ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เหตุให้สำเร็จเป็น "พระสัพพัญญูพุทธเจ้า"  (อ่าน 799 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย


เหตุให้สำเร็จเป็น "พระสัพพัญญูพุทธเจ้า"

พระอานนท์ผู้มีอินทรีย์อันสำรวมแล้ว ได้ทูลถามพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า

“ได้ทราบว่าสัพพัญญูพุทธเจ้ามีอยู่ พระสัพพัญญูพุทธเจ้าเหล่านั้นสำเร็จได้เพราะเหตุไรหรือ พระพุทธเจ้าข้า”

ในกาลนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า

“ชนเหล่าใดได้กระทำบุญญาธิการไว้ในพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ แต่เป็นผู้ไม่ได้ความหลุดพ้นจากกิเลสในศาสนาของพระชินเจ้าเหล่านั้น โดยมีพระสัมโพธิญาณนั้นแลเป็นประธาน พระอัธยาศัยอันเข้มแข็งมีพระปัญญาแก่กล้า อาจบรรลุความเป็นพระสัพพัญญูได้ด้วยเดชแห่งปัญญานั้น

แม้เราก็ปรารถนาความเป็นพระพุทธเจ้าไว้ในพระพุทธเจ้าแต่ปางก่อนทั้งหลาย บารมี ๓๐ ถ้วน ที่จะให้เป็นพระธรรมราชา เราก็ได้บำเพ็ญมานับไม่ถ้วนในพุทธเขตทั้งหลาย มีรัตนะประมาณเท่าใดที่จะนึกนำมาได้ทั้งหมดอันมีประมาณเท่านี้

เราได้สร้างปราสาทอันล้วนแล้วด้วยรัตนะสูงจรดฟ้า ตลอดภาคพื้นดิน มีเสาอันวิจิตร มีพื้นล้วนจินดาหน้ามุข ประตูหน้าต่าง ล้วนประณีต มีเสาระเนียด ซุ้มประตูเป็นรัตนะ

พระพุทธเจ้าทุกพระองค์พร้อมทั้งพระสาวกเสด็จเข้าทางประตูปราสาทนั้น หมู่พระอริยเจ้าทั้งหลายล้วนนั่งในปราสาทของเรา พระสยัมภูปัจเจกพุทธเจ้า ผู้ไม่พ่ายแพ้ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้ขึ้นปราสาทของเรา

พระอริยเจ้าทั้งหลายได้ครองผ้าทิพย์ อิ่มหนำด้วยข้าวปายาสสำเร็จสีหไสยาสน์อันควรค่า มีสติสัมปชัญญะ ยินดีในฌานอันเป็นโคจรในปราสาทนั้น หมู่คน นาค คนธรรพ์ และเทพทุกองค์เหล่านั้น ประนมมือแวดล้อมปราสาทอยู่

กุศลกรรมอย่างใดเป็นกิริยาที่เราพึงกระทำด้วยกาย วาจา และใจ กุศลกรรมนั้นเราได้กระทำแล้ว สัตว์เหล่าใดผู้มีสัญญาก็ตาม ไม่มีสัญญาก็ตาม สัตว์เหล่านั้นทั้งหมด จงเป็นผู้มีส่วนแห่งผลบุญที่เราได้กระทำแล้ว

ปวงสัตว์ในโลกผู้อาศัยอาหารเป็นอยู่ทุกจำพวก ขอจงได้อาหารอันพึงใจด้วยใจของเรา เราถือเอาความเลื่อมใสด้วยใจ บูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ แล้วบูชาแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย

เพราะกรรมที่เรากระทำดีแล้วนั้น และเพราะการตั้งเจตนาไว้ เราละร่างกายของมนุษย์แล้วเข้าถึงเทวภพ เป็นใหญ่กว่าเทพทั้งหลายด้วยรูปลักษณ์ โภชนะ รัตนะ โภคะ ไม่มีผู้เสมอด้วยปัญญา

ปวงชนในโลกธาตุจงเห็นเรา ปวงชนทั้งหมดจงมีใจดี อนุวัตรตามเรา เมื่อฝนแห่งธรรมตกลง ปวงชนจงเป็นผู้ไม่มีอาสวะ บรรดาชนเหล่านั้น ผู้เกิดด้วยธรรมสุดท้ายภายหลัง จงได้เป็นพระโสดาบัน


รัตนจงกรมเจดีย์

บารมี ๑๐ ทัศ

   - เราให้ทานที่ควรให้
   - บำเพ็ญศีลโดยไม่มีเหลือ
   - ถึงเนกขัมมบารมีแล้วบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม
   - เราไต่ถามบัณฑิตทั้งหลาย (ปัญญา)
   - ทำความเพียรอย่างสูงสุด
   - ถึงขันติบารมี แล้วบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม
   - เรากระทำอธิษฐานมั่นคง
   - บำเพ็ญสัจจบารมี
   - ถึงเมตตาบารมี แล้วบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม
   - เราเป็นผู้สม่ำเสมอในอารมณ์ทั้งปวง(อุเบกขา)คือ ในลาภ ความไม่มีลาภ ในสุข ทุกข์ สรรเสริญ และดูหมิ่น แล้วบรรลุพระสัมโพธิญาณอันอุดม"

     @@@@@@@

     ท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านโดยความเป็นภัย และจงเห็นความเพียรโดยเป็นความเกษม จงปรารภความเพียรเถิด นี้เป็นอนุสาสนีของพระพุทธเจ้า
     ท่านทั้งหลายจงเห็นความวิวาทโดยเป็นภัย และเห็นความไม่วิวาทโดยเป็นความเกษม จงสมัครสมานกัน กล่าววาจาอ่อนหวานแก่กัน
     จงเห็นความประมาทโดยเป็นภัย เห็นความไม่ประมาทเป็นความเกษม จงเจริญอัฏฐังคิกมรรคนี้เป็นอนุสาสนีของเรา
     นี้เป็นพุทธจิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสกับพระอานนท์ ธรรมเทศนานี้ชื่อว่า พุทธาปทานิยะ

@@@@@@

ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร พระโพธิสัตว์เป็นสุเมธดาบส ได้กล่าวว่า

    “เราเลิกละข้าวที่หว่านปลูก มาบริโภคผลไม้ที่หล่นเอง เริ่มตั้งความเพียรในการนั่ง การยืน และการเดินจงกรมอย่างนั้น ภายในสัปดาห์หนึ่งก็ได้บรรลุอภิญญาพละ เมื่อเราบรรลุถึงความสำเร็จ แม้พระชินเจ้าโลกนายก ทรงพระนามว่า ทีปังกร เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว เมื่อพระองค์เสด็จอุบัติ ประสูติตรัสรู้ และแสดงพระธรรมเทศนา เราอิ่มเอิบด้วยฌานอยู่ จึงมิได้เห็นนิมิตทั้ง ๔ ประการ

     ในเขตแดนปัจจันตประเทศ พวกมนุษย์มีใจยินดี นิมนต์พระตถาคต แล้วชำระแผ้วถางทางสำหรับเสด็จดำเนินมาของพระองค์ สมัยนั้น เราออกจากอาศรมแล้วเหาะไปในเวหาส เห็นชนเกิดความยินดี จึงลงจากท้องฟ้าไต่ถามชนทั้งหลาย พวกมนุษย์ทั้งหลายกล่าวว่า พระพุทธเจ้าผู้ยอดเยี่ยมเป็นพระชินะพระนามว่า ทีปังกรเสด็จอุบัติขึ้นแล้วในโลก

    ทันใดนั้น ปีติเกิดขึ้นแก่เราเพราะได้ฟัง พุทโธ เรากล่าวว่า พุทโธ พุทโธ ก็ได้เสวยโสมนัสเรายินดีแล้วคิดว่า จักปลูกพืชลงในที่นี้ ขณะอย่าได้ล่วงเลยไปเสียเปล่า เราลาดผ้าเปลือกไม้คากรองบนเปือกตมแล้วปรารถนาว่า พระพุทธเจ้าพร้อมทั้งพระสาวกทั้งหลาย จงเหยียบเราเสด็จไป อย่าทรงเหยียบเปือกตมเลย ข้อนี้จักเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา เมื่อเรานอนบนแผ่นดิน ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า

    "วันนี้ถ้าเราปรารถนา จักประหารกิเลสได้ การทำให้แจ้งธรรมในที่นี้จะมีประโยชน์อะไรแก่เราเล่า เราจักบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ข้ามฝั่งแล้ว จะให้มนุษย์และเทวดาข้ามไปด้วย เราบรรลุสัพพัญญุตญาณแล้ว จะให้เหล่าชนมากมายข้ามไปด้วย เราจักตัดกระแสคือ สังสารวัตร ทำลายภพสาม แล้วขึ้นสู่ธรรมนาวา จักให้มนุษย์และเทพยดาข้ามไปด้วย"

พระพุทธรูปเหนือพระแท่นวัชรอาสน์

ความปรารถนาที่ยิ่งใหญ่จะสำเร็จได้ด้วยองค์ ๘ ได้เกิดขึ้นแก่เราแล้ว คือ
     ความเป็นมนุษย์ ๑
     ถึงพร้อมด้วยอุดมเพศ ๑
     เหตุคือการบรรลุอรหัตได้ ๑
     การได้เห็นพระศาสดา ๑
     การได้บรรพชา ๑
     ความสมบูรณ์ด้วยคุณ คือ อภิญญาและสมาบัติ ๑
     การกระทำอันยิ่งใหญ่ คือ สละชีวิตอุทิศแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๑
     และความเป็นผู้มีฉันทะ คือ ยินดีในสัมโพธิญาณ ๑

@@@@@@@

พระพุทธเจ้าพระนามว่าทีปังกร ได้ตรัสคำนี้กับเราว่า

     “พวกท่านจงดูดาบสผู้เป็นชฎิลผู้นี้ ซึ่งมีตบะสูง เขาจักได้เป็นพระพุทธเจ้าในโลก ในกัปป์ที่นับไม่ถ้วนจากกัปป์นี้ เขาจักเป็นพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า จักออกจากนครชื่อ กบิลพัสดุ์ อันน่ารื่นรมย์กระทำความเพียรทุกกรกิริยา จะนั่งที่โคนต้นอชปาลนิโครธ เสวยข้าวปายาสที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราจะเสด็จไปยังควงไม้โพธิ์ จักตรัสรู้ ณ ควงไม้อัสสัตถพฤกษ์นั้น”

     ชนและเทพทั้งหลายได้ฟังพระดำรัสต่างยินดีว่า ดาบสนี้เป็นพืชแห่งพุทธวงศ์ ถ้าเราจักพลาดศาสนาของพระโลกนาถองค์นี้ไซร้ ก็จักได้อยู่เฉพาะหน้าท่านผู้นี้ในอนาคตกาลอันยาวนาน

     นิมิตใดจักปรากฏในสมาธิของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายในกาลก่อน นิมิตเหล่านั้นก็ปรากฏแล้วในวันนี้แก่พระตถาคต ความหนาวเหือดหายไป ความร้อนกลับระงับ หมื่นโลกธาตุปราศจากเสียง ไม่มีความยุ่งเหยิง นิมิตเหล่านั้นปรากฏแล้วในวันนี้ว่า ท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน

@@@@@@@

เราเลือกเฟ้นธรรมที่กระทำเหตุให้เป็นพระพุทธเจ้า
     - จึงเห็นทานบารมี เป็นข้อ ๑
     - ศีลบารมี เป็นข้อ ๒
     - เนกขัมมบารมี เป็นข้อ ๓
     - ปัญญาบารมี เป็นข้อ ๔
     - วิริยบารมี เป็นข้อ ๕
     - ขันติบารมี เป็นข้อ ๖
     - สัจจบารมี เป็นข้อ ๗
     - อธิษฐานบารมี เป็นข้อ ๘
     - เมตตาบารมี เป็นข้อ ๙
     - อุเบกขาบารมี เป็นข้อ ๑๐

    จงกระทำให้มั่นก่อน
    จงถึงความเป็นทานบารมี จงให้ทานแก่ยาจกทั้งต่ำทราม สูงส่ง และแม้ปานกลาง จักได้บรรลุพระสัมโพธิญาณ
    จงรักษาศีลให้บริบูรณ์ จงรักษาศีลไว้ทุกเมื่อ
    จงเห็นภพทั้งปวงเหมือนเรือนจำ เป็นผู้มุ่งหน้าออกจากภพ (เนกขัมมะ)
    จงเป็นผู้ใฝ่รู้(ปัญญา) ไต่ถามชนผู้รู้ตลอดกาลทั้งปวง
    จงประคองความเพียรไว้ให้มั่นตลอดทุกภพ
    จงเป็นผู้อดทนต่อความนับถือ และการดูหมิ่นของชนทั้งปวง (ขันติ)
    ไม่ออกไปนอกทางแห่ง สัจจะ ทั้งหลาย
    ถึงความเป็นผู้อธิษฐานอันไม่หวั่นไหว
    มีเมตตาสม่ำเสมอในชนที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูล
    ถึงความเป็นผู้มีอุเบกขา เป็นกลางในสุขและทุกข์ในกาลทุกเมื่อ
    จักบรรลุพระสัมโพธิญาณได้

นี้เป็นธรรมเครื่องบ่มพระโพธิญาณในโลก ท่านจงตั้งมั่นในธรรมนั้น”

เรายึดมั่นพระพุทธคุณ กระทำใจให้มั่น นมัสการพระทีปังกรพุทธวงศ์ แล้วลุกจากไป ในกาลนั้นสุเมธดาบสสมาทานธัมมบารมี ๑๐ ประการ แล้วบำเพ็ญสมณธรรม


พระแท่นวัชรอาสน์

ก็ในกาลต่อจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทีปังกร ล่วงมาได้ ๑ อสงไขย พระศาสดาพระนามว่า โกณฑัญญะ เสด็จอุบัติขึ้น ในครั้งนั้น พระโพธิสัตว์เป็นพระเจ้าจักรพรรดิพระนามว่า วิชิตาวี ได้ถวายมหาทานแก่ภิกษุสงฆ์แสนโกฏิมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน พระศาสดาทรงพยากรณ์พระโพธิสัตว์ว่า จักได้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วทรงแสดงธรรม พระโพธิสัตว์สดับธรรมแล้ว สละราชสมบัติออกผนวช กระทำสมาบัติ ๘ อภิญญา ๕ แล้วไปสู่พรหมโลก

ในกาลต่อจากพระพุทธเจ้าโกณฑัญญะล่วงไป ๑ อสงไขย ในกัปป์นั้นมีพระพุทธเจ้า ๔ พระองค์ คือ พระมังคละ ๑ พระสุมนะ ๑ พระเรวตะ ๑ และพระโสภิตะ ๑

     - ในกาลแห่งพระมังคลพุทธวงศ์นั้น พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์นามว่า สุรุจิ ได้ถวายมหาทานในวันประชุมสันนิบาตสาวกทั้งหลาย
     - ในกาลแห่งพระสุมนพุทธวงศ์ พระโพธิสัตว์เป็นพญานาคนามว่า อตุละ ได้ถวายมหาทานแด่พระสุมนสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์สาวก
     - ในกาลแห่งพระเรวตพุทธวงศ์ พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์ชื่อ อติเทพ ได้บูชาพระศาสดาด้วยผ้าอุตราสงฆ์ คือ ผ้าห่ม
     - ในกาลแห่งพระโสภิตพุทธวงศ์ พระโพธิสัตว์เป็นพราหมณ์นามว่า อชิตะ ได้ถวายมหาทานแล้ว

เมื่อล่วงไป ๑ อสงไขย ในกัปป์นั้นมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ๓ พระองค์ คือ
     พระอโนมทัสสี พระโพธิสัตว์ทรงเป็น เสนาบดียักษ์
     พระปทุมะ พระโพธิสัตว์ทรงเป็น ราชสีห์
     พระนารทะ พระโพธิสัตว์ทรงเป็น ฤๅษี

ในกาลต่อจากพระนารทพุทธวงศ์ ล่วงไป ๑ อสงไขย ในที่สุดแสนกัปป์แต่กัปป์นี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่า ปทุมุตตระ เสด็จอุบัติขึ้น พระโพธิสัตว์เป็นผู้ครองแคว้นนามว่า ชฏิละ ได้ถวายทานพร้อมทั้งจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน

@@@@@@@

ต่อจากนั้น เมื่อล่วงไปสามหมื่นกัปป์ ในกัปป์นั้นมีพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ เสด็จอุบัติขึ้น คือ
    - พระสุเมธะ พระโพธิสัตว์เป็นมาณพนามว่า อุตตระ ได้สละทรัพย์แปดสิบโกฏิถวายมหาทาน
    - เมื่อพระสุชาตพุทธวงศ์ทรงอุบัติขึ้น พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ได้ถวายราชสมบัติในมหาทวีปทั้ง ๔ พร้อมรัตนะ ๗ ประการ แล้วบวชในสำนักของพระศาสดา

ในกาลนั้น ในที่สุดหนึ่งพันแปดร้อยกัปป์แต่กัปป์นี้ไป มีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ๓ พระองค์คือ
    - พระปิยทัสสี พระโพธิสัตว์ทรงเป็นมาณพนามว่า กัสสปะ
    - พระอัตถทัสสี ทรงเป็นดาบสนามว่า สุสีมะ
    - พระธัมมทัสสี ทรงเป็นท้าวสักกเทวราช

ในเก้าสิบสี่กัปป์แต่กัปป์นี้ พระสิทธัตถสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้น พระโพธิสัตว์เป็นดาบสนามว่า มังคละ ได้ถวายทานด้วยผลหว้า

เมื่อนับในที่สุดเก้าสิบสองกัปป์แต่กัปป์นี้ พระติสสะ และพระปุสสะ ผู้ทรงเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จอุบัติขึ้น
     - พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์พระนามว่าสุชาตะ ทรงสละราชสมบัติออกผนวช บูชาพระติสสพุทธวงศ์ด้วยดอกมณฑารพ ดอกปทุม และดอกปาริฉัตร
     - พระโพธิสัตว์เป็นกษัตริย์พระนามวิชิตาวี สละราชสมบัติแล้วบวชในสำนักพระศาสดาปุสสสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในกัปป์ที่ ๙๑ นับแต่กัปป์นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่า วิปัสสี เสด็จอุบัติขึ้น พระโพธิสัตว์เป็น นาคราชอตุละ ถวายรัตนะ ๗ ประการแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

@@@@@@

บรรดาพระพุทธเจ้าเหล่านั้น พระโพธิสัตว์ได้กระทำอธิการไว้ในพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๒๔ พระองค์มีพระทีปังกรเป็นอาทิ ตลอดสี่อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์ ด้วยพระบารมีว่า

    - เราบริจาคตนของตน ผู้เสมอด้วยทานของเราไม่มี นี้เป็นทานบารมีของเรา
    - เราถูกแทงด้วยอาวุธ ก็มิได้โกรธ นี้เป็นศีลบารมีของเรา
    - เราสละราชสมบัติ ไม่มีความข้องอยู่ นี้เป็นเนกขัมมบารมีของเรา
    - เราใช้ปัญญาใคร่ครวญให้สัตว์พ้นจากทุกข์ ผู้เสมอด้วยปัญญาของเราไม่มี นี้เป็นปัญญาบารมีของเรา
    - ในท่ามกลางน้ำ เราไม่เห็นฝั่ง เราไม่มีจิตเป็นอื่น นี้เป็นวิริยบารมีของเรา
    - แม้ถูกฟันด้วยอาวุธ เราไม่มีความโกรธ นี้เป็นขันติบารมีของเรา
    - เราตามรักษาสัจจวาจา ได้สละชีวิตปลดเปลื้องสัตว์ นี้เป็นสัจจบารมีของเรา
    - พระสัพพัญญุตญาณเป็นที่ยินดีของเรา เราจึงอธิษฐานปฏิปทา นี้เป็นอธิษฐานบารมีของเรา
    - เราไม่สะดุ้ง ทั้งมิได้หวาดหวั่น เพราะกำลังแห่งเมตตาค้ำชู นี้เป็นเมตตาบารมีของเรา
    - เราประพฤติอุเบกขาไม่ติดข้องสุขและทุกข์ ไม่ล่วงอุเบกขา นี้เป็นอุเบกขาบารมีของเรา

พระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมีทั้งหลายแล้ว ดำรงอยู่ในอัตภาพพระเวสสันดร กระทำบุญใหญ่อันเป็นเหตุแห่งแผ่นดินไหว แม้แผ่นดินได้ไหวถึง ๗ ครั้ง เพราะกำลังแห่งทานบารมี เมื่อสิ้นสุดแห่งอายุ จุติจากอัตภาพนั้นแล้วบังเกิดในดุสิตภพ


 

อ้างอิง : พุทธาปทาน พระไตรปิฎก ฉบับหลวง เล่มที่ ๓๒ ข้อที่ ๑ และอวิทูเรนิทานกถา
ขอบคุณ : https://buddhadhamma.uttayarndham.org/tripitaka-stories/c/0/i/16205802/1-01
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ