ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สังคายนา...เชื่อมกาลสานธรรม - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC)  (อ่าน 731 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



สังคายนา...เชื่อมกาลสานธรรม - อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC)

ใกล้รุ่งของคืนวันเพ็ญ 15 ค่ำเดือน 6 ณ สาลวโนทยานสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ยังความเศร้าเสียใจให้แก่เหล่าพุทธบริษัท 4

ทว่ากลับมีภิกษุนามว่าพระสุภัททะได้กล่าวจาบจ้วงดูหมิ่นพระธรรมวินัยเป็นเหตุให้พระมหากัสสปะเถระเรียกประชุมสงฆ์เพื่อสังคายนาพระธรรมวินัยขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา เมืองราชคฤห์หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน

อีกร้อยปีต่อมาราว พ.ศ. 100 ได้เกิดกรณีพิพาทเมื่อภิกษุวัชชีบุตรเมืองไพศาลีได้บัญญัติและประพฤติตามวัตถุ 10 ประการ ซึ่งขัดต่อพุทธบัญญัติจึงเป็นเหตุให้มีการสังคายนาครั้งที่ 2 ขึ้น ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี มีพระอรหันตขีนาสพจำนวน 700 องค์ เข้าร่วมประชุมสังคายนา

ต่อมาอีกร้อยกว่าปีประมาณ พ.ศ. 200 เศษ ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาทำให้มีเดียรถีย์จำนวนมากปลอมเข้ามาบวชเพื่อหวังลาภสักการะ เป็นเหตุให้พระเจ้าอโศกมหาราชเห็นภัยที่เกิดขึ้นจึงทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ในการสังคายนาครั้งที่ 3 ณ อโศการาม เมืองปาฏลีบุตร มีพระอรหันตขีนาสพจำนวน 1,000 องค์ เข้าร่วมประชุมสังคายนา



การนับจำนวนการสังคายนา 3 ครั้งดังกล่าว ณ ดินแดนชมพูทวีปเป็นที่ยอมรับตรงกันของนักวิชาการและพระภิกษุในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาเถรวาท คือ ไทย พม่า และศรีลังกา แต่วิธีนับสังคายนาตั้งแต่ครั้งที่ 4 เป็นต้นไป แต่ละประเทศจะแตกต่างกัน

เนื่องจากหลังการสังคายนาครั้งที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งสมณฑูตจำนวน 9 สาย ออกเผยแผ่ปักหลักพระพุทธศาสนายังดินแดนต่าง ๆ ทำให้เกิดการชำระพระธรรมคำสอนเฉพาะในดินแดนของตนในกาลต่อมา

สำหรับประเทศไทยนับการสังคายนา 3 ครั้งแรกที่ชมพูทวีปเช่นเดียวกับประเทศพม่าและศรีลังกา แต่เริ่มนับการสังคายนา ณ ถูปาราม เมืองอนุราธปุระ เกาะลังกา พ.ศ. 238 ซึ่งพระเจ้าเทวานัมปิยะติสสะทรงเป็นองค์อุปถัมภ์เป็นสังคายนาครั้งที่ 4



การสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่ปฐมสังคายนาจนถึงสังคายนาครั้งที่ 4 นี้ เป็นลักษณะท่องสวดแบบปากเปล่าต่อกันมาตั้งแต่สมัยปฐมสังคายนาโดยศิษย์สายพระอุบาลีทรงจำพระวินัยปิฎก ศิษย์สายพระอานนท์ทรงจำพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎกสืบกันมาโดยมิได้ขาดสาย

จนกระทั่งการสังคายนาครั้งที่ 5 ราวพ.ศ. 400 เศษ ได้มีการจารจารึกพระไตรปิฎกเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนใบลานเป็นครั้งแรก ณ อาโลกเลนสถาน ในลังกาทวีป นับจากนั้นวิธีสืบทอดพระไตรปิฎกในเกาะลังกา คือ การสังคายนาครั้งที่ 6 และ 7 จึงเปลี่ยนรูปแบบเป็นการจารจารึกลงในคัมภีร์ใบลาน และธรรมเนียมการสืบทอดพุทธธรรมบนแผ่นใบลานนี้ได้ขยายอิทธิพลมาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ

ในคราวสังคายนาครั้งที่ 8 ซึ่งนับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกในแผ่นดินไทย พระเจ้าติโลกราชกษัตริย์แห่งล้านนาทรงโปรดฯ ให้จารพระไตรปิฎกบาลีด้วยอักษรธรรมล้านนาลงบนแผ่นลานเพื่อชำระคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่วิปลาสคลาดเคลื่อนให้บริสุทธิ์บริบูรณ์



ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดให้จารจารึกพระไตรปิฎกลงบนแผ่นลานด้วยอักษรขอม เมื่อคราวกระทำสังคายนาครั้งที่ 9 ณ กรุงเทพมหานครวิธีสืบทอดพุทธธรรมตั้งแต่สังคายนาครั้งที่ 5 จนถึงครั้งที่ 9 นี้ จึงเป็นแบบการจารจารึกลงบนแผ่นลานทั้งสิ้น

ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เจริญก้าวหน้าวิธีสืบทอดพุทธธรรมจึงเปลี่ยนรูปแบบมาเป็นการพิมพ์ลงบนกระดาษ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ 10 ทรงมีพระราชศรัทธาให้พิมพ์พระไตรปิฎกบาลีเป็นเล่มแบบฝรั่งมี 39 เล่ม นับเป็นพระไตรปิฎกบาลีฉบับพิมพ์ชุดแรกของโลก นอกจากนี้ทรงโปรดฯ ให้เปลี่ยนอักษรที่บันทึกพระไตรปิฎกจากอักษรขอมเป็นอักษรไทยอีกด้วย

และในคราวสังคายนาครั้งที่ 11 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกเพิ่มอีก 6 เล่มจนครบ 45 เล่มในหนึ่งชุด ปัจจุบันพระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐถือเป็นพระไตรปิฎกฉบับหลักของไทย



นับแต่หลังพุทธปรินิพพานเมื่อสองพันห้าร้อยกว่าปีก่อนจนถึงปัจจุบัน การสังคายนาแต่ละยุคสมัยมีรูปแบบการสืบทอดแตกต่างกันไป ทั้งแบบมุขปาฐะ การจารจารึก และพิมพ์เป็นหนังสือ

ในช่วงแรกการนับการสังคายนาของแต่ละดินแดนนับตรงกัน แต่เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่อย่างกว้างขวาง แต่ละแห่งก็กระทำสังคายนาในพื้นที่ของตน ในประเทศไทยเองก็มีการสังคายนาและจัดทำพระไตรปิฎกรูปแบบต่าง ๆ อยู่หลายครั้ง เพื่อสืบทอดธำรงและเชื่อมคำสอนครั้งพุทธกาลให้ส่งผ่านกาลเวลามาสู่แผ่นดินไทยในปัจจุบัน





Thank to : https://today.line.me/th/v2/article/qo8rLNw
เผยแพร่ 1 วันที่แล้ว • อนุรักษ์พระไตรปิฎกใบลาน (MPSC)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ