ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เพลงยาวพยากรณ์ฯ วรรณกรรมการเมือง เรื่อง ‘เฟกนิวส์’ สมัยอยุธยา  (อ่าน 422 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28366
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระเพทราชา มีเชื้อสายเจ้านายกรุงเก่า อยู่ย่านวัดบรมพุทธาราม
[ซากวัดบรมพุทธาราม อยุธยา เหลืออยู่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ (ลายเส้นโดยชาวยุโรป)]


เพลงยาวพยากรณ์ฯ วรรณกรรมการเมือง เรื่อง ‘เฟกนิวส์’ สมัยอยุธยา

ชิงอำนาจ Game of Thrones ในอยุธยามีเป็นปกติและมีรุนแรงเกือบทุกครั้งที่ผลัดแผ่นดิน จะแตกต่างบ้างก็ลักษณะชิงอำนาจเท่าที่พบหลักฐานซึ่งไม่ครบถ้วน

เครื่องมือชิงอำนาจทางการเมืองมีประสิทธิภาพของกลุ่มพระเพทราชา คือ “ข่าวลือ” ใกล้เคียงทุกวันนี้เรียก “เฟกนิวส์” สร้างขึ้นใส่ร้ายพระนารายณ์ฯ ต่อมาเป็นที่รู้กันในนาม “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา”

@@@@@@

เพลงยาว “ข่าวลือ” ทำลายฝ่ายตรงข้าม

วรรณกรรมการเมือง เรื่อง “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ของกลุ่มพระเพทราชา กับ ออกหลวงสรศักดิ์ มีในงานวิชาการเรื่อง การเมืองไทยสมัยพระนารายณ์ ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2523) จะสรุปย่อมาดังนี้

ออกพระเพทราชามีความสัมพันธ์อันดีกับพระภิกษุสงฆ์ มีรายงานว่าสนิทชิดชอบดีกับพระสังฆราชแห่งละโว้ นอกจากนี้ยังได้อาศัยพระภิกษุเป็นตัวการยุยงให้ก่อการจลาจลขึ้นตามหัวเมือง มีผู้คนและกระสุนดินดำไว้ในมือเป็นอันมาก เห็นได้ชัดว่าออกพระเพทราชาได้พยายามนำเอาประชาชนเข้าร่วมในแนวร่วมของตนเพื่อต่อต้านฝรั่งและพระนารายณ์ด้วย

โดยอาศัยความร่วมมือกับพระภิกษุสงฆ์ ออกพระเพทราชารู้จักที่จะปลุกปั่นประชาชนตามวิถีทางวัฒนธรรมของประชาชน เช่น ใช้พราหมณ์ซึ่งเป็นโหราจารย์ทำนายว่าฝรั่งเศสจะถูกขับออกไป แม้ว่าจะได้รับการต้อนรับในทีแรก และจะมีการฆ่าฟันกันล้มตายอย่างมาก

คำพยากรณ์เหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศที่ตึงเครียดและทำให้จิตใจของคนพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ในต้นปี ค.ศ.1688 ได้เกิดข่าวลือว่าจะเกิดอาถรรพณ์แก่บ้านเมืองอันเป็นข่าวลือที่สร้างขึ้นให้สอดคล้องกับข่าวลือเรื่องการประชวรของพระนารายณ์ เข้าใจได้ว่าข่าวลือเหล่านี้ก็คงจะมาจากค่ายของออกพระเพทราชานั่นเอง


@@@@@@

การรณรงค์สร้างข่าวลือของกลุ่มออกพระเพทราชาและออกหลวงสรศักดิ์นี้ได้ทิ้งร่องรอยไว้ในหลักฐานฝ่ายไทยคือ “เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา” ลำนำสั้นๆ บทนี้มีผู้จดจำได้และจดลงไว้เป็นตอนต้นในหนังสือเรื่องกรุงศรีอยุธยาเมื่อครั้ง ร.1 แต่กล่าวว่าเป็นพระราชนิพนธ์ของพระนารายณ์

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าเนื้อความของเพลงยาวบทนี้ตรงกันกับที่บรรยายไว้เป็นภาษาความเรียงใน คำให้การชาวกรุงเก่า และกล่าวว่าเป็นคำทำนายของพระเจ้าสุริเยน ทราธิบดีหรือพระเจ้าเสือ

เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยที่แต่งนี้อย่างยิ่ง บอกโดยนัยแก่ผู้ฟังว่าพระนารายณ์และราโชบายของพระองค์คือการไม่เคารพต่อหลักการแห่งทศพิธราชธรรม และนี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อให้เกิดความวิปริตต่างๆ แก่บ้านเมือง ความวิบัติที่กำลังมาถึงกรุงศรีอยุธยานั้น เพลงยาวพยากรณ์เน้นซึ่งความวิปริตแห่งความปกติธรรมดาหรือจารีตประเพณีซึ่งเป็นที่รับรองและสมมติกันว่าเป็นธรรมดาโลก เป็นต้น

@@@@@@

ความวิปริตเหล่านี้จะนำมาซึ่งความวิบัติแก่กรุงศรีอยุธยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระราโชบายที่เข้าใจไม่ได้ของพระนารายณ์ การกดขี่ขุนนางฝ่ายปกครอง การเถลิงอำนาจอย่างผิดทำนองคลองธรรมของฝรั่งและเสนาบดีต่างชาติ การไม่เคารพต่อจารีต ประเพณีของการปกครองบางอย่าง และท่าทีคุกคามพระพุทธศาสนาของรัฐบาลและนักบวชมิจฉาทิฐิที่รัฐบาลหนุนหลัง ฯลฯ เพียงพอที่จะทำให้ผู้ฟังเพลงยาวนี้เห็นพ้องต้องกันว่าบ้านเมืองกำลังวิปริตอาเพศอย่างชัดแจ้ง

การตกต่ำของขุนนางทำให้ลูกหลานผู้ดีเหล่านี้พร้อมจะรับการโค่นล้มราชตระกูลปราสาททองลง อย่างน้อยก็เพื่อยุติความวิปริตอาเพศทางสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ตำตานี้

ยิ่งการอิงคำทำนายให้สอดคล้องกับพุทธทำนายในชาดก ก็ยิ่งทำให้เพลงยาวพยากรณ์บทนี้มีประสิทธิภาพในการสื่อความอาเพศของบ้านเมืองได้มากขึ้น เพราะดูเหมือนมีความศักดิ์สิทธิ์บางอย่างแฝงอยู่ในคำพยากรณ์ มีตัวอย่างดังนี้


@@@@@@

เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา

๏ ในลักษณ์ทํานายไว้บ่ห่อนผิด   เมื่อพินิจพิศดูก็เห็นสม
มิใช่เทศกาลร้อนก็ร้อนระงม       มิใช่เทศกาลลมลมก็พัด
มิใช่เทศกาลหนาวก็หนาวพ้น      มิใช่เทศกาลฝนฝนก็อุบัติ
ทุกต้นไม้หย่อมหญ้าสารพัด       เกิดวิบัตินานาทั่วสากล

เทวดาซึ่งรักษาพระศาสนา       จะรักษาแต่คนฝ่ายอกุศล
สัปปุรุษจะแพ้แก่ทรชน           มิตรตนจะฆ่าซึ่งความรัก
ภรรยาจะฆ่าซึ่งคุณผัว            คนชั่วจะมล้างผู้มีศักดิ์
ลูกศิษย์จะสู้ครูพัก               จะหาญหักผู้ใหญ่ให้เป็นน้อย

ผู้มีศีลจะเสียซึ่งอํานาจ           นักปราชญ์จะตกต่ำต้อย
กระเบื้องจะเฟื่องฟูลอย          น้ำเต้าอันลอยนั้นจะถอยจม
ผู้มีตระกูลจะสูญเผ่า              เพราะจัณฑาลมันเข้ามาเสพสม
ผู้มีศีลนั้นจะเสียซึ่งอารมณ์       เพราะสมัครสมาคมด้วยมารยา

.......................           ............................

ทั้งข้าวก็จะยากหมากจะแพง      สารพันจะแห้งแล้งเป็นถ้วนถี่
จะบังเกิดทรพิษมิคสัญญี         ฝูงผีก็จะวิ่งเข้าปลอมคน
กรุงประเทศราชธานี              จะเกิดการกาลีทุกแห่งหน
จะอ้างว้างอกใจทั้งไพร่พล        จะสาละวนทั่วโลกหญิงชาย

จะร้อนอกสมณาประชาราษฎร์    จะเกิดเข็ญเป็นอุบาทว์นั้นมากหลาย
จะรบราฆ่าฟันกันวุ่นวาย           ฝูงคนจะล้มตายลงเป็นเบือ
ทางน้ำก็จะแห้งเป็นทางบก        เวียงวังก็จะรกเป็นป่าเสือ
แต่สิงสาราสัตว์เนื้อเบื้อ           นั้นจะหลงหลอเหลือในแผ่นดิน

ทั้งผู้คนสารพัดสัตว์ทั้งหลาย       จะสาบสูญล้มตายเสียหมดสิ้น
ด้วยพระกาฬจะมาผลาญแผ่นดิน  จะสูญสิ้นการณรงค์สงคราม

.......................           ............................

[ตรวจสอบโดย นายบัณฑิต ลิ่วชัยชาญ นักอักษรศาสตร์ชํานาญการ สํานักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร มิถุนายน 2558] [อ่านฉบับเต็มใน https://www.matichonweekly.com]



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มีนาคม 2563
คอลัมน์ : สุจิตต์ วงษ์เทศ
ผู้เขียน : สุจิตต์ วงษ์เทศ
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_289281
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ