ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สาลิเกทารชาดก-ชาดกว่าด้วยนกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่  (อ่าน 1906 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
สาลิเกทารชาดก-ชาดกว่าด้วยนกแขกเต้าเลี้ยงพ่อแม่

 ครั้งหนึ่งพระศาสดาเมื่อเสด็จประทับอยู่ ณ พระมหาวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้เลี้ยงโยมหญิง โดยทรงตรัสว่า ในกาลนั้นทรงได้ทราบข่าวว่าภิกษุรูปหนึ่งเลี้ยงโยมหญิง จึงทรงตรัส
ให้หาภิกษุรูปนั้น แล้วตรัสถามซึ่งมูลเหตุนั้น “ดูก่อนภิกษุ ข่าวว่าเธอเลี้ยงคฤหัสถ์จริงหรือ” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นความจริงพระเจ้าค่ะ ” “คฤหัสถ์เหล่านั้นเป็นอะไรของเธอ” “ข้าแต่
พระองค์ผู้เจริญ เป็นโยมหญิงโยมชายของข้าพระองค์ พระเจ้าค่ะ”
  “ดีจริง ภิกษุ ถึงเหล่าบัณฑิตแต่ก่อน กำเนิดเกิดมาในสกุลสัตว์เดรัจฉาน ก็ยังให้พ่อแม่ผู้แก่แล้ว นอนในรัง หาอาหารมาด้วยจะงอยปากเลี้ยงดูได้” ครั้นแล้วสมเด็จพระบรมศาสดา จึงทรงนำ
อดีตนิทานมาแสดงดังต่อไปนี้  ในอดีตกาลครั้งพระเจ้ามคธราช ครองราชย์สมบัติในพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากพระนคร มีบ้านพวกพราหมณ์ชื่อ สาลินทิยะ
และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านนั้นเป็นไร่ของชาวมคธ
   ซึ่งพราหมณ์โกสิยะโคตร ชาวสาลินทิยะ ได้จับจองที่ดินเป็นบริเวณกว้างใหญ่เอาไว้ เพื่อทำไร่ข้าวสาลี โดยแบ่งเนื้อที่ในไร่นั้นให้ลูกจ้างและบริวารของตนดูแลจนครบทุกพื้นที่ “รู้สึกว่าปีนี้
ข้าวสาลีในไร่งามดีกว่าทุกปีนะ เจ้าเห็นเช่นเดียวกับเราหรือไม่” “จริงขอรับนายท่าน ปีนี้ข้าวสาลีในไร่งามดีเหลือเกิน เฉพาะส่วนที่ข้าดูแลอยู่ก็เห็นจะเก็บเกี่ยวได้หลายร้อยเล่มเกวียนอยู่” “อืม ดีๆๆ”
ในกาลนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นลูกของพญานกแขกเต้า
 ผู้เป็นหัวหน้าฝูงนกแขกเต้าทั้งมวล ซึ่งอาศัยอยู่ ณ ป่างิ้วใหญ่บนยอดภูเขาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไร่นั้นเอง ครั้นเนินนานไป เมื่อลูกพญานกแขกเต้าเติบโตขึ้น ก็กลายเป็น
นกแขกเต้าหนุ่ม ซึ่งมีรูปกายงดงาม มีร่างกายใหญ่โตขนาดดุมเกวียนและมีความสมบูรณ์ด้วยพละกำลังอันแข็งแกร่ง ในขณะที่พญานกแขกเต้าผู้เป็นพ่อและแม่นั้นก็แก่ชราลงตามกาลเวลา
ด้วยเหตุนี้พญานกผู้ชรา จึงแต่งตั้งนกแขกเต้าหนุ่มผู้เป็นลูกให้เป็นพญานก ปกครองฝูงนกแขกเต้าสืบต่อจากตน
“ลูกเอ๋ย บัดนี้พ่อแก่ชราเกินกว่าจะบินไปไกลๆ เพื่อคุ้มครองดูแลฝูงนกลูกหลานของเราได้แล้ว เจ้าจงปกครองฝูงนกนี้ต่อจากพ่อเถิดนะ” “ลูกขอน้อมรับเอาภาระของพ่อ มาปฏิบัติสืบทอดต่อ
ตามคำสั่งของพ่อจ๊ะ” “ดีแล้วลูกรักของพ่อ เอาล่ะพวกลูกหลานนกทั้งหลายจงมาชุมนุมกันตรงนี้ แล้วก็ฟังเราให้ดี” “จ้า พวกเรามาแล้วจ๊ะ ท่านพญานก ท่านมีอะไรจะบอกพวกเราหรือจ๊ะ”
“ดีแล้วๆ บัดนี้เราใคร่อยากจะให้ลูกชายของเราเป็นพญานก ปกครองฝูงนกทั้งหมดแทนเรา ซึ่งแก่ชรามากแล้ว พวกเจ้ามีใครเห็นคัดค้านก็จงแย้งมาเถิด”
 “พ่อพญานกจ๋า แต่ไหนแต่ไรมาพวกเราก็เคารพท่านและรักใคร่นับถือความมีคุณของบุตรชายท่านมาตลอดอยู่แล้ว พวกเรายินดีที่จะให้บุตรชายของท่านมาเป็นหัวหน้าเราสืบทอด
ต่อจากท่านอยู่แล้วจ๊ะ” “เราขอขอบใจพวกท่านที่เชื่อมั่นในตัวเรา จงวางใจเถิดเราจะปกครองดูแลฝูงให้ได้รับความยุติธรรมและอยู่ดีมีสุขถ้วนหน้ากันแน่นอน” เนื่องจากเห็นว่า
พญานกผู้เป็นพ่อและแม่นั้นแก่ชรามากแล้ว พญานกแขกเต้าหนุ่มจึงขอร้องให้พ่อและแม่อยู่แต่บนยอดเขา
  อันเป็นถิ่นที่พำนักในขณะที่ตนได้พาฝูงนกแขกเต้าบินไปหากินที่ป่าหิมพานต์เป็นประจำทุกวัน และหลังจากจิกกินข้าวสาลีที่เกิดเองตามธรรมชาติจนอิ่มแล้ว เมื่อถึงเวลาจะกลับรัง
พญานกแขกเต้าหนุ่มก็จะคาบรวงข้าวสาลีกลับมาที่รังเพื่อเลี้ยงดูพญานกผู้เป็นพ่อกับแม่รวมทั้งลูกเล็กๆ ของตนทั้งยังเผื่อแผ่ไปถึงบรรดานกตัวอื่นๆ ที่ไม่สามารถบินไปหาอาหารได้
ให้ได้กินอาหารจนอิ่มหนำเสมอมิได้ขาด “พ่อจ๋าแม่จ๋า วันนี้ลูกกลับมาแล้วจ๊ะ วันนี้ลูกได้รวงข้าวสาลีเม็ดโตๆ งามๆ มาฝากพ่อแม่กับพี่น้องเราตัวอื่นๆ เยอะเลยจ๊ะ”
 “ขอบใจจ๊ะลูกรัก เจ้าเหนื่อยไหมลูกที่ต้องคาบอาหารบินมาเป็นระยะทางไกลๆ แบบนี้” “ลูกไม่เหนื่อยเลยจ๊ะแม่จ๋า ขอให้พ่อกับแม่กินให้อิ่มเถิด อย่าได้วิตกกังกังวลเพราะเป็นห่วงลูกเลย”
“บุญรักษาเจ้าเถอะลูกรัก เจ้าช่างกตัญญูจริงๆ” อยู่มาวันหนึ่งเหล่านกแขกเต้าได้ยินข่าวที่แน่ชัดว่า ในช่วงฤดูกาลนี้ ผู้คนชาวแคว้นมคธจะหว่านข้าวสาลีลงในไร่ ดังนั้นเช้าวันต่อมา
พญานกแขกเต้าหนุ่ม จึงนำพาฝูงนกบริวารทั้งหมดบินไปยังทิศทางนั้น
 แล้วร่อนลงยังแปลงข้าวสาลีที่เหลืองอร่ามแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นแปลงที่ลูกจ้างของพราหมณ์โกสิยะโคตร ชาวสาลินทิยะแห่งแคว้นมคธเป็นผู้ดูแลอยู่นั่นเอง “เอาล่ะ เห็นจะเป็นที่แห่งนี้กระมัง
เหล่าพี่น้องข้า จงร่อนลงจิกกินเมล็ดข้าวสาลีในแปลงนาอันอุดมนี้เถิด” “เอ้า พวกเรา ท่านพญานกเห็นชอบที่ตรงนี้แล้ว พวกเราลุยเลย” ภาพนกแขกเต้าฝูงใหญ่ที่ลงกลุ้มรุมจิกกินข้าวสาลี
ทำให้ลูกจ้างของโกสิยะโคตรบังเกิดความตกใจเป็นอันมาก
 “เฮ้ย นี่มันอะไรกันเนี่ย นกแขกเต้าพวกนี้มาจากไหนกัน เฮ้ย นี่มันข้าวสาลีของข้านะเว้ย ไป ชิวๆ ไป๊” แต่ไม่ว่าลูกจ้างของพราหมณ์โกสิยะโคตรวิ่งวนเวียนขับไล่ฝูงนกอย่างไร ก็มิอาจห้ามฝูงนก
ที่กำลังหิวโหยได้ ในที่สุดหลังจากเหล่านกแขกเต้าจิกกินเมล็ดข้าวสาลีจนอิ่มแล้วจึงเข้ามารวมฝูงกัน และบินตามหลังพญานกแขกเต้าผู้เป็นหัวหน้าซึ่งคาบรวงข้าวสาลีที่มีเมล็ดโตสวย กลับไปยังรัง
บนยอดเขาดังเช่นเคย
 “โธ่หมดกัน คราวนี้ต้องแย่แน่ๆ แต่เอ๊ะ เจ้านกตัวนั้นช่างงามจริง ตัวก็โตกว่านกตัวอื่น ท่วงท่าก็ดูสง่า แต่ทำไม่จึงคาบเอารวงข้าวกลับรังไปด้วยนะ แปลกจริงๆ” ด้วยความร้อนใจ
เพราะเกรงว่าหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ทุ่งข้าวสาลีที่เหลืองอร่ามเหล่านี้จะต้องถูกฝูงนกแขกเต้าจิกกินจนเสียหายหนัก แล้วตนก็จะต้องเดือดร้อนในภายหลัง เพราะถูกพราหมณ์
ผู้เป็นนายจ้างตำหนิและปรับค่าเสียหาย ลูกจ้างจึงนำความไปบอกแกพราหมณ์โกสิยะโคตรทันที
  “แย่แล้วนายท่าน คราวนี้เห็นจะแย่แน่ๆ ” “เอ๊ะ ลูกจ้างที่ดูแลไร่ข้าวสาลีของเราอยู่นี่น่า เกิดอะไรขึ้น เหตุใดจึงวิ่งหน้าตาตื่น” “นายท่านขอรับ วันนี้มีนกแขกเต้าฝูงใหญ่ บินมารุมกินข้าวสาลีในนา
ที่ข้าดูแลอยู่จนเสียหาย ข้าเกรงว่าถ้านกฝูงนี้ยังมาอีกเรื่อยๆ เห็นทีข้าวสาลีแปลงนี้ คงไม่ได้เก็บเกี่ยวกันเป็นแน่” “เอ้ แต่ไหนแต่ไรมาก็ไม่เคยเห็นว่ามีฝูงนกแขกเต้าอาศัยอยู่ในที่เพาะปลูกแถวนี้เลย
เจ้าพอจะรู้ไหมว่า มันบินมาจากที่ไหนกัน”
 “ข้าก็ไม่รู้เหมือนกันขอรับนายท่าน แต่เห็นว่า นกฝูงนี้บ่ายหน้ากลับไปยังทิศตะวันออกเฉียงเหนืออันเป็นดงไม้งิ้วโน่น อ้อ ข้ายังเห็นว่า มีนกตัวหนึ่ง รูปร่างใหญ่โตสวยงาม เหมือนจะเป็นหัวหน้าฝูงนะ
แล้วตอนบินกลับไป นกตัวนั้นยังคาบเอารวงข้าวสาลีรวงงามๆ ไปด้วย” “เอ๊ะ มีเรื่องอย่างนี้ด้วยรึ เราชักอยากจะเห็นเจ้านกตัวนี้เสียแล้ว เอาล่ะ พรุ่งนี้เจ้าจงเอาแร้วไปดักนกตัวที่เจ้าว่านี้ แล้วนำมาที่เรือน
ของข้าทั้งที่ยังเป็นๆ เถิด” “ขอรับนายท่าน”
 ชายผู้เป็นลูกจ้างเฝ้าไร่ รีบกลับบ้าน แล้วทำบ่วงดักนกที่มั่นคงแข็งแรงขึ้นมาอันหนึ่ง เมื่อคะเนจนถ้วนถี่ และกำหนดตำแหน่งที่พญานกจะร่อนลงจิกกินเมล็ดข้าวแล้ว ลูกจ้างของพราหมณ์จึงนำแร้ว
ไปปักไว้ทันที “เอาหละ ตรงนี้ข้าวงามดีกว่าที่อื่นๆ เจ้านกใหญ่น่าจะร่อนลงตรงนี้แน่ๆ” วันต่อมาพญานกแขกเต้าหนุ่มก็ลาพ่อแม่พาฝูงนกบริวารออกบินมายังทุ่งข้าวสาลีของพราหมณ์เช่นเคย
และด้วยนิสัยอันไม่โลเลทำให้พญานกหนุ่มบินร่อนลงยังจุดเดิมที่ตนเคยจิกกินเมล็ดข้าวเมื่อวานนี้
 โดยไม่รู้ว่าที่แห่งนั้นมีบ่วงแร้วปักซ่อนเอาไว้ และไม่รู้ว่าขณะนั้นตนและฝูงถูกลูกจ้างของพราหมณ์ผู้เป็นเจ้าของนาแอบซุ่มดูอยู่ ดังนั้นขณะที่พญานกร่อนลงบนแปลงนาพร้อมๆ กับนกตัวอื่นๆ
นั้นเอง เท้าของพญานกก็สอดเข้ากับบ่วงแร้วพอดี โดยไม่มีนกตัวอื่นรู้เห็นด้วยเลย “โอ๊ะ นี่มันบ่วงแร้วนี่น่า โธ่..เราติดบ่วงแร้วเข้าเสียแล้วหรือนี่” พญานกแขกเต้ารีบตั้งสติให้มั่นคง พร้อมกับ
ครุ่นคิดอยู่ในใจถึงวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด
 “เอ้ ถ้าเราร้องเอะอะขึ้นในเวลานี้ พี่น้องบริวารของเราจะต้องลนลานด้วยความตกใจ จนไม่เป็นอันหากินแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะสู้นิ่งเฉยเสียก่อน จนกว่าเหล่าพี่น้องเราจะกินอิ่ม
เห็นจะเหมาะที่สุด” ครั้นสมควรแก่เวลาและคะเนว่าฝูงนกแขกเต้าทั้งหมดได้กินข้าวสาลีจนอิ่มหนำสำราญทุกตัวแล้ว นกแขกเต้าพระโพธิสัตว์ จึงร้องขึ้นด้วยเสียงอันดัง เพื่อให้รู้ถึง
สัญญาณอันตราย “พี่น้องเอ๋ย บัดนี้ตัวข้าพญานกแขกเต้าได้ติดบ่วงนายพรานเสียแล้ว พวกเจ้าจงเร่งบินกลับรังโดยเร็วเถิด ” “แย่แล้วๆ ท่านพญานกติดบ่วงแร้ว”
  “ว้าย จริงหรือจ๊ะพี่ แล้วลูกเราล่ะ ลูกเราอยู่ไหนเนี่ย ลูกแม่ๆ หนีเร็วลูก หนีเร็วๆ” “โธ่ ท่านพญานก พวกข้าอยากช่วยท่านเหลือเกิน” “พวกเจ้าไม่ต้องห่วงเราหรอก นี่คงจะเป็นบาปกรรมของเรา
แต่ปางก่อนแน่แท้ รีบกลับไปที่รังเถิด เราฝากท่านดูแลบิดามารดาของเราด้วยนะ” “ท่านพญานก นายพรานกำลังมาโน่นแล้ว ข้ารับปากท่าน” ลูกจ้างผู้เฝ้าไร่เมื่อได้ยินเสียงนกร้องเอะอะ
ก็ออกมาจากที่ซุ่มดูแล้วก็พบว่านกแขกเต้าทุกตัวได้บินหนีไปเสียหมดแล้ว
ยังเหลือก็แต่พญานกแขกเต้าที่ตนต้องการตัว เขาจึงรีบมายังบ่วงแร้วนั้นด้วยความดีใจ “เอาล่ะได้ตัวแล้ว รีบเอาไปให้นายท่านดีกว่า” ฝ่ายพราหมณ์โกสิยะโคตร ครั้นได้เห็น
พญานกแขกเต้าผู้สง่างาม ก็ให้เกิดความเมตตารักใคร่ขึ้นมาในทันที่ จึงได้อุ้มประคองนกแขกเต้าให้นั่งบนตักด้วยอาการทะนุถนอม แล้วเอ่ยถามว่า “พ่อนกแขกเต้าเอ๋ย
ท้องของเจ้า เห็นจะใหญ่กว่าท้องของนกเหล่าอื่นเป็นแน่ เจ้ากินข้าวสาลีตามต้องการแล้วยังคาบไปด้วยจะงอยปากอีก
 ดูก่อนนกแขกเต้า เจ้าจะบรรจุฉางในป่าไม้งิ้วนั้นให้เต็มหรือ หรือว่าเจ้ากับเรามีเวรกันมาสหายเอ๋ย เราถามเจ้าแล้ว ขอเจ้าจงบอกแก่เราเถิด เจ้าฝังข้าวสาลีไว้ที่ไหน”
ฝ่ายพญานกแขกเต้ามหาโพธิสัตว์เมื่อได้ฟังพราหมณ์ถามด้วยน้ำเสียงปราณีเช่นนั้น จึงผ่อนคลายความกังวลลง ก่อนจะกล่าวตอบด้วยภาษามนุษย์อันไพเราะว่า “ท่านพราหมณ์เอ๋ย
ข้าพเจ้ากับท่านไม่ได้มีเวรกันฉางของข้าพเจ้าก็ไม่มี ข้าพเจ้านำเอาข้าวสาลีของท่านไปถึงยอดงิ้วแล้วก็เปลื้องหนี้เก่า ให้เขากู้หนี้ใหม่ แล้วฝังขุมทรัพย์ไว้ที่ป่างิ้วนั้น
 ข้าแต่ท่านโกสิยะขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด” “พ่อนกแขกเต้าผู้เรืองปัญญาท่านกล่าวเช่นนี้ เรายิ่งบังเกิดความสงสัยนักการให้กู้หนี้ของท่านเป็นเช่นไร การเปลื้องหนี้
ของท่านเป็นเช่นไร ขอท่านจงอธิบายวิธีฝังขุมทรัพย์ของท่านแกเราเถิด แล้วเราจักปลดปล่อยท่านให้หลุดพ้นจากบ่วงในครั้งนี้” ครั้นแล้วพญานกแขกเต้ามหาโพธิสัตว์ จึงได้
อรรถาธิบายถึงความหมายแห่งธรรมบทนั้นดังนี้ “ข้าแต่ท่านโกสิยะ บุตรน้อยทั้งหลายของข้าพเจ้ายังอ่อน ขนปีกยังไม่ขึ้น บุตรเหล่านั้นข้าพเจ้าเลี้ยงมาแล้ว
เขาจักเลี้ยงข้าพเจ้าบ้าง
 เพราะเหตุนั้นข้าพเจ้าจึงเชื่อว่า ให้บุตรเหล่านั้นกู้หนี้มารดาและบิดาของข้าพเจ้าแก่เฒ่าล่วงกาลผ่านวัยไปแล้ว ข้าพเจ้าคาบเอาข้าวสาลีไปด้วยจะงอยปากเพื่อท่านเหล่านั้น
ชื่อว่าเปลื้องหนี้ที่ท่านทำไว้ก่อน อนึ่งนกเหล่าอื่นที่ป่าไม้งิ้วนั้นมีขนปีกอันหลุดหมดแล้ว เป็นนกทุพพลภาพ ข้าพเจ้าต้องการบุญจึงได้ให้ข้าวสาลีแก่นกเหล่านั้น บัณฑิต
ทั้งหลายกล่าวการทำบุญนั้นว่าเป็นขุมทรัพย์ การให้กู้หนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ การเปลื้องหนี้ของข้าพเจ้าเป็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าบอกการฝังขุมทรัพย์ไว้เช่นนี้
 ข้าแต่ท่านโกสิยะ ขอท่านจงทราบอย่างนี้เถิด” พราหมณ์ได้ฟังคำของท่านพญานกแขกเต้าก็พลันบังเกิดความปีติยินดียิ่ง ถึงกับรำพึงขึ้นด้วยความเลื่อมใสศรัทธาว่า
“นกตัวนี้ดีจริงหนอเป็นนกมีธรรมชั้นเยี่ยม ในมนุษย์บางพวกยังไม่มีธรรมเช่นนี้เลย” ครั้นแล้วโกสิยะพราหมณ์จึงแก้เชือกที่มัดเท้าของพญานกแขกเต้าออก ทาเท้าทั้งคู่
ด้วยน้ำมันที่หุงแล้วร้อยครั้ง ให้เกาะที่ตั่งอันงดงาม แล้วให้บริโภคข้าวตอกคลุกน้ำผึ้งด้วยจานทอง ให้ดื่มน้ำเจือน้ำตาลกรวด แล้วบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นการ
ขอขมา ดูแลปรนนิบัติอย่างดี ก่อนจะขอร้องพญานกแขกเต้าว่า
“ข้าแต่พญานกผู้ยิ่งด้วยบารมี ต่อนี้ไปเราขอให้ท่านพร้อมด้วยญาติทั้งมวล จงกินข้าวสาลีตามความต้องการเถิด แล้วเราเองก็ใคร่สนทนาและสดับธรรมจากท่านอีก ขอท่าน
โปรดจงมาเยือนเรือนของเราเป็นเนืองนิดเถิด” “ข้าแต่ท่านโกสิยะ ข้าพเจ้าได้กินและดื่มแล้วในที่อยู่ของท่าน ท่านเป็นที่พึงพำนักของพวกเราทุกวันคืน ขอท่านจงให้ทานแก่เหล่า
สัตบุรุษ แล้วจงเลี้ยงดูมารดาบิดาผู้แก่เฒ่าของท่านให้ดีเถิด” “โอ้ วันนี้สง่าราศีเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าแล้ว ช่างเป็นบุญเหลือเกินที่ได้เห็นท่านผู้เป็นยอดแห่งฝูงนกข้าพเจ้าจะจดจำ
และปฏิบัติตามคำสอนของท่านด้วยความยินดียิ่งและต่อจากนี้ไป ข้าพเจ้าจะหมั่นสร้างบุญกุศลเอาไว้มิให้ขาดเลย บัดนี้ข้าพเจ้าขอขมาต่อท่าน และขอเชิญท่านนำรวงข้าวสาลี
นี้กลับไปสู่รังอันอบอุ่นของท่านเถิด”
   
     ครั้นแล้วพญานกแขกเต้าจึงคาบรวงข้าวที่โกสิยะพราหมณ์มอบให้เอาไว้ แล้วบินกลับสู่ป่าไม้งิ้วบนยอดเขา อันเป็นที่พำนักท่ามกลางความปีติยินดี ของพญานกและนางนก

ผู้เป็นบิดามารดาตลอดจนเหล่านกแขกเต้าทั้งมวลผู้เป็นบริวาร สมเด็จพระบรมศาสดาเมื่อทรงกล่าวเทศนาสาทกถึงเรื่องราวของพญานกแขกเต้าดังนี้แล้ว พระภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดา
มารดานั้น ก็บรรลุโสดาปัตติผลครั้นแล้วสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสประชุมชาดกว่า
ฝูงนกแขกเต้าในครั้งนั้น  ได้มาเป็น พุทธบริษัท

มารดาบิดา ได้มาเป็น มหาราชสกุล

คนเฝ้าไร่ ได้มาเป็น ฉันนะ

พราหมณ์ ได้มาเป็น อานนท์

พญานกแขกเต้า ได้มาเป็น เราตถาคตแล

ที่มา http://www.dmc.tv/pages/นิทานชาดก/นิทานชาดก-สาลิเกทารชาดก.html
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 20, 2015, 06:48:11 pm โดย jaravee »
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ