ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “วันเข้าพรรษา” วันจำพรรษาของพระสงฆ์ เช็กหลักธรรม-กิจกรรมพุทธศาสนิกชนทำได้  (อ่าน 220 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“วันเข้าพรรษา” วันจำพรรษาของพระสงฆ์ เช็กหลักธรรม-กิจกรรมพุทธศาสนิกชนทำได้

เปิดประวัติความเป็นมาของ “วันเข้าพรรษา” ไขข้อสงสัยทำไมพระสงฆ์ถึงต้องมีวันจำพรรษา อยู่ประจำวัดแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลาตลอด 3 เดือน พร้อมเช็กธรรมและกิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนทำได้

“วันเข้าพรรษา” ตรงกับ วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 รวมแล้วคือระยะเวลาประมาณ 3 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นปีอธิกมาส (มีเดือน 8 สองครั้ง) จะให้ถือเอา วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หลัง เป็นวันแรกของการเข้าพรรษา ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันพุธที่ 2 สิงหาคม 2566

ในวันสำคัญนี้ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยสำหรับพระสงฆ์เอาไว้ว่า ให้พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาอธิษฐานอยู่ประจำในวัด หรือเสนาสนะที่คุ้มแดดคุ้มฝนได้แห่งหนึ่ง โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่นเป็นเวลา 3 เดือนตลอดฤดูฝน ซึ่งเรียกว่า “จำพรรษา”




ทั้งนี้ เนื่องจากในสมัยพุทธกาลตอนต้น ที่ยังไม่มีกฎบัญญัติ ภิกษุทั้งหลายเดินทางเที่ยวจาริกไปทุกฤดู แม้ในฤดูฝนที่ชาวบ้านทำไร่ทำนากัน จึงเหยียบย่ำข้าวกล้าและสัตว์เล็กๆนานาชนิด เช่น มด ปลวก ชาวบ้านจึงพากันตำหนิติเตียน ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงตรัสในที่ประชุมสงฆ์ บัญญัติพระวินัยให้พระสงฆ์จำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝน 

เว้นแต่มีกิจธุระคือเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดี๋ยวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืน เรียกว่า “สัตตาหะ” หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์แห่งการจำพรรษา จัดว่า “พรรษาขาด” โดยกรณีจำเป็นที่จะอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คือ

1.) ไปรักษาพยาบาลภิกษุ หรือบิดามารดาที่เจ็บป่วย
2.) ไประงับไม่ให้ภิกษุสึก
3.) ไปเพื่อธุระของสงฆ์
4.) ทายก (ผู้ให้ทาน) นิมนต์ไปฉลองศรัทธาในการบำเพ็ญกุศลของเขา

เปิดที่มาคำว่า “เข้าพรรษา”

“เข้าพรรษา” แปลว่า “พักฝน” ด้วยเหตุนี้จึงนำมาใช้หมายถึง พระภิกษุสงฆ์ที่ต้องอยู่ประจำ ณ วัดใดวัดหนึ่งระหว่างฤดูฝน โดยเหตุที่พระภิกษุในสมัยพุทธกาลมีหน้าที่จะต้องจาริกโปรดสัตว์ และเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนแก่ประชาชน แม้แต่ในฤดูฝน จนชาวบ้านตำหนิว่าไปเหยียบข้าวและพืชผลอื่นๆ จนเสียหาย เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงวางระเบียบการจำพรรษาให้พระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำที่ตลอด 3 เดือนในฤดูฝนนั่นเอง

จุดเริ่มต้นประเพณี “ถวายผ้าอาบน้ำฝน”

โดยปกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย “ผ้าจำนำพรรษา” หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “ผ้าอาบน้ำฝน” เพื่อให้พระสงฆ์ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นที่มาให้เกิดประเพณีทำบุญถวายผ้าอาบน้ำฝนสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน




กำเนิด “เทียนพรรษา-ประเพณีแห่เทียนพรรษา”

สมัยก่อนเวลาพระภิกษุสงฆ์ต้องจำพรรษาจะไม่มีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านจึงหล่อเทียนต้นใหญ่ขึ้น เรียกว่า “เทียนพรรษา” เพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์จุดให้แสงสว่างในการปฏิบัติกิจวัตรต่างๆ เป็นพุทธบูชาตลอดเวลา 3 เดือน โดยมีความเชื่อคู่ขนานกันไปอีกว่าการถวายเทียนจะช่วยให้ตัวเองเป็นผู้เฉลียวฉลาด มีไหวพริบ ประดุจแสงสว่างของดวงเทียนได้

อย่างไรก็ตามการนำเทียนไปถวาย ชาวบ้านมักจะจัดขบวนแห่อย่างเอิกเกริกสนุกสนาน เป็นที่มาให้เราเห็นประเพณีแห่เทียนพรรษาที่เราเห็นกันในปัจจุบัน

กิจกรรมของพุทธศาสนิกชน

เนื่องจากพระสงฆ์ต้องอธิษฐานอยู่ประจำในวัดตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันสำคัญนี้พุทธศาสนิกชนจึงนิยมตั้งใจบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนามากขึ้น รวมถึงถือโอกาสงดดื่มสุราในช่วงฤดูฝนไปด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการตักบาตรในตอนเช้าของวันเข้าพรรษา ยังนิยมนำเทียนเข้าพรรษาหรือหลอดไฟฟ้าไปถวาย เพื่อให้พระสงฆ์ได้ใช้แสงสว่างตลอดเข้าพรรษา รวมถึงถวายผ้าอาบน้ำฝน ข้าวของเครื่องใช้ตามจิตศรัทธา เช่น สบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ยารักษาโรค ไม้ขีด ร่ม  และข้าวสารอาหารแห้ง

“วิรัติ”หลักธรรมที่ควรปฏิบัติช่วงเข้าพรรษา

ระหว่างเทศกาลเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมใช้วันสำคัญนี้ในการงดดื่มสุราหรือเที่ยวสังสรรค์เฮอากับกลุ่มเพื่อน ซึ่งเป็นการเว้นจากการกระทำความชั่วบำเพ็ญความดีและชำระจิตให้สะอาดแจ่มใสเคร่งครัดยิ่งขึ้น

หลักธรรมสำคัญที่สนับสนุน คุณความดีดังกล่าวก็คือ "วิรัติ"  หมายถึงการงดเว้นจากบาป และความชั่วต่าง ๆ จัดเป็นมงคลธรรมข้อหนึ่ง เป็นเหตุนำบุคคลผู้ปฏิบัติตามไปสู่ความสงบสุขปลอดภัยและความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น โดยจำแนกออกเป็น 3 ประการ คือ

1.) สัมปัตตวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยเกิดความรู้สึกละอาย (หิริ) และเกิดความรู้สึกเกรงกลัวบาป (โอตตัปปะ) ขึ้นมาเอง เช่น บุคคลที่ได้สมาทานศีลไว้ เมื่อถูกเพื่อนคะยั้นคะยอให้ดื่มสุรา ก็ไม่ย่อมดื่มเพราะละอาย และเกรงกลัวต่อบาปว่าไม่ควรที่ชาวพุทธจะกระทำเช่นนั้นในระหว่างพรรษา

2.) สมาทานวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ด้วยการสมาทานศีล 5 หรือศีล 8 จากพระสงฆ์ โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยวนภายนอกมาเร้าก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง

3.) สมุจเฉทวิรัติ ได้แก่ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ได้อย่างเด็ดขาด เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้า ถึงกระนั้นสมุจเฉทวิรัติอาจนำมาประยุกต์ใช้กับบุคคลผู้งดเว้นบาปความชั่วและอบายมุขต่าง ๆ ในระหว่างพรรษากาลแล้ว แม้ออกพรรษาแล้วก็มิกลับไปกระทำหรือข้องแวะอีก เช่นกรณีผู้งดเว้นจากการดื่มสุราและสิ่งเสพติดระหว่างพรรษากาล แล้วก็งดเว้นได้ตลอดไป เป็นต้น






ขอขอบคุณ :-
ข้อมูลจาก : สำนักงานพระพุทธศาสนา, โรงเรียนเซนต์โยเซฟ นครสวรรค์, วิกิพีเดีย และ เว็บท่ากรมศิลปากร
Thank to : https://www.pptvhd36.com/news/ไลฟ์สไตล์/201746
โดย PPTV Online | เผยแพร่ 24 ก.ค. 2566 ,16:51น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 25, 2023, 07:02:53 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ