปรินิพพาน.
     • โดยนักษัตร คือ ดาวฤกษ์เดือนมาฆะ พระองค์ทรงประชุมพระสาวกและทรงปลงอายุสังขาร,
     • โดยนักษัตรคือ ดาวฤกษ์เดือนอัสสยุชะ เสด็จลงจากเทวโลก.

นี้ชื่อว่า กำหนดนักษัตร.

@@@@@@@

เรื่องธรรมดาของพระพุทธเจ้า  
           
บัดนี้ เราจะประกาศธรรมดาทั่วไปของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มี ๓๐ ถ้วน คือ
     ๑. พระโพธิสัตว์ผู้มีภพสุดท้าย มีสัมปชัญญะรู้ตัว ลงสู่พระครรภ์ของพระชนนี
     ๒. พระโพธิสัตว์นั่งขัดสมาธิในพระครรภ์ของพระชนนีหันพระพักตร์ออกไปภายนอก
     ๓. พระชนนีของพระโพธิสัตว์ยืนประสูติ
     ๔. พระโพธิสัตว์ออกจากพระครรภ์พระชนนีในป่าเท่านั้น
     ๕. พระโพธิสัตว์วางพระบาทลงบนแผ่นทอง หันพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ย่างพระบาท ๗ ก้าว เสด็จไปตรวจดู ๔ ทิศแล้วเปล่งสีหนาท
     ๖. พระมหาสัตว์พอพระโอรสสมภพ ก็ทรงเห็นนิมิต ๔ แล้วออกมหาภิเนษกรมณ์
     ๗. พระมหาสัตว์ทรงถือผ้าธงชัยแห่งพระอรหันต์ ทรงผนวช ทรงบำเพ็ญเพียรกำหนดอย่างต่ำที่สุด ๗ วัน
     ๘. เสวยข้าวมธุปายาสในวันที่ทรงบรรลุพระสัมโพธิญาณ
     ๙. ประทับนั่งเหนือสันถัตหญ้าบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ
    ๑๐. ทรงบริกรรมอานาปานัสสติกัมมัฏฐาน
    ๑๑. ทรงกำจัดกองกำลังของมาร
    ๑๒. ณ โพธิบัลลังก์นั่นเอง ทรงได้คุณมีอสาธารณะญาณ ตั้งแต่วิชชา ๓ เป็นต้นไปเป็นอาทิ
    ๑๓. ทรงยับยั้งใกล้โพธิพฤกษ์ ๗ สัปดาห์
    ๑๔. ท้าวมหาพรหมทูลอาราธนาเพื่อให้ทรงแสดงธรรม
    ๑๕. ทรงประกาศพระธรรมจักร ณ ป่าอิสิปตนะ มิคทายวัน
    ๑๖. ในวันมาฆบูรณมี ทรงยกปาติโมกข์ขึ้นแสดงในที่ประชุมสาวกประกอบด้วยองค์ ๔
    ๑๗. ประทับอยู่ประจำ ณ ที่พระวิหารเชตวัน
    ๑๘. ทรงทำยมกปาฏิหาริย์ ใกล้ประตูกรุงสาวัตถี
    ๑๙. ทรงแสดงพระอภิธรรม ณ ภพดาวดึงส์
    ๒๐. เสด็จลงจากเทวโลก ใกล้ประตูสังกัสสนคร
    ๒๑. ทรงเข้าผลสมาบัติต่อเนื่องกัน
    ๒๒. ทรงตรวจดูเวไนยชน ๒ วาระ
    ๒๓. เมื่อเรื่องเกิดขึ้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบท
    ๒๔. เมื่อเหตุต้นเรื่องเกิดขึ้น จึงตรัสชาดก
    ๒๕. ตรัสพุทธวงศ์ในสมาคมพระประยูรญาติ
    ๒๖. ทรงทำปฏิสันถารกับภิกษุอาคันตุกะ
    ๒๗. พวกภิกษุจำพรรษาแล้วถูกนิมนต์ ไม่ทูลบอกลาก่อน ไปไม่ได้
    ๒๘. ทรงทำกิจก่อนและหลังเสวย ยามต้น ยามกลางและยามสุดท้ายทุกๆ วัน
    ๒๙. เสวยรสมังสะในวันปรินิพพาน.
    ๓๐. ทรงเข้าสมาบัติยี่สิบสี่แสนโกฏิสมาบัติแล้วจึงปรินิพพาน.

ธรรมดาของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์มี ๓๐ ถ้วน ดังกล่าวมาฉะนี้.




เรื่องอนันตรายิกธรรม    
         
พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีอนันตรายิกธรรม (คือ ไม่มีอันตรายเป็นธรรมดา) ๔ คือ
     ๑. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่ ปัจจัย ๔ ที่มีเฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
     ๒. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่ พระชนมายุของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
         สมจริงดังที่ตรัสไว้ว่า ข้อที่บุคคลพึงใช้ความพยายามปลงพระชนม์ชีพพระตถาคต ไม่เป็นฐานะ ไม่เป็นโอกาส [คือเป็นไปไม่ได้]
     ๓. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการและแก่พระอนุพยัญชนะ ๘๐ ประการ
     ๔. ใครๆ ไม่อาจทำอันตรายแก่พระพุทธรังสีได้เหล่านี้

ชื่อว่าอนันตรายิกธรรม ๔.

@@@@@@@

นิคมนกถา

คำส่งท้ายเรื่อง การพรรณนาพุทธวงศ์ อันงดงามด้วยนัยอันวิจิตร ซึ่งผู้รู้บทพรรณนาให้ง่าย ถึงความสำเร็จด้วยกถาเพียงเท่านี้.
                       
    ข้าพเจ้ายึดทางแห่งอรรถกถาเก่า อันประกาศความแห่งบาลี เป็นหลักอย่างเดียว แต่งอรรถกถาพุทธวงศ์ เพราะละเว้นความที่เยิ่นเย้อ ประกาศแต่ความอันไพเราะทุกประการ ฉะนั้น จึงชื่อว่า มธุรัตถวิลาสินี.

    เมื่อสาธุชน ผู้มีวาจาไพเราะ ชื่อกัณหทาส สร้างวิหารที่มีกำแพงและซุ้มประตูอันงามโดยอาการต่างๆ ถึงพร้อมด้วยร่มเงาและน้ำ น่าดู น่ารื่นรมย์ เป็นที่คับแคบแห่งทุรชนที่ถูกกำจัด เป็นที่สงัดสบาย น่าเจริญใจ ณ ท่าเรือกาวีระ เป็นพื้นแผ่นดินที่เต็มด้วยชุมทางน้ำแห่งแม่น้ำกาวีระ น่ารื่นรมย์ เกลื่อนกล่นด้วยหญิงชายต่างๆ. ข้าพเจ้าอยู่ ณ พื้นปราสาทด้านทิศตะวันออกในวิหารนั้น ที่เย็นอย่างยิ่ง แต่งอรรถกถาพรรณนาพุทธวงศ์.

อรรถกถาพรรณนาพุทธวงศ์นี้ เว้นอันตราย ข้าพเจ้าแต่งสำเร็จดีแล้วฉันใด ขอความตรึกของชนทั้งหลายที่ชอบด้วยธรรม จนถึงความสำเร็จโดยเว้นอันตรายฉันนั้น.

    ข้าพเจ้าผู้แต่งอรรถกถาพุทธวงศ์นี้
    ปรารถนาบุญอันใด ด้วยเทวานุภาพแห่งบุญนั้น
    ขอโลกจงประสบประโยชน์อย่างดี ที่สงบยั่งยืนทุกเมื่อ.
    ขอโรคทั้งปวงในมนุษย์ทั้งหลาย จงพินาศไป
    แม้ฝนก็จงตกต้องตามฤดูกาล แม้สัตว์นรกก็จงมีสุข อย่างดีเป็นนิตย์
    เหล่าปีศาจทั้งหลาย ก็จงปราศจากความหิวกระหาย.
    ขอเทวดาทั้งหลายกับหมู่อัปสรเป็นต้น จงเสวยสุขในเทวโลกนานๆ.
    ขอธรรมของพระจอมมุนี จงดำรงอยู่ในโลกยั่งยืนนาน
    ขอท่านผู้มีหน้าที่คุ้มครองโลก จงปกครองแผ่นดินให้เป็นสุขเถิด.

พระเถระโดยนามที่ท่านครูทั้งหลาย ขนานให้ปรากฏว่า พุทธทัตตะ แต่งคัมภีร์อรรถกถา ชื่อ มธุรัตถวิลาสินี. ตั้งคัมภีร์นี้ที่นำประโยชน์สืบๆ กันมา โดยความที่สังขารตั้งอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องตกไปสู่อำนาจมฤตยูหนอ.

    คัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีกล่าว
    โดยภาณวารมี ๒๖ ภาณวาร
    โดยคันถะมี ๖,๕๐๐ คันถะ
    โดยอักษรมี ๒๐๓,๐๐๐ อักษร.

มธุรัตถวิลาสินีนี้ เข้าถึงความสำเร็จ ปราศจากอันตรายฉันใด ขอความดำริของสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยธรรม จงสำเร็จฉันนั้น เทอญ.


               จบอรรถกถาพุทธวงศ์ ชื่อว่ามธุรัตถวิลาสินี ด้วยประการฉะนี้.               





ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ , พุทธปกิรณกกัณฑ์ ว่าด้วย เรื่องเบ็ดเตล็ดเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=33.2&i=27
ขอบคุณภาพจาก pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 14, 2023, 12:25:54 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐ ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง

     ความสำคัญ
     • การปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรก ของพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน อยู่ในธรรมบทนี้
     • เหตุแห่งการบำเพ็ญทุกรกิริยา ๖ ปี อยู่ในธรรมบทนี้




[๓๙๒] พระผู้มีพระภาคผู้เป็นนายกของโลก แวดล้อมด้วยภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก ประทับนั่งอยู่ที่พื้นหิน อันเป็นรัมณียสถานโชติช่วงด้วยแก้วต่างๆ ในละแวกป่าอันมีกลิ่นหอมต่างๆ ใกล้สระอโนดาต ตรัสชี้แจงบุรพกรรมทั้งหลายของพระองค์ ณ ที่นั้นว่า

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง กรรมที่เราทำแล้วของเรา :-

(๑) เราเห็นภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตรรูปหนึ่งแล้วได้ถวายผ้าเก่า เราปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรก เพื่อความเป็นพระพุทธ เจ้า ในกาลนั้น ผลแห่งกรรม คือการถวายผ้าเก่า ย่อมอำนวยผลให้เป็นพระพุทธเจ้า

(๒) ในกาลก่อน เราเป็นนายโคบาล ต้อนโคไปเลี้ยง เห็นแม่โคกำลังดื่มน้ำขุ่นมัว จึงห้ามมัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ (แม้) เราจะกระหายน้ำ ก็ไม่ได้ดื่มน้ำตามความปรารถนา

(๓) ในชาติอื่นในกาลก่อน เราเป็นนักเลงชื่อปุนาลิ ได้กล่าวตู่พระปัจเจกพุทธเจ้าชื่อว่าสุรภี ผู้ไม่ประทุษร้าย (ตอบ) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานาน ได้เสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสหลายพันปีเป็นอันมาก ด้วยผลกรรมอันเหลือนั้น ในภพหลังสุดนี้ เราจึงได้คำกล่าวตู่เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

(๔) เพราะการกล่าวตู่พระเถระนามว่านันทะ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ครอบงำอันตรายทั้งปวง เราจึงท่องเที่ยวอยู่ในนรกสิ้นกาลนาน เราท่องเที่ยวอยู่ในนรกเป็นเวลานานถึงหมื่นปี ได้ความเป็นมนุษย์แล้ว ได้การกล่าวตู่เป็นอันมาก ด้วยผลกรรมที่เหลือนั้น นางจิญจมานวิกามากับหมู่ชน ได้กล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่เป็นจริง

(๕) เมื่อก่อน เราเป็นพราหมณ์ชื่อสุตวา อันชนทั้งหลายสักการบูชา สอนมนต์ให้กับมาณพประมาณ ๕๐๐ คนในป่าใหญ่ ก็เราได้เห็นฤาษีผู้น่ากลัว ได้อภิญญา ๕ มีฤทธิ์มากมาในสำนักของเรา เราจึงกล่าวตู่ฤาษี ผู้ไม่ประทุษร้าย โดยได้บอกกะพวกศิษย์ของเราว่า ฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม แม้เมื่อเราบอก (เท่านั้น) พวกมาณพก็เชื่อฟัง ครั้งนั้น มาณพทั้งปวง เที่ยวไปภิกษาในสกุลๆ พากันบอกแก่มหาชนว่า ฤาษีพวกนี้มักบริโภคกาม ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ภิกษุ ๕๐๐ เหล่านี้ ได้คำกล่าวตู่ทั้งหมด เพราะเหตุแห่งนางสุนทริกา

(๖) ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด (ทับ) ด้วยหิน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหินก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของเราจนห้อเลือด




(๗) ในกาลก่อน เราเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ใส่ไฟเผา (ดัก) ไว้ทั่วหนทาง ด้วยวิบากกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงชักชวนนายขมังธนู ผู้ฆ่าคนตายมาก เพื่อให้ฆ่าเรา

(๘) ในกาลก่อน เราเป็นนายควาญช้าง ได้ไสช้างให้จับมัดพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุดมมุนี แม้กำลังเที่ยวบิณฑบาต ด้วยวิบากกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีอันดุร้าย วิ่งแล่นเข้าไปในคอก (ท้อง) เขา (วงกต) เบื้องหน้าผู้ประเสริฐ

(๙) ในกาลก่อน เราเป็นนายทหารราบ (เป็นแม่ทัพ) ฆ่าบุรุษเป็นอันมากด้วยหอก ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราถูกไฟไหม้อย่างเผ็ดร้อนอยู่ในนรก ด้วยผลอันเหลือแห่งกรรมนั้น บัดนี้ ไฟนั้นยังมาไหม้ผิวหนังที่เท้าของเราทั้งสิ้น (อีก) เพราะว่ากรรมยังไม่พินาศไป

(๑๐) ในกาลก่อนเราเป็นเด็ก(ลูก) ของชาวประมงอยู่ในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นคนทั้งหลายฆ่าปลาแล้ว เกิดความโสมนัส ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่ศีรษะ (ปวดศีรษะ) ได้มีแล้วแก่เรา ในเมื่อเจ้าศากยะทั้งหลายถูกเบียดเบียน พระเจ้าวิฏฏุภะฆ่าแล้ว

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

(๑๑) เราได้บริภาษพระสาวกทั้งหลาย ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่าผุสสะ ว่าท่านทั้งหลายจงเคี้ยว จงกินแต่ข้าวแดง แต่อย่ากินข้าวสาลีเลย ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราอันพราหมณ์นิมนต์แล้ว อยู่ในเมืองเวรัญชา บริโภคข้าวแดงตลอด ๓ เดือน

(๑๒) ในกาลนั้น เมื่อนักมวยกำลังชกกัน เราได้ห้ามบุตรนักมวยปล้ำ ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น ความทุกข์ที่หลัง (ปวดหลัง) ได้มีแล้วแก่เรา เมื่อก่อนเราเป็นหมอรักษาโรค ได้ถ่ายยาให้เศรษฐีบุตร (ตาย) ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น โรคปักขันทิกาพาธจึงมีแก่เรา

(๑๓) เราชื่อว่าโชติปาละ ได้กล่าวกะพระสุคตเจ้าพระนามว่า กัสสปะ ในกาลนั้นว่า จักมีโพธิมณฑลแต่ที่ไหน โพธิญาณท่านได้ยากอย่างยิ่ง ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น เราได้ประพฤติกรรมที่ทำได้ยากมาก(ทุกกรกิริยา) ที่ตำบลอุรุเวลาเสนานิคมตลอด ๖ ปี แต่นั้น จึงได้บรรลุโพธิญาณ แต่เราก็มิได้บรรลุโพธิญาณอันสูงสุดด้วยหนทางนี้ เราอันบุรพกรรมตักเตือนแล้ว จึงแสวงหาโพธิญาณโดยทางที่ผิด

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

(บัดนี้) เราเป็นผู้สิ้นบาปและบุญ เว้นจากความเร่าร้อนทั้งปวง ไม่มีความเศร้าโศก ไม่คับแค้น เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน พระชินเจ้าทรงบรรลุกำลังแห่งอภิญญาทั้งปวงแล้ว ทรงพยากรณ์โดยทรงหวังประโยชน์แก่ภิกษุสงฆ์ ที่สระใหญ่อโนดาต ด้วยประการฉะนี้แล.

ทราบว่า พระผู้มีพระภาคได้ทรงภาษิตธรรมบรรยายพุทธาปทานชื่อ ปุพพกรรมปิโลติ อันเป็นบุพจารีตของพระองค์ ด้วยประการฉะนี้แล.


                                  จบ พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติ.





ขอบคุณที่มา : พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๒ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐ (๓๙๐) ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง
https://84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=32&A=7849&Z=7924
ขอบคุณภาพจาก : pinterest




๓๙๐. อรรถกถา ปุพพกัมมปิโลติกพุทธาปทาน
               
พึงทราบเรื่องราวในอปทานที่ ๑๐ ดังต่อไปนี้ :-

บทว่า อโนตตฺตสราสนฺเน ความว่า ชื่อว่า อโนตตฺโต เพราะน้ำที่ถูกความร้อนแห่งพระจันทร์และพระอาทิตย์แผ่ปกคลุมไปไม่ถึง เพราะมียอดภูเขาหลายยอดช่วยปิดบังไว้.

ชื่อว่าสระ เพราะเป็นแดนไหลไป คือเป็นแดนเกิดก่อน หลั่งไหลไปแห่งแม่น้ำใหญ่.
อธิบายว่า แม่น้ำใหญ่ที่ไหลออกจากช่องมีช่องสีหะเป็นต้นแล้ว ไหลวนไปทางขวา ๓ รอบ จึงไหลไปทางทิสาภาคที่ไหลออกแล้วๆ แต่เดิม.

อโนตัตตะศัพท์ กับสระศัพท์ รวมกันเป็นอโนตัตตสระ.
อธิบายว่า ที่อยู่ใกล้กับสระนั้น คือใกล้กับสระอโนดาต ได้แก่ตรงที่ใกล้สระอโนดาตนั้น.

@@@@@@@

บทว่า รมณีเย ความว่า ในสถานที่อันน่ารื่นรมย์ใจนั้น.
ชื่อว่า รมณียํ เพราะเป็นสถานที่อันเทวดา ทานพ คนธรรพ์ กินนร งู พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นต้น พึงรื่นรมย์ใจ คือพึงติดใจ.

บทว่า สิลาตเล ความว่า พื้นแห่งศิลาเป็นภูเขาลูกเดียว.
บทว่า นานารตนปชฺโชเต ความว่า โชติช่วงเปล่งปลั่งด้วยแก้วมากมายหลายประการมีแก้ว ทับทิมและไพฑูรย์เป็นต้น.

บทว่า นานาคนฺธวนนฺตเร เชื่อมความว่า ที่พื้นศิลา (หิน) ในละแวกป่าอันเป็นชัฏดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมนานาชนิด เช่นไม้จันทน์ กฤษณา การบูร คูน หมากหอม อโศก กากะทิง บุนนาคและการะเกดเป็นต้นมีประการต่างๆ.

ความว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้นำของชาวโลก เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของชาวโลกทั้ง ๓ ทรงมีภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่แวดล้อม เพราะยิ่งใหญ่ด้วยพระคุณ และเพราะยิ่งใหญ่ด้วยการนับ ประทับนั่งเหนืออาสนะศิลานั้นแล้ว ตรัสชี้แจงถึงกรรม คือ การถวายดอกไม้ของพระองค์ คือได้ทรงกระทำให้ปรากฏชัดเป็นพิเศษ.


@@@@@@@

คำที่เหลือในข้อความนั้นมีเนื้อความพอจะรู้ได้ง่ายทั้งหมด เพราะได้กล่าวไว้แล้วในพุทธาปทานในหนหลัง และเพราะมีเนื้อความง่าย.

พระธรรมสังคาหกเถระทั้งหลายได้รวบรวมกุศลกรรมและอกุศลกรรมไว้ในอปทานนี้ ทั้งที่มีปรากฏอยู่ในพุทธาปทานแล้ว ก็ด้วยมุ่งที่จะรวมไว้ในวรรค เพราะจะได้ชี้แจงแสดงเฉพาะกรรมแล.

               จบอรรถกถาปุพพกัมมปิโลติกพุทธาปทาน               




ขอบคุณที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑ เถราปทาน , ๓๙. อัมพฏผลวรรค , ๑๐. พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติ (๓๙๐)
https://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=32&i=392
ขอบคุณภาพจาก : pinterest
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 15, 2023, 01:41:31 pm โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ