ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อบ้านแหลม : ในตำนานมีเครือข่ายชนชั้นนำ ยุคต้นอยุธยา และยุคต้นกรุงเทพฯ  (อ่าน 563 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




หลวงพ่อบ้านแหลม : ในตำนานมีเครือข่ายชนชั้นนำ ยุคต้นอยุธยา และยุคต้นกรุงเทพฯ

“หลวงพ่อบ้านแหลม” เป็นพระพุทธรูปประธานภายในพระอุโบสถ วัดเพชรสมุทรวรวิหาร โดยถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของ จ.สมุทรสงคราม

องค์พระพุทธรูปหล่อด้วยทองเหลือง แสดงอิริยาบถประทับยืน ปางอุ้มบาตร แสดงให้เห็นว่าเป็นฝีมือช่างรุ่นหลังกรุงศรีอยุธยาลงมาแล้วนะครับ เพราะความนิยมในการสร้างพระพุทธรูปลอยตัวปางต่างๆ ที่มักเรียกรวมๆ กันว่า พระพุทธรูป 80 ปางนั้น เป็นคตินิยมที่เริ่มปรากฏหลักฐานหลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกลงเมื่อ พ.ศ.2310 ลงมา

@@@@@@@

ตำนานที่มาของหลวงพ่อบ้านแหลมที่สำคัญ มีอยู่ 2 ตำนาน

ตํานานแรกเกี่ยวข้องกับชื่อวัดบ้านแหลม และประวัติของพื้นที่ โดยมีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า ในช่วงปลายรัชสมัยของพระเจ้าเอกทัศ ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยานั้น ได้มีภัยจากโจรผู้ร้ายชาวพม่าเข้ามาปล้นสะดมชาวบ้านแหลม ในเมืองเพชรบุรี (ปัจจุบันคือเขตพื้นที่ ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี) อยู่เนืองๆ

ชาวบ้านแหลมกลุ่มหนึ่งจึงได้หนีภัยเข้ามาอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม โดยตั้งรกรากกันอยู่แถบปากคลองแม่กลองฝั่งใต้ ใกล้กับวัดศรีจำปา ผู้คนจึงพากันเรียกชุมชนที่ย้ายมาอยู่ใหม่นี้ว่า “บ้านแหลม” ตามชื่อหลักแหล่งดั้งเดิมของผู้คนเหล่านั้น

ประชากรชาวบ้านแหลมที่ย้ายมาใหม่ส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวประมง จึงได้ออกทะเลหาปลาและสัตว์น้ำต่างๆ วันหนึ่งก็ได้ไปล้อมอวนจับปลาที่ปากอ่าวแม่กลอง แต่กลับได้พระพุทธรูปติดอวนมา 2 องค์

องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปประทับยืน ปางอุ้มบาตร แต่บาตรได้สูญหายไปในทะเลแล้ว ภายหลังสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้ประทานบาตรให้ใหม่เป็นบาตรแก้วสีน้ำเงิน แน่นอนว่า พระพุทธรูปองค์นี้ต่อมาจะถูกเรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม”

ส่วนพระพุทธรูปรูปอีกองค์หนึ่งนั้น เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ปางมารวิชัย ชาวบ้านจึงได้แบ่งให้ญาติของตน ซึ่งอาศัยอยู่ที่บางตะบูน (ปัจจุบันคือ ต.บางตะบูน อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี โดยตั้งอยู่ติดกับพื้นที่ ต.บ้านแหลม) ไป แล้วประดิษฐานไว้ที่วัดเขาตะเครา ซึ่งก็คือ “หลวงพ่อวัดเขาตะเครา” นั่นแหละครับ

เดิมทีชาวบ้านแหลมที่แม่กลอง ไม่อยากจะนำพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรที่ได้มา ไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา ที่อยู่ในพื้นที่ชุมชนของตนเอง เพราะเป็นวัดร้าง มีทั้งป่าจาก ต้นโกงกางขึ้นอยู่มาก และมีหญ้ารกรุงรัง จึงตั้งใจจะนำไปประดิษฐานที่วัดใหญ่ ซึ่งตั้งอยู่เหนือปากคลองแม่น้ำแม่กลอง แต่ว่าในขณะที่นำพระพุทธรูปขึ้นไปนั้น กลับเกิดพายุใหญ่จนนำขึ้นวัดไม่ได้ จึงต้องนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา


@@@@@@@

ชาวบ้านแหลมจึงจำต้องช่วยกันบูรณะวัดศรีจำปาให้ดีขึ้น แล้วเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “วัดบ้านแหลม” ดังนั้น จึงพากันเรียกพระพุทธรูปองค์นี้ว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม” ไปด้วยนั่นเอง

ไม่ว่าหลวงพ่อบ้านแหลมจะติดอวนของชาวประมงขึ้นมาจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ตำนานเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้คนจากพื้นที่บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ขึ้นมาอยู่ที่เมืองสมุทรสงคราม โดยตำนานยังแสดงให้เห็นด้วยว่า การเคลื่อนย้ายเข้ามานี้ ยังมีการติดต่ออยู่กับกลุ่มคนที่อยู่ในถิ่นฐานเดิม ดังจะเห็นว่า มีการนำพระพุทธรูปอีกองค์คือ หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ไปมอบให้กับญาติที่บางตะบูน อันเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ติดกับบ้านแหลมที่ จ.เพชรบุรี

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ในยุคต่อเนื่องลงมาจากท้องเรื่องในตำนานยังมีหลักฐานคือ ยุคธนบุรี และต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น มีเส้นทางการค้าที่เชื่อมโยงถึงกันระหว่าง บ้านแหลม จ.เพชรบุรี-แม่กลอง-คลองบางหลวง ในเขตเมืองบางกอก หรือเมืองธนบุรี

ดังปรากฏมีหลักฐานการจำลอง “หลวงพ่อบ้านแหลม” เอาไว้ที่วิหารน้อย วัดกำแพงบางจาก ซึ่งตั้งอยู่ที่แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในปัจจุบัน

คลองบางหลวงนั้นก็คือ ส่วนหนึ่งของคลองบางกอกใหญ่ และบริเวณปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เป็นที่ตั้งของ “พระราชวัง” ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ดังนั้น จึงเป็นคลองเส้นสำคัญ

การมีหลวงพ่อบ้านแหลมจำลองประดิษฐานอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของหลวงพ่อบ้านแหลมอยู่แหงแซะ

@@@@@@@

ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง “สยามประเภท” และ “มหามุขมาตยานุกุลวงศ์” ที่เขียนโดย ก.ศ.ร. กุหลาบ (มีชีวิตอยู่ระหว่าง พ.ศ.2377-2464) ทั้งคู่ สามารถจะประมวลความสำคัญของ “บ้านแหลม” ในช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ออกมาได้ว่า ในช่วงก่อนกรุงแตกนั้น มีจีนบ้านแหลมคนหนึ่งชื่อ เจ๊สัวหลิน (เจ้าสัวหลิน) เป็นคนบ้านเดียวกัน และยังมีแซ่เดียวกันคือแซ่โหงว (หรือแซ่โง้ว) กับพระราชมารดาของสมเด็จพระเจ้าตากสินคือ พระเทพามาตย์ (นกเอี้ยง) โดยมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันมาตั้งแต่สมัยก่อนกรุงแตก สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงทรงไว้ใจมากจนตั้งเป็น พระพิไชยวารี มีหน้าที่แต่งสำเภาหลวงให้กับพระองค์ จัดเบิกสินค้าของหลวงบรรทุกลงสำเภาหลวงไปค้ากับจีนเป็นประจำทุกปี

ต่อมาเมื่อผลัดแผ่นดินเข้าสู่ เจ๊สัวหลินผู้นี้ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในสังกัดของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (คือ วังหลัง) โดยสายตระกูลของท่านได้ทำการค้าสืบเนื่องมาโดยตลอด และถือเป็นต้นตระกูลของสกุล “พิศาลบุตร” อันเป็นสายตระกูลที่อุปัฏฐากวัดกำแพงบางจาก ที่มีหลวงพ่อบ้านแหลมจำลองประดิษฐานอยู่ มาหลายชั่วอายุคนแล้ว

หลวงพ่อบ้านแหลม จึงเป็นทั้งสัญลักษณ์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญของกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ทำการค้าขายในบ้านแหลม-แม่กลอง-บางกอก ผู้คนที่เคลื่อนย้ายจากบ้านแหลม เข้าสู่เมืองสมุทรคราม แล้วเกิดเป็นชุมชนบ้านแหลมในแม่กลองนั้น จึงควรที่จะเคลื่อนย้ายเข้าไปด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ มากกว่าจะเป็นการหนีภัยจากพม่า โดยตำนานส่วนที่อ้างถึงพม่านั้น ควรจะเป็นการแต่งเติมขึ้นใหม่ด้วยความเข้าใจสมัยหลัง เพราะช่วงเวลาในท้องเรื่องของตำนานนั้น คาบเกี่ยวกันกับช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องกับการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 นั่นเอง

@@@@@@@

ส่วนตำนานของ “หลวงพ่อบ้านแหลม” อีกตำนานหนึ่งนั้น เล่าว่า มีพระพุทธรูป 5 องค์ ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือ เมื่อมาถึงภาคกลางแล้ว ก็แยกย้ายไปอยู่แต่ละจังหวัด แตกต่างกันไป ได้แก่

องค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกง และได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา จึงได้ชื่อว่า หลวงพ่อโสธร

องค์ที่ 2 ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี และได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดไร่ขิง เมืองนครชัยศรี (อ.สามพราน) จ.นครปฐม จึงได้ชื่อว่า หลวงพ่อวัดไร่ขิง

องค์ที่ 3 ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ถูกนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดบางพลีใหญ่ใน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อโต

องค์ที่ 4 ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง และได้ถูกนำไปประดิษฐานที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร เมืองแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม คือหลวงพ่อบ้านแหลม

และองค์สุดท้าย ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี และได้ถูกนำไปประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี จึงได้ชื่อว่า หลวงพ่อเขาตะเครา

ความจริงแล้วพระพุทธรูปทั้ง 5 องค์นี้ มีลักษณะฝีมือช่างที่แตกต่างกันออกไปนะครับ ดังนั้น จึงไม่ควรจะสร้างขึ้นในสถานที่และช่วงสมัยเดียวกัน จนดูจะเป็นตำนานที่หาสาระเอาความไม่ได้


@@@@@@@

แต่หากพิจารณาประกอบกับหลักฐานแวดล้อมอื่นๆ แล้วจะพบว่า มีร่องรอยความเกี่ยวข้องกันระหว่างกลุ่มคนโบราณที่นับถือพระพุทธรูปเหล่านี้ เป็นสัญลักษณ์ และพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำกลุ่มของตน เช่น ของเรื่องกลุ่มคนที่พบหลวงพ่อบ้านแหลม เป็นผู้พบพระพุทธรูปอีกองค์ และมอบให้เครือญาติไป จนกลายเป็นหลวงพ่อเขาตะเครา เป็นต้น

ร่องรอยที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งในตำนานพระพุทธรูปที่ลอยน้ำมาจากเมืองเหนือทั้ง 5 องค์นี้ก็คือ การที่ในเขตเมืองอัมพวา มีพระพุทธรูปเก่า ที่มีทั้งพระพักตร์ และพระพุทธลักษณะต่างๆ ใกล้เคียงกับหลวงพ่อโสธรเป็นอย่างมาก ซึ่งก็คือพระพุทธรูปศิลาที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารน้อย วัดบางพลับ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม ซึ่งก็อยู่ไม่ห่างไปจากนั่นเอง

ทั้งพระพุทธรูปองค์นี้ และหลวงพ่อโสธรนั้น จัดเป็นฝีมือช่างแบบอู่ทอง 2 กำหนดอายุได้อยู่ในช่วงราว พ.ศ.1900-2000 ตรงกับช่วงต้นของยุคกรุงศรีอยุธยา แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าในช่วงเวลาดังกล่าวระหว่างลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำแม่กลอง เช่นเดียวกับเรื่องของหลวงพ่อบ้านแหลม และหลวงพ่อเขาตะเครา

เขตพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กลองใน จ.สมุทรสงคราม ยังมีพระพุทธรูปศิลาฝีมือช่างแบบอู่ทอง 2 อยู่อีกหลายองค์ ดังปรากฏอยู่ในระเบียงคด วัดบางแคใหญ่ ต.แควอ้อม อ.อัมพวา แสดงให้เห็นถึงขนาดและความสำคัญของเมืองแม่กลองเดิมว่าเป็นเมืองใหญ่ ที่มีความสำคัญ ในช่วงยุคต้นกรุงศรีอยุธยา และสืบเนื่องมาต่อมายังยุคหลัง ในขณะที่ตำนานเรื่องความสัมพันธ์ของหลวงพ่อบ้านแหลม กับหลวงพ่อเขาตะเครา แสดงให้เห็นถึงเครือข่ายความสัมพันธ์ทางการค้าในยุคปลายอยุธยา ต่อเนื่องถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์

หลวงพ่อวัดบ้านแหลม นอกจากจะเป็นพระพุทธรูปที่ถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์มากแล้ว จึงยังเป็นประจักษณ์พยานสำคัญถึงเครือข่ายชนชั้นนำของเมืองแม่กลอง-สมุทรสงคราม ทั้งในยุคต้นกรุงศรีอยุธยา และยุคปลายกรุงศรีอยุธยา-ต้นกรุงรัตนโกสินทร์อีกด้วย •


 


ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 28 เมษายน - 4 พฤษภาคม 2566
คอลัมน์ : On History
ผู้เขียน   : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ.2566
URL : https://www.matichonweekly.com/column/article_668790
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ