ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บุคคลไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ใฝ่หาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  (อ่าน 3725 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด



บุคคลไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ใฝ่หาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ผิวพรรณย่อมผ่องใส

     
     อตีตํ นานุโสจนฺติ    นปฺปชปฺปนฺติ นาคตํ
     ปจฺจุปฺปนฺเนน ยาเปนฺติ    เตน วณฺโณ ปสีทติ.

     "บุคคลไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว ไม่ใฝ่หาสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ยังชีวิตให้เป็นไปด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เพราะเหตุนั้น ผิวพรรณย่อมผ่องใส"
(พุทฺธ) สํ.ส.๑๕/๗.

สิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือเรื่องที่ผ่านไปแล้ว ไม่สามารถที่จะดึงกลับมาได้ เมื่อบุคคลเศร้าโศกรำพันถึงเรื่องที่เป็นอดีต คือสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว ก็เป็นผู้ที่เปล่าประโยชน์ ทำอะไรไม่ได้ เพราะเศร้าโศกคร่ำครวญถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และสิ่งที่ยังไม่มาถึงก็ไม่ควรไปคำนึงใฝ่หาถึง เพราะสิ่งที่เป็นอนาคตที่บุคคลไปตั้งความหวังไว้ คอยนึกถึงหรือรอคอยอยู่ เหตุการณ์นั้นจะเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นไปได้

บุคคลผู้ที่คำนึงถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วและใฝ่หาถึงสิ่งที่ยังไม่มาถึง ย่อมเป็นอยู่โดยเปล่าประโยชน์ หาสาระไม่ได้เลย แต่บุคคลผู้มีปัญญาไม่ไปคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว และไม่มุ่งหวังในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เห็นแจ้งชัดซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เมื่อได้รู้ความนั้นแล้ว ก็เพียรพยายามเผากิเลส ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นักปราชญ์ย่อมสรรเสริญว่า ผู้อยู่ราตรีเดียวเจริญ

สรุปความว่า บุคคลไม่เศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว และไม่ใฝ่หาถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เพียรพยายามเผากิเลสกับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันกลางคืน มีความตื่นตัวอยู่เสมอกับสิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ชื่อว่าผู้อยู่ราตรีเดียวเจริญ เมื่อกำจัดกิเลสได้แล้ว ผิวพรรณย่อมผ่องใสเปล่งปลั่ง เพราะความไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้มัวหมองด้วยประการดังกล่าวมาฉะนี้.


จาก : พุทธศาสนสุภาษิต เล่ม ๓ ฉบับมาตรฐาน (โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง)
http://www.watpitch.com/buddhist-proverb-359.html





อรัญญสูตรที่ ๑๐

[๒๑] เทวดานั้น ครั้นยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้วแล ได้ทูลถาม พระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า วรรณของภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ในป่า ฉันภัตอยู่หนเดียว เป็นสัตบุรุษผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ ย่อมผ่องใสด้วยเหตุอะไร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

[๒๒]    ภิกษุทั้งหลายไม่เศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว ไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังมาไม่ถึง เลี้ยงตนด้วยปัจจัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า วรรณ(ของภิกษุทั้งหลายนั้น) ย่อมผ่องใสด้วยเหตุนั้น เพราะความปรารถนาถึงปัจจัยที่ยังไม่มาถึง และความโศก ถึงปัจจัยที่ล่วงแล้ว พวกพาลภิกษุจึงซูบซีด เหมือนต้นอ้อสดที่ถูกถอนเสียแล้ว ฉะนั้น


      จบ นฬวรรค ที่ ๑

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๕  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=15&A=121&Z=140




อรรถกถาอรัญญสูตรที่ ๑๐   
           
พึงทราบวินิจฉัยในพระสูตรที่ ๑๐ ต่อไป :-
บทว่า สนฺตานํ ได้แก่ ผู้มีกิเลสอันสงบระงับแล้ว. อีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ บัณฑิต.
แม้บัณฑิต ท่านก็เรียกว่าสัตบุรุษ เช่นในคำมีอาทิว่า สนฺโต หเว สพฺภิ ปเวทยนฺติ ทูเร สนฺโต ปกาเสนฺติ ดังนี้ก็มี.
บทว่า พฺรหฺมจารินํ แปลว่า ผู้ประพฤติธรรมอันประเสริฐ คือผู้อยู่ประพฤติมรรคพรหมจรรย์.
หลายบทว่า เกน วณฺโณ ปสีทติ ความว่า เทวดาทูลถามว่า ผิวพรรณของภิกษุผู้อยู่ป่า ย่อมผ่องใส ด้วยเหตุอะไร.

    ถามว่า ก็เพราะเหตุไร เทวดานี้จึงทูลถามอย่างนี้.
    ตอบว่า ได้ยินว่า เทวดานี้เป็นภุมมเทวดาอาศัยอยู่ในไพรสณฑ์ เห็นภิกษุทั้งหลายผู้อยู่ป่ากลับจากบิณฑบาต หลังภัตแล้วเข้าไปสู่ป่า ถือเอาลักษณกรรมฐาน (กรรมฐานตามปกติวิปัสสนา) ในที่เป็นที่พักในเวลากลางคืน และที่เป็นที่พักในเวลากลางวันเหล่านั้นนั่งลงแล้ว.

     ก็เมื่อภิกษุเหล่านั้นนั่งด้วยกรรมฐานอย่างนี้แล้ว เอกัคคตาจิตซึ่งเป็นเครื่องชำระของท่านก็เกิดขึ้น. ลำดับนั้น ความสืบต่อแห่งวิสภาคะก็เข้าไปสงบระงับ. ความสืบต่อแห่งสภาคะหยั่งลงแล้ว จิตย่อมผ่องใส เมื่อจิตผ่องใสแล้ว โลหิตก็ผ่องใส. อุปาทารูปทั้งหลายซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน ย่อมบริสุทธิ์. วรรณะแห่งหน้าย่อมเป็นราวกะสีแห่งผลตาลสุกที่หลุดจากขั้วฉะนั้น.


     ask1 ask1 ask1 ask1

    เทวดานั้น ครั้นเห็นภิกษุเหล่านั้นแล้ว จึงดำริว่า
    ธรรมดาว่าสรีระวรรณะ (ผิวพรรณแห่งร่างกาย) นี้ ย่อมผ่องใสแก่บุคคลผู้ได้อยู่ซึ่งโภชนะทั้งหลายอันสมบูรณ์มีรสอันประณีต ผู้มีที่อยู่อาศัยเครื่องปกปิด ที่นั่งที่นอนมีสัมผัสอันสบาย ผู้ได้ปราสาทต่างๆ มีปราสาท ๗ ชั้นเป็นต้นอันให้ความสุขทุกฤดูกาล และแก่ผู้ได้วัตถุทั้งหลายมีระเบียบดอกไม้ของหอม และเครื่องลูบไล้เป็นต้น

    แต่ภิกษุเหล่านี้เที่ยวบิณฑบาตฉันภัตปะปนกัน ย่อมสำเร็จการนอนบนเตียงน้อยทำด้วยใบไม้ต่างๆ หรือนอนบนแผ่นกระดาน หรือบนศิลา ย่อมอยู่ในที่ทั้งหลายมีโคนไม้เป็นต้น หรือว่าที่กลางแจ้ง วรรณะของภิกษุเหล่านี้ย่อมผ่องใส เพราะเหตุอะไรหนอแล ดังนี้
    เพราะฉะนั้น จึงได้ทูลถามข้อความนั้นกะพระบรมศาสดา.
    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสถึงเหตุนั้นแก่เทวดา จึงตรัสพระคาถาที่ ๒.

    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อตีตํ ความว่า พระเจ้าธรรมิกราชพระนามโน้นได้มีในกาลอันล่วงแล้ว. พระราชาพระองค์นั้นได้ถวายปัจจัยทั้งหลายอันประณีตๆ แก่พวกเรา. อุปัชฌาย์อาจารย์ของเราเป็นผู้มีลาภมาก.
    ครั้งนั้น พวกเราฉันอาหารเห็นปานนี้ ห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุเหล่านี้ย่อมไม่ตามเศร้าโศกถึงปัจจัยที่ล่วงมาแล้ว เหมือนภิกษุผู้มีปัจจัยมากบางพวกอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.

     :96: :96: :96: :96:

    สองบทว่า นปฺปชปฺปนฺติ นาคตํ อธิบายว่า พระเจ้าธรรมิกราชจักมีในอนาคต ชนบททั้งหลายจักแผ่ไป วัตถุทั้งหลายมีเนยใสเนยข้นเป็นต้นจักเกิดขึ้นมากมาย ผู้บอกกล่าวจักมีในที่นั้นๆ ว่า ขอท่านทั้งหลายจงเคี้ยวกิน จงบริโภคเป็นต้น ในกาลนั้น พวกเราจักฉันอาหารเห็นปานนี้ จักห่มจีวรเห็นปานนี้ ภิกษุทั้งหลายเหล่านี้ย่อมไม่ปรารถนาปัจจัยที่ยังมาไม่ถึงอย่างนี้ด้วยประการฉะนี้.
    บทว่า ปจฺจุปฺปนฺเนน ความว่า ย่อมเลี้ยงตนเองด้วยปัจจัยอย่างใดอย่างหนึ่งที่ได้ในขณะนั้น.
    บทว่า เตน ได้แก่ ด้วยเหตุแม้ ๓ อย่างนั้น.

    พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นแสดงการถึงพร้อมแห่งวรรณะอย่างนี้แล้ว บัดนี้ เมื่อจะแสดงความพินาศแห่งวรรณะนั้นนั่นแหละ จึงตรัสพระคาถาในลำดับนั้น.
    บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนาคตปฺปชปฺปาย แปลว่า เพราะปรารถนาปัจจัยที่ยังไม่มาถึง.
    บทว่า เอเตน ได้แก่ ด้วยเหตุทั้ง ๒ นี้.
    บทว่า นโฬว หริโต ลุโต อธิบายว่า พวกพาลภิกษุจักซูบซีด เหมือนต้นอ้อสดที่บุคคลถอนทิ้งที่แผ่นหินอันร้อน จักเหี่ยวแห้งฉะนั้นแล.


               จบอรรถกถาอรัญญสูตรที่ ๑๐   
           

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑ อรัญญสูตรที่ ๑๐
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=15&i=21
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ