ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “พระญาสววาธิสิทธิ” แห่ง หริภุญไชยนคร ต้นแบบ "ธรรมิกราชา" บนแผ่นดินสยาม  (อ่าน 1745 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



“พระญาสววาธิสิทธิ” แห่ง หริภุญไชยนคร ต้นแบบ "ธรรมิกราชา" บนแผ่นดินสยาม (1)

นามของ “พระญาสววาธิสิทธิ” หรืออีกพระนามหนึ่งคือ “พระเจ้าสัพพาสิทธิ์” (เขียนได้หลายแบบ บ้างเขียนเป็น “สรรพสิทธิ์”) เป็นกษัตริย์สำคัญพระองค์หนึ่งแห่งหริภุญไชยนคร และยังเป็น “ต้นแบบ” ของกษัตริย์ผู้ทรง “ธรรมิกราชา” บนแผ่นดินสยามอีกด้วย

พระนามของพระองค์ปรากฏเด่นชัดทั้งในศิลาจารึกอักษรมอญโบราณถึงสองหลัก นั่นคือ หลัก ลพ. 1 (จารึกสววาธิสิทธิ 1 วัดดอนแก้ว) ซึ่งดิฉันได้กล่าวถึงจารึกรุ่นโบราณที่ใช้โศลกคำฉันท์รจนาในบทประณามพจน์ในบทความฉบับก่อน และหลัก ลพ. 2 (จารึกสววาธิสิทธิ 2 วัดกู่กุฏิ หรือวัดจามเทวี) ทั้งสองหลักพบที่จังหวัดลำพูน

นอกจากนี้ยังพบพระนามในเอกสารพงศาวดารอีกหลายฉบับ อาทิ ตำนานมูลศาสนา ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานพระธาตุเจ้าหริภุญชัย พงศาวดารโยนก เป็นต้น

ชินกาลมาลีปกรณ์ ระบุว่า พระญาสววาธิสิทธิเป็นกษัตริย์ลำดับที่ 35 แต่ตำนานมูลศาสนากำหนดว่า เป็นกษัตริย์ในลำดับที่ 30 เมื่อนับจากพระนางจามเทวี ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ลำดับที่เท่าใดก็ตาม แต่ที่แน่นอนที่สุดคือพระองค์เป็นพระราชปนัดดา (อาจจะชั้นหลานหรือเหลน) ของพระญาอาทิตยราช (มหาราชแห่งหริภุญไชยนคร ผู้สร้างพระบรมธาตุกลางนครลำพูน)

@@@@@@@

พระญาสววาธิสิทธิได้ประกอบพระราชกรณียกิจในด้านการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้หลายด้าน ความโดดเด่นเป็นพิเศษที่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้ยกย่องไว้ คือ เป็นต้นแบบการทรงผนวชของพระมหากษัตริย์ขณะครองราชย์ จนกลายเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมาจวบจนราชวงศ์จักรี รวมไปถึงการกัลปนาเขตพระราชฐานให้สร้างพระอารามหลวง หรือการยก “วัง” ให้สร้าง “วัด” ก็ได้กลายมาเป็นจารีตของราชสำนักสยามในยุคต่อๆ มา จึงสมควรกับพระราชสมัญญาว่าเป็น “ธรรมิกราชา” โดยแท้จริง

พระญาสววาธิสิทธิมีพระชนมายุอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ.1579-1641 ตลอดช่วงพระชนม์ชีพ 62 พรรษานั้น สามารถลำดับเหตุการณ์สำคัญในรัชกาลของพระองค์ได้ ดังนี้

๏ พระชนมายุ 5 ชันษา ทรงได้เป็นพระญาหรือพระมหากษัตริย์แทนพระราชบิดา (พระรถราช) ผลงานของพระองค์ในยุคนั้น ตามที่มีบันทึกในตำนานมูลศาสนา คือทรงเขียนรูปพระเจ้าบนผืนผ้า (แสดงว่าธรรมเนียมการเขียนภาพจิตรกรรมพระบฏมีมาแล้วตั้งแต่สมัยหริภุญไชย) และได้ทรงสร้างพระพุทธรูปทองแดง 1 องค์ พระพุทธรูปเงิน 1 องค์ พระพุทธรูปทองคำ 1 องค์ และพระพุทธรูปจากงาช้าง 1 องค์

๏ พระชนมายุ 7 ชันษา สละราชสมบัติฝากแก่พระมหาเทวีผู้เป็นพระราชมารดาให้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการบรรพชาเป็นสามเณร ทรงให้สร้างผอบเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ และถวายคัมภีร์ 12 เล่ม

๏ พระชนมายุ 10 ชันษา ทรงสถาปนาวัดมหาวัน ทรงสร้างเจดีย์และพระพุทธรูป

๏ พระชนมายุ 17 ชันษา ทรงขึ้นครองราชย์ ทรงสร้างพระพุทธรูปดินเผา 10 องค์ไว้ในคูหาใต้ต้นโพธิ์ ทรงสร้างพระพุทธรูปทองแดงพอกด้วยทองคำ พระพุทธรูปใต้ต้นมุจลินท์ ตกแต่งดอกไม้คำ แก้ว 7 สิ่ง พระธรรมปิฎก และได้ทรงสร้าง (หรืออาจบูรณะ) รัตนเจดีย์

๏ พระชนมายุ 19 ชันษา ทรงให้สร้างโกศทองคำประดับแก้ว 7 ประการครอบโกศทองคำที่พระญาอาทิตยราชทรงสร้าง ทรงสร้างพระพุทธรูปและบรรณศาลาสำหรับไว้พระพุทธรูป แล้วทรงให้บูรณะเจดีย์พระธาตุหริภุญไชย โดยให้เอาหินมาก่อครอบปราสาทสูง 24 ศอก

๏ พระชนมายุ 26 ชันษา ทรงให้สร้างกุฏิ วิหารและกัลปนาเขตพระราชฐานเชตวนาลัยพร้อมที่นาให้แก่วัดเชตวนาราม ทั้งยังทรงให้สร้างจารึกไว้ในศิลา สำหรับรองฐานพระพุทธเจ้าทั้ง 2

๏ พระชนมายุ 31 ชันษา ทรงให้สร้างโบสถ์ “อุโบสถาคาร” แห่งวัดเชตวนาราม และทรงแจกข้าว

๏ พระชนมายุ 32 ชันษา ทรงออกผนวชพร้อมพระชายา และพระโอรสทั้ง 2 องค์ พร้อมกับทรงจำพรรษาในโบสถ์แห่งนั้น

ทรงครองราชสมบัติอย่างยาวนานถึง 45 พรรษา หลังจากรัชสมัยของพระญาสววาธิสิทธิแล้ว ก็มิได้มีการบันทึกเรื่องราวหรือเหตุการณ์สำคัญในหริภุญไชยนครอย่างเป็นกิจจะลักษณะอีกเลย กล่าวถึงแต่พระนามของกษัตริย์ในลำดับรัชสมัยต่อๆ มา จนถึงกาลเสียเมืองแก่พระญามังรายเพียงเท่านั้น

@@@@@@@

ความหมายแห่ง “ธรรมิกราชา”

จากข้อความของตำนานมูลศาสนา ทำให้ทราบว่า พระญาสววาธิสิทธิทรงได้รับการมอบราชสมบัติสืบต่อจากกษัตริย์พระองค์ก่อน ตั้งแต่ยังทรงมีพระชนมายุเพียง 5 ชันษา

ด้วยเหตุนี้เองทำให้พระราชมารดา ซึ่งมีตำแหน่งเป็น “พระมหาเทวี” ต้องเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อยู่นานถึง 12 ปี คือตั้งแต่ทรงนั่งบัลลังก์ได้ 2 ปีแรก ถือว่าทรงพระเยาว์ยิ่งนัก และจากนั้นจำต้องเสด็จออกบรรพชาเป็นสามเณรอีกถึง 10 ปี

ตำนานมูลศาสนาทำให้เราทราบว่าพระญาสววาธิสิทธิทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์โดยสมบูรณ์ด้วยพระองค์เอง ในช่วงที่มีพระชนมายุ 17 พรรษา เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความที่ได้จากศิลาจารึกหลักที่ 1 วัดดอนแก้ว ซึ่งพระองค์ทรงจารในวัย 26 ชันษานั้น เห็นได้ว่าทรงผ่านการครองสิริราชสมบัติมาแล้วนานถึง 9 ปี และผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรมาแล้วด้วยระยะเวลานานถึง 10 ปี

เมื่อประมวลข้อความทั้งหมดนี้ ย่อมชี้ให้เห็นว่าพระองค์ทรงฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาและหมั่นสะสมบุญเป็นอันมาก เห็นได้ว่าพระญาสววาธิสิทธิ ได้ยึดถือแบบแผนตามที่พระนางจามเทวี และพระญาอาทิตยราชทรงวางไว้ในฐานะ “ธรรมิกราชา” นั่นคือทำหน้าที่อุปถัมภ์ดูแลพระพุทธศาสนา ด้วยการบุญการกุศลต่างๆ ซึ่งในที่นี้พยายามจัดหมวดหมู่ไว้เป็นสี่ด้าน ได้แก่ การกัลปนา การบุญกุศล การสร้างเสนาสนะ และการออกผนวช

@@@@@@@

ประเพณีการกัลปนา “วัง” ให้เป็น “วัด” จาก “เชตวนาลัย” สู่ “เชตวนาราม”

การกัลปนา หมายถึงการมอบ อุทิศ หรือยกถวาย วัตถุสิ่งของ สถานที่ รวมทั้งบุคคลไว้แก่การพระศาสนาเท่านั้น จากศิลาจารึก ลพ. 1 สามารถจำแนกเรื่องการกัลปนาของพระญาสววาธิสิทธิได้เป็นหมวดหมู่ ดังนี้คือ 1.การกัลปนาวังเพื่อสร้างวัด 2.การกัลปนาวัตถุสิ่งของ บุคคล และสัตว์ ให้เป็นสมบัติของวัด

การกัลปนาเขตพระราชฐานให้สร้างพระอาราม พร้อมมีการบอกอาณาเขตการกัลปนาที่ดิน ปรากฏชัดในศิลาจารึกวัดดอนแก้ว ด้านที่ 1 ในภาษาบาลี ทำให้ทราบว่า ณ บริเวณที่ตั้งของวัดต้นแก้ว วัดร้างดอนแก้ว และโรงเรียนบ้านเวียงยองนั้น ในอดีตเดิมมีชื่อว่าพระราชวังเชตวนาลัย เคยเป็นเขตพระราชฐานมาก่อน หน้ารัชสมัยของพระญาสววาธิสิทธินั้นแล้ว แต่ต่อมาพระญาสววาธิสิทธิได้กัลปนาพระราชวังแห่งนี้ถวายเป็นพุทธบูชา จนกลายเป็นเขตอารามสงฆ์นามว่า “เชตวนาราม” หรือ “วัดเชตวัน”

พระจริยาวัตรเช่นนี้ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการประกาศความเป็น “องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก” ของกษัตริย์ผู้เป็น “ธรรมิกราชา” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขัตติยราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์ล้านนาและสยามในยุคหลัง ให้น้อมนำไปปฏิบัติหลายพระองค์ ด้วยการกัลปนาเขตพระราชฐานถวายให้เป็นเขตพุทธาวาส

ดังเช่น การที่พระญามังรายมหาราชปฐมกษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านนา ได้ยก “หอนอน” ที่ประทับในพระราชวังเดิมให้สร้างพระอารามวัดเชียงหมั้น วัดแห่งแรกที่นครเชียงใหม่ หรือรัชสมัยพระญากือนา กษัตริย์ล้านนาลำดับที่ 6 ก็ทรงกัลปนาพระราชอุทยานสวนดอกไม้พยอม ถวายแด่พระสุมนเถระให้สร้างวัดสวนดอกบุปผาราม

สืบต่อมาจนถึงสมัยกรุงศรีอยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์ ดังเช่นที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง กล่าวคือ เมื่อมีการสร้างวัง พระมหากษัตริย์ย่อมประกาศความเป็น “ธรรมิกราชา” ด้วยการสร้างวัดในวังคู่กันด้วย ในทำนองสร้าง “หอพระ” ประจำวัง ใช้เป็นสถานที่ประกอบการพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเป็นการเฉพาะพระองค์

ธรรมเนียมเช่นนี้ยังคงเห็นที่วัดนิเวศธรรมประวัติ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดให้สร้างขึ้นเพื่อรองรับการพระราชกุศลสำหรับพระราชวังบางปะอิน

เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ทำไมจึงมีการสร้างพระราชวังอยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำกวง (เดิมคือพิงคนที) ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับพระบรมธาตุเจ้าหริภุญไชย ใครเป็นผู้ย้ายเขตพระราชฐานจากฟากตะวันตกของพิงคนทีมาอยู่อีกฝั่งหนึ่ง ด้วยเหตุผลใด เมื่อไหร่

จากหลักฐานของหริภุญไชยนครยุคแรกสร้างนั้น พระนางจามเทวีทรงตั้งบ้านเมืองที่ฝั่งตะวันตกของพิงคนที กระทั่งในสมัยของพระญาอาทิตยราช ก่อนที่พระองค์จะทรงขุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ณ จุดที่เป็นพระธาตุหริภุญไชยในปัจจุบันนั้น ทรงเคยใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นเขตพระราชฐานมาก่อน

ทรงมีพระราชประสงค์จะสร้างหอจัณฑาคาร (ห้องน้ำ) ทับพื้นที่แท่งหินสี่เหลี่ยมที่ตำนานพระเจ้าเลียบโลกระบุว่าพระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับรับบาตรจากพรานป่าที่นี่ มีการตรัสพยากรณ์ และมอบพระเกศาธาตุบรรจุอยู่ในกระบอกไม้ไผ่ไว้ภายใต้แท่งหินนั้น มีพญากาเผือกที่คอยสั่งลูกหลานเหล่ากาดำให้คอยเฝ้าสถานที่แห่งนี้ไว้ ทำให้พระญาอาทิตยราชไม่สามารถสร้างห้องสุขาได้ จำต้องย้ายไปไว้บริเวณอื่น

อาจเป็นไปได้ว่าสมัยของพระญาอาทิตยราชนั่นเองได้มีการย้ายเขตพระราชฐานจากฟากตะวันตกมายังฟากตะวันออก เพื่อกัลปนาพื้นที่เขตพระราชวังเดิมอุทิศถวายให้สร้างสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุกลางหริภุญไชยนคร

กรณีการกัลปนาข้าพระ ข้าพระธาตุ หรือเลกวัด ทั้งชาย-หญิง พบว่ามีการถวายคนครัว นายช่าง ถวายโค ข้าวเปลือก เพชรพลอย ข้าทาส สัตว์ เพื่ออุทิศสำหรับทำหน้าที่บำรุงรักษาดูแลพระอาราม และอุปัฏฐาก รับใช้พระภิกษุสงฆ์ บุคคลและสิ่งของเหล่านี้ จะไม่อนุญาตให้มีใครนำไปใช้กระทำสิ่งอื่นนอกเขตพระอารามโดยเด็ดขาด จารึกหลายหลักที่พบในสมัยล้านนา มีการกล่าวคำสาปแช่งผู้นำข้าพระเหล่านี้ไปใช้ในการอื่นอย่างรุนแรง ถึงขนาดที่ว่าขอให้ตกนรกหมกไหม้อย่าได้พบพระศรีอาริยเมตไตรย

ข้าพระเหล่านี้จะได้รับอภิสิทธิ์ในยุคสมัยที่มีสงคราม โดยจะไม่ถูกเกณฑ์ไปออกรบ เปิดช่องให้มักมีผู้คนมาแอบแฝงตัวเป็นข้าพระจำนวนมากเพื่อจะได้ไม่ต้องไปเป็นทหาร


@@@@@@@

การบำเพ็ญศาสนกุศล

หน้าที่อีกประการหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งของพระมหากษัตริย์ผู้เป็น “ธรรมิกราชา” คือการสนับสนุนพระญาติวงศ์ในราชตระกูลให้ทำบุญ การอุทิศถวายวัตถุสิ่งของต่างๆ สำหรับพระสงฆ์ การสร้างฉัตรอันประดับด้วยดอกไม้ การปลูกต้นมหาโพธิ์ 10 ต้น ปลูกต้นมะพร้าว 50 ต้น

อนุญาตและชักชวนให้ชนทั้งหลายได้บำรุงรักษาต้นมหาโพธิ์ เห็นได้ว่าการให้ประชาชนค้ำจุนต้นโพธิ์ ถือเป็นต้นแบบประเพณีการแห่ “ไม้ค้ำโพธิ์” หรือที่เรียกภาษาถิ่นว่า “ไม้ก๊ำสะหลี” ของชาวล้านนา

การจารคัมภีร์พระไตรปิฎก การสร้างคัมภีร์พระปริตต์บรรจุไว้ในช่องคูหา เชื่อว่าการจารพระไตรปิฎกนั้นคงไม่ได้จารึกลงในแผ่นศิลา น่าจะเป็นการจารลงในใบลาน ควรถือเป็นเค้ามูลได้ว่า มีการจารพระไตรปิฎกลงในใบลานมาแล้ว อย่างน้อยที่สุดก็ในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ

คำลงท้าย มีการอุทิศส่วนราชกุศลที่ได้ทำมาทั้งหมด ถวายแด่มหาราชเจ้าอาณาจักรผู้ทรงล่วงลับไปแล้ว รวมทั้งทรงแผ่เมตตาแก่สรรพสัตว์ ซึ่งกลายมาเป็นธรรมเนียมที่ปรากฏอยู่ในคติพุทธศาสนาประจำแผ่นดินไทยตราบเท่าทุกวันนี้

ความเป็น “ธรรมิกราชาของพระญาสววาธิสิทธิ” ยังเหลืออีก 2 ด้านหลักๆ คือ ทรงอุปถัมภ์การสร้างเสนาสนะจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ บำเพ็ญเนกขัมมะถึง 2 ครั้ง อันเป็นประเด็นสำคัญยิ่ง จักได้กล่าวต่อไปในฉบับหน้า




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 27 มีนาคม - 2 เมษายน 2563
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 2 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_292392
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



พระญาสววาธิสิทธิ ต้นแบบ "ธรรมิกราชา" บนแผ่นดินสยาม (จบ)

ยังเหลือค้างอีกสองประเด็นสำคัญ ที่เป็นเครื่องยืนยันว่า “พระญาสววาธิสิทธิ” แห่งหริภุญไชยนคร เป็นต้นแบบธรรมิกราชาบนแผ่นดินสยามอย่างแท้จริง

@@@@@@@

ศาสนูปถัมภกการก่อสร้างเสนาสนะ

ข้อความในจารึกอักษรมอญโบราณ ลพ.1 (วัดดอนแก้ว) และ ลพ.2 (วัดจามเทวี) บ่งบอกว่ามีการสร้างเสนาสนะมากมาย

หลัก ลพ.1 ระบุว่า ณ วัดเชตวนาราม มีการสร้าง “อุโปสถาคาร วรมโนรม” แปลจากภาษาบาลีได้ว่า “พระอุโบสถอันงามประเสริฐ” สันนิษฐานว่ายุคนั้น อุโบสถมีฐานะเป็นอาคารประธานในเขตพระอารามหลวง

นอกจากพระอุโบสถแล้ว ยังระบุว่าได้สร้างศาลา วิหาร กุฏิ เสนาสนะ ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลอยู่พำนัก จึงเชื่อได้ว่าวัดเชตวนารามต้องเป็นวัดที่ใหญ่โตโอ่อ่ามาก เพราะวัดเพียงแห่งเดียวสามารถรองรับพระภิกษุสามเณรให้จำพรรษาได้มากถึง 182 รูป

สอดรับกับจารึกอักษรมอญโบราณหลัก ลพ.2 ของพระญาสววาธิสิทธิ ที่กล่าวว่า มีการสร้างสถานที่สรงน้ำของพระภิกษุสงฆ์เป็นจำนวน 25 แห่งตรงริมฝั่งแม่น้ำหรือคลอง รวมทั้งพนังกันน้ำจำนวนมากถึง 125 พนัง ในส่วนของปูชนียวัตถุนั้น มีการหล่อพระพุทธรูปบรรจุไว้ในคูหา มีการถวายฉัตรกั้นพระพุทธรูป

@@@@@@@

ต้นแบบเจดีย์สามองค์สู่ปราสาท 3 หลัง

ข้อสำคัญคือมีการสร้าง “พระเจดีย์สามองค์” ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของพระอุโบสถวัดเชตวัน พระเจดีย์สามองค์นั้น ระบุว่า พระญาสววาธสิทธิทรงสร้างองค์หนึ่ง พระชายสร้างองค์หนึ่ง และพระโอรสทั้งสองพระองค์ (มีนามตามจารึกว่า พระมหานามและพระกัจจายน์) สร้างอีกองค์หนึ่ง โดยสร้างเรียงกัน 3 องค์ จากทิศตะวันออกไปทางทิศตะวันตก

แนวคิดเรื่องการสร้างพระเจดีย์เรียงรายสามองค์นี้ เป็นคติดั้งเดิมที่มีมานาน อย่างน้อยราวต้นพุทธศตวรรษที่ 17 สมัยหริภุญไชย หลักฐานนี้เก่ากว่าการสร้างพระปรางค์สามยอดที่เมืองละโว้ โดยขอมมหายานที่เน้นลัทธิ “ตรีกาย” ร่วม 1 ศตวรรษ

ต่อมาแนวคิดดังกล่าวได้คลี่คลายไปสู่คติการสร้างพระเจดีย์สามองค์เรียงกันในคติทางพระพุทธศาสนาหินยานลัทธิลังกาวงศ์ เช่น ที่พระเจดีย์ศรีสรรเพชญดาญาณแห่งพระนครศรีอยุธยา สืบมาจนถึงพระที่นั่งสามองค์ยอดปราสาทในเขตพระราชฐานชั้นกลาง ของบรมมหาราชวังแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ล้วนมีต้นแบบมาจากหริภุญไชยทั้งสิ้น โบราณสถานของวัดเชตวนาราม ที่กล่าวถึงในจารึกนั้น ปัจจุบันไม่เหลือร่องรอยปรากฏให้ได้เห็นอีกแล้ว

จากการสำรวจวัดร้างดอนแก้วของข้าหลวงสยามราวหลายสิบปีก่อน ได้พบพระพุทธรูปหินทรายประทับนั่งขัดสมาธิเพชร จำนวน 3 องค์ ต่อมาได้นำมาประดิษฐานอยู่ที่ฐานเจดีย์ปทุมวดีเจดีย์ ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย

@@@@@@@

ต่อมาในปี พ.ศ.2534 ผศ.ดร.ผาสุข อินทราวุธ และคณาจารย์จากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการขุดศึกษาทางโบราณคดีภายในบริเวณวัดร้างดอนแก้ว ณ ส่วนของโรงเรียนบ้านเวียงยอง ผลการขุดค้นได้พบเศียรพระพุทธรูปประทับนอนทำจากหินชนวน ปัจจุบันจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หริภุญไชย เป็นศิลปะสมัยหริภุญไชยที่มีอิทธิพลศิลปะทวารวดีอย่างชัดเจน

ปี พ.ศ.2548 สำนักศิลปากรที่ 8 เชียงใหม่ ได้ทำการขุดตรวจแหล่งโบราณคดีในเขตพื้นที่สนามหน้าโรงเรียนบ้านเวียงยองอีกครั้ง ได้พบร่องรอยซากฐานอาคารจำนวนมาก มีท่อน้ำ ถนน ทางเดินเชื่อมไปยังห้องต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าบริเวณนี้ ในอดีตเคยเป็นที่ตั้งของวัดเชตวนาราม

ในกรณีของเจดีย์ต้นก๊อ ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของวัดต้นแก้วนั้น ไม่มีการบันทึกประวัติความเป็นมา ทราบกันแต่เพียงว่ารูปแบบที่เห็นในปัจจุบันนั้น เป็นศิลปะที่ทำขึ้นในสมัยล้านนา คือเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยมวางบนฐานย่อเก็จ ไม่ปรากฏว่าใครเป็นผู้สร้าง

มีผู้สันนิษฐานว่าภายในของพระเจดีย์องค์นี้ อาจเป็นหนึ่งในพระเจดีย์สามองค์ที่สร้างขึ้นในสมัยพระญาสววาธิสิทธิก็เป็นได้ ส่วนอีกสององค์นั้น ผู้วิจัยเคยเดินสำรวจค้นหาอยู่ เมื่อได้สอบถามชาวบ้าน กล่าวกันว่า ส่วนเนินดินบริเวณโรงเรียนบ้านเวียงยองเดิมนั้นเคยเป็นเนินเจดีย์ขนาดใหญ่ ต่อมาถูกรื้อถอนสร้างเป็นโรงเรียนบ้านเวียงยองทับ และอีกจุดหนึ่งที่สันนิษฐานว่าน่าจะเคยเป็นฐานพระเจดีย์อีกองค์หนึ่ง คือบริเวณที่ปัจจุบันเป็นร้านค้าขายของตั้งอยู่ที่สี่แยกวัดต้นแก้วทางไปซอยเล็กๆ ขนานลำน้ำแม่กวง

@@@@@@@

วัดพี่วัดน้องมหาวัน-เชตวัน

นอกจากจะสร้างวัดเชตวันแล้ว พระญาสววาธิสิทธิยังสร้างวัดมหาวัน หรือมหาวนารามอีกด้วย ดังที่ปรากฏในตำนานมูลศาสนาว่า

“เมื่อใหญ่ได้ 10 ปี ให้สร้างวัดมหาวันกับทั้งเจดีย์ เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ให้ฉลองและถวายทานเป็นอันมาก แล้วให้สร้างพระพุทธรูปองค์หนึ่งไว้ในมหาวันนั้น”

เห็นได้ว่าพระญาสววาธิสิทธิสร้างวัดมหาวันเมื่อมีพระชันษาได้เพียง 10 ชันษา ขณะนั้นอยู่ในระหว่างเพศบรรพชิต ย่อมถือว่าวัดมหาวันสร้างมาก่อนหน้าวัดเชตวันหรือเชตวนารามนานถึง 16 ปี

ส่วนการระบุถึงพระพุทธรูปองค์หนึ่งในวัดมหาวันนั้น ปัจจุบันมีพระพุทธรูปหินที่ชาวบ้านเรียกว่า “พระรอดหลวง” หรือ “แม่พระรอด” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นแบบให้แก่การแกะพิมพ์สร้างพระเครื่องรุ่นที่เรียกกันว่า “พระรอดวัดมหาวัน” พระพุทธรูปองค์นี้ยังคงประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหาร

แต่ก็มีบางท่านเห็นว่า หรืออาจจะเป็น “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” องค์ที่พระนางจามเทวีได้อัญเชิญมาจากละโว้ก็เป็นได้ ประเด็นเรื่องข้อถกเถียงระหว่าง “พระรอดหลวง” กับ “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” นี้ยังไม่มีข้อยุติ

เช่นเดียวกับความเชื่อเดิมๆ ว่าวัดมหาวันสร้างขึ้นในสมัยพระนางจามเทวี ในฐานะวัดสี่มุมเมือง หรือจัตุรพุทธปราการ แต่จากตำนานมูลศาสนาก็ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ ซึ่งสันนิษฐานว่าในสมัยพระนางจามเทวีนั้น บริเวณวัดมหาวันอาจเคยเป็นพื้นที่ของวัดสี่มุมเมืองทางทิศตะวันตกจริง แต่ต่อมาได้รับการเฉลิมนามใหม่ หรือบูรณปฏิสังขรณ์อีกครั้งในสมัยพระญาสววาธิสิทธิ

@@@@@@@

การเสด็จออกผนวชของพระมหากษัตริย์และพระประยูรราช

การทรงผนวชของพระญาสววาธิสิทธิพร้อมพระประยูรราช ได้แก่พระมเหสีและพระราชโอรสทั้งสองพระองค์ แสดงให้เห็นถึงขัตติยราชประเพณี แห่งการผนวชของกษัตริย์ในคติพระพุทธศาสนาอย่างเถรวาท ดุจเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช

จึงอาจกล่าวได้ว่า พระญาสววาธิสิทธิน่าจะเป็นกษัตริย์พระองค์แรกบนแผ่นดินสยาม (ที่ปรากฏหลักฐานเป็นลายลักษณ์ ณ ขณะนี้) ในฐานะผู้ทรงผนวชขณะครองราชย์ และเป็นต้นแบบให้แก่พระญาลิไท สมัยกรุงสุโขทัย หรือพระเจ้าบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา รวมมาถึงพระมหากษัตริย์อีกหลายพระองค์ในราชวงศ์จักรีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สิ่งที่น่าสนใจคือการที่พระญาสววาธิสิทธิทรงครองเพศสมณะถึงสองครั้ง ครั้งแรกบรรพชาเป็นสามเณรในวัย 7 พรรษา บวชอยู่นานถึง 10 ปี และเมื่อมีพระชนมายุระหว่าง 31-32 พรรษา ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุอีกครั้ง

โดยครั้งหลังนี้ได้ให้พระราชโอรสทั้งสองพระองค์ร่วมบรรพชาเป็นสามเณรด้วย คงเป็นไปในลักษณะให้เดินตามรอยพระองค์ ซึ่งก็เคยครองเพศบรรพชิตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จะเห็นได้ว่าการส่งเสริมให้เด็กผู้ชายล้านนาบวชเป็นสามเณรระหว่างช่วงอายุ 7-12 ขวบนั้น ยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างเหนียวแน่นสืบมาในสังคมล้านนา ดังประเพณีที่เรียกว่า “บวชลูกแก้ว” หรือ “ปอยส่างลอง”

@@@@@@@

อนึ่ง คำว่า “ส่างลอง” เป็นภาษาของชาวไทยใหญ่ มีความหมายตรงกันกับคำว่า “ลูกแก้ว” ในภาษาล้านนา คือคนล้านนามองสภาวะของความเป็นสามเณรว่า เป็นสิ่งสูงค่าดั่งแก้วตาดวงใจ เทียบได้กับเทวบุตรเทวดา เหตุเพราะเชื่อว่า การบวชของลูกชายในวัยที่ก่อนจะมีครอบครัวนั้น บุญกุศลย่อมตกถึงบิดามารดาผู้ให้กำเนิดเลี้ยงดูมากกว่าการบวชตอนเป็นหนุ่ม ด้วยบุญอานิสงส์ในการบวชทั้งหมดนั้นอาจตกเป็นของภรรยามากกว่าบุพการี

ด้วยเหตุนี้ ประเพณี “ปอยส่างลอง” หรือ “บวชลูกแก้ว” ชาวล้านนาจึงจัดอย่างยิ่งใหญ่อลังการมากกว่าการบวชเป็นพระภิกษุ ประเพณีดังกล่าวสามารถอธิบายความยิ่งใหญ่และความสำคัญของการเป็นเณรน้อยในมุมมองของชาวล้านนาไว้อย่างชัดแจ้ง ว่าเปรียบเสมือนการบวชเณรให้แก่ลูกของเทวดาหรือพระเจ้าผู้เป็นใหญ่เหนือมนุษย์

ที่น่าสนใจคือ ฝ่ายพระมเหสีของพระญาสววาธิสิทธิก็ทรงออกผนวชด้วยเช่นเดียวกัน การทรงผนวชของพระนางในที่นี้ สามารถตีความว่าได้ทรงบวชเป็น “ภิกษุณี” มากกว่าการถือศีลแปดนุ่งขาวห่มขาวแบบแม่ชีหรือภาคเหนือเรียก “แม่ขาว” ธรรมดา

เพราะการบวชชีพราหมณ์ก็ดี หรือการบวชเป็นแม่ขาวก็ดี ถือเป็นเรื่องสามัญ อุโบสถศีลถือเป็นวัตรปฏิบัติในวันธรรมสวนะของพุทธมามกะอยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่ยิ่งใหญ่พอถึงขั้นต้องประกาศไว้ในจารึก ฉะนั้น การผนวชในที่นี้จึงหมายถึงการบวชแบบภิกษุณีมากกว่า

@@@@@@@

ภายในวัดพระธาตุหริภุญชัย มีหลักฐานชิ้นสำคัญเป็นเครื่องยืนยันว่าในอดีตเมืองลำพูนเคยมีการบวชภิกษุณีอยู่จริง นั่นคือพระอุโบสถหลังหนึ่งมีชื่อว่า “โบสถ์ภิกษุณี” หรือ “อุโบสถภิกขุณี” ตั้งอยู่ระหว่างมณฑปพระอัฏฐารส และวิหารพระกัจจายนะ ที่มุมด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ อันเป็นเขตของคณะสงฆ์อัฏฐารส

ตำแหน่งของโบสถ์ภิกษุณีนั้นอยู่กึ่งกลางระหว่างพระเจดีย์ของฝ่ายสตรีสององค์ องค์แรกคือ สุวรรณเจดีย์ที่สร้างโดยพระนางปทุมวดี (พระอัครมเหสีของพระญาอาทิตยราช) อีกองค์หนึ่งคือเจดีย์เชียงยันหรือเจดีย์แม่ครัว สร้างโดยกลุ่มมหาอุบาสิกา อันเป็นเขตพื้นที่ติดต่อเชื่อมโยงกัน ในฐานะเป็นที่ประกอบสังฆกรรมให้แก่ภิกษุณี และเป็นโบสถ์สำหรับฝ่ายหญิง

ไม่มีข้อมูลประวัติความเป็นมาของโบสถ์ภิกษุณีหลังนี้แน่ชัดนักว่าใครสร้าง เมื่อไหร่ ทำไม อย่างไร แต่รูปแบบสถาปัตยกรรมที่เห็นในปัจจุบันได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ในช่วง 80 ปีที่ผ่านมาโดยครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งเรื่องนี้จำเป็นต้องมีการศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

อย่างน้อยที่สุด จารึก ลพ.1วัดดอนแก้วสะท้อนให้เห็นว่า พระมหากษัตริย์ผู้เป็นธรรมิกราชา ย่อมต้องสถาปนาให้พระมเหสีหรือพระชายามีบทบาทสำคัญในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ในฐานะ “มหาอุบาสิกา” เคียงข้างพระองค์ด้วยเช่นกัน จึงได้ให้โอกาสแก่ขัตติยนารีทำบุญอย่างเต็มที่ ทั้งบุญแห่งการสร้างพระสถูปเจดีย์ และบุญแห่งการผนวชเป็นภิกษุณี เพื่อแสดงออกถึงความศรัทธาอันสูงสุดต่อพระพุทธศาสนา

อันที่จริงบทบาทของสตรีต่อการอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา เริ่มต้นมีมาแล้วอย่างเด่นชัดจากการที่พระนางจามเทวี ปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชย ทรงวางรากฐานไว้เป็นแบบแผนให้แก่แว่นแคว้นลุ่มแม่ระมิงค์ ก่อให้เกิดคุณูปการและสร้างแรงบันดาลใจอย่างใหญ่หลวงต่อยอดขัตติยนารีจวบจนถึงอาณาประชาราษฎรในยุคต่อๆ มา ยิ่งเมื่อเขาสู่สมัยล้านนาแห่งราชวงศ์มังราย บทบาทของพระอัครมเหสีและพระมหาเทวีหลายพระองค์ได้มีส่วนส่งเสริมอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาจนเป็นที่เลื่องลือ

@@@@@@@

กล่าวโดยสรุป แม้ในวงการประวัติศาสตร์สยามจะไม่ถวายพระราชสมัญญานาม “มหาราช” ให้แก่กษัตริย์ท้องถิ่นแว่นแคว้นแดนใด ที่นอกเหนือไปจากรัฐหลักๆ แค่สุโขทัย อยุธยา รัตนโกสินทร์ แต่ในทางวิชาการ นักโบราณคดีรู้ดีว่า บทบาทของกษัตริย์ท้องถิ่นหลายพระองค์สมควรได้รับการถวายพระราชสมัญญาว่า “ธรรมิกราชา” อย่างเต็มภาคภูมิ



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 3 - 9 เมษายน 2563
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 9 เมษายน พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_294255
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ