ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไม ‘สีจีวร’ ของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถึงแตกต่างกัน  (อ่าน 1513 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ทำไม ‘สีจีวร’ ของภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ถึงแตกต่างกัน

ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องสีจีวรของภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยเป็นอย่างมากและจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาเมืองไทย มี 2 นิกาย ในฝ่ายเถรวาทเช่นเดียวกัน ภิกษุสงฆ์ในฝ่ายมหายานไม่ค่อยมีปัญหาปรากฏให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นจีนนิกายหรืออนัมนิกาย

แต่ในประเทศไทยได้รับอิทธิพลมาจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาท นับตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ จำนวน 9 สาย ซึ่ง 1 ในจำนวน 9 สายนั้น สายที่ 8 ซึ่งมีพระโสณะเถระกับพระอุตตระเถระเป็นหัวหน้าคณะเดินทางมาวางรากฐานพระพุทธศาสนายังอาณาจักรสุวรรณภูมิ ซึ่งอาณาจักรสุวรรณภูมิในครั้งกระโน้น นักประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีได้ลงความเห็นว่าอาณาจักรสุวรรณภูมินั้นมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศไทยในปัจจุบัน

2,000 กว่าปีที่ประเทศไทยได้รับเอาพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทมาเป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งที่ปรากฏได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ภาษาบาลี-สันสกฤต ซึ่งมีอิทธิพลมากลมกลืนกับภาษาไทย จนแทบจะพูดได้ว่า ภาษาบาลี-สันสกฤต ก็คือ ภาษาไทย เพราะถ้าจะเปิดหาคำศัพท์ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ก็จะพบว่า 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ เป็นภาษาบาลี-สันสกฤต นอกจากด้านภาษาแล้ว วัฒนธรรม ประเพณี ก็ได้รับอิทธิพลมาจากชมพูทวีปเป็นส่วนใหญ่


@@@@@@

เมื่อประชาชนชาวไทยได้น้อมรับเอาพระพุทธศาสนามาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมน้อมรับพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยการแสดงความนอบน้อมเคารพบูชาในองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ในทุกครั้งที่ประกอบบุญพิธี จะต้องกล่าวคำว่า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

ตามด้วยการเปล่งวาจานอบน้อมพระรัตนตรัย ด้วยคำว่า
อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ภะคะวา, พุทธัง ภะคะวันตัง อภิวาเทมิ. (กราบ)
สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม, ธัมมัง นะมัสสามิ. (กราบ)
สุปะฏิปปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ, สังฆัง นะมามิ. (กราบ)

และเปล่งวาจาเข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยคำว่า
พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ, ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ, สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ กล่าวย้ำซ้ำกันถึง 3 ครั้ง เสริมคำด้านหน้าครั้งที่ 2 ว่า ทุติยัมปิ เสริมคำด้านหน้าครั้งที่ 3 ว่า ตะติยัมปิ

ชาวพุทธประพฤติปฏิบัติกันด้วยความเคารพนับถือในภิกษุสงฆ์ว่าเป็นผู้นำจิตวิญญาณสูงสุดในชีวิตประจำวัน จึงยกย่องภิกษุสงฆ์ให้อยู่สูงเหนือกว่าชนทั้งหลายทั้งปวง

@@@@@@

ในเมื่อกาลเวลาผ่านมาถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย ได้เกิดมีการแยกนิกายออกเป็น 2 นิกาย เรียกว่า ธรรมยุติกนิกายกับมหานิกาย เมื่อภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 นิกาย แต่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ 2505 แก้ไขเพิ่มเติม 2535 หรือแม้แต่แก้ไขเพิ่มเติมบางมาตราในปี 2561 แต่ก็ยังคงสถานะตำแหน่งแห่งสมเด็จพระสังฆราช มีเพียงรูปเดียว นี่คือความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวในหมู่ภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทย

ภิกษุสงฆ์ฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยยึดหลักพระธรรมวินัยที่ได้กลั่นกรองมาจากพระอรหันต์ในการทำสังคายนาครั้งที่ 1 หลังพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 3 เดือน มีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธานสงฆ์ และพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ในการทำสังคายนาที่เมืองราชคฤห์

การทำสังคายนาครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเมื่อ พ.ศ.100 ที่วาลุการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ประเทศอินเดีย โดยมีพระยสกากัณฑกบุตร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ มีพระเจ้ากาลาโศกราช ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์



การทำสังคายนาครั้งที่ 3 ปรารภพวกเดียรถีย์ปลอมตัวเข้ามาบวชด้วยเห็นแก่ลาภสักการะเพื่อบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน มีพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์ศาสนูปถัมภ์ และส่งพระสาวกไปประกาศพระพุทธศาสนายังแว่นแคว้นต่างๆ จำนวน 9 สาย โดยให้ยึดถือปฏิบัติในแนวทางเดียวกันตามพระพุทธดำรัสขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเป็นพุทธวจนะ ในคราวจะเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า

โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา
แปลว่า : ดูกรอานนท์ ธรรมแลวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้วและบัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงลับไป (ที.ม.10/141/178)

แต่ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ปรารภเรื่องสีของจีวรที่พระฉัพพัคคีย์ห่มจีวรหลากสีทั้งสีแดงล้วน เขียวล้วน เหลืองล้วน ดำล้วน เขียวครามล้วน บานเย็นล้วน ชมพูล้วน จนเป็นข้อครหาของชาวบ้านว่า ภิกษุฉัพพัคคีย์ห่มจีวรมีสีเหมือนผ้าคฤหัสถ์ เมื่อเรื่องนั้นมีภิกษุสงฆ์ได้กราบทูลพระพุทธเจ้า

@@@@@@

พระองค์จึงทรงตรัสเรื่องการใช้สีของจีวรซึ่งปรากฏมีมาในพระไตรปิฎก วินัยปิฎก เล่ม 5 จีวรขันธกะ มหาวรรค มีความว่า

ภควโต เอตมตฺถํ อาโรเจสุ
น ภิกฺขเว สพฺพนีลกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีครามล้วน
น สพฺพปีตกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองไม่มีสีอื่นปน
น สพฺพโลหิตกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีแดงไม่มีสีอื่นปน
น สพฺพมญฺเชฏฺฐกานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีบานเย็นไม่มีสีอื่นปน
น สพฺพกณฺหานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีดำไม่มีสีอื่นปน
น สพฺพมหารงฺครตฺตานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีแดงมหารงค์/แสด
น สพฺพมหานามรตฺตานิ จีวรานิ ธาเรตพฺพานิ ไม่พึงทรงจีวรสีแดงมหานาม/ชมพู

สีจีวร 7 สี ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า ภิกษุไม่พึงทรงจีวรเหล่านี้ ที่นำเรื่องสีจีวรของภิกษุในพระพุทธศาสนามาพูดในที่นี่ ก็เนื่องจากว่าภิกษุสงฆ์ในประเทศไทยกำลังมีข้อขัดแย้งเรื่องการใช้สีของจีวร ซึ่งมีพระผู้ใหญ่ออกมาพูดว่า “เลิกกันได้รึยัง การห่มสีเหลือง เพราะมันผิดพระวินัย ไปเปิดดูในพระไตรปิฎก เรื่องจีวรขันธกะ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ไม่พึงทรงจีวรสีเหลือง” ฯลฯ





เมื่อคลิปนี้เผยแพร่ไปในโลกออนไลน์ก็เกิดพลังต้านจากหมู่ภิกษุที่ทรงจีวรสีเหลืองขึ้นมาทันที ได้ฟังทั้ง 2 ฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันแล้ว จึงเกิดความกังขาขึ้นมาว่า สีเหลืองที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือสีเหลืองแบบไหนชนิดไหน เพราะสีเหลืองที่กล่าวถึงในปัจจุบันมีหลายสีเหลืองเหลือเกิน จึงขอนำคำว่าสีเหลือง อันเป็นเฉดเหลือง หรือโทนเหลือง มาให้เห็นกันชัดๆ ว่ามีเหลืองอยู่กี่ชนิดสี (ดูรูป 1)

นี่คือเฉดเหลืองหรือโทนเหลือง มีอยู่ประมาณ 20 สีเหลืองด้วยกัน สีเหลืองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ภิกษุไม่พึงทรงจีวรสีเหลืองไม่มีสีอื่นปน นั่นน่าจะหมายถึงสีเหลืองล้วน ดังปรากฏในสีเหลือง ข้อที่ 1 นั้น เป็นสีเหลืองดอกคูน นี่คือสีต้องห้าม

สีเหลืองที่ปรากฏมีสีอื่นปน นับตั้งแต่ข้อที่ 2 จนถึงข้อที่ 20 ล้วนแต่มีสีอื่นปนทั้งสิ้น จึงควรวินิจฉัยสีให้ชัดเจนก่อนแล้วจึงประกาศในท่ามกลางสงฆ์ มิใช่ว่าตนเองยังวินิจฉัยสีไม่ถูกว่าสีเหลืองชนิดไหนเป็นสีต้องห้ามและสีเหลืองชนิดไหนที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงห้าม เพราะตอนนี้มีภิกษุในเมืองก็ห่มสีจีวรสีหนึ่ง ภิกษุในบ้านชนบทก็ห่มสีจีวรอีกสีหนึ่ง ภิกษุในป่าก็ห่มจีวรอีกสีหนึ่ง เมื่อภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นจะห่มจีวรสีใดก็เป็นไปตามสมัยนิยมในขณะนั้น และหรือตามเจ้าอาวาสที่ปกครองวัดนั้น

@@@@@@

ผมบวชเป็นสามเณรตั้งแต่ปี 2508 ในสมัยนั้นยุคไหน ผ้าจีวรเป็นเฉดแดงหรือโทนแดง (ดูรูป 2) ถ้าดูสีตามเฉดแดงนี้ สีจีวรในยุคที่ผมเป็นสามเณรจะออกเฉดแดงดังปรากฏในสีกลุ่มข้อที่ 7 ซึ่งก็มิใช่เฉดแดงล้วนดังสีแดงในข้อที่ 1

มาถึงปี 2510 พระผู้ใหญ่เริ่มใช้สีจีวรเฉดเหลือง ดังสีที่ปรากฏในเฉดเหลืองข้อที่ 1 เพียงแค่ 2-3 ปี จีวรภิกษุ-สามเณร ก็เหลืองอร่ามไปทั้งแผ่นดิน แต่สีเหลืองก็ปรากฏเป็นจีวรภิกษุ-สามเณรอยู่เพียงไม่กี่ปี ก็ปรากฏสีชนิดใหม่ขึ้นมาแทนที่สีเหลือง นั่นคือเฉดส้ม หรือโทนส้ม (ดูรูป 3) สีจีวรที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันในคณะสงฆ์มหานิกายส่วนหนึ่งเป็นจีวรเฉดส้ม และก็เป็นสีส้มดังปรากฏในข้อที่ 1

สีจีวรภิกษุในคณะสงฆ์มหานิกายอีกส่วนหนึ่งก็เป็นจีวรเฉดส้มเช่นเดียวกัน แต่เป็นเฉดส้มปน ดังปรากฏในเฉดส้มข้อที่ 6 และข้อที่ 9 ส่วนจีวรภิกษุในคณะสงฆ์ธรรมยุตก็เป็นเฉดส้ม และเป็นเฉดส้มมีสีอื่นปน ดังปรากฏในข้อที่ 6 และข้อที่ 9 เป็นสีเดียวกันทั้งคณะ จึงปรากฏเรียกสีจีวรชนิดนี้ว่า สีพระราชนิยม ส่วนจีวรภิกษุที่เรียกว่า พระป่าหรือพระสายกรรมฐาน ก็จะเป็นจีวรเฉดแดงปน ดังในข้อที่ 6 หรือข้อที่ 10 ในเฉดแดง

เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า จีวรสีเหลืองหรือเฉดเหลือง จะเหลืองล้วนหรือเหลืองปน ไม่ปรากฏมีใช้ในหมู่ภิกษุสงฆ์ทั้งมหานิกาย ธรรมยุต หรือพระป่า


@@@@@@

แล้วพระผู้ใหญ่บางรูปที่ออกมาพูดถึงสีจีวรของเพื่อนสหธรรมิกด้วยกัน ก็ควรจะแยกแยะสีจีวรให้ถูกต้องเสียก่อนว่า สีไหนพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตและสีไหนที่พระพุทธองค์ทรงห้าม ได้โปรดเมตตาเฉดสีที่นำมาให้พิจารณาทั้ง 3 เฉดสีนี้แล้วจะเข้าใจเฉดสีหรือโทนสีของจีวรดียิ่งขึ้น จะได้ไม่หลงสีจีวรของตนเองและของเพื่อนสหธรรมิกอีกต่อไป ดังที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 5 พระวินัยปิฎก จีวรขันธกะ มหาวรรค ข้อที่ 169

สีจีวรของภิกษุในพระพุทธศาสนาไม่ว่าจะเฉดเหลือง เฉดแดง หรือเฉดส้ม ถ้ามีสีอื่นปน ย่อมไม่ผิดพระวินัย แต่ถ้าจะให้เป็นเอกลักษณ์ของพระภิกษุฝ่ายเถรวาทในประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็ควรจะสังคายนาสามัคคีทั้งฝ่ายธรรมยุตและมหานิกาย ลงมติให้เป็นเอกฉันท์ว่า

   'พระภิกษุให้ใช้สีเดียวกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ จะเลือกเฉดสีไหนก็ลงมติสีนั้น สามเณรให้ใช้สีต่างจากพระภิกษุให้อยู่ในเฉดสีใด ก็เลือกเฉดสีนั้นเป็นสีของสามเณร"

@@@@@@

ฝากคณะกรรมการมหาเถรสมาคมได้โปรดพิจารณาออกระเบียบว่าด้วยเรื่อง สีจีวร ให้มีมติที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในโอกาสเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกทรงเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ที่พระองค์ทรงประกาศตนเป็นพุทธมามกะว่า

“ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ แต่เดิมมาข้าพเจ้าได้มีจิตศรัทธาเลื่อมใส และได้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะด้วยวิธีนั้นๆ อยู่แล้ว ฉะนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้เถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว จึงขอมอบตัวแด่ พระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสังฆเจ้า จะได้รับการจัดการให้ความคุ้มครอง รักษาพระพุทธศาสนาโดยชอบธรรมตลอดไป ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ขอพระสงฆ์จงจำไว้ด้วยดีว่า ข้าพเจ้าเป็นพุทธศาสนูปถัมภกเถิด”



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24-30 พฤษภาคม 2562
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : ฉมณ์คิด แผนสมบูรณ์
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/special-report/article_198191
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ