ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ‬ อนุมัตเตสุ  (อ่าน 1838 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บาลีวันละคำ‬ อนุมัตเตสุ
« เมื่อ: กรกฎาคม 13, 2016, 05:45:03 pm »
0
‪บาลีวันละคำ‬
อนุมัตเตสุ
ไม่ใช่ “อนุมัติ”
“อนุมัตเตสุ” เป็นคำบาลีเขียนแบบไทย
เขียนแบบบาลีเป็น “อนุมตฺเตสุ” อ่านว่า อะ-นุ-มัด-เต-สุ
“อนุมตฺเตสุ” ศัพท์เดิมเป็น “อนุมตฺต” (อะ-นุ-มัด-ตะ) ประกอบด้วย อนุ + มตฺต
(๑) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ
แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อย “อนุภรรยา” = เมียน้อย
แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป
แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา
แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก
ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า น้อย
(๒) “มตฺต” รูปเดิมเป็น “มตฺตา” รากศัพท์มาจาก มา (ธาตุ = กะ, ประมาณ) + ต ปัจจัย, ลบสระที่สุดธาตุ (มา > ม), ซ้อน ตฺ, + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: มา > ม + ตฺ + ต = มตฺต + อา = มตฺตา แปลตามศัพท์ว่า “จำนวนอันเขาประมาณเอา”
“มตฺตา” เป็นคำนาม เมื่อใช้เป็นคุณศัพท์เปลี่ยนรูปเป็น “มตฺต” มีความหมายหลายนัย ดังนี้ -
(1) ประกอบด้วย, วัดได้ (หรือตวง ฯลฯ ได้), ประมาณ (consisting of, measuring)
(2) มากถึง, คือ เท่านั้น, เพียง, น้อยเพียงเท่านั้นเท่านี้, ไม่แม้แต่(หนึ่ง), ไม่เลย (as much as, i. e. only, a mere, even as little as, the mere fact (of), not even (one), not any)
(3) มากถึง, มากเท่านั้น, บ้าง, เพียงพอที่จะ- (as much as, so much, some, enough of)
(4) เหมือน, เหมือนเช่น, สิ่งที่เรียกว่า, อาจพูดได้ว่า (like, just as what is called, one may say)
(5) แม้, ทันทีที่, เนื่องจาก (even at, as soon as, because of)
อนุ + มตฺต = อนุมตฺต แปลว่า ขนาดเล็ก, เล็กน้อย, นิดเดียว (of small size, atomic, least)
“อนุมตฺต” ใช้เป็นคุณศัพท์ของ “วชฺช” (วัด-ชะ) แปลว่า โทษ, ความผิด
ข้อความที่พบบ่อยในคัมภีร์ คือ -
อนุมตฺเตสุ วชฺเชสุ ภยทสฺสาวี (อะนุมัตเตสุ วัชเชสุ ภะยะทัสสาวี)
สังเกต: "วชฺช” แจกรูปเป็น “วชฺเชสุ” “อนุมตฺต” ซึ่งเป็นคุณศัพท์จึงต้องเปลี่ยนรูปตามเป็น “อนุมตฺเตสุ”
ข้อความนี้เป็นคำแสดงลักษณะของภิกษุที่ประพฤติเคร่งครัดในพระธรรมวินัย แปลตามศัพท์ว่า “มีปกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายอันมีประมาณเล็กน้อย”
แปลสกัดความว่า โทษหรือข้อห้ามแม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็เห็นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่กล้าล่วงละเมิด
คำว่า “อนุมตฺเตสุ” นี้ บางท่านที่มีจินตนาการทางภาษา เห็นรูปคำ “อนุมตฺ-” และเสียงอ่านว่า อะ-นุ-มัด- ก็เข้าใจไปว่ามีความหมายอย่างเดียวกับ “อนุมัติ” ในภาษาไทย จึงแปลใส่จินตนาการว่า -
... ไม่ยอมอนุมัติไปเสียทุกเรื่อง คือไม่ยอมทำผิดไปเสียทุกเรื่อง ...
“อนุมัติ” บาลีเป็น “อนุมติ” (อะ-นุ-มะ-ติ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ
แปลว่า consent, permission, agreement, assent, approval (ยินยอม, อนุญาต, เห็นด้วย, ยอมรับ, อนุมัติ)
(ดูเพิ่มเติมที่ : “อนุญาต - อนุมัติ” บาลีวันละคำ (1,328) 18-1-59)
“อนุมตฺเตสุ” จึงเป็นคนละคำและคนละเรื่องกับ “อนุมัติ” ด้วยประการฉะนี้
: ความผิดแม้จะน้อยนิดเพียงใด บัณฑิตก็รังเกียจ
: ดูก่อนภราดา! อุจจาระแม้เพียงนิดหน่อย ก็เหม็นมิใช่ฤๅ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
บันทึกการเข้า