ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บาลีวันละคำ‬ สมบัติสาม คำที่ 1 มนุษยสมบัติ  (อ่าน 5402 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ปัญญสโก ภิกขุ

  • ศิษย์ตรง
  • มีเหตุมีผล
  • *****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 403
  • อริยสโก
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
‪‎บาลีวันละคำ‬
สมบัติสาม คำที่ 1
มนุษยสมบัติ

.............................
คำชุดนี้ ในคัมภีร์ใช้ว่า -
(1) มนุสฺสสมฺปตฺติ (มะ-นุด-สะ-สำ-ปัด-ติ)
(2) ทิพฺพสมฺปตฺติ (ทิบ-พะ-สำ-ปัด-ติ, บางทีใช้ว่า เทวสมฺปตฺติ)
(3) นิพฺพานสมฺปตฺติ (นิบ-พา-นะ-สำ-ปัด-ติ)
.............................
“มนุษยสมบัติ” อ่านตามหลักภาษาว่า มะ-นุด-สะ-ยะ-สม-บัด
แต่มักอ่านตามสะดวกปากว่า มะ-นุด-สม-บัด
ประกอบด้วย มนุษย + สมบัติ
(๑) “มนุษย”
บาลีเป็น “มนุสฺส” อ่านว่า มะ-นุด-สะ รากศัพท์มาจาก -
(1) มน (ใจ) + อุสฺส (สูง) = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีใจสูง”
(2) มนฺ (ธาตุ = รู้) + อุสฺส ปัจจัย = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์”
(3) มนุ (มนู = มนุษย์คนแรก) + อุสฺส (แทนศัพท์ อปจฺจ = เหล่ากอ หรือ ปุตฺต = ลูก) = มนุสฺส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเหล่ากอของมนู” หรือ “ผู้เป็นลูกของมนู”
“มนุสฺส” อาจแปลตามศัพท์เป็นอย่างอื่นได้อีกตามแต่จะมีหลักฐานอ้างอิง แต่ความหมายก็คือ มนุษย์, คน (a human being, man)
“มนุสฺส” ในบาลี เป็น “มนุษฺย” ในสันสกฤต ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “มนุษย์”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า -
“มนุษฺย : (คำนาม) มนุษย์, มนุษยชาติ; man, mankind.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“มนุษย-, มนุษย์ : (คำนาม) สัตว์ที่รู้จักใช้เหตุผล, สัตว์ที่มีจิตใจสูง, คน. (ส.; ป. มนุสฺส).”
ความหมายของคำว่า “มนุสฺส - มนุษย์” ที่ยอมรับกันมากที่สุดและเป็นความหมายตามตัวอักษรด้วย คือ “ผู้มีใจสูง”
ในภาษาไทย เมื่ออธิบายธรรมะ ผู้รู้บางท่านแยกความหมายว่า ถ้ามีใจสูงคือมีคุณธรรม จึงจะเรียกว่า “มนุษย์” ถ้าใจต่ำคือไร้คุณธรรมก็เป็นได้เพียง “คน”
โปรดทราบว่าการแยกความหมายอย่างนี้เป็นเพียงแนวคิดในวิธีสอนธรรมะเท่านั้น ไม่ใช่ความหมายในทางนิรุกติศาสตร์
(๒) “สมบัติ”
บาลีเป็น “สมฺปตฺติ” (สำ-ปัด-ติ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ปทฺ (ธาตุ = ถึง, บรรลุ) + ติ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง (ป)-ทฺ เป็น ตฺ
: สํ > สมฺ + ปทฺ = สมฺปทฺ + ติ = สมฺปทฺติ> สมฺปตฺติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อม” (คือความสำเร็จ) “ภาวะที่ถึงพร้อม”
ขยายความว่า ถึงพร้อมด้วยสิ่งใด หรือบรรลุถึงสิ่งใด ก็เรียกสิ่งนั้นว่า “สมฺปตฺติ”
“สมฺปตฺติ” ในภาษาบาลีใช้ในความหมายว่า -
(1) ความสำเร็จ, การบรรลุ; ความสุข, ความสำราญ, สมบัติ (success, attainment; happiness, bliss, fortune)
(2) ความเลิศลอย, ความดีเด่นหรือสง่างาม(excellency, magnificence)
(3) เกียรติ (honour)
(4) ความรุ่งเรือง, ความสวยสดงดงาม (prosperity, splendor)
“สมฺปตฺติ” ในภาษาไทยใช้ว่า “สมบัติ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า -
“สมบัติ ๑ : (คำนาม) ความถึงพร้อม หมายถึง ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ เป็นต้นที่มีอยู่ เช่น ถึงมีสมบัติมากมายก็ไม่พ้นความตายไป ทำงานมาเกือบ ๒๐ ปี มีสมบัติอย่างเดียวคือบ้าน. (ป., ส. สมฺปตฺติ).”
ในภาษาไทย ความหมายเด่นของ “สมบัติ” ก็คือ ทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้ แต่ในภาษาบาลี “สมฺปตฺติ” มีความหมายมากกว่านั้น ดูคำแปลภาษาอังกฤษที่ตรงกับความเข้าใจในภาษาไทยมีเพียงคำว่า fortune เท่านั้น คำแปลอื่นๆ ไม่ได้หมายถึงทรัพย์สิน เงินทอง ของใช้โดยตรงแต่อย่างใด
มนุสฺส + สมฺปตฺติ = มนุสฺสสมฺปตฺติ > มนุษยสมบัติ แปลตามศัพท์ว่า “ความถึงพร้อมแห่งมนุษย์” (human prosperity) หมายถึง การได้เกิดเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐานเบื้องต้น ส่วนการได้บรรลุสถานภาพต่างๆ ที่พึงปรารถนาเป็นเพียงผลพลอยได้ที่ตามมา
คนส่วนมากมักเข้าใจไปว่า “มนุษยสมบัติ” ก็คือเกิดมาแล้วมีสมบัติมาก ร่ำรวย มีทรัพย์สินเงินทองของใช้อุดมสมบูรณ์ เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี อย่างนี้จึงจะเรียกว่ามี “มนุษยสมบัติ” ถ้าเกิดมาเป็นคนจนยากไร้ ก็พูดว่า ไม่มีมนุษยสมบัติ คือไปเข้าใจว่า “สมบัติ” ในที่นี้คือทรัพย์สินเงินทอง
ความหมายที่ถูกต้องของ “มนุษยสมบัติ” ก็คือ “การได้เกิดเป็นมนุษย์” จะมีทรัพย์สินเงินทองของใช้มากน้อยแค่ไหนอย่างไรไม่เป็นประมาณ การได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั่นแหละเรียกว่าได้ “มนุษยสมบัติ” แล้ว แม้จะเป็นขอทานก็เรียกได้ว่ามีมนุษยสมบัติครบถ้วนแล้ว
: ถ้ารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้
: ถึงจะรวยเพียงไรก็ชื่อว่าจนแสนจน

นาวาเอก ทองย้อย แสงสิ้นชัย
บันทึกการเข้า