ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โศลกคำฉันท์ ในศิลาจารึกรุ่นโบราณ  (อ่าน 1032 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
โศลกคำฉันท์ ในศิลาจารึกรุ่นโบราณ
« เมื่อ: เมษายน 07, 2020, 06:47:24 am »
0



โศลกคำฉันท์ ในศิลาจารึกรุ่นโบราณ

ฉันท์สันสกฤต สมัยพระเวท

“ฉันท์” เป็นคำประพันธ์ประเภทหนึ่งของไทยที่รับอิทธิพลมาจากประเทศอินเดีย เช่นเดียวกับคำประพันธ์ประเภท “กาพย์” ซึ่งคำว่ากาพย์นี้เอง เป็นรากศัพท์เดียวกันกับ “เกวยะ” พัฒนามาเป็นคำว่า “กวี”

ส่วน “ฉันท์” มีรากศัพท์มาจาก ฉท, ฉันท ในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความพึงพอใจ เป็นที่มาของคำว่า “ฉันทลักษณ์” อันหมายถึง ลักษณะอันน่าพึงพอใจ

ต้นกำเนิดของฉันท์นั้น มีขึ้นตั้งแต่สมัยพระเวทเมื่อราว 4,000 ปีมาแล้ว ปรากฏถ้อยคำประเภทฉันท์อยู่ในคัมภีร์ฤคเวท คำฉันท์ในยุคพระเวทไม่เคร่งครัดครุ-ลหุมากนัก เน้นการบังคับจำนวนคำในแต่ละบาทมากกว่า

จนกระทั่งอีก 2,000 ปีหลังจากยุคพระเวท ซึ่งเรียกว่ายุคมหากาพย์ ฉันท์ได้รับการพัฒนารูปแบบขึ้นมาใหม่กลายเป็น “โศลก” ระบุจำนวนคำและครุ-ลหุ ของบาทที่ 3 ให้เหมือนกับบาทที่ 1 และบาทที่ 4 ให้ล้อกับบาทที่ 2

หลังสมัยมหากาพย์ รูปแบบของฉันท์ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในคัมภีร์ฉันท์วุตโตทยะ และฉันโทมัญชรี ซึ่งมีคำฉันท์จำนวนมากถึง 311 ชนิด


@@@@@@

จารึกเมืองพระรถ : คำฉันท์รุ่นเก่าสุดบนแผ่นดินสยาม

ศิลาจารึกหลักที่ 56 มีชื่อว่า จารึกเมืองพระรถ หรือจารึกเนินสระบัว พบที่เนินสระบัว (บริเวณเมืองเก่าพระรถ) ตำบลโคกปีบ อำเภอศรีมโหสถ (ข้อมูลเดิมระบุว่าอำเภอศรีมหาโพธิ) จังหวัดปราจีนบุรี ทำจากหินทรายสีเขียว เขียนด้วยอักษรหลังปัลลวะ (อินเดียใต้)

ปรากฏนามของท่านพุทธสิริ ผู้จารจารึกหลักนี้ ไว้เมื่อ พ.ศ.1304 เป็นภาษาบาลีและเขมร โดยใช้คำประพันธ์ประเภทวสันตดิลกฉันท์ ดังตัวอย่าง

โย สพฺพโลกโมหิโต กรุณาธิวาโส
โมกฺขํ กโร นิรมลํ วรปณฺณจนฺโท
เญยฺโย ทโม นวิกุลํ สกลํ วิพุทฺโธ
โลกุตฺตโร นมตถิ ตํ สิรสา มุเนนฺทํ

แปลได้ว่า พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ผู้มีพระหฤทัยเต็มไปด้วยความกรุณาตั้งลงในสรรพสัตว์ ทรงหลุดพ้นบริสุทธิ์ ดุจพระจันทร์เต็มดวงอันประเสริฐ ทรงรู้เญยยธรรม ทรงทรมาน ทรงรู้แจ้งธรรมทั้งสิ้นอย่างไม่คลาดเคลื่อน ทรงข้ามโลก ขอน้อมเศียรนมัสการพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น

น่าสนใจยิ่ง ที่เราพบการใช้คำฉันท์จารลงในศิลาจารึกที่พบบนแผ่นดินสยาม ตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 14 เลยทีเดียว

@@@@@@

โศลกคำฉันท์ในบทประณามพจน์ : ศิลาจารึกสววาธิสิทธิหลักที่ 1.

ศิลาจารึกรุ่นเก่าที่พบโศลกคำฉันท์อีกหลักหนึ่ง พบในอาณาจักรหริภุญไชย หรือปัจจุบันคือเมืองลำพูน จารขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17 ตอนต้น มีอายุห่างจากจารึกเมืองพระรถประมาณ 300 ปี

จารึกหลักนี้มีชื่อว่า จารึกสววาธิสิทธิหลักที่ 1 (เนื่องจากในลำพูนมีจารึกที่เกี่ยวข้องกับพระญาสววาธิสิทธิหลายหลัก) เรียกย่อๆ ว่าจารึก ลพ. 1

สถานที่พบคือวัดดอนแก้ว (ร้าง) ตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำกวง ตำบลเวียงยอง อำเภอเมืองลำพูน ซึ่งบริเวณนี้ชาวบ้านเคยขุดค้นพบพระแสงขรรค์ชัยศรียุคหริภุญไชย และได้มอบให้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัด ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จเลียบมณฑลพายัพ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูนได้ทูลเกล้าฯ ถวายพระแสงขรรค์ชัยศรีโบราณแด่รัชกาลที่ 7


@@@@@@

พระญาสววาธิสิทธิ คือใคร.?

ชื่อของพระองค์ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับกษัตริย์ในราชวงศ์จามเทวีที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันพระองค์อื่นๆ อาทิ พระนางจามเทวี พระญามหันตยศ (โอรสแฝดพี่ของพระนางจามเทวี) พระญาอาทิตยราช (ผู้สร้างพระธาตุหริภุญไชย) พระญาญีบา (ยี่บา-กษัตริย์หริภุญไชยองค์สุดท้ายก่อนเสียราชธานีให้แก่พระญามังราย)

อันที่จริง เรื่องราวของพระญาสววาธิสิทธิปรากฏอย่างมากมายทั้งในศิลาจารึกหลัก ลพ. 1 (วัดดอนแก้ว) ลพ. 2 (วัดจามเทวี) ลพ. 5 (วัดแสนข้าวห่อ) ลพ. 7 (วัดมหาวัน) และทั้งในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์ มูลศาสนา จามเทวีวงศ์ และพงศาวดารโยนก

เนื้อหาของเอกสารทุกฉบับกล่าวตรงกันว่าพระองค์มีบทบาทในฐานะทรงเป็น “องค์อัครศาสนูปถัมภก” ไม่ว่าจะเป็นผลงานการบูรณปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุเจ้ากลางนครหริภุญไชย พระรัตนเจดีย์ที่ทุ่งมหาพล (ปัจจุบันคือวัดจามเทวี) การสร้างพระเจดีย์สามองค์ที่วัดเชตวนาราม การสร้างวัดมหาวัน การทรงผนวชระหว่างครองราชย์ การสร้างพระไตรปิฎกเพื่อสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา จนได้รับสมัญญานามว่า “ธรรมิกราชา”

@@@@@@

อาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง อดีตผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีและอักษรมอญโบราณ ของกรมศิลปากรผู้ล่วงลับ ระบุในหนังสือ “โบราณคดีประวัติศาสตร์” (กรมศิลปากรจัดพิมพ์เพื่อเชิดชูเกียรตินายคงเดช ประพัฒน์ทอง นักโบราณคดี 10 ธันวาคม 2529, หน้า 194-196) ว่า

ความพิเศษของศิลาจารึกสววาธิสิทธิหลักที่ 1 วัดดอนแก้ว คือการใช้ภาษาบาลีผูกร้อยเป็นคำประพันธ์ประเภทฉันท์ แม้จะเขียนด้วยอักษรมอญโบราณ โดยใช้ฉันท์โบราณของอินเดียประเภท “มิสสกฉันท์” หรือฉันท์รูปแบบผสมของฉันท์หลายอย่างในบทเดียวกัน ซึ่งไม่ได้รับเข้ามาใช้ต่อในสมัยสุโขทัย อยุธยา

ในขณะที่กวีล้านนา ผู้เป็นนักวิชาการด้านอักขระวิทยา ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร (วัณณะมาลี ทฤษฎีใหม่เรื่องการแต่งฉันท์ของล้านนา, เชียงใหม่ : โรงพิมพ์มิ่งเมือง, 2551, หน้า 3) กลับบอกว่าฉันท์ที่ปรากฏในจารึกสววาธิสิทธินี้เป็นประเภท “อุปชาติฉันท์” ซึ่งมีทั้งสิ้นจำนวน 6 บท


@@@@@@

ดังนั้น คงต้องขอแรงผู้รู้เรื่องคำฉันท์โบราณ ช่วยกันพิจารณาว่านี่คือคำฉันท์ประเภทใดกันแน่ “มิสสกฉันท์” หรือ “อุปชาติฉันท์”.? ในที่นี้ขอยกตัวอย่างมาให้ดูสองบทดังนี้

สพฺพาธิสิทฺธยา ขยร ถิสฺสเรน
ฉพฺโทสวสฺสี นปโย ชิเตนํ
อุโปสถาคา รวร มโนรม
มยา กตญฺเช ตวนาลยํลยํ

ถอดความได้ว่า เวียงชื่อ “เชตวนาลัย” มีโรงอุโบสถงามประเสริฐ เป็นที่ยังใจให้รื่นรมย์ อันตูข้าผู้มีอายุ 26 ปี ได้รับอภิเษกเป็นผู้ครองประเทศ เป็นจอมพลรถ ปรากฏนามว่า สัพพาธิสิทธิ์ สร้างไว้แล้ว

พบว่า “คำฉันท์” ที่ปรากฏในจารึกสววาธิสิทธิหลักที่ 1 ไม่เคร่งครัดครุ ลหุ มากนัก นอกจากเน้นการบังคับเรื่องจำนวนคำในแต่ละบาท อย่างไรก็ดี ต้องถือว่าจารึกหลักนี้มีคุณค่าในแง่วรรณกรรมอย่างยิ่ง เพราะจารึกที่พบในประเทศไทยนั้น ไม่ได้พบการเขียนด้วยคำฉันท์เท่าใดนัก

@@@@@@

ตามความคิดของอาจารย์คงเดช ประพัฒน์ทอง เห็นว่าพระญาสววาธิสิทธิ น่าจะทรงประพันธ์วรรณคดีบาลีในศิลาจารึกเป็นคำฉันท์ด้วยพระองค์เอง เพราะทรงมีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกอย่างมาก

กอปรกับมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ย่อมไม่เกินความสามารถที่จะทรงศึกษาภาษาบาลีถึงขั้นแตกฉาน จนทรงสามารถรจนาบทโศลกประณามพจน์ หรือบทขึ้นต้นศิลาจารึกชิ้นสำคัญได้ด้วยพระองค์เอง มีการใช้ภาษาคำศัพท์ที่งดงามและลึกซึ้งในระดับอลังการศาสตร์

ดินแดนอุษาคเนย์ยุคโบราณนั้น ชนชั้นกษัตริย์ยกย่องคำฉันท์ว่าเป็นภาษาที่คู่ควรแก่การใช้ในจารึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเขียนคำประกาศความเป็นมหาธรรมิกราชเจ้าของผู้จาร


@@@@@@

วิหารหลวงวัดมหาธาตุสุโขทัย : ต้นเค้าคำฉันท์สมัยอยุธยา

ขอยกตัวอย่างสุดท้ายของศิลาจารึกหลักสำคัญยิ่งอีกหนึ่งหลัก เป็นจารึกสมัยสุโขทัย พบที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดสุโขทัย เขียนด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาบาลี มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 20 หรือหลังจากจารึกอักษรมอญโบราณของพระญาสววาธิสิทธิ 300 ปี

นายบุญเลิศ เสนานนท์ และอาจารย์เทิม มีเต็ม นักจารึกวิทยากรมศิลปากร สันนิษฐานว่า จารึกหลักนี้สร้างขึ้นโดยพระญาลิไท เหตุที่มีคำว่า “เทยฺโย” และก่อนหน้าคำว่า เทยฺโย มีตัวอักษรคล้าย ลิ แต่ลบเลือนไปแล้ว

จารึกหลักนี้ใช้คำประพันธ์ประเภทวสันตดิลกฉันท์ ดังตัวอย่าง

โสหญฺจ ภิกฺขุ คุณกิตฺติ สุนาม เทยฺโย
ปตฺโต ตถาคตสุสา นเมกเทสํ
วนฺเท หเว จตุรสี ติสหสฺ ธมฺมํ
ขนฺธํ สธาตุนิขิลํ จ ตถาคตสฺส

เชื่อกันว่า คำประพันธ์ประเภทฉันท์จากศิลาจารึกสุโขทัยหลักนี้เอง ที่ได้ส่งทอดรูปแบบของจังหวะ ลีลา วสันตดิลกฉันท์ อันงดงาม ให้แก่วรรณกรรมสมัยอยุธยาต้น เช่นสมุทรโฆษคำฉันท์ และอนิรุทธคำฉันท์ ในกาลถัดมาอีก 100 ปี




ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 - 26 มีนาคม 2563
คอลัมน์ : ปริศนาโบราณคดี
ผู้เขียน : เพ็ญสุภา สุขคตะ
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_291559
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ