ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พาย้อนรอยประวัติศาสตร์ สักการะเจดีย์วัดภูเขาทอง  (อ่าน 653 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




พาย้อนรอยประวัติศาสตร์ สักการะเจดีย์วัดภูเขาทอง

สัปดาห์นี้พาย้อนรอยประวัติศาสตร์ เที่ยวที่วัดภูเขาทอง อยุธยา ขอพรกราบสักการะมหาเจดีย์ อดีตที่ตั้งค่ายสู้รบกับพระเจ้าบุเรงนอง ก่อนเสียกรุงให้กับพม่า
 
“วัดภูเขาทอง” ที่เราจะไปเที่ยวกันในคราวนี้ อยู่ที่ทุ่งภูเขาทอง จ.พระนครศรีอยุธยา ทุ่งแห่งประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างไทยกับพม่า ปี พ.ศ. 2112 พระเจ้าบุเรงนอง ชนะศึกเหนือกรุงศรีอยุธยา ได้สร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่แบบมอญไว้ที่วัดภูเขาทอง แต่สร้างได้เพียงเฉพาะฐานของเจดีย์เท่านั้น
 
ปี พ.ศ.2127 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกอบกู้เอกราชไทยคืนจากพม่า จึงโปรดเกล้าให้สร้างเจดีย์แบบไทยไว้เหนือฐานเจดีย์แบบมอญ ที่พระเจ้าบุเรงนองทรงสร้างค้างไว้ ฝีมือช่างแบบมอญเดิมจึงปรากฏเพียงฐานทักษิณส่วนล่างของเจดีย์เท่านั้น เป็นที่มาของสถาปัตยกรรมระหว่างไทยมอญที่ปรากฏในองค์เจดีย์
 
เจดีย์ภูเขาทอง เป็นมหาเจดีย์สำคัญที่มีความสูงถึง 90 ม. ตั้งอยู่นอกเกาะกรุงศรีอยุธยา ด้านตะวันตกเฉียงเหนือ 2 กม. ส่วนเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล เป็นมหาเจดีย์ที่สูงกว่าเจดีย์วัดภูเขาทอง 2 ม. ตั้งอยู่นอกเกาะด้านตะวันออกเฉียงใต้

 

การเดินทางมายัง “วัดภูเขาทอง” เพื่อสักการะพระเจดีย์ ให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 304 พอถึงหลักกิโลเมตรที่ 26 จะมีป้ายบอกทาง ให้สังเกตว่าอยู่ด้านซ้ายบอกเส้นทางไปวัดภูเขาทอง
 
มาถึงวัดสภาพแวดล้อมเป็นเหมือนทุ่งกว้างใหญ่ ในอดีตมีการเรียกขานกันว่า ทุ่งภูเขาทอง เป็นที่ทำการเกษตรที่สำคัญในสมัยอยุธยาเป็นเมืองหลวง ทั้งเป็นที่ตั้งค่ายเพื่อสู้รบกับพม่า หรือบางคราวพม่าก็ใช้สถานที่แห่งนี้ตั้งทัพด้วยเหมือนกัน
 
วัดภูเขาทอง ตั้งอยู่บนโคกซึ่งพื้นที่โดยรอบมีน้ำท่วมถึง ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่านั้น มีการขุด “คลองมหานาค” เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจรสำคัญระหว่างพระนครด้านแม่น้ำลพบุรีกับวัดภูเขาทอง ในยามรบระหว่างไทยกับพม่า สถานที่แห่งนี้เรียกว่า “ค่ายมหานาค” ตามชื่อคลองคูน้ำและคันดินรายล้อมรอบทุ่งภูเขาทองที่สร้างขึ้น เพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยา ยังปรากฏให้เห็นจนปัจจุบัน



เมื่อไทยเสียกรุงศรีอยุธยาให้กับพม่าในปี พ.ศ. 2310 วัดภูเขาทองถูกทิ้งร้าง ส่วนมหาเจดีย์ยังมีคนเดินทางมาเที่ยวชมวัดภูเขาทอง จะได้สักการะพระเจดีย์

...ครั้นรุ่งเช้าเข้าเป็นวันอุโบสถ
เจริญรสธรรมาบูชาฉลอง
ไปเจดีย์ที่ชื่อภูเขาทอง
ดูสูงล่องลอยฟ้านภาลัย
อยู่กลางทุ่งรุ่งโรจน์สันโดษเด่น
เป็นที่เล่นนาวาคงคาใส...



จากนิราศภูเขาทองของ สุนทรภู่ ชี้ชัดว่าแม้จะไม่มีพระภิกษุจำวัด แต่ประเพณีงานบุญเกี่ยวเนื่องด้วยพระเจดีย์ยังคงมีอยู่ ปี พ.ศ. 2500 วัดภูเขาทองจึงมีพระมาจำพรรษา
 
วัดภูเขาทองมีมหาเจดีย์ที่โดดเด่น มีเจดีย์ราย 7 องค์เป็นแบบย่อมุมไม้สิบสอง ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ หอพระอุโบสถยาว 40 ม. กว้าง 11 ม. มี 3 ตอน 2 ประตู ลวดลายบนเสาซุ้มประตูเป็นลายเฟืองไทย ภายในอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปศิลาทรายปางสมาธิ ศิลปะสมัยอยุธยา และวิหารมีอยู่ด้วยกัน 2 หลัง หลังแรกกว้าง 6 ม. หลังที่สองกว้าง 8 ม. หอระฆังปรากฏเพียงฐาน
 
มาเที่ยววัดภูเขาทอง จะได้สักการะพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราชด้วย ได้ชมความงามของมหาเจดีย์แห่งกรุงศรีอยุธยาที่สูงล่องลอยฟ้านภาลัย.


คอลัมน์ : ชำเลืองเมือง โดย “แรมทาง”
ขอบคุณที่มา : https://www.dailynews.co.th/article/713683
อังคารที่ 11 มิถุนายน 2562 เวลา 11.00 น.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ